http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-08-23

ผู้ร้ายแปลงกายเป็นผู้ดี โดย จำลอง ดอกปิก

.
คอลัมน์ เศรษฐกิจ (ในอีกมุมหนึ่ง) - วงการเหล็กปั่นป่วน เมื่อ สมอ. เล่นบท “ครูไหว” เข้มงวดใบอนุญาตนำเข้า

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ผู้ร้ายแปลงกายเป็นผู้ดี
โดย จำลอง ดอกปิก คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2555 เวลา 14:00:27 น.


ช่วง 1-2 เดือนมานี้ ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ออกมาส่งเสียง กดดันภาครัฐอย่างหนัก มีคนของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นหัวหอกออกโรง
การเคลื่อนไหวกดดันหลายรูปแบบนั้น พอเข้าใจได้ว่า นักธุรกิจก็ย่อมอยากทำมาหากินอย่างสะดวก รวดเร็ว ไม่สะดุดขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งนานเกินไป จึงออกมาเรียกร้อง เร่งกระบวนการออกใบอนุญาตให้รวดเร็วยิ่งขึ้น
ตรงกันข้ามกับภาครัฐ ที่ไม่สามารถสนองตอบทันใจได้ เนื่องจากต้องตรวจสอบ ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่มีใบอนุญาตใดๆ ให้อนุญาตยกเว้น
การกระทำใดก็ตามที่ขัดต่อตัวบทบัญญัติกฎหมาย เจ้าหน้าที่รัฐจะอนุมัติไม่ได้เป็นอันขาด เพียงแต่ในช่วงที่ผ่านมา มีการผ่อนปรน อนุโลม กระทั่งเอกชนเคยตัว คิดว่าการหลบเลี่ยงที่อนุญาตเป็นคราวครั้งด้วยเหตุผลใดเหตุผลหนึ่งนั้น ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ทั้งที่มิใช่กฎกติกาจริง

เรื่องนี้ทั้งสองฝ่ายจักต้องเข้าใจบทบาท หน้าที่ของอีกฝ่าย ไม่ไปใส่ร้ายป้ายสี เรียกร้องอีกฝ่าย โดยไม่หันมาทบทวนพฤติกรรม ฉ้อฉล เอาแต่ได้แต่ของฝ่ายตัวเอง 
อะไรไม่ได้ดั่งใจ ก็หาว่ามีการทุจริตคอร์รัปชั่น!

และในระดับสูงขึ้นไป อย่างในระดับนโยบาย อาจต้องหันมาทบทวนกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อห้ามต่างๆ โดยปรับปรุงให้รวดเร็วยิ่งขึ้นอย่างจริงจัง หากพบว่าล้าหลัง ไม่ทันยุคสมัย และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม 

อย่างไรก็ตาม ระหว่างกติกาเดิมยังมีผลผูกพันบังคับใช้อยู่นี้ ไม่ว่าใคร อุตสาหกรรมใดก็ตาม ต้องไม่บังอาจกล่าวอ้าง ความเสียหายทางธุรกิจมาต่อรอง กดดันฝ่ายข้าราชการประจำ ให้จงใจเลี่ยงกฎหมาย ดำเนินการในสิ่งไม่ถูกต้อง  
ภาคธุรกิจจะต้องมีธรรมาภิบาล เริ่มต้นประกอบการอย่างชอบธรรม รับผิดชอบ ไม่ใช้อภิสิทธิ์เอารัดเอาเปรียบสังคม

ที่ผ่านมา มีความพยายามทำให้สังคมเข้าใจผิด เพื่อสร้างภาพกดดันปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และในระดับอธิบดีกรมกองต่างๆ ดำเนินการตามความต้องการของภาคธุรกิจ
อย่างเช่น ปัญหาการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน หรือ รง.4 การตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาอนุญาตโรงงานนั้น ตามหลักการแล้วเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แทนที่จะให้อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมมีอำนาจอนุญาตแบบเดิมแต่เพียงผู้เดียว 
หรือว่า การวิ่งเต้นกับคนเดียวง่ายกว่า?

