http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-08-21

รถไฟความเร็วสูง (2) โดย วิรัตน์ แสงทองคำ

.

รถไฟความเร็วสูง (2)
โดย วิรัตน์ แสงทองคำ htpp//:viratts.wordpress.com
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 03 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1668 หน้า 28


สิ่งแรกๆ ที่ควรพิจารณา ดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง ถือเป็นเรื่องใหญ่มากเรื่องหนึ่ง ความพยายามวิเคราะห์ความเป็นไปของสังคมไทย โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างเมืองหลวง เมืองใหญ่ หัวเมืองและชนบท จากนั้นควรข้ามผ่านปัญหาทางเทคนิคและงบประมาณ สู่การออกแบบตอบสนองสังคมในภาพรวม
ผมเคยนำเสนอพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงหัวเมืองและชนบท โดยพยายามเชื่อมโยงกับเมืองหลวง มองผ่านกิจกรรมหลักทางเศรษฐกิจ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการค้าปลีก อย่างคร่าวๆ ซึ่งความจริงไม่สามารถมองภาพที่แยกออกจากกันเช่นนั้น
ควรขยายเป็นภาพความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนที่เชื่อมโยงไปสู่โอกาสใหม่ของผู้คน


สถานการณ์

ระบบเศรษฐกิจในชุมชนเกษตรดั้งเดิมของไทย เริ่มต้นปะทะกับปรากฏใหม่อันน่าทึ่งในช่วงท้ายของยุคสงครามเวียดนาม 
แม้เป็นการเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ เมื่อเปรียบเทียบกับอาณาบริเวณอันกว้างใหญ่ แต่ถือเป็นหน่อของวิวัฒนาการสำคัญ ของเศรษฐกิจใหม่ในชนบท

ภาพเกษตรกรรมแปลงใหญ่ เป็นชิ้นส่วนชิ้นหนึ่งของภาพรวมสถานการณ์ใหม่ในชนบทไทย กำลังเดินหน้าเข้าสู่ของระบบเศรษฐกิจพื้นฐานซับซ้อนขึ้น ในเชิงการผลิต เกษตรกรรม กำลังพัฒนาโมเดลธุรกิจที่น่าสนใจมากขึ้น ด้วยความพยายามสร้างวงจรที่ทอดยาวไปยังการผลิตเชิงอุตสาหกรรม 
ขณะเดียวกันเกษตรกรรมรายย่อยก็เติบโตด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้รับแรงกระตุ้นจากตลาดที่มีความต้องการมากขึ้น ทั้งจากเมืองใหญ่และต่างประเทศใกล้เคียง โดยเฉพาะผลไม้ และพืชผัก ซึ่งนับวันจะเป็นสินค้าที่มีความต้องการมากขึ้น ต้องผลิตจำนวนมากขึ้นและต้องการเข้าถึงตลาดอย่างรวดเร็วมากขึ้น 
กรณีข้าวหอมมะลิ เป็นบริบทใหม่เพียงบริบทเดียวของเกษตรกรรมพื้นฐานของไทย แต่สะท้อนภาพใหม่ว่าด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างหลากหลาย สร้างมูลค่าเพิ่มที่ไม่เชื่อมโยงกับการผลิตเชิงอุตสาหกรรม 
ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของเกษตรกรรมทำนาของประเทศที่ผลิตข้าวเพื่อการส่งออกมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก แนวทางสายมูลค่าเพิ่ม ได้ก่อให้เกิดกลุ่มการผลิตขนาดเล็ก หรือเกษตรกรรายย่อยที่พยายามสร้างที่ยืนของตนเอง

เมื่อมองจากภาคอุตสาหกรรมการขยายตัวสู่หัวเมืองและชนบทอย่างเป็นกระบวนการมากที่สุด ต่อเนื่องจากรัฐบาลได้ขยายเขตการส่งเสริมการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมของรัฐไปในขอบเขตทั่วประเทศ มากกว่า 35 แห่ง 
รวมทั้งนิคมอุตสาหกรรมของเอกชน ที่สร้างขึ้นสำหรับกิจการในเครือข่ายของตน ไม่ว่า กลุ่มสหพัฒน์ กลุ่มกระทิงแดง และเกษตรรุ่งเรือง ไปจนถึง อุตสาหกรรมรายย่อยนอกนิคมอุตสาหกรรมอีกจำนวนมมาก 
ภาพการเกิดขึ้นอย่างเป็นปึกแผ่นของชุมชนรอบๆ เขตอุตสาหกรรมเป็นเรื่องใหม่และน่าตื่นเต้น ขณะเดียว การผลิตการเกษตรอย่างเป็นระบบที่มีส่วนผสมการผลิตของหัตถกรรมและอุตสาหกรรมสมัยใหม่บางระดับ ซ่อนตัวอย่างเงียบๆ ในชุมชน
สินค้าที่มีคุณค่าเชิงวัฒนธรรมและสะท้อนบุคลิกชุมชน และสร้างสรรค์ทางประวัติศาสตร์ของสังคมหัวเมืองและชนบท ได้กลับมามีชีวิต มีการฟื้นฟูขึ้นอีกครั้ง เป็นภาพที่ขัดแย้งระหว่างอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ กับความรับรู้และเข้าถึงคุณค่าทางวัฒนธรรมของชุมชนดั้งเดิมที่พยายามสืบสานต่อมา 

เครือข่ายการค้าปลีกขยายตัวทั่วประเทศ เป็นตัวเร่งที่สำคัญมาก ของโฉมหน้าใหม่ของหัวเมืองและชนบท ทั้งนี้ มาจากระบบเศรษฐกิจหัวเมืองและชนบทมีรากฐานมั่นคง เป็นอิสระจากเมืองใหญ่มากขึ้น มีความสัมพันธ์กับการพัฒนาเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม (รวมทั้งเครือข่ายและห่วงโซ่ที่เกี่ยวข้องของรายย่อย) การปรากฏขึ้นของธุรกิจรายย่อยในหัวเมือง และชนบท ที่อยู่ในระบบห่วงโซ่ต่างๆ ของเครือข่ายค้าปลีกรายใหญ่ รวมทั้งระบบแฟรนไชส์ ดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง และมีจำนวนมากขึ้น
เครือข่ายค้าปลีกขนาดใหญ่ เริ่มต้นปักหลัก จากเมืองหลวงในยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟู ราวปี 2531 เป็นต้นมา จากนั้นมาก็ค่อยๆ คืบคลานสู่หัวเมือง
เครือข่ายค้าปลีกได้นำบริการ นอกเหนือสินค้าคอนซูเมอร์ ไปสู่หัวเมืองและชนบทด้วย ไม่ว่าเครือข่ายธนาคาร สินค้าสื่อสาร ตามมาด้วยอย่างกระชั้นชิด 
ปรากฏการณ์การขยายตัวเครือข่ายการค้าสมัยใหม่ พัฒนาไปอย่างเร่งรีบและรวดเร็วในระยะไม่กี่ปีมานี้ ขณะเดียวชุมชนเกษตรกรรมและหัตถกรรมริมทางหลวง ได้สร้างตลาดย่อยขึ้นจำนวนมากเช่นกัน
รวมทั้งระบบหาบเร่ยุคใหม่ (ด้วยรถปิกอัพหรือรถพุ่มพวง) ก็เป็นเครือข่ายค้าปลีกที่มีจำนวนมากในหัวเมือง และชนบท โดยสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้มากที่สุด
เป็นปรากฏการณ์ย่อยๆ ที่ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะในแง่มุมการเกิดขึ้นของผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนมาก และระบบอาชีพหลากหลาย (Multi-career) ขึ้นอย่างน่าสนใจ

การเปลี่ยนแปลงข้างต้นได้สร้างระบบการจ้างงานจำนวนมากขึ้นตามหัวเมืองและชนบท การเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าสู่เมืองหลวง ควรจะอยู่ในภาวะไม่ขยายตัวเช่นแต่ก่อน ขณะเดียวกันส่วนผสมของประชากรตามหัวเมืองและชนบทค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป นอกจากการเกิดขึ้นของเครือข่ายการผลิตสมัยใหม่ทั้งการเกษตรแปลงใหญ่ อุตสาหกรรม การค้าและบริการ ผู้บริหารระดับกลางของธุรกิจมีความจำเป็นต้องมีบทบาทในหัวเมืองและชนบทมากขึ้น 
ยังรวมถึงการเปลี่ยนแปลงประชากรที่น่าสนใจ อีกสองกลุ่ม

หนึ่ง-กลุ่มคนในยุค Baby boom กำลังเกษียณตนเองจากระบบงานประจำ ประชากรกลุ่มนี้มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าผู้เกษียณในยุคก่อน การเคลื่อนย้ายสู่หัวเมืองและชนบท 
กำลังกลายเป็นกระแสที่เติบโตอย่างเงียบๆ
ผู้คนเหล่านี้ยังมีพลังในกระบวนการทางเศรษฐกิจใหม่ระดับใดระดับหนึ่ง เช่นเดียวกับเขยฝรั่งซึ่งกระจุกตัวภาคอีสาน



แรงกระตุ้น

ปัญหาของเมืองหลวงมีมากขึ้น รวมทั้งความเสี่ยงใหม่ที่เกิดจากน้ำท่วม เป็นผลพวงจากประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจข้ามผ่านด้วยต้นทุนที่สมเหตุสมผล จากเมืองหลวงของระบบเศรษฐกิจเกษตรเมื่อกว่าสองศตวรรษที่แล้ว เข้าสู่เมืองหลวงของระบบเศรษฐกิจใหม่ นำโดยภาคบริการ
จากสถานการณ์ใหม่ และโดยธรรมชาติของระบบทุนนิยม มีแรงบีบคั้นจากโอกาส จะมีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว สิ่งที่คาดว่าน่าจะเกิดขึ้น ดำเนินไปเป็นทางแยก ไปสุดขั้วข้างใดข้างหนึ่ง

ด้านหนึ่ง-การสร้างระบบสาธารณูปโภคใหม่ ด้วยการลงทุนขนาดใหญ่ เพื่อลดผลกระทบจากวิกฤตการณ์ต่างๆ รวมทั้งมากจากวิกฤตการณ์น้ำท่วม
แต่ทั้งนี้ดูเหมือนจะมุ่งไปที่ลดความเสี่ยงในเชิงเศรษฐกิจและธุรกิจมากกว่าปัญหาสังคม การวางแผนและการดำเนินการอย่างเร่งรีบ อาจจะกลายเป็นปัญหาภาพรวมที่ซับซ้อนมากขึ้น

อีกด้านหนึ่ง-ภาคการผลิต บริการของระบบเศรษฐกิจมีการเคลื่อนย้ายจากพื้นที่ราบลุ่มเจ้าพระยา ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงทางธุรกิจที่มากขึ้น จะเป็นภาพสั่นสะเทือนที่มีต่อเนื่อง และขยายวงต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง สู่การค้นคิด ปรับตัวในเชิงธุรกิจระดับต่างๆ อีกมากมาย
เช่นเดียวผู้คนที่มีทางเลือกทั้งหลายคงต้องประเมินและปรับตัวเพื่อเตรียมลดความเสี่ยงในหลายรูปแบบ รวมทั้งการเคลื่อนย้ายสู่พื้นที่ใหม่ๆ ซึ่งอาจเป็นครั้งแรกที่เกิดปรากฏการณ์ใหม่



แนวทางหนึ่ง

ผมเคยเสนอแนวคิดหนึ่งที่ (ตนเอง) เชื่อว่ามีความสำคัญกับเรื่องนี้อยู่บ้างไม่มากก็น้อย อาจเป็นสิ่งที่อ้างอิงในบางระดับ (บทความเรื่อง ยุทธศาสตร์ถนน มติชนสุดสัปดาห์ กุมภาพันธ์ 2553 หรือในหนังสือ "ยุทธศาสตร์เอาตัวรอดของกูรูธุรกิจ" สำนักพิมพ์มติชน) พยายามนำมาประยุกต์เข้ากับโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง ซึ่งเชื่อว่าเป็นโครงการมีความหมายที่สำคัญมาก มากกว่าเครือข่ายทางบก ทางน้ำ และแม้กระทั่งทางอากาศที่มีอยู่เดิม 
เครือข่ายรถไฟความเร็วสูง สร้างระบบการเดินทาง เข้าถึงอย่างรวดเร็ว มากกว่าเครือข่ายระบบถนนเดิมทั้งมวล เป็นระบบที่ตรงเวลา และมีจุดแวะ เชื่อมต่อกับระบบอื่นๆ อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างทั่วถึงทั้งสังคม ทั้งเป็นบริการสาธารณะที่ผู้คนเข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียม


โอกาสและสายสัมพันธ์

ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในสังคมเกิดขึ้นจากการพบปะ สนทนา มีกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันโดยตรง ความสัมพันธ์นี้เป็นพื้นฐานของสังคม แม้ว่าปัจจุบันแม้ว่าจะมีโทรศัพท์มือถือ มี Social network เกิดขึ้นเชื่อมผู้คนทั้งโลกเข้าด้วยในเครือข่ายอินเตอร์เน็ต 
แต่เครือข่ายใหม่ที่มีชีวิต ย่อมเป็นพื้นฐานสนับสนุนและเสริมการเชื่อมผู้คนเข้าด้วยกันอย่างเป็นจริงเป็นจัง ถือเป็นความสัมพันธ์ในการสร้างพลัง และโอกาสทางอุดมคติมากมาย ในทุกมิติ ไม่ว่ารัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์หรือธุรกิจ 

การสร้างกลุ่มพลังทางการเมือง กลุ่มการจัดการทรัพยากรชุมชนด้วยตนเอง การเรียนรู้และแลกเปลี่ยนบทเรียนซึ่งกันและกัน เป็นตลาดของกัน ตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน ฯลฯ
แม้ว่า ผู้ใช้ประโยชน์จากเครือข่ายคมนาคมมากที่สุด คือผู้ที่มีโอกาสมากอยู่แล้วในสังคม การสร้างโอกาสที่เท่าเทียมมากขึ้น ควรเป็นเรื่องอุดมคติที่ควรพยายามอีกครั้งให้เกิดขึ้นเป็นจริง


เป้าหมายทางสังคมและชุมชน

การออกแบบระบบรถไฟความเร็วสูงจึงไม่ควรเป็นเพียงแบบแผนเกี่ยวกับเทคนิคเป็นสำคัญ ควรให้สำคัญในเรื่องเกี่ยวกับสังคม (Social context) 
แผนการโครงข่ายขนส่งและคมนาคม เป็นข้อมูลที่มีค่ามากสำหรับนักค้าที่ดินและเจ้าของโครงการอสังหาริมทรัพย์มาช้านาน เราควรศึกษาวิจัย และสังเกตการณ์ (Research and Observation) กันอย่างจริงจัง ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงในมิติที่กว้าง กระทบต่อผู้คนกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะในชุมชนในบริเวณเส้นทางตัดผ่าน การศึกษาวิถีชีวิต ความสะดวกสบาย ความปลอดภัย โอกาสทางเศรษฐกิจ ฯลฯ การออกแบบเพื่อตอบสนองกิจกรรมต่างๆ ถืองานเป็นออกแบบที่ท้าทาย


ยุทธศาสตร์การสื่อสาร

ขบวนรถไฟ (ทั้งภายในและภายนอก) และเส้นทาง (รวมทั้งจุดแวะพัก) ได้เปิดพื้นที่อย่างเต็มที่ในการสร้างสรรค์ความสัมพันธ์ของผู้คน โอกาสทางธุรกิจแล้ว ถือมีความสำคัญในการสร้างระบบสื่อสารกับกลุ่มคนต่างๆ ทั้งผู้โดยสาร ผู้ผ่านทาง และสาธารณชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การจัดการระบบข้อมูล เป็นทั้งจุดเชื่อมต่อและมีความจำเป็นด้วยตัวเอง โดยเฉพาะจากข้อมูลท้องถิ่น ที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม โบราณสถาน หัตถกรรม เกษตรกรรม แหล่งทองเที่ยว ฯลฯ สะท้อนบุคลิกชุมชนอย่างสำคัญแล้ว การบริหารการสื่อสารอย่างเป็นระบบ สามารถรวบรวบข้อมูลเครือข่ายขนส่ง คมนาคมทั่วประเทศ (รวมทั้งเครือข่ายประเทศเพื่อนบ้านที่ควรมีต่อไป) เป็นฐานข้อมูลใหญ่ขึ้นอย่างอัศจรรย์ รวมไปจนถึงจุดเชื่อมกับการค้าระบบออนไลน์ด้วย)

ความคิดและแผนการที่จับต้องได้บางส่วนของผู้เกี่ยวข้องนำเสนอในตอนต่อไป 



.