http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-08-28

ปริญญา: การเลือกข้าง, ประหยัดพลังงาน ทำได้ง่ายนิดเดียว

.
อีกบทความ - ใครเปลี่ยนใจหลังน้ำท่วม โดย ปริญญา ตรีน้อยใส 

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

การเลือกข้าง
โดย ปริญญา ตรีน้อยใส คอลัมน์ มองบ้านมองเมือง
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1671 หน้า 90 


เมื่อสมัยที่ยังเป็นอาจารย์วัยละอ่อน (แค่จะบอกว่า นานมาแล้ว) โชคดีมีโอกาสได้รับทุนจากมูลนิธิโตโยต้า ไปดูงานด้านสิ่งแวดล้อมที่ประเทศญี่ปุ่น ที่มี รศ.ดร.สุรพล สุดารา เป็นหัวหน้าคณะ จึงมีโอกาสเยี่ยมชมโรงงานเล็กๆ แห่งหนึ่ง ที่ขบวนการผลิตอาศัยน้ำเป็นตัวระบายความร้อนเครื่องจักร จึงถูกบังคับให้ลดอุณหภูมิน้ำก่อนปล่อยสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ส่งผลให้บริเวณโดยรอบโรงงานเต็มไปด้วยบ่อพักน้ำ
ต่อมามีคนงานแอบเลี้ยงปลาไหลในบ่อดังกล่าว ปรากฏว่าปลาไหลเติบใหญ่อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในฤดูหนาว ด้วยน้ำในบ่อมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ 
ดังนั้น ตอนที่ไปชมโรงงานแห่งนี้ พบว่าได้เลิกกิจการเดิม หันมาต้มน้ำร้อนใส่บ่อเพื่อเลี้ยงปลาไหล กิจการใหม่ที่ทำกำไรมากกว่าเดิม 
เรื่องโรงงาน น้ำร้อน และปลาไหล จึงอยู่ในความทรงจำ และทำให้เข้าใจในเรื่องปัญหาและการจัดการสิ่งแวดล้อม



หลายคนคงผ่านตาโฆษณาของ บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) ที่ตั้งใจสื่อสารว่า องค์กรได้เลือกแล้วที่จะอยู่ข้างธรรมชาติ แต่ที่จริงยังมีกิจการอื่นที่องค์กรเดียวกันนี้ 
ที่ช่วยรักษ์โลกอย่างแท้จริง 
กิจการที่ว่าคือรับจ้างกำจัดขยะจากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น โตโยต้า พานาโซนิค กลุ่ม ปตท. เป็นต้น

แน่นอน ขยะจากโรงงานเหล่านี้บางส่วนปนเปื้อนสารเคมีที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต บริษัท จีโอไซเคิล ประเทศไทย จำกัด จึงรับจ้างรวบรวมและขนขยะจากโรงงานดังกล่าว และนำไปกำจัดโดยการเผาทิ้งที่สระบุรี 
บริษัทนี้ ยังรับจ้างหาเชื้อเพลิงราคาถูก สำหรับการผลิตซีเมนต์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานมาก ด้วยเตาเผาต้องการความร้อนถึง 2,000 องศาเซลเซียส  
ขยะที่รวบรวมจากแต่ละโรงงาน จะนำมาวิเคราะห์หาส่วนผสมและศึกษาคุณสมบัติที่มีผลต่อการเผาไหม้ จากนั้นก็จะปรับแต่งให้กลายเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีสำหรับโรงงานปูนซีเมนต์ 
ขยะปนเปื้อนจากโรงงานอุตสาหกรรมที่มีมลภาวะสูง กลับมีคุณสมบัติดีในการเผาไหม้หรือให้ความร้อน ซึ่งต่างไปจากขยะจากครัวเรือน ที่แม้มีมลภาวะต่ำ แต่ก็มีความชื้นซึ่งไม่ช่วยในการเผาไหม้

เนื่องจากกิจการเพิ่งเริ่มต้น ปริมาณขยะจากโรงงานต่างๆ ยังมีไม่มาก เพราะโรงงานส่วนใหญ่ยังเลือกวิธีแอบทิ้ง หรือแม้แต่บริษัทรับจ้างขนและกำจัดขยะปนเปื้อน ก็ใช้วิธีกำจัดโดยการแอบไปทิ้งเช่นกัน อย่างที่เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์อยู่เสมอ จึงไม่สามารถนำส่งเชื้อเพลิงให้โรงงานปูนซีเมนต์ได้มากพอ
เนื่องจากกิจการเพิ่งเริ่มต้น ผลกำไรยังไม่เกิด ค่าดำเนินการยังสูง ในขณะที่ปริมาณขยะยังน้อย 
แต่ทางบริษัทแม่ คือ บริษัท โฮลซิม จำกัด ยังคงให้การสนับสนุน เพราะถือเป็นแนวปฏิบัติที่จะเลือกข้างอยู่กับธรรมชาติ
เป็นการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และการไม่สร้างภาระให้กับธรรมชาติ


ในต่างประเทศ โรงงานผลิตซีเมนต์ หรือโรงงานอื่นๆ ที่ต้องใช้พลังงานความร้อนสูงในกระบวนการผลิต จะเลือกที่ตั้งโรงงานให้เหมาะสม อยู่ในทำเลที่จะรองรับปริมาณขยะจากชุมชนที่อยู่โดยรอบ นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาการกำจัดขยะของแต่ละชุมชน แต่ละเมืองแล้ว ยังช่วยลดการซื้อพลังงานของโรงงานไปพร้อมกัน 
เรื่องแบบนี้ ต้องถือว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศเพิ่งพัฒนาแบบบ้านเรา ที่เลือกจะเป็นประเทศอุตสาหกรรม จึงต้องเตรียมการปฏิบัติให้เหมาะสม เพื่อเป็นประเทศที่รักษ์โลก และเลือกข้างรักษ์โลก 
เสียดายว่า บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) หรือองค์กรอื่นๆ ดำเนินการเรื่องแบบนี้ ไม่ได้นำมาเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้รู้โดยทั่วกัน ไม่เหมือนองค์กรอื่นๆ ที่นิยมจัดกิจกรรมรักษ์โลก แต่งบประมาณส่วนใหญ่ หมดไปกับการประชาสัมพันธ์ ซื้อสื่อ ซื้อเสื้อ 
และจัดกิจกรรมบันเทิงกับดารา (ฮา)



++

บทความของปี 2554

ประหยัดพลังงาน ทำได้ง่ายนิดเดียว
โดย ปริญญา ตรีน้อยใส คอลัมน์ มองบ้านมองเมือง
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1614 หน้า 71


ความแปรปรวนของภูมิอากาศบ้านเราในปีนี้ มีฝนตกในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม ทำให้อุณหภูมิลดลงเมื่อเทียบกับฤดูร้อนในปีที่ผ่านมา
ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของการไฟฟ้าฯ เกี่ยวกับความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของคนไทย ในเดือนพฤษภาคมปีนี้ อยู่แค่ 24,000 เมกะวัตต์เท่านั้น ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดต่ำลงกว่าหลายปีที่ผ่านมา 
จะต้องเข้าใจว่า ตัวเลขความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเป็นเรื่องสำคัญมากในด้านการพลังงานของประเทศ เพราะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ จะต้องเตรียมพลังงานไฟฟ้าให้พอเพียงกับความต้องการใช้ไฟฟ้าตลอดเวลา ไม่ว่าจะมากหรือน้อย 
ภาระดังกล่าว ทำให้การไฟฟ้านครหลวง เพิ่มค่าความต้องการไฟฟ้านี้ รวมไปกับค่าการใช้ไฟฟ้า และค่าเอฟที ที่แปรผันในค่าเชื้อเพลิง ในใบเสร็จรับเงินค่าไฟฟ้าทุกเดือน แต่ทั้งนี้ เฉพาะกิจการขนาดใหญ่เท่านั้น


จากการศึกษาของ นายอดิเทพ สุธรรมภาวดี นิสิตบัณฑิตศึกษา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่มีพื้นที่สองหมื่นกว่าตารางเมตร ซึ่งนับเป็นกิจการขนาดใหญ่นั้น เสียค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเดือนละเกือบสองล้านบาทสำหรับการใช้ไฟฟ้าระบบปรับอากาศ ระบบไฟฟ้ากำลังแสงและสว่าง ระบบระบายอากาศ ระบบลิฟต์ และระบบปั๊มน้ำ 
โดยมีพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าดังนี้ ในวันทำการคือวันจันทร์ถึงวันศุกร์ จะเริ่มใช้ไฟฟ้ามากขึ้น ตั้งแต่หกโมงเช้า แล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้นไปจนถึงเที่ยงวัน จากนั้นก็จะค่อยๆ ลดลงไป จนถึงเวลาสองทุ่ม โดยมีช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด อยู่ที่ 10.30-12.00 น.
ช่างประจำอาคารจะเปิดให้เครื่องสูบน้ำขนาดมอเตอร์ 37 กิโลวัตต์ จากบ่อพักที่อยู่ใต้อาคาร ไปเก็บไว้ที่ถังน้ำบนหลังคาอาคาร เพื่อปล่อยลงมาใช้สอยในแต่ละวัน บังเอิญว่าช่างจะเปิดเครื่องสูบน้ำ ระหว่างเวลา 10.00-12.00 น. ซึ่งไปตรงกับช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดพอดี

ดังนั้น เพื่อลดค่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือประหยัดค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือน ผู้วิจัยจึงได้นำเสนอวิธีการง่ายๆ โดยการย้ายเวลาเดินเครื่องปั๊มน้ำ จาก 10.00-12.00 น. เป็น 08.00-10.00 น. แทน 
การย้ายเวลาสูบน้ำ จะช่วยลดค่าความต้องการไฟฟ้าสูงสุด ที่แม้ว่าคำนวณออกเป็นตัวเลขค่าไฟฟ้าที่ลดลง แค่หลักพันบาทต่อเดือน แต่การศึกษาครั้งนี้ เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่าวิธีประหยัดพลังงานหรือการลดการใช้ไฟฟ้า เป็นเรื่องง่ายและดำเนินการได้ทันทีโดยไม่รบกวนกับวิถีชีวิตและความสะดวกสบายที่เคยมีอยู่เดิม 
และไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีใดๆ


ในวิทยานิพนธ์เล่มนี้ ยังมีข้อมูลและข้อค้นพบอีกหลายเรื่องที่เป็นเรื่องง่ายอีกมากมาย เช่น การปิดระบบระบายอากาศในบางเวลาที่ชั้นใต้ดินที่เป็นเพียงที่จอดรถของผู้บริหาร การปิดไฟฟ้าแสงสว่างบริเวณโถงทางเท้าในเวลากลางวัน (ซึ่งสว่างอยู่แล้ว) การปิดไฟตกแต่งบริเวณต่างๆ (ซึ่งสวยอยู่แล้ว) การเพิ่มอุณหภูมิบริเวณโถงแต่ละชั้น ที่ไม่มีการใช้สอยนอกจากสัญจรผ่าน เป็นต้น ทุกวิธีล้วนทำได้ง่าย ทำได้ทันที ทำได้โดยไม่รบกวนผู้ใช้อาคาร ซึ่งนอกจากจะช่วยลดค่าความต้องการใช้ไฟฟ้าลงแล้ว ยังช่วยลดการใช้ไฟฟ้าอีกด้วย เป็นการประหยัดพลังงานสองต่อพร้อมกัน
หากจะนำผลงานวิจัยครั้งนี้ไปขยายผลในระดับประเทศ การไฟฟ้าฯ แค่ขอความร่วมมืองดใช้เครื่องทำน้ำร้อนและรีดผ้า ในช่วงเวลา 18.00-20.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คนไทยมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด ก็จะลดภาระการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ไม่ต้องสำรองพลังงานมากเช่นในปัจจุบัน 
รวมทั้งอาจไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์


เสียดายว่า วิธีประหยัดพลังงานง่ายๆ แบบนี้ บรรดาบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ค่อยสนใจ เพราะไม่ไฮเทค ไม่ได้ซื้อเครื่องมือแพงๆ ไม่ได้เสนอผลงานในการประชุมนานาชาติ และไม่ได้เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ (ฮา)



+++

ใครเปลี่ยนใจหลังน้ำท่วม
โดย ปริญญา ตรีน้อยใส คอลัมน์ มองบ้านมองเมือง
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1669 หน้า 25


มาถึงตอนนี้ หลายคนลืมเรื่องน้ำท่วมเมื่อปลายปีที่แล้วไปแล้ว หลายคนยังมีถุงทรายกองเกะกะหน้าบ้าน หลายคนอาจกังวลเล็กน้อยกับน้ำที่จะท่วมอีกแล้วในปีนี้ 
และหลายคนย้ายบ้านไปอยู่ที่ใหม่เรียบร้อยแล้ว แต่ปรากฏว่า ยังมีคนที่ยังหมกมุ่นอยู่กับปัญหาน้ำท่วมอยู่ คือ รศ.วิทวัส รุ่งเรืองผล และ ดร.นิติ รัตนปรีชาเวช นักวิชาการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ยังคงติดตามพฤติกรรมของคนกรุงเทพฯ ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมเมื่อปีที่แล้ว 
ด้วยอยากรู้ว่าทัศนคติของคนเหล่านั้น จะเปลี่ยนไปหรือไม่หลังน้ำท่วม


เมื่อเร็วๆ นี้ อาจารย์ทั้งสองท่านได้นำเสนอผลการวิจัย โดยผู้เขียนได้รับเชิญให้ไปร่วมเสวนา จึงขออนุญาตนำมาเล่าสู่กันฟัง 
งานวิจัยครั้งนี้พบว่า แม้จะเกิดปัญหาน้ำท่วมรุนแรงเมื่อปีที่แล้ว แต่คนกรุงเทพฯ ยังคงยึดมั่นถือมั่น ไม่เปลี่ยนแปลงย้ายที่อยู่อาศัย 
คนส่วนใหญ่ยังคงปักหลักอยู่บ้านเดิม ด้วยเชื่อมั่นว่า ปีนี้และปีต่อๆ ไปคงมีใครสักคนเอาอยู่

อย่างไรก็ตาม การสำรวจครั้งนี้ เป็นการสอบถามผู้เข้าชมงานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 26 เมื่อเดือนมีนาคม 2555 ช่วงเวลาสาม-สี่เดือนหลังวิกฤต ส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้ไม่มาก ประมาณว่า มีกำลังซื้อบ้านราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท จึงส่งผลให้ความสามารถในการเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัยต่ำ 
พูดง่ายๆ ถึงแม้อยากจะย้ายไปอยู่คอนโดฯ ในเมือง หรือซื้อบ้านสำรองต่างจังหวัด ก็ได้แค่คิดเท่านั้น  
นอกจากไม่คิดจะย้ายที่อยู่อาศัยแล้ว คนส่วนใหญ่ที่ตอบแบบสอบถาม ยังคิดจะต่อสู้กับปัญหาน้ำท่วม ด้วยวิธีการเดิมๆ คือ ถมดิน ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เสริมรั้ว ฯลฯ 
ในขณะที่ทางเลือกที่จะอยู่กับน้ำ โดยการปรับรูปแบบที่อยู่อาศัย (บ้านใต้ถุนสูง) ปรับปรุงเพิ่มพื้นที่รับน้ำในหมู่บ้าน มีน้อยมาก


ที่จริงผลจากการวิจัย ยังมีอีกมากมายหลายเรื่อง ใครสนใจหรือต้องทำมาหากินในเรื่องพวกนี้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ทั้งหลาย ควรจะหามาศึกษาเพื่อเตรียมการ เพราะแม้ว่าขณะนี้ ตลาดกลับมาคึกคักเหมือนเดิม แต่มีผลจากการวิจัยหลายเรื่องที่น่าจะส่งผลต่อรูปแบบการอยู่อาศัยในอนาคต  
อย่างเช่น ตอนที่เกิดปัญหาน้ำท่วมปีที่แล้ว ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละหกสิบมีสมาชิก ส.ว. (คนชรา) อยู่อาศัยในบ้าน จึงไม่แปลกที่การรับมือกับผู้สูงอายุตอนวิกฤตจะเป็นเรื่องเศร้าในตอนนั้น และเป็นเรื่องสนุกสนานในตอนนี้ 
ร้อยละห้าสิบ มีเด็กอยู่ด้วย และร้อยละสามสิบ มีสัตว์เลี้ยงที่เป็นภาระ

ผู้ตอบแบบสอบถาม ร้อยละ 35 ย้ายไปอยู่กับญาติ ร้อยละ 20 ไปอยู่บ้านหลังที่สองที่มีอยู่แล้ว ร้อยละ 25 ไปเช่าอยู่ที่อื่น ร้อยละ 15 ไปอยู่บ้านเพื่อน และอีกร้อยละ 5 บริษัทช่วยเหลือจัดการ 
เนื่องจากมีการสอบถามเกี่ยวกับอดีต จึงมีข้อค้นพบสำคัญ คือ ผู้ที่เคยประสบปัญหาน้ำท่วมเมื่อปี พ.ศ.2538 เมื่อมาเจอน้องน้ำเมื่อปีที่แล้ว จะมีทัศนคติต่างจากผู้ที่เพิ่งเจอน้องน้ำปีที่แล้วเป็นครั้งแรก 
อย่างน้อยก็เรื่องการโยกย้ายทำเลที่อยู่อาศัยใหม่ เพราะส่วนใหญ่จะเลือกวิธีอยู่กับน้ำ (ท่วม)(ไม่ต่อสู้) หรือมีที่พักสำรอง



การสอบถามครั้งนี้ ยังแบ่งผู้ตอบแบบสอบถาม เป็นผู้ที่เดือดร้อน และเดือดร้อนมาก หรือผู้ประสบน้ำท่วมบ้าน หรือน้ำท่วมแค่รอบบ้าน และพวกที่อยู่ในเขตชั้นใน หรือบริเวณที่ไม่โดนน้ำท่วม อย่าง นนทบุรี จึงทำให้เห็นว่า คำตอบนั้นแตกต่างกันไป 
อย่างเช่น ผู้ที่โดนจังๆ ก็จะคิดเตรียมการสำหรับปีนี้ไว้แล้วในใจ ในขณะที่ ผู้ที่รอดปลอดภัย ก็ยังไม่คิดอะไรมากนัก เช่นเดียวกับ การย้ายที่อยู่อาศัย ผู้ที่โดนหนักก็คิดโยกย้ายพื้นที่ทันทีที่พร้อม ขณะที่พวกที่โดนเบาๆ ก็ยังคิดจะต่อสู้อีกครั้งในปีนี้ 

คงเป็นเพราะคนไทยเราโชคดีที่บรรพบุรุษเลือกที่ตั้งถิ่นฐานไว้ดี นอกจากจะอุดมสมบูรณ์แล้ว ปัญหาภัยธรรมชาติก็ไม่หนักหนา หากอาจารย์ทั้งสองไปสอบถามคนอินโดนีเซียที่เจอสึนามิหรือภูเขาไฟระเบิด คนญี่ปุ่น ที่เจอคลื่นยักษ์ คนจีนที่เจอแผ่นดินไหว คำตอบหรือทัศนคติคงแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง 
และคงเป็นเพราะเหตุนี้แหละ ที่ทำให้บ้านเมืองยังคงวุ่นวายชิบหายกันตลอดมา ทั้งๆ ที่โดนภัยธรรมชาติเพียงนิดหน่อย
แต่คนไทยก็จะร่วมด้วยช่วยกันซ้ำเติมด้วยน้ำลายให้วุ่นวาย (ฮา)



.