http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-08-09

ภาคเอกชนกับการศึกษา ทวิภาคี โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

.
บางบทความของปี 2554 - โคโลญจ์ เมืองนักต้านเผด็จการนาซี โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ภาคเอกชนกับการศึกษา ทวิภาคี
โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์  คอลัมน์ ไทยมองไทย
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 03 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1668 หน้า 31


"ศักยภาพของแรงงานไทย มีผลิตภาพในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับแรงงานมาเลเซีย ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ซึ่งผลิตภาพสูงกว่าไทยถึง 1.6 เท่า 3.8 เท่า 2.9 เท่า และ 3 เท่าตามลำดับ แรงงานมาเลเซียเพียง 1 คน เท่ากับการทำงานของแรงงานไทยถึง 2 คน"
ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ข้างต้นเป็นที่มาของการค้นหากรณีศึกษา ในเวทีปฏิรูปการเรียนรู้สู่การศึกษาเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ 3 กลุ่มเพื่อนปฏิรูป ภายใต้การประสานงานของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
เวทีมีขึ้นวันที่ 3 เมษายน 2555 ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ ภายใต้หัวข้อ "บทบาทของภาคเอกชนในการร่วมจัดการศึกษาสายอาชีพ" เพื่อร่วมกันหาคำตอบและทางออก ให้กับคุณภาพแรงงานไทยที่ต่ำลง ซึ่งจะส่งผลต่อโอกาสการแข่งขันในตลาดเสรีแรงงานอาเซียน ในปี 2558

ระบบการศึกษาไทย แรงงานไทย ภาคเอกชน ภาคส่วนต่างๆ ของไทย และประเทศไทยโดยรวม จะทำอย่างไร


ผู้เข้าร่วมเวทีแลกเปลี่ยนวันนั้น ยังมากหน้า หลายตา คงความเข้มข้น ไม่แพ้สองครั้งที่ผ่านมา

ครั้งนี้ ได้นำเอาผลการดำเนินงานของภาคเอกชน ที่ให้ความสนใจ จัดการศึกษากับเพื่อนพนักงาน จัดโครงการร่วมกับสถาบันการศึกษาสายอาชีพ คู่ขนานไปกับการประกอบการของบริษัท สอดประสานภาคปฏิบัติกับทฤษฎี ผลิตแรงงานทีมีคุณภาพของตนเองได้ มาเป็นแบบอย่าง
ได้แก่ กรณีศึกษาบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด และบริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) ซึ่งลงทุนผลิตบุคลากรในสายอาชีวศึกษา อย่างจริงจัง เป็นระบบ
เหตุเพราะความต้องการของตลาดแรงงานสายอาชีพ (ระดับต่ำกว่า ป.ตรี) ที่มีสูงถึง 82% แต่ระบบการศึกษาสามารถผลิตแรงงานระดับ ปวส. ได้เพียง 18% และไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ขณะที่คุณภาพมีปัญหา สถานประกอบการต้องฝึกอบรมบุคลากรให้สัมพันธ์กับงานที่ทำจริง 
เริ่มด้วย บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด ที่สนับสนุนสถาบันการศึกษาใน 2 โครงการคือ โครงการพัฒนาช่างเทคนิควิศวกรรมเคมี (Vocational Chemical Engineering Practice College) หรือ V-ChEPC ในวิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด จ.ระยอง และโครงการต้นแบบการผลิตช่างเทคนิคเพื่ออุตสาหกรรม (SCG Model School) ในวิทยาลัยเทคนิคระยอง เพื่อให้ได้บุคลากรที่ตรงตามความต้องการของธุรกิจภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

ดร.พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ผู้ก่อตั้งโครงการพัฒนาช่างเทคนิควิศวกรรมเคมี หรือ "V-ChEPC" เข้าร่วมเวทีเปิดประเด็นเป็นคนแรก
"ในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมมักจะมุ่งพัฒนาผู้บริหารอันดับสูง แต่ละเลยการพัฒนาระดับ ปวช. และ ปวส. ผมเสนอให้ลองมาพัฒนาพนักงานในระดับ ปวช. ปวส. จึงชวนคณาจารย์จาก ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มาช่วยสอนเพื่อให้เป็นการเรียนรู้วิธีที่จะเรียนรู้ต่อไป หรือ Learning How to Learn จึงเกิดกลุ่ม C-ChEC ขึ้น จนมีลูกศิษย์ 200 กว่า ประหยัดค่าใช้จ่ายขององค์กรถึง 747 ล้านบาท ใน 12 ปี จากนั้นจึงปรับมาใช้กับวิทยาลัยอาชีวศึกษา โดยเลือกวิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด จ.ระยอง เพราะเป็นวิทยาลัยขนาดเล็ก และชวนกลุ่มปิโตรเคมี เพื่อร่วมกันตั้ง V-ChEC โดยนำหลักสูตรจาก "ความต้องการ" ของปิโตรเคมีเป็นตัวตั้ง แล้วใส่วิธีการเรียนรู้อย่าง learning how to learn เพื่อให้เกิดความคิดบนฐานการเรียนรู้"
"ปิโตรเคมีเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องแข่งขันกับบริษัทใหญ่ของต่างชาติ จึงต้องการคนที่มีวินัย และระวังเรื่องความปลอดภัยเป็นอย่างสูง เพราะถ้าคุณทำผิดอาจจะระเบิดหรือไฟไหม้ได้ เด็กที่เรียนใน V-ChEC ซึ่งจะเข้าไปอยู่กับ C-ChEC เป็นพี่เลี้ยง จบแล้วจะไปทำงานได้เลย เพราะมีคุณลักษณะครบถ้วนคือ มีวินัย ระมัดระวังสูง และเรียนรู้วิธีการเรียนรู้ต่อไป เพราะปิโตรเคมีจะเปลี่ยนตลอดอย่างรวดเร็ว"

บทบาทของสถานประกอบการ นอกจากสนับสนุนด้านทุนและงบประมาณในการจัดการเรียนการสอนและทุนการศึกษาแล้ว ยังเข้าไปมีส่วนในการจัดหลักสูตรการสอน พัฒนาครูผู้สอน พัฒนาการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างทักษะที่จำเป็นในสถานประกอบการ


ติดตามด้วยกรณีของ บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) "PRANDA" นำโดย คุณปรีดา เตียสุวรรณ์ ประธานกรรมการบริษัท และ คุณปราโมทย์ เตียสุวรรณ์ ประธานโครงการการศึกษาระบบทวิภาคี มาให้ประสบการณ์ที่น่าศึกษายิ่ง 
แพรนด้า จิวเวลรี่ ดำเนินธุรกิจเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องประดับอัญมณี เป็นผู้นำด้านการส่งออกเครื่องประดับอัญมณีอันดับ 1 ของไทย ยอดขายปีละกว่า 4,000 ล้าน กระจายฐานลูกค้าไปยังภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ อเมริกาเหนือ ยุโรปและเอเชีย 
แพรนด้าฯ ไม่เพียงแต่ประกอบธุรกิจ แต่สร้างโอกาส ทางเลือกการเรียนรู้แก่เด็กในชนบทได้เข้ามาเรียนรู้ในโครงการศึกษาระบบทวิภาคีอีกด้วย ลงทุนผลิตบุคลากรในระดับ ปวช. โดยร่วมกับกาญจนาภิเษกวิทยาลัยช่างทองหลวง เพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงานโดยตรง

การจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี (Dual System) คือการจัดการศึกษาด้านอาชีพ ที่สถานประกอบการและวิทยาลัยอาชีวศึกษาร่วมกันจัดกระบวนการเรียนการสอน โดยผู้เรียนหรือผู้ฝึกหัด จะเรียนรายวิชาสามัญและฝึกปฏิบัติรายวิชาชีพจริงในสถานประกอบการ
คุณปราโมทย์ เล่าว่า "ผมมาจากช่างกล พบว่า เครื่องจักรที่เรียนนั้น เมื่อออกไปแล้วทำงานไม่ได้จริง เพราะเครื่องจักรเหล่านั้นเก่าแก่เกินไป เช่นเดียวกับการเรียนเจียระไนพลอย เครื่องมือที่สอนก็สมัยเมื่อ 70-80 ปีที่แล้ว ปรากฏว่าเข้าไปในโรงงานก็ทำงานไม่ได้ นี่คือเหตุผลที่หลายๆ คนต้องสร้างคนของตัวเองขึ้นมา" 
"เด็กที่เข้าเรียนจะเป็นเด็กศึกษาสงเคราะห์จากทั่วประเทศ ซึ่งเป็นโครงการของสมเด็จพระเทพฯ ท่านได้อนุเคราะห์เด็กยากไร้ชาวเขาต่างๆ นำมาอยู่ในโรงเรียนศึกษาตั้งแต่ประถมจบ ม.3 หลังจากจบแล้ว เราเป็นโครงการที่เข้าไปต่อยอด รับเด็กเหล่านั้นเข้ามาศึกษาในระดับอาชีวะหรือระดับ ปวช. 3 ปี หลังจากที่เขาอยู่กับเรา 3 ปีเขาก็จะได้รับวุฒิ ปวช. สาขาเครื่องประดับอัญมณี แล้วเราก็จะบรรจุเขาตามมาตรฐานระดับการศึกษา" 
"ถ้าคิดจะทำโครงการอะไรแล้วถาวรอยู่ได้ ต้องดีเขา ดีเรา สถานศึกษาดี เด็กดี และเราต้องอยู่ได้ นั่นคือนโยบาย 3 ขา เด็ก สถานประกอบการ และวิทยาลัย"



กรณีศึกษา ทั้ง 2 แห่งได้รับความสนใจจากผู้ร่วมเวที ขอคิวมีส่วนร่วมจนเวลาไม่พอ
รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า จากการศึกษาปัจจัยที่ประสบผลสำเร็จกรณีสถานประกอบการจับมือร่วมกับสถาบันอาชีวะ โดยทำการศึกษา 5 วิทยาลัยและมหาวิทยาลัย พบว่า มี 4 ประเด็นคือ
1. ภาคเอกชน มีนวัตกรรมในการคิดเรื่องการจัดการศึกษาที่เป็นประโยชน์ต่อภาคเอกชนและต่อนักเรียนที่จบแล้วมีงานทำ โดยมองที่ตลาดเป็นตัวตั้งก่อนการออกแบบหลักสูตร
2. นำงานมาแปรเป็นหลักสูตร ซึ่งมีทั้งการนำครูที่มาจากโรงงานมาสอน การฝึกครูผู้สอน รวมทั้งการฝึกงานอย่างเข้มข้น แต่สิ่งสำคัญคือการสอนทักษะเฉพาะ เมื่ออายุมากขึ้น แล้วเทคโนโลยีเปลี่ยนไปจะมีอันตรายมาก เพราะจะเกิดการว่างงาน ซึ่งต่างจากคนที่เรียนแล้วมีทักษะทั่วไป ที่สามารถปรับตัวได้
3. ความรับผิดชอบของวิทยาลัยในการผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ เพราะในแต่ละปีต้องใช้งบประมาณสนับสนุนจำนวนมาก
และ 4. ความสามารถในการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งการลดระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ในการบริหารจัดการถือเป็นสิ่งแรกที่จะต้องทำ

บรรยากาศการแลกเปลี่ยนดำเนินไปอย่างคึกคัก จนผมเก็บมาเล่าได้ไม่หมด ต้องขอจบไว้เท่านี้ ท่านใดสนใจในรายละเอียด ติดต่อ ฝ่ายประสานงาน สสค. 0-2619-1811 ได้เลยโดยตรง



++++
บางบทความของปี 2554

โคโลญจ์ เมืองนักต้านเผด็จการนาซี (7)
โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์  คอลัมน์ ไทยมองไทย
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1618 หน้า 34


เสร็จสิ้นภารกิจที่แฟรงก์เฟิร์ต ลากกระเป๋าสะพายเป้จากโรงแรมรามาดาไปตามถนนจนถึงที่จอด เหตุเพราะที่จอดกลางเมืองหายาก ราคาค่าจอดแพงหูดับอีกต่างหาก เป็นปัญหาของเมืองใหญ่ทั่วทั้งโลก 
ซีตรองคันเก๋า จอดรอพานักเดินทาง 5 คน พร้อมกระเป๋า ใช้เวลาราว 2 ชั่วโมงครึ่งถึงที่หมายโคโลญจ์ (Koeln) เมืองใหญ่มีชื่ออีกแห่งหนึ่งทางตะวันตก คนเยอรมันนิยมเรียกว่า เมืองเคิล์น
เหตุที่เราเลือกเมืองนี้เป็นเป้าหมายไม่ใช่เพียงแค่ว่าโคโลญจ์เป็นแหล่งผลิตน้ำหอม ออดิโคโลญจ์ ของฝากชื่อดังก้องโลก ขวดสีเขียว ประทับตราเครื่องหมายการค้าเลข 4711 เป็นสัญลักษณ์ที่มาจากบ้านเลขที่ 4711 ที่ตั้งของโรงงานผลิต
โคโลญจ์ยังเป็นบ้านเกิดออร์กุส ออตโต นักประดิษฐ์รถยนต์ออตโตมอเตอร์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักเดินทางไม่อยากพลาด

แต่เพราะโคโลญจ์เป็นเมืองที่มีความหมายทางประวัติศาสตร์ เป็นบ้านเกิดของรัฐบุรุษคอนราด อเดเนาว์ เขาเป็นนายกเทศมนตรีเมืองนี้ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ค.ศ.1917 ถึง 1933 รวม 16 ปี 
ด้วยความสามารถในการบริหาร พลิกโฉมเมืองที่เต็มไปด้วยซากปรักหักพังหลังสงครามโลก ฟื้นฟู พัฒนาทุกด้าน ทำให้เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรือง กลายเป็นเมืองที่สะอาดน่าอยู่ ประชาชนมีสุขภาพอนามัย มีความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน และตื่นตัวทางการเมือง
ความเป็นนักประชาธิปไตย ไม่ยอมศิโรราบและกล้าท้าทายอำนาจเบ็ดเสร็จ เมื่อปี 1933 ฮิตเลอร์ต้องการมาเยือนเมืองโคโลจญ์ ด้วยความรังเกียจเผด็จการ อเดเนาว์ปฏิเสธการต้อนรับผู้นำลัทธินาซี เป็นเหตุให้ถูกจับคุมขังฐานต่อต้านนาซี ในปีต่อมา

ผลงานของเขาเข้าตาประชาชนและกลุ่มประเทศพันธมิตร ผู้ชนะสงคราม อเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส ฯ ทำให้ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีเยอรมนีตะวันตกคนแรกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1949
เล่ากันว่าระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งประธานสภา เป็นผู้นำยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านอภิปรายโจมตีที่เขาได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี ว่า "คุณเป็นนายกฯ ไม่ใช่ของเยอรมัน แต่เป็นนายกฯ ของพันธมิตร" 
เท่ากับเป็นการดูถูกเกียรติภูมิของเขาและเยอรมันอย่างแรง ผลที่สุดหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านถูกไล่ออกจากที่ประชุม
เรื่องราวทำนองนี้ยังเล่าขานต่อๆ กันมาถึงวันนี้ ที่เรากำลังมาถึงดินแดนแห่งประวัติศาสตร์ โบราณคดีที่สำคัญ


ภาพสะพานข้ามแม่น้ำไรน์ แม่น้ำสายสำคัญที่ไหลผ่านหลายประเทศและเมืองโคโลญจ์ ถูกระเบิดพันธมิตรถล่มเสียหายยับเยิน ถูกบันทึกไว้เตือนความทรงจำและเจ็บปวดจากเผด็จการลัทธินาซี เยอรมันใช้เวลาฟื้นฟูบูรณะอยู่นานหลายปี
รถเราวิ่งข้ามมาได้ไม่นาน เข้ามาจอดในลานจอดรถใต้โบสถ์เก่าแก่ น่าทึ่งในความสามารถทางวิศวกรรม ขุดเจาะพื้นทำเป็นที่จอดรถจำนวนมาก ทั้งๆ ที่บริเวณติดต่อกันนั้นเป็นสถานีรถไฟกลางเมืองขนาดใหญ่
โบสถ์เก่าแก่ที่ว่านี้ก็คือ มหาวิหารโคโลญจ์ ใหญ่อลังการที่สุดในยุโรป เรียกกันว่าเคิล์นโดม (Cologne Cathedral หรือ Kolner Dom) ลักษณะพิเศษมียอดแหลมสองยอด องค์การยูเนสโกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ห้ามสร้างอาคารสูงบริเวณรายรอบ ชาวเมืองยึดมั่นในกติกานี้อย่างเข้มแข็ง
DOM จึงเป็นแหล่งศูนย์กลางการท่องเที่ยว ถนนทุกสายเต็มไปด้วยโรงแรมทุกระดับ ด้านหน้าเป็นอาคารร้านค้า ศูนย์การค้า แหล่งช็อปปิ้งสินค้านานาชนิด หนึ่งในนั้นที่ลูกค้าเข้าออกไม่ขาดสาย คือ ร้านน้ำหอมออดิโคโลญจ์ นั่นเอง

นอกจากนักท่องเที่ยวแล้ว ตลอดทั้งวันตั้งแต่เช้ายันค่ำมืด นักเรียน นักศึกษา ขวักไขว่ พากันมาสักการะ ดูชมความงดงามทั้งภายนอกและภายใน รายรอบด้วยแหล่งเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ติดๆ กัน ทั้งพิพิธภัณฑ์ศิลปะ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี และพิพิธภัณฑ์ช็อกโกแลต 
ด้านข้างเป็นทางเดินลงไปแม่น้ำไรน์ ริมถนนเลียบแม่น้ำบรรยากาศคล้ายๆ บริเวณฮาร์เบอร์ บริดส์ เมืองซิดนีย์ ออสเตรเลีย มองข้ามฝั่งไปเป็นโอเปร่าเฮาส์ ร้านอาหารตั้งเรียงรายให้เลือก แล้วแต่นักเดินทางจะเลือกนั่งซดเบียร์ แทะขาหมูย่าง ไส้กรอกเยอรมัน หรือลิ้มรสอาหารไทยเลื่องชื่อในร้านที่ตั้งอยู่ติดๆ กันก็สุดแต่ใจชอบ 
นักเดินทางไทย เลือกซดเบียร์เยอรมัน ถกการเมืองกันต่อ



"นักการเมืองเยอรมันอีกคนหนึ่งมีบทบาทน่าสนใจ คือ ฟิชเชอร์ พรรคกรีน เคยเป็นรองนายกฯ เรียนจบแค่ ปวช. เป็นคนขายหนังสือ ขับแท็กซี่มาก่อน ถูกฝึกให้มีจิตสาธารณะรณรงค์แก้ปัญหาสังคม ต่อต้านนิวเคลียร์ สนับสนุนรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นคนต้นคิดแยกขยะเปียก ขยะแห้ง" คุณเสริมศักดิ์ เปิดประเด็นระหว่างรอขาหมูต้ม ก่อนลำดับการเมืองเยอรมนี 

ปี 1949-1969 เป็นยุคของ คอนราด อเดเนาว์ ปี 1969-1981 พรรคเลเบอร์เป็นรัฐบาล เฮมุท สมิทท์ เป็นหัวหน้า ต่อมาปี 1982-1994 เฮลมุท โคลท์ เป็นนายกฯ เป็นคนผลักดันนโยบายรวมเยอรมนีและประชาคมเศรษฐกิจยุโรป ส่วน อัลเจรา ไมเคิล นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก คนปัจจุบัน เป็นคนที่ เฮลมุท โคลท์ สนับสนุนขึ้นมา เธอเรียนจบฟิสิกส์ ทำงานการเมืองมาตั้งแต่เด็ก เป็นนายกฯ สมัยแรก 2006 - ปัจจุบัน

พรรคคริสเตียน เดโมแครต หรือ CDU เป็นพรรคหลัก เป็นแกนนำรัฐบาลหลายสมัย เรียกว่าพรรคพี่ มีพรรคคริสเตียนโซเชียล เดโมแครต (CSU) เป็นพรรคน้อง สองพรรคนี้จะไปด้วยกันเสมอ ส่วน Free Democratic Party หรือ FDP เป็นพรรคพันธมิตร ที่น่าสนใจอีกพรรคคือพรรคกรีน เลือกตั้งล่าสุด มี ส.ส.เขตพื้นที่คนเดียว แต่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ 67 คน

สะท้อนให้เห็นว่าพรรคที่มีแนวนโยบายเฉพาะเรื่อง คนเลือกพรรคสูงกว่าตัวบุคคล


ถกการเมืองออกรสชาติจนเบียร์หมดไปหลายเหยือก เรียกเช็กบิล 5 คน 70 เหรียญ ตกคนละ 14 เหรียญ ราว 600 กว่าบาท เดินกลับที่พัก ผ่าน DOM ลมพัดเย็นเฉียบ หนุ่มสาวสองคนนั่งพร่ำพลอดท้าทายความหนาวอย่างมีความสุข ไม่สนใจสายตาใคร  
ระหว่างทาง ผมถามคุณธีระชัย "พี่นึกยังไงถึงข้ามแดนฝรั่งเศสมาเยอรมนี พาพวกเราท่องจากแฟรงก์เฟิร์ต มาโคโลญจ์ แถมจะต่อไปบอห์น เมืองหลวงเก่าวันพรุ่งนี้อีก หลายร้อยกิโล ไม่ได้อะไรเลย เสียเวลาอีกต่างหาก" 
"เออน่า อย่าคิดมาก ยิ่งกว่านี้ผมก็ทำมาแล้ว มีเพื่อนคนไทยเดินทางมาเยี่ยม เป็นความสุขของผม"

คำตอบของพี่ธีระชัย ทำให้ผมยืนยันกับตัวเอง ต้องหาทางถามไถ่เส้นทางชีวิตของพี่ เอามาเล่าสู่กันฟังให้คนไทยได้รับรู้ ว่ายังมีคนไทยจิตใจงดงามอย่างนี้ อยู่ที่นี่อีกคนหนึ่ง 
ไม่ใช่งดงามเพราะขับรถพาเราไปไหนต่อไหน แต่ผลงานปิดทองหลังพระของเขาต่างหาก ไปมาอย่างไร ถึงได้ชื่อว่า Ambassadeur de la boxe thai en Europe ประธานสภามวยไทยแห่งทวีปยุโรป ตอนหน้าจะว่าให้ฟังครับ



.