.
คอลัมน์ ในประเทศ - ศึกชิงเก้าอี้ "รอง ปธ.วุฒิ" กลเกม "สภาสูง" สะเทือนถึง "สภาล่าง"
รายงานพิเศษ - ศึกแดงเดือด-คดี 98 ศพ ภาคต่อ เขย่าโผ ขย่มกองทัพ กระชับพื้นที่ เก้าอี้ ผบ.ทบ. จับตาบทบู๊"บิ๊กตู่" และเรื่องเล่าลือที่กลาโหม
คอลัมน์ โล่เงิน - เจาะโผ "รอง ผบช.-ผบก." นครบาล "สายบิ๊กแจ๊ด-เด็กเพื่อไทย" พรึบ "ประยนต์" ข้ามห้วยคุม "ผบก.สส."
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
เปิดเป้าหมาย "สไนเปอร์" "อภิสิทธิ์-สุเทพ" ระทึก DSI กระชับคดี 98 ศพ
คอลัมน์ ในประเทศ ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1671 หน้า 10
ไม่มีแรงกระเพื่อมใดๆ จากคนเสื้อแดงมากนัก ภายหลังศาลอาญามีคำสั่งเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว นายยศวริศ ชูกล่อม หรือ เจ๋ง ดอกจิก
สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะแกนนำหลักอย่าง นายจตุพร พรหมพันธุ์ รวมถึงแกนนำอีก 17 คนที่ไม่ได้เป็น ส.ส. ไม่ถูกเพิกถอนไปด้วย
ทั้งยังนับเป็นสัญญาณดีสำหรับแกนนำเสื้อแดงอีก 5 คนที่เป็น ส.ส. ซึ่งอยู่ภายใต้เอกสิทธิ์คุ้มครองตลอดสมัยการประชุมสภา คือ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นพ.เหวง โตจิราการ นายก่อแก้ว พิกุลทอง นายการุณ โหสกุล และ นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท
กับอีกสาเหตุหนึ่งคือ คนเสื้อแดงกำลังพุ่งความสนใจไปยังเรื่องที่มีความตื่นเต้นเร้าใจมากกว่า เกี่ยวกับคดีสอบสวนการล้อมปราบประชาชนผู้ชุมนุมทางการเมืองเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553
ทั้งในส่วนผู้เสียชีวิต 98 ศพ
ทั้งในส่วนผู้บาดเจ็บพิการเกือบ 2,000 คน ที่พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ตั้งประเด็นสอบสวนขึ้นใหม่
ข้อหา "พยายามฆ่า"
ในส่วนของ 98 ศพ มี 19 ศพอยู่ในชั้นไต่สวนของศาลถึงสาเหตุการเสียชีวิตว่า เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐตามที่มีพยานหลักฐานบ่งชี้ จริงหรือไม่
ยังมีคดีเดียวกันอีก 3 ศพที่อยู่ในชั้นสอบสวนของตำรวจนครบาล
นอกจากนี้ ดีเอสไอเตรียมส่งสำนวนสอบสวนเพิ่มเติมอีก 5 ราย มาให้ตำรวจนครบาลดำเนินการเพื่อเข้าสู่กระบวนการไต่สวนชันสูตรพลิกศพเช่นเดียวกับ 19 ศพและ 3 ศพก่อนหน้า
โดยเฉพาะคดี นายพัน คำกอง แท็กซี่ชาวยโสธร ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553
คดีเดินหน้าไปถึงจุดที่ศาลออกหมายเรียก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และอดีตผู้อำนวยการ ศอฉ. มาเบิกความ
เป็นความคืบหน้าที่สร้างความหงุดหงิดให้กับนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพเป็นอย่างยิ่ง
เพราะถึงท้ายที่สุดของคดีชันสูตรพลิกศพจะไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า ใครคือ "ผู้ออกคำสั่ง" ไปยังเจ้าหน้าที่รัฐให้ใช้อาวุธกับประชาชน
แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นเข้าสู่ช่วงไคลแมกซ์
จากคำสั่งใช้ความรุนแรงปราบปรามการชุมนุมในปี 2553
1 ในพยานสำคัญที่จะเป็นตัวเชื่อมโยงถึง "คนสั่งการ" ได้ ก็คือเจ้าหน้าที่พลซุ่มยิง หรือที่รู้จักกันในนาม "สไนเปอร์"
ตามแนวทางสอบสวนที่ดีเอสไอวางไว้ คือ การออกหมายเรียกสไนเปอร์มาสอบปากคำในฐานะ "พยาน" ไม่ใช่ผู้ต้องหา
รายงานข่าวระบุ สไนเปอร์ 2 คนแรกที่ถูกออกหมายเรียก คือ ชาย 2 คนแต่งชุดคล้ายทหาร ประจำการบริเวณย่านลุมพินีใกล้ชุมชนบ่อนไก่ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553
1 ในนั้นเป็นคนที่ใช้ปืนยิง มียศสิบตรี เป็นพลทหารรถถัง ปัจจุบันลาออกจากราชการไปแล้ว
ล่าสุดอดีตสิบตรีคนดังกล่าวและเพื่อนผู้ร่วมชุดปฏิบัติการ ขอเลื่อนเข้าให้ปากคำต่อดีเอสไอ จากวันที่ 22 สิงหาคม ออกไปอย่างไม่มีกำหนด
แต่ในส่วนของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ต้องมาให้การต่อดีเอสไอวันที่ 27 สิงหาคมนี้ ต้องจับตาว่าจะขอเลื่อนด้วยหรือไม่
ทั้งนี้ การคลี่คลายปมคดี 98 ศพ เริ่มจากการสอบสวนสไนเปอร์ เป้าหมายคือการใช้เป็นเบาะแสสาวถึงตัวคนอยู่เบื้องหลังสั่งการ
ขั้นตอนคือการเปรียบเทียบจุดที่มีคนถูกยิงเสียชีวิตหรือบาดเจ็บ กับจุดประจำการของเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการว่าสอดคล้องต้องกันหรือไม่
หากสอดรับกันก็จะสอบสวนต่อว่าเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการดังกล่าวมีใครบ้าง ชื่ออะไร ใครเป็นหัวหน้าชุด ปฏิบัติการด้วยจุดมุ่งหมายใด
รับคำสั่งจากใครให้ออกมาปฏิบัติการ
เบื้องต้นแม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. จะปฏิเสธว่าไม่มีการใช้สไนเปอร์ในช่วงเหตุการณ์เดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553
"สไนเปอร์อะไร ใครเป็นคนใช้สไนเปอร์ รู้หรือไม่ว่าสไนเปอร์เป็นใคร รูปที่ปรากฏเป็นทหารที่เขาติดกล้องเฉยๆ กล้องตัวนั้นและปืนตัวนั้นไม่ใช่แบบสไนเปอร์ ถ้าพูดแล้วไม่รู้ อย่าพูดดีกว่า สิ่งที่ใช้เพื่อระวังป้องกัน ในตลาดนัดก็มีขาย ใช้สำหรับยิงนก ไม่ใช่สไนเปอร์"
คำกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ สอดคล้องกับคำชี้แจงของ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ทบ. และอดีตโฆษก ศอฉ. ที่ระบุว่า
ทหารที่ถืออาวุธประจำกายไม่ใช่พลซุ่มยิง แต่เป็น "พลระวังป้องกัน" มีหน้าที่ตรวจการป้องกันไม่ให้ชายชุดดำทำร้ายประชาชนหรือเจ้าหน้าที่
เช่นเดียวกับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่อ้างว่าไม่เคยได้ยินเรื่องการนำสไนเปอร์มาใช้ปฏิบัติการกับกลุ่มผู้ชุมนุม
การระบุว่ามีการใช้สไนเปอร์เป็นเพียงการมุ่งใส่ร้ายเจ้าหน้าที่ทหาร เพื่อหวังผลโยงมาถึงตนเองกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เท่านั้น
แต่เมื่อปะทะเข้ากับเอกสาร "ลับ" ส่วนราชการ สยก.ศอฉ. ที่ กห.1407.55 (สยก.) ลงวันที่ 17 เมษายน 2553
เรื่อง ขออนุมัติแนวทางการปฏิบัติในการใช้อาวุธเพื่อ รปภ. ที่ตั้งหน่วยและสถานที่สำคัญ รวมทั้งการปฏิบัติ ณ จุดตรวจ/ด่านตรวจและสายตรวจเคลื่อนที่
ลงนามโดย พล.ท.อักษรา เกิดผล หน.สยก.ศอฉ. เสนอต่อ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผอ.ศอฉ. ในเวลานั้น
เอกสารทั้งหมด 5 หน้า มีการระบุถึงสไนเปอร์ในหน้า 2 ข้อ 2.5 ว่า
แนวทางปฏิบัติเฉพาะเหตุการณ์ ในกรณีพบความผิดซึ่งหน้าในลักษณะผู้ก่อเหตุใช้อาวุธยิงใส่เจ้าหน้าที่ หรือใช้อาวุธ/วัตถุระเบิดต่อที่ตั้งหน่วยและสถานที่สำคัญที่ ศอฉ. กำหนด ได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้อาวุธยิงผู้ก่อเหตุ เพื่อหยุดยั้งการปฏิบัติได้ แต่หากผู้ก่อเหตุอยู่ปะปนกับผู้ชุมนุมจนอาจทำให้การใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ เป็นอันตรายต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ ให้งดเว้นการปฏิบัติ ยกเว้นในกรณีที่หน่วยได้จัดเตรียมพลแม่นปืน (Marksmanship) ที่มีขีดความสามารถเพียงพอให้ทำการยิงเพื่อหยุดยั้งการก่อเหตุได้ นอกจากนี้ หากหน่วยพบเป้าหมายแต่ไม่สามารถทำการยิงได้ เช่น เป้าหมายอยู่ในที่กำบัง ฯลฯ หน่วยสามารถร้องขอการสนับสนุนพลซุ่มยิง (Sniper) จาก ศอฉ. ได้
โดยมีเอกสารลงนามอนุมัติโดย ผอ.ศอฉ. ลงวันที่ 18 เมษายน 2553
พ.อ.สรรเสริญ ยอมรับว่าเอกสารดังกล่าว "ของจริง"
เพียงแต่หากอ่านครบทั้ง 5 หน้า จะเห็นว่าการปฏิบัติการดังกล่าวเป็นไปตามหลักสากล คือ การใช้มาตรการ "เบาไปหาหนัก"
หากมาตรการ "เบา" ไม่ได้ผล ก็มีความจำเป็นต้องใช้อาวุธ ซึ่งก็จะมีหลักการใช้อาวุธเช่นกัน ไม่ได้เป็นการใช้แบบฟุ่มเฟือย หรือตามอำเภอใจ
อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่ากรณีของสไนเปอร์นั้น เป็นเพราะเอกสารลับ ศอฉ. ซึ่งถูกนำมาเผยแพร่หรือไม่ ที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลดความแข็งกร้าวลง
ในภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่าพร้อมให้ความร่วมมือกับพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ในการเชิญตัวอดีตทหารสิบตรี มาให้ปากคำถึงการปฏิบัติการช่วงสลายการชุมนุมปี 2553
หรือเป็นเพราะการที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ มอบหมาย พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา รอง ผบ.ตร. ไปชี้แจงทำความเข้าใจว่า
จากเหตุการณ์ทั้งหมดข้าราชการทุกภาคส่วน รวมถึงทหาร-ตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่ จะได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 62 และมาตรา 70
โดยผู้ต้องรับผิดชอบคือผู้สั่งการเท่านั้น
++
คอลัมน์ ลึกแต่ไม่ลับ โดย จรัญ พงษ์จีน
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1671 หน้า 8
ชัยชนะของ "ส.ว.สรรหา" ในการโหวตเลือก "รองประธานวุฒิสภา" คนที่ 1 ซึ่ง "สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย" มีคะแนนเหนือ "สุรเดช จิรัฐิติเจริญ" ส.ว.เลือกตั้ง แบบเฉียดฉิว 73 ต่อ 69 คะแนน
หนังคนละม้วนกันกับตอนเลือกตั้งตำแหน่งประธานวุฒิสภา แทน "พล.อ.ธีรเดช มีเพียร" ที่ปรากฏว่า "นิคม ไวยรัชพานิช" ส.ว.เลือกตั้ง โค่นตัวเต็ง "พิเชต สุนทรพิพิธ" ตัวแทน ส.ว.แต่งตั้ง ไปด้วยคะแนน 77 ต่อ 69 เสียง
ประธาน ส.ว.ฝ่ายเลือกตั้ง ชนะ 8 เสียง รองประธาน ส.ว. คนที่ 1 ฝ่ายแต่งตั้ง เฉือนหวิวไปแค่ 4 เสียง
มากหรือน้อยไม่ใช่สาระสำคัญ ปัญหาอยู่ที่ว่า ชัยชนะของ "สุรชัย" ต่อ "สุรเดช" นั้นได้สร้างจุด "คานอำนาจ" กันได้ระดับหนึ่ง ไม่เช่นนั้นแล้ว การที่ ประธาน-รองประธานสวคนที่ 1 และ 2 ล้วนแล้วแต่มาจากสายเลือกตั้ง จะปราศจากการถ่วงดุลกันไปเลย
การที่ ส.ว.สรรหาพลิกเกมกลับมามีชัยในตำแหน่งรองประธาน คนที่ใจชื่นขึ้นมาได้บ้าง แม้จะไม่กี่มากน้อยคือ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" อดีตรองนายกรัฐมนตรี ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์
ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ทำการไต่สวน "สุเทพ" ในข้อกล่าวหาว่า "ใช้ตำแหน่งหน้าที่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติราชการหรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของข้าราชการ"
และ "ป.ป.ช." มีมติด้วยเสียงข้างมากว่า สรุปว่า "จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย"
ป.ป.ช. เสนอผลต่อวุฒิสภาเพื่อลงมติถอดถอนตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 271 ซึ่ง "ส.ว." กำหนดวันชี้ชะตากันเรียบร้อยแล้วในวันที่ 27 สิงหาคม
การถอดถอน "สุเทพ" พ้นจากตำแหน่ง ส.ส. ของวุฒิสภา รัฐธรรมนูญกำหนดว่า ต้องมีคะแนนเสียง "ไม่น้อยกว่าสามในห้า" ดังนั้น สัดส่วนในการถอดถอนได้โดยประมาณหากบวก ลบ คูณ หารจากยอด 146 เสียง คือ 88 เสียงเท่านั้น
กรณีเริ่มนับจุดเริ่มต้น จากสัดส่วน 77 เสียงที่ลงมติเลือก "นิคม ไวยรัชพานิช" เป็นประธาน ส.ว. การถอนถอนย่อมลุ้นระทึกได้ กับเสียงสมทบแค่ 11 คนเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม แม้ผลการเลือกตั้งรองประธาน ที่ฝั่ง "แต่งตั้ง" ชนะแบบเฉียดฉิวนั้น ขยับตัวเลือกการถอดถอน "สุเทพ" ให้มีช่องว่างเพิ่มขึ้นไปได้อีกเล็กน้อย
แต่หมากสำคัญกระดานนี้ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" เองย่อมประมาทมิได้เช่นเดียวกัน เพราะไม่ได้หมายความว่า "ส.ว.แต่งตั้ง" จะเทเสียงช่วยอุ้มเสียทั้งหมด
กลุ่มที่น่าจับตามากที่สุดคือ "40 ส.ว." ที่ทรงความเป็นปึกแผ่นมากที่สุดของ "สภาสูง" การโหวดถอดถอน "สุเทพ" จะยังดำรงความเป็นเอกภาพ เช่นเดียวกับเมื่อครั้งเลือกประธาน-รองประธาน ส.ว. อยู่หรือไม่
แม้ "กลุ่ม 40 ส.ว." จะไม่เอา และเป็นปฏิปักษ์กับ "ระบอบทักษิณ" แต่ก็มี "บางส่วน" ที่ไม่เอา "ประชาธิปัตย์" เหมือนกัน
วันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม อันเป็นวันเริ่มแรกของการพิจารณาถอดถอน ก็พอจับกระแสได้ไม่น้อยว่าผลถอดถอนจะลงเอยยังไง
"เกมเปิด-โอกาสเอื้อ" ให้รัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" เพราะระหว่างนี้เป็นเทศกาลโยกย้ายประจำปี ซึ่งบังเอิญว่า ตำแหน่งหมายเลข 1 คือ ปลัดกระทรวง พาเหรดกันเกษียณอายุราชการสูงถึง 8 คน 8 กระทรวง ไม่นับระนาบรองปลัด-อธิบดี และเทียบเท่าอีกจำนวนมาก เสร็จสรรพนัยว่า ตัวเลขเฉียดหลัก 200 ตำแหน่ง
แต่งตั้งนำร่องไปก่อนใครเพื่อน คือ "วัชรี วิมุกตายน" อธิบดีกรมการค้าภายใน ผงาดขึ้นเป็นปลัดกระทรวงพาณิชย์ สืบแทน "ยรรยง พวงราช" ที่จะเกษียณในวันที่ 30 กันยายน เพื่อก้าวสืบไปช่วยปฏิบัติงานรับจำนำข้าวของรัฐบาล "ปู" ในลำดับถัดไป
ทั้งที่ว่า ตามโผเดิม ปลัดกระทรวงมหาดไทย แทน "พระนาย สุวรรณรัฐ" ทำท่าจะลงตัวก่อนใครเขาเพื่อน โดย "วิเชียร ชวลิต" ปลัดคลองหลอดเก่าจะเป็นเชนคัมแบ๊ก หลังจากถูกย้ายฟ้าผ่าไปนั่งปลัด พม. เจิมรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ 1" ด้วยถูกมองว่าเป็นเครือข่ายของ "2 น." แห่งภูมิใจไทย แต่ทำงานโชว์ความรู้ความสามารถเข้าตา "นายกฯ ปู" เลยถูกผลัดดันให้กลับถิ่นเก่า
แต่ถูกรุมเตะสกัด ทั้งจากข้าราชการประจำในมหาดไทย และการเมืองในพรรคเพื่อไทยผสมโรง สุดท้าย "วิเชียร" ส่อเค้าว่าจะแป้กหัวคิว
แคนดิเดตตัวจริง เสียงจริง เป็นการชิงดำกันระหว่าง "ประชา เตรัตน์" รองปลัด กับ "วิบูลย์ สงวนพงศ์" อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
แต่ส่อแววว่า "วิบูลย์" จะเข้าวิน เพราะแบ๊กทางการเมืองเข้มแข็งกว่าหลายเท่า มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ "ขาใหญ่" เพื่อไทยระดับยกแผง ลำพังแค่ "เจ๊แดง-เยาวภา วงศ์สวัสดิ์" ก็เหลือกำลังแล้ว ยังมีสายสัมพันธ์อันดีกับ "เจ๊หน่อย-สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์" หัวหน้ากลุ่มวังทองหลาง และเป็นเพื่อนเลิฟสิงห์ดำรุ่นเดียวกับ "ภูมิธรรม เวชยชัย" คนใกล้ชิด "นายใหญ่" เข้าไปอีก จึงมีโอกาสที่จะผงาดขึ้นเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทยค่อนข้างสูงลิบ
ลุ้นกันสนุกไม่ด้อยกว่ามหาดไทย คือปลัดกระทรวงกลาโหม ที่จะมาแทน "พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์" ซึ่งปรากฏว่า ฝ่ายการเมือง กับบิ๊กสีเขียว เกิดขบเหลี่ยมกันเล็กน้อย
ฝ่ายแรกดัน "พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน" เป็นเสือข้ามห้วยจาก ผู้ช่วย ผบ.ทบ. แต่ปลัดเก่า เห็นว่า "พล.อ.ชาตรี ทัตติ" รองปลัดกลาโหม เหมาะสมกว่า เพราะรั้งอาวุโสครองอัตราจอมพลมีต้นทุนดีกว่าอยู่เล็กน้อย น่าจะเข้าป้าย
ศึกโยกย้ายนายทหาร 3 เหล่าทัพ บก-เรือ-อากาศ ประจำปีนี้ ต้องตื่นเต้นและเร้าใจกว่าปีแล้ว เพราะ "บิ๊กโอ๋-พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อน ตท.10 ของ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" ถูกดันจากว่าการกระทรวงคมนาคม มาคุมแถวอยู่ตรงนี้ ก็เพื่อภารกิจการโยกย้ายนายทหาร
โผเหล่าทัพ กันยายน 2555 แม้ไม่ถึงกับ "แทรกแซง" แต่ "หน่วยเหนือ" จะขอแจมบ้างในบางตำแหน่ง
+++
ศึกชิงเก้าอี้ "รอง ปธ.วุฒิ" กลเกม "สภาสูง" สะเทือนถึง "สภาล่าง"
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1671 หน้า 12
ผ่านพ้นไปเรียบร้อยกับผลการเลือกตั้ง "รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1" กับผล แพ้ - ชนะ ที่ลุ้นกันแบบหืดขึ้นคอ กับชัยชนะของ "สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย" ส.ว.สรรหา ภาคเอกชน ที่มีต่อ "สุรเดช จิรัฐิติเจริญ" ส.ว.ปราจีนบุรี ที่ต้องสู้กันถึงฎีกา ในการลงคะแนนลับรอบที่สอง ด้วยคะแนน 73 ต่อ 69 เฉือนกันนั่งเก้าอี้ "รองประมุขสภาสูง คนที่ 1" ไปเพียง 4 คะแนน
ว่ากันว่าศึกชิงเก้าอี้ "รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1" ในครั้งนี้ คอการเมืองให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการชิงชัยตำแหน่ง "ประธานวุฒิสภา" ไปเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ที่ผ่านมา กับชัยชนะของ "นิคม ไวยรัชพานิช" ส.ว.ฉะเชิงเทรา และเป็นชัยชนะครั้งแรกของ ส.ว.เลือกตั้ง ที่มีต่อ ส.ว.สรรหา ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2550 มีผลบังคับใช้
จึงมีการคาดการณ์กันว่าตำแหน่ง รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 มีความเป็นไปได้สูงที่ ส.ว.เลือกตั้ง อาจจะ "เข้าวิน" หากวิเคราะห์จากสมมติฐานการเลือก "ประธานวุฒิสภา" ครั้งล่าสุด
มองได้จากจำนวน ส.ว. ที่มีการเสนอชื่อลงชิงชัยเก้าอี้รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 มีถึง 7 คน โดยฟากฝั่ง ส.ว.เลือกตั้ง ส่งเข้าชิง 3 คน คือ "ดิเรก ถึงฝั่ง" ส.ว.นนทบุรี "สุรเดช จิรัฐิติเจริญ" ส.ว.ปราจีนบุรี และ "กฤช อาทิตย์แก้ว" ส.ว.กำแพงเพชร
ขณะที่ฝั่ง ส.ว.สรรหา ส่งผู้ท้าชิง 4 คน คือ "สมัคร เชาวภานันท์" จากภาควิชาชีพ "ม.ล.ปรียาพรรณ ศรีธวัช" จากภาคเอกชน "สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย" จากภาคเอกชน และ "บุญชัย โชควัฒนา" จากภาคเอกชน
แม้จะมีการมองกันว่าผู้ชิงชัยทั้ง 7 คน จะต้องมาช่วงชิงและตัดคะแนนกันเอง ไม่มีใครชนะแบบลอยลำ และต้องมาชิงดำกันในการเลือกตั้งในรอบที่สอง
ซึ่งเป็นไปตามคาดการณ์
หากดูจากผลคะแนนการเลือกตั้งในรอบสองที่ออกมานั้น "สุรชัย" ได้ 73 คะแนน เฉือนชนะ "สุรเดช" ที่ได้ 69 คะแนน ไปเพียง 4 คะแนน งดออกเสียง 1 คะแนน
ถือว่ามีนัยยะไม่น้อย
เพราะถ้ามาดูเสียงของสมาชิกวุฒิสภาที่มีสิทธิลงคะแนนเสียง มีทั้งหมด 146 เสียง แบ่งเป็น ส.ว.เลือกตั้ง 76 คน และ ส.ว.สรรหา 73 คน แต่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ไป 3 คน เหลือเพียง 70 คน ที่มีสิทธิลงคะแนนเสียง
73 เสียง ที่เทมาให้ "สุรชัย" แน่นอนว่าต้องมีเสียงปริศนาอย่างน้อย 3 เสียง จาก ส.ว.เลือกตั้ง แตกออกมาหนุน "สุรชัย"
เพราะ ส.ว.สรรหา หากพร้อมใจจับมือกันแน่น เทคะแนนให้ "สุรชัย" เต็มที่ก็เพียง 70 เสียง
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น สะท้อนภาพได้ชัดว่า ส.ว. ของทั้งสองฟากฝั่งไม่ได้เป็นเอกภาพอย่างที่หลายคนมอง
อีกทั้งฝ่ายการเมืองก็ไม่สามารถครอบงำได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะฝ่ายค้านหรือรัฐบาล ในการเดินเกมกับ ส.ว.
เสียงสะท้อนออกมาจากสมาชิกวุฒิสภา มีการระบุว่า เก้าอี้รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ที่ "สุรชัย" คว้ามาได้ในครั้งนี้ ทั้งสองฟากฝั่งของ ส.ว.เลือกตั้ง และ ส.ว.สรรหา มีการล็อบบี้เดินเกมของบรรดา ส.ว. กันอย่างเข้มข้น
ไม่แพ้การชิงชัยเก้าอี้ประธานวุฒิสภา
มีการวิเคราะห์กันว่าปัจจัยชี้ขาด ที่ "ส.ว.เลือกตั้ง" ยอมแตกแถวหันมาเทคะแนนให้ "ส.ว.สรรหา" นั่นคือการต่อรองกันระหว่างกลุ่ม "ส.ว.เลือกตั้ง" ที่มี ส.ว. จากภาคเหนือและภาคกลาง ประมาณ 5 คน กับ "ส.ว.สรรหา"
โดย ส.ว.เลือกตั้ง กลุ่มนี้พร้อมเทคะแนนสนับสนุน "สุรชัย" ให้นั่งเก้าอี้รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 แลกกับเก้าอี้ "ประคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา" ที่หนึ่งใน ส.ว.เลือกตั้ง จังหวัดภาคเหนือ จะขอนั่ง "ประธาน กมธ.ทรัพยากรธรรมชาติฯ"
ส่วน ส.ว. อีก 4 คนที่เหลือ ขอนั่งตำแหน่ง "กมธ.ทรัพยากรธรรมชาติฯ" ในการคัดเลือกช่วงสัปดาห์หน้า
ชัยชนะของ "สุรชัย" ยังเป็นการกู้หน้าให้ ส.ว. สรรหา ที่พลาดจากการชิงตำแหน่งประธานวุฒิสภาให้กับ ส.ว.เลือกตั้ง และยังเป็นการถ่วงดุล และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับการทำงานของวุฒิสภา ที่มีทั้ง ส.ว.เลือกตั้ง และ ส.ว.สรรหา มาทำงานร่วมกัน ไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย เพราะประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 ก็มาจาก ส.ว.เลือกตั้งทั้งคู่
อีกทั้งตำแหน่งรองประธานวุฒิสภา ต้องดำรงตำแหน่ง ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) ต้องทำหน้าที่ประสานงานกับทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ต้องมีความเป็นกลาง ประนีประนอม และพยายามที่จะแก้ปัญหาให้ทุกฝ่าย
ที่ผ่านมา "สุรชัย" ก็ได้แสดงบทบาท "กมธ.ทรัพยากรธรรมชาติฯ" ที่ประสานได้กับทุกฝ่าย
บวกกับจุดแข็งในความแม่นยำเรื่องข้อกฎหมาย ระเบียบบังคับ จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เพื่อนๆ ส.ว. ไว้วางใจเทคะแนนสนับสนุน
หากดูผลการเลือกตั้งประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภาที่ผ่านมา ที่มีการส่งสัญญาณจาก ส.ว. บางอย่าง ที่หลายฝ่ายคงต้องมีการประเมินทิศทางของ ส.ว. กันใหม่
โดยเฉพาะเรื่องร้อนๆ อย่างการพิจาณาถอดถอน "สุเทพ เทือกสุบรรณ" ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองนายกรัฐมนตรี ตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอ ส่งสำนวนการสอบสวนกรณีการแทรกแซงข้าราชการประจำมาให้วุฒิสภาพิจารณา ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 27 สิงหาคม เป็นวันแรกของกระบวนการพิจารณาถอดถอนตามรัฐธรรมนูญที่มีกำหนดเวลาไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับรายงานจาก ป.ป.ช.
และคาดว่าจะสามารถลงมติชี้ชะตาสถานะ "ส.ส." ของ "สุเทพ" ว่าจะอยู่หรือไปได้ภายในเดือนกันยายนนี้ โดยต้องใช้มติ 3 ใน 5 ของเสียงสมาชิกทั้งหมด 146 คน ซึ่งประมาณ 90 เสียง เป็นตัวตัดสิน
แม้การทำหน้าที่ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของ ส.ว. ตลอด 3 ครั้งที่ผ่านมา คือ
1. นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ในกรณีสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551
2. นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในกรณีออกแถลงการณ์ร่วมการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหาร
และ 3.นายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. ในกรณีมีพฤติกรรมขัดต่อกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 11(3) เนื่องจากการทำหน้าที่ขาดความเที่ยงธรรม ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ทำให้เสื่อมเสียต่อตำแหน่งหน้าที่ จะถูกมองว่าเป็นแค่เสือกระดาษ ไม่สามารถถอดถอนได้ เนื่องจากเสียงในการถอดถอนไม่ถึง 3 ใน 5
ทั้ง 3 กรณีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ ส.ว. จะไม่สามารถถอดถอนได้นั้น ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเป็นข้อกล่าวหาที่พัวพันกับเรื่องการเมือง
แต่ในกรณีของ "สุเทพ" นั้น คงต้องว่าไปตามหลักฐานและข้อเท็จจริง ประกอบกับดุลพินิจการพิจารณาของสมาชิกวุฒิสภาแต่ละคนว่าจะมีมติไปในทิศทางใด
หากจะสะท้อนจากผลการเลือกตั้งประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งสะท้อนว่าฝ่ายการเมืองไม่สามารถครอบงำได้เบ็ดเสร็จ
ย่อมเป็นเรื่องที่น่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง ว่าผลการถอดถอน "สุเทพ" จะออกมาในรูปแบบใด...
+++
ศึกแดงเดือด-คดี 98 ศพ ภาคต่อ เขย่าโผ ขย่มกองทัพ กระชับพื้นที่ เก้าอี้ ผบ.ทบ. จับตาบทบู๊"บิ๊กตู่" และเรื่องเล่าลือที่กลาโหม
รายงานพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1671 หน้า 14
มีการตั้งข้อสังเกตกันในกองทัพบกและทหารสายอำมาตย์ว่า การปลุกกระแสคดี 98 ศพคนเสื้อแดงในช่วงนี้ จากการเปิดข้อมูลต่างๆ ของดีเอสไออย่างต่อเนื่องนั้น ไม่ใช่ความบังเอิญ
หากแต่เป็นไปอย่างมี "แผน"
ด้วยเพราะเป็นช่วงการจัดทำบัญชีรายชื่อแต่งตั้งโยกย้ายทหาร ที่กำลังจะส่งถึงมือ บิ๊กโอ๋ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ที่ยืดเวลาให้ตั้งแต่ 15-21 สิงหาคม ซึ่งในส่วนของเหล่าทัพอื่นๆ ไม่มีปัญหาเท่าใดนัก แต่ของ ทบ. นั้น บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ต้องหนักใจ และกลุ้มใจ จึงอาจส่งโผช้ากว่าคนอื่น
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเสียงเม้าธ์ถึงความอ่อนระโหยโรยแรงของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ดูแล้วคงไม่ค่อยได้นอน อาจเพราะจัดโผทหาร หรือต้องอ่านเอกสาร อ่านหนังสือมาก หรืออาจเพราะมีเรื่องให้คิดมาก ทั้งเรื่องไฟใต้ การเมือง โดยเฉพาะเรื่องคดีเสื้อแดง
ประกอบกับความเป็นนายทหารจุดเดือดต่ำ และอารมณ์เสียเป็นปกติ พอมีข่าวเรื่องคดีเสื้อแดงทีไร พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่อาจควบคุมตัวเองได้
อย่าลืมว่า ถึงขั้นที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี จะต้องให้ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ขอโทษ พล.อ.ประยุทธ์ และรับปาก พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะพูดกับ พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองดีเอสไอ ที่มักให้ข่าวสื่อในเรื่องสำนวนการสอบสวนและการให้ปากคำเสมอๆ "ให้หยุดพูด อะไรควรพูด หรือไม่ควรพูด อย่าพูดเรื่อยเปื่อย"
ท่ามกลางข่าวสะพัดว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้พูดคุยเรื่องนี้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี โดยตรงก่อนที่จะนำมาซึ่งคำขอโทษ
และถึงขั้นที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องสั่งให้ เสธ.ไก่อู พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ทบ. ที่ร้างเวทีในการแถลงข่าว โดยเฉพาะเรื่องคดีเสื้อแดงมานานตั้งแต่เป็นรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ต้องกลับคืนสู่วงการ ในฐานะอดีตโฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) มาแถลงชี้แจงและตอบโต้ พร้อมกระตุ้นจรรยาบรรณดีเอสไอ ที่ถือเป็นส่วนหนึ่งใน ศอฉ. โดยเฉพาะนายธาริต เอง
พร้อมทั้งคำสั่งให้เตรียมชี้แจง ตอบโต้ ทุกครั้ง หากดีเอสไอยังไม่ยอมหยุด รวมทั้งการให้ฟ้องร้อง นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะเริ่มรู้สึกแปลกๆ กับกลเกมทางการเมือง ผ่านคดี 98 ศพคนเสื้อแดง ที่เดิมดูเหมือนจะไม่มีอะไรในกอไผ่
ด้วยเพราะก่อนหน้านี้ ข่าวที่สะพัดในหมู่ทหารที่ไปร่วมปฏิบัติการปราบเสื้อแดง ว่า "ผู้ใหญ่ในกองทัพ ได้เคลียร์กับรัฐบาลพรรคเพื่อไทยแล้ว"
ประมาณว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ภายใต้การนำของนายกฯ ปู น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะไม่เช็กบิลหรือเอาผิดทหาร ในกรณี 98 ศพคนเสื้อแดง ที่แยกราชประสงค์ เมื่อพฤษภาคม 2553
"เขาจะเล่นงานอภิสิทธิ์ กับสุเทพ เท่านั้น" เสียงบอกเล่าต่อๆ กันมา
เนื่องจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศอฉ. ในเวลานั้น ที่เป็นคนสั่งการและออกคำสั่งให้ทหารออกมาปฏิบัติการ ด้วยกระสุนจริง เพราะมีทั้งเอกสารและคำสั่งต่างๆ ชัดเจน เพราะทหารเป็นแค่ผู้ปฏิบัติตามคำสั่งและทำตามกฎหมายเท่านั้น
นั่นคือสิ่งที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ และทหารที่มีส่วนเกี่ยวข้อง พอหายใจโล่งอก จากที่กังวลหนักว่า รัฐบาลเพื่อไทยขึ้นมาจะตามเอาผิดทหาร
แต่ก็กังวลมาตลอดว่า กลุ่ม นปช. แกนนำเสื้อแดง อาจคิดไม่เหมือนรัฐบาลพรรคเพื่อไทยและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในการเดินหน้าเอาผิดนายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ รวมทั้งทหารเอง ที่อาจหมายรวมถึงเก้าอี้ ผบ.ทบ. ของ พล.อ.ประยุทธ์ ด้วย
อย่าลืมว่า ในช่วงที่พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง และจัดตั้งรัฐบาลนั้น เกิดกระแสสะพัดเรื่องการล้างบางกองทัพ และเอาผิดคดี 98 ศพเสื้อแดง โดยต้องการจะเด้งนายทหารระดับ ผบ.หน่วยที่ปฏิบัติการ ไล่ไปจนถึง ผบ.ทบ.
แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นแค่ รอง ผบ.ทบ. ในเวลานั้น แต่ข่าวในห้วงนั้น กลับระบุถึงบทบาทที่สำคัญของเขา และ บิ๊กหนุ่ย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รอง ผบ.ทบ. เพื่อนรัก ตท.12 รอง เสธ.ทบ. แต่ทว่า ทั้งคู่ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจต่างๆ ของ บิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ในตอนนั้น
จะเห็นได้ว่าวันนี้ ไม่มีแกนนำเสื้อแดง เอ่ยอ้างหรือพาดพิงถึง พล.อ.อนุพงษ์ เลยในวันนี้ แต่เป้ากลับมาอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ที่นั่งเก้าอี้ ผบ.ทบ. และพยายามปลุกกระแสที่จะให้เขาแสดงสปิริต รับผิดชอบเพียงผู้เดียว แทนลูกน้องทั้งหมด
แต่แล้วคำพูดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่เหมือนกันว่า "ไม่แก้แค้น แต่จะแก้ไข" รวมทั้งการตั้ง บิ๊กอ๊อด พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา มาเป็น รมว.กลาโหม ก็เป็นการประนีประนอม จึงทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ตายใจ
ยิ่งเมื่อท่าทีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่มีต่อกองทัพ ต่อ ผบ.เหล่าทัพ และโดยเฉพาะต่อตัว พล.อ.ประยุทธ์ เองที่ให้ความเคารพ สนิทสนมใกล้ชิด เรียกหา และสอบถามความเห็นตลอด จนทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กลายเป็นคู่พระคู่นาง ก็ยิ่งทำให้ความหวาดหวั่นที่ว่า รัฐบาลจะเล่นงานทหารเรื่องคดีปราบเสื้อแดง ก็หมดไป
ยังคงมีคำพูดของแกนนำรัฐและทหารแตงโม ที่ว่า "จะเล่นงานอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ แค่ 2 คนเท่านั้น" ย้ำอีกครั้ง
อีกทั้งในที่สุด หากมีการตัดสินว่าทหารทำผิด ทำรุนแรงเกินกว่าเหตุ ก็ตาม แต่ก็ถือว่าทำตามกฎหมายและคำสั่งของรัฐบาล ของ ศอฉ. แต่ก็จะนำไปสู่การบีบให้พรรคประชาธิปัตย์ และกองทัพ ยอมรับการนิรโทษกรรม หรือ พ.ร.บ.ปรองดอง ให้ทุกฝ่าย ทั้งนายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ กองทัพ และ พ.ต.ท.ทักษิณ
แต่มาในช่วงเดือนสิงหาคม 2555 นี้ ฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ เริ่มไม่แน่ใจ และเกรงว่าจะถูกหลอก เนื่องจากมีการปล่อยข่าวในหมู่ทหารที่ร่วมปฏิบัติการว่า ให้ยอมรับสารภาพว่า ยิงคนเสื้อแดง ยิงประชาชน แต่ก็ถือว่าปฏิบัติตามคำสั่ง ศอฉ. เพื่อที่จะช่วยมัดตัวนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ แต่ที่สุดนำมามัดตัวทหาร แล้วโยงไปมัดตัว พล.อ.ประยุทธ์ อีกด้วย
เพื่อที่จะกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ แสดงสปิริต หรือเป็นเหตุให้ต้องถูกเด้งจากเก้าอี้ ผบ.ทบ.
ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ มักจะพูดต่อหน้าลูกน้องในที่ประชุมเสมอว่า "ผมยังเป็น ผบ.ทบ. ต่ออีก 2 ปี ถ้าเขาไม่ย้ายผมเสียก่อน"
แต่มาเวลานี้ บางอย่างทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ค่อยมั่นใจนัก...
ประการแรก เพราะมีทหารลูกน้อง รายงานว่า ถูกเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยงาน บุกไปถึงตัวถึงบ้าน เพื่อเจรจาให้ยอมรับสารภาพ โดยยืนยันว่า จะไม่ลงโทษทหาร ทหารจะพ้นผิด โดยมีข้อเสนอแลกเปลี่ยนจูงใจ
แต่เพราะทหารเหล่านี้หลายคนห่วงว่า แผนการนี้ มีเป้าหมายที่การย้าย พล.อ.ประยุทธ์ พ้น ผบ.ทบ. จึงยังไม่มีใครยอมรับสารภาพ ยกเว้นก่อนหน้านี้ที่มีพลทหารปลดประจำการแล้ว 3 นาย ยอมสารภาพ
อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ เองก็สั่งการให้นายทหารพระธรรมนูญคอยไปช่วยเหลือนายสุเทพ ในการต่อสู้คดีด้วย ทั้งการอำนวยความสะดวกในเรื่องเอกสารหลักฐาน ข้อมูลต่างๆ และให้นายทหารพระธรรมนูญไปนั่งฟังการสอบสวนด้วยตลอด
"ใครที่ทำดีกับเรา เราก็ต้องดูแลเขา" คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์
แล้วก็ต้องไม่ลืมว่า บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีต รมว.กลาโหม และ พล.อ.อนุพงษ์ ก็เป็นพี่เลิฟของ พล.อ.ประยุทธ์ นั้นได้ "ผูกขั้ว" เป็นสายอำนาจเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ไปแล้ว ตั้งแต่ช่วยตั้งรัฐบาลพรรค ปชป. ในค่ายทหาร และต่อสู้กับคนเสื้อแดงมาด้วยตลอด จนทุกวันนี้ ก็ยังคงคบหาสนิทสนมกันอยู่
ที่น่าสังเกตคือ ท่าทีของ พล.อ.อ.สุกำพล รมว.กลาโหม ที่แม้จะออกมาช่วยปรามดีเอสไอในเรื่องการให้ข่าว แต่ก็หลุดออกมาว่า "แต่ในเรื่องคดีก็ต้องดำเนินการกันต่อไป" ราวกับรู้ว่า จุดหมายปลายทางคืออะไร
จนทำให้ฝ่าย ทบ. กลัวว่าจะถูกหลอกให้ตายใจ ว่าจะไม่เล่นงาน เอาผิดทหาร และ ผบ.ทบ. แต่จะพุ่งเป้าไปสู่การนิรโทษกรรม เท่านั้น
แต่ที่สุด อาจพุ่งเป้าไปที่ทหารด้วย ทั้งการตั้งข้อหาของเจ้าพนักงานสอบสวนว่า "พยายามฆ่า" และการเดินเกมด้านกฎหมายของ นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม
จึงไม่แปลกที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะอารมณ์เสียหนัก และมักจะพูดย้ำในที่ประชุม เพื่อฝากข้อความไปยังทหารที่ถูกสอบสวนเสมอว่า "ผมจะต้องดูแลลูกน้อง ไม่ต้องห่วง"
ท่ามกลางการจับตามองว่า คดีเสื้อแดงนี้ จะส่งผลให้ความสัมพันธ์ของรัฐบาลกับกองทัพ เริ่มห่างเหินและร้าวฉาน ความหวาดระแวงกันและกันจะกลับมาอีกครั้ง ยิ่งมีการปล่อยข่าวว่า หากมีแนวโน้มว่าการตัดสินคดีจะออกมาให้ทหารมีความผิด ทั้งข้อหาพยายามฆ่า และทำรุนแรงเกินเหตุ เพราะใช้กระสุนจริงและสไนเปอร์ อาจเกิดการปฏิวัติรัฐประหารขึ้น เพราะมันอาจหมายถึง การโยกย้ายล้างบาง ผบ.หน่วยคุมกำลัง ไปจนถึง ผบ.ทบ.
นี่อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเล่นบทบู๊ ทั้งกับสื่อ กับดีเอสไอ หรือแม้แต่ภาพการถือปืน การเล็งยิง ที่ยิ่งทำให้ภาพพจน์ ผบ.ทบ. ดุเอาเรื่อง
แต่อีกสาเหตุที่คดีคนเสื้อแดงงวดขึ้นมา อาจเพราะเป็นช่วงการโยกย้ายทหาร เพราะก่อนหน้านี้ นายก่อแก้ว พิกุลทอง แกนนำเสื้อแดง ก็เคยออกมาสะกิดกองทัพไม่ให้แต่งตั้งนายทหารที่เกี่ยวข้องกับการปราบเสื้อแดงลงตำแหน่งสำคัญ
เพราะได้ทำให้ พล.อ.ดาว์พงษ์ มีความหวังน้อยลงที่จะข้ามไปเป็น ปลัดกลาโหม ในปีสุดท้ายก่อนเกษียณในปีหน้า แต่จะอยู่เป็น รอง ผบ.ทบ. ต่อไป เพราะเขาก็มีชื่อในแบล๊กลิสต์ของคนเสื้อแดง ในฐานะผู้วางแผนกระชับพื้นที่
แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะประกาศไม่เอาเรื่องคนเสื้อแดงมากดดันในการจัดโผทหาร ด้วยการระบุว่า "จะไม่ยอมให้พวกนอกกฎหมายมากดดัน" ก็ตาม
แต่กรณี บิ๊กอู๊ด พล.ต.วลิต โรจนภักดี รองแม่ทัพภาคที่ 1 อดีต ผบ.พล.ร.2 รอ. พลาดเก้าอี้แม่ทัพภาคที่ 1 นั้น ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า อาจมีเรื่องเสื้อแดงเกี่ยวข้อง แม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นเรื่อง "ภายใน" ของ ทบ. เอง และเกมแห่งอำนาจและขั้วก็ตาม
แต่ก็เพราะ พล.ต.วลิต มีชื่ออยู่ในแบล๊กลิสต์ของคนเสื้อแดง ในฐานะที่นำทหารปราบม็อบแดงตั้งแต่สงกรานต์เลือดปี 2552 จนมาถึงสี่แยกคอกวัว และถนนดินสอ เมื่อ 10 เมษายน 2553
จึงทำให้ชื่อของ บิ๊กต๊อก พล.ต.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รองแม่ทัพภาคที่ 1 เพื่อน ตท.15 ด้วยกัน ถูกเสนอเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ด้วยการหนุนเนื่องของ พล.อ.ดาว์พงษ์ และยังเป็นการให้โอกาสแก่ วงศ์เทวัญ ในการคุมทัพ 1 บ้าง จากที่บูรพาพยัคฆ์ยึดเก้าอี้นี้มานาน
เรื่องร้อนๆ มักจะประดังและอุบัติขึ้นในกองทัพ ในช่วงการจัดโผทหารเสมอ เพราะยังมีเรื่องเม้าธ์กันสนั่นกระทรวงปืนใหญ่ว่าโผทหารยังไม่ลงตัว เพราะติดที่ตำแหน่งปลัดกลาโหม ที่เกิดการงัดข้อกันระหว่าง พล.อ.อ.สุกำพล กับ พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ปลัดกลาโหม เมื่อต่างฝ่ายต่างอ้างอำนาจในการตั้งปลัดกลาโหม
แม้ว่าจะเป็นทหารแตงโม เป็นขั้วรัฐบาล เหมือนกัน แต่เรื่องอำนาจ ไม่เข้าใครออกใคร เพราะมีข่าวว่า พล.อ.เสถียร กาง พ.ร.บ.กลาโหม ปี 2551 พร้อมสู้ เพราะต้องให้คนที่ครองอัตราจอมพล ขึ้นเป็นปลัดกลาโหม ไม่ใช่แค่พลเอก ยกเว้นกรณีที่ไม่มีแคนดิเดตเป็นอัตราจอมพล
หลังจากที่ พล.อ.อ.สุกำพล ให้ พล.อ.เสถียร เอารายชื่อไปจัดลงตำแหน่งในสำนักปลัดกลาโหม ให้ และระบุให้ บิ๊กเล็ก พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน ผช.ผบ.ทบ. เป็นปลัดกลาโหม โดยอ้างว่า ทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อนุมัติแล้ว ก็มีฉากดุเดือด
"เดี๋ยวพี่จัดการเอง ให้ไปทำขึ้นมาแล้วกัน" เสียงสั่งของบิ๊กโอ๋ ที่ดูจะทำให้ พล.อ.เสถียร ไม่ค่อยแฮปปี้
"ผมจะทำเสนอขึ้นไปของผมเองแล้วกัน" พล.อ.เสถียร พูดนิ่มๆ อันเป็นการส่งสัญญาณปฏิเสธใบสั่ง
"ถ้าไม่เสนอมาตามนี้ พี่ก็จะเปลี่ยนเอง" บิ๊กโอ๋ เปรย
"ถ้าพี่เปลี่ยน ผมจะฟ้อง" พล.อ.เสถียร สวน
เพราะในเวลานี้ บิ๊กกี๋ พล.อ.ชาตรี ทัตติ รองปลัดกลาโหม ก็สู้โดยอ้างความชอบธรรม ทั้งเป็นรองปลัดกลาโหมคนเดียวที่เหลืออยู่ และครองอัตราจอมพลแล้ว ต่อให้เป็น ตท.14 และเกษียณ 2558 ก็ไม่มีผล เพราะปลัดกลาโหม ไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาของ ผบ.สส. และ ผบ.เหล่าทัพ แต่ในระยะหลังมีการให้เกียรติกัน ให้ยืนหัวแถว
อีกทั้งตาม พ.ร.บ.กลาโหม ปี 2551 ระบุให้พิจารณาจากนายทหารที่ครองอัตราจอมพล ก่อน หากไม่มี จึงพิจารณายศพลเอก ซึ่งแม้ในอดีต จะเคยมีนายทหารหลายคนที่ขึ้นจากพลเอก มาเป็นปลัดกลาโหมเลยก็ตาม แต่ในเวลานั้น ยังไม่มี พ.ร.บ.กลาโหม
ข่าวลือนี้สะพัดไปทั่ว เพราะยังอาจมีส่วนจากการที่ พล.อ.เสถียร ก็เป็นหนึ่งในแคนดิเดต รมว.กลาโหม ในอนาคต หาก พล.อ.อ.สุกำพล หลุดเก้าอี้
แถมข่าวลือนี้ อาจเป็นช่องโหว่ที่ทำให้ บิ๊กเจี๊ยบ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. และ พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมส่งเพื่อน ตท.12 ที่ครองอัตราจอมพลอยู่พร้อมเสียบ ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ดาว์พงษ์ หรือ บิ๊กตี๋ พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร เสธ.ทหาร บิ๊กโอ๋ พล.อ.ยุทธนา ฟักผลงาม รอง ผบ.สส.
"ไม่มี ไม่จริง ไม่ได้ขัดแย้งอะไร ข่าวลือ ผมเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาท่าน จะไปขัดแย้งกับท่านได้ยังไง" พล.อ.เสถียร กล่าว
ว่ากันว่า ตัวเลือกของ พล.อ.เสถียร คือ พล.อ.ชาตรี ตท.14 เพื่อรักษาหลักการและความชอบธรรม แต่หากไม่สำเร็จก็จะดัน บิ๊กหนู พล.อ.อ.บุญยะฤทธิ์ เกิดสุข รอง ผบ.สส. เพื่อน ตท.11 ของเขาอีกคน ที่มีอายุราชการถึงปี 2557 แม้ว่าท้ายที่สุดแล้ว พล.อ.อ.สุกำพล อาจเลือก พล.อ.ทนงศักดิ์ เพื่อน ตท.11 ของ พล.อ.เสถียร เองด้วยเช่นกัน เป็นปลัดกลาโหม ก็ตาม
"ไม่ได้ขัดแย้งอะไร ผมแค่ต้องการให้ยึดกติกา ก็เสนอมา แล้วก็เข้าคณะกรรมการพิจารณา ช่วยกันเลือก ด้วยเหตุผลต่างๆ ให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย" พล.อ.อ.สุกำพล กล่าว
"ผมกับ ผบ.เหล่าทัพ ก็อยู่ด้วยกันอย่างพี่น้อง ผมรับฟังความเห็นของทุกคน ไม่ใช่ประเภททุบโต๊ะ ยกเว้นในบางเรื่องก็อาจต้องเข้มกันบ้าง แต่ไม่มีปัญหา ไม่ได้ขัดแย้งเลย" บิ๊กโอ๋ แจง
เพราะเมื่อ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา พล.อ.เสถียร ก็ยังนำ ผบ.สส. และ ผบ.เหล่าทัพ ตบเท้าสรรเสริญอวยพรวันเกิด พล.อ.อ.สุกำพล ด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส ชื่นมื่นทั้งกับ ผบ.เหล่าทัพ โดยเฉพาะกับ บิ๊กหรุ่น พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผบ.ทร. ที่เกิดวันเดียวกัน
จึงดูเสมือน ท้องทะเลในเวลานี้ จะราบเรียบสงบไร้คลื่นลม แต่มันอาจเป็นแค่ภาพลวงตา เพราะคลื่นใต้น้ำกำลังก่อตัวอยู่เบื้องล่าง และมองไปไกลที่สุดขอบฟ้า เมฆดำครึ้ม พายุทะมึนก็กำลังก่อตัว รอเวลาที่จะบุกโถมถล่ม ต่างหากเล่า
+++
เจาะโผ "รอง ผบช.-ผบก." นครบาล "สายบิ๊กแจ๊ด-เด็กเพื่อไทย" พรึบ "ประยนต์" ข้ามห้วยคุม "ผบก.สส."
คอลัมน์ โล่เงิน ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1671 หน้า 99
พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กำหนดแนวทางแต่งตั้งระดับรองผู้บัญชาการ (รอง ผบช.) ถึงผู้บังคับการ (ผบก.) วาระประจำปี 2555 ให้ทุกหน่วยจัดทำบัญชีผู้เหมาะสมเสนอสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) โดยหน่วยขึ้นตรงสำนักงาน ผบ.ตร. ให้ส่งบัญชีในวันที่ 22 สิงหาคม ส่วนกองบัญชาการอื่นให้ส่งบัญชีวันที่ 24 สิงหาคม จากนั้นจึงประชุมกลั่นกรองและประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ในวันที่ 29 สิงหาคม
โฟกัส ในส่วนกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) กำกับดูแลเมืองหลวง ทำเลที่เหล่านายพลต่างหมายปอง ครั้งนี้ มี "บิ๊กแจ๊ด" พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) คุมทัพจัดโผ "นายพลเล็ก"
ไล่ตำแหน่ง รอง ผบช.น. ว่าง 2 เก้าอี้ จากที่ พล.ต.ต.นเรศ นันทโชติ รอง ผบช.น. "สายนายกฯ ปู" ที่แต่งตัวรอขึ้นเป็น ผบช.ภ.1 และ พล.ต.ต.พิสิฏฐ์ พิสุทธิ์ศักดิ์ รอง ผบช.น. ได้แรงส่งสายการเมืองเป็น ผบช.ภ.9
ส่วน รอง ผบช.น. ที่อาจถูกโยกสลับ มี 3 คน คือ พล.ต.ต.อนันต์ ศรีหิรัญ รอง ผบช.น. ลูกหม้อนครบาล ข่าวล่าสุดอาจถูกปรับออกนอกหน่วยเป็น รอง ผบช.ภ.3 ว่ากันว่าเพราะงานไม่เข้าตา-ไม่เข้าขา อย่างไรก็ตาม เจ้าของเก้าอี้ยังสู้ยิบตาเพื่อขออยู่ต่อ ผลจะเป็นประการใดคงต้องลุ้นอีกเฮือก
อีกราย พล.ต.ต.สาโรจน์ พรหมเจริญ รอง ผบช.น. เพื่อน นรต.32 ร่วมรุ่น พล.ต.ท.วินัย ทองสอง ผบช.ภ.1 ว่าที่ ผบช.ภ.2 โดย พล.ต.ต.สาโรจน์ เคยเป็นขุนพลข้างกาย พล.ต.ท.วินัย สมัยเป็น "น.1" มาคราวนี้เพื่อนสนิทคนค้ำมีชื่อไป ผบช.ภ.2 ทำให้ พล.ต.ต.สาโรจน์ อาจต้อง "จำใจจาก" วังปารุสกวัน ไปนั่งตบยุงเป็น รอง ผบช.สำนักงานยุทธศาสตร์ (รอง ผบช.สยศ.ตร.)
รายสุดท้าย พล.ต.ต.เมธี กุศลสร้าง รอง ผบช.น. มีการเจรจาขอโยกสลับเป็น รอง ผบช.ก.
ส่วนกลุ่ม รอง ผบช.น. ที่ได้รับสิทธิ "อยู่ต่อ" มี พล.ต.ต.สุเมธ เรืองสวัสดิ์ พล.ต.ต.วรศักดิ์ นพสิทธิพร พล.ต.ต.วรัญวัส การุณยธัช พล.ต.ต.ปริญญา จันทร์สุริยา พล.ต.ต.อนุชัย เล็กบำรุง พล.ต.ต.มานิต วงศ์สมบูรณ์ และ พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์
โดย พล.ต.ต.สุเมธ แม้ถูกมองว่าห่างเหินไปนาน แต่เคยมี "เยื่อใย" กับนายใหญ่ สมัยเป็น ผบก.น.7 และเหลืออีก 1 ปีจะเกษียณ ประกอบกับปัญหาสุขภาพจึงได้รับการสนับสนุนให้อยู่ต่อ
ด้าน "รองกึก" พล.ต.ต.วรศักดิ์ กำกับดูแลงานจราจร แม้แรกเริ่มที่ "บิ๊กแจ๊ด" มานั่งเก้าอี้ "น.1" จะพูดถึง "งานจราจร" แรง แต่ดีกรี นรต.29 ของ "รองกึก" เพื่อน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ว่าที่ ผบ.ตร. จึงค้ำอยู่ต่อได้ แต่ก็มีการปรับการทำงานจราจรพอสมควร โดยเฉพาะสั่งงดตั้งด่านตอนกลางวัน
มาถึง พล.ต.ต.วรัญวัส แม้จะเป็น "เด็กป๋า" แต่มีแบ๊กดี ญาติเป็นคนทำบัญชี งวดนี้เลยอยู่ไหว ส่วน พล.ต.ต.ปริญญา คนนี้อยู่ได้ชัวร์ เพราะ "ผบช.น." ดึงมาช่วยงาน ขณะที่ พล.ต.ต.อนุชัย นรต.28 มือสอบสวนฝีมือดี กุมคดีสำคัญของนครบาล โดยเฉพาะคดีชันสูตรพลิกศพการเสียชีวิตของคนเสื้อแดง ที่สั่งรื้อทำใหม่ หลังเปลี่ยนขั้วรัฐบาลจาก "ประชาธิปัตย์" เป็น "เพื่อไทย"
ขณะที่ พล.ต.ต.มานิต นรต.27 รุ่นใหญ่จะเกษียณปีหน้า ได้โบนัสหลังหลุดวงโคจรต้องออกจากราชการไปพักใหญ่เพราะพิษการเมือง ขณะดูแล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สมัยเป็น รอง ผบก.น.6 รายสุดท้าย พล.ต.ต.อดุลย์ ดีกรี "ด๊อกเตอร์" นรต.34 นักวิชาการฝีมือดีอยู่เบื้องหลังโครงการสำคัญของ บช.น. หลายเรื่อง ว่ากันว่าสาย "ยย."
ส่วน รอง ผบช. 5 คน ที่เข้ามาเสียบแทน ประกอบด้วย พล.ต.ต.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ รอง ผบช.ก. (นรต.34) นายตำรวจคนดัง พล.ต.ต.อิทธิพล พิริยะภิญโญ รอง ผบช.สยศ.ตร. (นรต.36) นักสืบฝีมือดี คัมแบ๊กถิ่นเก่า ทั้งคู่ล้วนมีสายสัมพันธ์อันดีกับ "บิ๊กแจ๊ด"
พล.ต.ต.สำเริง สุวรรณพงษ์ ผบก.น.2 (นรต.31) อาวุโสอันดับ 1 บช.น. ขึ้นเป็น รอง ผบช.น. พล.ต.ต.อุทัยวรรณ แก้วสอาด ผบก.จร. (นรต.29) เพื่อน พล.ต.อ.อดุลย์ ว่าที่ ผบ.ตร. ขึ้น รอง ผบช.น.
อีกราย พล.ต.ต.ฉันทวิทย์ รามสูต ผบก.ภ.จว.นครสวรรค์ (นรต.31) ได้ดีเป็น รอง ผบช.น. คนนี้สาย "ผบช.น." เช่นกัน
ด้านตำแหน่งผู้บังคับการ (ผบก.) โยกย้ายหลายตำแหน่ง คาดว่า พล.ต.ต.พชร บุญญสิทธิ์ ผบก.น.1 อาจออกนอกหน่วยไปเป็น ผบก.ภ.จว.พิษณุโลก มี พ.ต.อ.วิชาญญ์วัชร์ บริรักษ์กุล รอง ผบก.น.1 (นรต.34) ลูกหม้อ บก.น.1 แคนดิเดตครั้งก่อน ครั้งนี้บวกแรงหนุนจาก "ยย." สมใจได้เป็น ผบก.น.1 ด้าน พล.ต.ต.สุธีร์ เนรกัญฐี ผบก.น.3 ใช้ตั๋วสาย "นักธุรกิจ" โยกเป็น ผบก.น.2 แทน พล.ต.ต.สำเริง ที่ได้ขึ้น รอง ผบช.น.
พล.ต.ต.ขจรศักดิ์ ปานสาคร ผบก.น.7 อดีตหัวหน้าสำนักงาน พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัต รอง ผบ.ตร. เคยถูก "บิ๊กแจ๊ด" ตำหนิเรื่องยอดจับกุมอาวุธปืน แต่ต่อมามีการชี้แจงทำความเข้าใจว่ารายงานตัวเลขผิด ย้ายมาเป็น ผบก.น.3 พล.ต.ต.นัยวัฒน์ ผะเดิมชิต ผบก.สส.บช.ภ.5 (นรต.40) สายตรง "บิ๊กย้อย" พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา ที่ปรึกษา (สบ 10) ได้ดีเข้ากรุงเป็น ผบก.น.4 พล.ต.ต.กฤษฏิ์ เปียแก้ว ผบก.น.5 (นรต.31) สาย พล.ต.อ.ชลอ ชูวงษ์ อดีต รอง ผบ.ตร. ยังเหนียวอยู่ที่เดิม พล.ต.ต.วัลลภ ประทุมเมือง ผบก.น.6 (นรต.32) มือทำสำนวนชันสูตรศพเสื้อแดง ได้รับความไว้วางใจอยู่ที่เดิม
พล.ต.ต.ชาญ วิมลศรี ผบก.น.4 (นรต.34) สาย "ยย." โยกมาเป็น ผบก.น.7 พล.ต.ต.ประหยัชว์ บุญศรี ผบก.น.8 (นรต.35) สายตรง "บิ๊กอ๊อบ" ขยับขึ้นเป็น รอง ผบช. ใน ตร. แต่ยังมีลุ้นได้ขึ้น รอง ผบช. พล.ต.ต.รัษฎากร ยิ่งยง ผบก.น.9 (นรต.32) สาย "รองเฉลิม" ขยับเป็น ผบก.น.8
ขณะที่ พ.ต.อ.ชยุต รัตนอุบล รอง ผบก.น.9 ได้ติดยศนายพลเป็น ผบก.น.9 ตามโควต้า รอง ผบก. อาวุโส "อันดับ 1" ใน บช.น. ประกอบกับเป็นเพื่อนร่วมรุ่น พล.ต.ต.รัษฎากร ด้วย
ส่วนเก้าอี้ ผบก.สส.บช.น. งวดนี้ พล.ต.ต.ประยนต์ ลาเสือ ผบก.สส.ภ.3 (นรต.31) คนสนิท "บิ๊กแจ๊ด" สายตรง "รองเฉลิม" มาแรง คุมงานสืบสวน ขณะที่เจ้าของเก้าอี้คนเดิม พล.ต.ต.รณศิลป์ ภู่สาระ (นรต.36) แม้ผลงานดี แต่โดนเบียดไป ผบก.สส.สตม. กระนั้นก็จัดว่าไม่ขี้เหร่
ส่วน พล.ต.ต.ปรีชา ธิมามนตรี ผบก.สส.สตม. (นรต.30) นักสืบคนดัง ขยับขึ้นเป็น รอง ผบช.สตม. พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย เลขานุการตำรวจแห่งชาติ (ลข.ตร.) นรต.38 สาย "คุณหญิงหน่อย" กลับนครบาลคุมหัวปิงปอง เป็น ผบก.จร. พ.ต.อ.ลือชัย สุดยอด รอง ผบก.น.4 (นรต.33) ได้ติดยศนายพลในเก้าอี้เหมาะสม เรียกว่าวางคนถูกกับงาน เป็น "ผบก.อคฝ."
ขณะที่ พล.ต.ต.สมพงษ์ ชิงดวง ผบก.อคฝ. (นรต.40) งวดนี้ขึ้นเหนือข้ามห้วย เป็น ผบก.ภ.จว.พะเยา พ.ต.อ.สุรนิตย์ พรหมบุตร รอง ผบก.น.9 อาวุโสอันดับ 26 ใน บช.น. สาย "นายหญิง" ติดยศนายพลเป็น ผบก.ยุทธศาสตร์ บช.น. ส่งเจ้าของเก้าอี้เดิม พล.ต.ต.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา (นรต.38) เป็น ผบก.อก.ภ.1 ส่วน พล.ต.ต.ชัยวัฒน์ ฉันทวรลักษณ์ ผบก.สปพ. (นรต.38) สาย "นายกฯ หญิง" และ พล.ต.ต.สมชาย มุสิกเจริญ ผบก.อก.บช.น. (นรต.28) รุ่นใหญ่ยังเหนียว
ท้ายที่สุด รายชื่อเหล่านี้จะถูกส่งไป ตร. เพื่อกลั่นกรองร่อนตะแกรงอีกครั้ง ก่อนชงเข้า ก.ตร. ทำคลอดไม่เกินสิ้นเดือนสิงหาคมนี้
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย