.
ทรายน้ำมัน อินเดียนแดง เมเปิล และธงไตรรงค์
โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร
รายงานพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 03 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1668 หน้า 41
หัวข้อรายงานพิเศษนี้ เหมือนไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกัน
แต่กลับมี "ประเด็น" ที่สามารถต่อเชื่อมกันได้อย่างน่าสนใจ
เริ่มที่ "ทรายน้ำมัน" ก่อน
ทรายน้ำมัน หรือ Oil Sands คือแหล่งปิโตรเลียมประเภทหนึ่ง ที่มีส่วนประกอบของ ทราย โคลน น้ำ และ ไบทูเมน (Bitumen) ซึ่งจะเรียกแบบไทยๆ ว่า น้ำมันดิน หรือเพื่อความเข้าใจง่ายๆ อาจจะนึกไปถึง ยางมะตอย ที่มีความหนืดสูง
อยู่ในรูปกึ่งของแข็ง หรือของแข็ง
ซึ่งจะต้องใช้ความร้อนสูงเกือบ 200 องศาเซลเซียส ทำให้ ไบทูเมน อ่อนตัวแล้วแยกออกมาจากทรายและโคลน กลายเป็นของเหลว ในรูป "น้ำมันดิบ" แล้วจึงนำไปใช้หรือกลั่นตามขั้นตอนต่อไป
ปัจจุบัน มีวิธีการผลิตอยู่สองวิธีคือ
วิธีที่หนึ่ง
การทำเหมือง ด้วยการเปิดหน้าดินลงไปจนถึงชั้น "ทรายน้ำมัน" จากนั้น ขุดเอาทรายน้ำมัน ไปเข้าโรงงานผลิต เพื่อแยกเอา ไบทูเมน ออกมาเป็นน้ำมันดิบแล้วนำไปกลั่นตามขั้นตอนต่อไป
วิธีนี้ สะดวก เทคนิคไม่สลับซับซ้อน แต่ก็สร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมค่อนข้างรุนแรง
วิธีที่สอง ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม เรียกว่า กระบวนการ in-situ เป็นการทำให้ไบทูเมน หลอมละลายใต้ดิน แล้วสูบขึ้นมาใช้ ไม่ต้องเปิดหน้าดินเป็นบริเวณกว้าง ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมลง
in-situ ที่ใช้ในการผลิตในเชิงพาณิชย์ มี 2 รูปแบบ
1. ใช้วิธีฉีดอัดไอน้ำร้อน ความดันสูงลงหลุมทรายน้ำมัน แล้วปิดหลุมทิ้งไว้เพื่อให้ไอน้ำถ่ายเทความร้อน ให้ ไบทูนเมน มีความหนืดลดลงจนสามารถไหลเข้าหลุมในรูปน้ำมันดิบได้
จากนั้นใช้ปั๊มดูดขึ้นมา เพื่อทำการกลั่นต่อไป
เมื่อดูดขึ้นมาจนหมดก็จะทำการฉีดอัดไอน้ำ ปิดหลุม แล้วเคลื่อนไปทำตรงอื่นต่อไป
2. ใช้วิธีเจาะหลุมตามแนวนอนสองหลุม โดยหลุมแรกอยู่ข้างบน และอีกหลุมอยู่ข้างล่าง จากนั้นใช้ไอน้ำอัดเข้าไปที่หลุมบน ไอน้ำจะถ่ายเทความร้อนให้กับ ทรายน้ำมัน ทำให้ ไบทูเมนหลอมเหลวไหลสู่หลุมข้างล่างโดยแรงโน้มถ่วง จากนั้นก็ดึงขึ้นมาจากหลุมเข้าสู่ขั้นตอนการกลั่นน้ำมันดิบต่อไป
เทคโนโลยี ในการผลิตน้ำมันจาก ทรายน้ำมัน นับวันจะทันสมัยยิ่งขึ้น ต้นทุนการผลิตต่ำลง ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมลงได้กว่าเดิม
ถ้าราคาน้ำมันอยู่ระดับ 80-90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล "ทรายน้ำมัน" จะคุ้มค่าในการผลิต
และจะกลายเป็นแหล่งปิโตรเลียมที่สำคัญของโลก อีกแหล่งหนึ่ง
อินเดียนแดง ในประเทศแคนาดา ดูเหมือนจะเป็นชนเผ่ากลุ่มแรกๆ ที่รู้จักนำ ทรายน้ำมัน มาใช้ประโยชน์
มีการบันทึกไว้ว่า ไบทูเมน หรือน้ำมันดิน ได้รับการกล่าวขานถึงครั้งแรก ในช่วงปี พ.ศ.2262 (ค.ศ.1719) เมื่อชาวเผ่ากรี (Cree) ได้นำเอายางเหนียวของ ไบทูเมน ที่โผล่พ้นดินขึ้นมาโดยธรรมชาติ มาเป็นวัสดุป้องกันการรั่วซึมของเรือแคนนู
ขณะเดียวกันได้นำยางเหนียวชนิดนี้ ไปค้าขายให้กับชาวยุโรป ที่เดินทางมาสำรวจและล่าอาณานิคมดินแดนแห่งนี้
ในปลายยุค 1700 ถึง 1800 ชาวยุโรปจำนวนหนึ่ง เข้ามาประเทศแคนาดา เพื่อสำรวจแหล่ง "ทรายน้ำมัน" เพื่อทำเป็นการค้า
ในช่วงต้นของยุค 1900 ได้มีการพยายามพัฒนาแหล่ง ทรายน้ำมัน ในเชิงพาณิชย์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากไม่คุ้มทุน
"ทรายน้ำมัน" จึงดำรงสถานะ "ทรัพยากร" ที่ "นิ่งสงบ" อยู่ใต้ผืนแผ่นดิน อันกว้างใหญ่ ของชาวอินเดียแดง ในแคนาดา
จนกระทั่งเมื่อแหล่งน้ำมันดิบเริ่มขาดแคลน และก้าวเข้าสู่ยุค "น้ำมันแพง"
ทรายน้ำมัน ที่ไม่คุ้มค่าในการผลิต เพื่อเชิงพาณิชย์ เริ่มแปรเปลี่ยนไป
กลายเป็น ทรัพยากรอันล้ำค่า
และถูกคาดหมายว่าจะเป็นแหล่งปิโตรเลียมอันสำคัญของโลก ในช่วง 40-50 ปีข้างหน้านี้
จากการสำรวจของนักธรณีวิทยา พบว่า ในโลกนี้ แหล่ง "ทรายน้ำมัน" มหึมา มีอยู่สองแห่ง คือ เวเนซุเอลา และแคนาดา
กล่าวสำหรับประเทศแคนาดา ชาติที่มี "ใบเมเปิล" เป็นสัญลักษณ์ในธงชาติ นั้น มีปริมาณสำรองน้ำมันดิบมากเป็นลำดับ 3 ของโลก
รองจากประเทศซาอุดีอาระเบีย และประเทศเวเนซุเอลา เท่านั้น
จากปริมาณสำรองทั้งหมด 174 พันล้านบาร์เรล
เป็น "ทรายน้ำมัน" 169 พันล้านบาร์เรล
หรือมากถึง 97%
แคนาดา จึง เป็นประเทศที่มี "ทรายน้ำมัน" มากมายมหาศาลที่สุดของโลก
และเริ่มพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อนำทรายน้ำมันมาใช้ประโยชน์ มากยิ่งขึ้นทุกที และทุกปี
เมื่อปี พ.ศ.2554 ที่ผ่านมา แคนาดา สามารถผลิตน้ำมันจากทรายน้ำมัน ได้ถึง 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน
คาดว่า ในปี พ.ศ.2573 หรือ ค.ศ.2030 แคนาดาจะสามารถผลิตน้ำมันจาก ทรายน้ำมัน ได้ถึง 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน
แคนาดา จึงถือเป็นผู้ส่งออกน้ำมัน ที่สำคัญ และเป็นรายใหญ่ของโลก
ทำให้ดินแดนแห่งธง "ใบเมเปิล" ปลิวไสว ร่ำรวยจากน้ำมัน ติดอันดับนำของโลก
"ทรายน้ำมัน" ที่เคย "นิ่ง" เป็นสิ่งที่ไม่มีค่า หรือไม่คุ้มต่อการลงทุน
กลายเป็น "เกล็ดทองคำดำ" ที่ทั่วโลกให้ความสนใจ
และดึงดูดให้บริษัทน้ำมันจากทั่วโลกหลั่งไหลเข้าไปหา
ซึ่งแคนาดาก็อ้าแขนรับ เพราะแคนาดาเองมีประชากรเบาบาง เพียง 30 ล้านคน ขณะที่ประเทศมีความกว้างใหญ่ไพศาลเป็นอันดับสองรองจากรัสเซีย และใหญ่กว่าไทยกว่าสิบเท่า
และหนึ่งในบริษัทที่เข้าไปนั้น
คือ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ของไทย นี่เอง
ปตท.สผ. เข้าไปร่วมลงทุนในแหล่ง "ทรายน้ำมัน" ภายใต้ "ธง" ที่ว่าการลงทุนในแหล่งพลังงานต่างประเทศ ถือเป็นการสร้างปริมาณสำรองพลังงาน และจะมีส่วนช่วยประเทศไทยสร้างสมดุลอัตราแลกเปลี่ยนต่างประเทศในการนำเข้าพลังงาน
ประกอบกับแหล่งปริมาณสำรองรูปแบบเดิม ไม่ว่าแหล่งน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ เริ่มอยู่ในสถานะ "จำกัด" และลดลงอย่างต่อเนื่อง
แหล่งปิโตรเลียมประเภทใหม่ จึงเป็นแหล่งพลังงานใหม่ ที่ต้องให้ความสนใจ
โดยทรายน้ำมันถือเป็น 1 ใน 7 เมกะเทรนด์ แหล่งพลังงานประเภทใหม่ที่สำคัญ
ปี 2553 ปตท.สผ. จึงได้ตั้งบริษัทย่อย PTTEP แคนาดา เข้าไปร่วมหุ้นกับบริษัทสแตทออยล์ แคนาดา ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันชั้นนำของโลก ในอัตราส่วน 40 : 60 ใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,280 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 7 หมื่นล้านบาท
ผลิตน้ำมันจากทรายน้ำมัน ในรัฐอัลเบอร์ ภายใต้ชื่อ โครงการออยล์ แซนด์ เคเคดี
เคเคดี-KKD ย่อมาจากภาษาอินเดียน "KAI KOS DEHSEH" ซึ่งเป็นชื่อของแม่น้ำ ถูกนำมาใช้เพื่อสื่อถึงความผูกพันกับชนพื้นเมือง และการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม
ครอบคลุมพื้นที่ ทั้งหมด 1,130 ตารางกิโลเมตร
มีปริมาณทรายน้ำมันสำรอง มหาศาล
สามารถผลิตได้เป็นเวลานานกว่า 40 ปี
ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ in-situ แบบที่สอง โดยเจาะหลุมตามแนวนอนสองหลุม โดยหลุมแรกอยู่ข้างบน และอีกหลุมอยู่ข้างล่าง จากนั้นใช้ไอน้ำอัดเข้าไปที่หลุมบน ไอน้ำจะถ่ายเทความร้อนให้กับ ทรายน้ำมัน ทำให้ ไบทูเมนหลอมเหลวไหลสู่หลุมข้างล่างโดยแรงโน้มถ่วง จากนั้นก็ดึงขึ้นมาจากหลุมเข้าสู่ขั้นตอนการกลั่นนำมันดิบต่อไป
เริ่มการผลิตเมื่อเดือนมกราคม 2554 โดยมีกำลังการผลิต 20,000 บาร์เรลต่อวัน
มีแผนที่จะขยายการผลิตเป็น 40,000 บาร์เรลต่อวัน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษาและออกแบบ
โดยมี ด๊อกเตอร์โยธิน ทองเป็นใหญ่ นั่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท PTTEP แคนาดา ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับฝรั่ง
เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ณอคุณ สิทธิพงษ์ ประธานกรรมการบริษัท ปตท. และบริษัท ปตท.สผ., ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท., เทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.สผ., สรัญ รังคสิริ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท., พุทชาด มุกดาประกร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม ปตท. พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ ปตท. นำสื่อมวลชน จำนวนหนึ่งไปสัมผัสแหล่งผลิตทรายน้ำมัน ที่แคนาดา
ทำให้เราเห็น ความเชื่อมโยงของ "ทรายน้ำมัน-อินเดียนแดง-เมเปิล-ธงไตรรงค์" อย่างมีนัยสำคัญ
และบริเวณไซต์งาน ที่อทาบาสกา รัฐอัลเบอร์ต้า นั้น
เราเห็นธงไตรรงค์ เห็นธง ปตท. ปลิวไสว เคียงข้างกับธงเมเปิล ของแคนาดา และธงของบริษัทสแตทออยล์
ทำให้คนไทย อดจะ "ภูมิใจ" ไม่ได้
ภูมิใจที่ประเทศไทย สามารถข้ามโลกไปปักธง ในแหล่งพลังงานใหม่ได้
และเป็นช่วงที่คน ปตท. เองก็กำลังภูมิใจ ที่นิตยสาร Fortune นิตยสารด้านเศรษฐกิจการเงิน ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ได้จัดอันดับบริษัทชั้นนำของโลก "Fortune Global 500 ประจำปี 2555"
ปรากฏว่า ปตท. จากประเทศไทยได้รับการจัดอันดับที่ 95 จาก 500 บริษัทขนาดใหญ่ที่สุดของโลก
โดยขยับขึ้นจากอันดับที่ 128 ในปีก่อนหน้านี้ และเป็นบริษัทไทยเพียงบริษัทเดียวที่ติดอันดับโลกดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความภูมิใจนั้น
ก็อดมองในอีกแง่ไม่ได้
นั่นก็คือ การที่เราต้องข้ามน้ำข้ามทะเล ไปเสาะหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ และไม่คุ้นเคยในประเทศ อย่าง "ทรายน้ำมัน"
สะท้อนว่า "พลังงานเดิมๆ อย่างน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ" กำลังจะกลายเป็นสิ่งหายาก ราคาแพง และกำลังจะหมดไป จึงต้องเสาะแสวงหาแหล่งพลังงานใหม่
นี่เป็นเครื่องเตือนใจ ว่าถ้าหากเรายังฟุ่มเฟือยกับการใช้พลังงานอย่างที่เป็นอยู่
เราก็ต้องดิ้นรนเพื่อหาพลังงานใหม่มาทดแทนตลอดเวลา
ซึ่งอย่างไรก็ไม่มีวันพอ หากเราไม่ยับยั้งการเผาผลาญที่ไม่จำเป็นนั้น
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย