.
อ่านบทความเก่าของปี 2554 ”เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์” - เวียงหนองล่ม อาเพศแผ่นดิน แม่ม่ายกินปลาไหลเผือก และ”สึนามิ”
ได้ที่ www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1301385500&grpid=no&catid=50
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
ลับแล แม่ม่าย ผู้ชายหายไปไหนหมด?
โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ www.facebook.com/pensupa.sukkatajaiinn คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1670 หน้า 76
ปีกลายเคยเขียนเรื่อง "แม่ม่าย ปลาไหลเผือก" โดยโยงไปสู่ "สึนามิ" จนทำให้เกิดเวียงหนองล่มแล้วนั้น มีผู้สอบถามกันมามากว่า ทำไมเรื่องแม่ม่ายที่ดิฉันนำเสนอ จึงไม่เหมือนกับตำนาน "แม่ม่าย" ที่เคยอ่านในที่อื่นๆ
ขอทำความกระจ่างว่า ตำนานเกี่ยวกับ "แม่ม่าย" นั้นมีหลายเวอร์ชั่น เรื่องที่เรารู้จักกันอย่างดีคือ "แม่ม่าย กับปลาไหลเผือก" ของชาวโยนกเชียงแสน ที่คนทั้งหมู่บ้านแห่ไปกินงูจำศีลตัวนั้น ยกเว้นแม่ม่าย จนส่งผลให้เกิดอาเพศแผ่นดิน เวียงล่มจมหนองหายสาบสูญไป จวบทุกวันนี้ก็ยังค้นไม่พบ
กับอีกเรื่องที่เคยนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ ละครหลายครั้ง และปัจจุบันยังเล่าขานกันไม่จบ ก็คือตำนานของ "แม่ม่ายเมืองลับแล" ที่อุตรดิตถ์ โดยมีเรื่องราวรายละเอียดที่แตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง
แม่ม่ายของเมืองลับแล เกิดจากการที่ผู้ชายฝ่าฝืนสัจวาจา โดยทุกคนเคยสัญญาว่าจะไม่โกหกแม้แต่คำเดียว เรื่องที่เล่ากันเอ่ยถึงหนุ่มจากเมืองทุ่งยั้งคนหนึ่ง ได้เข้ามาเป็นเขยของบ้านลับแล อยู่กินกับสาวเจ้าจนมีลูกเต้า แค่เพียงเผลอพูดเล่นๆ เพื่อเอาใจลูกที่ร้องไห้งอแงหาแม่ว่า "โน่นแน่ แม่มาแล้ว" ทั้งๆ ที่แม่ยังไม่กลับมา ก็ถูกคุณแม่ยายเนรเทศให้เขยนั้นออกไปจากหมู่บ้านฐานพูดเลอะเทอะ
ครั้นเมื่อจากไปแล้วนึกจะหวนกลับมาอีกรอบก็หาทางเข้าเมืองไม่พบ เหตุเพราะเป็นเมืองลับแล (ไม่ต้อนรับคนไร้ศีลธรรม)
เรื่องทำนองนี้ นอกจากที่ลับแลแล้ว ยังปรากฏอยู่ที่ชุมชนมอญโบราณบ้านหนองดู่-บ่อคาว เวียงเกาะกลาง ป่าซาง อีกด้วย โดยกล่าวถึงเนินศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งชื่อ "เนินแม่ม่าย" ใครก็ตามที่แอบมาลักลอบขุดค้นโบราณวัตถุจากเนินแห่งนี้จักต้องมีอันเป็นไป
ปราชญ์ชาวบ้านเล่าให้ดิฉันฟังว่าเรื่องนี้ "ไม่เชื่ออย่าลบหลู่" เพราะประสบกับญาติของเขาเองหลายคน บ้างก็ตายปุบปับไร้สาเหตุ เพราะแอบลักขุดเศียรพระพุทธรูปไปขาย บ้างก็นอนป่วยทุรนทุรายเรื้อรังหลังจากไปขโมยศิลาแลงมาทำหินลับมีด
ผลสุดท้ายเมื่อผู้ชายเกิดความโลภ ก็เหลือแต่แม่ม่ายเต็มหมู่บ้าน
ชาวบางใหญ่ สุพรรณบุรี ก็มีบ้านบางแม่หม้าย เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ มีเรื่องเล่าว่า สมัยที่กรุงศรีอยุธยาถูกพม่ายึดนั้น ชาวบ้านที่เป็นผู้ชายหมู่บ้านนี้พร้อมใจกันต่อสู้ จนถูกพม่าฆ่าตายหมด บรรดาแม่บ้านก็ต้องตกพุ่ม "ม่าย" จึงพร้อมใจกันบวชชี เพื่ออุทิศบุญกุศลไปแด่สามีผู้ล่วงลับ นี่เป็นตัวอย่าง "แม่ม่าย" อีกหนึ่งเวอร์ชั่นของทางภาคกลาง
"แม่ม่าย" ของโยนกเชียงแสนมาโผล่ที่ ป่าซาง-ลำพูน และลับแล-อุตรดิตถ์ได้อย่างไร "แม่ม่าย" ทั้ง 2-3 เวอร์ชั่นนี้ มีอะไรที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกันหรือไม่
นี่คือประเด็นหลักที่ดิฉันจะชวนถกปริศนากันในครั้งนี้
การเดินทางไกลของ "แม่ม่าย"
จากเชียงรายสู่อุตรดิตถ์
มีหลายคนเคยเสนอให้เพิ่ม "อุตรดิตถ์" เข้าไปเป็นจังหวัดที่ 9 สำหรับการแบ่งเขตกลุ่มจังหวัดล้านนา หรือภาคเหนือตอนบน แทนที่จะเป็น 8 จังหวัดตามเดิม อันได้แก่ ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน เชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน
ทำไมล่ะหรือ ก็เพราะเกินครึ่งจังหวัดของอุตรดิตถ์นั้นประชากรเป็นชาว "ไทโยน" ที่ "อู้กำเมือง" มีวัฒนธรรมประเพณีแบบชาวล้านนา กินน้ำพริกหนุ่ม นุ่งซิ่นตีนจก ประกาศตนว่ามีเชื้อสาย "โยนกเชียงแสน" โดยเฉพาะเขตอำเภอลับแล ทุ่งยั้ง ตรอน เมือง และอำเภอพิชัย
แน่นอนว่า หากนับอุตรดิตถ์เป็นล้านนา ย่อมสร้างความไม่พอใจให้แก่ประชากรกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่มีเชื้อสายไทยสุโขทัย และไทลาวจากล้านช้างอีกสองเส้า ที่ต่างก็ยืนถ่วงดุลสัดส่วนกันอยู่
จะว่าไป อุตรดิตถ์ก็เหมือนกับเมืองตาก ที่มี "คนล้านนา" กระจายตัวอยู่ในหลายอำเภอ พอๆ กับการที่มี "คนในวัฒนธรรมสุโขทัย" ตามประกบคู่กระหนาบกันอยู่อีกในหลายๆ พื้นที่
ฉะนี้แล้ว ความฝันของชาวไทโยนในอุตรดิตถ์ที่อยากขอแยกตัวออกมาเป็นเมืองที่ 9 ของกลุ่มจังหวัดล้านนา เห็นท่าจะยากเอาการ
แยกไม่แยกไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่สิ่งที่ควรสืบค้นให้หายคาใจก็คือ "ชาวไทโยน" ในอุตรดิตถ์มาได้อย่างไร มากี่ระลอก อย่าบอกแค่เพียงว่า ก็เพราะอุตรดิตถ์เป็นชายขอบหรือรอยต่อของเมืองแพร่ จึงย่อมมีชาวล้านนากระเส็นกระสายล้นออกเป็นธรรมดา
พยายามค้นหาประวัติความเป็นมาของคนที่อู้กำเมืองในอุตรดิตถ์ ก็ไม่พบรายละเอียดมากไปกว่า การโยงว่าชาวไทโยนที่อุตรดิตถ์นั้นส่วนใหญ่อยู่ที่เมืองลับแล บริเวณห้าตำบลด้านเหนือ ได้แก่ ตำบลชัยจุมพล ศรีพนมมาศ ฝายหลวง แม่พูล นานกกก
นอกจากนี้ ก็พบเพียงตำนานปรัมปราของเจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร โอรสของท้าวเรืองธิราช กษัตริย์องค์ที่ 21 แห่งโยนกนาคนคร ผู้พาชาวเมืองอพยพหนีโรคระบาดความแห้งแล้งเมื่อปี พ.ศ.1513 โดยมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองลับแล
อันคำว่า "ลับแล" นี้ บางท่านว่าหมายถึงเมืองที่ตั้งอยู่ในภูมิประเทศลึกลับซับซ้อน มองจากภายนอกไม่เห็น และหากคนต่างถิ่นหลงเข้าไปก็หาทางออกไม่พบ ดังเช่นอีกเมืองคือ "ลับแลลี้" ก็เป็นคำที่ใช้เรียกเมืองลี้ของลำพูนในตำนานพระเจ้าเลียบโลก
กับอีกนัยหนึ่ง อาจเพี้ยนมาจาก "ลับแลง" แลงเป็นภาษาล้านนาหมายถึงยามเย็น เป็นบรรยากาศอันยะเยือกช่วงตะวันชิงพลบของเมืองแห่งนี้ที่มีดอยม่อนฤๅษีสูงใหญ่เป็นฉากกั้นป่าลับแลง
แต่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวินิจฉัยว่า ตำนานหน้านั้นฟังดูเก่าเกินไป เพราะปีศักราช "1513" เป็นยุคที่ทางเหนือมีหริภุญไชยเป็นศูนย์กลาง แต่เรากลับไม่พบหลักฐานสมัยหริภุญไชยในเมืองอุตรดิตถ์ สมเด็จในกรมสันนิษฐานว่า คนเมืองลับแลน่าจะเป็นคนเมืองแพร่เมืองน่านที่พระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนาได้ส่งมาทำสงคราม ต้านศึกตรึงทัพกับอยุธยาในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถมากกว่า
นั่นคือความน่าจะเป็นของยุคที่หนึ่ง ในการตั้งถิ่นฐานของชาวล้านนาที่อุตรดิตถ์
ยุคที่สองก็คือสมัยรัชกาลที่ 1 ตรงกับยุคของพระญากาวิละกษัตริย์เชียงใหม่ ได้กวาดต้อนชาวเชียงแสนแบบเทครัวราวเกือบหมื่นชีวิตให้พ้นจากเขตที่พม่าเข้ายึดครอง โดยอพยพคนเชียงแสนมาหลายกลุ่ม บางกลุ่มให้อยู่เชียงใหม่ บางกลุ่มอยู่ลำปาง (แถววัดแก้วดอนเต้า) และกลุ่มนี้มีฐานะเป็น "กันชน" เขตแดนระหว่างล้านนากับกรุงสยามตอนใต้ คนระลอกที่สองนี้ได้ตั้งถิ่นฐานอยู่แถบท่าทราย ทุ่งยั้ง เวียงเจ้าเงาะ
และครั้งที่สาม เป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญยิ่ง เพราะไม่ค่อยเห็นเอกสารเล่มใดกล่าวถึงเลย ต้องขอขอบคุณ อาจารย์แสวง ใจรังสี ครูภาษาไทยชำนาญการพิเศษ จากโรงเรียนน้ำดิบวิทยาคม ผู้เป็นเขยยองป่าซาง แต่เกิดที่ตรอนเป็นคนไทโยนอุตรดิตถ์ ได้ให้ข้อมูลว่า การอพยพของชาวไทโยนมายังอุตรดิตถ์ครั้งสุดท้ายนั้น ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 ยุคที่สยามเริ่มกริ่งเกรงว่าจะเกิดกบฏ "เจ้าอนุวงศ์"
จึงได้ทำการสลับสับเปลี่ยนประชากรกลุ่มหัวแข็งชาวไทลาว-อีสาน แถบพิษณุโลกและอุตรดิตถ์ที่เห็นว่าหากปล่อยไว้น่าจะไปรวมตัวกับกองกำลังลาวล้านช้างของเจ้าอนุวงศ์ได้สะดวก จึงบังคับให้โยกย้ายไปอยู่ที่เมืองไชยนารายณ์ (ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งของเชียงราย)เสีย พร้อมกับได้เกณฑ์ชาวเชียงแสน-แม่จันลงมาทางแพร่ ตั้งหลักแหล่งอยู่ที่อุตรดิตถ์แถบเหนือเขื่อนสิริกิติ์ (สมัยนั้นยังไม่มีเขื่อน) บริเวณหนองอ่าง ดงสังโฆ ดงช้างดี ตัดข้ามไปนครไทย ชาติตระการโกศลในเขตพิษณุโลก สลับที่แทนกัน เป็นอันหมดเสี้ยนหนาม
ถามว่าแค่เอาคนอีสานไปอยู่เหนือก็น่าจะเพียงพอแล้ว ไม่เห็นจำเป็นจะต้องเอาคนเหนือลงมาให้ยุ่งยาก แต่เนื่องจากยุคนั้นคงมีข่าวเล็ดลอดให้ขุนนางสยามทราบเช่นกันว่า ชาวเชียงแสนเองก็กำหลังก่อหวอดเตรียมการกบฏไม่ต่างจากกลุ่มเจ้าอนุวงศ์เท่าใดนัก นั่นคือกลุ่มของหนานอินทร์ และแสนใจยะรังสี
สรุปแล้ว คนล้านนาในอุตรดิตถ์นั้นมีการอพยพเข้ามาสามระลอกที่เป็นครั้งสำคัญ หรืออาจจะมากกว่านั้น ดีไม่ดีอาจมีมาแล้วตั้งแต่ยุค 1513 จริง
เพียงแต่ตอนนี้วงการโบราณคดีของเรายังหาหลักฐานด้านคันน้ำคูดินและโบราณวัตถุที่เก่าถึงยุคหริภุญไชยมารองรับไม่พบเท่านั้น
พบแต่กลองมโหระทึกยุคดึกดำบรรพ์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ไปนู่น
อาจเป็นไปได้ว่าเมื่อกลุ่มชนชาวโยนกเชียงแสน ได้อพยพมาอยู่ในอุตรดิตถ์ ก็ย่อมนำเอาเรื่องราวมุขปาฐะ ท้องถิ่นของตนติดตัวมาด้วย โดยเฉพาะตำนานคลาสสิคเรื่อง "แม่ม่าย" นั่น
แต่แทนที่จะมีการเล่าเรื่อง "แม่ม่าย" ให้ออกมาในทำนองเกิดเหตุการณ์ "เวียงหนองล่ม" เพราะผู้คนไร้ศีลธรรม ก็กลับแปรไปเป็นภาพด้านตรงข้าม กลายเป็นเมืองของคนดี มีความซื่อสัตย์สุจริต จะพูดโกหกแม้เพียงคำเดียวก็ยังไม่ได้ ลูกเขยเห็นบุตรร้องไห้ กล่อมอีท่าไหนก็ไม่ยอมหยุด หลุดปากหลอกลูกว่า แม่มาแล้ว เท่านั้นแหละ ยังต้องจรลีออกจากเมือง แถมจะกลับมาก็หาทางเข้าไม่เจออีก เพราะเมืองนี้ไม่ต้อนรับคนขี้จุ๊
หลายคนไม่ค่อยเชื่อตำนานเรื่อง "เขยพูดเล่น" แต่กลับมองแบบวิทยาศาสตร์ว่า ที่มาของฉายา "เมืองแม่ม่าย" นั้นน่าจะมาจากการที่ชาวลับแลมีอาชีพทำสวนทุเรียน สวนลางสาดบนภูเขา ผู้ชายใช้ชีวิตส่วนใหญ่ดูแลสวน ทิ้งลูกเมียและแม่อยู่กับบ้าน ใครผ่านไปก็ย่อมเจอแต่ผู้หญิง
หรือหากมองในปรากฏการณ์ร่วมสมัย อย่าว่าแต่ผู้คนในเมืองลับแลจะมีผู้เฒ่าผู้แก่เป็นหญิงมากกว่าชายและเป็นหญิงม่ายเพราะสามีผิดคำสัญญาเลย ที่ไหนๆ ทั่วโลกก็หาผู้ชาย (ทำยา) ยากเต็มทน ไม่ต่างไปจากเมืองลับแลแล้ว ไม่รู้ว่าไปจับปลาไหลเผือกกิน แอบขโมยโบราณวัตถุ ชอบพูดโกหก หรือออกรบกับพม่า อยู่ที่ไหนกันหมดมิทราบ?
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย