http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-08-20

บทนำรายงาน ศปช. เสียงจากเหยื่อ “ความจริงเพื่อความยุติธรรม” โดย พวงทอง ภวัครพันธุ์

.

บทนำรายงาน ศปช. เสียงจากเหยื่อ “ความจริงเพื่อความยุติธรรม”
โดย  พวงทอง ภวัครพันธุ์
ใน www.prachatai.com/journal/2012/08/42164 . . Mon, 2012-08-20 16:17


ความเป็นมาของ ศปช.

รายงานของศูนย์ข้อมูลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.) ที่ท่านถืออยู่ในมือนี้ มีจุดเริ่มต้นจากคนหนุ่มสาวกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่ง ที่ไม่สามารถทำใจนิ่งเฉยกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่รัฐบาลกระทำต่อประชาชนในเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 ได้ เป็นการปราบปรามการชุมนุมที่ก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บของประชาชนมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ คนหนุ่มสาวกลุ่มนี้จึงได้แปรเปลี่ยนความเจ็บปวดต่อความอยุติธรรมให้เป็นความพยายามที่จะรวบรวมข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ให้ได้มากที่สุด
ความพยายามนี้เกิดขึ้นในสภาวการณ์ที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พยายามเบี่ยงเบนความรับผิด (accountability) ของตนเอง ด้วยการประกาศว่ารัฐบาลของเขายึดหลักนิติรัฐ “พร้อมพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนพร้อม ๆ ไปกับการค้นหาความจริงผ่านกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายบนความเสมอภาคที่ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน”[1] ด้วยการตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ขึ้นมา  โดยมีนายคณิต ณ นคร ดำรงตำแหน่งประธาน คอป.[2]

แต่ตลอดช่วงเวลาที่ประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล  กระบวนการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาตัวผู้กระทำผิดกลับไม่มีความก้าวหน้าอย่างที่ควรจะเป็น แม้อธิบดีดีเอสไอจะแถลงตั้งแต่ปลายปี 2553 ว่ามีคดีผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่งที่มีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเข้าข่ายน่าเชื่อว่ามีความตายเกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าพนักงาน แต่การส่งมอบคดีไปให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการชันสูตรพลิกศพตามกฎหมายก็เป็นไปอย่างล่าช้า[3] ไม่มีการตั้งข้อหาใด ๆ กับผู้สั่งการ ไม่มีแม้กระทั่งการดำเนินการให้ศาลสืบสวนการตายในกรณีที่เชื่อว่าเป็นผลจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ในทางตรงกันข้าม ฝ่ายผู้ชุมนุมทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดถูกจับกุมดำเนินคดีอย่างกว้างขวาง ถูกดำเนินคดีและพิพากษาคดีด้วยข้อหาร้ายแรง  จำนวนมากถูกปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะได้รับการประกันตน

ในขณะที่ คอป. ก็ตกอยู่ในภาวะคลุมเครือ อิหลักอิเหลื่อ ขัดแย้งในตัวเองระหว่างหน้าที่ของการแสวงหาความจริงกับจุดมุ่งหมายที่ไม่ต้องการชี้ว่า ใครคือผู้กระทำความผิด[4]

นอกจากนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) อันเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่พิทักษ์ปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนจากการใช้อำนาจที่เกินขอบเขตของรัฐ ก็ล้มเหลวในการปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยสิ้นเชิง  ในระหว่างการล้มตายบาดเจ็บของประชาชนในเมื่อวันที่ 10 เม.ย. และ 19 พ.ค. 2553 กสม.ไม่เคยมีความกล้าหาญที่จะออกมาประณามการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของรัฐบาลแม้แต่ครั้งเดียว ซ้ำร้าย เมื่อเดือนกรกฎาคม 2554  ร่างรายงานของ กสม. ที่ว่าด้วยการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงที่ “หลุด” ออกมาหนึ่งวันก่อน กสม.จะแถลงรายงานดังกล่าวชี้ชัดว่า กสม. เลือกที่จะปกป้องอำนาจรัฐ มากกว่าปกป้องประชาชนธรรมดา เพราะสาระของรายงานดังกล่าวมุ่งพิจารณาว่า “การกระทำของผู้ชุมนุมได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่” แทนที่จะตั้งคำถามว่า “การกระทำของรัฐได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนหรือไม่” ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงปรากฏให้เห็นว่าระดับของการใช้กำลังอาวุธและทหารเข้าจัดการกับประชาชนนั้นเทียบกันไม่ได้เลยกับอาวุธที่ผู้ชุมนุมบางส่วนมี  และจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตของฝ่ายประชาชนสูงกว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่อย่างเทียบกันไม่ได้[5]   


ความไม่เชื่อมั่นในความเป็นกลางของ กสม.และ คอป.ว่าจะทำหน้าที่คืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อได้อย่างแท้จริง  ทำให้คนหนุ่มสาวกลุ่มนี้นำความตั้งใจดังกล่าวมาพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อขอความร่วมมือกับนักวิชาการกลุ่มสันติประชาธรรม  ผลของการพูดคุยนี้ได้นำไปสู่การจัดตั้ง ศปช. เพื่อทำหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลหลักฐานในเหตุการณ์ความรุนแรงให้ได้มากที่สุด ด้วยความหวังว่าในอนาคต เมื่อสังคมไทยมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ข้อมูลเหล่านี้จะมีประโยชน์ต่อการคืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อ และนำผู้ที่เกี่ยวข้องมาลงโทษในที่สุด ฉะนั้น ภารกิจของ ศปช. จึงเสมือนการทำงานคู่ขนานไปกับ คอป. ในการเก็บรวบรวมข้อเท็จจริงกรณีการสลายการชุมนุมเม.ย.-พ.ค. 2553 โดยได้มีการเปิดตัว ศปช. ต่อสาธารณะอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2553               

เมื่อได้จุดมุ่งหมายร่วมกัน พวกเราได้ช่วยกันหาเงินบริจาคเพื่อเป็นเงินเดือนสำหรับเจ้าหน้าที่ของ ศปช. และสำหรับการเดินทางเก็บข้อมูลทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด บางช่วงเวลาเจ้าหน้าที่ของ ศปช. มี 5-6 คน บางช่วงมีเพียง 2-3 คน บางคนทำเต็มเวลา บางคนทำครึ่งเวลา ขึ้นกับภาระงานและสภาพการเงินของ ศปช.ในแต่ละช่วงเวลา บางคนแม้จะไม่ได้รับค่าจ้างจาก ศปช. แล้ว แต่ก็ยังทำงานให้ศปช.ต่อไป ส่วนนักวิชาการที่มาช่วยงานของ ศปช.นั้น ไม่มีใครได้รับเงินเดือนค่าจ้างแต่ประการใด 



เสียงจากเหยื่อ

ประเด็นสำคัญที่พวกเราเห็นร่วมกันว่า ศปช. จะต้องเก็บรวบรวมข้อมูลและการวิเคราะห์ไว้ในรายฉบับนี้ได้แก่

(1)       เหตุการณ์ความรุนแรงในจุดต่าง ๆ ที่สำคัญของกรุงเทพฯระหว่างวันที่ 10 เมษายน-19 พฤษภาคม 2553

(2)       รายชื่อของผู้เสียชีวิต ลักษณะและสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิต

(3)       การจับกุมคุมขังผู้ชุมนุมทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ตลอดจนปัญหากระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวเนื่อง

(4)       ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเหยื่อและครอบครัวของผู้ได้รับผลกระทบ

(5)       วิเคราะห์ขั้นตอน เป้าหมาย วิธีการใช้ความรุนแรงของรัฐว่าเป็นสิ่งที่เกินกว่าเหตุและละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนหรือไม่อย่างไร

(6)       วิเคราะห์การก่อตัวและเป้าหมายของขบวนการคนเสื้อแดง

(7)       รวบรวมพยานหลักฐานที่สำคัญทั้งคำสัมภาษณ์ คลิปวิดิทัศน์ เอกสารราชการ เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ได้ใช้ประโยชน์ต่อไป 

อย่างไรก็ดี ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณและกำลังคน ทำให้เราไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลความรุนแรงได้ทุกกรณี เช่น  เราไม่มีรายชื่อทั้งหมดของผู้บาดเจ็บกว่า 2,000 คน เราไม่สามารถให้รายละเอียดของการเสียชีวิตได้ครบทั้ง 94 ราย ประการสำคัญ เมื่อเราไม่ได้เป็นหน่วยงานในสังกัดของรัฐ เราจึงมีข้อจำกัดไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของหน่วยงานรัฐได้ ดังนั้น ข้อมูลส่วนใหญ่ของ ศปช. มาจากการสัมภาษณ์เหยื่อและพยานที่อยู่ในเหตุการณ์ รายงานข่าว ภาพถ่าย และคลิปวิดิทัศน์ต่าง ๆ แล้วนำจิ๊กซอว์เหล่านี้มาปะติดปะต่อเพื่อให้ประชาชนได้เห็นภาพความรุนแรง ๆ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น  นอกจากนี้ ศปช. ยังมุ่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการจับกุมดำเนินคดีผู้ชุมนุมจำนวนมาก เพื่อชี้ให้เห็นปัญหาความไม่ชอบมาพากลของกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลอภิสิทธิ์ ตลอดจนผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ที่ถูกจับกุม ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่าจุดแข็งของรายงานของ ศปช. ก็คือ เป็นรายงานที่สะท้อนเสียงและมุมมองของฝ่ายประชาชนและผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการปราบปรามประชาชนเมษายน-พฤษภาคม 2553 



ใครรุนแรง? ใครทำเกินกว่าเหตุ?

การใช้กำลังทหารสลายการชุมนุมของ นปช. โดยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ระหว่างวันที่ 10 เมษายน และ 19 พฤษภาคม 2553  ถือเป็นการปราบปรามประชาชนที่รุนแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย ทั้งในแง่การใช้กำลังทหารของฝ่ายรัฐ ที่มีการระดมกำลังทหารเข้าสู่กรุงเทพฯ ถึงกว่า 60,000 ราย และใช้กระสุนจริงกว่า 117,923 นัด ในจำนวนนี้ เป็นกระสุนสำหรับการซุ่มยิงมากกว่า 2,000 นัด[6] และในแง่ของความสูญเสียต่อชีวิต ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 94 ราย ในจำนวนนี้เป็นพลเรือน 77 ราย เจ้าหน้าที่รัฐ 10 ราย อาสากู้ชีพ/พยาบาล 5 ราย ผู้สื่อข่าว 2 ราย[7] และผู้บาดเจ็บอีกราว 2,000 ราย

ในขณะที่รัฐบาล อภิสิทธิ์และ ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) พยายามตอกย้ำว่าผู้นำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ปฏิเสธการเจรจาเพื่อยุติปัญหาอย่างสันติวิธี ผู้ชุมนุมมีกองกำลังติดอาวุธ ชายชุดดำเป็นผู้ก่อความรุนแรง และมักพูดราวกับว่าความตายและบาดเจ็บที่เกิดขึ้นล้วนเป็นฝีมือของคนเสื้อแดงฆ่ากันเองเพื่อสร้างสถานการณ์ โดยเฉพาะการตายเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ส่วนรัฐบาลไม่เคยยอมรับว่าตนต้องรับผิดชอบต่อความสูญเสียแม้แต่กรณีเดียว ซ้ำร้ายยังตอกย้ำว่าการชุมนุมของคนเสื้อแดงเท่ากับ “การก่อการร้าย” จนทำให้สังคมเข้าใจว่า ผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงส่วนใหญ่เป็นผู้ก่อการร้าย แต่ในทัศนะของ ศปช. ข้อกล่าวหาเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับแผนการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมของ นปช. ในช่วง 14-19 พฤษภาคม 2553 และเต็มไปด้วยความลวงมากมาย กล่าวคือ
    รัฐบาลสามารถแสดงหลักฐานการปรากฏตัวของชายชุดดำได้แค่ที่สี่แยกคอกวัวในคืนวันที่ 10 เมษายนเท่านั้น แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าชายชุดดำเกี่ยวข้องกับความรุนแรงในที่อื่น ๆ ประการสำคัญ เมื่อตรวจสอบอย่างละเอียด ศปช.พบว่า การเสียชีวิตและบาดเจ็บของผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เมษายน บริเวณสี่แยกคอกวัว เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงบ่ายนับแต่รัฐบาลได้เริ่มแผนปฏิบัติการ “ขอคืนพื้นที่” ซึ่งหมายความว่า เกิดขึ้นก่อนที่ชายชุดดำจะปรากฏตัว   (ดูรายละเอียดเรื่องนี้ใน ข้อเท็จจริงการเสียชีวิตวันที่ 10 เมษายน โดยเกษม เพ็ญพินันต์) นอกจากนี้ หากกองกำลังของคนเสื้อแดงมีมากมายจริง ทำไมในการสลายการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ระหว่างวันที่ 14-19 พฤษภาคม กลับมีเจ้าหน้าที่เสียชีวิตเพียง 2 ราย[8]
    ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในภาพข่าวและคลิปวิดีโอคือ ผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บไม่ได้มีอาวุธร้ายแรงอยู่ข้างกาย และจากการชันสูตรศพ ก็ไม่พบคราบเขม่าปืนในมือของผู้เสียชีวิตเลย อาวุธที่รัฐบาลบอกว่า “ร้ายแรง” ก็มักประกอบด้วย หนังสติ๊ก ระเบิดขวดที่ทำจากขวดเครื่องดื่มบำรุงกำลัง ท่อนไม้ ซึ่งอาวุธเหล่านี้ไม่สามารถเทียบกับสิ่งที่มีอยู่ในมือทหารได้เลย  คำถามที่รัฐบาลอภิสิทธิ์และกองทัพ ไม่เคยตอบให้กระจ่างเลยก็คือ เมื่อผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธ ทำไมพวกเขาจึงต้องถูกยิงจนเสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัส คนเหล่านั้นเป็นผู้ก่อการร้ายทั้งหมดใช่หรือไม่  ?

    หากรัฐบาลอภิสิทธิ์มั่นใจเรื่องผู้ก่อการร้ายของตนจริง ๆ  ก็ต้องแสดงติดตามหาหลักฐานให้ได้ว่า ผู้ก่อการร้ายที่ว่านี้คือใคร มีจำนวนเท่าไร และพวกเขามีส่วนต่อการเสียชีวิตและบาดเจ็บรายใดบ้าง ไม่ใช่ใช้วิธีตีขลุมเหมารวมโดยปราศจากหลักฐานและการแยกแยะ โยนทุกเรื่องให้กับผู้ก่อการร้าย ทั้ง ๆ ที่บางเรื่องมีหลักฐานชัดเจนว่าผู้ที่กำลังเล็งปืนเข้าใส่ประชาชนคือทหาร ดังเช่น คลิปภาพทหารบนรถรางรถไฟฟ้าหน้าวัดปทุมวนาราม ที่ปรากฏดาษดื่นในโลกออนไลน์ ?    
    ประการสำคัญ ต่อให้เป็นความจริงที่ว่าผู้ชุมนุมบางคนพกพาอาวุธ ก็เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐที่จะต้องติดตามจัดการกับผู้มีอาวุธเหล่านั้นโดยตรง แต่ไม่ใช่ใช้ประเด็นนี้เพื่อเป็นข้ออ้างในการยิงเข้าใส่ผู้ชุมนุมที่ปราศจากอาวุธอย่างไม่เลือกหน้า การมีอาวุธของผู้ชุมนุมบางคน ซึ่งก็น่าจะเป็นเพียงส่วนน้อย ไม่ได้ทำให้ผู้ชุมนุมทั้งหมดกลายเป็นผู้ก่อการร้าย  ไม่สามารถเป็นข้ออ้างให้รัฐบาลขนกำลังทหารกว่า 60,000 นาย และกระสุนจริงอีกกว่า 120,000 นัดเพื่อล้อมปราบ-สังหารผู้ชุมนุมได้เลย

แท้ที่จริงยุทธวิธีต่าง ๆ ที่รัฐใช้ในเหตุการณ์นี้ ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับคำว่า “ขอคืนพื้นที่” และ “กระชับวงล้อม” แม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการใช้กระสุนจริงกว่า 120,000 นัด การใช้กำลังปิดล้อมพื้นที่ชุมนุมทุกด้าน การใช้สไนเปอร์ซุ่มยิงจากที่สูง การซุ่มยิงบนรางรถไฟฟ้าเข้าไปยังวัดปทุมวนาราม แต่เป็นความตั้งใจใช้ปฏิบัติการสงครามในเมืองเพื่อสลายการชุมนุมปราบปรามขบวนการคนเสื้อแดง ไม่ใช่เพื่อการเจรจา แต่เพื่อทำลาย
ประการสำคัญ ยุทธการ “กระชับวงล้อม” ราชประสงค์และพื้นที่โดยรอบนี้ ได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม หลายวันก่อนที่การเจรจาจะถูกล้มลงเสียอีก สิ่งเหล่านี้ได้รับการยืนยันอย่างชัดเจนในเอกสารวิเคราะห์ปฏิบัติการดังกล่าวของฝ่ายทหารเอง[9] 

ฉะนั้น ปฏิบัติการ “ขอคืนพื้นที่” ที่ถนนราชดำเนิน และ “กระชับวงล้อม” ที่สี่แยกราชประสงค์ จึงเป็นการใช้อำนาจและกำลังที่เกินกว่าเหตุ ที่มีเจตนาละเมิดสิทธิในชีวิตของประชาชนอย่างชัดเจน การละเมิดนี้ยังลุกลามไปสู่ชีวิตของทั้งเจ้าหน้าที่หน่วยแพทย์อาสาสมัคร ตลอดจนผู้สื่อข่าวทั้งไทยและเทศอีกด้วย[10] 



ใครเป็นฝ่ายล้มการเจรจา?

หลังจากที่การเจรจาระหว่างรัฐบาลกับ นปช.ในปลายเดือนมีนาคม 2553 สิ้นสุดลง โดยไม่สามารถหาข้อยุติใด ๆ ได้
ในด้านหนึ่งรัฐบาลอภิสิทธิ์พยายามแสดงภาพว่า ตนพร้อมจะเจรจาแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี แต่อยู่ ๆ ในบ่ายวันที่ 10 เมษายน 2553 รัฐบาลก็ส่งกำลังทหารและอาวุธหนักเข้าปฏิบัติการ “ขอคืนพื้นที่” บนถนนราชดำเนินโดยไม่มีการเตือนล่วงหน้า จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 26 ราย (ประชาชน 20 คน ทหาร 5 คน ผู้สื่อข่าวญี่ปุ่น 1 คน) ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้น รัฐบาลได้เรียกร้องให้ นปช.ยุบการชุมนุมที่ราชประสงค์และให้ชุมนุมบนถนนราชดำเนินเท่านั้น
ความสูญเสียเมื่อวันที่ 10 เมษายน ได้กลายเป็นแรงกดดันที่ทำให้นายอภิสิทธิ์จำต้องแสดงท่าทีประนีประนอม และประกาศว่ารัฐบาลของตนยินดียุบสภา และจัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่  14 พฤศจิกายน โดยให้ นปช. ต้องสลายการชุมนุมในทันที แต่ นปช.ปฏิเสธที่จะสลายการชุมนุมในทันที เพราะมวลชนจำนวนมากยังโกรธแค้นต่อความรุนแรงของรัฐเมื่อวันที่ 10 เมษายน และต้องการให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะผู้อำนวยการ ศอฉ. เข้ามอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ  เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน ไม่ใช่มอบตัวต่อดีเอสไอ ซึ่งถูกมองว่าเป็นพวกเดียวกันกับรัฐบาลมากเกินไป ข้อเรียกร้องนี้กลับไม่ได้รับการตอบรับจากรับบาล จึงทำให้การชุมนุมต้องยืดเยื้อออกไป ส่งผลให้ภาพพจน์ของนปช. กลายเป็นฝ่ายที่ดื้อดึง บิดพลิ้ว ไม่ยอมทำตามข้อตกลง สื่อมวลชนกระแสหลักพากันโจมตีว่า นปช. ต้องการให้เกิดการแตกหัก  พร้อมเอามวลชนเข้าแลก  และเมื่อรัฐบาลเห็นว่า นปช.กำลังตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำในทางการเมือง สูญเสียความชอบธรรมในสายตาสาธารณชน (โดยมีสื่อกระแสหลักเป็นตัวหนุนช่วย) รัฐบาลจึงฉวยโอกาสนี้ยุติการเจรจาที่กำลังดำเนินอยู่ และระดมกำลังทหารเข้าสู่กรุงเทพฯเพื่อสลายการชุมนุมอย่างรุนแรงในที่สุด               

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ ศอฉ.ได้เริ่มยุทธการ “กระชับวงล้อม” จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตไปจำนวนมากแล้วนั้น สมาชิกวุฒิสภากลุ่มหนึ่งนำโดยนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ได้เสนอตัวเข้ามาเป็นตัวกลางในการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับ นปช. กระทั่งในคืนวันที่ 18 พฤษภาคม กลุ่ม ส.ว.ได้ไปประชุมกับแกนนำ นปช. และแถลงร่วมกันบนเวทีการชุมนุมที่ประประสงค์ว่า แกนนำ นปช. เห็นชอบกับข้อเสนอของ ส.ว. และจะให้นายประสพสุขประสานงานไปยังรัฐบาล
ทว่าวันรุ่งขึ้น รัฐบาลเลือกที่จะเดินหน้าสลายการชุมนุมขั้นเด็ดขาด โดยรัฐบาลอภิสิทธิ์อ้างว่าการเจรจากับ นปช.ล้มเหลว เพราะ นปช. ปฏิเสธไม่ยอมสลายการชุมนุม แต่จากปากคำของผู้นำการเจรจา พลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกวุฒิสภา ระบุรัฐบาลไม่ยินยอมยุติแผนการสลายการชุมนุม เพราะได้วางแผนสลายการชุมนุมอย่างเป็นขั้นตอนไว้แล้ว[11]    สอดคล้องกับบทสรุปความสำเร็จในยุทธการสลายการชุมนุมของทหารที่ว่า รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนตั้งแต่ต้นว่าจะใช้มาตรการทางทหารเพื่อยุติการชุมนุม ไม่ใช่เพื่อเจรจา โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการในที่ประชุม ศอฉ. เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ให้ทหารเริ่มมีปฏิบัติการตามแผนที่วางไว้[12] 



รัฐละเมิดขั้นตอนการสลายการชุมนุมอย่างสิ้นเชิง

ตามหลักสากลได้กำหนดว่า การใช้กำลังและอาวุธของเจ้าหน้าที่รัฐต้องมีสัดส่วนที่เหมาะสมกับความรุนแรงของสถานการณ์  การใช้กำลังและอาวุธจะต้องเริ่มจากเบาไปหาหนัก โดยใช้อาวุธที่ไม่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต (non-lethal weapons) ในการควบคุมฝูงชนก่อน เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และลดความสูญเสียและบาดเจ็บ  การใช้อาวุธสังหารต้องเป็นทางเลือกสุดท้ายและใช้ได้เพื่อป้องกันตนเองและปกป้องชีวิตผู้อื่นเท่านั้น นอกจากนั้นหากมีผู้ใดได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต หน่วยแพทย์ต้องสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที

แม้ว่า ศอฉ. ได้ประกาศว่ารัฐได้ใช้ 7 ขั้นตอนเพื่อสลายการชุมนุมบริเวณสี่แยกคอกวัวในวันที่ 10 เมษายน โดยเริ่มจากเบาไปหาหนักตั้งแต่แสดงกำลัง, ใช้โล่ดัน, ฉีดน้ำ, ใช้เครื่องขยายเสียงกำลังส่งสูง, ใช้แก๊สน้ำตา, ใช้กระบอง และใช้กระสุนยาง  แต่ในทางปฏิบัติ ตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันที่ 10 เมษายน หรือก่อนที่ “ชายชุดดำ” จะปรากฏตัวในช่วงหัวค่ำเพื่อยิงต่อสู้กับฝ่ายทหาร  ก็มีผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการถูกยิงด้วยกระสุนยางและกระสุนจริงบริเวณจุดสำคัญหลายราย  แม้ว่า ศอฉ. ได้ประกาศเกณฑ์การใช้กระสุนจริงไว้ใน 3 กรณี คือ

1.เพื่อยิงข่มขวัญขึ้นฟ้า
2.เพื่อยิงต่อเป้าหมายเมื่อสามารถตรวจสอบได้ว่ามีกลุ่มก่อการร้าย หรือกลุ่มผู้ชุมนุมคนหนึ่งคนใดที่ถืออาวุธร้ายแรง อาวุธสงคราม ลูกระเบิดที่จะสามารถทำร้ายเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และประชาชนผู้บริสุทธิ์ 
3.ยิงเพื่อป้องกันชีวิตของเจ้าหน้าที่เมื่อจะถูกทำร้ายถึงแก่ชีวิตและไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงเป็นอย่างอื่นได้

แต่ลักษณะของการเสียชีวิตและบาดแผลของผู้เสียชีวิตฝ่ายประชาชนพบว่า ส่วนใหญ่เสียชีวิตจากกระสุนปืน   ขณะที่มากกว่าครึ่งพบบาดแผลบริเวณช่วงบนของลำตัว อาทิ ใบหน้า ศีรษะ หน้าอก ท้อง ปอด และลำคอ ข้อมูลบาดแผลและสาเหตุการเสียชีวิตดังกล่าว ไม่เพียงชี้ว่าปฏิบัติการทางทหารนี้ไม่ได้ดำเนินการตามกฎการใช้กำลัง 3 ข้อของ ศอฉ. แต่ยังส่อให้เห็นว่าการยิงของเจ้าหน้าที่เป็นการยิงที่มุ่งปลิดชีวิตของประชาชนด้วย นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานที่ชี้ว่าเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ชีพได้ตกเป็นเป้ายิงของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งๆที่พวกเขาแสดงตนชัดเจนว่าไม่มีอาวุธและเป็นอาสาสมัครกู้ชีพ 



กระบวนการ(ไม่)ยุติธรรมหลังสลายการชุมนุม       

ในช่วงบ่ายถึงค่ำของวันที่ 19 พฤษภาคม ได้มีการจับกุมและควบคุมตัวผู้ชุมนุมด้วยวิธีการรุนแรง เช่น มัดมือไพล่หลัง จับให้นอนคว่ำ มัดมือมัดเท้า ผูกตา ทำร้ายร่างกายผู้ถูกจับกุมขณะทำการจับกุม ตลอดจนมีการจับกุมพระภิกษุสงฆ์มัดมือไพล่หลัง และถูกบริภาษด้วยคำหยาบคาย เป็นต้น
การจับกุมและดำเนินคดีผู้ชุมนุมทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดจำนวนมากชี้ให้เห็นถึงปัญหาความไร้หลักนิติธรรมของกระบวนการยุติธรรมของไทยที่น่าละอายอย่างยิ่ง กล่าวคือ

หลายกรณี เจ้าหน้าทีสั่งฟ้องโดยอาศัยเพียงภาพถ่ายในบริเวณที่ชุมนุม โดยไม่มีหลักฐานอื่นที่ชี้ว่า  ผู้ถูกจับกุมได้กระทำผิดจริงหรือไม่ เช่น กรณี ดาบตำรวจ สันติเวช ภูตรี ไปตามหาลูกสาวและตำรวจถ่ายภาพไว้ ต่อมา ตำรวจสั่งฟ้องโดยอาศัยเพียงแค่ภาพถ่าย ทำให้เขาถูกต้นสังกัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนว่ากระทำความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง หรือกรณีเผาศาลากลางในต่างจังหวัด ประชาชนจำนวนมากถูกกล่าวหาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจและตกเป็นจำเลย เพียงเพราะมีภาพถ่ายอยู่ในเหตุการณ์ชุมนุมเท่านั้น

ผู้ชุมนุมจำนวนมากถูกฟ้องข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อันเป็นคดีที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน ๒ ปี ดังนั้น หากจำเลยรับสารภาพ ศาลก็มักอาศัยเพียงคำรับสารภาพของจำเลย โดยไม่ต้องสืบพยาน-หลักฐานประกอบคำรับสารภาพ และมักตัดสินภายในวันเดียว ปัญหาคือ  การที่ผู้ต้องหาเลือกรับสารภาพอย่างรวดเร็ว มีหลายสาเหตุด้วยกันคือ บางรายถูกข่มขู่และซ้อมทรมาน บางรายหลังจากถูกขังอยู่หลายวันก็ยังไม่มีโอกาสได้พบญาติหรือปรึกษาทนายความ บางรายตำรวจจูงใจว่า หากรับสารภาพ ศาลก็จะรอลงอาญาเพราะโทษไม่สูง บางรายถูกบังคับให้เซ็นเอกสารในการจับกุมและสอบสวนโดยไม่มีโอกาสได้อ่านเอกสารหรืออ่านไม่ออก เช่น ในคดีเผาศาลากลางมุกดาหาร เป็นต้น

