http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-08-25

สงครามและความรุนแรงในภาคใต้ไทย! โดย สุรชาติ บำรุงสุข

.

สงครามและความรุนแรงในภาคใต้ไทย!
โดย สุรชาติ บำรุงสุข  คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1671 หน้า 38


"นายทหารเด็กๆ ตระหนักตั้งแต่ต้นว่า สิ่งที่พวกเขาถูกฝึกมาให้ต่อสู้ด้วยนั้น ไม่อาจใช้ได้ในสนามรบนี้
ประกอบกับสถาบันของพวกเขาและนายทหารอาวุโสทั้งหลาย ก็ไม่ได้มีคำตอบที่พวกเขาต้องการ"
David Kilcullen
คำบรรยายถึงปัญหาของกองทัพสหรัฐอเมริกาในอิรัก
ค.ศ.2010 (พ.ศ.2553)



นับจากเหตุการณ์ปล้นปืนในปี 2547 เป็นต้นมา จะเห็นได้ว่าการใช้ความรุนแรงของขบวนการก่อความไม่สงบนั้น เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้งและมีเป้าหมายเชิงสัญลักษณ์ที่ชัดเจน ซึ่งหากพิจารณาจากการโจมตีที่เกิดขึ้นแล้ว เราอาจจำแนกเป้าหมายเป็น 7 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่

1. มุ่งกระทำต่อตัวแทนและกลุ่มบุคคลอันเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นรัฐไทย (รัฐสยาม) ในพื้นที่ ได้แก่ ข้าราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับงานความมั่นคง ทั้งพลเรือน ตำรวจ และทหาร
2. มุ่งกระทำต่อกลุ่มบุคคลในอาชีพที่มีส่วนต่อการสร้างความเข้มแข็งของรัฐไทยในพื้นที่ ได้แก่ บรรดาครูตามโรงเรียนต่างๆ และรวมทั้งตัวโรงเรียนเองด้วย 
3. มุ่งกระทำต่อสัญลักษณ์ทางด้านจิตวิญญาณของคนไทย ได้แก่ การก่อเหตุร้ายกับวัดและกับบรรดาพระสงฆ์ในศาสนาพุทธ 
4. มุ่งกระทำความรุนแรงต่อสัญลักษณ์ทางเศรษฐกิจของรัฐ และทั้งสัญลักษณ์ของความเป็นทุนนิยม เช่น วางระเบิดธนาคาร หรือสถานประกอบการทางธุรกิจ ดังกรณีโชว์รูมรถยนต์ เป็นต้น 
5. มุ่งสังหารบุคคลทั่วไปที่เป็นไทยพุทธอย่างไม่จำแนก เพื่อสร้างอาณาจักรแห่งความกลัวให้เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยมีชาวบ้านเป็นเป้าหมายหลัก
6. มุ่งสังหารพี่น้องมุสลิมบางส่วน ที่ถูกมองว่าเป็นผู้ที่เข้ามาใกล้ชิดกับรัฐไทย รวมถึงบุคคลที่ถูกสงสัยว่าเป็นสายลับให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐไทย
7. มุ่งโจมตีต่อสถานที่ราชการและจุดสำคัญของทางราชการทั้งในลักษณะที่เป็นอาคาร หรืออาจจะไม่เป็นอาคาร เช่น จุดตรวจ อีกทั้งมีความมุ่งหวังในการได้อาวุธจากการโจมตีดังกล่าวด้วย


หากมองจากเป้าหมายของการก่อเหตุร้ายที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ว่า กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบมุ่งประสงค์ที่จะกวาดล้างอำนาจรัฐของไทยให้หมดไปให้ได้ (ไม่ใช่เป็นแค่เพียงความพยายามในการทำให้อำนาจรัฐอ่อนแอเท่านั้น)
และการล้มล้างอำนาจรัฐในครั้งนี้ ยังถูกนำไปผนวกกับความพยายามที่จะทำให้เกิดพื้นที่ในลักษณะเชิงเดี่ยวทางอัตลักษณ์ทั้งในเรื่องของศาสนาและชาติพันธุ์ (ประชากร)

กล่าวคือ การก่อความไม่สงบในภาคใต้ในด้านหนึ่งเป็นการแสดงออกถึงการปฏิเสธความหลากหลายทางวัฒนธรรมของผู้คนที่เคยอยู่อย่างผสมกลมกลืนกันมาในพื้นที่ 
ปรากฏการณ์ของการใช้ความรุนแรงจึงไม่ได้หยุดอยู่กับเพียงการมุ่งทำร้ายข้าราชการในสายงานความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหาร หรือข้าราชการฝ่ายปกครองเท่านั้น หากแต่ยังมุ่งฆ่าและทำร้ายพระสงฆ์ ครู และประชาชนโดยทั่วไป ตลอดรวมถึงชาวมุสลิมที่ถูกสงสัยว่าเป็น "พวกสยาม" 
ซึ่งแน่นอนว่าหากพวกเขาประสบความสำเร็จแล้ว ก็จะทำให้เกิดการอพยพขนาดใหญ่ของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของชาวไทยพุทธออกจากพื้นที่ ซึ่งก็จะเท่ากับเป็นการกวาดล้างอัตลักษณ์เดิมของรัฐไทยให้หมดไปจากพื้นที่ 
ซึ่งก็อาจจะสอดรับกับแนวคิดของกลุ่มจารีตนิยมบางส่วนที่เน้นการสร้าง "รัฐเดี่ยว" ที่เป็นรัฐมุสลิมอย่างแท้จริง


หากเปรียบเทียบกับกรณีของการระเบิดพระพุทธรูปขนาดใหญ่ในอัฟกานิสถาน หรือพระพุทธรูปบามิยัน อันเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่องค์หนึ่งในพุทธศาสนา แม้เดิมรัฐบาลที่มีอำนาจในการปกครองอัฟกานิสถานจะมิได้นับถือศาสนาพุทธ แต่พวกเขาก็มิได้ถึงขั้นทำลายพระพุทธรูปดังกล่าวแต่อย่างใด หากหลังจากการขึ้นสู่อำนาจของกลุ่มทาลิบันที่มีแนวคิดทางศาสนาแบบจารีตนิยมสุดขั้วแล้ว รูปเคารพ และสัญลักษณ์ต่างๆ ของศาสนาอื่นกลายเป็นเป้าหมายที่จะต้องทำลาย 
การสร้าง "อัตลักษณ์เดี่ยว" เช่นนี้ได้กลายเป็นผลผลิตของกลุ่มที่มีความคิดทั้งทางศาสนาและการเมืองในแบบที่เป็นจารีตนิยม และอาจจะต้องเรียกว่าเป็นพวก "จารีตนิยมสุดขั้ว" เพราะมีท่าทีที่ยอมรับความแตกต่างทางศาสนาและวัฒนธรรมไม่ได้เลย

การทำลายพระพุทธรูปบามิยันจึงเป็นเสมือนกับการส่งสัญญาณถึงการกวาดล้างทางวัฒนธรรม และทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดของ "ความอดทน" ของกลุ่มจารีตนิยมสุดขั้วที่มีต่อศาสนาและวัฒนธรรมอื่นๆ ในพื้นที่ที่พวกเขามีอำนาจ และทั้งยังเป็นการแสดงออกถึงการสร้างความบริสุทธิ์ในความเชื่อของพวกเขาอีกแบบหนึ่งด้วย 
การฆ่าและการวางระเบิดที่เกิดขึ้นมิได้มุ่งแต่เพียงการทำลายกลไกรัฐเท่านั้น หากแต่ยังมุ่งไปในเรื่องของ "การกวาดล้างวัฒนธรรมสยาม" ที่ด้านหนึ่งถูกเสริมสร้างโดยผ่านกระบวนการการศึกษาที่เกิดขึ้นในโรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่ ซึ่งในกระบวนการนี้มีครูเป็นกลไกหลัก
กับอีกด้านหนึ่งคือ รากฐานวัฒนธรรมของชาวไทยพุทธ ที่มีวัดเป็นศูนย์กลางทั้งในเรื่องของพิธีกรรม ความเชื่อ 
และที่สำคัญก็คือ การมีฐานะเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมสยาม เช่น ที่วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชนและชีวิตทางสังคม ดังที่เป็นอยู่ในภาคอื่นๆ ของประเทศ



การกวาดล้างทางวัฒนธรรมจึงมิใช่เป็นแต่เพียงเรื่องของการทำลายมิติทางสังคมของรัฐไทยเท่านั้น หากยังมุ่งไปสู่การสร้างอัตลักษณ์เดี่ยวที่มิยอมให้มีความแปลกปลอมจากวัฒนธรรมอื่นดำรงอยู่ได้ และหากต้องคิดไปไกลในอนาคต ถ้าขบวนการจารีตนิยมสุดขั้วเดินไปอย่างไม่หยุดยั้งแล้ว บางทีเราอาจจะได้เห็นการทำลายสัญลักษณ์ทางศาสนาเฉกเช่นการทำลายพระพุทธรูปบามิยันในอัฟกานิสถานก็ได้
เพราะสัญลักษณ์กายภาพทางวัฒนธรรมของรัฐไทยที่ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน หรือกล่าวให้ชัดเจนในทางยุทธการได้ว่า สัญลักษณ์ทางศาสนาทั้งในทางกายภาพและตัวบุคคลเป็นเป้าหมายสำคัญของการก่อความไม่สงบที่มีบริบทของปัญหาการต่อสู้ทางวัฒนธรรมเป็นปัจจัยทับซ้อนอยู่

ในอีกด้านหนึ่งก็มุ่งไปสู่การทำลายชีวิตของกลไกในกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมของรัฐไทย ซึ่งก็ได้แก่ บรรดาครูทั้งหลาย เพราะสำหรับพวกจารีตนิยมสุดขั้วนั้น พวกเขาไม่ได้ต้องการระบบการศึกษาตามแบบ เพราะด้านหนึ่งการศึกษาเช่นนี้ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างอำนาจรัฐสยาม ที่อาจจะไม่สอดรับกับทัศนคติและความเชื่อของพวกเขาทั้งในบริบททางการเมืองและวัฒนธรรม 
และในอีกด้านหนึ่ง ระบบเช่นนี้ถูกมองว่าเป็นส่วนเกิน เนื่องจากสำหรับแนวคิดแบบจารีตนิยมแล้ว การศึกษาหมายถึงเพียงการศึกษาที่เน้นอยู่กับเรื่องของศาสนา และโรงเรียนก็ควรอยู่ในรูปแบบของโรงเรียนสอนศาสนาเท่านั้น โดยไม่จำเป็นต้องมีหลักสูตรของวิชาสามัญที่เกี่ยวข้องกับชีวิตในทางโลกแต่อย่างใด 
ผลจากการมองปัญหาในลักษณะเช่นนี้ ทำให้การลอบสังหารครูในพื้นที่จึงเป็นภารกิจหนึ่งที่สำคัญของขบวนการก่อความไม่สงบ 
เพราะการทำลายชีวิตของครูเหล่านี้ก็คือ การหยุดยั้งไม่เพียงแต่กลไกการศึกษาของรัฐไทยเท่านั้น 
แต่ในอีกด้านหนึ่งก็คือ ทำให้พวกเขาไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอยู่กับโรงเรียนสามัญในระบบการศึกษาปกติ เพราะในอนาคตอาจจะไม่มีครูชาวไทยพุทธกล้าไปสอนหนังสือตามโรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่เช่นนี้ 
หรือหากระบบการศึกษาดังกล่าวดำรงอยู่ได้ก็อยู่บนพื้นฐานของความอ่อนแอที่ไม่สามารถจะเป็นกลไกในการเสริมสร้างการเรียนรู้ให้แก่เยาวชนในพื้นที่ได้แต่อย่างใด เช่น ทำให้ผู้เข้ารับการศึกษามีคุณภาพต่ำ และไม่สามารถแข่งขันได้ในระบบการศึกษาปัจจุบัน

นอกจากการทำลายชีวิตของครูในลักษณะเป้าหมายตัวบุคคลแล้ว เป้าหมายทางกายภาพก็ไม่มีอะไรดีไปกว่าการเผาโรงเรียน เช่นเดียวกับที่กล่าวแล้วในข้างต้นว่า ถ้าวัดเป็นสัญลักษณ์ของรัฐไทยในมิติทางศาสนา โรงเรียนก็เป็นสัญลักษณ์ของรัฐไทยในมิติทางสังคม ดังนั้นการเผาโรงเรียนจึงเป็นการ "เผา" สัญลักษณ์ทางกายภาพที่ชัดเจน 
ซึ่งหากระบบการศึกษาตามปกติถูกทำลายลง ก็จะเอื้อให้การศึกษาในพื้นที่เหลืออยู่เฉพาะกับโรงเรียนที่มีการเรียนการสอนเป็นไปในแบบที่เป็นจารีตนิยมและเน้นแต่ในเรื่องของศาสนาเท่านั้น


นอกเหนือจากวัดและโรงเรียนแล้ว การก่อเหตุยังมุ่งไปสู่สถานประกอบการทางธุรกิจของชาวไทยอีกด้วย ดังจะเห็นว่า การวางระเบิดหลังจากกรณีปล้นปืนในปี 2547 นั้น มิได้มุ่งกระทำกับสถานที่ราชการหรือส่วนงานของทางราชการเป็นหลักเท่านั้น 
หากยังมีการกำหนดเป้าหมายทางธุรกิจ หรือพื้นที่ที่เมื่อถูกกระทำแล้ว จะมีผลกระทบทางธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ 
ดังกรณีการวางระเบิดโรงแรมในสุไหงโก-ลก เป็นต้น

การกระทำเช่นนี้เป็นการมุ่งทำลายพลังอำนาจทางเศรษฐกิจของรัฐไทยในพื้นที่ และยังเป็นการลดทอนศักยภาพของกลุ่มเศรษฐกิจเดิมในพื้นที่อีกด้วย และหากระบบเศรษฐกิจถูกทำลายลง ก็ยากที่อำนาจรัฐจะดำรงอยู่ได้ในอนาคต 
การทำลายทางเศรษฐกิจเช่นนี้อธิบายได้ไม่ยากว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำลายรัฐที่นอกจากจะทำให้วัฒนธรรมและการศึกษาของรัฐไทยต้องถูกทำลายแล้ว ก็ยังจะทำลายฐานทางเศรษฐกิจของพื้นที่อีกด้วย 
เช่น จะเห็นถึงการพยายามทำลายปัจจัยการผลิตของกลุ่มคนไทยในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นสวนผลไม้ หรือสถานประกอบธุรกิจ ในเมืองดังกรณีโรงแรม ร้านขายรถยนต์ ร้านขายของ ปั๊มน้ำมัน เป็นต้น  
นอกจากนี้ การออกก่อเหตุในรูปแบบต่างๆ จนทำให้ชีวิตทางสังคมและเศรษฐกิจของผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีอาการหยุดชะงัก เพราะการออกมาจับจ่ายใช้สอยของผู้คนโดยทั่วไปในชีวิตประจำวันมีข้อจำกัดอย่างมาก เพราะว่าที่จริงแล้ว ชีวิตประจำวันโดยทั่วไปก็มีความลำบากมาก เช่น ไม่รู้ว่าจะเกิดความรุนแรงขึ้นเมื่อใดหรือเลวร้ายที่สุดก็คือ ไม่รู้ว่าวันใดจะถูกยิง หรือเมื่อใดจะถูกระเบิด 
ซึ่งชีวิตประจำวันภายใต้แรงกดดันเช่นนี้ ย่อมส่งผลร้ายโดยตรงต่อการลงทุนทางธุรกิจและต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดังนั้น การคาดหวังจะให้ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของพื้นที่สูงขึ้นย่อมเป็นไปไม่ได้ และอย่างน้อยก็เป็นปัจจัยที่คาดหวังไม่ได้ในระยะสั้น

ฉะนั้น หากเศรษฐกิจของจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกทำลายลง ก็จะยิ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญให้เกิดการอพยพของคนไทยออกจากพื้นที่ เพราะชีวิตความเป็นอยู่ที่เกิดขึ้น นอกจากไม่รู้ว่าจะตายวันไหนแล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะประกอบอาชีพอะไรที่มีรายได้และปลอดภัยทั้งสำหรับตนเองและครอบครัวด้วย 
การทำลายเศรษฐกิจเช่นที่เป็นอยู่นี้ ถือได้ว่าเป็นอีกเป้าหมายหลักที่สำคัญของขบวนการก่อความไม่สงบ เพราะในขณะเดียวกันก็เป็นเสมือนการ "ถอนรากระบบทุนนิยม" ให้หมดไปจากพื้นที่ในอนาคต อีกทั้งยังจะเป็นช่องทางให้แก่คนบางกลุ่มสามารถเข้ามาซื้อธุรกิจที่ถูกขายทิ้งได้ในราคาถูก 
สภาพเช่นนี้จะส่งผลให้อิทธิพลทางเศรษฐกิจของรัฐไทยค่อยๆ หมดไปจากพื้นที่ด้วย และหากอำนาจทางเศรษฐกิจถดถอยลง อำนาจทางการเมืองก็จะถดถอยลงเช่นกัน



ดังนั้น สิ่งที่ต้องตระหนักคือ การก่อเหตุความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 
ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของการ "แก้แค้น" เจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงในมุมมองการตีความอย่างแคบ 
หากแต่เป็นการก่อความไม่สงบที่มุ่งไปสู่การ "ถอนรากถอนโคน" อำนาจและอิทธิพลของรัฐไทยให้หมดไปจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

หรือกล่าวให้ชัดเจนก็คือ ขบวนการก่อความไม่สงบ กำลังดำเนิน "สงครามปฏิวัติ" 
ต่อสู้กับรัฐสยามด้วยยุทธวิธีของ "การก่อการร้าย"

เช่นเดียวกับขบวนการเมืองอื่นในเวทีโลกนั่นเอง!  



.