.
โพสต์เพิ่ม - ขาด Facebook..ขาดใจ โดย พิศณุ นิลกลัด
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
โอลิมปิก...กีฬาสำหรับทุกคน
โดย พิศณุ นิลกลัด คอลัมน์ คลุกวงใน
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1667 หน้า 96
โอลิมปิก 2012 เริ่มแล้วครับ
วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคมนี้เป็นวันเปิดพิธีการแข่งขันอย่างเป็นทางการ คนทั่วโลกจะได้ดูการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดระหว่างวันที่ 27 กรกฎาคม ถึง 12 สิงหาคม
โอลิมปิกครั้งนี้ต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของการแข่งขัน เพราะเป็นโอลิมปิกครั้งแรกที่ทุกประเทศที่เข้าร่วมแข่งขันส่งนักกีฬาหญิงลงแข่งขันด้วย
ซาอุดีอาระเบีย บรูไน และกาตาร์ 3 ประเทศมุสลิมส่งนักกีฬาหญิงร่วมแข่งขันเป็นครั้งแรก
ภายใต้การผลักดันของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ที่ต้องการให้โอลิมปิกมีความเสมอภาคกันทั้งนักกีฬาหญิงและชาย
เมื่อ 15 ปีก่อนมีถึง 26 ประเทศที่ไม่ส่งนักกีฬาหญิงเข้าร่วมแข่งขัน แต่โอลิมปิกเกมส์ 2008 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีนครั้งที่แล้ว จำนวนประเทศที่ไม่ส่งนักกีฬาหญิงเข้าแข่งขันลดน้อยลงเหลือเพียง 3 ประเทศ
นักกีฬาหญิง 2 คนที่ซาอุฯ ส่งลงแข่งโอลิมปิกคือ ซาร่าห์ แอตทาร์ (Sarah Attar) วัย 19 ปี ลงแข่งวิ่งระยะ 800 เมตร
ซาร่าห์เกิดและเติบโตที่อเมริกา พ่อเป็นคนซาอุฯ แม่เป็นอเมริกัน เธอถือทั้งสองสัญชาติ ปัจจุบันเรียนอยู่ปี 3 ที่เพ็พเพอร์ไดน์ ยูนิเวอร์ซิตี้ (Pepperdine University) เป็นนักกีฬาวิ่งระยะ 1,500 เมตร และ 3,000 เมตร ของมหาวิทยาลัย
ตอนแข่งให้กับทีมมหาวิทยาลัย ซาร่าห์สวมเสื้อแขนกุด กางเกงขาสั้น ไม่มีผ้าโพกศีรษะ ซึ่งเป็นยูนิฟอร์มของเพ็พเพอร์ไดน์
แต่เมื่อมาแข่งในนามทีมชาติซาอุดีอาระเบีย ซาร่าห์ต้องสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาวแนบเนื้อแบบเลกกิ้ง และมีผ้าโพกศีรษะตามขนบธรรมเนียมประเพณีของผู้หญิงในประเทศซาอุดีอาระเบีย
ซาร่าห์ แอตทาร์ บอกรู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่เป็นนักกีฬาหญิงซาอุฯ ได้เข้าร่วมแข่ง
โอลิมปิกเป็นครั้งแรก และหวังว่าเธอจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้หญิงในซาอุฯ ให้หันมาเล่นกีฬา
ซาอุดีอาระเบียมีกฎหมายไม่อนุญาตให้ผู้หญิงลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ไม่ให้ขับรถยนต์ ส่วนการเล่นกีฬานั้นแม้จะไม่มีกฎหมายเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรว่าผู้หญิงห้ามเล่นกีฬา แต่ว่าผู้หญิงห้ามเข้าสนามกีฬา หรือเช่าสถานที่เล่นกีฬา ไม่สามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิกสปอร์ต คลับ ส่วนโรงเรียนรัฐบาลก็ห้ามนักเรียนหญิงเล่นกีฬา
นักกีฬาซาอุฯ ที่เป็นผู้หญิงอีกคนที่ได้เข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิก 2012 คือ วอดยาน อาลี เซราจ อับดุลราฮิม ชาหร์คานี นักยูโด รุ่น 72 กิโลกรัม
