เมื่อ “แม่” ไปรบ วีรกรรมทุ่งมะขามหย่อง ถึงวีรกรรมแม่ญิงตั้งท้อง
โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ www.facebook.com/pensupa.sukkatajaiinn คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1671 หน้า 76
ในบรรดาขัตติยนารีที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น "วีรสตรี" หรือ "หญิงผู้กล้าในการสงคราม" ที่คนไทยทั่วไปรู้จักนั้นก็คงหนีไม่พ้น "สมเด็จพระศรีสุริโยทัย" หรือนามย่อ "พระสุริโยทัย" แต่เพียงผู้เดียว โดยแทบไม่มีใครรู้จักราชนารีองค์อื่นๆ เลย
เหตุก็เพราะผู้เขียนประวัติศาสตร์ให้เราเรียน มีจุดประสงค์ต้องการตอกย้ำเฉพาะเรื่องราวของประวัติศาสตร์ชาตินิยม ที่มุ่งเน้นแต่การเชิดชูวีรกรรมของราชวงศ์ ที่สืบสายมาจากกรุงศรีอยุธยา และสุโขทัยเท่านั้น
ส่วนราชวงศ์แห่งอาณาจักรอื่นๆ ทั้งๆ ที่ต่างก็เป็นส่วนหนึ่งในการหลอมรวมมณฑลเล็กมณฑลน้อย ก่อกลายเป็นราชอาณาจักรสยาม แต่กลับไร้ความหมาย ไม่มีความสำคัญมากพอที่จะได้รับเกียรตินำมาบรรจุไว้ในตำราเรียนประวัติศาสตร์กระแสหลัก
ไม่ว่ารัฐปัตตานี ตามพรลิงก์ หริภุญไชย อีศานปุระ ฟ้าแดดสงยาง ฯลฯ
พระสุริโยทัย ในมุมมองของเอกสารต่างชาติ
วีรกรรมของพระสุริโยทัยนั้น ได้เกิดกระบวนการอุปโลกน์ผลิตซ้ำอย่างมีนัยยะเงื่อนไข ครั้งล่าสุด ณ ทุ่งมะขามหย่อง จ.พระนครศรีอยุธยา แผ่นดินที่เชื่อว่าเป็นจุดที่พระสุริโยทัยได้ไสช้างเข้าปกป้องพระราชสวามี สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ จนต้องคมดาบของพระเจ้าแปร สิ้นพระชนม์ทันทีพร้อมด้วยพระราชธิดาองค์กลางคือ พระบรมดิลก
หากมีใครลุกขึ้นถามแย้ง ว่าทำไมเหตุการณ์เหล่านี้จึงไม่ได้รับการบันทึกในเอกสารต่างชาติของฝ่ายคู่กรณีคือพม่าเลย ก็มักถูกตอบโต้กลับว่า เป็นเพราะพม่าละอายใจที่ฆ่าผู้หญิง จึงมิอาจบันทึกเรื่องราวน่าอับอายตอนนี้ได้
หลายคนเอะใจว่า ไฉนเอกสารตะวันตกทั้งโปรตุเกสและฮอลันดา จึงเขียนในทำนองว่า นอกจากพระสุริโยทัย จะไม่ได้แปลงเป็นชายอาสาศึกติดตามพระราชสวามีแล้ว ยังกลับรู้เห็นเป็นใจกับพระชามาดา (ลูกเขย) คือออกญาพิศณุโลก ยุยงให้พระเจ้าหงสาวดียาตราทัพมาบดขยี้กรุงศรีอยุธยาเป็นผุยผง เพื่อปูทางสะดวกให้ลูกเขยแห่งเมืองพิศณุโลก (ต่อมากลายเป็นพระมหาธรรมราชา) ได้ครองบัลลังก์อยุธยาแทนพระสวามี