การพิจารณาในรูปบอร์ด 7 คนนั้น อาจล่าช้ากว่าเดิมบ้าง แต่ก็มีเหตุผลในแง่ของความละเอียด รอบคอบในการกลั่นกรอง นอกจากนี้ การเพิ่มเติมเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย ก็อาจเป็นอีกเหตุทำให้ช้า แต่ก็น่าจะคุ้มค่ากับเวลาที่เสียไปเพียงน้อยนิด เมื่อเทียบกับประโยชน์ต่อสังคม 
ปัญหาหลักไม่ใช่เรื่องนี้ ที่ผ่านมามีการปล่อยปละละเลย ตั้งโรงงานไปก่อน แล้วค่อยมายื่นขออนุญาต หรือวิ่งเต้นภายหลัง โรงงานเถื่อนแบบนี้มีจำนวนไม่น้อย และกระทรวงอุตสาหกรรมมีทั้งรูปถ่าย ข้อมูลเก็บอยู่ในแฟ้ม พร้อมเปิดโปงเบื้องหลัง 


เรื่องอื่นๆ ก็ทำนองเดียวกัน อย่างเช่นเหล็กเส้น ได้มาตรฐานบ้าง ไม่ได้บ้าง จะส่งผลเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินใครไม่สนใจ ลักลอบนำเข้ามาก่อนเช่นกัน จากนั้นค่อยมาขออนุญาต หรือวิ่งเต้นภายหลัง อ้างเหตุผลความเสียหายทางธุรกิจสารพัด เมื่อมีการจัดระเบียบ จะดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายอย่างจริงจังก็ออกมาโวยวาย 
ทั้งที่กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมการผ่อนผัน นิรโทษสำหรับผู้นำเข้ามาแล้ว คิดอ่านแก้ปัญหาให้เบ็ดเสร็จ ขอเพียงแต่ของใหม่ ต้องทำให้ถูกต้องเท่านั้น

นี่แค่หนังตัวอย่าง ยังมีอีกหลายเรื่องหลายคดี ที่ผู้ต้องหาเอะอะโวยวาย ตะโกนฟ้องสังคมอ้างว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งที่ทำผิดกฎหมาย 
ผู้ร้ายปากแข็งอวดอ้างเป็นคนดี ชี้นิ้วด่ากราดไปทั่ว มีให้เห็นมากขึ้นทุกวันทุกวงการ ใช่ว่ามีแต่สังคมการเมืองเท่านั้น! 



+++

วงการเหล็กปั่นป่วน เมื่อ สมอ. เล่นบท "ครูไหว" เข้มงวดใบอนุญาตนำเข้า
คอลัมน์ เศรษฐกิจ ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1670 หน้า 22


จู่ๆ วงการอุตสาหกรรมเหล็กเกิดความปั่นป่วนวุ่นวายขึ้น จากการนำเข้าเหล็กโครงสร้างที่ชะงักงัน ล่าช้า จนทำให้สมาคมผู้ก่อสร้างงานเหล็กไทย ส่งหนังสือถึงกระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ขอให้ช่วยเหลือเร่งรัดการออกใบอนุญาตนำเข้าเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน และเหล็กแผ่นรีดร้อน สำหรับผลิตเหล็กโครงสร้าง เพื่อส่งออก อาทิ แท่นขุดเจาะน้ำมัน โรงไฟฟ้า
หลังผู้ประกอบการที่ชนะการประมูลให้ผลิตเหล็กโครงสร้างรวม 23 โครงการ อาทิ บริษัท ซียูอีแอล จำกัด บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลล๊อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท บริษัท วัฒนไพศาล เอ็นจิเนียริ่ง รวมปริมาณเหล็กที่ขอนำเข้ากว่า 10,000 ตัน มูลค่าขั้นต่ำ 300 ล้านบาทเป็นการยื่นเรื่องขออนุญาตนำเข้าในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้รับการปลดล็อกสักรายเดียว!!
ปัญหาดังกล่าว นอกจากจะสะเทือนต่ออุตสาหกรรมก่อสร้างงานเหล็กไทย เนื่องจากสมาชิกบางรายเริ่มประสบปัญหาไม่สามารถส่งสินค้าให้ลูกค้าได้ตามกำหนด จนผิดสัญญาและต้องเสียค่าปรับ

ขณะที่บางรายรุนแรงถึงขั้นถูกยกเลิกสัญญาแล้ว ยังส่งผลกระทบไปถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องในไทย ทั้งโลจิสติกส์ ผู้ผลิตเหล็กของไทย แรงงานภาคส่วนต่างๆ ตลอดจนลูกค้าต่างชาติที่สั่งผลิตเหล็กโครงสร้างเพื่อนำไปประกอบกิจการของตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย 
ซึ่งรวมมูลค่าความเสียหายของอุตสาหกรรมทั้งระบบแตะหลักแสนล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว 
หากแยกเฉพาะอุตสาหกรรมผลิตเหล็กโครงสร้างเพื่อส่งออกเพียงอย่างเดียวสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศถึง 50,000 ล้านบาทต่อปี จากกำลังการผลิตรวม 400,000 ตันต่อปี และมีพนักงานในระบบประมาณ 30,000 คน


หนึ่งในลูกค้าที่กำลังร้อนๆ หนาวๆ ว่า บริษัทไทยจะผลิตแท่นขุดเจาะน้ำมันได้ตามสัญญาว่าจ้างหรือไม่ คือ บริษัท เชฟรอน หลังจากว่าจ้าง บริษัท ซียูอีแอล จำกัด ให้ก่อสร้างและติดตั้งแท่นผลิตและขุดเจาะปิโตรเลียมในบริเวณอ่าวไทยของโครงการ 43 จำนวน 9 แท่น อาทิ แท่นปลาทอง แท่นมะลิวัลย์ แท่นไพลิน ซึ่งมีสัญญาว่าจ้างตั้งแต่เดือนมีนาคม 2555 - กุมภาพันธ์ 2556
แต่จนถึงบัดนี้ เหล็กล็อตดังกล่าวยังถูกอายัดเพราะนำเข้าก่อนขออนุญาต จึงไม่สามารถนำออกมาใช้ในการผลิตได้  
จากการตรวจสอบพบว่า บริษัท ซียูอีแอล จำกัด ได้พยายามทำหนังสือถึง สมอ. ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2554 เพื่อขออนุญาตนำเข้าเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อนตามที่ บริษัท เชฟรอน ระบุสเปค (เหล็กมาตรฐานต่างประเทศที่ไม่ผลิตในไทย) แต่ถูกดองจนถึงปัจจุบันทำให้ติดอยู่ใน 23 โครงการด้วย

และการทำหนังสือของสมาคมผู้ก่อสร้างเหล็กไทย ถึงกระทรวงอุตสาหกรรมในครั้งนี้แล้ว เป็นการบอกให้รู้ว่าผู้ประกอบการหรือสมาชิกของสมาคมออกอาการ "สุดทน"!!
เพราะด้วยเวลาที่เนิ่นนานทำให้เกิดความเสียหายมากขึ้น ซึ่งข้อมูลจากเอกชนอ้างว่า ตลอดระยะเวลาที่นำเข้าเหล็กชนิดดังกล่าวมาประมาณ 20 ปีนั้น ได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบของภาครัฐมาโดยตลอด นั่นคือ การปฏิบัติตาม มาตรา 21 ทวิ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จึงไม่เข้าใจว่า ทำไมครั้งนี้จึงไม่ได้รับอนุญาต!!!

เกิดคำถามว่า มีกลุ่มการเมืองเข้าแทรกแซงหรือไม่ เพราะปัญหาเริ่มเกิดตั้งแต่รัฐบาลชุดปัจจุบันเข้ามาบริหารงาน อีกทั้งเรื่องดังกล่าวยังอยู่ในอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.)
อย่างไรก็ตาม แว่วมาว่า ขณะนี้ บริษัท เชฟรอน พร้อมตัวแทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) รายหนึ่ง ได้นำเรื่องเข้าร้องเรียนต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จน นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำลังอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูลด้วย


ฟาก สมอ. ได้ออกมาชี้แจงเหตุผล ของการไม่ออกใบอนุญาตให้ว่า ที่ผ่านมาเอกชนไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายตาม มาตรา 21 ทวิ พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตอุตสาหกรรม ซึ่งกฎหมายระบุว่าการนำเข้าจะต้องขออนุญาตจาก สมอ. แต่ที่ผ่านมาทั้ง 23 โครงการใช้วิธีนำเข้ามาก่อนแล้วมาขออนุญาตภายหลัง ขณะที่ สมอ. อะลุ่มอล่วยให้ตลอด จนเกิดความเคยชิน 
อีกทั้ง สมอ. ยังระบุอีกว่า พฤติกรรมของเอกชนบางราย ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นการนำเข้าเพื่อผลิตเหล็กโครงสร้างส่งออกจริงหรือไม่ เพราะเอกสารสัญญาไม่น่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตาม ได้ให้ผู้ประกอบการที่มีปัญหา ไปรวบรวมหลักฐานสัญญาลงนามสั่งผลิตเหล็กของ 2 ฝ่ายเพื่อนำมายื่นผ่อนผันส่งให้ สมอ. จากนั้น สมอ. จะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมอนุมัติ ซึ่งประเด็นนี้เอกชนค่อนข้างกังวลเพราะเกรงจะถูกเรียกพิจารณาเป็นรายๆ และ สมอ. ยังกำชับเพิ่มเติมว่า การนำเข้าในครั้งต่อไป จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายเท่านั้น โดยให้เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2555 กำหนดเวลาการอนุมัติไม่เกิน 60 วัน

เมื่อฟังข้อมูลสองด้าน เกิดคำถามว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรกันแน่ 
ซึ่งหากเป็นไปตามที่ สมอ. ระบุ ก็ต้องถามต่อไปอีกว่า ทำไม สมอ. จึงไม่เข้มงวดทั้งที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่ สมอ. กลับผ่อนผัน ปล่อยปละละเลยมานานนับเป็นสิบๆ ปี
และทำไม สมอ. จึงไม่พยายามแก้ปัญหาตั้งแต่ช่วงแรก แต่กลับปล่อยให้การขออนุญาตค้างคาเป็น 10 เดือน


อย่างไรก็ตาม หากย้อนดูรายละเอียดของ มาตรา 21 ทวิ พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พบว่า อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด "พื้นที่สีเทา" ในอุตสาหกรรมนี้ได้
เนื่องจากในมาตราดังกล่าวกำหนดว่า การนำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเพื่อจำหน่ายต้องเป็นไปตามมาตรฐานต่างประเทศหรือมาตรฐานระหว่างประเทศ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้อนุมัติ กำหนดเวลาอนุมัติ 29 วันบวก หมายถึง 29 วันคือขั้นตอนทางเอกสารที่ข้าราชการดำเนินการ แต่หลังจากนั้นต้องอยู่ที่ดุลพินิจประธานคณะกรรมการ กมอ. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหลัก
ด้วยเวลาที่ไม่ชัดเจน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เอกชนจึงใช้เป็นข้ออ้างในการนำเข้ามาก่อนแล้วค่อยขออนุญาตกับ สมอ. ทีหลัง เพราะต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าด้านเวลาส่งมอบ 
ขณะที่ สมอ. เมื่อเห็นว่าการนำเข้าเหล็กของเอกชนเป็นไปเพื่อผลิตเพื่อการส่งออก ไม่ได้จำหน่ายภายในประเทศ จึงมองว่าไม่กระทบต่อคนในประเทศ จึงได้อายัดเหล็กไว้ก่อน และค่อยตรวจสอบและออกใบอนุญาตให้ในภายหลัง 
แต่ครั้งนี้ แม้ สมอ. จะดำเนินการตามที่เคยดำเนินการในครั้งอดีต แต่ก็มีความผิดปกติ เนื่องจากใช้เวลาเนิ่นนานเกินไป จนถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการ "ดอง"

หลังจากนี้คงได้เห็นการเดินหน้าปรับปรุงกฎหมายให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งการกำหนดระยะเวลา และวัตถุประสงค์ของการนำเข้า ซึ่งเอกชนเห็นว่าไม่ได้จำหน่ายในประเทศตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นจึงต้องการให้ สมอ. ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกา เข้ามาช่วยตีความกฎหมาย เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งมีข้อมูลยืนยันว่าสมาคมผู้ก่อสร้างงานเหล็กไทย พยายามประสานกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อนำปัญหาดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. เพราะเชื่อว่าจะช่วยสะท้อนข้อขัดข้องใจของเอกชนที่เสียงดังพอควร

ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมอาจต้องปรับบทบาทตนเอง เน้นทำหน้าที่ตรวจสอบและอำนวยความสะดวกให้เป็นไปตามกฎหมาย หลีกเลี่ยงพฤติกรรมอืดอาด แม้จะตั้งใจดี ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นผู้ต้องสงสัยกับพฤติกรรมชอบ "ดองใบอนุญาต" ทันที

เพราะไม่เช่นนั้นก็จะต้องตกเป็นจำเลยของสังคมอย่างต่อเนื่อง เพราะล่าสุด มีกระแสข่าวมาจากฟากผู้ประกอบการเหมืองแร่ ที่ยื่นขอประทานบัตรใหม่ รวมทั้งขอต่ออายุประทานบัตรเดิม กับกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม ก็เริ่มส่งเสียงโวยวาย เพราะพบว่ามีการดองใบอนุญาตกว่า 100 ใบเช่นกัน หลังขอมาเกือบครบ 1 ปี

แบบนี้จะให้เข้าใจว่าอย่างไร 
เพราะทุกใบรอเพียงลายเซ็นของรัฐมนตรีคนเดียว!!! 



.