http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-08-17

สะท้อนจากประธาน ส.ว., ลึกแต่ไม่ลับ 17ส.ค.55

.
คอลัมน์ ในประเทศ - เหรียญทองของ "นิคม" เข้าวินแบบ วิน-วัน น้ำใจ+สปิริตนักกีฬา กล้าเทคะแนนคืน ?
รายงานพิเศษ - จับอาการ "เม้งแตก" ของ "บิ๊กตู่" จากไฟใต้ ถึง โผทหาร ศึกวงศ์เทวัญ-บูรพายัคฆ์ ชิงทัพ 1 กับ "ดาว์พงษ์"
คอลัมน์ โล่เงิน - ล้างอาถรรพ์เก้าอี้ "ผบ.ตร." "เพรียวพันธ์" นั่งครบเกษียณ ประเมินผลงาน "สอบผ่าน"


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

สะท้อนจากประธาน ส.ว.
โดย นายดาต้า  คอลัมน์ เมนูข้อมูล
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1670 หน้า 21


ผลการเลือกตั้งประธานวุฒิสภา ชี้ให้เห็นว่าการเมืองไทยเปลี่ยนไประดับหนึ่งแล้ว

รอบแรกลงชิงกัน 4 คน จาก 146 เสียงของ ส.ส. ที่เหลืออยู่ สายแต่งตั้ง "พิเชต สุนทรพิพิธ" ได้ 63 คะแนน "สุนันท์ สิงห์สมบุญ" ได้ 2 คะแนน ขณะที่สายเลือกตั้ง "นิคม ไวยรัชพานิช" ได้ 46 คะแนน "เกชา ศักดิ์สมบูรณ์" ได้ 35 คะแนน
เพราะกติกาผู้ชนะต้องได้คะแนนกึ่งหนึ่งคือ 73 เสียง เมื่อไม่มีใครได้ต้องให้ อันดับ 1 คือ "พิเชต" สู้กับอันดับ 2 คือ "นิคม" อีกรอบ
การโหวตในรอบ 2 สายเลือกตั้งชนะ "นิคม" ได้ 77 เสียง ขณะที่ "พิเชต" ได้ 69 เสียง 
เป็นครั้งแรกที่ฝ่ายเลือกตั้งชนะ ฝ่ายสรรหาที่บอกกันว่ามีเอกภาพมากกว่า


และนี่คือบทสรุปว่าการเมืองเปลี่ยนไปแล้ว แนวโน้มของวุฒิสภาเอนเอียงมาอิงแนวคิดประชาธิปไตยที่มาจากประชาชนมากขึ้น
นั่นหมายความว่าทิศทางใหม่ของงานทางการเมืองคือต้องฟังเสียงประชาชนมากขึ้น


ว่าไป การโหวตเลือกประธานวุฒิสภาครั้งนี้ ถือว่าเป็นการฟังเสียงประชาชนก็คงไม่ผิดนัก ด้วยสวนดุสิตโพลล์ล่าสุดได้สำรวจความเห็นของประชาชนออกมา 
ในคำถามที่ว่าอยากได้ประธานวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง หรือมาจากการสรรหา ร้อยละ 54.1 อยากให้มาจากสายเลือกตั้ง ขณะที่ร้อยละ 25.01 บอกมาจากสายอะไรก็ได้ มีแค่ร้อยละ 20.83 เท่านั้นที่อยากให้มาจากสายสรรหา 
การโหวตของ ส.ว. ส่วนใหญ่จึงตรงกับใจประชาชน
เพราะการเมืองเปลี่ยนมาสู่การฟังเสียงประชาชนมากขึ้น ผลโพลของสวนดุสิตล่าสุดจึงยังมีประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อ "นิคม ไวยรัชพานิช" อยู่อีกบางเรื่อง 
อย่างเช่นในคำถามที่ว่า อยากให้ประธานวุฒิสภามีคุณสมบัติอย่างไร ร้อยละ 52.44 บอกว่าอยากให้มีความเป็นกลาง ซื่อสัตย์ เที่ยงตรงยุติธรรม ไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด
ร้อยละ 24.18 ขอให้มีประวัติไม่ด่างพร้อย มีการศึกษาดี มีความรู้ความสามารถตรงกับตำแหน่ง ทำงานดี 
ร้อยละ 23.38 ต้องการคนเป็นผู้นำ เด็ดขาด กล้าตัดสินใจ ยึดความถูกต้องตามกฎระเบียบ หรือข้อบังคับตามกฎหมาย

เมื่อถามว่าอยากฝากอะไรประธานคนใหม่ ร้อยละ 40.83 บอกว่าให้ทำหน้าที่อย่างยุติธรรมและเป็นกลาง ซื่อสัตย์สุจริตต่อหน้าที่ ร้อยละ 37.55 ขอให้ตั้งใจทำงาน ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ทำเพื่อประเทศชาติอย่างเต็มที่ ร้อยละ 21.62 ทำงานอย่างรวดเร็ว ตรงไปตรงมา
นั่นเป็นเรื่องที่ประธานวุฒิสภาควรจะต้องนำมาพิจารณา



นับวันแนวโน้มประชาชนจะเอนเอียงมาเลือกฝ่ายประชาธิปไตยของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชนมากขึ้น แม้ในบางกลุ่มจะยังมีความคิดไม่เชื่อมั่นในให้ประชาชนเดินนำ แต่กลุ่มที่มาความคิดเช่นนี้นับวันจะต้องจำต้องยอมรับสภาพมากขึ้น เพราะถึงอย่างไรการเมืองก็หนีไม่ออกต้องตัดสินโดยประชาชนอยู่ดี 
การใช้กองทัพเข้ามาจัดการปกครองประเทศนับวันจะเป็นไปไม่ได้ขึ้นทุกที 

แนวโน้มเช่นนี้น่าจะเป็นเรื่องน่ายินดีของพรรคการเมืองทุกพรรค  
เพราะพรรคการเมืองมีประชาธิปไตยเป็นดินอุดมเอื้อต่อการเติบโต หาใช่อำนาจเผด็จการไม่
จึงน่าแปลกใจยิ่งว่ากลับมีพรรคการเมืองบางพรรค ปฏิเสธที่จะเดินการเมืองในวิถีประชาชน 
แปลกตรงที่สถานการณ์ดำเนินไปไกลถึงเพียงนี้ ยังคิดไม่ได้ว่าไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากเดินเคียงข้างไปกับประชาชนได้อย่างไร



++

คอลัมน์ ลึกแต่ไม่ลับ  โดย จรัญ พงษ์จีน
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1670 หน้า 8


"ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" มีด่านหิน รอทดสอบ-พิสูจน์ ยืนจังก้าเรียงหน้ากระดานอยู่ 3 ดอกซ้อนด้วยกัน คือ
1. วาระพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 วงเงิน 2.4 ล้านบาท ในวาระ 2 และ 3 ซึ่งสภาผู้แทนราษฎร โดยพรรคฝ่ายค้านหรือ "ประชาธิปัตย์" กำลังรุมชำแหละกันด้วยความเมามัน จะแล้วเสร็จในวันที่ 17 สิงหาคม
2. แถลงนโยบาย กับผลงานบริหารครบ 1 ปีของรัฐบาล โดยมอบหมายให้ "นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล" รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นโต้โผใหญ่ รวบรวมข้อมูล ทำเอกสาร เพื่อจัดพิมพ์ผลงานออกมาเป็นรูปเล่ม กำหนดให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 23 สิงหาคม
3. ศึกใหญ่สุด ว่าด้วยญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่ง "ประชาธิปัตย์" ฟอร์มทีม และวางตัวขุนพลน้อย-ใหญ่ไว้หลวมๆ เพื่อเปิดฉากยำใหญ่โดยเลือกที่จะล่อเป้า "นายกฯ ปู" เพียงผู้เดียว วางโปรแกรมเชือดไว้ช่วงต้นเดือนกันยายน ก่อนสภาปิดสมัยประชุมเล็กน้อย

3 กรรม 3 วาระ ที่ "ยิ่งลักษณ์" เป็นฝ่ายตั้งรับในช่วงเวลาประชิดติดกัน ประเมินตามสภาพ ชื่อชั้นกันดูแล้ว ประมาณการกันว่า การที่ "มือใหม่หัดขับ" ระดับนี้ ถูกรุมกินโต๊ะ "กระชับพื้นที่" ด้วยฝีมือของขาใหญ่ เขี้ยวลากดินทุกประดาแด ระดับประชาธิปัตย์ ถือว่า สาหัสสากรรจ์ ยิ่งนัก
และมีโอกาสที่จะดับคาเขียงได้ค่อนข้างสูง

ในขณะเดียวกัน ศึกชำแหละงบประมาณ-แถลงผลงานครบ 1 ปี-ศึกซักฟอก หาก "ประชาธิปัตย์" บ้อท่า เหลวเป๋ว ไม่มีข้อมูล น็อกไม่ลง "ยิ่งลักษณ์" สอบผ่านฉลุย แนบบเนียน 3 ด่านอันตราย โอกาสจะกลับมาเอื้อประโยชน์เปิดให้ กินกำไรไปหลายเด้ง
สามารถเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายได้เต็มพิกัด ปูพรมสูตร "ประชานิยมยั่งยืน" รุกคืบสืบไปได้ยาวไกล และดีไม่ดีอาจจะถึงขั้น ก้าวข้ามปัญหา ยืนระยะได้ครบเทอมตามเจตนา


1 ปีของรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" ถมประชานิยมลงทุกพื้นที่กระจัดกระจายในหลายภาคส่วน ที่เป็นตัวเป็นตนแล้ว อาทิ
1.ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท
2.เรียนจบปริญญาตรีเงินเดือน 15,000 บาท
3.แจกแท็บเล็ต เด็กนักเรียนชั้น ป.1
4.พักหนี้เกษตรกร
5.บ้านหลังแรก 6.รถยนต์คันแรก
7.บัตรเครดิตเกษตรกร 8.บัตรทองฉุกเฉิน 9.กองทุนสตรี 10.บัตรเครดิตพลังงาน รับอานิสงส์ทั้ง รถแท็กซี่ รถจักรยานยนต์ รถตู้

"ประชานิยมยั่งยืน" ของ "ยิ่งลักษณ์" ไม่เทน้ำหนักจำเพาะเจาะจง "ชนชั้นล่าง-รากหญ้า" ยังโปรยเผื่อแผ่ไปยังชนชั้นสูง-ชนชั้นกลาง คือนโยบายลดภาษีนิติบุคคลจากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 23 และในปีหน้าดั๊มพ์ลงเหลือร้อยละ 17 
"คนเมือง" ที่ได้รับอานิสงส์จากนโยบาย แม้จะ "เกลียดทักษิณ" เข้ากระดูก แต่มีบางส่วนเริ่มจะแยกแยะ พร้อมจะ "เอาปู"



ปัจจัยที่ "ยิ่งลักษณ์" น้องใหม่แห่งวงการ "โตเร็ว" และส่อเค้าว่าจะเพิ่มความแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ ประการหนึ่ง เพราะโปรยนโยบายประชานิยม ลงทุกภาคส่วน และหลายโครงการกำลังเบ่งบาน เสียงตอบรับสูง แต่อีกประการหนึ่งต้องยอมรับว่า เงื่อนไขหนึ่งมาจากคู่ต่อสู้ คือ "ประชาธิปัตย์" คู่แข่งเดินเกมผิดพลาดเองมาตลอด
และจุดอ่อนหนึ่งที่ก่อองคาพยพ ให้พรรคเก่าแก่แพ้แบบ "ซ้ำซาก" คือ "โครงสร้างพรรค" ซึ่งถูกมองว่า เก่าคร่ำครึสนิมจับเกรอะ ตราบใดที่ไม่ยอมปรับปรุงแก้ไข ตราบนั้นจะยังพ่ายแพ้ต่อไปไม่หยุดหย่อน 
กับตัวบอนไซหนึ่ง ซึ่งบรรดาแกนนำเอง ยังตีโจทย์ไม่ออก ขบไม่แตกคือ การพัฒนาการสไตล์ ถอยหลัง ค่อยๆ กลายพันธุ์จาก "สถาบัน" มืออาชีพ เป็น "เจเนอเรชั่น" โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว

กรอบอันแข็งแกร่งและทรงพลังของประชาธิปัตย์ จุดหนึ่งคือ ใครก็ตามจะสมัครเป็นสมาชิกพรรค เป็นผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง มีขั้นตอน เดินทางลัดไม่ได้ ที่ผ่านมาทุกเทศกาลเลือกตั้ง มีจอมยุทธ์จากหลายหลากอาชีพ จากหลายวงการ นักวิชาการ-ข้าราชการ-นักธุรกิจ-ทหาร

แต่ทศวรรษใหม่ เน้นหนักไปใช้บริการสูตร "ทายาท" จึงได้ ส.ส. มือละอ่อน
ประเภทตัวกลั่น "มืออาชีพ" แทบจะไม่เห็นเงาร่างในระยะหลังๆ
ส่งผลให้ประชาธิปัตย์ พรรคเก่าแก่เป็น "สถาบัน" ผลิตคนการเมืองออกมาเต็ม กลายเป็น "สนามเด็กเล่น" ไปโดยอัตโนมัติ จึงเป็นปฐมเหตุหนึ่งที่ทำให้ระยะหลังๆ พ่ายแพ้ศึกเลือกตั้งติดต่อกัน แพ้กระทั่ง "ทีมบี-ทีมซี"

เมื่อสัปดาห์ก่อน มีมือมืดปล่อยข่าวว่าพรรคประชาธิปัตย์ จะมีคิวยกเครื่องใหม่ทั้งโครงสร้าง กรรมการบริหาร รวมถึง หัวหน้าพรรค ซึ่งหมายถึง "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" และ "เฉลิมชัย ศรีอ่อน" แต่แกนนำดาหน้าออกมาปฏิเสธกันเรียบร้อยแล้ว ระบุว่า ฝ่ายตรงข้ามคือเพื่อไทย ปล่อยของหวังทำความเครดิต และสร้างความแตกแยก จึงไม่เป็นความจริง

กระนั้นก็ตาม มีการจัดสูตร หาจุดลงตัว กรณีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในพรรคประชาธิปัตย์จริง
จับไขว้แกนนำ ระหว่าง "สายใต้-กทม." อันเป็นฐานที่มั่นใหญ่ 
1."บัญญัติ-กรณ์" 2."กรณ์-ถาวร" 3."กรณ์-จุรินทร์" 4."จุรินทร์-อภิรักษ์"
แต่ไม่ว่าจะจัดแถวซิกแซ็ก สลับฟันปลาไปมารูปแบบไหน ก็ยังหาสูตรที่เรี่ยมเร้เรไรไม่ได้

มีการฟันธงว่า ประชาธิปัตย์ สะสมความพ่ายแพ้มาแบบยืดเยื้อยาวนาน และยังมองหาหนทางชนะแทบไม่ได้ มีกรณีเดียว คนเดียว ที่น่าจะช่วยเยียวยา และฟื้นฟูให้กลับมาผงาด และสามารถหักด่าน โค่น "เครือข่ายทักษิณ" คือต้องดึงตัว "ด๊อกเตอร์ซุป-ศุภชัย พานิชภักดิ์" เลขาธิการอังค์ถัด 
เนื้อกษัตริย์เก่าแก่ของประชาธิปัตย์ เป็นผู้กลับมากอบกู้ คนอื่น สูตรอื่น ยังไม่เห็นประตู



+++

เหรียญทองของ "นิคม" เข้าวินแบบ วิน-วัน น้ำใจ+สปิริตนักกีฬา กล้าเทคะแนนคืน???
คอลัมน์ ในประเทศ  ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1670 หน้า 13


เหรียญทองของ "นิคม" เข้าวินแบบ วิน-วัน น้ำใจ+สปิริตนักกีฬา กล้าเทคะแนนคืน??? 
จบไปสดๆ ร้อนๆ กับการเลือกตั้งประธานวุฒิสภา และชัยชนะของ "นิคม ไวยรัชพานิช" ส.ว.ฉะเชิงเทรา รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 กับคะแนนเสียงที่ก้ำกึ่ง ในการเอาชนะ "พิเชต สุนทรพิพิธ" ส.ว.สรรหา ในยกที่ 2 ด้วยคะแนน 77 ต่อ 69 ซึ่งจากคะแนนถือว่าสูสีห่างกันแค่เกือบ 10 คะแนน 
ต่างจากยกแรก ที่ "พิเชต" มีคะแนนนำ "นิคม" ถึง 63 ต่อ 46 แต่นั่นก็เป็นเพราะมีตัวแบ่งแต้ม ทั้ง "เกชา ศักดิ์สมบูรณ์" ส.ว.ราชบุรี ที่ได้ไป 35 คะแนน และ "สุนันท์ สิงห์สมบุญ" ส.ว.สรรหา อีก 2 คะแนน

ศึกชิงชัยเก้าอี้ประธานวุฒิสภาในครั้งนี้ หลายคนเต็งข้าง "พิเชต" ที่น่าจะเข้าวิน หากนับจากเสียง ส.ว.สรรหา รวมกับ ส.ว.ภาคใต้ สายประชาธิปัตย์ มากโขเอาการ เพราะมีตัวอย่างให้เห็นมาแล้ว จากการเลือก พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ส.ว.สรรหา เป็นประธานวุฒิสภา เมื่อวันที่ 22 เมษายน 54 ด้วยเสียงสนับสนุน 94 เสียง ที่ทำให้ "นิคม" แพ้ตั้งแต่ยกแรก 
ตัวแปรสำคัญในศึกครั้งนี้ คือเสียงของ "เกชา" ที่ยืนยันมาโดยตลอดว่าจะลงชิงเก้าอี้ด้วย แม้จะเคยถอยไปบ้าง แต่สุดท้ายก็กลับเข้าสู่สังเวียนด้วยเหตุผลที่ว่า "นิคม" ไม่ยอมทิ้งเก้าอี้รองประธานวุฒิฯ ตามที่เคยมีการเจรจากันไว้ก่อนหน้า  
ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับ "นิคม" หากทิ้งเก้าอี้รองประธานวุฒิฯ แล้ว เขาจะขาลอยทันที เพราะไม่มีอะไรการันตีได้เลยว่า "นิคม" จะสามารถคว้าเก้าอี้ประธานวุฒิฯ ได้ดังหวัง จึงเป็นการเสี่ยงเกินไป ดังนั้น "นิคม" จึงเลือกที่จะกอดเก้าอี้รองประธานวุฒิฯ ไว้ เพราะหากแพ้ก็ถือว่ายังอยู่ในตำแหน่ง และหากชนะ อย่างไรเสียก็ต้องลาออกจากตำแหน่งรองประธานอยู่ดี 
เกมนี้ "นิคม" จึงเลือกเดินแบบวินๆ


การต่อสู้เป็นไปอย่างดุเดือด เมื่อต่างฝ่ายต่างเดินสายล็อบบี้ ทั่งกลุ่ม ส.ว.สรรหา เปิดเกมล็อบบี้ ส.ว.เลือกตั้ง ที่โรงแรมดังย่านลาดพร้าว

ส่วนฝ่ายเลือกตั้งก็ไม่น้อยหน้า เดินเกมล็อบบี้ฝ่านสรรหาได้จำนวนหนึ่ง โดยมีความพยายามจากฝ่ายเลือกตั้ง ที่ต้องการที่จะได้เก้าอี้ประธานวุฒิฯ บ้าง หลังจากอยู่ในตำแหน่ง ส.ว. กันมากว่า 4 ปี และใกล้ครบเทอมในเวลาอีกเพียงปีครึ่ง ในขณะที่ฝั่งสรรหา ได้ครองตำแหน่งมาแล้ว 2 คน ทั้ง "ประสพสุข บุญเดช" และ "พล.อ.ธีรเดช มีเพียร" 
ดังนั้น งานนี้ฝ่ายเลือกตั้งจึงสู้เต็มสูบ ในขณะที่ฝั่งสรรหา ไม่ได้สู้เต็มกำลังเท่าที่ควร เพราะมีความเห็นอกเห็นใจฝั่งเลือกตั้งที่เหลืออายุอยู่ไม่นาน ต่างจากฝ่ายสรรหาที่จะต้องอยู่ต่ออีก 4 ปีกว่า

และในการแข่งขั้นครั้งนี้ "เกชา" ได้รับเสียงชื่นชมจากฝั่ง ส.ว.เลือกตั้ง ว่ามีน้ำใจนักกีฬาเป็นล้นพ้น เพราะหลังจากที่รู้ว่าตัวเองแพ้ ก็เทคะแนนให้กับ "นิคม" แม้จะมีคะแนนหลุดไปฝั่ง "พิเชต" บ้าง 4-6 เสียง แต่เชื่อว่าอย่างน้อย 2 เสียงในฝั่งพิเชต คือ "เกศินี แขวัฒนะ" ส.ว.อยุธยา ผู้เสนอชื่อ "สุนันท์ สิงห์สมบุญ" ส.ว.สรรหา ลงชิงเก้าอี้ รวมถึงเจ้าตัว ส่วนอีก 4 เสียง เป็นไปได้ว่าอาจะเป็นเสียง ส.ว.สรรหา ที่อยู่ฝั่ง "เกชา" แล้วสะวิงกลับ 
ด้วยความที่ฝั่งเลือกตั้งต้องการความเป็นเอกภาพ และต้องการชัยชนะ ก่อนหน้านี้จึงพยายามเกลี้ยกล่อม "เกชา" ให้ถอนตัวตั้งแต่แรก โดย "ดิเรก ถึงฝั่ง" ส.ว.นนทบุรี ได้ทำเป็นแบบอย่าง ในการแสดงสปิริตถอนตัวจากการลงแข่ง 
เพราะเกรงว่าหาก ส.ว.เลือกตั้ง ลงสู้ศึกหลายคนเสียงจะแตกกระเซ็นเป็นแน่



แต่นอกจากการเดินเกมของ ส.ว. ด้วยกันเองแล้ว ยังไม่เพียงพอที่จะคว้าเก้าอี้ให้อยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายสรรหา หรือฝ่ายเลือกตั้ง ดังนั้น ฝั่งการเมืองจึงต้องสู้ยิบตาไม่แพ้กัน เนื่องจากในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์เอง ก็จะแพ้ไม่ได้ เพราะเมื่อเก้าอี้ประธานสภา และประธานรัฐสภา ตกเป็นของฝ่ายรัฐบาลแล้ว ฝ่ายค้านจึงจำเป็นที่จะต้องมีบัลลังก์ในการกุมอำนาจฝ่ายหนึ่งไว้ให้ได้เช่นกัน 
งานนี้ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" จึงทุ่มสุดตัวกับการวางหมาก เดินสายล็อบบี้ ทั้ง ส.ว.สายใต้ และ ส.ว.ภาคกลาง เพื่อหวังที่จะได้เก้าอี้ประธานสภา

ในขณะที่ฝั่งพรรคเพื่อไทย อ่านเกมขาด เพราะเชื่อว่า แม้ "เกชา" ที่อยู่ภายใต้การสนับสนุนของ "พินิจ จารุสมบัติ" จะไม่ถอนตัวอย่างแน่นอน เนื่องจากไม่พอใจ "นิคม" ด้วยสาเหตุพื้นที่ทับซ้อนใน จ.ฉะเชิงเทรา และไม่ต้องการให้ "นิคม" ได้เก้าอี้นี้ไปครอง 
และเมื่อถึงเวลา "เกชา" จะไม่สามารถสู้ "นิคม" ได้ในที่สุด คะแนนของ "เกชา" ก็จะต้องเทมาให้กับ "นิคม" เพราะฝ่ายเลือกตั้งไม่เทคะแนนให้ฝ่ายสรรหาแน่นอน


อย่างไรก็ตาม ผลที่ออกมาเป็นการส่งสัญญาณบางสิ่ง ที่สะท้อนให้เห็นถึงอำนาจบางอย่างนอกสภา ที่ไม่สามารถเป่านกหวีดให้เหมือนเคย อย่างที่ปรากฏให้เห็นมาก่อนหน้านี้ว่า ไม่ว่าจะอย่างไร ฝั่งเลือกตั้งก็ไม่เคยเอาชนะฝั่งสรรหาได้เลย ตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญปี 2550 ขึ้นมา ทั้งที่มีการกำหนดให้ ส.ว. มีสองแบบ คือ แบบเลือกตั้ง กับ แบบสรรหา รวมทั้งหมดกำหนดให้มี 150 คน โดยให้แบบเลือกตั้งมีได้จังหวัดละหนึ่งคน ที่เหลือให้เป็นแบบสรรหา ซึ่งรู้กันดีอยู่แล้วว่า ส.ว. เลือกตั้งมีอยู่ 76 คน และแบบสรรหามีอยู่ 74 คน ทั้งที่แบบเลือกตั้งมีมากกว่าแบบสรรหาอยู่แล้ว แต่กลับไม่เคยเอาชนะได้ 
อย่างที่ "พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์" อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งประธานวุฒิฯ ไม่กี่วันว่า
"สมมุติว่า ส.ว.ฝ่ายสรรหา ได้เป็นประธานวุฒิสภา ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ถ้า ส.ว.ฝ่ายเลือกตั้งได้ ผมว่าแปลก เพราะว่าโดยหลักการก็ต้องรวมกับวุฒิสภา สายที่ไม่เอารัฐบาลอยู่แล้ว เพราะว่าต้องมีฝั่งฝ่ายค้านที่มาจากจังหวัดของเขา โดยหลักการจริงแล้วไม่น่าจะมีฝั่งรัฐบาล แต่ถ้า ส.ว.ฝั่งรัฐบาลชนะ ก็ถือว่ามีผลสะเทือน เพราะทำให้เป็นการล้างสารตกค้างจากการรัฐประหาร ก็เป็นไปได้ว่าวุฒิสมาชิกที่ต้องการอยู่ในสังคมประชาธิปไตย ก็ต้องหันมาอยู่ในเกมประชาธิปไตยมากขึ้น ต้องยอมรับการนำของ ส.ว. ฝั่งประชาธิปไตยมากขึ้น ก็ไม่แปลก เพราะยุคหนึ่งที่ต่อให้วุฒิสภา มาจากการแต่งตั้ง ประธานสภาก็มาจากการเลือกตั้งอยู่ดี"


ดังนั้น แม้ว่าที่ผ่านมาสังคมมักไม่ได้เห็นการทำหน้าที่ตรวจสอบองค์กรอิสระของวุฒิสภาเท่าที่ควร จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่า ส.ว. ส่วนหนึ่งที่มาจากการสรรหา มีต้นกำเนิดเดียวกันกับบุคคลที่อยู่ในหลายๆ องค์กรอิสระ ที่เกิดจากผลพวงของการปฏิวัติ 
แต่ต่อจากนี้สังคมจะคาดหวังการทำหน้าที่ตรวจสอบองค์กรอิสระมากยิ่งขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา

และที่นอกเหนือไปกว่านั้น ที่การเลือกตั้งรองประธานวุฒิฯ ที่กำลังจะมีขึ้นในไม่ช้า ยังมีความเป็นไปได้สูงว่า ฝั่งเลือกตั้งจะคว้าเก้าอี้ได้อีก 1 ตำแหน่ง เพราะหากนับเสียงในครั้งนี้ ก็ไม่สามารถตัดชื่อ "เกชา" ออกได้เลย
เพราะอย่างน้อย "เกชา" ก็มีบทบาทสำคัญกับตำแหน่งของ "นิคม" และเสียงที่ "เกชา" มีอยู่ 35 เสียง รวมของ "นิคม" 46 เสียง ที่จะต้องตอบแทนน้ำใจคืนให้กับ "เกชา" จะทำให้ฝั่งเลือกตั้งก็จะยึดอำนาจยกแผง... 
อยู่ที่ว่า "นิคม" จะเดินตามนั้นหรือไม่ หรือในใจมีใครแล้ว...



+++

จับอาการ "เม้งแตก" ของ "บิ๊กตู่" จากไฟใต้ ถึง โผทหาร ศึกวงศ์เทวัญ-บูรพายัคฆ์ ชิงทัพ 1 กับ "ดาว์พงษ์" Man behind the scene
รายงานพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1670 หน้า 14


แม้จะไม่ใช่สิ่งแปลกที่ บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. จะมีอารมณ์ฉุนเฉียว และเสียงดัง 
ทั้งๆ ที่ในระยะหลัง ตั้งแต่เข้าสู่ยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงที่สวยสง่า ก็จะไม่ค่อยเห็น พล.อ.ประยุทธ์ อารมณ์เสียเท่าใดนัก 
หากแต่ อารมณ์ดุเดือดของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ระเบิดใส่นักข่าว ที่ถามเรื่องการแก้ปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น กำลังถูกมองว่า เพราะไม่รู้จะโทษใคร หน่วยงานไหน จะโทษทหารลูกน้องตัวเองก็ไม่ได้ เพราะทุกคนทำดีที่สุด ปรับยุทธวิธีตามที่สั่งการหมดแล้ว แถมจะโทษรัฐบาลก็ไม่ได้ 
หะแรก ก็ต้องด่ากราดประณามโจรใต้ว่าเป็น โจรห้าร้อย ไอ้บ้า รวมทั้งการขอไม่ให้เสนอข่าวให้เครดิตโจรใต้ว่าเก่งกาจ เพราะก็เป็นแค่ อีแอบ และหมาลอบกัด 

แต่ที่สุดทหารลูกน้องก็ต้องเที่ยวขอให้สื่อตัดคำรุนแรงเหล่านี้ออกไป เพราะเกรงจะสร้างประวัติศาสตร์ซ้ำรอยกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตอนเป็นนายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่า "โจรกระจอก" 
รวมไปถึง การแสดงความรำคาญ ต่อพวกที่รู้ดี รู้การแก้ปัญหาวิพากษ์วิจารณ์ แนะนำอย่างนั้นอย่างนี้ "กรรมการเยอะ พี่เลี้ยงเยอะ" จนต้องหลุดออกมาว่า "ใครที่เก่งๆ ลองมาเป็น ผบ.ทบ. ซิ"  
แล้วที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ ก็ต้องมาลงที่สื่อ ที่เปรียบเสมือนกระโถน และที่รองรับอารมณ์ถึงขั้นขึ้นวะ ขึ้นโว้ย ออกไมค์ 
"นี่ผมไม่ได้โกรธนะ ถ้าผมโกรธ ผมฆ่าคุณไปแล้ว" บิ๊กตู่ เปรย 
แถมเมื่อถามคำถามนักข่าวกลับแล้ว ตอบไม่ได้ "เดี๋ยวเอาปืนยิงซะนี่"

เหมารวมไปจนการสั่งห้ามไม่ให้นักข่าวหยิบโทรศัพท์มือถือ ขึ้นมาดู มาอ่าน มากด ทั้งๆ ที่นักข่าวมักจะโน้ตประเด็นข่าวบนจอโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟนกันแล้ว 
"ผมพูดแล้วก็ไม่เข้าใจ มัวแต่กดโทรศัพท์ ต่อไปถ้าใครกดโทรศัพท์ ผมจะหยุดพูด" บิ๊กตู่ จัดระเบียบ 
ด้วยเพราะการเป็น ผบ.ทบ. นั้น มีความเชื่อมั่นว่า ทุกคนจะต้องฟังอย่างตั้งใจ พร้อมสบตา เฉกเช่นที่ทหารใน ทบ. ต้องกระทำเวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์ พูด ไม่ว่าจะด้วยอารมณ์ใด แม้จะไม่กล้าสบตา แต่ก็ต้องฟัง


ยิ่งในการประชุมสรุปสถานการณ์รายวันทุกเช้า หรือ morning brief ที่มีการถ่ายทอดผ่านระบบเทเลคอนเฟอเรนซ์ ไปยังกองทัพภาคต่างๆ แต่ทว่า ให้ถ่ายทอดเฉพาะภาพเท่านั้น ไม่ให้ถ่ายสัญญาณเสียง เพราะเกรงว่า เวลา ผบ.ทบ. ตำหนิบิ๊กทหารคนไหน จะทำให้อับอายต่อลูกน้อง และเสียการปกครอง 
เมื่อไม่มีการถ่ายทอดเสียง ทหารในที่ประชุมจากกองทัพภาคต่างๆ ก็มักจะแอบคุยกัน จากนั้นไม่นาน ทางแม่ทัพภาค ก็จะได้รับคำตำหนิจาก ผบ.ทบ. 
ดังนั้น จึงไม่ต้องสงสัยว่า นักข่าวสายทหารจะต้องพบเจอกับอารมณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่นอกจากพูดเสียงดัง แล้วยังตบโพเดี้ยมปัง บ่อยๆ อีกด้วย 
บ้างก็มองว่า พล.อ.ประยุทธ์ แสดงอาการโกรธ เพื่อไม่ต้องการให้นักข่าวกล้าถามอะไรที่ขัดใจ 
บ้างก็มองว่า พล.อ.ประยุทธ์ ที่เดินกางแขน เดินอย่างมั่นใจในทุกที่นั้น ก็เพื่อให้ดูน่าเกรงขาม ต่อทั้งนักการเมือง และทหารด้วยกันเอง

"ผมอารมณ์เสียเป็นปกติอยู่แล้ว แต่พอโกรธ ก็พยายามควบคุมตัวเองให้ได้ แล้วก็ทำได้ ก็ไม่โกรธ ก็ดีขึ้น ผมต้องดุ ไม่อย่างนั้น ผมคุมทหารลูกน้องกว่า 2.5 แสนคนไม่ได้หรอก" บิ๊กตู่ แจง 
โดยอาจไม่ทันได้คิดว่า ในด้านมืดของการแสดงความฉุนเฉียว ดุเข้ม นั้น ทำให้มีระยะห่างระหว่าง ผบ.ทบ. กับทหารลูกน้อง และโดยเฉพาะฝ่ายเสนาธิการ ที่มีแค่ไม่กี่คนที่จะกล้าแย้งหรือติเตือนบิ๊กตู่ เพราะส่วนใหญ่ก็จะมีอารมณ์ไปตามนายไปด้วย 
บิ๊กทหารหลายนาย สวมบท "ลูกขุนพลอยพยัก" ด้วยการเอานักข่าวไปด่าลับหลังกันต่ออีก แทนที่จะช่วยสะกิด ผบ.ทบ. เพราะจะทำให้เสียภาพพจน์ จนทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายทหารที่น่าเห็นใจ เพราะถ้ารักนายจริงก็ต้องกล้าเตือนนาย แม้ว่าจะถูกด่าก็ตามที



แต่เป็นที่ยอมรับกันประการหนึ่ง ว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายทหารที่ทุ่มเทในการทำเพื่อกองทัพและชาติบ้านเมือง และเป็นทหารเสือราชินี ที่จงรักภักดีอย่างที่สุด แถมมีความเชื่อมั่นใจพลังและความศักดิ์สิทธิ์ ของเก้าอี้ ผบ.ทบ. ที่เมื่อพูดอะไรทุกคนต้องฟัง และเกรงขาม 
อีกทั้งเป็น ผบ.ทบ. ที่ให้ความสำคัญกับการเสนอข่าว บทความต่างๆ โดยเฉพาะในหนังสือพิมพ์มากเกินไป แบบว่า อ่านข่าวทุกตัวอักษร ทุกข่าว แม้แต่คำหยอกล้อของนักข่าว ในคอลัมน์แซวเบาๆ ก็ยังไม่พอใจ ว่า ทำไมแซวแบบนี้ ใช้คำแบบนี้ เพราะเขารู้สึกว่าไม่ให้เกียรติคนเป็น ผบ.ทบ. ที่จะต้องดำรงความขลัง เพื่อการบังคับบัญชาลูกน้องเป็นแสน 
นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเป็นเยี่ยงนี้...

แต่นั่นคือสิ่งที่นักข่าวสายทหาร ไม่ว่ารุ่นเก่าหรือรุ่นใหม่ เข้าใจในตัว พล.อ.ประยุทธ์ จึงไม่มีใครโกรธ หรือคิดเอาจริงเอาจังที่ถูกขู่ เพราะรู้ว่าเป็นสไตล์ของ พล.อ.ประยุทธ์ และเป็นทหารจุดเดือดต่ำ ทว่า โกรธง่าย หายเร็ว ปากตรงกับใจ ไม่ซ่อนเงื่อน ไม่ใช่ประเภทปากปราศรัยน้ำใจเชือดคอ เพราะเวลา พล.อ.ประยุทธ์ อารมณ์ดี ก็จะเป็นนายทหารที่ยิ้มแย้มแจ่มใส 
และจะดีมาก ถ้าปรับทัศนคติต่อสื่อ และเข้าใจระบบและธรรมชาติของสื่อให้มากขึ้น


กระนั้น ก็ไม่มีใครรู้จัก รู้ใจ บิ๊กตู่ ได้ดีเท่า บิ๊กหนุ่ย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รอง ผบ.ทบ. เพื่อนรัก ตท.12 ที่เทียบกันว่า เป็นมันสมองของ พล.อ.ประยุทธ์ มาตลอด 
เพราะบ่อยครั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจรวดเร็ว โผงผาง รุนแรงดุเดือด แต่อาจผิดพลาด จึงต้องมี พล.อ.ดาว์พงษ์ คอยสะกิด
"ต้องเข้าใจท่านหน่อย คนเป็น ผบ.ทบ. ก็ต้องแบกรับภาระทุกอย่าง ก็ต้องกดดัน เพราะทุกคนตั้งเป้ามาที่ทหาร เพราะเกิดอะไรผิดพลาด ไม่สำเร็จ ก็โทษแต่ทหาร โทษแต่กองทัพบก ทั้งๆ ที่มีตั้ง 17 กระทรวง 66 หน่วยงาน ที่ร่วมกันแก้ปัญหาภาคใต้ ไม่ใช่มีแค่ ทบ. หรือ กอ.รมน. เพราะคนไปมองว่า เป็น Green กอ.รมน. มีแต่ทหาร ทั้งๆ ที่ กอ.รมน. ก็มีทุกหน่วยงานมาร่วม" พล.อ.ดาว์พงษ์ แจง 
"ก็ไม่รู้นะ นี่ถ้าผมเป็น ผบ.ทบ. ผมอาจจะเป็นยิ่งกว่าท่าน บ้านไฟไหม้เลย" บิ๊กหนุ่ย กล่าว 
"แต่ขอให้มั่นใจได้เลยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ท่านเป็นคนที่ไม่มีวาระซ่อนเร้น ไม่มี hidden agenda ทุกอย่างตรงไปตรงมา เพื่อชาติบ้านเมือง ผมถึงทำงานกับท่านได้อย่างสบายใจ และสบายใจมาก แม้ว่าผมจะเหนื่อยมากก็ตาม แต่ก็ทำอย่างมีความสุขและสบายใจ เพราะท่านดูแลผม เข้าใจผม ผมจึงพอใจที่จะอยู่ตรงนี้ ไม่ได้หวังว่าจะต้องไปเป็นตำแหน่งไหน" พล.อ.ดาว์พงษ์ เปรย

โดยไม่สนใจว่า จะได้ข้ามห้วยไปเป็น ปลัดกลาโหม หรือไม่ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ก็พยายามผลักดันเพื่อนรักคนนี้อย่างเต็มที่ เพื่อให้ได้ไปเป็น "เบอร์ 1" ที่สำนักปลัดกลาโหม ดีกว่าอยู่เป็นแค่เบอร์ 2 ที่ บก.ทบ. นี่ไปจนเกษียณปี 2556 เพราะไม่มีโอกาสเป็น ผบ.ทบ. แล้ว เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ เกษียณทีหลัง 2557 
อีกทั้ง พล.อ.ดาว์พงษ์ ก็ครองอัตราจอมพล อยู่แล้ว รวมทั้งความรู้ความสามารถก็เหมาะสม และมีอายุราชการแค่ปีเดียว ไม่นานเกินไปสำหรับปลัดกลาโหม แถมเป็นรุ่นเดียวกับ ผบ.สส. และ ผบ.ทบ. และเป็นรุ่นใกล้ชิดกับ บิ๊กหรุ่น พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผบ.ทร. และ ว่าที่ ผบ.ทอ. อย่าง บิ๊กจิน พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ที่เป็น ตท.13 

แต่ก็ไม่ง่าย เพราะมีการชิงปลัดกลาโหม กันดุเดือด เพราะมีแรงต้าน บิ๊กเล็ก พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน ผช.ผบ.ทบ. หลังจากที่ รมว.กลาโหม นำไปพบนายกรัฐมนตรี เพื่อดูตัวโชว์วิสัยทัศน์แล้ว เพราะมองว่า มีการเมืองแทรก 
อีกทั้ง บิ๊กกี๋ พล.อ.ชาตรี ทัตติ รองปลัดกลาโหม แม้จะเป็น ตท.14 และเกษียณ 2558 แต่ก็มีความชอบธรรมที่จะขึ้นได้ จนมีการขู่กันว่าจะฟ้องศาลปกครอง และใช้ พ.ร.บ.กลาโหม รวมทั้งโอกาสของ บิ๊กหนู พล.อ.อ.บุญยฤทธิ์ เกิดสุข รอง ผบ.สส. ตท.11 ที่เกษียณ 2557 ที่จะนั่งปลัดกลาโหม ก็ยังไม่หมดลง 
พล.อ.ดาว์พงษ์ เลยอยู่นิ่งๆ ดีกว่า เพราะอาจกลายเป็นตาอยู่ ก็เป็นได้

เรียกได้ว่า พล.อ.ดาว์พงษ์ นั้นเป็นมันสมองของ ทบ. ของ พล.อ.ประยุทธ์ ในการคิดเรื่องแผนต่างๆ มาตลอด ทั้งตอนปราบเสื้อแดง จนมาถึงการร่างแผนยุทธการดับไฟใต้ "9-5-29" และเป็นคนจัดการในการตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.จชต.) รวมทั้งการเลือกตั้งที่สวนรื่นฤดี ที่เป็นกองบัญชาการของ กอ.รมน. อยู่แล้ว หรือที่เรียกว่า "เพนตากอน สวนรื่นฯ" 
9529 คือ การนำนโยบาย สมช. ทั้ง 9 ข้อ ที่นายกรัฐมนตรีอนุมัติ มาปรับรวมกับ การแบ่งเป็น 5 กลุ่มงาน โดยมียุทธศาสตร์ร่วม 29 ข้อ 
แต่ก็ทำให้ชื่อของ พล.อ.ดาว์พงษ์ อยู่ในแบล๊กลิสต์ของคนเสื้อแดง ที่อาจกลายเป็นอุปสรรคต่อการเป็นปลัดกลาโหม 
"ผมพอใจ และสบายใจที่จะทำงานตรงนี้ แม้จะเหนื่อยมาก" บิ๊กหนุ่ย ย้ำ



แต่อย่างไรก็ตาม อาการปรี๊ดแตก หรือที่เจ้าตัวเรียกว่า "เม้งแตก" ของ พล.อ.ประยุทธ์ นั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการจัดทำบัญชีรายชื่อโยกย้ายทหาร ที่มีรายการ "คุณกระซิบมา" จนไม่อาจตัดสินใจได้โดยลำพัง 
นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องทำตามนโยบายของ บิ๊กเจี๊ยบ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. ที่แวะมาทานข้าวที่ บก.ทบ. ด้วยสัปดาห์ก่อน ให้ใช้ระบบการสอบและแสดงวิสัยทัศน์ของนายทหารที่อยู่ในกรุ เพื่อเปิดโอกาสให้ทหารคนเก่ง ได้ลงตำแหน่งหลัก  
จึงต้องมีคำสั่งด่วนให้นายพลในกรุ เช่น ตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิและผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ มาสอบสัมภาษณ์ พร้อมทั้งเขียนวิสัยทัศน์ต่อเรื่องต่างๆ ด้วยลายมือ จำนวน 10 ข้อ แต่ที่ไฮไลต์ที่สุดคือ คำถามเรื่อง แนวทางการแก้ปัญหาภาคใต้ การวางตัวของทหารในทางการเมือง และกรณีเขาพระวิหาร จะมีการเสียดินแดนหรือไม่ 
ที่ก็ถูกมองว่า เป็นแค่ระบบที่สร้างขึ้นมาเป็น "เกราะ" ป้องกันเด็กฝากจากฝ่ายการเมือง หรือ ผู้หลักผู้ใหญ่ เพราะจะอ้างได้ว่าต้องผ่านระบบการประเมินและการสอบและแสดงวิสัยทัศน์ 
ส่วนจะเป็นบันไดในการดัน "เด็ก" ในสังกัดหรือน้องเลิฟที่อยู่ในกรุ ออกมาลงตำแหน่งหลักด้วยหรือไม่ ต้องรอดูโฉมหน้าโผ

ที่จับตามองกันในโค้งสุดท้ายก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ ส่งโผถึงมือ บิ๊กโอ๋ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม คือ เก้าอี้แม่ทัพภาคที่ 1
เพราะแม้จะเป็นเพื่อนร่วมรุ่น ตท.15 แต่เรื่องอำนาจและเก้าอี้ ไม่เข้าใครออกใคร ไม่มีเพื่อน ไม่มีพี่ไม่มีน้อง เพราะในโค้งนี้ มีชื่อของ บิ๊กต๊อก พล.ต.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รองแม่ทัพภาคที่ 1 เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 คนใหม่ แทน บิ๊กโด่ง พล.ท.อุดมเดช สีตบุตร ที่ขยับขึ้นหาเสือ ทบ.

จากเดิมที่มี บิ๊กอู๊ด พล.ต.วลิต โรจนภักดี รองแม่ทัพภาคที่ 1 ถูกวางตัวในตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 ในฐานะที่เป็นน้องรักของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เป็นทั้งทหารเสือราชินีและบูรพาพยัคฆ์ด้วยกันมา อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ รู้สึกคาใจที่ พล.ต.วลิต ต้องบาดเจ็บสาหัส และมีเศษระเบิดอยู่เต็มร่างกาย เพราะการสลายการชุมนุมที่สี่แยกคอกวัว 
ส่วน พล.ต.ไพบูลย์ นั้น ก็พยายามหาที่ลง ให้เป็นพลโท เพราะตำแหน่ง ผบ.รร.นายร้อย จปร. บิ๊กอุ๋ย พล.ท.พอพล มณีรินทร์ ก็เพิ่งมานั่ง จึงมีข่าวว่า จะลงไปเป็น พลโท ในตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะที่ พล.ต.ไพบูลย์ เคยไปทำหน้าที่ ผบ.ฉก.นราธิวาส เมื่อครั้งเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1 เมื่อ 2 ปีก่อน 
แต่ทว่า การเป็นนายทหารสายเหยี่ยว และเข้มงวด อย่างมาก จนเรียกว่า ดุ แบบขนหัวลุก นั้น จึงมาไม่เหมาะกับการลงไปภาคใต้

ท่ามกลางกระแสข่าวที่พยายามโยงใจ พล.ต.ไพบูลย์ กับสายอำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะอย่าลืมว่า เขาก็เป็นน้องรักของ บิ๊กบัง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีต ผบ.ทบ. และประธาน คมช. ที่เวลานี้หันไปจูบปากกับ พ.ต.ท.ทักษิณ แล้ว เพราะอย่าลืมว่า พล.ต.ไพบูลย์ ก็เป็นกำลังหลักในการปฏิวัติ เมื่อ 19 กันยายน 2549 ที่ผ่านมาด้วย จึงถือเป็นการดูแลและตอบแทนกัน อีกทั้ง พล.ต.ไพบูลย์ ขึ้นเป็น รองแม่ทัพภาคที่ 1 ก่อน จึงอาวุโสกว่า 
ว่ากันว่า งานนี้ มี พล.อ.ดาว์พงษ์ เป็น man behind the scene เพราะอย่าลืมว่า พล.ต.ไพบูลย์ นั้นเป็นน้องรักเลยทีเดียว เพราะเติบโตใน ร.11 รอ. ด้วยกันมา และเรียกว่าเป็น สายวงศ์เทวัญ มาด้วยกัน เป็นทั้ง ผบ.ร.11 รอ. และ ผบ.พล.1 รอ. มาเหมือนกัน ที่สำคัญคือ ร่วมเป็นร่วมตายในการปฏิวัติรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จนมาถึงศึกเสื้อแดงด้วยกันด้วย  
ขณะที่ พล.ต.วลิต นั้น เป็นสายตรงของ บิ๊กอ๊อด พล.อ.คณิต สาพิทักษ์ ประธานที่ปรึกษา รมว.กลาโหม ที่ถูกดองแห้งอยู่ในกรุ ที่ดันกันมาตอนที่ พล.อ.คณิต เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 และบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีต รมว.กลาโหม พี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์
งานนี้ จึงถูกมองว่าเป็นการชิงชัยระหว่าง วงศ์เทวัญ กับ บูรพาพยัคฆ์ จึงทำให้ พล.ต.ไพบูลย์ ได้แรงเชียร์จากวงศ์เทวัญด้วยกันอย่างมาก เพราะเป็นการชิงเก้าอี้แม่ทัพภาคที่ 1 กลับมาจากบูรพาพยัคฆ์ ที่ยึดมานานหลายยุค ตั้งแต่ บิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เรื่อยมาจน พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.คณิต และ พล.ท.อุดมเดช ที่ล้วนโตมาจาก ร.21 รอ. และ พล.ร.2 รอ. ทั้งสิ้น
แต่ พล.ต.ไพบูลย์ โตมาจาก ร.11 รอ. จนเป็น ผบ.ร.11 รอ. เป็น ผบ.ร.1 รอ. และเป็น ผบ.พล.1 รอ. ถือว่าโตมาในเส้นทางเหล็ก เป็นหน่วยกำลังรบมาตลอด และเป็นประเภท ตัวเล็กแต่ใจถึงพึ่งได้เสมอ
ที่สำคัญ มันไม่ได้หมายถึงแค่การชิงเก้าอี้แม่ทัพภาคที่ 1 ซึ่งถือเป็นสุดยอดแห่งสายคุมกำลัง และเป็นหน่วยกำลังปฏิวัติสำคัญ แต่ทว่า ยังหมายรวมถึง การชิงโอกาสที่จะได้เป็น ผบ.ทบ. ด้วย เพราะทั้ง พล.ต.ไพบูลย์ และ พล.ต.วลิต มีอายุราชการถึงปี 2559 เหมือนกัน



แม้จะเต็งๆ กันว่า พล.ท.อุดมเดช จะขึ้นห้าเสือ ทบ. เพื่อจ่อเป็น ผบ.ทบ. ในกันยายน 2557 เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เกษียณ แต่ในการโยกย้ายปลายปี 2556 ก็เป็นโอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะเลือกแคนดิเดต ผบ.ทบ. ขึ้นมาใหม่ก็ได้ เพราะ พล.ท.อุดมเดช ก็มีอายุราชการแค่ปี 2558 จะได้นั่งเป็น ผบ.ทบ. แค่ปีเดียว ซึ่งในระยะหลัง ไม่ค่อยมีนายทหารที่เหลืออายุราชการปีเดียว ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ต่างจาก ผบ.ทร. และ ผบ.ทอ. ผบ.สส. และปลัดกลาโหม ตรงที่อายุราชการเหลือปีเดียวก็ขึ้นได้ 
จึงต้องจับตา พลตรี ที่จะขึ้น พลโท และ พลโท ที่จะขึ้น พลเอก ในโยกย้ายครั้งนี้ จากการจัดโผของ พล.อ.ประยุทธ์ ให้ดี โดยเฉพาะคนที่ขึ้นแม่ทัพภาคที่ 1 ในครั้งนี้ อาจเป็นการตัดสินว่า ผบ.ทบ. คนต่อไป จะเป็นทหารเสือฯ บูรพาพยัคฆ์ หรือวงศ์เทวัญ หรือว่า เป็นม้ามืดสายพันธุ์การเมือง
ยิ่งเมื่อเม้าธ์กันว่า เมื่อวันไปตบเท้าแฮปปี้เบิร์ธเดย์ บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร จับมือยินดีกับ พล.ต.วลิต แล้ว เพราะเขาผลักดันเต็มที่ และก็เชื่อว่าท้ายที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องเลือก พล.ต.วลิต

จึงไม่แปลกหากฤดูกาลโยกย้ายของ ทบ. คราวนี้ จะมีใบปลิว บัตรสนเท่ห์ ออกมาเล่นงานกัน และความลำบากใจ ระคนกับไฟใต้ เลยยิ่งทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยิ่งต้องเหนื่อย เครียด กดดัน ปรี๊ด และเม้งแตก ก็เป็นได้



+++

ล้างอาถรรพ์เก้าอี้ "ผบ.ตร." "เพรียวพันธ์" นั่งครบเกษียณ ประเมินผลงาน "สอบผ่าน"
คอลัมน์ โล่เงิน  ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1670 หน้า 99


มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ "พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว" พ้นจากตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) และให้ดำรงตำแหน่ง "ผบ.ตร." นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 เป็นต้นไป ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ณ วันที่ 10 สิงหาคม 2555 
เป็นความชัดเจนอย่างเป็นทางการว่า "พล.ต.อ.อดุลย์ หรือ บิ๊กอู๋" จะขึ้นแท่น "ผู้นำองค์กรตำรวจ" ต่อจาก "บิ๊กอ๊อบ" พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผบ.ตร.คนปัจจุบัน ทันทีที่ "บิ๊กอ๊อบ" เกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายนนี้ 
ถ้าเป็นดังนั้น "บิ๊กอ๊อบ" จะสร้างประวัติศาสตร์ลบสถิติเก้าอี้อาถรรพ์ เป็น ผบ.ตร. ที่ปิดฉากอำลา "เก้าอี้ผู้นำสีกากี" ได้สวยงามที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา นั่นคือ ไม่ถูกเด้ง ถูกดอง หรือถูกเทียบเชิญออกจากเก้าอี้ ผบ.ตร. ก่อนวาระอันควร ดังที่อดีต ผบ.ตร. ลำดับก่อนหน้าหลายท่านประสบ 
นั่นเป็นเพราะปัจจัยการเมือง ที่นิ่ง หนุน และเหนียวแน่นจึงทำให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ แตะรันเวย์ลงจอดอย่างสวยงาม!?


ทั้งนี้ ไม่อาจปฏิเสธว่าตำแหน่ง ผบ.ตร. เป็น "ตำแหน่งของการเมือง" ด้วยกฎหมาย พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ให้สิทธินักการเมืองโดยชอบ กฎหมายตำรวจกำหนดให้ "ผบ.ตร." ถูกเลือกโดย "นายกรัฐมนตรี" และพิจารณารับรองโดยบอร์ด "คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ หรือ ก.ต.ช." 
เพราะฉะนั้น ไม่ว่ารัฐบาลไหนๆ การเลือก "ผบ.ตร." ซึ่งเป็นผู้นำหน่วยบังคับใช้กฎหมาย ผู้มีอำนาจย่อมเลือกคนที่ปกครองได้ ใช้งานคล่อง และด้วยความสัมพันธ์ระหว่างตำแหน่ง "ผู้นำตำรวจ" ที่ไม่อาจแยกกับ "การเมือง" ทำให้เสถียรภาพในตำแหน่ง ผบ.ตร. ยึดโยงกับเสถียรภาพทางการเมืองอย่างชัดเจน มีวลีที่ว่า "การเมืองเปลี่ยน เปลี่ยน ผบ.ตร." 

ห้วงเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา นับแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2554 ที่ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. แม้ว่าสภาวการณ์ด้านการเมืองจะไม่มั่นคงนัก เกิดแรงกระเพื่อม แรงเขย่าบ่อยครั้ง แต่ก็ไม่อาจหักขาเก้าอี้ ผบ.ตร. ได้ 
ทว่า จะมีช่วงหนึ่งที่เกิดข่าวรอยร้าวระหว่าง "บิ๊กอ๊อบ" กับเจ้าของบ้านริมคลอง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) และเป็นคนที่อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ว่ากันว่าเป็นผู้มีอำนาจตัวจริงในรัฐบาล รับฟัง 
ครั้งนั้น สะพัดทั่วสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ว่า ความกินแหนงแคลงใจมาจาก มีการสนับสนุนน้องคนสนิทให้ได้ชิมลางเก้าอี้ ผบ.ตร. บ้าง แต่ก็เป็นเพียงข่าวเขย่าเก้าอี้ "ผบ.ตร." ที่เรียกว่ามีแค่พอเป็นกระษัยเท่านั้น เก้าอี้สั่นบ้าง แต่ไม่ถึงกับล้ม
เพราะ "พล.ต.อ.เพรียวพันธ์" ไม่ใช่แค่คนไว้ใจ ที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เลือกเท่านั้น แต่ "ชินวัตร" กับ "ดามาพงศ์" คือครอบครัวที่เกี่ยวดองกันเหนียวแน่น!!


ย้อนเส้นทางกว่าจะเป็น ผบ.ตร. ของ "พล.ต.อ.เพรียวพันธ์" เจอขวากหนามมากมาย ก่อนจะขึ้นเป็น "พิทักษ์ 1" ในห้วงรัฐบาลทักษิณ 2 พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ พี่ชายคุณหญิงพจมาน ที่ตอนนั้นยังใช้สกุล "ชินวัตร" คือ พี่ภรรยานายกรัฐมนตรี เป็น รอง ผบ.ตร. ที่ตีตราจองตำแหน่ง ผบ.ตร. ต่อจาก พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ไม่มีใครกล้าคิดเป็นอื่น 
อีกทั้งตอนนั้นกระแสประชานิยมของอดีตนายกฯ ทักษิณ ที่ได้รับการยอมรับอย่างสูง ทำให้หลายต่อหลายคนคิดว่า "ทักษิณ" จะอยู่ยาว และ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ มีโอกาสอยู่ในตำแหน่ง ผบ.ตร. ยาวไปเช่นกัน 
แต่ไม่ทันที่ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ จะได้สัมผัสเก้าอี้ ผบ.ตร. ทั้งพี่ภรรยา น้องเขยต้องประสบวิบาก ในคราวปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 ตกเก้าอี้ระเนระนาดแยกย้ายกันไป ฐานที่เป็นเครือญาติผู้นำ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ถูกเด้งด่วนพ้น ตร. พร้อมกับ พล.ต.ท.ชลอ ชูวงษ์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. (ยศ ตำแหน่งในขณะนั้น) และถูกเก็บกรุไปด้วยกันในตำแหน่งประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 
ต่อมาไม่นาน พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดิ้นสู้ ขอความเป็นธรรมจากศาลปกครอง จาก ก.ตร. คืนสิทธิให้ตนเองได้โดยชอบ กลับมานั่งเป็น รอง ผบ.ตร. ที่หมดสิทธิฝันเป็น ผบ.ตร. อยู่หลายปี เพราะสภาพแวดล้อมทางการเมืองไม่เอื้ออำนวย ญาติทักษิณกับตำแหน่ง ผบ.ตร. เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ 
กระทั่งพรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นรัฐบาลครั้งล่าสุดมีการดีลเปิดทางเคลียร์เก้าอี้ ผบ.ตร. จนว่างลงแบบบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น จน "พล.ต.อ.เพรียวพันธ์" ขึ้นเป็น ผบ.ตร. ลำดับที่ 8


แม้ว่าในห้วงแรกบนเก้าอี้ ผบ.ตร. ของ "พล.ต.อ.เพรียวพันธ์" ต้องผจญงานหนัก รับวิกฤตมหาอุทกภัย น้ำท่วมใหญ่หลายจังหวัด การนำทัพสีกากีไม่เป็นรูปเป็นร่างเท่าที่ควร อีกทั้งตอนแรกๆ เป็นเพียง รักษาราชการแทน ผบ.ตร. จึงทำอะไรได้ไม่เต็มที่ แต่ต่อมาเมื่อจัดปรับกระบวนเข้าที่เข้าทาง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ นำทีมสีกากี ควงแม่บ้านตำรวจ สวมเสื้อตำรวจเข้าช่วยเหลือ บรรเทาทุกข์ให้กับประชาชนได้อย่างน่าชื่นชม 
ยุค พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ เป็น ผบ.ตร. ต้องยอมรับว่าเป็นยุคที่ตำรวจไทยเอาจริงเอาจังในการปราบปรามกวาดล้างยาเสพติดอย่างมากยุคหนึ่ง สอดรับกับนโยบายจุดขายของรัฐบาล นั่นเป็นเพราะงานปราบปรามกวาดล้างยาเสพติดเป็นงานถนัด มีการจับกุมเครือข่ายรายใหญ่ที่ไหน พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ จะนำไปเองเสมอ และเอาจริงเอาจังจี้ติดในเรื่องป้องปรามยาเสพติดอย่างมาก หากวัดผลให้คะแนนงานด้านนี้ต้องให้เกรดเอ

จึงไม่แปลกที่มีข่าวหนาหูว่า หลังลงจากเก้าอี้ ผบ.ตร. พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ จะสลัดเครื่องแบบสีกากีมาสวมสูทผูกไท้ ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กำกับดูแลงานด้านการปราบปรามยาเสพติด 
กระนั้นข่าวลือยังเป็นเรื่องอนาคต แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงที่เจ้าตัวให้สัมภาษณ์แบ่งรับแบ่งสู้ บอกว่าหากมีอำนาจสั่งการปราบปรามยาเสพติดอย่างเดียว ไม่ต้องคุมตำรวจก็พร้อมเซย์เยส 
ส่วนงานปราบปรามด้านอื่น ทั้งความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน บ่อนพนัน อบายมุข ความรู้สึกของประชาชนคงเป็นตัววัดได้ดีที่สุด ต้องยอมรับว่า 1 ปีที่ผ่านมา ปัญหานี้ก็ยังมีให้เห็น โดยเฉพาะบ่อน แม้พยายามอำพรางซ่อนก็ไม่มิด ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ประเด็นบ่อนใหญ่คับฟ้าก็มี วาทะ หลักฐานเด็ดจาก ส.ส.ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย 
เป็นเสี้ยนทิ่มแทงกระทุ้งอยู่เนืองๆ



เรื่องการบริหารโฟกัสที่การแต่งตั้งโยกย้าย เรียกได้ว่า พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ทำได้แค่พอผ่าน สัดส่วนการแต่งตั้งไม่น้อยเข้าทำนองคนมีอำนาจตามกฎหมายไม่ได้พิจารณา คนพิจารณาไร้อำนาจ เฉกเช่นทุกยุคทุกสมัย ที่การเมืองทำให้ ผบ.ตร. คล้ายถูกริบอำนาจ 
ห้วงแรกการแต่งตั้งระดับรองผู้บังคับการ-สารวัตร วาระประจำปี 2554 แม้จะปิดเสียงร้องเรียนเรื่องซื้อๆ ขายๆ จนเงียบกริบ แต่ "ชายชั้น 7" ที่ปรากฏกายประกาศอำนาจ ด้วยการนั่งในห้องทำงานส่วนตัว ผบ.ตร. ก็ทำให้การแต่งตั้งครั้งนั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบ แม้เจ้าตัวจะออกมายืนยันไม่รู้ไม่เห็น แต่ว่ากันว่านี่เป็นหนึ่งในปมที่เบอร์ 1 สีกากี กลืนไม่เข้าคายไม่ออก

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาผลงานภาพรวม จุดเด่นของ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ที่ทุ่มเทให้กับงานปราบปรามยาเสพติดซึ่งเป็นงานใหญ่ระดับชาติ ทำให้กลบจุดด้อยไปได้ และช่วงเวลาที่เหลืออีกเดือนเศษ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ก็ประกาศจะทุ่มเทให้กับงานด้านยาเสพติดอย่างเอาจริงเอาจัง ก่อนรูดม่านปิดฉากบนเก้าอี้ ผบ.ตร. อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 30 กันยายน นี้ 
ทำให้แวดวงสีกากีประเมินว่า พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ "สอบผ่าน" บนเก้าอี้ ผบ.ตร.



.