ทุกครั้งที่มีใคร "แหย่" เรื่องนี้ขึ้นมา ก็มักถูกตราหน้าว่าเป็นพวกไม่รักชาติ ไม่จงรักภักดี เป็นทาสความคิดของฝรั่งผู้ประสงค์ร้ายต่อบ้านเมือง เพราะเป็นไปไม่ได้ที่อยู่ดีๆ วีรสตรีจักกลายมาเป็นผู้ทรยศชาติ
ประวัติศาสตร์หน้านี้จึงถูกปิดตาย ไม่เปิดโอกาสให้มีการชำระ เพราะหยิบขึ้นมาคุยทีไร ก็ย่อมมี "กระบวนการรักชาติ" ดาหน้าออกมาฟาดงวงฟาดงา เถียงข้างๆ คูๆ อันนำไปสู่บทสนทนาที่ไม่รู้จบอีกตามเคย
ทั้งๆ ที่ "สาระ" แห่งข้อถกเถียงนั้น มุ่งหมายที่จะสะท้อน "วีรกรรม" ของพระสุริโยทัยอีกแง่หนึ่ง ในฐานะแม่ยายที่วางหมากอย่างแยบยล สนับสนุนให้ลูกเขยผู้มาจากราชวงศ์พระร่วงเหมือนกัน ได้ขึ้นสู่ราชบัลลังก์แทนที่กษัตริย์จากราชวงศ์อื่น จนมีพระราชปนัดดาองค์สำคัญคือพระนเรศวร ผู้สืบทอดเจตนารมณ์ของยาย นำไปสู่การกอบกู้เอกราชจากพม่าได้สำเร็จในที่สุด
สิ่งนี้ต่างหากที่น่าจะเป็นวีรกรรมของราชนารีนางหนึ่ง อันเป็นมิติที่ยิ่งใหญ่กว่าการเอาร่างเป็นราชพลี เพียงเพื่อสิ้นพระชนม์คาสนามรบ โดยไม่เกิดประโยชน์โภชผลใดๆ
เงื่อนงำของการช่วงชิงอำนาจระหว่างราชวงศ์อู่ทอง (ละโว้) สุพรรณภูมิ และราชวงศ์พระร่วงนั้น เป็นบาดแผลใหญ่ที่ปรากฏให้เห็นอยู่หลายกรณี เช่น การที่แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ กล้าให้ชายชู้ขุนวรวงศา สังหารพระไชยราชาราชสวามี ก็เพียงเพื่อชิงบัลลังก์ให้กลับคืนสู่มือของราชวงศ์ละโว้
การที่พระสุริโยทัยได้มาเป็นพระมเหสีของพระมหาจักรพรรดินั้น พระนางมาจากราชวงศ์พระร่วง เป็นที่ทราบกันดีว่า หัวเมืองอดีตราชธานีต่างๆ เมื่ออ่อนกำลังลงแล้ว ต่างก็ต้องส่งราชธิดามาเป็นพระสนมของกษัตริย์อยุธยาที่มีอำนาจเหนือกว่า โดยเป็นเงื่อนไขทางการเมืองที่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับความรัก ออกจะหน้าชื่นอกตรมด้วยซ้ำ แล้วทำไมจึงจะเป็นไปไม่ได้หากพระสุริโยทัยจะให้การสนับสนุนออกญาพิศณุโลกซึ่งได้อภิเษกกับพระราชธิดาของพระนางคือพระวิสุทธิกษัตรีย์ ทำการโค่นล้มผู้มีอำนาจสูงสุดแห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งก็คือพระมหาจักรพรรดิ เพราะมาจากราชวงศ์สุพรรณภูมิที่ผูกขาดความยิ่งใหญ่มาช้านาน
เรื่องทำนองนี้ถกเถียงกันมาแล้วอย่างดุเดือดหลายเวที ดิฉันเพียงแค่เก็บตกเศษเล็กเศษน้อยมาจากวงสนทนาต่างๆ แล้วนำมาสรุปให้เห็นพอเป็นกระสายยาเท่านั้น
ทั้งนี้ มิได้ปฏิเสธว่าไม่มีวีรกรรมที่ทุ่งมะขามหย่องดอกนะคะ อาจมีจริงหรือไม่มีก็ได้ เพียงแต่อยากเสนอมุมมองด้านอื่นที่มีการบันทึกถึงพระสุริโยทัยให้ผู้อ่านวงกว้างรับทราบบ้าง
เมื่อ "แม่" ไปรบ ราชนารีสองนางแห่งล้านนา
ในเมื่อเหตุการณ์วีรกรรมที่ทุ่งมะขามหย่องนั้นยังมีความคลุมเครือ จึงใคร่ขอเสนอเรื่องราวของราชนารีล้านนาสองนางที่ออกรบทัพจับศึกตัวเป็นๆ โดยไม่มีเอกสารใดกล่าวแย้งให้เกิดความคลางแคลงใจ
รายแรก คือพระมหาเทวีผู้เป็นพระราชมารดาของพระเจ้าติโลกราช (1984-1930) กษัตริย์ลำดับที่ 9 แห่งอาณาจักรล้านนา น่าเสียดายเหลือเกินที่ไม่อาจค้นพบว่า "พระมหาเทวี" องค์นี้มีพระนามว่าอย่างไร พบเพียงแค่คำว่า "พระมหาเทวีสรีมาตา" ซึ่งก็อาจไม่ใช่ชื่อเฉพาะ
และอีกรายคือ "นางเมืองผู้ตั้งครรภ์" ชายาของหมื่นโลกนคร เจ้าผู้ครองนครลำปาง ทั้งคู่เกิดก่อนพระสุริโยทัยราวศตวรรษเศษ
เหตุการณ์แรกมีขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1986 ขณะที่พระเจ้าติโลกราชกำลังติดศึกสงครามที่เมืองน่าน (นันทบุรี) นั้น ทางเมืองแพร่ (พลนคร) เห็นว่ากษัตริย์ล้านนาเสด็จออกนอกเมืองเชียงใหม่ก็เริ่มแข็งข้อ พระเจ้าติโลกราชจึงมีรับสั่งให้พระมหาเทวี เป็นแม่ทัพยกไปปราบเมืองแพร่
สิ่งที่คนฉงนฉงายยิ่งนักก็คือ อะไรเป็นมูลเหตุแห่งการตัดสินใจของพระเจ้าติโลกราช นักรบผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในบรรดากษัตริย์ล้านนา ถึงกับส่งแม่ให้ไปรบ แทนที่จะเป็นขุนนางรายอื่น ตอนนั้นแม่อายุเท่าไหร่
และแน่นอนยังมีคำถามในเชิงกดขี่ทางเพศ เช่นเดียวกันกับผู้ที่ไม่เชื่อว่าพระสุริโยทัยออกรบจริง นั่นคือ
รัฐจารีตแถบอุษาคเนย์ มีธรรมเนียมให้เจ้านายฝ่ายในเป็นแม่ทัพได้ล่ะหรือ และตำราคชศาสตร์นั้นมีข้อห้ามมิให้ผู้หญิงขี่ช้างหรือไม่ หรือหากไม่ห้าม แต่นางจะขี่เป็นไหม แม้แต่จะก้าวขาเหยียบขึ้นกูบช้างบางคนยังเกรงว่าอาจจะลื่นไถลตกด้วยซ้ำ
ไม่มีใครทราบว่าพระมหาเทวีมีพระชนมายุเท่าใดในปีนั้น แต่ลองคำนวณคร่าวๆ จากการที่พระเจ้าติโลกราชประสูติในปี 1952 ครองราชย์เมื่ออายุ 32 ปี ผ่านไปเพียง 2 ปีก็เกิดศึกเมืองแพร่เมืองน่าน แสดงว่าพระเจ้าติโลกราชอายุ 34 ในปีที่แม่ออกศึก สมมติว่าพระมหาเทวีมีพระโอรสเมื่ออายุ 16 ปีถ้าเช่นนั้นพระมหาเทวีก็ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 50 ปีโดยประมาณ เพราะหลังจากนั้นอีกหนึ่งรอบก็มีการระบุว่าทรงสวรรคต
จะว่าพระเจ้าติโลกราชสบประมาทเจ้าเมืองแพร่ หรือมองเห็นความสำคัญของเมืองนี้น้อยกว่าเมืองน่านก็ใช่ที่ถึงได้ให้ผู้หญิงออกรบ
การศึก "เมืองแพร่เมืองน่าน" นี้สำคัญนัก เพราะถือว่าเป็นการชิมลางอุ่นเครื่องของ "นวกษัตริย์" ก่อนประลองจริงในสนามใหญ่ ใต้-เหนือ-อีสาน (อยุธยา-สิบสองปันนา-ล้านช้าง) ถึงขนาดที่ว่าพระเจ้าติโลกราชมิอาจไว้วางใจขุนนางแม่ทัพชายคนใดได้เลย ต้องมอบหมายให้แม่ซึ่งมีอายุ 50 อัพออกเป็นแม่ทัพด้วยตนเอง ด้วยเล็งผลลัพธ์ไว้ล่วงหน้าแล้วว่า จะอาศัยความเป็นอิสตรีของแม่ ช่วยละลายความฮึกเหิมของศัตรูให้เกิดความละอายใจ
แล้วสัมฤทธิผลไหมเล่า ที่ตัดสินใจให้แม่ไปรบเมืองแพร่ แพ้หรือชนะ
ผลปรากฏว่า เมื่อท้าวแม่คุณ (เป็นผู้ชายนะคะ) เจ้าเมืองแพร่เห็นว่า ผู้ยกทัพมาคือพระมหาเทวี ก็ไม่กล้าต่อกรด้วย พระมหาเทวีตั้งทัพโอบล้อมเมืองแพร่อยู่นานหลายวัน เจ้าเมืองแพร่ก็ยังนิ่งเฉยอยู่ พูดง่ายๆ ก็คือ เหมือนกับมวยที่เต้นฟุตเวิร์กนานเกินเหตุกันทั้งคู่นั่นแหละ ต่างฝ่ายต่างก็ไม่กล้าขยับหมัดแรกด้วยกลัวเพลี่ยงพล้ำ ฝ่ายหนึ่งนั้นเป็นหญิงย่อมไม่ค่อยอยากรบพุ่งเท่าไหร่นัก (พอดีลูกขอร้อง) อีกฝ่ายก็อายที่ต้องรบกับผู้หญิง
ก่อนระฆังใกล้หมดยก พระมหาเทวีตัดสินใจเสี่ยงดวง สั่งให้ทหารยิงปืนใหญ่ (เรียกว่าปู่จ้าว) เข้าไปยังสวนตาลสักตู้มสองตู้มเพื่อดูปฏิกิริยาฝ่ายตรงข้าม
เมื่อเจ้าเมืองแพร่เห็นแสนยาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพเชียงใหม่ว่าล้ำหน้ากว่าตน จึงยอมอ่อนค้อมสวามิภักดิ์ ดีกว่าจะให้ไพร่พลออกไปหน้าแตกหน้าแตนต่อสู้ด้วยหลาวแหลนโบราณ
ส่วน "แม่" อีกคนหนึ่งที่สร้างวีรกรรมด้วยการออกรบนั้น มีฉายาว่า "นางเมือง" เป็นชายาของเจ้าเมืองเขลางค์ หมื่นโลกนคร ผู้เป็นโอรสลำดับที่ 6 ของพระญาแสนเมืองมาที่เกิดแต่พระสนม มีศักดิ์เป็นน้องต่างมารดาของพระญาสามฝั่งแกน
วีรกรรมคราวนี้มีมาก่อนวีรกรรมแรก นั่นคือเกิดขึ้นราวปี 1944 อันเป็นปีสุดท้ายแห่งการครองราชย์ของพระญาแสนเมืองมา การศึกครั้งนี้เป็นศึกสายเลือด เกิดจากการที่ท้าวยี่กุมกาม โอรสองค์โตของพระญาแสนเมืองมา นึกน้อยใจในวาสนาของตนที่พระราชบิดาตั้งใจจะมอบราชสมบัติให้แก่น้องชาย คือพระญาสามฝั่งแกน จึงไปคบคิดกับพระญาไสฦๅไทแห่งสุโขทัยให้มาชิงราชสมบัติจากพ่อและน้องชาย
ครั้นกองทัพของไสยฦๅไทยกจากเชลียงมาถึงลำปาง หมื่นโลกนครขณะนั้นไปราชการที่เชียงใหม่ ในเมื่อพ่อเมืองไม่อยู่ "นางเมือง" ชายาหมื่นโลกนครจึงแอบปลอมตัวเป็นชาย ออกขบวนนำทัพแทนสวามีทั้งๆ ที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ (ไม่ได้ระบุว่าครรภ์อ่อนหรือครรภ์แก่)
ผลสุดท้ายทัพฝ่ายเขลางค์ซึ่งเป็นเมืองลูกหลวงของล้านนาชนะ สามารถสกัดทัพของสุโขทัยมิให้ประชิดถึงเชียงใหม่ได้ เมื่อนางเมืองคลอดลูกออกมาในปีนั้น จึงขนานนามว่า "คืย์หาญแต่ท้อง" คำว่า "คืย์" หรือ "กืย์" เป็นภาษาล้านนา แปลว่า "คือ" นั่นเอง คือมีความกล้าหาญตั้งแต่ยังอยู่ในท้องแม่
บุรุษผู้นี้มีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องกับพระเจ้าติโลกราช ต่อมาก็ได้นั่งเมืองเขลางค์แทนบิดา และเปลี่ยนนามใหม่เป็น "หมื่นด้งนคร" อันคำว่า "นคร" นี้มาจากคำว่า "ละคอร" หรือ "หละกอน" เป็นชื่อดั้งเดิมของเมืองลำปาง
ส่วนหมื่นโลกนครผู้พ่อ มีศักดิ์เป็นอาของพระเจ้าติโลกราช ก็กลายเป็นผู้อาวุโสสามแผ่นดิน เมื่อพระเจ้าติโลกราชขึ้นเป็นกษัตริย์ก็ขอให้อาย้ายมาเป็นกุนซือช่วยบริหารราชการอย่างใกล้ชิดอยู่ที่เชียงใหม่ เลื่อนฐานะเป็นหมื่นโลกสามล้าน
แม้ "วีรกรรม" ของสองราชนารีเมืองเหนือที่กล่าวมานี้ จะไม่เคยได้รับการกล่าวถึงเลยในตำราประวัติศาสตร์กระแสหลัก ผิดกับวีรกรรมที่ทุ่งมะขามหย่อง แต่สำหรับชาวลำปาง ทุกครั้งที่ได้ยินเสียงดุกดิกๆ ของเจ้าตัวน้อยในท้องร้องเรียกให้แม่กล้าหาญ รวมถึงชาวแพร่ที่ตกอกตกใจทุกครั้งเมื่อเห็นต้นตาลฉีกกระจาย จักไม่มีวันลืมเหตุการณ์ของมหาเทวีและนางเมืองนั้นได้เลย
นี่คือความแตกต่างระหว่างประวัติศาสตร์ที่โลกสร้าง กับประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง ซึ่งยอกย้อนกับข้อเท็จลับลวงจริง
.