http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-08-13

นิธิ: ตลาดออนไลน์ แก้ปัญหากินดิบ 1 %

.

ตลาดออนไลน์ แก้ปัญหากินดิบ 1 %
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมิติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2555 เวลา 10:50:33 น.
( ที่มา คอลัมน์ กระแสทัศน์ ของ นสพ.มติชนรายวัน 13 สิงหาคม 2555 )


สํานักพิมพ์ใหญ่สองแห่ง ซึ่งเป็นสายส่งใหญ่ด้วย ร่วมมือกันขึ้นราคาค่าวางหนังสืออีก 1% จนทำให้สำนักพิมพ์เล็กที่ต้องอาศัยสองแห่งนั้นวางตลาดให้ พากันโวยวายว่าเป็นการเอาเปรียบกันเกินไป
ทันทีที่ผมได้ยินข่าวนี้ ผมนึกถึงอินเตอร์เน็ตในฐานะตลาด ซึ่งผมขอใช้ในความหมายรูปธรรมว่าที่ขายของนี่แหละครับ สำนักพิมพ์เล็กน่าจะร่วมมือกันเปิดตลาดออนไลน์ขึ้น แม้ว่าอาจไม่สามารถเป็นอิสระจากสายส่งใหญ่ได้โดยสิ้นเชิง แต่อย่างน้อยก็บรรเทาผลกระทบลงได้ หากสามารถขายหนังสือได้โดยตรงเป็นสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น


คำอธิบายของสำนักพิมพ์ใหญ่ซึ่งขอขึ้นราคาค่าวางตลาด เท่าที่ผมได้ฟังทางทีวี และรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง มีว่า ต้นทุนการวางตลาดหนังสือตามร้านของสำนักพิมพ์ ซึ่งกระจายตามห้างสรรพสินค้าไปจนถึงสนามบินทั่วประเทศนั้น สำนักพิมพ์ใหญ่ต้องเป็นผู้แบกรับแต่ผู้เดียว ในขณะที่แรงงานราคาสูงขึ้น จึงจำเป็นต้องขอขึ้นราคา
คนนอกวงหนังสืออย่างผมฟังแล้วก็ออกจะงง เท่าที่ผมเข้าใจ หนังสือหนึ่งเล่มนั้นมีผู้เข้ามาร่วมในการแบ่งกำไรกันดังนี้คือ 1. ผู้เขียน 2. ผู้พิมพ์ 3. สำนักพิมพ์ 4. ผู้จัดจำหน่าย (หรือที่เรียกกันว่าสายส่ง) และ 5. ร้านหนังสือ
แน่นอนว่าเพื่อจะเอาส่วนแบ่งกำไรดังกล่าว ทุกฝ่ายมีต้นทุนต้องจ่ายทั้งสิ้น ร้านหนังสือก็มี นับตั้งแต่เช่าที่ไปจนถึงจ้างแรงงาน ถ้าค่าแรงสูงขึ้นจนต้องเพิ่มราคา เหตุใดผู้พิมพ์และผู้จัดจำหน่ายจึงสามารถรับได้ แต่ร้านหนังสือรับไม่ได้

อันที่จริง เรื่องมันคงซับซ้อนกว่านั้น เพราะผู้จัดจำหน่ายในปัจจุบันไม่ได้เป็นแต่เพียง "สายส่ง" คือไม่ใช่แค่เอาหนังสือไปวางตามแผง หรือร้านหนังสือ แล้วก็รอเก็บเงินส่งคืนสำนักพิมพ์เท่านั้น ผมเข้าใจว่า เรื่องมันเริ่มจาก เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว ผู้พิมพ์หรือโรงพิมพ์ขยายงานของตนไปสู่การเป็นสำนักพิมพ์ ในขณะเดียวกันก็มีนิตยสารเป็นของตนเองเพื่อเลี้ยงโรงพิมพ์ให้มีงานทำตลอดเวลา ทำให้ฐานะการเป็นสำนักพิมพ์สมบูรณ์ขึ้นด้วย เพราะสามารถใช้นิตยสารของตนโฆษณาหนังสือที่ตนผลิตขึ้นได้สะดวก (และในภายหลัง เมื่อกิจการใหญ่โตขึ้น ก็อาจโฆษณาผ่านการจัดอีเวนต์หรืออื่นๆ ได้อีก)
หากนิตยสารของตนประสบความสำเร็จ มีผู้อ่านจำนวนมาก ก็เริ่มวางหนังสือเองเพราะไม่มีเหตุผลที่จะต้องแบ่งกำไรส่วนนี้ให้แก่สายส่ง จากนั้นก็เขยิบฐานะขึ้นทำงานเป็นสายส่งเสียเอง
เพราะไหนๆ ก็ต้องวางหนังสือของตนเองอยู่แล้ว ซ้ำมีช่องทางที่จะเป็นผู้จัดจำหน่ายได้เก่งกว่าสายส่งเก่าๆ เสียด้วย เพราะมีแรงจะโฆษณาสินค้า ซ้ำมาในภายหลังยังสามารถเปิดร้านหนังสือของตนเองทั่วประเทศ (ตามจุดที่เป็นตลาดใหญ่เสียด้วย) การซื้อบริการสายส่งของสำนักพิมพ์ใหญ่เหล่านี้จึงเป็นข้อได้เปรียบทางการค้า
ดังนั้น ในห้าห่วงของการผลิตหนังสือหนึ่งเล่ม สำนักพิมพ์ใหญ่ๆ กลืนกินไปแล้ว 4 ห่วง เหลือแต่นักเขียนที่ยังไม่ถูกกลืนลงไปเพียงห่วงเดียว (แต่จำนวนมากก็กลายเป็นพนักงานของบริษัทสี่ห่วงไปพร้อมกัน)



นี่ก็เป็นปรากฏการณ์ปกติของทุนนิยม คือ ปลาใหญ่กินปลาเล็กด้วยการขยายกิจการไปทำกำไรในที่ซึ่งคนเล็กกว่าเคยทำกำไรมาก่อน ดังนั้น ในทุกวันนี้สายส่งเดิมก็ล้มหายตายจากหรือกำลังล้มหายตายจาก ส่วนร้านและแผงหนังสือและร้านหนังสือก็ร่วงโรยจนแทบจะหาไม่ได้อีกแล้ว นอกจากร้านของสำนักพิมพ์ใหญ่ในห้างต่างๆ
สำนักพิมพ์ใหญ่อ้างว่า ต้องขอกินดิบ 1 เปอร์เซ็นต์ในการจัดจำหน่าย ก็เพราะร้านหนังสือของตนซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศนั้นต้องมีภาระกระจายหนังสือจากสายส่ง (ซึ่งก็อยู่ในบริษัทเดียวกัน) ไปทั่วทุกร้าน อันเป็นภาระต้นทุนที่สูง พูดอีกอย่างหนึ่งคือร้านหนังสือซึ่งเป็นธุรกิจลูกของบริษัทมีต้นทุนสูงขึ้น แต่สายส่งซึ่งเป็นธุรกิจลูกของบริษัทเหมือนกัน มีภาระลดลง ฉะนั้นหากคิดถึงกำไรของบริษัททั้งบริษัท ก็ไม่ได้ลดลงแต่อย่างไร

แต่หลักการของการทำธุรกิจในปัจจุบันบังคับให้คนไปคิดว่า หน่วยธุรกิจย่อยของบริษัททุกหน่วย ต้องทำกำไรเพิ่มขึ้นตลอด แม้ว่าธุรกิจย่อยล้วนสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างแยกจากกันไม่ออกก็ตาม (ยังจำคำขวัญของเสี่ยได้ไหม-โตแล้วแตก แตกแล้วโต)
สำนักพิมพ์เล็กๆ จึงเดือดร้อนกับการกินดิบ 1% (จ่ายโดยไม่มีคืน ไม่ว่าจะขายหนังสือได้หรือไม่) เพราะไปเพิ่มราคาปกได้ไม่สะดวกนัก เนื่องจากหนังสือของตนไม่มีทุนโฆษณาเหมือนหนังสือของสำนักพิมพ์ใหญ่ มีแต่ยอดขายจะลดลงเท่านั้น ซึ่งก็อาจจะดีแก่สำนักพิมพ์ใหญ่ด้วยซ้ำ เพราะสำนักพิมพ์เล็กซึ่งเป็นปลาซิวปลาสร้อยจะได้ล้มหายตายจากไปเสียที ไม่สามารถมาตอดแข้งตอดขาให้รำคาญอีกต่อไป
ดำเนินการแข่งขันเสรีตามคาถาของทุนนิยมไปจนถึงที่สุดแล้ว ย่อมนำไปสู่อำนาจผูกขาดที่เหนือกว่าอำนาจรัฐ อันถือเป็นสรวงสวรรค์ของนายทุนทั่วโลก

ด้วยเหตุดังนี้แหละครับ ที่เมื่อผมได้ยินข่าวนี้ จึงคิดถึงตลาด (ที่ขายของ) บนอินเตอร์เน็ตขึ้นมาทันที

ตลาด หรือพื้นที่ซึ่งคนใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยนกันนั้น แม้ว่าจะมีเพิ่มมากขึ้นในเมืองไทยอย่างมาก แต่กลับเป็นพื้นที่ซึ่งคนเล็กคนน้อยถูกกีดกันออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ คนส่วนใหญ่ซึ่งพอจะผลิตอะไรไปซื้อขายแลกเปลี่ยนได้บ้าง เข้าไม่ถึงตลาด 
ในซอยบ้านผมเมื่อยังเป็นเด็กนั้น จะมีแม่ค้าหาบขนมเดินผ่าน พร้อมร้องตะโกนบอกสินค้าแล้วลงท้ายว่า "แม่เอ๊ย" เกือบทั้งวัน เย็นตาโฟที่อร่อยที่สุดในชีวิตก็มาจากซาเล้งที่เขาถีบเข้ามาขายตอนใกล้เที่ยง กระเพาะปลาที่อร่อยที่สุดในชีวิตก็มาจากหม้อทองเหลืองขัดเงามันวาว ที่พ่อค้าจีนหาบมาขายทุกวันเหมือนกัน
ในตอนนั้น ถนนก็คือ "ตลาด" ที่ใครๆ ก็สามารถเข้าถึงได้

ต่อมารถยนต์ก็ไล่ตลาดออกไปจากถนน ต้องร่นขึ้นไปบนทางเท้า และต่อมา คนเล็กคนน้อยก็ถูกเบียดขับออกไปจากตลาดบนทางเท้า
ในปัจจุบันนี้ เราก็ยังสามารถหาอาหารหรือสินค้าแบบนั้นได้อยู่ใน "ตลาด" (ซึ่งก็มักอยู่บนทางเท้านั่นเอง) แต่ "ตลาด" ของปัจจุบันไม่ได้เปิดเสรีให้แก่ใครที่มีสินค้าจะขายเสียแล้ว เพราะต้องจ่ายค่าพื้นที่ในตลาด (แม้แต่เป็นพื้นที่สาธารณะ) ในราคาที่ค่อนข้างสูง จนกระทั่งคนเล็กคนน้อยที่พอมีทุนและฝีมือผลิตสินค้าได้ ไม่สามารถเข้าถึงเพราะต้นทุนและความเสี่ยงสูงเกินไป

ในเมืองไทยปัจจุบัน ซึ่งคนเกือบ 100% ไม่ได้อยู่ในเศรษฐกิจยังชีพแล้ว แค่ทำให้คนเข้าถึงตลาด (ในความหมายตรงไปตรงมา คือพื้นที่สำหรับซื้อขายแลกเปลี่ยน) ได้ง่ายขึ้น ก็จะเพิ่มรายได้แก่คนจำนวนมาก และเพิ่มอำนาจต่อรองให้แก่คนเล็กคนน้อยอีกมหึมา
โครงการพระราชดำริก็ตาม โอท็อปก็ตาม จะมองว่าสำเร็จก็ได้ ล้มเหลวก็ได้ แล้วแต่จะมองจากมุมไหน แต่ข้อหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ โครงการเหล่านี้ทำให้สินค้าของชาวบ้านสามารถเข้าถึง "ตลาด" ได้กว้างขวางขึ้น (ตลาดทั้งในความหมายรูปธรรมและนามธรรม) ส่วนการเข้าถึงตลาดดังกล่าวนี้ จะยั่งยืนหรือไม่เพียงใด เป็นอีกเรื่องหนึ่ง 

แต่ท่ามกลางการกีดกันมิให้คนเล็กคนน้อยเข้าถึงตลาด ก็เกิดช่องทางการสื่อสารแบบใหม่คือ อินเตอร์เน็ตขึ้น อินเตอร์เน็ตเป็นพื้นที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนที่ใหญ่มาก และนับวันก็จะใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ ซ้ำมีอุปสรรคที่ขัดขวางการเข้าถึงไม่สู้จะมากนัก และอุปสรรคที่มีอยู่สามารถแก้ไขได้ง่ายนิดเดียว เช่นการเพิ่มความเร็วในการดาวน์โหลดหรืออัพโหลดเท่านั้น อันเป็นเทคนิควิทยาซึ่งเขารู้และทำกันทั่วโลกอยู่แล้ว

สำนักพิมพ์และร้านหนังสือเล็กๆ น่าจะรวมหัวกันสร้างตลาดของหนังสือตนในอินเตอร์เน็ต ความจริงเวลานี้ก็มีผู้พยายามทำอยู่แล้วในนามของ "ร้านหนังสือบ้านเกิด" น่าจะขยายกิจการประเภทนี้ให้สามารถทำงานทั้งในแง่จัดจำหน่าย สายส่ง และร้านหนังสือได้ด้วย ใช้พื้นที่บนอินเตอร์เน็ตในการแนะนำหนังสือ อาจร่วมมือกับนักเขียนที่ชอบวิจารณ์หนังสือ เปิดนิตยสารปริทรรศน์หนังสือออนไลน์ขึ้น เชื่อมโยงกับ "ตลาด" ของตนซึ่งมีอยู่แล้ว หากสามารถรวมตัวร้านหนังสือเล็กๆ (ซึ่งอาจเข้ามาถือหุ้นร่วมกัน) ขายบริการสายส่งให้กว้างขวาง ก็จะลดความจำเป็นต้องพึ่งพาสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่ลงได้เป็นสัดส่วนอักโขอยู่ หากกำไรของหนังสือยังได้จากส่วนอื่น ก็อาจลดราคาปกในร้านของตนลงได้ ทำให้แข่งกับร้านหนังสือตามห้างได้ด้วย
โอกาสนั้นแยะมากบนอินเตอร์เน็ต เพราะนี่คือตลาดที่ให้ความเสมอภาค (พอสมควร) แก่คนเล็กและคนใหญ่ ไม่ใช่เพียงขายหนังสือเท่านั้น แต่ขายอะไรอื่นๆ ได้อีกมาก โดยมีโสหุ้ยต่ำ (ถ้าขายได้) เพียงแต่ว่าหนังสือเป็นสินค้าที่เหมาะสำหรับตลาดประเภทนี้มากกว่าขนมครก

แต่ก็เหมือนตลาดทั่วไป ต้องมีอำนาจรัฐเข้ามาจัดระเบียบด้วย เช่นเดียวกับในตลาดทุกประเภทย่อมมีผู้ร้าย นับตั้งแต่จี้ปล้นไปจนถึงเบี้ยวสินค้าหรือเบี้ยวไม่จ่ายราคาสินค้า รัฐต้องเข้ามาทำให้อินเตอร์เน็ตเป็นตลาดที่ปลอดภัยแก่การซื้อขายแลกเปลี่ยน ประสิทธิภาพของตลาดไม่ได้อยู่ที่ความเร็วของการสื่อสารเพียงอย่างเดียว ยังต้องมีกฎระเบียบและการดูแลตามกฎระเบียบให้ผู้ร้ายหากินได้ยาก ถึงเล็ดลอดทำได้สำเร็จ ก็ต้องถูกจับกุมและลงโทษตามกฎหมาย

เพียงพัฒนาอินเตอร์เน็ตให้เป็นตลาดที่มีประสิทธิภาพ ก็เปิดโอกาสให้คนเล็กคนน้อยในประเทศไทยได้เข้าถึงตลาดอีกมาก และแน่นอนทำให้รายได้ของเขาเพิ่มขึ้น หรือบางกรณีถึงกับมีอาชีพแน่นอนมั่นคงขึ้นมาได้ด้วย

แต่รัฐไทยมองอินเตอร์เน็ตอยู่มิติเดียวคือความมั่นคง (ซึ่งแปลว่าอะไร ก็แล้วแต่ผู้มีอำนาจจะสั่งให้มีความหมายอย่างไร) ฉะนั้นบทบาทของรัฐในสังคมออนไลน์จึงมีเพียงอย่างเดียว คือคอยดูว่าใครใช้ช่องทางนี้ในการ "ล้มเจ้า", ใครใช้ช่องทางนี้ในการล้มรัฐบาล (ซึ่งแปลว่ากลุ่มคนที่กุมอำนาจอยู่), ใครใช้ช่องทางนี้ในการทำให้อำนาจของคนที่มีอำนาจอยู่แล้วสั่นคลอนบ้าง
ที่เหลือบนอินเตอร์เน็ตก็ตัวใครตัวมัน กลายเป็นที่ปล้นสะดม, ต้มตุ๋น, ปลอมแปลง, ขู่กรรโชก ฯลฯ กันตามสะดวก จนไม่อาจพูดได้เลยว่าเป็น "ตลาด"

ยุบกระทรวงไอซีทีไปเลยไม่ดีกว่าหรือ เพราะเป็นกระทรวงที่ไม่คุ้มค่าที่สุด มีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกลุ่มเดียว (ซึ่งไม่ต้องใช้เงินงบประมาณสักแดงเดียว) ก็สามารถรักษาความมั่นคงได้แล้วล่ะ



.