http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-08-25

ชนบทไทย โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

ชนบทไทย
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1671 หน้า 30


ชนบทคืออะไร?
ตอบไม่ง่ายนะครับ จะเหมาเอาว่าคือพื้นที่นอกกรุงเทพฯ อย่างที่เขาตอบกันในสมัยโบราณเห็นจะไม่ได้มานานแล้ว เพราะจะเรียกตัวเมืองโคราช, เชียงใหม่, พิษณุโลก หรืออื่นๆ อีกทั้งหมดว่าชนบทก็ไม่น่าจะได้


นักมานุษยวิทยาท่านหนึ่งนิยามง่ายๆ ว่า ชนบทคือที่ซึ่งทำเกษตรกรรม ฟังดูก็น่าจะจริงนะครับ ที่กว้างๆ สุดลูกหูลูกตา จะเอาไปผลิตอะไรได้หากไม่ใช่เกษตรกรรม และเมื่อพูดถึงเกษตรกรรมก็หมายความว่ามีคนอยู่ (หากไม่มีคนอยู่เลยก็เรียกว่าป่าสิครับ) ชนบทจึงหมายถึงทั้งพื้นที่และวิถีชีวิตของคนทำเกษตรกรรมนั่นเอง 
แต่คำนิยามนี้ดูเหมือนจะใช้ในประเทศไทยปัจจุบันไม่ได้เสียแล้ว และใช้ไม่ได้มาสักสองทศวรรษแล้วด้วย

คนที่อยู่ในชนบทของประเทศไทย มักอยู่ใน "หมู่บ้าน" แต่คำนี้ยิ่งทำให้งุนงงขึ้นไปใหญ่ เพราะนักวิชาการเคยเถียงกันว่ามันมีอยู่จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียง "หน่วยการปกครอง" ที่รัฐบาลกลางตั้งขึ้นกันแน่ 
ในที่สุดก็พอจะสรุปได้ว่าคำว่า "หมู่บ้าน" น่าจะมีสองความหมาย หนึ่งคืออะไรที่มีอยู่จริง แต่ไม่คงที่และเปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆ และสองคือหน่วยสังคมที่มีความหมายเชิงวาทกรรม สร้างขึ้นเพื่อปกครองและขูดรีดโดยฝ่ายหนึ่ง แต่ก็สร้างขึ้นเพื่อต่อต้านการปกครองและขูดรีดของฝ่ายชาวบ้านด้วย
"หมู่บ้าน" ในความหมายที่สอง คือหน่วยทางสังคมที่ถูกนิยามขึ้นเป็นวาทกรรมสำหรับการต่อสู้ เรียกร้องความเป็นอิสระจากรัฐนี่แหละครับ ที่แพร่หลายมากในเมืองไทยตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา


วาทกรรม (แปลว่าสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นและปลูกฝังกันมาให้เห็นว่าเป็นจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ เป็นธรรมดาโลก และเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป เพื่อจรรโลงระบบอำนาจอย่างใดอย่างหนึ่ง) "หมู่บ้าน" คือรัฐเล็กๆ ในรัฐใหญ่ที่สมบูรณ์พร้อมในตัวเองนั้น ว่าไปก็เป็นสิ่งใหม่ในสังคมไทย เพราะคนไทยแต่ก่อนเรียกคนในหมู่บ้านว่า "บ้านนอกคอกนา" คือต่ำ, สกปรก และไร้ความเจริญ

ผมพยายามวิเคราะห์ว่า วาทกรรมใหม่เกี่ยวกับหมู่บ้านนี้มีความหมายอะไรแฝงอยู่บ้าง และพบว่ามีความหมายแฝงอยู่สี่อย่างดังนี้ครับ

อย่างแรกคือ หมู่บ้านพึ่งตัวเองได้ ในทางเศรษฐกิจก็คือทำเกษตรเลี้ยงตนเอง ในทางสังคมคือมีระเบียบและประเพณีที่ทำให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างราบรื่น โดยไม่ต้องอาศัยอำนาจจากภายนอกมาจัดระเบียบให้ ในทางศาสนาก็วิเศษเพราะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับวัด แต่น่าสังเกตนะครับว่าไม่ค่อยมีใครพูดถึงด้าน "การเมือง" (ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ) ในหมู่บ้าน เพราะ "การเมือง" มักนำไปสู่ความขัดแย้ง ทั้งทางตรงและทางอ้อม
อย่างที่สอง ชีวิตของคนในหมู่บ้านจึงมีความมั่นคงทุกด้าน นับตั้งแต่มีอาหารทั้งไว้บริโภคและแบ่งปันกัน มีเครือข่ายของหมู่บ้านที่ช่วยประกันความมั่นคงด้านอาหารให้แก่กันและกัน มีความมั่นคงด้านสังคม เพราะใช้ระบบอาวุโสและเครือญาติ (เสมือน) ในความสัมพันธ์ มีความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อมเพราะการทำมาหากินไม่ทำลายความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์
อย่างที่สาม ในเชิงสิ่งแวดล้อมเอง ก็เป็นความอุดมสมบูรณ์ที่มั่นคงชั่วกาลนาน คนไม่ทำร้ายธรรมชาติทั้งในที่ใกล้หมู่บ้านหรือไกลหมู่บ้าน (เช่น ไม่ตัดป่าหรือไม่สร้างเขื่อน) จึงเป็นความมั่นคงของระบบนิเวศน์ทั้งระบบ
อย่างที่สี่ คือความมีศีลธรรม ชีวิตที่เรียบง่ายของหมู่บ้าน (ก็แล้วแต่จะมองนะครับ มองว่าเรียบง่ายก็ได้ ขาดแคลนก็ได้) คือประจักษ์พยานของการดำเนินชีวิตที่มีศีลธรรมกำกับ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่กันและกัน เพราะไม่มีใครโลภโมโทสันเก็บทรัพยากรไว้คนเดียว



ด้วยความรู้สึกที่ฉับไว (sensitivity) เพียงเล็กน้อย ท่านผู้อ่านก็คงจะแปลกใจว่า เอ๊ะ ความหมายทั้งสี่ของ "หมู่บ้าน" นี่มันคือด้านที่เป็นอุดมคติของปัญญาชนในเมือง ที่โจมตีความเสื่อมโทรมทุกด้านของสังคมไทยอยู่นี่หว่า
สังคมไทยพึ่งตนเองไม่ได้ แต่ "หมู่บ้าน" ไทยพึ่งได้ คนส่วนใหญ่ในสังคมขาดความมั่นคงด้านอาหารและสังคม แต่คนใน "หมู่บ้าน" มีความมั่นคงสูง สิ่งแวดล้อมของสังคมไทยกำลังเสื่อมโทรมจนเป็นอันตรายต่อทุกชีวิต แต่สิ่งแวดล้อมของ "หมู่บ้าน" อุดมสมบูรณ์อย่างมั่นคง สังคมไทยขาดศีลธรรมกำกับ แต่สังคม "หมู่บ้าน" ดำเนินไปภายใต้ศีลธรรม
ครับใช่เลย "หมู่บ้าน" ที่เป็นวาทกรรมนี้ ถูกสร้างขึ้นโดยปัญญาชนในเมือง และเมื่อเป็นวาทกรรมก็ย่อมจรรโลงอำนาจอย่างใดอย่างหนึ่ง อำนาจที่วาทกรรมนี้จรรโลง ไม่ใช่เรื่องไปเป็นใหญ่เป็นโตทางราชการหรือการเมืองโดยตรง แต่เป็นอำนาจเพื่อไปถ่วงดุลหรือกำหนดนโยบายสาธารณะ 
ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้นเลยนะครับ เพราะมีคนเข้าร่วมอีกมากมาย รวมทั้งชาวบ้านบางกลุ่มในหมู่บ้านด้วย เพราะวาทกรรมนี้เป็นอาวุธที่ทรงพลังทีเดียว และที่จริงแล้ววาทกรรมนี้ถึงไม่ถูกทั้งหมด ก็ไม่ได้ผิดทั้งหมด โดยเฉพาะการเปิดทางให้ชาวบ้านในหมู่บ้านมี "ตัวตน" อันชอบธรรมที่จะเข้าร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะของประเทศ

ชัยชนะเด็ดขาดของวาทกรรม "หมู่บ้าน" คือ "เศรษฐกิจพอเพียง" ครับ ปรปักษ์ของวาทกรรมนี้หมดทางต่อสู้ จนต้องตีความ "เศรษฐกิจพอเพียง" ให้เป็นไปได้แก่การประกอบการทุกประเภท (ดังเช่นการตีความใหม่ของ UNDP)

ผมควรกล่าวด้วยว่า อำนาจที่เกิดจากวาทกรรม "หมู่บ้าน" เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาในรัฐธรรมนูญปี 40 และกำหนดนโยบายสาธารณะให้เกิดองค์กรมหาชนที่เป็นอิสระจากรัฐ เช่น สกว. และ สสส. (และ ส. อื่นๆ) ซึ่งใช้เงินสาธารณะเพื่อตอกย้ำวาทกรรมนี้แก่สาธารณชนสืบมา
แต่หมู่บ้านไทยที่เป็นจริงในปัจจุบัน หาได้เหมือนกับ "หมู่บ้าน" ในวาทกรรมไม่ ในอดีตเคยเหมือนหรือไม่ผมก็ไม่แน่ใจ แต่ในปัจจุบันนั้น เป็นคนละเรื่องเลย ผมต้องอาศัยงานของนักวิชาการที่ลงไปศึกษาคลุกคลีในหมู่บ้านมายืนยัน ส่วนใหญ่ก็เป็นงานของนักมานุษยวิทยา เพราะใช้เวลาลงไปฝังตัวอยู่ในหมู่บ้านนานกว่านักวิชาการสายอื่น 
ในที่นี้ขอใช้งานของ Jonathan Rigg และอื่นๆ ในบทความชื่อ "Reconfiguring rural spaces and remaking rural lives in central Thailand" ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Southeast Asian Studies, 39/3 (2008)


กลุ่มผู้เขียนลงศึกษาความเปลี่ยนแปลงของชาวบ้านในตำบลคานหามและโคกมะยม อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แม้ว่าพวกเขาจะเตือนว่า ความเปลี่ยนแปลงที่นั่นไม่ได้เป็นตัวแทนของชนบทไทยทั้งหมด แต่ก็แสดงความเห็นด้วยว่า มันบอกทิศทางความเปลี่ยนแปลงที่ชนบทไทยกำลังเผชิญโดยทั่วไป 
ผมขอสรุปความเปลี่ยนแปลงอย่างคร่าวๆ ดังนี้

1. ในช่วงทศวรรษ 2500 ถึงทศวรรษ 2520 ชาวบ้านคือชาวนาทั้งในความเป็นจริงและในสำนึก ต่างทำนาเพื่อกิน แม้ว่าต้องออกไปรับจ้างทำงานอื่นนอกหน้านา แต่การทำนาคือแหล่งรายได้เกินครึ่งของครอบครัว แต่หลังจากที่นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ (นิคมฯ โรจนะอยู่ใกล้สุด) เริ่มมาลง ผู้คนก็ขายที่ หรือหันไปประกอบอาชีพอื่นๆ และเลิกทำนาเป็นส่วนใหญ่

2. หมู่บ้านหรือตำบลก็เปลี่ยนไป กลายเป็นชุมชนกึ่งเมืองที่ขายบริการต่างๆ แก่คนงานโรงงานอุตสาหกรรม เช่น ทำผม เปิดร้านเช่าวิดีโอ ขายอาหาร และหอพักขนาดเล็กไปถึงตึกใหญ่ ฯลฯ

3. ถนนหนทางการคมนาคมดีขึ้น เดินทางเข้าไปที่ตัวเมืองอุทัย, อยุธยา หรือแม้แต่กรุงเทพฯ ได้สะดวก ขอบข่ายการหารายได้ของชาวบ้านจึงเปลี่ยนไป สามารถทำงานอื่นที่ไม่ใช่ทำนาได้ทั้งปี รวมทั้งไปทำงานโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมด้วย

4. คนงานจากที่อื่นๆ ทั่วไทย โดยเฉพาะอีสานอพยพเข้ามาอยู่ในตำบลจำนวนมาก ในบางหมู่บ้าน มีประชาชนชาวบ้านเดิมอยู่ 3-4 ร้อยคน แต่มีคนงานอพยพอยู่ตามหอพักถึง 2-4 พันคน ก่อให้เกิดความเครียดในสาธารณูปโภคต่างๆ ของหมู่บ้าน นับตั้งแต่ไฟฟ้า, น้ำประปา, ถนน, สุขศาลา ไปจนถึงโรงเรียน 
แม้คนเหล่านี้อยู่ร่วมกันในหมู่บ้าน แต่ไม่เคยพูดคุยกัน ไม่เคยมีความสัมพันธ์ต่อกันในทางใด ยกเว้นน้อยรายที่ไปแต่งงานกับหนุ่มหรือสาวของหมู่บ้าน จึงเป็นคนแปลกหน้าทั้งต่อกันเอง และต่อชาวบ้านในหมู่บ้าน เกิดความระแวงกันและกันอยู่ตลอด 
ในขณะที่ตนเองก็หลุดพ้นจากพันธนาการของเครือญาติในหมู่บ้านเดิมของตน ดังนั้น จึงเกิดพฤติกรรมทางเพศที่ผิดกรอบประเพณีเดิมมากมาย

5. ความสัมพันธ์ทางสังคมของชาวบ้านเองก็เจือจางลง เพราะต่างคนต่างออกไปทำงานนอกหมู่บ้าน แม้แต่บ้านเรือนก็ติดเหล็กดัด มีรั้วรอบขอบชิด (เพราะชาวบ้านเชื่อว่าคนต่างถิ่นนำเอาอาชญากรรมต่างๆ เข้ามา) ต่างคนต่างอยู่ จะร้องทักทายว่าวันนี้แกงอะไรอย่างแต่ก่อนก็ไม่ได้ เพราะแลเห็นแต่หมา

6. พ่อแม่ยอมลงทุนด้านการศึกษาแก่ลูกหลาน อย่างน้อยก็ต้องจบ ม.3 เพื่อเข้าทำงานในโรงงาน เด็กๆ เองก็ไม่ได้อยู่ในหมู่บ้านไปด้วย และอยากมีอนาคตทำงานโรงงาน

7. มีอีกแยะครับ แต่เนื้อที่หมดเสียแล้ว จึงขอเอาแค่นี้แหละครับ



ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในหมู่บ้านที่เป็นจริงนี้มีความสำคัญ และจำเป็นต้องเข้ามาแทนที่ "หมู่บ้าน" ในวาทกรรม หรือชนบทไทยโดยรวม เพราะวาทกรรมนั้นครอบงำนโยบายสาธารณะ และทำให้เราใช้ทรัพยากรไปในทางที่ไม่ตอบสนองต่อผู้คนจำนวนมาก ซึ่งควรได้รับการดูแลเอาใจใส่ให้มากขึ้น ผมขอยกเป็นตัวอย่างให้เห็นเพียงบางเรื่องนะครับ

เช่น แม้ว่าเรายังจำเป็นต้องอัดฉีดงบประมาณลงไปช่วยชาวนา เพราะถึงอย่างไรก็ยังมีคนในอาชีพนี้อยู่สูง (แม้ไม่ใช่สูงที่สุดอย่างแต่ก่อน) แต่ชาวนาในปัจจุบันแม้แต่ที่มีขนาดเล็ก ก็กลายเป็น "ผู้ประกอบการ" ไปแล้วนะครับ ไม่ใช่ชาวนาใน "เศรษฐกิจพอเพียง" เพราะโดยการประกอบการเท่านั้นที่เขาจะสามารถส่งลูกหลานเรียนหนังสือให้สูงขึ้นได้ การช่วยชาวนาจึงต้องคิดวิธีอื่นๆ ที่จะทำให้การประกอบการของเขาได้กำไร ไม่ใช่การประกันราคาข้าวเพียงอย่างเดียว เช่น ลดต้นทุน, สหกรณ์ประเภทต่างๆ, การให้ความรู้, การให้อำนาจต่อรองในตลาด ฯลฯ

เช่น ต้องทุ่มเทด้านการศึกษาไปในทิศทางที่ เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ไม่ใช่ขยายโรงเรียนเฉยๆ ชาวนารวยไม่ส่งลูกไปเรียนในโรงเรียนของตำบลแล้ว แม้ได้ขยายถึงชั้นมัธยมเหมือนกัน เพราะรังเกียจคุณภาพการศึกษาและรังเกียจ "เด็กหอ" หรือเด็กต่างถิ่น เด็กที่ได้ผ่านการศึกษามาอย่างดีเท่านั้น ที่จะเอาตัวรอดในสังคมไทยสมัยปัจจุบัน ไม่ใช่ท้องนา

เช่น ในขณะที่กำลังเปลี่ยนผ่านเช่นนี้ ต้องหาทางให้ผู้คนเข้าถึงทุนได้ง่ายขึ้น คนจำนวนมากไม่ได้มี "หลักทรัพย์" ที่จะเข้าถึงทุน แต่ถ้าเขาเข้าถึงได้ เขาก็คงจะมี "หลักทรัพย์" ได้สักวันหนึ่งข้างหน้า

รัฐต้องสนใจและทุ่มเทงบประมาณไปยังแรงงานรับจ้างให้มากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะนี่คือส่วนใหญ่ของประชากรไทย

ตราบเท่าที่เรายังคงดำรงรักษา "หมู่บ้าน" ในวาทกรรมไว้เป็นทางเลือกกระแสหลักของสังคม ผู้ที่เข้ามาบริหารรัฐจะไม่ใส่ใจกับทางเลือกที่วางอยู่บนรากฐานของความเป็นจริง และปล่อยให้คนส่วนใหญ่ของประเทศขาดความมั่นคงในชีวิตตลอดไป ในขณะที่ทางเลือกปลอมๆ นั้นกลับบำรุงบำเรอปัญญาชนในเมืองกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งตลอดไป ก็เพราะมันไม่มี "ชาวนาในเศรษฐกิจพอเพียง" จะให้บำรุงบำเรอเหลืออยู่อีกแล้วล่ะสิครับ



* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

อย่าลืม อ่าน  ชนบท-ภาพที่เปลี่ยนไป โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ที่ http://botkwamdee.blogspot.com/2012/02/n-rural.html



.