.
ทุนสามานย์
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2555 เวลา 14:13 น.
( ที่มา คอลัมน์ กระแสทัศน์ ของ นสพ.มติชนรายวัน 27 สิงหาคม 2555 )
ใครก็ตามที่คิดคำว่า "ทุนสามานย์" ขึ้นมา น่าจะได้ซีไรต์, บัวหลวง, ศิลปินแห่งชาติ, พระเกี้ยวทองคำ และอื่นๆ บรรดามีในเมืองไทยพร้อมกันในปีเดียว
เพราะคำนี้แทรกซึมเข้าไปเป็นส่วนสำคัญของโลกทรรศน์คนจำนวนไม่น้อย และในนั้นมีทั้งนักวิชาการ, กวี, ศิลปิน, ปัญญาชน, เอ็นจีโอ หรือแม้แต่พระภิกษุ ทั้งเป็นคำที่ให้ความสะใจสำหรับใช้ประณามศัตรูของตน นับตั้งแต่ศัตรูทางการเมืองไปจนถึงศัตรูหัวใจ
แต่ในขณะเดียวกัน เพราะพลังทางภาษาของคำคำนี้ จึงทำให้ผู้หลงใหลลืมความสามานย์ของทุนทั้งระบบ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า นายทุนที่ใช้เส้นสายและติดสินบนอำนาจรัฐ เพื่อผูกขาดขายบริการโทรศัพท์มือถือ กอบโกยกำไรโดยการเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างหน้าด้านๆ นับตั้งแต่ตั้งราคาตัวโทรศัพท์, ซิม, ไว้สูงเกินจริง และบีบบังคับผู้บริโภคให้ต้องซื้อบริการมากๆ เช่นกำหนดเวลาสั้นๆ ในการใช้บริการแก่ผู้ซื้อบัตรเติมเงิน ฯลฯ คือทุนสามานย์อย่างแน่นอน
ยิ่งใช้กำไรมหาศาลที่ได้จากการผูกขาดและการขายบริการอย่างไม่เป็นธรรมนั้น เข้ามากุมอำนาจรัฐอย่างเปิดเผย เพื่อใช้อำนาจนั้นในการเพิ่มพูนทรัพย์สินของตน (ตัวเลขของราคาหุ้นในตลาด) ก็ยิ่งย้ำความเป็นทุนสามานย์อย่างแน่นอน
แต่ทุนผูกขาดในเมืองไทยไม่ได้เริ่มต้นจากการผูกขาดโทรศัพท์มือถือ จะว่าไปก็ไล่ย้อนไปได้ถึงกรุงศรีอยุธยาโน่น พระคลังสินค้าผูกขาดสินค้าส่งออกและนำเข้าอันเป็นที่ต้องการของตลาดมาเกือบจะโดยตลอด และเป็นแหล่งรายได้สำคัญของราชสำนักไทย ซึ่งใช้ชีวิตอยู่คนละโลกกับประชาชนของตนเอง ซ้ำในเวลาต่อมาก็ยังกินหัวคิวจากการผลิตสินค้าสู่ตลาดทุกชนิดในราชอาณาจักร โดยอาศัยระบบเจ้าภาษีนายอากร ซึ่งยังดำรงอยู่ต่อมา แม้เมื่อฝรั่งบังคับให้ต้องเลิกการผูกขาดสินค้าเข้า-ออกแล้วก็ตาม
ทุนไทยตอบสนองต่อการเปิดตลาดข้าวอย่างกว้างขวาง ด้วยการจับจองที่ดินสองฝั่งคลองที่ตนลงทุนขุดในภาคกลาง แต่ก็ไม่ได้ลงไปบุกเบิกด้านเกษตรกรรมเอง หากนอนกินค่าเช่าจากชาวนาที่ต้องการปลูกข้าวขายป้อนตลาดต่างประเทศ ที่ดินซึ่งบริษัทคลองคูนาสยาม (อันประกอบด้วยผู้ถือหุ้นที่เป็นราชนิกุลและคนใกล้ชิด) มีชาวนาที่เข้ามาบุกเบิกจับจองไว้ก่อนแล้วจำนวนไม่น้อย เพราะอยู่ใกล้กรุงเทพฯ อันเป็นที่ตั้งของโรงสีและท่าเรือส่งออกข้าว แต่ก็ถูกบริษัทซึ่งมีอำนาจรัฐอยู่เบื้องหลัง ใช้กำลังทั้งเถื่อนและกำลังของรัฐขับไล่ออกไป หลายครั้งด้วยวิธีรุนแรง เช่นเผาบ้านทิ้ง
นี่คือการผูกขาดปัจจัยการผลิตนั่นเอง แต่กระทำโดยกฎหมายที่รัฐออกมาเพื่อเอื้อให้ทุนสามารถผูกขาดได้
หลัง 2490 ทั้งนายทหารและนายตำรวจเข้าไปนั่งเป็นประธานและกรรมการบริษัทจำนวนมาก บางคนเป็นกรรมการถึงกว่า 50 บริษัท เพราะทุนเชื้อเชิญเข้าไปเป็นร่มเงาให้แก่การผูกขาดในรูปแบบต่างๆ เช่นหากเป็นธนาคาร ก็ทำให้รัฐสั่งเอาเงินของบางกระทรวงไปฝากไว้กับธนาคารที่ตนนั่งเป็นประธาน การยึดอำนาจของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และยุคพัฒนา ไม่ได้ขจัดความไม่เป็นธรรมในการลงทุนแต่อย่างใด เพียงแต่ขจัดคู่แข่งของตนออกไปจากการกินส่วยของทุน แต่ทำให้การเชื่อมโยงระหว่างทุนและอำนาจรัฐซึ่งตัวยึดมาได้เป็นระบบมากขึ้นเท่านั้น
หากทุนต้องการทำโรงงานน้ำมันละหุ่ง ก็จะมีกฎหมายห้ามส่งออกเมล็ดละหุ่งดิบ เพื่อทำให้ราคาวัตถุดิบในประเทศต่ำ โรงงานทอผ้าทั้งหมดทำกำไรได้มโหฬารจากกฎหมายที่รอนสิทธินานาประการของฝ่ายแรงงาน เราผลิตผ้าได้หลายร้อยล้านหลาต่อปี ด้วยแรงงานที่ไม่เคยได้ค่าแรงเพิ่มขึ้นเป็นสิบปี และทำงานในโรงงานที่มีสภาพย่ำแย่อย่างต่อเนื่อง
การ "ผูกขาด" เพิ่มความซับซ้อนขึ้น เช่นเราอาจเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้าเพื่อขายผ้าให้แก่เวียดนาม เพราะตระกูลของตนลงทุนในอุตสาหกรรมผ้าไว้มาก แม้ไม่มีบริษัทก่อสร้างปลอมๆ ที่ตั้งขึ้นเพื่อกินหัวคิวการก่อสร้างภาครัฐแล้ว แต่โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ในภาครัฐก็ยังวนเวียนกันอยู่กับบริษัทใหญ่เพียงไม่กี่บริษัท และทุกบริษัทต่างมีเส้นอยู่กับภาครัฐ ไม่โดยตรงก็โดยอ้อมทั้งสิ้น
การผูกขาดโทรศัพท์มือถือของทุนสามานย์ ไม่ใช่การผูกขาดครั้งสุดท้ายแน่
ไม่เฉพาะแต่ในเมืองไทย ทุนที่ไหนๆ ก็ล้วนพยายามผูกขาดโดยตรงหรือโดยอ้อมทั้งสิ้น เพราะการผูกขาดทำกำไรได้มากและเร็วกว่าวิธีอื่นๆ แม้แต่ในประเทศที่มีกฎหมายห้ามการผูกขาดอย่างรัดกุม ทุนก็ยังสามารถทำให้อำนาจรัฐในการตรวจตราควบคุมอ่อนลง ในสหรัฐอเมริกา ข้าราชการและนักการเมืองที่ "ปลด" แล้ว มักจะเข้าไปนั่งเป็นประธานหรือกรรมการบริษัทเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร, บริษัทยา และบริษัทผลิตอาหาร ในขณะที่หน่วยงานของรัฐซึ่งมีหน้าที่ควบคุมผลิตภัณฑ์เหล่านี้ผ่อนปรนมาตรการควบคุมตรวจตราลง หรือแม้แต่รัฐสภาก็หลีกเลี่ยงที่จะออกกฎหมายควบคุมการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตราย ทั้งในภาคเกษตรและภาคครัวเรือน
จริงอยู่การผูกขาดคือการให้สิทธิพิเศษแก่บริษัทใดบริษัทหนึ่ง ฉะนั้น การผ่อนปรนให้แก่ทุกบริษัทเสมอกันจึงไม่ใช่การผูกขาด แต่บริษัทใหญ่ๆ ก็ควบรวมกิจการและกลืนบริษัทเล็กๆ ลงหมด จนเหลือบริษัทใหญ่ที่ผลิตสินค้านั้นๆ อยู่เพียงสองสามบริษัท กฎที่ใช้ทั่วไปจึงกลายเป็นกฎที่ใช้เฉพาะไปในทางปฏิบัติ
ทุนมีแนวโน้มจะ "สามานย์" เสมอ คือมีแนวโน้มที่จะทำให้การแข่งขันเกิดขึ้นได้ยาก หรือไม่เกิดเลย เพื่อให้ตนมีอำนาจเหนือตลาดเต็มที่ หากทำได้สำเร็จ ผู้บริโภคคือเหยื่อที่ไม่มีทางดิ้นรนไปไหนได้ ดังเช่นระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ซึ่งแม้มีการแข่งขัน แต่ในทางปฏิบัติก็จะเป็นทางเลือกที่ยากเกินไปกว่าที่ผู้บริโภคจะเลือก ท่านจะเรียกร้องอะไร เราก็ต้องยอมให้ เพราะคอมพิวเตอร์กลายเป็นส่วนหนึ่งของลมหายใจสำหรับชีวิตคนในสังคมสมัยใหม่ไปแล้ว
เราจะอยู่ท่ามกลางความสามานย์ของทุนเช่นนี้ได้อย่างไร? เท่าที่มนุษย์เราค้นหาวิธีที่จะจัดการกับความสามานย์ของทุนได้ ก็มีเครื่องมืออยู่เพียงสองอย่างเท่านั้น คือ รัฐและสังคม
รัฐแบบไหนที่จะคุม หรืออย่างน้อยก็ถ่วงดุลความสามานย์ของทุนได้
รัฐที่ยกอำนาจคืนแก่สถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ทำไม่ได้แน่ ประวัติการเป็นทุนผูกขาด มีแนวโน้มจะเอาเปรียบทั้งคู่แข่งและผู้บริโภคทั้งสิ้น ในทุกวันนี้ หากรัฐเป็นทุนเสียเองก็อันตราย หากถือว่าสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นของสถาบันก็จะคืนอำนาจทางการเมืองเต็มร้อยแก่สถาบันไม่ได้
รัฐที่กระจุกอำนาจไว้กับกลุ่มคนที่อ้างว่าเป็นคนดีมีคุณธรรม หรือมีความรักชาติท่วมท้นกว่าคนอื่น ก็ไม่อาจจะควบคุมความสามานย์ของทุนได้ คนที่อ้างว่าดีมีคุณธรรมจำนวนไม่น้อยผูกพันอยู่กับทุนอย่างแน่นแฟ้น (เช่นกินเงินเดือนในฐานะที่ปรึกษา) บางคนก็มีประวัติว่าเคยใช้อำนาจรัฐเพื่อประโยชน์ส่วนตนมาก่อน นักคลั่งชาติก็ไม่ต่างกัน และความคลั่งชาตินั้นมีอันตรายในตัวเองอย่างมหันต์ นำตนเองและคนไม่รู้อีโหน่อีเหน่อีกทั้งประเทศไปสู่หายนะมามากแล้ว
รัฐชนิดเดียวที่พอจะเป็นความหวังได้บ้าง คือ รัฐและสังคมประชาธิปไตย นั่นหมายถึงรัฐที่ต้องให้ความสำคัญที่เท่าเทียมกันแก่พลเมืองทุกคน อย่างน้อยก็ในทางการเมือง ทำให้การเมืองเป็นเวทีเปิดสำหรับการเรียกร้องนานาชนิด แน่นอนการเย้วๆ อยู่ข้างถนนก็เป็นสิทธิที่ละเมิดไม่ได้ แม้อาจทำความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นบ้าง แต่ตราบเท่าที่ยังให้ทางเลือกที่พอเป็นไปได้แก่คนอื่นบ้าง ก็ต้องยอม
แต่รัฐประชาธิปไตยจะอยู่ลอยๆ ไม่ได้ เพราะจะมีคนจำนวนน้อยเท่านั้นที่อ้างความเป็นประชาธิปไตยเพื่อเข้าถึงเวทีต่อรอง รัฐประชาธิปไตยต้องตั้งอยู่บนสังคมประชาธิปไตย เช่นจะเป็นรัฐรวมศูนย์ไม่ได้ อำนาจต้องกระจายไปตามจุดต่างๆ นับตั้งแต่ท้องถิ่น องค์กรเอกชนนานาชนิด สื่อ องค์กรทางวัฒนธรรม องค์กรทางการศึกษา ฯลฯ แต่อาจเป็น "อำนาจ" ที่ต่างชนิดกัน หากสามารถคานกันได้
ทั้งหมดที่เขียนถึงตรงนี้ ล้วนเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็รู้ หรือคิดเองได้ทั้งนั้น แต่เหตุใดเหล่าคนที่ใช้ "ทุนสามานย์" เพื่อบริภาษศัตรูทางการเมืองของตนจึงดูเหมือนไม่ตระหนัก แกล้งไม่ตระหนัก หรือไม่ตระหนักจริงๆ
ย้อนกลับไปดูคนเหล่านี้ดู ก็พบด้วยความประหลาดใจว่า แม้ปูมหลังของบางคนอาจจะมาจากชนชั้นล่างในชนบทห่างไกล แต่เขาต่างเป็นคนที่ประสบความ "สำเร็จ" ในสังคมทุนนิยมแบบไทยทั้งสิ้น ทำให้เกิดความเข้าใจได้ดีถึงพลังของรัฐทุนนิยมไทย ว่าที่จริงแล้ว นอกจากความสามานย์ที่เอารัดเอาเปรียบผู้คนอย่างหน้าด้านๆ แล้ว ยังมีอีกมิติหนึ่งของรัฐทุนนิยมไทยซึ่งอ่อนโยน และมีพลังในการดูดกลืนกลุ่มคนแปลกหน้าซึ่งอาจเป็นปฏิปักษ์ของตนได้อย่างแนบเนียน
เขากลายเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่ทำทุกอย่างเพื่อผดุงเสรีภาพของทุนไว้เหนือทุกส่วนของสังคม เป็นนักวิชาการที่เทิดทูนระบบรัฐที่เป็นทุนผูกขาด เป็นกวีที่ปลอบประโลมผู้ถูกรังแกและเอารัดเอาเปรียบให้สยบยอมต่อความสามานย์ของทุน ฯลฯ
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย