http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-08-28

ฟุคุชิมาสะเทือนโลก(21) (22): นักสังคมวิทยา“วิพากษ์” , รากเหง้า “นิวเคลียร์”ญี่ปุ่น โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน

.

ฟุคุชิมาสะเทือนโลก (21) นักสังคมวิทยา“วิพากษ์”
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน butrton@yahoo.com  คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1670 หน้า 36


ประเด็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมาระเบิดเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ก่อให้เกิดปฏิกิริยาหลายๆ ด้าน ทั้งเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นปรับเปลี่ยนนโยบายพลังงานนิวเคลียร์ เกิดกระแสสังคมต่อต้าน "นิวเคลียร์" ที่รุนแรงขึ้น รวมไปถึงการกระตุ้นให้อุตสาหกรรมพลังงานนิวเคลียร์เร่งหาทางพัฒนาเทคโนโลยีใหม่รองรับกับมาตรฐานความปลอดภัยที่เข้มงวดมากกว่าเดิม
ปฏิกิริยาเหล่านี้ไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น หากทั่วโลกต่างหันมาเฝ้าจับตาถึงทิศทางของ "พลังงานนิวเคลียร์" อย่างใกล้ชิด
ในแวดวงวิชาการก็เช่นกัน สถาบันการศึกษาชั้นนำของโลกร่วมกันนำประเด็น "ฟุคุชิมา" มาถกเถียง ร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ใหม่ๆ


อย่างเมื่อไม่นานมานี้ศูนย์ศึกษาญี่ปุ่น มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย เบิร์กเล่ย์ ให้ความสำคัญกับประเด็นฟุคุชิมา โดยจัดสัมมนาและเชิญ ศาสตราจารย์เออิจิ โอกูมะ นักสังคมวิทยา คณะการจัดการด้านนโยบาย มหาวิทยาลัยเคโอ ประเทศญี่ปุ่นไปพูด
ในเวทีที่ว่านี้ มองเห็นว่า ปรากฏการณ์โรงไฟฟ้าฟุคุชิมา และเหตุแผ่นดินไหว 9.0 ริกเตอร์ ตามด้วยคลื่นสึนามิ เป็นเรื่องใหญ่เพราะทำให้ประเทศญี่ปุ่นเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน เกิดการสูญเสียครั้งใหญ่ทั้งชีวิตผู้คน ทรัพย์สินบ้านเรือนและยังมีการคุกคามของกัมมันตรังสีที่รั่วไหลจากโรงไฟฟ้า 
ผู้จัดสัมมนามองอนาคตข้างหน้าว่าจะหาทางป้องกันวิกฤตได้อย่างไร ขณะที่แนวทางการพัฒนาทางสังคมต้องเป็นไปอย่างยั่งยืน

ศาสตราจารย์โอกูมะ เขียนความชิ้นหนึ่งนำมาเผยแพร่ในเวทีสัมมนา ว่าด้วยหัวเรื่อง "พลังงานนิวเคลียร์และขบวนการต่อต้าน" (Japan"s Nuclear Power and Anti-nuclear Movement from a Socio-Historical Perspective)
โดยเป็นมุมมองในเชิงประวัติศาสตร์และสังคม เริ่มจากยุคแรกของญี่ปุ่นในการกำหนดนโยบายพลังงานนิวเคลียร์ จนกระทั่งมาถึงยุคผันเปลี่ยนทางสังคมเมื่อเกิดวิกฤต "ฟุคุชิมา"
ในบทความดังกล่าวพูดถึงสังคมญี่ปุ่นเข้าสู่ยุค "อุตสาหกรรม" ที่เฟื่องฟูเชื่อมโยงสู่ยุค "พลังงานนิวเคลียร์" ในช่วงระหว่างทศวรรษ 1960-1997
ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นพุ่งสุดๆ ช่วงทศวรรษ 1990

"โอกูมะ" จับกระแสสังคมเศรษฐกิจ โดยดูจากยอดขายสินค้าปลีก ยอดขายรถยนต์รุ่นใหม่ ปริมาณการขนส่งสินค้า รวมไปถึงยอดขายของสื่อสิ่งพิมพ์ 
เป็นธรรมดาเมื่อเศรษฐกิจดี คนมีสตังค์การจับจ่ายซื้อของคล่องมือ 
คนญี่ปุ่นชอบอ่านหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ ใครนั่งรถไฟในญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นรถไฟใต้ดินหรือชินคันเซน หรือในรถเมล์จะเห็นแทบทุกคนมีหนังสือติดไม้ติดมืออยู่ด้วย บางคนเสียบหูฟังฟังเพลงแล้วพลิกหนังสืออ่านเพลิดเพลินจำเริญใจ

นักสังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเคโอเจาะลึกไปถึงกระแสยอดขายหนังสือการ์ตูน "โชเนน จั๊มพ์" (Shonen Jump) เมื่อปี 2548 ทะลุ 6.53 ล้านเล่ม แต่ยอดขายรูดลงมาเมื่อ 4 ปีที่แล้วเหลือแค่ 280,000 เล่ม 
"โอกูมะ" ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างความร่ำรวยฟู่ฟ่าและความตกต่ำทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่เกิดภาวะเงินฝืดเคืองอย่างต่อเนื่อง การบริโภคสินค้าในประเทศทรุดลง และเงินเดือนพนักงานระดับปริญญาตรีที่เพิ่งจบใหม่ๆ ไม่ได้ปรับสูงตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา 
ลูกจ้างชั่วคราว มีรายได้ลดลงตามลำดับตลอดระยะเวลา 20 ปี จาก 5.2 ล้านเยนต่อปีเหลือแค่ 4.6 ล้านเยน 
ภาวการณ์เช่นนี้เองทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นแค่เคยเป็น "นัมเบอร์วัน" เดี๋ยวนี้เปลี่ยนไปแล้ว


จากสังคมอุตสาหกรรมเข้าสู่สังคมหลังยุคอุตสาหกรรม (post-industrialized society)

โอกูมะยกตัวเลขของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เมื่อปี 2508 คนงานในโรงงานมีสัดส่วนภาคเกษตร ป่าไม้ ประมง แต่เมื่อมาถึงปี 2537 จำนวนประชากรย้ายไปอยู่ภาคบริการมากกว่าภาคอุตสาหกรรม 
แม้ว่าภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นยังคงแข็งแรง แต่ยุคทองที่แท้จริงของภาคอุตสาหกรรมคือช่วงระหว่างปี 2508-2547 และยังเป็นยุคทองของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ 
ถ้าเทียบกับสังคมอเมริกันเมื่ออดีต 30 ปีที่แล้ว คนงานในภาคอุตสาหกรรมลดลง 5 ล้านคนในช่วงปี 2532 สัดส่วนคนงานในภาคนี้ลดลงจาก 20 เปอร์เซ็นต์ เหลือแค่ 11 เปอร์เซ็นต์
สาเหตุที่ทำให้ภาคอุตสาหกรรมหดตัวลงเป็นเพราะเกิดวิกฤตการณ์ "น้ำมัน" ในยุค 1970 ราคาน้ำมันพุ่งกระฉูดเป็นสองเท่าตัว

ระหว่างภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐเข้าสู่ยุคทองนั้น เป็นช่วงเดียวกับที่การพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์เป็นไปอย่างก้าวกระโดด สหรัฐผุดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นดอกเห็ดเพื่อป้อนกระแสไฟฟ้าให้กับโรงงานต่างๆ 
จนกระทั่งกลางยุค 1970 อุตสาหกรรมพลังงานนิวเคลียร์สะดุดกึก เพราะภาคอุตสาหกรรมเจอวิกฤตการณ์น้ำมัน ทำให้การผลิตสินค้าลดลง ประกอบกับในปี 2522 เกิดอุบัติเหตุกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทรีไมล์ ไอส์แลนด์
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของสหรัฐที่เคยฉายแสงแวววาว ก็ค่อยๆ หรี่ลง

นักสังคมวิทยาชาวญี่ปุ่น ตั้งข้อสังเกตว่า ยุคทองของภาคอุตสาหกรรมระหว่างสหรัฐและญี่ปุ่น แม้ว่าจะอยู่คนละช่วงเวลา แต่ทั้งสองประเทศมีความเหมือนกันคือ อุตสาหกรรมพลังงานนิวเคลียร์ เติบโตร่วมยุคสมัยด้วย



++

ฟุคุชิมาสะเทือนโลก (22) รากเหง้า “นิวเคลียร์” ญี่ปุ่น
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน butrton@yahoo.com  คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1671 หน้า 36


ศาสตราจารย์เออิจิ โอกูมะ นักสังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเคโอ เปิดมุมมองย้อนอดีตการเริ่มต้นยุคนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นโดยชี้ให้เห็นว่าเชื่อมโยงกับการเมืองและการทหาร ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง 
ในเวลานั้น แม้ว่าญี่ปุ่นเข้าสู่ความเป็นชาติอุตสาหกรรมชั้นนำของทวีปเอเชีย แต่ดำเนินกิจกรรมทางการเมือง การพัฒนาประเทศควบคู่ไปกับการทหาร ภายใต้สโลแกนที่ว่า "ประเทศมั่งคั่ง การทหารแข็งแกร่ง" (enrich the country, strengthen the military) 
กองทัพญี่ปุ่นเตรียมกระบวนการเข้าสู่การทำสงคราม ในปี 2473 
อีกหนึ่งปีต่อมาส่งกำลังเข้ายึดแมนจูเรียของจีน จากนั้นเปิดสงครามเต็มรูปแบบทั่วเอเชีย จนกระทั่งปี 2484 ส่งฝูงบินกามิกาเซ่บุกถล่มฐานทัพเรือเพิร์ล ฮาร์เบอร์ของสหรัฐ
4 ปีถัดมา นายแฮรี่ ทรูแมน ประธานาธิบดีสหรัฐ ส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ถล่มเมืองฮิโรชิม่า และนางาซากิ พังราบเป็นหน้ากลอง
ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้

เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี้ หลานชายของนายทรูแมนเพิ่งเดินทางไปเมืองฮิโรชิม่าเพื่อร่วมรำลึกเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์


ในช่วงสงครามโลก กองทัพญี่ปุ่นเป็นใหญ่ คุมเกมการบริหารของรัฐบาล หน่วยงานต่างๆ จะต้องตอบสนองความต้องการของกองทัพ 
กิจการโรงไฟฟ้าซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นผู้ดูแล ต้องดำเนินนโยบายผลิตกระแสไฟป้อนให้กับอุตสาหกรรมการทหารอย่างต่อเนื่อง
นิปปอน ฮัสโซเดน คาบูชิกิ ไคซา เป็นบริษัทผลิตและขายไฟฟ้าอยู่ในความควบคุมของรัฐบาลญี่ปุ่น กลายเป็นบริษัทผูกขาดกิจการพลังงานไฟฟ้า มีหน้าที่กำกับการผลิตและส่งกระแสไฟฟ้าไปทั่วญี่ปุ่น 
แม้ว่าบริษัท นิปปอน ฮัสโซเดน คาบูชิกิ จะถูกยุบและแยกการบริหารจัดการในพื้นที่ต่างๆ หลังสิ้นสุดสงครามโลกแล้วก็ตาม แต่ระบบการผูกขาดกิจการพลังงานไฟฟ้าของญี่ปุ่นยังสืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

รัฐบาลญี่ปุ่นวางนโยบายการผลิตกระแสไฟฟ้า แต่ให้เอกชนเข้าบริหารจัดการ เพื่อลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐ ภายใต้กฎหมายว่าด้วยกิจการไฟฟ้า กำหนดไว้ว่าอัตราค่ากระแสไฟฟ้าจะสูงกว่าต้นทุนการผลิตที่ 4 เปอร์เซ็นต์ 
บริษัทเอกชนพอใจข้อกฎหมายนี้เพราะได้ผลกำไรอย่างแน่นอน อีกทั้งยังกำหนดให้ผู้บริโภคต้องใช้กระแสไฟฟ้าของบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ขายในพื้นที่นั้นๆ จะไปซื้อไฟจากบริษัทอื่นไม่ได้
นี่เป็นที่มาที่ทำให้บริษัทไฟฟ้าของญี่ปุ่นพากันดี๊ด๊าเมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นอนุญาตให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ เพราะแม้ว่าจะลงทุนสูงแต่คุ้มค่ากับผลตอบแทนอีกทั้งยังเปิดทางให้เอกชนสามารถตัดสินใจแผนการผลิตในอนาคตได้ นอกจากนี้แล้วรัฐบาลยังช่วยเหลือโรงไฟฟ้าในรูปแบบหลากหลาย 
ระบบจัดการไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น กำหนดนโยบายโดยรัฐบาล แต่ภาคเอกชนบริหารจัดการ จึงไม่เหมือนกับฝรั่งเศส หรือรัสเซีย ที่เป็นกิจการของรัฐ



โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกของโลก เกิดขึ้นเมื่อปี 2494 เวลานั้นทิศทางของพลังงานนิวเคลียร์สดใสมาก 
ใครๆ พากันคาดหวังว่านิวเคลียร์เป็น "พลังงานในฝัน" 
โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์คือสัญลักษณ์ของยุค "อุตสาหกรรม" อันรุ่งเรือง 
รัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เหมือนมหาอำนาจสหรัฐและอังกฤษ แต่เรียกชื่อแผนก่อสร้าง "โรงงานพลังงานอะตอมมิก" เลี่ยงคำว่า "นิวเคลียร์" เพราะแสลงหูชาวญี่ปุ่นที่เพิ่งผ่านประสบการณ์ถล่มฮิโรชิม่า

แถมยังมีแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์บริเวณเขตเมืองแต่นักวิชาการประเมินว่าถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา เมืองจะพังพินาศยับเยินเหมือนอดีต
ขณะที่ฝ่ายค้านในสภาไดเอตไม่เห็นด้วยกับการดึงดันนำพลังงานนิวเคลียร์มาพัฒนาอุตสาหกรรมและทิศทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น และมีข่าวแพลมๆ ออกมาว่า รัฐบาลมีแผนพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อีกด้วย 

ปี 2504 ญี่ปุ่นออกกฎหมายว่าด้วยการชดเชยความเสียหายจากนิวเคลียร์ กรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เกิดอุบัติเหตุ 
ยุคทศวรรษ 1960 เศรษฐกิจของญี่ปุ่นเติบโตอย่างรวดเร็ว โรงงานอุตสาหกรรมผุดทั่วประเทศ การปล่อยของเสียยังเป็นไปอย่างเสรี ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษรุมเร้า ไม่ว่าจะเป็นน้ำเน่าเสีย ควันดำโขมง ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากพิการ ลูกหลานเกิดมาไม่สมประกอบ เพราะกินอาหารปนเปื้อนสารพิษ เป็นโรคอิไต-อิไต มีอาการเจ็บปวดตามข้อกระดูก โรคมินามาตะ เกิดจากการกินเนื้อปลาปนเปื้อนสารปรอท 
มลพิษที่ปกคลุมไปทั่วเมือง บีบคั้นให้ประชาชนต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องรัฐบาลญี่ปุ่น เร่งออกกฎหมายเพื่อแก้ปัญหา  
กลุ่มต่อต้านสิ่งแวดล้อมเป็นพิษถือกำเนิดขึ้นมาในปลายทศวรรษ 1960 และเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่รัฐบาลญี่ปุ่นกำหนดแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เรียบร้อยแล้ว


ปี2513 ญี่ปุ่นเปิดเดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรก ตามด้วย โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมา ไดอิจิ ในปีถัดมา
เหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมาระเบิดเมื่อปีที่แล้ว คำนวณความเสียหายเป็นมูลค่ากว่าหนึ่งหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แต่ตามกฎหมายว่าด้วยค่าชดเชยกำหนดว่าผู้ได้รับความเสียหายจะได้รับจากเงินกองทุนของบริษัทผลิตไฟฟ้า ในปัจจุบันกำหนดจ่ายไม่เกิน 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ

เพราะฉะนั้น ส่วนที่เกิน รัฐบาลญี่ปุ่นอาจจะต้องยื่นมือให้ความช่วยเหลือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมา



.