นักกีฬาหญิงซาอุฯ ทั้งสองคนไม่ได้ผ่านการคัดตัวระดับนานาชาติตามกฎของโอลิมปิก แต่ทาง IOC ให้สิทธิ์พิเศษ เพราะต้องการสนับสนุนการเข้าร่วมแข่งขันของนักกีฬาหญิงของซาอุฯ โดยดูจากสถิติที่ผ่านมาของเธอที่มีมาตรฐานใกล้เคียงกับนักกีฬาหญิงที่เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกในกีฬาทั้งสองประเภท
ฌักส์ ร็อกก์ ประธานไอโอซี ดีใจเป็นพิเศษที่มีนักกีฬาหญิงจากทุกประเทศที่เป็นสมาชิกเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกทุกชาติ
เจ้าชายนาวาฟ บิน ไฟซาล ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งซาอุดีอาระเบีย บอกว่านักกีฬาหญิงของซาอุฯ ทั้งสองคนจะมีญาติผู้ชายทำหน้าที่เป็นบอดี้การ์ดคอยติดตามตลอดเวลา และจะไม่ให้เข้าใกล้นักกีฬาชายคนอื่นอย่างเด็ดขาด ทั้งการแต่งตัวของนักกีฬาหญิงทั้งสองคนต้องเหมาะสมทั้งนอกและในสนาม
ย้อนกลับไปเมื่อโอลิมปิกปี 1896 ที่ประเทศกรีซ ซึ่งถือเป็นโอลิมปิกสมัยใหม่ครั้งแรก ยังมีกฎห้ามผู้หญิงลงแข่ง ครั้งนั้นนักกีฬาชายลงแข่ง 241 คน จาก 14 ประเทศ
ปี 1904 โอลิมปิก ที่เซนต์ลูอิส รัฐมิซซูรี่ มีนักกีฬาหญิงลงแข่ง 6 คน นักกีฬาชาย 645 คน
ปี 1988 โอลิมปิก ที่กรุงโซล เกาหลี อัตราส่วนนักกีฬาหญิงต่อนักกีฬาชาย อยู่ที่ 1 ต่อ 3
ส่วนตัวเลขจำนวนนักกีฬาหญิงและชายที่โอลิมปิกลอนดอนอย่างเป็นทางการปีนี้ ยังไม่ออกมาตอนที่ผมเขียนต้นฉบับก่อนบินไปอังกฤษ
โอลิมปิก 2008 ที่กรุงปักกิ่ง มีนักกีฬาหญิงลงแข่ง 4,746 คน นักกีฬาชาย 6,450 คน
นอกจากนั้น โอลิมปิก 2012 ยังต้องบันทึกไว้อีกด้วยว่าเป็นครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกาส่งนักกีฬาหญิงลงแข่งมากกว่านักกีฬาชาย เป็นนักกีฬาหญิง 269 คน นักกีฬาชาย 261 คน
คลิปการซ้อม ดูได้ที่ http://abcnews.go.com/international/video/sarah-attar-saudi-arabias-female-olympians-16765348
++
เจ้าบ้านต้องอดทน...เสียสละ
โดย พิศณุ นิลกลัด คอลัมน์ คลุกวงใน
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 03 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1668 หน้า 96
เดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ออกมากล่าวถึงโอลิมปิกที่กรุงลอนดอนคราวนี้ว่า การแข่งขันจะสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรประมาณ 13,000 ล้านปอนด์ หรือ 650,000 ล้านบาท แม้หลายคนจะมองว่าเป็นตัวเลขเกินจริง
โอลิมปิกที่ผ่านมาสร้างงานให้เกิดขึ้นประมาณ 62,200 งาน เริ่มตั้งแต่การเตรียมงานก่อสร้างสนามกีฬา ปรับปรุงถนนหนทาง จ้างคนทำงานในช่วงการแข่งขัน
แต่ขณะเดียวกัน ก็มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นทำให้คนในกรุงลอนดอนไม่พอใจในข้อที่ว่าในฐานะเจ้าภาพต้องเสียสละความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันหลายอย่าง
นับตั้งแต่...
1. ทางการได้จัดถนนเลนพิเศษที่เรียกว่า โอลิมปิค เลน ไว้สำหรับรถของนักกีฬา เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับโอลิมปิกและผู้สื่อข่าวเท่านั้น รวมเป็นระยะทาง 48 กิโลเมตร ห้ามรถเมล์ แท็กซี่ รถส่วนตัวใช้โดยเด็ดขาด ใครฝ่าฝืนถูกปรับ 130 ปอนด์ หรือ 6,500 บาท
สร้างความไม่พอใจให้กับผู้ใช้รถในลอนดอนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะแท็กซี่ โชเฟอร์แท็กซี่หลายร้อยคันรวมตัวกันประท้วงจอดรถกลางถนน เพราะจะทำให้พวกเขารับส่งผู้โดยสารได้น้อยเที่ยว รายได้ตกเนื่องมาจากการจราจรติดขัดจากการที่ถนนหายไปหนึ่งเลน ซึ่งรถที่ได้สิทธิใช้โอลิมปิก เลน รับส่งนักกีฬา เจ้าหน้าที่ และผู้สื่อข่าว คือ รถเก๋งบีเอ็ม 4,000 คัน และรถบัสอีก 1,500 คัน เท่านั้น
2. การเดินทางด้วยพาหนะสาธารณะจะวุ่นวาย สับสน
รถเมล์ รถใต้ดิน จะมีผู้ใช้มากกว่าปกติ ทำให้การจราจรไม่คล่องตัว จะมีการดีเลย์ และหากฝนตกก็ยิ่งวุ่นวายขึ้นไปอีกหลายเท่า ผู้โดยสารที่ใช้สนามบินฮีตโธรว์เริ่มบ่นกันแล้วถึงเรื่องการตกเครื่อง สาเหตุจากคนเดินทางเพิ่มขึ้นเยอะทำให้ขึ้นเครื่องบินไม่ทัน
แต่ละวัน การคมนาคมสาธารณะในลอนดอน ทั้งรถไฟ รถเมล์ รถใต้ดิน มีการรับส่งผู้โดยสารรวมทั้งหมด 12 ล้านเที่ยว ซึ่งช่วงการแข่งขันโอลิมปิก จะเพิ่มขึ้นอีก 3 ล้านเที่ยว เป็นเหตุให้สถานีรถไฟใต้ดินที่คนแน่นอยู่แล้วจะแน่นจัดขึ้นไปอีก และอาจต้องรอนานถึงครึ่งชั่วโมงกว่าจะได้ขึ้นรถไฟใต้ดิน
ส่วนรถเมล์ที่แล่นกว่า 700 เส้นทางก็จะติดขัดกว่าเดิม ต้องใช้เวลารอนานกว่ารถเมล์จะมา
3. สนามกีฬาที่สร้างใหม่เพื่อการแข่งขัน
หลังการแข่งขันสิ้นสุดแล้วจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลสนามเป็นจำนวนเงินสูงมาก ในการจัดโอลิมปิกที่บาร์เซโลน่า และซิดนี่ย์ที่ผ่านมา สนามแข่งขันหลายแห่งไม่มีการใช้ประโยชน์ใดๆ หลังการแข่งเสร็จสิ้นลง
4. การทุ่มเงินจำนวนมหาศาลไปกับการจัดโอลิมปิกและพัฒนานักกีฬาอาชีพ ทำให้งบประมาณเพื่อพัฒนาสนามแข่งขันของเยาวชน ประชาชนถูกตัดทอนลง
ในการแข่งขันโอลิมปิก 2008 ประเทศออสเตรเลีย ใช้เงินถึง 19,600 ล้านบาท ในการเป็นเจ้าภาพ นักกีฬาออสเตรเลียได้เหรียญทอง 14 เหรียญ ทำให้ปีนี้ตั้งเป้าจะคว้า 15 เหรียญทองกลับประเทศ
