http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-08-16

ผาสุก: ภาพรวมความเหลื่อมล้ำ กับสัญญาณการเปลี่ยนแปลง(จากชั้นล่าง)

.

ผาสุก พงษ์ไพจิตร : ภาพรวมความเหลื่อมล้ำ กับสัญญาณการเปลี่ยนแปลง(จากชั้นล่าง)
ใน www.prachatai3.info/journal/2012/08/42071 . . Wed, 2012-08-15 14:15


 15 ส.ค.55 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดสัมมนาทางวิชาการเพื่อการเสนอผลงานวิจัย(ร่าง) “สู่สังคมไทยเสมอหน้า การศึกษาโครงสร้างความมั่นคั่งและโครงสร้างอำนาจเพื่อการปฏิรูป” ทุนศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น สนับสนุนโดย สกว. สกอ.และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโดย
ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยในช่วงแรกของรายการเป็นการกล่าวถึงภาพรวมโครงการ โดย ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร หัวหน้าโครงการวิจัย  รายละเอียดมีดังนี้

เป็นที่ชัดเจนว่ารายได้ของครัวเรือนไทยมีความเหลื่อมล้ำสูง ความเหลื่อมล้ำนี้เพิ่มอย่างรวดเร็วในช่วงที่เศรษฐกิจไทยเฟื่องฟูมากๆ ระหว่างปี 2533-2538 และมีแนวโน้มลดลงเพียงเล็กน้อยหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ปัจจุบันระดับความเหลื่อมล้ำของไทยเป็นรองก็แต่เพียงลาตินอเมริกาและอาฟริกาเท่านั้น 
ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ส่งผลต่อไปถึงความเหลื่อมล้ำด้านอื่นๆ ได้แก่ ความมั่งมี (ที่ดิน ทรัพย์สินอื่นๆ ) ความเหลื่อมล้ำด้านสังคม (การแบ่งช่วงชั้นทางสังคม การเข้าถึงการศึกษา การได้รับการยอมรับนับถือ ศักดิ์ศรี) ความเหลื่อมล้ำด้านการเมือง (เข้าไม่ถึงอำนาจทางการเมืองและการกำหนดนโยบาย)

ประเทศอื่นๆ ในโลกกำลังเผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำสูงเช่นกัน ทั้งนี้เป็นผลพวงของการดำเนินนโยบายตามแนวทาง “เสรีนิยมใหม่” (เชื่อว่าความเหลื่อมล้ำเป็นผลดีกับความเติบโตทางเศรษฐกิจ ให้ความสำคัญกับกลไกตลาดเป็นตัวกำหนดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นหลัก พร้อมทั้งลดบทบาทรัฐในระบบเศรษฐกิจ การเปิดเสรีการค้า การลงทุน การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การลดบทบาทของสหภาพแรงงาน ฯลฯ)  ดังนั้น ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้จึงเป็นปัญหาของโลก ทั้งภายในแต่ละประเทศและระหว่างประเทศ

ถึงกระนั้น ข่าวดีก็พอมีอยู่ บางประเทศ ปฏิรูปด้านเศรษฐกิจและการเมือง จนสามารถลดความเหลื่อมล้ำลงได้ เราน่าจะเรียนรู้ได้บ้างจากประเทศเหล่านี้ 
ที่ลาตินอเมริกา ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางพอๆ กับไทย และยังเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงมากที่สุดในโลกก็ยังดีขึ้น บางประเทศดำเนินมาตรการใหม่ๆ ที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อน เช่น อุดหนุนให้เด็กๆ ของครัวเรือนมีฐานไม่ดีไปโรงเรียน และรับการตรวจรักษาอย่างทั่วถึง อาร์เจนจินาและบราซิล ปฏิรูประบบภาษีจนสามารถเก็บภาษีได้คิดเป็นร้อยละ 34 ของจีดีพี (ของไทยเท่ากับร้อยละ 17) เท่ากับค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศโออีซีดี (เยอรมัน อังกฤษ ฝรั่งเศส สแกนดิเนวีย สหรัฐฯ) ทำให้มีเงินรายได้พอจะใช้จ่ายด้านสังคม ประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติมาก เช่น อิควาดอร์และอาร์เจนตินา ต่อรองกับบริษัทข้ามชาติ (น้ำมันและเหมืองแร่) ให้เพิ่มส่วนแบ่งรายได้จากกำไรให้รัฐบาล เอามาใช้จ่ายด้านประกันสังคม

ประเทศเพื่อนบ้านแถบอาเซียนของเรา ล้วนมีการกระจายรายได้ดีกว่าของไทยทั้งสิ้น ซึ่งก็น่าแปลกใจเพราะว่าต่างก็มีสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง คล้ายๆ กับเราอยู่ อีกทั้งยุทธศาสตร์เศรษฐกิจก็ไปในทิศทางเดียวกัน ตัวอย่างเช่น มาเลเซีย เคยมีความเหลื่อมล้ำสูง แต่ได้ลดลงจนขณะนี้ต่ำกว่าไทยมาก เพราะว่าทำโครงการสุขภาพถ้วนหน้ามาตั้งแต่ทศวรรษ 2513 รัฐบาลแบ่งที่ดินของรัฐให้กับเกษตรกรผู้เช่าและจูงใจอุดหนุนเพิ่มโอกาสให้ครัวเรือนระดับล่างได้รับการศึกษาดีถึงขึ้นอุดมศึกษา
ทำไมมาเลเซียจึงทำได้สำเร็จ เพราะว่ารัฐบาลและคนส่วนใหญ่ของประเทศเชื่อว่า การลดความเหลื่อมล้ำจะลดความขัดแย้งด้านเชื้อชาติระหว่างคนจีนกับคนมาเลย์ลงได้นั่นเอง

ตรงนี้มีบทเรียนอีก คนฐานะดีมักจะต่อต้านหรือไม่เห็นด้วยกับมาตรการลดความเหลื่อมล้ำเพราะเชื่อว่าพวกเขาจะเสียประโยชน์ แต่นั่นเป็นการคิดสั้น คือ คิดแบบ “ถ้าเธอได้ ฉันไม่ได้” (Zero-sum game) สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำไม่มาก และมีระบบประกันสังคมที่ดีจะเป็นสังคมที่มีความราบรื่นและมีประสิทธิภาพทางการผลิตมากกว่า


ในช่วงห้าหกปีมานี้ การเรียกร้องด้านการเมืองได้กลายเป็นประเด็นสำคัญของการเมืองไทยร่วมสมัย ขบวนการเสื้อแดงได้ใช้คำว่า “ไพร่” และ “อำมาตย์” เสียดสีถึงผู้ที่ยังคิดแบบสังคมมีช่วงชั้นในระบอบการเมืองเดิมสมัยก่อน ซึ่งมีคนจำนวนน้อยอยู่เหนือคนจำนวนมาก และคนจำนวนมากต้อง “เกรงใจ” คนมีอำนาจจำนวนน้อยนั้น ชาวเสื้อแดงคนหนึ่งบอกนักวิชาการว่า ในความเห็นของเขา ประชาธิปไตยคือความยุติธรรม ทั้งทางด้านกฎหมาย การเมือง และการศึกษา

ข้อเรียกร้องนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่เมืองไทยเท่านั้น เราพบเห็นได้ทั่วไป เช่น ปรากฏการณ์ Arab Spring ในตะวันออกกลาง และการเมืองว่าด้วยการเลือกตั้งที่ลาตินอเมริกา ซึ่งได้นำรัฐบาลปฏิรูปสู่อำนาจและแม้แต่ที่ยุโรปใต้ที่กำลังมีวิกฤตเงินยูโรอยู่ขณะนี้ 
ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการเมืองใหม่ ในแต่ละประเทศมีลักษณะคล้ายๆ กัน แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุด ได้แก่ คนระดับล่างของประเทศ ได้มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างกว้างขวาง ขณะนี้ผู้คนต้องโยกย้ายไปทำงานต่างถิ่นทั้งภายในประเทศของตนเองและทำงานต่างประเทศก็มากขึ้นเรื่อยๆ

พวกเขาได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากประสบการณ์และได้เห็นความแตกต่าง ผู้คนใช้อินเทอร์เน็ต ฟังวิทยุชุมชน และดูเคเบิลทีวี หลายสถานี ทุกๆ คนได้รับการศึกษาแบบไม่เป็นทางการเหล่านี้เป็นประจำทุกวัน

อีกปัจจัยหนึ่งที่เกิดขึ้นทุกแห่ง ก็คือ การต่อต้าน เศรษฐกิจแนวเสรีนิยมใหม่ เพราะว่าทำให้ผลได้ทางเศรษฐกิจตกอยู่ในมือของคนเพียงหยิบมือหนึ่งเท่านั้น

แต่ทุกแห่งก็มีปัจจัยอื่นๆ ที่เป็นลักษณะเฉพาะด้วย ที่เมืองไทยรายได้ต่อหัวประชากรเพิ่มขึ้นสามเท่าภายในเวลา 30 ปีหรือในชั่วอายุคนเดียว เมื่อผู้คนมีรายได้สูงขึ้น ก็จะเปลี่ยนทัศนคติ ความคาดหวังในชีวิตและความต้องการต่างๆ จะหลากหลายขึ้น รู้สึกว่าเขาควรจะได้รับการปฏิบัติที่ดีกว่านี้ เขาควรจะมีสินค้าและบริการสาธารณะ เช่น การศึกษา ถนนลาดยาง รถไฟฟ้า เขาควรจะได้พูดคุยกับนักการเมืองเพื่อบอกว่าเขาอยากได้อะไร เขาเห็นกับตาว่า คนบางคนเข้าถึงสิ่งต่างๆ ที่เขาอยากได้ได้ดีกว่าตนเอง และเขาก็อยากอยู่ในสภาพเช่นนั้นบ้าง เส้นแบ่งระหว่างเมือง-ชนบท จน-รวย  ผู้ใหญ่-ผู้น้อย ได้ลางเลือนลง  กระบวนการดังกล่าวนี้ คือกระบวนการสร้างความรู้สึกเป็น “พลเมือง” (citizen) และมีศักยภาพที่จะนำไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงและก้าวหน้าได้ 
ที่สำคัญคือ คนชั้นกลางเมือง ไม่อาจผูกขาดความต้องการเสรีภาพ การสร้างเส้นสายธรรมาภิบาล ความเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเมืองประชาธิปไตยได้อีกต่อไป ประชาชนคนอื่นๆ อีกจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในประเทศเดียวกัน แต่อยู่ในบริเวณที่เรียกว่าชนบท หรือกึ่งชนบท หรือกึ่งเมือง ก็ต้องการสิ่งเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมในชั่วหนึ่งอายุคนที่ผ่านมานั้น จึงได้สร้าง “วัฒนธรรมความเสมอหน้า” ขึ้นมาด้วย หมายความว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ยอมรับการเมืองแบบเก่า ซึ่งคนชั้นกลางมีการศึกษาสูง เป็นผู้กำหนดหรือพยายามกำกับอีกต่อไป


ที่บ้านเราก็มีข่าวดีเหมือนกัน ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ก็ได้ลดลงหลังปี 2544 เพราะผลพวงจากการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น นโยบายสุขภาพถ้วนหน้า นโยบายขยายสินเชื่อให้กับคนรายได้น้อยและนโยบายการศึกษาฟรี 12 ปี เมื่อเร็วๆ นี้ แต่การลดลงนี้ก็ไม่ได้มากมายอะไรนัก เพราะเราก็ยังสูงกว่ามาเลเซีย และใกล้เคียงกับลาตินอเมริกา รัฐบาลเรายังสามารถทำอะไรได้อีกมาก เพื่อให้ครัวเรือนรายได้น้อยได้ส่งลูกเข้าโรงเรียนคุณภาพดี และได้เรียนถึงอุดมศึกษา เพื่อให้เกษตรกรรายได้น้อยได้เข้าถึงสินเชื่อราคาพอสมควร และปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้สูงกว่าเดิม และเพื่อให้ประชาชนที่อยู่ห่างไกลปืนเที่ยงได้เข้าถึงสินค้าและบริการสาธารณะต่างๆ เสมือนผู้อยู่ใกล้ สินค้าและบริการ

สาธารณะของเรามีไม่เพียงพอและคุณภาพย่ำแย่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่ารัฐบาลมีงบประมาณจำกัด
และงบประมาณจำกัดนี้ ก็เพราะเก็บภาษีได้น้อย (ร้อยละ 17 ของจีดีพี) เพียงแต่ปรับปรุงการเก็บภาษีก็จะเพิ่มรายได้ได้อีกถึงมากกว่าหนึ่งในห้า และถ้าปฏิรูประบบภาษีเสียหน่อยก็จะได้อีกถึงหนึ่งในสาม ก็จะทำได้มีรายได้เพิ่มขึ้นเพื่อมาใช้จ่ายสร้างสินค้าสาธารณะที่จำเป็นต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเพื่อลดทอนความเหลื่อมล้ำโดยไม่ต้องมีภาระหนี้สินสาธารณะ สิ่งที่เสนอไม่ใช่การปฏิวัติ แต่เป็นเพียงทำตามอย่างประเทศอื่นๆ ที่กำลังทำอยู่เช่นกันเท่านั้น

ในด้านสังคมและการเมือง เป็นเรื่องต้องช่วยกันหลายฝ่ายทั้ง นักเขียน นักวิชาการและสื่อ ในการปรับแปลงวัฒนธรรมที่ดูเหมือนจะส่งเสริมความเหลื่อมล้ำให้ดีขึ้น เช่น การยอมรับว่าผู้คนอาจมีความคิด ความพอใจในการเมืองที่ต่างกันเป็นเรื่องปกติ เป็นการเริ่มต้นที่ดี การกระจายอำนาจและการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการกำหนดนโยบายทุกรูปแบบต้องเดินหน้าต่อไป การสร้างความตื่นรู้ให้กับสังคมถึงวิธีการอันแยบยลต่างๆ ที่ผู้อยู่ในอำนาจพยายามส่งอิทธิพลต่อทิศทางของการเมืองและนโยบาย โดยผลของความพยายามดังกล่าว อาจจะปิดกั้นหรือเป็นผลเสียกับคนจำนวนมาก เป็นที่สิ่งที่ต้องทำ เพราะจะนำไปสู่การอภิปรายกันถึงแนวทางที่ตัดตอนแนวโน้มดังกล่าว และสร้างความเสมอหน้า

นักเศรษฐศาสตร์บางคนเห็นว่า ความเหลื่อมล้ำ เป็นสิ่งดีและจำเป็นเพื่อจูงใจให้คนทำงาน แต่ขณะนี้นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักพูดถึง การลดความเหลื่อมล้ำ เป็นวิธีสร้างกำลังใจให้ทำงานหนัก และเพื่อให้เกิดสังคมสันติสุข
จะเห็นได้ในกรณีประเทศแถบสแกนดิเนเวียเช่น เดนมาร์ค สวีเดน เป็นสังคมเสมอหน้าสูง มีความราบรื่น และยังมีเศรษฐกิจที่น่าพอใจกว่าประเทศอื่นๆ  อีกด้วย



.