http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-08-19

ความอยุติธรรม อคติ ไร้เมตตาเชิงระบบ โดย สุรพศ ทวีศักดิ์

.

สุรพศ ทวีศักดิ์ : ความอยุติธรรม อคติ ไร้เมตตาเชิงระบบ
ในมติชน ออนไลน์ วันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2555 เวลา 08:00:00 น.


เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา ผมได้ไปฟังการปาฐกถาและอภิปรายที่ห้องประชุมสัญญา ธรรมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เนื่องในวันสันติภาพไทย เป็นการพูดถึงเรื่องราวของเสรีไทยว่า มีคุณูปการอะไรแก่สังคมไทยบ้าง 

ตอนหนึ่งท่านผู้ปาฐกถากล่าว (ประมาณ) ว่า “เสรีไทยนั้นมีความปรองดองกันดีมาก ไม่เคยปรากฏว่ามีความขัดแย้งใดๆ เลย เนื่องจากทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันคือทำเพื่อชาติ เสียสละเพื่อชาติ ไม่มีใครเรียกร้องความยุติธรรมเพื่อตัวเองเลย ไม่เหมือนคนปัจจุบันที่ชอบเรียกร้องความยุติธรรมกันมากจนไม่สามารถจะปรองดองกันได้ ความยุติธรรมเพื่อตัวเองมันไม่มีหรอก ไม่รู้จะเรียกร้องกันไปทำไม
ฟังการอ้างเหตุผลเปรียบเทียบแบบนี้แล้ว ทำให้ผมรู้สึกว่าปัญหาขัดแย้งในปัจจุบันคงจะยืดเยื้อไปอีกแสนนาน เพราะแม้แต่คนระดับศาสตราจารย์ก็ยังใช้วิธีทำความเข้าใจปัญหาแบบ “สุกเอาเผากิน” คือเอาบริบทที่แตกต่างกันราวฟ้ากับเหวมาเปรียบเทียบกันแบบจับแพะชนแกะได้หน้าตาเฉยเช่นนี้ การสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจปัญหาให้ตรงกันก็คงยาก คงต้องพยายามทำกันต่อไปอีกนาน 

พูดถึงการอ้างเหตุผลแบบนี้แล้ว ทำให้ผมนึกถึงข้อสังเกตของอาจารย์ท่านหนึ่งในช่วงอภิปรายว่า ถ้าไม่มีธรรมศาสตร์ ไม่มีการฟื้นฟูสถาบันปรีดี เรื่องราวของเสรีไทยก็คงสาบสูญไปแล้ว แต่เพราะมีธรรมศาสตร์มีสถาบันปรีดี จึงได้มีการมานั่งเล่าเรื่องเรื่องราวของเสรีไทยในวงแคบๆ กันปีละครั้ง ถ้าอยากให้เสรีไทยเป็นที่รู้จักในวงกว้างก็ต้องมีหน่วยงานภาครัฐรับผิดชอบจัดกิจกรรม และประชาสัมพันธ์ในวงกว้าง 

จากข้อสังเกตนี้ทำให้ผมนึกถึง “ความยุติธรรม” ที่ท่านผู้ปาฐกถาบอกแต่แรกว่า เสรีไทยไม่เคยเรียกร้องความยุติธรรมสำหรับตนเอง เขาจึงปรองดองและทำงานใหญ่เพื่อบ้านเมืองได้สำเร็จ คำถามของผมก็คือแล้วเหตุใดในปัจจุบันสังคมนี้จึงไม่เรียกร้องความยุติธรรมให้กับเสรีไทยบ้าง  
ให้เรื่องราวคุณูปการทางประวัติศาสตร์ของพวกเขาได้ถูกนำมาพูดถึง ตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ อภิปรายถกเถียงในวงกว้าง 
จริงหรือไม่ว่าความไม่ยุติธรรมอย่างหนึ่งในบ้านเราคือ มีการใช้งบประมาณจากภาษีประชาชนเพื่อการยัดเยียดปลูกฝังในเรื่องบางเรื่องมากเหลือเกิน แต่เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่มีความหมายต่อประชาธิปไตย เสรีภาพ และความเสมอภาค รัฐไทยกลับไม่ใส่ใจ หรือไม่ให้ “ความยุติธรรม” แก่เรื่องราวเหล่านั้นตามที่ควรจะเป็น

อีกประเด็นหนึ่งคือ ท่านวิทยากรกล่าวว่า เราต้องตั้งคำถามกับประวัติศาสตร์ ไม่ใช่อ่านประวัติศาสตร์เพื่อที่จะเชื่อ อันนี้ทำให้ผมนึกถึงว่าเมื่อเราอ่านประวัติศาสตร์ที่ผู้จงรักภักดีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์เขียนก็จะได้เนื้อหาอีกแบบหนึ่ง เมื่ออ่านประวัติศาสตร์เชิงวิพากษ์ หรืออ่านงานของจิตร ภูมิศักดิ์ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นต้น ก็จะได้เห็นภาพความจริงอีกด้านหนึ่ง แต่ประวัติศาสตร์ที่ศึกษากันในระบบการศึกษาแบบทางการ คือประวัติศาสตร์เพื่อสร้างความจงรักภักดี นี่ก็คือความไม่แฟร์อีกประการหนึ่งเช่นกัน



อาจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ กล่าวว่า “ใครจะบอกว่าศึกษาประวัติศาสตร์ต้องไม่มีอคติก็ว่ากันไป แต่ทฤษฎีของผมคือศึกษาประวัติศาสตร์ที่มีอคติ คือใช้อคติของคนปัจจุบันไปมองอดีตเพื่อรับใช้ปัจจุบัน
ผมเห็นด้วยกับมุมมองเช่นนี้ เพราะประวัติศาสตร์ล้วนมี “พล็อตเรื่อง” มีผู้เล่าเรื่องที่มีอำนาจกำหนดเนื้อหาว่าจะเน้นเรื่องอะไร ตัดทิ้งอะไร ประวัติศาสตร์ที่ปราศจากอคติไม่มีอยู่จริง ประวัติศาสตร์ชาตินิยมแบบไทยจึงไม่มีเรื่องราวของราษฎร คือไม่มีเรื่องราวของวิถีชีวิต ความคิด ความใฝ่ฝัน อุดมการณ์ การต่อสู้ของชนชั้นล่างให้เราได้เรียนรู้เป็นบทเรียน

ในทางศาสนา เราก็เห็นอคติอย่างชัดเจน ครั้งหนึ่งยุโรปยุคกลางหรือยุคมืดก็ใช้ศาสนากดขี่ สร้างการแบ่งแยก ความขัดแย้ง และสงคราม แต่เมื่อเปลี่ยนไปสู่ยุคสมัยใหม่ ศาสนาก็ถูกนำมาใช้ในทางกลับกันอย่างสุดขั้ว ดังเช่นคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกาก็เริ่มด้วยข้อความว่า “ พระเจ้าสร้างมนุษย์มาให้เท่าเทียมกัน...” ความหมายของพระเจ้าจึงมีความซับซ้อนและแปรผันไปตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ดังมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ก็เป็นนักสอนศาสนาที่ใช้ศรัทธาในพระเจ้าเป็นพลังในการต่อสู้เพื่อสิทธิเท่าเทียมของคนผิวดำ มหาตมะ คานธี ก็ใช้หลักศาสนาฮินดูต่อสู้เพื่ออิสรภาพของอินเดียด้วยแนวทางสันติวิธี หรือ ดร.อัมเบ็ดการ์ ก็อ้างอิงหลักการพุทธศาสนาต่อต้านระบบวรรณะของฮินดู และวิจารณ์ศาสนาอิสลามในบางเรื่องที่เป็นการกดขี่เอาเปรียบทางเพศ เป็นต้น 

สิ่งที่แปลกประหลาด ก็คือพุทธศาสนากระแสหลักในสังคมไทยเท่านั้นกระมังที่แทบจะไม่ได้ตีความคำสอนพุทธเพื่อความเป็นธรรมแก่ชนชั้นล่าง ทั้งที่พุทธศาสนานั้นก็มีคำสอนเรื่องความเมตตาที่ถือว่าสรรพสัตว์ต่างเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เพราะทุกชีวิตต่างเผชิญกับความทุกข์เหมือนกัน (แม้รายละเอียดของความทุกข์ที่แต่ละคนมีจะต่างกัน แต่ทุกคนต่างเผชิญความทุกข์) จึงไม่มีเหตุผลที่จะเบียดเบียนทำร้ายกัน โดยหลักตรรกะนี้
เป็นไปไม่ได้ที่พุทธศาสนาจะยอมรับความไม่เท่าเทียมในความหมายว่ามีชนชั้นที่สูงกว่าเอาเปรียบชนชั้นที่ต่ำกว่า
ฉะนั้น คนที่มีความเป็นพุทธในเนื้อในตัวเป็นไปได้ที่ภายในใจเขาจะมีเมตตาต่อคนทุกชนชั้น แต่เขาจะอยู่ข้างชนชั้นล่างผู้ถูกเอาเปรียบอย่างแน่นอน และการต่อสู้ดังกล่าวที่แสดงออกว่ามีความเมตตา ก็คือการต่อสู้เพื่อสร้างระบบสังคมให้ทุกคนไม่ว่าจนหรือรวยอยู่ภายใต้หลักความยุติธรรมอันเดียวกันที่มีความหมายหลักๆ ว่า ต้องไม่มีชนชั้นผู้เอาเปรียบที่ตรวจสอบไม่ได้

เป็นความจริงว่า ในสังคมเรามีระบบหรือโครงสร้างอันอยุติธรรม อคติ และไร้เมตตาอยู่จริง และพุทธศาสนาแบบทางการก็เป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนโครงสร้างดังกล่าวอยู่จริง เพราะมีหลักฐานมากมายในประวัติศาสตร์  การตายฟรีของประชาชนที่เรียกร้องเสรีภาพ และประชาธิปไตยที่รัฐไทยไม่เคยรับผิดชอบต่อการเอา “ข้อเท็จจริง” มาเปิดเผย และเอา “คนผิด” มาลงโทษได้เลย (ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องเรียกร้องความยุติธรรมมากขึ้นๆ ผมเลยงงว่า ท่านศาสตราจารย์คิดอย่างข้างต้นได้ไง) และศาสนาก็ยังถูกใช้เพื่อเป็นเครื่องมือเชิดชูความดีงามเกินจริงของผู้มีอำนาจอย่างอคติ

ปัญหาที่ว่ามานี้จะแก้อย่างไร ผมคิดว่าเป็นไปได้ยากหรือเป็นไปไม่ได้เลยที่คนซึ่งอยู่ภายในหรือได้ประโยชน์จากระบบหรือโครงสร้างดังกล่าวจะริเริ่มแก้ไขเอง การริเริ่มแก้ไขต้องมาจากคนนอกที่ไม่มีส่วนได้เสียในผลประโยชน์และอำนาจ ซึ่งน่าจะได้แก่ นักวิชาการ 
ในบ้านเราผมมีความหวังว่า นักวิชาการด้านพุทธศาสนาและปรัชญาจะริเริ่มกำหนดประเด็นปัญหา ตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ หรือเสนอทางออกอย่างมีเหตุผลร่วมกับนักวิชาการด้านอื่นๆ บ้าง ผมยังหวังอย่างนั้น แม้วันนี้จะดูมืดมนอนธการมากเพียงใดก็ตาม!



.