http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-08-07

HAPPY BIRTHDAY ASEAN: 8 สิงหาคม โดย ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์

.

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์: HAPPY BIRTHDAY ASEAN: 8 สิงหาคม
ใน www.prachatai.com/journal/2012/08/41928 . . Tue, 2012-08-07 13:03


พรุ่งนี้ วันที่ 8 สิงหาคม เป็นวันเกิดอาเซียน อาเซียนก่อตั้งขึ้นในปี 2510 (1967) ในช่วงสงครามเย็น โดยมีจุดมุ่งหมายหลักๆ เพื่อต่อต้านการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคนี้ หลังจากสงครามเย็นสิ้นสุดลง อาเซียนก็หันมาพัฒนาความเข้มแข็งทางองค์กรมากขึ้น และเริ่มกระบวนการการรวมตัวทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน ได้เริ่มสร้างปฏิสัมพันธ์กับประเทศนอกภูมิภาคอย่างจริงจัง

และหากมองย้อนหลังในช่วงที่ผ่านมา อาเซียนได้มีความพยายามอย่างเต็มที่ในการฉายภาพลักษณ์ของการเป็นองค์การแห่งภูมิภาคที่มีความแน่วแน่ที่จะทำให้การรวมตัวของประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศนั้น ประสบความสำเร็จด้วยดี ไม่ว่าจะเริ่มจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญอาเซียน (ASEAN Charter) ในปี 2550 และการกำหนดการสร้างชุมชนอาเซียนทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม-วัฒนธรรมในปี 2558 (2015) ที่จะถึงนี้


อย่างไรก็ตาม พัฒนาการของอาเซียนไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด อาเซียนยังประสบปัญหาอีกมาก โดยเฉพาะในเรื่องของการสร้างฉันทามติในกลุ่มสมาชิก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่กรุงพนมเปญเมื่อเดือนที่แล้ว อาเซียนไม่สามารถออกแถลงการณ์การประชุมได้ เนื่องจากความไม่สามารถในการแก้ไขปัญหาในทะเลจีนใต้ที่ประเทศสมาชิกอาเซียน 4 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไน อ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะร่วมกับจีน

สิ่งท้าทายประการหนึ่งจึงอยู่ที่ความสามารถของอาเซียนในการกำหนดท่าทีและนโยบายที่มีต่อจีนร่วมกัน แต่ดังที่ปรากฏ แต่ละประเทศก็มีนโยบายและมุมมองที่มีต่อจีนต่างกันไป การมีจุดยืนที่ต่างกันนี้เป็นโอกาสเหมาะที่จีนจะเข้ามาสร้างความอ่อนแอให้กับภูมิภาค

หากมองถึงความสัมพันธ์ระหว่างจีนและอาเซียนในวันนี้ มีอยู่มุมมอง 2 มุมมองครับ
ทางหนึ่งเป็นมิตรและอีกทางหนึ่งเป็นภัย
อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุผลทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ อาเซียนจำเป็นต้องร่วมมือกับจีนอย่างใกล้ชิด และในความเป็นจริง อาเซียนและจีนก็มีความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจอย่างแน่นแฟ้น ตัวอย่างเช่น เมื่อรวมเอาประชากรอาเซียนและจีนจะมีมากถึง 1.9 พันล้านคน และเมื่อรวมมวลรวมทางด้านเศรษฐกิจไว้ด้วยกันก็มีมูลค่ามากถึง 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ 
ทางด้านการทหารนั้น ความสัมพันธ์ก็เป็นไปด้วยดี มีการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับสูงมีการฝึกซ้อมรบร่วมกัน มีการสั่งซื้อแลกเปลี่ยนอาวุธยุทโธปกรณ์ระหว่างกัน และต่างเข้าร่วมกรอบความร่วมมือด้านความมั่นคงในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน จีนมีกรอบการหารือทางทหารกับประเทศทั้ง 6 ในอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทยและเวียดนาม รวมถึงมีกับอาเซียน (ในฐานะองค์การระหว่างประเทศ)

นอกจากนี้ จีนยังใช้ soft power กับประเทศในภูมิภาคนี้ ความช่วยเหลือของจีนเป็นสิ่งที่หลายๆ ประเทศต้องการ เนื่องจากมักไม่มีข้อผูกมัดเป็นการแลกเปลี่ยน เช่น ต้องมีการส่งเสริมประชาธิปไตยหรือการปกป้องสิ่งแวดล้อมเป็นการแลกเปลี่ยน นี่เป็นสิ่งที่สะท้อนอุดมการณ์ของจีนเรื่องไม่ก้าวก่ายในกิจการภายในต่อกัน


แต่ขณะเดียวกัน ภาพลักษณ์ของการเป็นภัยของจีนก็ยังมีอยู่ ข้อพิพาทในทะเลจีนใต้เป็นเครื่องย้ำเตือนว่า ความหวาดระแวงที่อาเซียนมีต่อจีนนั้นเป็นเรื่องที่อธิบายได้
ขณะเดียวกัน ภัยที่มาจากจีนไม่ใช่เป็นแค่เรื่องการทหาร แต่ยังเป็นภัยที่มาจากด้านการค้า จีนกลายมาเป็นคู่แข่งสำคัญของหลายๆ ประเทศในอาเซียน แม้ไทยเองจะได้ลงนามในความตกลงจัดตั้งเขตการค้าเสรีกับจีนและการค้าทวิภาคีมีการเติบโตที่ดี แต่ไทยเองก็ขาดดุลการค้าของจีนตลอดมา

ที่ผ่านมา ประเทศในภูมิภาคนี้เลือกที่จะจัดการความสัมพันธ์ที่มีกับจีนโดยผ่านกรอบของอาเซียน โดยต่างใช้อาเซียนเป็นกรอบในการตรวจสอบจีนและในการผลักดันให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นผู้นำในการสร้างภูมิภาคนิยม ขณะเดียวกัน ก็เพื่อลดอิทธิพลของจีน ดังนั้น ประเทศส่วนใหญ่ของอาเซียนจึงส่งเสริมระบบภูมิภาคนิยมแบบเปิด (open regionalism) และได้เชิญให้ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และอินเดีย เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาภูมิภาคนิยมร่วมกับอาเซียน ขณะเดียวกัน ประเทศนอกภูมิภาคเหล่านี้ก็สนใจที่จะเข้ามาร่วมกับอาเซียนเพื่อลดอิทธิพลของจีนเช่นเดียวกัน


อย่างไรก็ดี การสร้างภูมิภาคนิยมแบบเปิดไม่ได้เป็นแนวทางลดอิทธิพลของจีนได้เสมอไป อาเซียนยังไม่สามารถหาข้อสรุปเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายต่อจีน—นโยบายที่ประเทศสมาชิกจะเห็นพ้องร่วมกัน
มุมมองที่แตกต่างนี้เองที่ทำให้จีนมีแต้มต่อเหนืออาเซียน จีนรู้จุดอ่อนของอาเซียนและพยายามใช้ประโยชน์จากจุดอ่อนนี้ ดังที่ปรากฏในกรณีที่จีนพยายามกระชับความสัมพันธ์กับประเทศอาเซียนใหม่—ลาว กัมพูชา และพม่า อาทิ จีนเป็นผู้ให้ความชอบธรรมกับรัฐบาลทหารพม่ามาโดยตลอด และจีนเองก็มีความสัมพันธ์ส่วนตัวที่แนบแน่นกับผู้นำลาวและกัมพูชา และเทเงินเข้าไปร่วมลงทุนในโครงการใหญ่ๆ อาทิ โครงการสร้างเขื่อนในลาวและนิคมอุตสาหกรรมในกัมพูชา


ตราบใดก็ตามที่อาเซียนไม่สามารถมีจุดยืนร่วมกันเกี่ยวกับการกำหนดความสัมพันธ์กับจีน ปัญหาที่คงอยู่ระหว่างกัน โดยเฉพาะในทะเลจีนใต้ คงได้รับการแก้ไขลำบาก

วันเกิดอาเซียนปีนี้น่าจะเป็นโอกาสที่ผู้นำอาเซียนจะมาทบทวนยุทธศาสตร์ที่มีต่อจีนใหม่ครับ


ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์
มหาวิทยาลัยเกียวโต
7 สิงหาคม 2555 




.