http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-08-21

วิชาประวัติศาสตร์ไทยจะนำไทยไปอาเซียน ? โดย สายพิณ แก้วงามประเสริฐ

.

วิชาประวัติศาสตร์ไทยจะนำไทยไปอาเซียน ?
โดย สายพิณ แก้วงามประเสริฐ
ในมติชน ออนไลน์ วันอังคารที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2555 เวลา 15:16:55 น.


เรื่องที่ยอดฮิตสุดในวงการศึกษาขณะนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปี 2558 ดูเหมือนเป็นความตื่นตัว ทั้งการเปิดสอนวิชาอาเซียนศึกษาในโรงเรียนนำร่อง โดยเฉพาะโรงเรียนที่อยู่บริเวณชายแดน ทั้งการเรียนภาษาของประเทศเพื่อนบ้าน การเรียนรู้เกี่ยวกับอาเซียน รวมทั้งมุ่งเน้นการเรียนภาษาอังกฤษที่เป็นภาษากลาง จนทำให้เกิดแนวคิดที่จะให้ครูและนักเรียนสนทนากันด้วยภาษาอังกฤษทุกวันจันทร์ ซึ่งเป็นนโยบายที่ทำไม่ได้จริงๆ เพราะไม่ได้ปูพื้นฐานจากราก แต่มาเริ่มที่ยอด คงไม่ได้ผล

การเรียนรู้ภาษาอังกฤษ หรือภาษาที่สามเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง แต่คงไม่ใช่แค่การประกาศนโยบายว่าจะต้องพูดภาษาอังกฤษในโรงเรียน ในขณะที่ความสามารถในการใช้ภาษาต่างประเทศของคนไทยยังด้อยอยู่มาก เพราะการไม่เห็นความจำเป็นอย่างหนึ่ง และระบบการเรียนในโรงเรียนแต่ดั้งเดิมที่การสอนภาษาอังกฤษมัวแต่เน้นหลักไวยากรณ์ จนกระทั่งจะพูดอะไรสักครั้ง ในหัวสมองต้องคิดก่อนว่าอะไรคือ ประธาน กริยา กรรม กว่าจะเรียงลำดับได้ คนที่จะพูดด้วยไม่รู้เดินไปถึงไหนแล้ว 
ดังนั้น การเรียนภาษาอังกฤษหรือภาษาต่างประเทศอื่นๆ ถือว่าเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เพื่อให้เป็นภาษากลางที่ใช้ในการสื่อสาร และการทำงานร่วมกันในอนาคตนั้น จำเป็นต้องปลูกฝังให้กับเด็กเป็นพื้นฐานมาก่อน อย่าเร่งรีบจนกระทั่งมากำหนดให้คนสูงวัยต้องพูดภาษาอังกฤษ ทั้งที่อาจไม่จำเป็น หรือไม่เห็นความสำคัญเท่าไรแล้ว จะเสียเวลาไปเปล่าๆ หรือแม้กระทั่งจะกำหนดให้ครูวิชาต่างๆ ต้องสอนด้วยภาษาอังกฤษ ขณะที่ไม่มีการเตรียมการมาก่อน ก็คงได้แค่ทำ แต่คุณภาพเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก


เรื่องที่ต้องเตรียมความพร้อมเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน นอกจากความรู้ด้านภาษา การรู้จักประเทศเพื่อนบ้านแล้ว สิ่งที่จำเป็นมากคือทัศนคติดีๆ ที่มีต่อกัน อย่างที่จุดเน้นที่อาเซียนประกาศไว้คือ "หนึ่งประชาคม หนึ่งอัตลักษณ์" คือต้องมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน ความเป็นหนึ่งเดียวจะเกิดขึ้นไม่ได้ หรือเกิดได้ยากในขณะที่การกินแหนงแคลงใจกันยังมีอยู่

จึงจำเป็นต้องพยายามให้อคติที่มีต่อกันเบาบางจนหมดสิ้นไปให้จงได้
อคติที่มีต่อกันเกิดจากอะไร หากมองที่ตัวเองเป็นสำคัญ น่าจะเกิดจากการที่เราเรียนรู้เกี่ยวกับเพื่อนบ้านน้อย โดยการเรียนผ่านตำราเรียนประวัติศาสตร์ที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยรัฐชาติ สมัยชาตินิยม โดยเน้นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของ "เรา" ส่วน "เขา" เป็นผู้ร้ายไป หรือเน้นความรักชาติ ชาติของเราย่อมยิ่งใหญ่เหนือใคร คนไทยในตำราเรียนประวัติศาสตร์จึงเป็นคนเก่งที่ไม่มีใครเหมือน

ผู้ผ่านระบบการศึกษาถูกปลูกฝังให้เห็นเพื่อนบ้านเป็นศัตรู เพราะตำราเรียนประวัติศาสตร์มุ่งเน้นเรียนเรื่องศึกสงคราม เช่น ในส่วนที่เกี่ยวกับพม่าจะกล่าวถึงการสู้รบระหว่างไทยกับพม่าว่ามีหลายสิบครั้ง และมักยกกรณีศึกสงครามสมัยสมเด็จพระนเรศวร ศึกบางระจัน การกอบกู้เอกราชของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี รวมทั้งสงครามเก้าทัพ ศึกรบพม่าที่ท่าดินแดงสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นต้น 
ตำราเรียนยังสรุปว่าไทยกับพม่าทำศึกสงครามสมัยอยุธยา 24 ครั้ง ธนบุรี 10 ครั้ง รัตนโกสินทร์ 10 ครั้ง รวมเป็น 44 ครั้ง และอธิบายต่อว่า ส่วนใหญ่พม่าเป็นฝ่ายยกทัพมา และไทยเป็นฝ่ายตั้งรับ โดยให้เหตุผลการที่เป็นเช่นนี้เพราะ "พม่าเป็นรัฐที่มีกำลังทหารเข้มแข็ง และต้องการเข้ามามีอำนาจเหนือดินแดนไทย ไทยจึงตอบโต้ด้วยการใช้แสนยานุภาพทางทหาร เพราะไม่สามารถใช้วิธีการทางการทูตได้..." นี่เป็นการอธิบายประวัติศาสตร์ในมุมมองของตนเอง 

ในส่วนของความสัมพันธ์กับลาว ตำราเรียนประวัติศาสตร์ไทยอธิบายเกี่ยวกับเรื่องศึกสงคราม ที่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์บาดหมาง และบาดแผลที่ทำให้ไม่อาจเป็นมิตรที่ดีต่อกันได้จริงๆ น่าจะเป็นกรณีที่ตำราเรียนประวัติศาสตร์ไทยแม้ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรไปหลายฉบับแล้วก็ตาม แต่สิ่งที่ตำราเรียนประวัติศาสตร์ไม่เคยหลงลืมที่จะเขียนเลยคือ กรณีศึกเจ้าอนุวงศ์ที่ไทยกล่าวหาว่าเป็น "กบฏ" และยกกรณีวีรกรรมของท้าวสุรนารีว่าใช้อุบายมอมเหล้าทหารลาว จนสามารถโจมตีกองทัพเจ้าอนุวงศ์แตกพ่ายไป
ในสมัยหนึ่งการนำประวัติศาสตร์เรื่องนี้มาเรียนอาจก่อให้เกิดความรักชาติ เกิดความฮึกเหิม แต่ทำให้มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อเพื่อนบ้าน เป็นการฝึกนิสัยข่มคนอื่นที่เห็นว่าด้อยกว่าตน จนทำให้คนไทยคนลาวส่วนหนึ่งมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อกัน ทั้งที่หากมองไปรอบๆ บ้านแล้ว ไทยกับลาวมีภาษา มีประเพณีวัฒนธรรม วิถีการดำรงชีวิตใกล้เคียงกันมากที่สุด และอาจมาจากบรรพบุรุษที่มีรากเหง้าเดียวกันก็เป็นได้ แต่ความเป็นไทยที่ถูกสร้างให้มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง จึงไม่ค่อยเห็นอกเห็นใจใครนัก
ความหยิ่งทะนงองอาจว่าเราเหนือกว่าลาว กลับถูกท้าทายเมื่อไม่นานมานี้ ด้วยการที่ลาวสร้างอนุสาวรีย์เจ้าอนุวงศ์ ตั้งตระหง่านหันหน้ามาทางฝั่งไทยแบบไม่ยี่หระ สื่อนัยอะไรบางอย่าง รวมทั้งการสร้างสนามกีฬาขนาดใหญ่โดยให้ชื่อสนามกีฬาว่า "เจ้าอนุวงศ์" โดยได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินจากเวียดนาม ชื่อสนามกีฬาและการรับความช่วยเหลือจากเวียดนาม เป็นการบอกเล่าประวัติศาสตร์ของลาวสมัยที่เจ้าอนุวงศ์ถูกกองทัพสยามตามไปโจมตี แล้วต้องหนีไปพึ่งญวนหรือเวียดนาม 
เป็นการสื่อนัยว่าปัจจุบันลาวเห็นเวียดนามเป็นมิตรที่ดีกว่าไทย ตั้งแต่อดีตจนอาจถึงปัจจุบัน เป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่งสำหรับเพื่อนบ้านที่มีวัฒนธรรมประเพณีใกล้เคียงกันมาก น่าจะเข้าใจกันมากกว่าที่เป็นอยู่ หากไทยไม่มัวแต่ใช้ตำราเรียนประวัติศาสตร์เพื่อสร้างความภูมิใจในตนเอง แต่ไม่ได้นึกถึงจิตใจของผู้อื่น ทำให้ต้องขาดโอกาสดีๆ ในการที่จะมีเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดเช่นนี้

ในส่วนของเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา ปัจจุบันที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยังง่อนแง่น เพราะมีกรณีปราสาทพระวิหาร ซึ่งความสัมพันธ์จะดีหรือไม่ดีช่วงนี้ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำกัมพูชากับรัฐบาลไทยเป็นสำคัญ ทำให้บางรัฐบาลความสัมพันธ์แย่มาก ทั้งที่ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนทั้งสองชาติที่อยู่บริเวณชายแดนกลับไม่ได้มีปัญหาต่อกัน

ในส่วนของตำราเรียนประวัติศาสตร์ไทยเมื่อกล่าวถึงความสัมพันธ์กับกัมพูชา มักจะกล่าวถึงความสัมพันธ์ในสมัยอยุธยาที่กล่าวว่า เขมรยอมอ่อนน้อมต่อไทย แต่มักถือโอกาสที่ไทยติดศึกสงครามเข้ามากวาดต้อนผู้คนกลับไป รวมทั้งการกล่าวถึงสมัยสมเด็จพระนเรศวรที่ไปจับพระยาละแวก กษัตริย์เขมรมาทำพิธีปฐมกรรม ซึ่งในส่วนนี้น่าจะเป็นประวัติศาสตร์บาดหมางที่สุด ที่ไม่ควรกล่าวถึง แต่มักจะพบอยู่เสมอเมื่อเกิดข้อพิพาทกับกัมพูชา ที่คนไทยส่วนหนึ่งที่ผ่านการเรียนประวัติศาสตร์ในโรงเรียนแบบโบราณ มักจะนำเรื่องราวที่เป็นบาดแผลของชาติอื่นมากล่าวเพื่อให้ตนเองเกิดความสะใจ แต่กลับลืมนึกไปว่า แล้วจะเกิดประโยชน์อันใด และหากเป็นเราถูกหมิ่นหยามเช่นนี้ จะรู้สึกอย่างไร?



หากพิจารณาเนื้อหาในตำราเรียนประวัติศาสตร์ที่มุ่งเน้นการเรียนเพื่อส่งเสริมความรักชาติ โดยต้องกล่าวถึงศึกสงคราม ความเก่งกล้าสามารถของคนไทย โดยไปเหยียบย่ำชาติอื่นแล้ว ดูเป็นอุปสรรคต่อการสร้างสรรค์ความเข้าใจอันดีกับผู้อื่น และอาจเป็นการฝึกนิสัยที่ไม่ดีให้กับเด็กด้วย
การเรียนประวัติศาสตร์แบบสากลนิยมจริงๆ สิ่งสำคัญไม่ใช่เนื้อหาเรื่องราวที่เน้นความเป็นวีรบุรุษวีรสตรีเท่านั้น เพราะความสำเร็จใดๆ จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากมีผู้เก่งกล้าสามารถเพียงผู้เดียว แต่ต้องหมายรวมถึงการร่วมมือร่วมใจที่จะทำให้ประเทศชาติเดินไปได้เท่านั้น 
สิ่งสำคัญในการเรียนประวัติศาสตร์ คือการใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์ เพื่อฝึกให้เด็กรู้จักคิดอย่างมีวิจารณญาณ โดยผ่านการตั้งประเด็นข้อสงสัย การรวบรวมหลักฐาน การวิพากษ์ความน่าเชื่อถือของหลักฐานว่าใครเขียน เขียนทำไม เนื้อหาที่ต้องการนำเสนอคืออะไร ไปจนถึงการจัดความสัมพันธ์ของข้อมูล และนำเสนอเรื่องราวแบบหลากหลายรอบด้านตามที่หลักฐานบ่งบอก ไม่สรุปหรืออธิบายอย่างหนึ่งอย่างใดตามความเชื่อของตนเอง
การเรียนประวัติศาสตร์ในโรงเรียนจึงไม่ใช่การเรียนแบบท่องจำ เรื่องที่สอนกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เรื่องศึกสงคราม หรือไทยเก่งกว่าใคร แต่การเรียนประวัติศาสตร์ควรเรียนเพื่อฝึกกระบวนการคิดวิเคราะห์ การหาเหตุผลอย่างรอบด้าน เพื่อนำความรู้ที่เรียนไปใช้ประโยชน์ในชีวิตจริงได้ ควรเป็นการเรียนเพื่อให้เข้าใจอดีตว่าเพราะเหตุใดจึงเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ และเรียนเพื่อที่จะระมัดระวังปัจจุบัน ประวัติศาสตร์จึงเป็นการเรียนเพื่อทบทวนอดีต ไม่ใช่การจมปลักอยู่กับอดีตอันรุ่งเรืองหรือรันทดหดหู่ 


ในโอกาสที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน มีการเตรียมการกันตั้งหลายเรื่อง แต่เรื่องที่ไม่ได้มีการกล่าวถึงกันอย่างชัดๆ คือ กระบวนการหล่อหลอมกล่อมเกลาทัศนคติต่อเพื่อนบ้านในทางลบที่ผ่านตำราเรียนประวัติศาสตร์ที่เป็นอุปสรรคต่อการอยู่ร่วมกับคนอื่น 
แม้ว่าจะมีแนวคิดในการจัดทำหลักสูตรอาเซียน โดยให้ความสำคัญกับ 7 สาขาวิชา โดยในนั้นมีวิชาประวัติศาสตร์อยู่ด้วยก็ตาม แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจุดเน้นการทำหลักสูตรนี้เพียงเพื่อนำประวัติการก่อตั้งอาเซียนไปใส่ไว้ แต่ในส่วนการเรียนเรื่องความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านยังเหมือนเดิมแล้ว หลักสูตรอาเซียนในส่วนของวิชาประวัติศาสตร์คงไม่สามารถทำให้การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนราบรื่นไปได้

นอกจากต้องมีการปรับเนื้อหาในตำราเรียนประวัติศาสตร์ในโรงเรียน ให้กล่าวถึงศึกสงครามให้น้อยลง เขียนประวัติศาสตร์ด้วยความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้นแล้ว อีกส่วนหนึ่งที่ต้องมีการเตรียมความพร้อมคือ ครูผู้สอนประวัติศาสตร์ในโรงเรียนที่ผ่านกระบวนการศึกษาด้วยระบบเก่า ที่ยังมุ่งเน้นไทยรบกับพม่า ต้องให้ครูผู้สอนเหล่านี้ได้เห็นความสำคัญของการใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์ในการฝึกกระบวนการคิดให้กับเด็ก มากกว่าที่จะให้สอนกันแบบเดิมๆ ที่เน้นการจดจำ แต่ควรปฏิรูปครูผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์ทั้งระบบ ให้สามารถใช้กระบวนคิดอย่างมีวิจารณญาณ ฝึกให้เด็กคิดเป็น โดยจัดอบรมครูอย่างจริงจัง ด้วยวิทยากรที่มีความรู้ด้านการใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์อย่างเชี่ยวชาญ และมีความคิดทัศนคติที่ทันสมัย ไม่ล้าหลังคลั่งชาติ

เรื่องสำคัญของการรวมเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียน คือการมีทัศนคติที่ดีต่อกัน เป็นการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน การรู้จักและเข้าใจคนอื่นอย่างที่เขาเป็นนั้นย่อมส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้หากเราปล่อยให้ตำราเรียนประวัติศาสตร์ถูกมองว่ามีทัศนคติเหยียดหยามเพื่อนบ้าน หากเป็นเช่นนี้ต่อไป วิชาประวัติศาสตร์ไทยจะนำไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียนได้อย่างไร?



.