http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-08-18

พิชิต: โครงการรับจำนำข้าว ใครได้ประโยชน์?

.

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์: โครงการรับจำนำข้าว ใครได้ประโยชน์?
ใน www.prachatai.com/journal/2012/08/42119 . . Sat, 2012-08-18 00:19 


รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
( ที่มา: “โลกวันนี้วันสุข” ฉบับวันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม 2555 )



โครงการรับจำนำข้าวนับเป็นนโยบายที่ได้รับความนิยมมากที่สุดจากเกษตรกร 

และถูกโจมตีมากที่สุดจากนักวิชาการ สื่อมวลชนกระแสหลัก และพ่อค้าข้าว
นักวิชาการเศรษฐศาสตร์บางสำนักได้เรียงหน้ากันออกมาวิจารณ์ว่า โครงการนี้เป็นการทำลายตลาดค้าข้าวและการส่งออกข้าวของประเทศ เกิดทุจริตคอรัปชั่นมโหฬาร รัฐขาดทุนหลายแสนล้านบาท และชาวนาไม่ได้ประโยชน์

มีแต่ความเลวร้าย ประสานกับเสียงต่อต้านจากบรรดาพ่อค้าผู้ส่งออกข้าว

แต่คนกลุ่มเดียวกันนี้กลับไปสนับสนุนโครงการประกันรายได้ชาวนาของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งที่ก็มีข้อครหาเรื่องทุจริตในการลงทะเบียนชาวนาและพื้นที่เพาะปลูก รวมทั้งสูญเสียงบประมาณไปถึงห้าหมื่นล้านบาท! 
สาเหตุคือ โครงการประกันรายได้ชาวนาเป็นประโยชน์ต่อพ่อค้าและผู้ส่งออกข้าว เพราะรัฐบาลตั้งราคาประกันขั้นสูงไว้ ขณะที่พ่อค้าสามารถกดราคาข้าวจากชาวนาได้เต็มที่ โดยรัฐบาลรับภาระจ่ายเงินชดเชย “ส่วนต่าง” ให้ ยิ่งพ่อค้ารับซื้อข้าวจากชาวนาในราคาต่ำเท่าไร รัฐบาลก็ต้องควักเงินมาจ่ายชดเชยให้เท่านั้น ฉะนั้น พ่อค้าผู้ส่งออกได้ประโยชน์เต็มที่ สามารถซื้อข้าวได้ในราคาถูก ข้าวในตลาดเกือบทั้งหมดอยู่ในกำมือของพวกเขา สามารถส่งออกไปตลาดโลก กินกำไรส่วนต่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า โครงสร้างตลาดข้าวของประเทศไทยที่พวกนักวิชาการเศรษฐศาสตร์บางค่ายอ้างว่า “เป็นตลาดเสรี รัฐบาลไม่ควรแทรกแซง” นั้น ความจริงเป็นตลาดผูกขาดที่สุดตลาดหนึ่งของประเทศไทย มีอำนาจกระจุกอยู่ที่ผู้ส่งออกรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย รวมหัวกันผูกขาดการส่งออกข้าวทั้งหมดของประเทศ โดยเอาราคาส่งออกเป็นตัวตั้ง แล้วกดราคาในประเทศลดหลั่นกันลงมาผ่านพ่อค้าไปถึงชาวนา


โครงการประกันรายได้ยังเป็นการทำลายแรงจูงใจในการผลิตของชาวนา เพราะรัฐบาลกำหนดผลผลิตต่อไร่สูงสุดไว้ตายตัวแตกต่างไปตามพื้นที่ (เช่น ข้าวเปลือก 400 กก.ต่อไร่ในจังหวัดสุรินทร์) และชาวนาแต่ละครัวเรือนจะลงทะเบียนจำนวนพื้นที่เพาะปลูกไว้คงที่ (เช่น นายเขียวเพาะปลูก 50 ไร่) ผลก็คือ ชาวนาไม่มีแรงจูงใจปรับปรุงประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มผลผลิต เพราะถึงจะผลิตได้มากกว่า 400 กก.ต่อไร่ ก็ไม่ได้อะไรตอบแทนเพิ่ม ในทางตรงข้าม ถ้าชาวนาผลิตได้น้อยกว่าหรือปลูกไม่เต็มพื้นที่ ก็ยังได้รับชดเชยตามเกณฑ์ที่กำหนดเหมือนเดิม

ปัญหาอีกประการหนึ่งของโครงการประกันรายได้ชาวนาคือ ชาวนาไม่เคยได้รับตามราคาประกันจริง สาเหตุคือ รัฐบาลไม่มีทางรู้ได้ว่า ชาวนาขายข้าวให้กับพ่อค้าในราคาจริงเท่าไร เนื่องจากราคาขายจริงนั้นขึ้นอยู่กับคุณภาพข้าว ระยะทางไปถึงตลาด และช่วงเวลาที่ชาวนาขายข้าว ทางออกของรัฐบาลขณะนั้นคือ กำหนด “ราคาอ้างอิง” เพื่อใช้แทนราคาขายจริงของชาวนา แต่ปรากฏว่า ราคาอ้างอิงของทางการกลับสูงกว่าราคาขายจริง เช่น ประกันราคาไว้ที่ตันละ 15,000 บาท ชาวนาขายได้จริงตันละ 10,000  บาท ก็ควรจะได้รับชดเชยตันละ 5,000 บาท  แต่ราคาอ้างอิงทางการอยู่ที่ 13,000 บาท ผลก็คือ ชาวนาได้รับชดเชยจริงแค่ตันละ 2,000 บาท รวมเป็นราคาที่ชาวนาได้รับจริงตันละ 12,000 บาท ไม่ใช่ตันละ 15,000 บาทตามที่รัฐบาลประกันไว้

ยิ่งกว่านั้น ราคาประกันของทางการกลับกลายเป็น “ราคาเพดาน” ที่คอยกดราคาตลาดในประเทศไว้อีกด้วย เพราะพ่อค้าจะไม่รับซื้อข้าวจากชาวนาในราคาเกินกว่าราคาประกัน แม้ว่าราคาในตลาดโลกจะขึ้นสูงไปสักเท่าใด


พวกนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ “อีแอบ” ที่หากินกับรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์มาทุกยุคสมัยและได้ประโยชน์จากรัฐประหาร 2549 พวกนี้ทำเป็นลืมไปว่า ในปลายรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ มีชาวนาออกมาประท้วงปิดถนนกันทั่วไป เรียกร้องให้รัฐบาลรับจำนำข้าวแทนการประกันรายได้ ก็เพราะสาเหตุดังกล่าวนี่เอง รัฐบาลขณะนั้นแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการเอา “มาตรการรับจำนำข้าว” กลับมาใช้เป็นบางส่วน แต่ก็ไม่ยอมเลิกโครงการประกันรายได้เพราะกลัวเสียหน้า ผลท้ายสุดคือ รัฐบาลทำทั้งสองอย่าง ทั้งประกันรายได้ ทั้งรับจำนำ เป็นที่สับสนต่อชาวนาและข้าราชการที่เกี่ยวข้อง

โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเป็นมาตรการแทรกแซงตลาดข้าวโดยรัฐที่ใหญ่ที่สุด เพราะรัฐบาลประกาศรับจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ดในราคาที่กำหนด (ข้าว 100% ที่ตันละ 15,000 บาท ข้าวหอมมะลิที่ตันละ 20,000 บาท ปรับลดด้วยความชื้น) ในทางปฏิบัติ รัฐบาลได้กลายเป็นผู้ซื้อข้าวรายใหญ่ที่สุดของประเทศ พ่อค้าผู้ส่งออกเสียประโยชน์เพราะรัฐบาลมาแข่งรับซื้อข้าวในราคาสูง ถ้าพ่อค้าต้องการข้าวไปส่งออก ก็ต้องซื้อในราคาสูงด้วย ทำให้ส่งออกได้กำไรลดลง ที่นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ “อีแอบ” พวกนี้อ้างว่า รัฐบาลกำลังทำลายตลาดข้าวไทยนั้น ที่แท้จริงคือ รัฐบาลทำให้พ่อค้าผู้ส่งออก “อิ่มหมีพีมัน” น้อยลงนั่นเอง

ส่วนตัวเลขที่โจมตีว่า รัฐบาลจะขาดทุนถึง 2.6 แสนล้านบาทนั้น นักเศรษฐศาสตร์ที่อ้างข้อนี้สอบตกวิชาเศรษฐศาสตร์พื้นฐาน ในทางปฏิบัติ รัฐบาลไม่ต้องรับจำนำข้าวหมดทั้งประเทศ เพราะเมื่อข้าวตกอยู่ในมือของรัฐบาลมากขึ้น ตลาดเอกชนก็จะมีข้าวน้อยลง ทำให้ราคาตลาดเอกชนสูงขึ้นไปเอง ชาวนาทั่วไปก็จะขายข้าวในตลาดเอกชนได้ราคาสูงตามไปด้วยโดยไม่ต้องเข้าโครงการจำนำของรัฐบาล นี่คือเหตุผลที่ว่า แม้รัฐบาลจะตั้งงบประมาณรับจำนำข้าว 25 ล้านตันไว้ถึงกว่าสี่แสนล้านบาทสำหรับฤดูเพาะปลูก 2554/55 แต่มีข้าวจำนำจริงเพียง 7 ล้านตัน หรือราวร้อยละ 30 ของผลผลิตข้าวทั้งหมด รัฐจึงใช้งบประมาณไปเพียง 140,000 ล้านบาทเท่านั้น

ส่วนรัฐบาลจะขาดทุนเท่าไรนั้นสามารถคำนวณได้คร่าว ๆ คือ ข้าวเปลือกจำนำ 7 ล้านตันแปรเป็นข้าวสาร 4.6 ล้านตัน ข้าวขาว 100% ราคาปัจจุบันอยู่ที่ตันละ 580 ดอลลาร์ (ราว 18,000 บาท) ฉะนั้นข้าวสาร 4.6 ล้านตันคิดเป็น 83,000 ล้านบาท รัฐบาลจะขาดทุนทั้งสิ้นหกหมื่นล้านบาท และจะขาดทุนมากกว่านี้ถ้ารัฐบาลระบายข้าวด้วยการขายราคาต่ำเพื่อให้เอกชนไปส่งออกอีกทอดหนึ่ง แต่รัฐบาลก็อาจขาดทุนน้อยกว่านี้ถ้าราคาข้าวในตลาดโลกขึ้นสูง

จึงไม่น่าแปลกใจถ้าประเทศไทยจะส่งออกข้าวได้น้อยลงในปีนี้ เพราะการที่รัฐบาลรับจำนำข้าวในราคาสูงทำให้พ่อค้าผู้ส่งออกไม่สามารถแข่งตัดราคากับประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำได้ เช่น อินเดียและเวียดนาม ที่ผ่านมา การไปแข่งตัดราคากับอินเดียและเวียดนามนี่แหละที่ทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกไม่สูงเท่าที่ควร เป็นผลสะท้อนกลับมาถึงราคาข้าวต่ำของชาวนาไทย การไปช่วงชิงตำแหน่ง “ผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่ง” จึงไม่ใช่เรื่องน่าภาคภูมิใจ หากแต่เป็นเรื่องหลอกลวงของพวกพ่อค้า สื่อมวลชนและนักวิชาการเท่านั้น



หนทางที่ควรจะเป็นนั้น ไม่ใช่ตั้งหน้าส่งออกข้าวคุณภาพต่ำราคาถูกไปขายแข่งกับประเทศอื่น แต่เป็นการปรับปรุงคุณภาพข้าวส่งออก ทั้งเมล็ดพันธุ์ ผลผลิตต่อไร่ การบรรจุหีบห่อ ให้ปลอดสารเคมีตกค้างและปลอมปน มุ่งขายในตลาดข้าวคุณภาพสูงที่ไทยได้เปรียบอยู่แล้ว ให้เป็นประเทคที่ขายข้าวได้ราคาดีที่สุด ไม่ใช่ส่งออกได้จำนวนตันสูงสุด

สิ่งที่รัฐบาลต้องสนใจอย่างจริงจังคือ การทุจริตในทุกขั้นตอนตั้งแต่การรับจำนำ ปริมาณและคุณภาพของสต็อกข้าว และการระบายให้เอกชนไปส่งออก ซึ่งแม้จะหลีกเลี่ยงได้ยาก แต่สามารถลดหรือปรามได้ โดยให้รั่วไหลน้อยที่สุด


ถ้าถามว่า มีหนทางอื่นหรือไม่ที่รัฐบาลจะช่วยเหลือชาวนาโดยไม่ต้องเข้าแทรกแซงตลาดในลักษณะดังกล่าว เพื่อลดค่าใช้จ่ายและปราศจากการทุจริต 

คำตอบคือ มีหนทางอยู่ ซึ่งก็คือ การปฏิรูปตลาดข้าวไทย ทำลายการรวมหัวผูกขาดของกลุ่มทุนเก่าที่หากินบนหลังชาวนาไทยมาหลายชั่วคน เปิดเสรีการส่งออกข้าว ให้ข้าวกระจายไปยังผู้ส่งออกจำนวนมาก โดยรัฐบาลเข้าแทรกแซงตลาดในขอบเขตจำกัดเพื่อลดลักษณะขึ้นลงตามฤดูกาลของราคาข้าว แต่จะกระทำเช่นนี้ได้ ก็ต้องทำลายอำนาจทางการเมืองของกลุ่มทุนเก่าไปพร้อมกันด้วย



.