ส่วนโอลิมปิก ลอนดอน เจ้าภาพยังไม่มีตัวเลขรายงานว่าใช้เงินไปเท่าไหร่ในการคว้าเหรียญ แต่เชื่อว่าต้องเป็นเงินมหาศาล เพราะต้องทุ่มทุนเต็มที่ในการได้เหรียญทองให้มากที่สุดในฐานะเจ้าภาพ และยังต้องสร้างต้องปรับปรุงสนามกีฬา ส่งผลให้งบประมาณการสร้างสนามกีฬาให้กับประชาชน ถูกตัดงบลง 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ทางผู้จัดโอลิมปิกบอกว่าการเป็นเจ้าภาพจะกระตุ้นให้เยาวชนหันมาสนใจการเล่นกีฬามากยิ่งขึ้น และอาจเป็นกิจกรรมที่เล่นจนตลอดชีวิต
5. การผูกขาดการใช้สินค้าสปอนเซอร์อย่างเป็นทางการในการแข่งขันโอลิมปิก
ห้ามผู้เข้าชมการแข่งขันในสนามนำอาหารเข้าสนามแข่ง ยกเว้นแต่จะซื้อจากร้านขายในสนามเท่านั้น เช่น น้ำที่ขายจะเป็นน้ำที่ทาง โคคา โคล่า ผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการเตรียมมาขาย แฮมเบอร์เกอร์มีขายเฉพาะของแมคโดนัลด์ ไม่มียี่ห้ออื่นให้เลือก
ผู้เข้าชมการแข่งขัน ห้ามสวมเสื้อผ้าที่มีโลโก้ตัวใหญ่ของสินค้าอื่นที่ไม่ใช่ผู้สนันสนุนการแข่งขัน และห้ามสวมเสื้อผ้าที่มีข้อความทางการเมือง!
+++
ขาด Facebook...ขาดใจ
โดย พิศณุ นิลกลัด คอลัมน์ คลุกวงใน
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1666 หน้า 96
โลกยุคปัจจุบันเป็นโลกยุคไอทีอย่างสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ไปแล้วครับ
ผมเองเดี๋ยวนี้ติดต่อเจรจากับลูกค้าตกลงรับงานเสร็จสรรพเรียบร้อยโดยต่างฝ่ายต่างไม่ต้องนั่งคุยกัน ไม่เสียเวลาเดินทางไปประชุมทั้งเขาทั้งเรา ประหยัดเวลา ประหยัดน้ำมันไปได้เยอะ
ข้อมูล ข่าวสารในการพากย์ การเขียน บทความ หรือการจัดทำรายการในทีวี ผมไม่ต้องอาศัยทีมค้นคว้ามากมายเหมือนเก่า อยากรู้อะไรก็ค้นหาในกูเกิล ยูทูป ส่งอีเมลถามผู้รู้
เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตของคนในโลกนี้ในเกือบทุกระดับชั้นไปแล้ว
หากเรารู้จักใช้ในทางที่ถูกที่ควรและเหมาะสม ประโยชน์ของเทคโนโลยีจะมีมากมายมหาศาล
แต่หากใช้ในทางที่ไม่ถูกไม่ควร จะส่งผลเสียต่อบุคคลและสังคมอย่างที่ปรากฏเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ให้เห็นเกือบทุกวัน
ผู้ปกครองที่มีลูกหลานอยู่ในวัยเด็ก วัยรุ่น ควรดูแลการใช้คอมพิวเตอร์ให้ใกล้ชิดและมีกฎเกณฑ์การใช้ที่เหมาะสม
ในเด็กซึ่งเป็นวัยที่ต้องเรียนรู้ในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในทุกด้านเพื่อเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต ปรากฏว่ามีไม่น้อยที่มีคอมพิวเตอร์เป็นเพื่อนสนิทที่สุดเพียงคนเดียว ทำให้ขาดทักษะขาดการเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข
ในวัยรุ่น วัยหนุ่มสาว รวมทั้งวัยผู้ใหญ่ คอมพิวเตอร์ทำให้หลายคนสร้างโลกสมมุติที่ตัวเองต้องการ สามารถหลบหนีออกจากโลกแห่งความจริงที่ทำให้เป็นทุกข์
การแล่น Facebook หรือ Twitter เป็นการติดต่อสื่อสารอีกช่องทางหนึ่งที่มีความสำคัญมากสำหรับคนในสมัยนี้
คนจำนวนไม่น้อยบอกว่าจะไม่มีความสุขเลยหากไม่ได้เล่นทุกวัน!
จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยแซลฟอร์ด ประเทศอังกฤษ พบว่าคนที่เล่นเฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ หรือเว็บไซต์โซเชี่ยล มีเดียเป็นประจำจะรู้สึกทุกข์ใจ รู้สึกว่าชีวิตยังไม่เพียงพอ ยังมีสิ่งที่ตัวเองขาด
มหาวิทยาลัยทำการศึกษาคน 298 คน และได้ผลการศึกษาที่น่าสนใจดังนี้ครับ
51% บอกว่าการเล่นเว็บโซเชี่ยล มีเดีย ทำให้พฤติกรรมของตัวเองเปลี่ยนแปลงในทางลบ คือมีความรู้สึกขาดความมั่นใจเพราะเปรียบเทียบตัวเองกับเพื่อนๆ ออนไลน์คนอื่น
จำนวน 2 ใน 3 บอกว่าหลังจากเล่นเว็บโซเชี่ยล มีเดียแล้วนอนไม่หลับ จิตใจไม่ผ่อนคลาย
กว่า 60% บอกวิธีเดียวที่จะหยุดพัก ไม่เล่นโซเชี่ยล มีเดีย คือต้องปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ ปิดมือถือ ไม่อย่างนั้นอดใจไม่เล่นไม่ไหว
55% บอกรู้สึกกังวล ไม่สบายใจ เมื่อเข้าเว็บไซต์โซเชี่ยล มีเดียไม่ได้ หรือเช็กอีเมลไม่ได้
25% บอกเมื่อทะเลาะกับคนออนไลน์ ทำให้จิตใจไม่สบาย กระทบชีวิตส่วนตัวและชีวิตการงาน
ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนเมษายน ก็มีการศึกษาจากยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ เยอร์เทย์บอร์รี่ ของสวีเดนเรื่องเฟซบุ๊กกับความสุข ความภูมิใจในตัวเอง (self-esteem) ซึ่งได้ผลใกล้เคียงกันกับที่มหาวิทยาลัยแซลฟอร์ดทำการศึกษา โดยพบว่าคนที่ติดเฟซบุ๊กมักมีความภูมิใจในตัวเองต่ำ
การศึกษานี้เป็นการศึกษาเกี่ยวกับเฟซบุ๊กที่ใหญ่ที่สุดในสวีเดน ทำการศึกษาคน 1,011 คน (หญิง 676 คน ชาย 335 คน) มีอายุเฉลี่ย 32.6 ปี พบว่า...
84% เล่นเฟซบุ๊กเป็นกิจวัตรประจำวัน โดยเฉลี่ยวันละ 75.2 นาที
ยิ่งใช้เวลาเล่นเฟซบุ๊กนานเท่าไหร่ ความภูมิใจในตัวเองก็ยิ่งลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิง การที่คนจะรู้สึกภูมิใจในตัวเองลดลงหรือทุกข์มากขึ้นหลังเล่นเฟซบุ๊กหรือโซเชี่ยลมีเดียอื่นๆ นั้น ส่วนหนึ่งก็เพราะคนเรามักจะโพสต์เรื่องราวในทางบวกของตัวเองให้คนอื่นอ่าน ทำให้คนโพสต์รู้สึกดีว่าชีวิตตัวเองมีความสุข ทำให้คนอื่นอิจฉา ทั้งๆ ที่ชีวิตจริงไม่ได้มีความสุขตลอดเวลาอย่างที่โพสต์
เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา บริษัท ที โมบายล์ (T-Mobile) ซึ่งให้บริการด้านโทรศัพท์มือถือ ของสหราชอาณาจักรพบว่า
40% ของคนสหราชอาณาจักรที่ท่องเที่ยวพักผ่อน เข้าไปโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กของตัวเองทุกวันเพื่อให้เพื่อนฝูงทราบข่าวคราวไปเที่ยวที่ไหน กินอะไร สนุกอย่างไร
51% โพสต์รูปตัวเองในเฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ โดยเป็นรูปที่ถ่ายกับสถานที่สำคัญในต่างประเทศเพื่อที่จะโชว์กับเพื่อนๆ
30% ตั้งใจเขียนโม้ว่าตัวเองเที่ยวสนุกสุดขีดเพื่อที่จะให้เพื่อนที่ไม่มีโอกาสได้ไปเที่ยวไหนอิจฉา
60% ของคนที่เขียนบอกว่าตัวเองเที่ยวสนุกมากให้เหตุผลว่าในเมื่อตัวเองมีความสุขก็มีสิทธิ์ที่จะเขียนโชว์เรื่องของตัวได้ เพราะไม่ได้ไปละเมิดสิทธิ์ของใคร
50% ของคนที่เขียนโม้เกินจริงบอกเป็นเรื่องปกติเพราะใครๆ ก็ทำกันทั้งนั้น
40% ของจอมโม้บอกโพสต์เพราะต้องการให้คนอ่านหงุดหงิดและอิจฉา
15% ของคนที่เขียนเกินเลยบอกทำไปเพราะอยากให้แฟนเก่าอิจฉา และเสียดายที่เลิกกะเรา
ในหมู่ของชาวสหราชอาณาจักร (ประกอบด้วย คนอังกฤษ คนสก๊อต คนไอร์แลนด์เหนือ และคนเวลส์) พบว่าคนไอร์แลนด์เหนือชอบโม้ในเฟซบุ๊กมากที่สุดเวลาไปเที่ยวพักผ่อน ตัวเลขอยู่ที่ 70% ตามมาด้วยคนในกรุงลอนดอน และคนสก๊อต 65% เท่ากัน
โรบิน ริฮานน่า เฟนดี หรือที่คนไทยรู้จักกันดีในชื่อ ริฮานน่า นักร้องผิวสีชื่อดังก้องโลก และ วิกตอเรีย เบ็คแฮม ติดอันดับท็อป 5 ที่คนคิดว่าเป็นจอมโม้ตัวแม่เพราะชอบโอ้อวด ชอบโชว์รูปตัวเองเวลาไปเที่ยวพักผ่อนตากอากาศตามที่ต่างๆ
การที่คนติดเล่น Facebook Twitter หรือ โซเชี่ยล มีเดียอื่นๆ เดิมทีอาจเป็นคนที่ขาดความมั่นใจ ไร้สุขในชีวิตอยู่ก่อนแล้ว ไม่ชอบปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นแบบต้องเห็นหน้าพูดคุยกัน จึงเลือกที่จะมีสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ทางสังคมออนไลน์แทน
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย