http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-08-11

สงครามภาคใต้ : โจทย์สุดยากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดย สุรชาติ บำรุงสุข

.

สงครามภาคใต้ : โจทย์สุดยากรัฐบาลยิ่งลักษณ์
โดย สุรชาติ บำรุงสุข  คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1669 หน้า 40


"รบชนะได้ก็รบ รบชนะไม่ได้ก็จร"
ประธานเหมาเจ๋อตุง
ค.ศ. 1936 (พ.ศ. 2479)



"นายทหารที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บังคับบัญชา ในปฏิบัติการแบบนี้
จะต้องเป็นผู้ที่มีฝีมือดีเลิศ ส่วนผู้ใต้บังคับบัญชาก็จะต้องเป็นผู้ที่มีวินัยดีเยี่ยม
ทั้งนี้ เพราะเป็นการรบที่ต้องรอคอยด้วยความอดกลั้น  เป็นเวลานานๆ เป็นการรบที่ทรมานจิตใจอย่างเป็นที่สุด"
เซอร์โรเบิร์ต ทอมป์สัน
นักทฤษฎีการทหาร
ค.ศ. 1966 (พ.ศ. 2509)



"ความริเริ่มเป็นทุกสิ่งทุกอย่างในการต่อต้าน
การก่อความไม่สงบ ถ้าข้าศึกทำตามเรา เราเป็นผู้ควบคุมสภาวะแวดล้อม"
เดวิด คิวคูลเลน
นักทฤษฎีการทหาร
ค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2553)



ในสถานการณ์ที่รัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังเผชิญกับปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น บทความนี้จึงอยากจะขอเริ่มต้นด้วยการนำเอาคำพูดหลัก ซึ่งเป็นดัง "วรรคทอง" ของสงครามก่อความไม่สงบขึ้นมาเป็นจุดเริ่ม 

ประโยคแรกมาจากประธานเหมาเจ๋อตุงในฐานะของนักสงครามปฏิวัติหรืออีกมุมหนึ่งก็คือสงครามก่อความไม่สงบ
ส่วนอีกสองประโยคมาจากนักต่อต้านสงครามการก่อความไม่สงบ เชอร์โรเบิร์ต ทอมป์สัน คือนักทฤษฎีที่ประสบความสำเร็จในสงครามมลายา หรือที่เรียกว่า "ภาวะฉุกเฉินในมลายา"
ส่วน เดวิด คิวคูลเลน ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาด้านการต่อต้านการก่อความไม่สงบของกองทัพสหรัฐอเมริกาในอัฟกานิสถาน


หากย้อนกลับไปสู่วันแห่งชัยชนะของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 แล้ว จะเห็นได้ว่ารัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำนั้น ดูจะไม่ค่อยได้เตรียมตัวรับกับปัญหาความมั่นคงเท่าใดนัก แม้พวกเขาจะกังวลอย่างมากกับปัญหาพระวิหารอยู่บ้าง เพราะเป็นผลสืบเนื่องที่เกิดขึ้นตั้งแต่รัฐบาล สมัคร สุนทรเวช จนถึงรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ดังนั้น เมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก่อตัวขึ้น ประเด็นความสนใจในส่วนหนึ่งจึงมุ่งไปสู่ปัญหาเรื่องข้อพิพาทไทย-กัมพูชา 
และอีกส่วนหนึ่งหากพวกเขาจะกังวลแล้วก็คงเป็นเรื่องของการเตรียมตัวที่อาจจะต้องเผชิญกับการชุมนุมของกลุ่มต่อต้านรัฐบาล
ในสภาพเช่นนี้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ดูจะไม่ได้มุ่งไปสู่ประเด็นปัญหาความรุนแรงในจังหวัดภาคใต้เท่าใดนัก

อาจจะเป็นเพราะพรรคเพื่อไทยในช่วงของการหาเสียงเลือกตั้ง แม้จะมีข้อเสนอในเรื่องการแก้ปัญหาภาคใต้ หากแต่พรรคกลับไปไม่ได้คะแนนเสียงจากการลงเสียงในพื้นที่แต่อย่างใด 
ผลเช่นนี้อาจจะทำให้เกิดการตีความว่า ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้ตอบรับกับข้อเสนอของพรรคเท่าใดนัก 
ประกอบกับในอีกส่วนหนึ่งพรรคเพื่อไทยเองก็ไม่ได้มีฐานเสียงหลักในภาคใต้แต่อย่างใด 
ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเท่าใดนักที่รัฐบาลในช่วงต้นจะไม่มีท่าทีที่ชัดเจน หรือไม่เห็นทิศทางเชิงนโยบายที่ชัดเจนต่อปัญหาความรุนแรงในภาคใต้
แต่รัฐบาลก็แก้ปมปัญหาเช่นนี้โดยการเดินทางเยี่ยมเยือนพี่น้องประชาชนในพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีหลังจากการรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งอย่างน้อยก็เป็นการส่งสัญญาณว่ารัฐบาลไม่ได้ทอดทิ้งประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 
อย่างไรก็ตาม เป็นที่รับรู้กันว่า ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลค่อนข้างจะกังวลกับปัญหาความมั่นคงจากกรณีปราสาทพระวิหารอย่างมาก เพราะหากศาลโลกออกมติจริงจากคำร้องของรัฐบาลกัมพูชาแล้ว ย่อมจะส่งผลกระทบต่อสถานะของรัฐบาลไทยได้โดยตรง 



การกล่าวเช่นนี้มิได้หมายความว่า รัฐบาลไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงผลกระทบจากมติจริงของศาลโลกที่จะเกิดขึ้นในปี 2556 แต่อย่างใด หากแต่โดยเปรียบเทียบกับปัญหาความรุนแรงจากการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ปัญหาในภาคใต้มีความยุ่งยากและความซับซ้อนมากกว่า 
เพราะอย่างน้อยแม้ปัญหาทั้งสองจะมีเรื่องของการปลุกระดมมวลชนให้หันมาสนับสนุนทิศทางการเมืองของตน แต่ในกรณีของปัญหากัมพูชานั้นก็อยู่ในวิสัยที่จะทำความเข้าใจกับประชาชนได้มากกว่า 

อาจจะเป็นเพราะปัญหากัมพูชาเป็นการปลุกระดมบนพื้นฐานของ "ลัทธิชาตินิยมเก่า" ซึ่งอาจจะไม่สอดรับกับทิศทางการเมืองโลกและการเมืองในภูมิภาค 
ซึ่งหากทำความเข้าใจกับประชาชนในวงกว้างได้จริงแล้ว การก่อตัวของลัทธิชาตินิยมขวาจัดก็อาจจะไม่มีพลังสนับสนุนจากมวลชนอย่างกว้างขวางได้ 
แม้จะยังมีพลังสนับสนุนจากกลุ่มอนุรักษนิยมอยู่ก็ตาม และในสถานการณ์การเมืองใหม่เช่นนี้ก็ใช่ว่า ผู้นำทหารจะมีเสรีภาพในการใช้กำลังได้อย่างเสรีเช่นในอดีต


ปัญหาการก่อความไม่สงบในภาคใต้แตกต่างอย่างมาก และรากเหง้าของปัญหามีความซับซ้อนในตัวเองอย่างมากด้วย 
หากแบ่งเหตุการณ์ความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในสถานการณ์ร่วมสมัยนั้น คงจะต้องถือเอากรณีการปล้นปืนจากค่ายทหารในจังหวัดนราธิวาสในค่ำคืนวันที่ 4 มกราคม 2547 เป็นจุดเริ่มต้น  
และนับจากวันดังกล่าวความรุนแรงก็ขยับตัวสูงขึ้นจนกลายเป็นแนวโน้มอย่างต่อเนื่อง 
ภายใต้ทิศทางของสถานการณ์จากปีดังกล่าวเป็นต้นมา คงต้องยอมรับความจริงว่า จวบจนปัจจุบันล่วงเข้าสู่ปีที่ 9 แล้ว เราก็ยังมองไม่เห็น "แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์" 
ความรุนแรงจากการก่อเหตุไม่สงบในรูปแบบต่างๆ ยังคงดำรงอยู่เป็นทิศทางหลัก

และวลีที่ที่รัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงจะต้องระมัดระวังไม่เอามาพูดจนกลายเป็นคำที่ไร้ความหมายเป็นอย่างยิ่งก็คือ "เรามาถูกทางแล้ว" หรือชอบกล่าวว่า "ฝ่ายตรงข้ามกำลังแพ้ก็เลยต้องใช้ความรุนแรง" ตอบโต้กับฝ่ายรัฐบาล เป็นต้น

ภาษาหรือวาทกรรมในลักษณะเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่มีความหมายแต่อย่างใด เพราะในความเป็นจริงแล้วต้องยอมรับความจริงที่สำคัญอีกประการหนึ่งว่า ฝ่ายตรงข้ามยังคงเป็นฝ่ายที่ดำรงความริเริ่มในสนามรบมากกว่าการที่ฝ่ายรัฐหรือกองกำลังของฝ่ายรัฐเป็นผู้กุมความริเริ่มในพื้นที่ดังกล่าว หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ จนล่วงเข้าปีที่ 9 ขบวนผู้ก่อความไม่สงบยังเป็นผู้ยึดกุมความริเริ่มในสนามรบนี้ 
ปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่ใช่ความ "โชคร้าย" ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ หากแต่เป็น "ชะตากรรม" ของรัฐบาลไทย ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ต่างหาก
และรัฐบาลหลังจาก 4 มกราคม 2547 ล้วนแต่อยู่ในชะตากรรมเช่นนี้ไม่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายสมัคร สุนทรเวช นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จนถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร...

ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ดำรงอยู่เป็นหนึ่งในปัญหาความมั่นคงหลักของทุกรัฐบาล


ในทางทหารก็ไม่แตกต่างกัน กี่ผู้บัญชาการทหารบกและกี่แม่ทัพกองทัพภาคที่ 4 แล้ว ขบวนการก่อความไม่สงบก็ยังคงขับเคลื่อนความรุนแรงจนกลายเป็นความท้าทายใหญ่ของผู้นำกองทัพไทยว่า เฉพาะในส่วนของนโยบายและมาตรการทางทหารที่ใช้อยู่ในพื้นที่นั้นกำลังถูกลดทอนความน่าเชื่อถือลงในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นการวางระเบิด การเข้าตีฐานทหาร หรือการลอบสังหาร เป็นต้น 
ปฏิบัติการทางทหารของขบวนการก่อความไม่สงบไม่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงการฝึกมาอย่างดีเท่านั้น หากแต่ยังแสดงให้เห็นถึงรูปแบบของการปฏิบัติการใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นคาร์บอมบ์ (รถระเบิด) มอเตอร์ไซค์บอมบ์ การจุดระเบิดแบบสองลูกซ้อนหรือแบบสามลูกซ้อน หรือการจุดระเบิดด้วยอุปกรณ์แบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ รีโมตรถเด็กเล่น หรือนาฬิกาชนิดต่างๆ เป็นต้น 
ตัวแบบเหล่านี้บ่งบอกให้เห็นในอีกด้านหนึ่งว่า การตอบโต้กับปฏิบัติการในรูปแบบใหม่ๆ จากกองกำลังของฝ่ายรัฐยังคงมีความจำกัดอยู่มาก

หรือแม้กระทั่งตัวอย่างของการโรยตะปูหรือที่เรียกกันว่า "เรือใบ" ก็ยังเป็นสิ่งที่กองกำลังฝ่ายรัฐยังไม่สามารถแก้ไขได้ และกลายเป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการเคลื่อนไหวของฝ่ายรัฐ 
ดังนั้น คงไม่แปลกอะไรนักที่จะกล่าวว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ขึ้นสู่ตำแหน่งในทำเนียบนายกรัฐมนตรีโดยไม่มี "ตัวช่วย" เท่าใดนัก 
ยิ่งมองจากบริบทของตัวบุคคลในตำแหน่งของรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ซึ่งจะต้องมีบทบาทหลักในงานด้านความมั่นคงของประเทศ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ บุคคลผู้นี้จะต้องเป็นผู้ดูแล กำกับ และขับเคลื่อนงานความมั่นคงของรัฐบาล แต่จากยิ่งลักษณ์ 1 จนถึงปัจจุบัน จะเห็นได้ชัดเจนว่า บุคคลที่เข้ามารับตำแหน่งดังกล่าวแทบไม่มีบทบาทความมั่นคงอย่างจริงจังแต่อย่างใด ยกเว้นการเดินทางลงไปตรวจเยี่ยมในพื้นที่เป็นครั้งคราว 
หรือในขณะเดียวกันเราก็แทบไม่เห็นว่านโยบายที่จะผลักดันในการแก้ไขสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นเป็นไปในทิศทางใด



ในบริบทขององค์กรความมั่นคงในระดับนโยบาย สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในช่วงที่ผ่านมาก็แสดงบทบาทเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์อย่างชัดเจน บทบาทของการเป็น "กบฏ" ของ สมช. เห็นได้ในหลายๆ เรื่อง และกลายเป็นองค์กรที่รัฐบาลหวังพึ่งพาในงานด้านความมั่นคงไม่ได้   
ฉะนั้นการจัดระเบียบ สมช. ใหม่เพื่อให้องค์กรกลับมามีบทบาทด้านความมั่นคงจริงๆ จึงเป็นประเด็นสำคัญในการสร้างเครื่องมือให้แก่รัฐบาลในงานภาคใต้ 
ในอีกระดับหนึ่ง กระทรวงกลาโหมก็ดูจะไม่มีบทบาทอะไรมากนัก ซึ่งอาจจะพอแก้ตัวได้บ้างว่า งานในภาคใต้เป็นเรื่องของเหล่าทัพ ไม่ใช่เรื่องของ กห. ก็คงได้ แต่อย่างน้อยการรับผิดชอบด้านความมั่นคงทางทหารในกรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ก็ท้าทายอย่างมากว่า รัฐมนตรีกระทรวงนี้จะคิดริเริ่มอะไรได้บ้าง 
ประเด็นเช่นนี้ท้าให้ฝ่ายอำนวยการของรัฐมนตรีต้องคิดเป็นอย่างยิ่งว่าจะทำอะไรในอนาคต

สำหรับกองกำลังของฝ่ายรัฐ กองทัพบกโดย กอ.รมน. เป็นส่วนงานหลักในภาคใต้ และขณะเดียวกันก็มีเหล่าทัพอื่นๆ เข้าไปร่วมด้วย เช่น กรณีของนาวิกโยธิน อันเป็นกองกำลังเก่าที่ประจำอยู่ในพื้นที่แต่เดิม ซึ่งก็รวมถึงกำลังของฝ่ายตำรวจด้วย... 
วันนี้รัฐบาลต้องให้กำลังใจและชื่นชมต่อความตั้งใจและความเสียสละของกำลังพลในพื้นที่ 
พวกเขาทำหน้าที่อยู่บน "ความเสี่ยง" และที่สำคัญก็คือ ความขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันตัว เช่น เครื่องมือในการตรวจวัตถุระเบิด หรืออุปกรณ์สมัยใหม่ที่ใช้ในการป้องกันการจุดระเบิด เป็นต้น 
แต่อุปกรณ์ที่ได้กลับเป็น "จีที-200" ซึ่งหาประโยชน์ไม่ได้ หรือเป็น "เรือเหาะ" ซึ่งวันนี้ไม่ทราบว่าอยู่ที่ใด และใครควรเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดซื้อจัดหาที่เกิดขึ้น เพราะไม่สามารถ "เหาะ" ได้จริง


ปรากฏการณ์ในภาคใต้เช่นปัจจุบันกำลังส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่า กองกำลังของรัฐไทยซึ่งครอบครองพื้นที่ทางภูมิศาสตร์มาแล้ว 9 ปี ยังคงเผชิญกับการต่อต้านด้วยกำลังอาวุธที่อาจจะยกระดับขึ้นได้ตลอดเวลา โจทย์ชุดนี้จึงเป็นความท้าทายอย่างมากถึงประสิทธิภาพในการใช้กำลังของรัฐไทย 
แต่ที่สำคัญก็คือโจทย์ของการต่อต้านการก่อความไม่สงบในภาคใต้เช่นนี้ท้าทายรัฐบาลยิ่งลักษณ์เป็นที่สุด

ต้องยอมรับว่ายากกว่าปัญหาน้ำท่วม ยากกว่าปัญหาพระวิหาร และอาจจะยากที่สุด จนต้องคิดจริงๆ ว่าแล้วรัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรกับโจทย์ยากที่สุดชุดนี้!



.