นอกจากนี้ ในคดีที่ยังไม่เด็ดขาด จำเลยขอประกันตัวหลายครั้ง แต่ศาลก็ไม่ให้ประกันตัว แม้จำเลยจะได้รับความช่วยเหลือเรื่องเงินประกันจากกองทุนยุติธรรม และวงเงินในการประกันตัวก็สูงมาก ศาลมักอ้างว่าคดีอัตราโทษสูง หากให้ประกันตัวเกรงว่าจะหลบหนี ซึ่งการที่ศาลไม่ให้ประกัน ทำให้ผู้ชุมนุมหลายคนถูกคุมขังเป็นเวลานาน ทั้งๆ ที่ไม่มีความผิด หรือถูกขังเกินโทษของตน ซ้ำร้ายแม้ในกรณีที่ศาลสั่งยกฟ้องจำเลย แต่ศาลกลับมีคำสั่งให้ขังจำเลยไว้ในระหว่างที่อัยการอุทธรณ์[13] 



ความจริงคือหนทางสู่ความยุติธรรม

ไม่นานหลังการปราบปรามการชุมนุมคนเสื้อแดง เสียงเรียกร้องให้มีการสมานฉันท์ สามัคคี ปรองดองก็ดังกระหึ่มขึ้น เสียงร้องเหล่านี้มักแฝงมากับการบอกให้ประชาชนช่วยกัน“ทำให้สังคมก้าวไปข้างหน้า” “ห้นหน้ามาคืนดีกัน” “เลิกแบ่งสีแบ่งฝ่าย” ซึ่งแท้ที่จริงก็คือการบอกให้ผู้ถูกกระทำ “ลืม เงียบเฉย และยอมจำนน” ต่อความอยุติธรรมนั่นเอง ซึ่งเหตุการณ์ทำนองนี้เป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจและปัญญาชนที่สนับสนุนพวกเขากระทำบ่อยครั้งในอดีต ดังจะเห็นว่าความรุนแรงทางการเมืองหลายครั้งหลายหนในประเทศไทย จบลงด้วยการนิรโทษกรรมให้กับผู้อยู่เบื้องหลังการปราบปรามประชาชน เปลี่ยนอาชญากรรมของรัฐต่อประชาชน ให้กลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย
ความเงียบและการยอมจำนนของเหยื่อ จึงเป็นด้านมืดของวัฒนธรรมการเมืองไทยที่บูชา“ความมั่นคง” “ความสามัคคี” “ความปรองดอง”  แต่ดูถูกเหยียบย่ำสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกกระทำ เป็นวัฒนธรรมการเมืองที่ช่วยกันโอบอุ้มประเพณีของการปล่อยให้ผู้กระทำผิดที่มีอำนาจลอยนวล (culture of impunity) เป็นภาวะด้านชาและมืดบอดต่อความเจ็บปวดของคนร่วมสังคมเดียวกัน  เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่จนแทบจะเป็นเนื้อเดียวกันกับจิตวิญญาณของการเป็นพลเมืองไทยที่ดี ที่ถูกกล่อมเกลาด้วยวาทกรรมรักชาติตลอดมา

ในขณะที่ปัญญาชนในสังคมมักหยิบยืมแนวคิด ทฤษฎี วาทกรรมจากตะวันตกเพื่อแสดงถึงความทันสมัยของตนเอง แต่เมื่อต้องรับมือกับปัญหาความรุนแรงและความอยุติธรรมภายในสังคมไทยที่มีสาเหตุมาจากกลุ่มอำนาจเดิม ที่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองให้ฐานอำนาจอยู่ที่เสียงส่วนใหญ่ของประชาชน พวกเขากลับไม่สามารถเรียนรู้บทเรียนใด ๆ จากสังคมภายนอกได้เลย แม้แต่ คอป. ที่ยืมเอาแนวคิดเรื่องการแสวงหาความจริง ในฐานะที่เป็นด้านที่แยกไม่ได้จากการแสวงหาความยุติธรรม ก็ดูจะรับเอามาแต่ส่วนที่เป็นวาทศิลป์ มากกว่าจะรับเอาแก่นสารของแนวคิดดังกล่าวมาผลักดันให้เป็นจริง ขณะที่พวกเขาไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า สังคมต้องรับรู้ “ความจริง” และรื้อฟื้น “ความยุติธรรม” ให้กับเหยื่อ แต่ดูเหมือนพวกเขาก็ไม่สามารถสลัดหลุดออกจากความปรองดองแบบไทย ๆ ที่มุ่งปกป้องสถาบันอำนาจในสังคมเป็นสำคัญ

หากเราหันไปดูสังคมอื่นที่เคยประสบกับความรุนแรงทางการเมืองโดยรัฐ เช่น แอฟริกาใต้ อาร์เจนตินา ชิลี ฯลฯ การสร้างความปรองดองล้วนต้องเดินควบคู่ไปกับการคืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อ อย่างน้อยที่สุด-ความยุติธรรมขั้นพื้นฐานที่จะต้องมีให้ได้ คือ การเปิดเผยความจริงว่าใครคือผู้กระทำและอยู่เบื้องหลังอาชญากรรมต่อประชาชน 
ในสังคมเหล่านี้ ความจริง และความยุติธรรมดูจะเป็นคุณค่าที่มีความสำคัญมากกว่าการปรองดอง ความสามัคคี ความสงบสุขและความมั่นคงของรัฐ เพราะพวกเขาเชื่อว่า หนทางเดียวที่จะป้องกันไม่ให้การละเมิดสิทธิในชีวิตของประชาชนอย่างรุนแรงโดยอำนาจรัฐเกิดขึ้นอีก ก็ด้วยการเรียนรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในอดีต ใครคือผู้สั่งการ ใครคือผู้สมรู้ร่วมคิดก่ออาชญากรรมต่อเพื่อนร่วมแผ่นดินของตน
อุดมการณ์แบบไหนที่ทำให้ผู้มีอำนาจสามารถระดมคนชาติเดียวกันให้ช่วยกันสังหารคนอีกกลุ่มหนึ่งได้อย่างเลือดเย็น โครงสร้างทางอำนาจหรือระบบราชการหรือระบบกฎหมายแบบใด ที่อนุญาตให้ผู้สั่งการเชื่อว่าพวกเขาจะสามารถรอดพ้นจากการรับผิดได้ ใครบ้างที่จะต้องถูกลงโทษ  ฯลฯ
ประเด็นเหล่านี้คือหัวใจสำคัญที่ทำให้ประชาชนในประเทศอื่น ๆ เห็นความสำคัญของการแสวงหาความจริง และร่วมกันต่อสู้เพื่อคืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อให้ได้ แม้ว่าเขาเหล่านั้นจะต้องเสี่ยงภัยและใช้เวลาต่อสู้กับอำนาจเผด็จการอย่างเนิ่นนานก็ตาม 


แต่ในกรณีของไทย เสียงเรียกร้องให้มีความปรองดองนั้นดังกระหึ่ม ขณะที่เสียงเตือนให้สังคมต้องมุ่งไปที่การแสวงหาความจริงและนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ กลับอ่อนแอกระปลกกระเปลี้ย สำหรับสังคมไทย ความจริงและความยุติธรรมไม่ใช่สิ่งที่มีความสำคัญแม้แต่น้อย
ฝ่ายที่มีอำนาจรัฐและบรรดาปัญญาชนที่ช่วยปกป้องอำนาจเหล่านี้ต่างช่วยกัน “มอมยา” ให้ผู้คนในสังคมคล้อยตามไปกับการปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวล โดยไม่ต้องคิดมากว่า เหตุการณ์อาชญากรรมโดยรัฐจะกลับมาทำร้ายประชาชนในอนาคตซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีกหรือไม่ เราอยู่กับปัจจุบันเสียจนไม่ยี่หระกับอนาคตของตนเอง ไม่หยี่หระต่ออนาคตของสังคมไทย ไม่หยี่หระกับโศกนาฏกรรมที่เราทิ้งไว้ให้กับของคนรุ่นหลัง

ฉะนั้น ความพยายามของคนกลุ่มหนึ่งในนามของ ศปช. ที่ท่านถืออยู่ในมือนี้ จึงเกิดขึ้นด้วยความหวังว่า สักวันหนึ่ง หากผู้คนในสังคมนี้ไม่กลายเป็นโรคความจำเลอะเลือนทางการเมืองไปหมดเสียก่อน เราจะสามารถสถาปนาความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ปราบปราบประชาชนในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 และนำผู้ที่เกี่ยวข้องมารับผิดได้ในที่สุด เรามีความหวังว่าข้อมูลที่เรารวบรวมขึ้นมานี้จะมีประโยชน์ต่อกระบวนการยุติธรรมในอนาคตได้บ้าง 

รายงานฉบับนี้จึงเป็นเสมือนคำประกาศของ ศปช. ต่อสังคมไทยว่า  วัฒนธรรมแห่งการปล่อยให้ผู้กระทำผิดที่มีอำนาจลอยนวล และการเหยียบย่ำสิทธิในชีวิตและความเป็นคนจะต้องยุติลงในสังคมไทยเสียที ถึงเวลาที่คนรุ่นใหม่จะต้องช่วยกันรื้อถอนวัฒนธรรมการเมืองอันน่ารังเกียจที่ครอบงำสังคมไทยนี้
ศปช. ขอประกาศว่า ความจริงและความยุติธรรมมีความสำคัญมากกว่าความปรองดองอันหลอกลวงฉาบฉวย ความจริงและความยุติธรรมมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างสังคมใหม่ ที่คุณค่าและศักดิ์ศรีของประชาชนทุกชนชั้นต้องได้รับการเคารพและปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน  

ณ จุดหนึ่งบนแผ่นดินที่เปื้อนเลือด
กรกฎาคม 2555        


[1] เป็นข้อความจากเฟซบุ๊คของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ “จากใจอภิสิทธิ์ถึงคนไทยทั้งประเทศ 6 ตอนนิรโทษกรรมกับ 91 ศพ”, เขียนเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2011 สืบค้นจาก https://www.facebook.com/note.php?note_id=218400991534000 (วันที่ 20 มิถุนายน 2555).

[2] คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2553 เห็นชอบในหลักการให้มี คอป. และมีมติเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2553 เห็นชอบให้ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติพ.ศ. 2553

[3] แม้ว่าคดีผู้เสีชีวิตจากเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53 จะอยู่ในความรับผิดชอบของดีเอสไอ แต่เมื่อสืบสวนสอบสวนแล้วเชื่อได้ว่า ความตายเกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ดีเอสไอจะต้องส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่พบศพนั้น เพื่อดำเนินการชันสูตรพลิกศพ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150, เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ในกลางปี 2554 แล้ว คดีผู้เสียชีวิตจึงเริ่มมีความก้าวหน้า กระทั่งมีหลายคดีที่กระบวนการไปถึงขั้นไต่สวนการตายในชั้นศาลอยู่ในขระนี้

[4] คอป.ระบุไว้ในหลักการ ปรัชญา และแนวคิด” ในการดำเนินงานของตนชัดเจนว่า “คอป.ไม่ใช่องค์กรด้านตุลาการหรือกระบวนการยุติธรรมที่ถูกแต่งต้งขึ้นมาเพื่อตัดสินคดี หรือชี้ว่าใครถูกใครผิด สมควรต้องถูกลงโทษตามกฎหมายหรือไม่” ดู “รายงานความคืบหน้าคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ครั้งที่ 1 (17 กรกฎาคม 2553-16 มกราคม 2554). เผยแพร่เดือนเมษายน 2554, หน้า 4.

[5] ดูรายละเอียดและข้อวิจารณ์ใน “อนุกรรมการสิทธิฯ ส่งบันทึกถึง “อมรา พงศาพิชญ์” แนะพิจารณาร่างรายงานกสม.ให้รอบคอบก่อนเผยแพร่”, ประชาไท. วันที่ 9 กรกฎาคม 2554 สืบค้นจาก  http://prachatai.com/journal/2011/07/35945 (วันที่ 20 มิถุนายน 2555). 

[6] เป็นข้อมูลที่ พ.ต.ท. สมชาย เพศประเสริฐ สส.พรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร นำมาแถลงเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2554 ที่รัฐสภา ดู “จตุพรดวลเทือก แดงเดือดชุมนุมวันนี้ครึ่งแสน,” ข่าวสด. วันที่ 19 มีนาคม 2554: รายงานพิเศษเรื่อง “ตรวจพลหลังศึกอภิปรายกระสุน-เสื้อแดง-แตงโม,” มติชนสุดสัปดาห์, ปีที่ 31 ฉบับที่ 1597 (25-31 มีนาคม 2554) หน้า 14, 16; “ตัวเลขเป๊ะๆ หลุดมาได้อย่างไร” เสียงบ่นจากพล.อ.ดาว์พงษ์ กรณียอดเบิกจ่ายกระสุน ‘พฤษภามหาโหด’, มติชนออนไลน์, 25 มีนาคม 2554. สืบค้นจาก  http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1301039135&grpid=no&catid&subcatid

[7] ตัวเลขการเสียชีวิตดังกล่าวมาจากฐานข้อมูลของ ศปช. ณ เดือนกรกฎาคม 2555 โดยนับเฉพาะความสูญเสียช่วงเวลาตั้งแต่ นปช.เคลื่อนขบวนเข้าสู่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม จนถึง 19 พฤษภาคม 2553 และรวมถึงผู้ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากช่วงเวลาดังกล่าว แต่มาเสียชีวิตในภายหลังด้วย ทั้งนี้ ศปช.นับกรณีการเสียชีวิตของ พลตรีขัตติยะ สวัสดิผล ว่าเป็นการตายของพลเรือน เนื่องจากเป็นผู้ร่วมชุมนุมคนหนึ่ง 

[8] ได้แก่ จ.ส.อ.พงศ์ชลิต ทิพยานนทกาญจน์ ถูกยิงบริเวณสีลม-ศาลาแดง วันที่ 17 พฤษภาคม 2553 และส.อ. อนุสิทธิ์ จันทร์แสนตอ ถูกระเบิดที่ถนนสารสิน วันที่ 19 พฤษภาคม 2553.โดยจากรายงานขาวระบุว่าถูกยิงจากทหารที่คุมพื้นที่อยู่ในบริเวณ และ ส.อ.อนุสิทธิ์ จันทร์แสนตอ ถูกสะเก็ดระเบิดข้างสวนลุมพินี เมื่อเช้าวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ดูรายงานข่าวกรณี จ.อ.อ.พงษ์ชลิตใน “ทหารยิงทหารตายเจ็บที่สีลม”, ข่าวสด. วันที่ 18 พฤษภาคม 2553; “ระทึกม็อบตอบโต้ รถน้ำมันขวางถนน”, ไทยรัฐ, วันที่ 18 พฤษภาคม 2553.

[9] หัวหน้าควง “บทเรียนยุทธการกระชับวงล้อม พื้นที่ราชประสงค์ 14-19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553”, เสนาธิปัตย์. ปีที่ 59 ฉบับที่ 3 (กันยายน-ธันวาคม 2553).

[10] ดูรายละเอียดเรื่องนี้ในบท “ข้อเท็จจริงการเสียชีวิตและความรุนแรง เมษา 53” และ “ข้อเท็จจริงการเสียชีวิตและความรุนแรง พฤษภา 53” และ และรายงานของผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน Thailand License to Kill. 8 July 2010  ในภาคผนวก

[11] “รัฐบาลจ่อสลาย เลิศรัตน์รับล้มแผนเจรจา”, ไทยรัฐออนไลน์. วันที่ 19 พฤษภาคม 2553. www.thairath.co.th/content/pol/83901.

[12] หัวหน้าควง, “บทเรียนยุทธการกระชับวงล้อม พื้นที่ราชประสงค์ 14-19 พฤษภาคม พ.ศ.2553, หน้า 58.

[13] เช่น คดีที่รู้จักกันในชื่อ “ผู้หญิงยิง ฮ.” โดยเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2554 ศาลจังหวัดพระโขนงยกฟ้องทุกข้อหาต่อ นางนฤมล วรุณรุ่งโรจน์, สุรชัย นิลโสภา ,ชาตรี ศรีจินดา  หลังจากได้คุมขังพวกเขาเป็นเวลา 15 เดือน แต่ศาลกลับมีคำสั่งให้คุมขังพวกเขาไว้ก่อนในระหว่างที่รออัยการออุทธรณ์คดี  ดู “ศาลยกฟ้องทุกข้อหา! คดีผู้หญิงยิง ฮ.แต่ยังไม่ปล่อยตัว หลังขังไปแล้ว15เดือน” ประชาไท. วันที่ 11 สิงหาคม 2554 สืบค้นจาก http://prachatai.com/journal/2011/08/36629  (20 มิถุนายน 2555).



.