http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-08-11

รัฐนาฏกรรมอีกที โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

รัฐนาฏกรรมอีกที
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1669 หน้า 30


หลายปีมาแล้ว เมื่อครั้งที่มีพิธีฉลองการขึ้นครองราชย์ครบ 60 ปีของรัชกาลปัจจุบัน เพื่อนคนหนึ่งถามผมว่า ทำไมผู้เข้าเฝ้าในวันเสด็จออกที่พระที่นั่งอนันตสมาคม จึงต้องร้องไห้
นั่นเป็นภาพที่กล้องทีวีพยายามเจาะลงไปให้ผู้ชมได้เห็น รวมทั้งไปสัมภาษณ์ประชาชนผู้เข้าเฝ้า ซึ่งหลายคนก็ให้สัมภาษณ์พร้อมกับสะอึกสะอื้นไปด้วย
เป็นคำถามที่ผมตอบไม่ได้ในตอนนั้น ได้แต่เดาส่งไปว่าคงปลาบปลื้มใจจนน้ำตาไหลกระมัง ส่วนใหญ่ของคนไทยปัจจุบันล้วนมีชีวิตอยู่ในแผ่นดินนี้แผ่นดินเดียว และนับตั้งแต่ พ.ศ.2500 เป็นต้นมา สื่อต่างๆ ก็เสนอภาพของชีวิตในสังคมไทยที่มีพระมหากษัตริย์พระองค์นี้ เป็นศูนย์กลางตลอดมา การได้เข้าเฝ้าชมพระบารมีในวาระโอกาสอย่างนั้น ย่อมนำความปลาบปลื้มปีติเป็นธรรมดา

ทั้งเพื่อนและผมรู้เหมือนกันว่า เป็นคำตอบทื่อๆ ที่อธิบายแบบขอไปทีมากกว่า
ผมเพิ่งมาพบคำอธิบายที่ไม่ทื่ออย่างนั้น (แต่จะถูกหรือผิดไม่ทราบได้) เมื่อตอนที่เขียนเรื่องรัฐนาฏกรรมในมติชนสุดสัปดาห์เมื่อสองเดือนที่แล้ว และมีเหตุบางอย่างที่ทำให้ผมต้องคิดเรื่องนี้อย่างปรุโปร่งมากขึ้น



ในความคิดของศาสตราจารย์ Geertz ผู้เสนอทฤษฎีนี้ คือรัฐก่อนสมัยใหม่ของอุษาคเนย์ล้วนเป็นรัฐนาฏกรรมทั้งสิ้น "ละคร"ที่รัฐจัดขึ้นนั้นไม่ใช่การ"แสดง" เพราะหากเป็นเพียงการ "แสดง" ก็ย่อมไม่กระทบต่อลักษณะของรัฐแต่อย่างใด แม้จะใช้การ "แสดง" มากเพียงไรก็ตาม รัฐเพียงแต่ต้องการสื่อสารบางอย่างให้แก่ประชาชนเท่านั้น

ไม่ว่ารัฐในลักษณะใด ก็ล้วนมีเหตุที่จะสื่อสารกับประชาชนทั้งสิ้น นอกจากสื่อสารด้วยประกาศ, แถลงการณ์, หรือการให้สัมภาษณ์ ฯลฯ แล้ว รัฐทุกประเภท ย่อมใช้การ "แสดง" หลากหลายชนิดเป็นเครื่องมือทั้งสิ้น ดังที่ผมเตือนผู้อ่านไว้ในบทความเรื่องรัฐนาฏกรรมครั้งที่แล้วว่า อังกฤษกำลังจะจัดฉลองสิริราชสมบัติของพระราชินีนาถอย่างยิ่งใหญ่ 
หนังเรื่องสุริโยไทก็ตาม เรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวรก็ตาม หรือละครเวทีเรื่อง "อานุภาพพ่อขุนรามคำแหง" ก็เป็นการ "แสดง" ที่รัฐ (หรือผู้มีอำนาจ) ต้องการสื่อสารบางอย่างแก่ประชาชน
คนไปดูแล้วก็อาจสนุก ซาบซึ้งใจ หรือได้รับแรงบันดาลใจบางอย่างก็ได้ แต่เขาไม่ได้ร่วมในการ "แสดง" นั้น เขาเป็นเพียงผู้รับสารเท่านั้น ไม่ต่างจากการไปดูหนังดูละครหรือดูการแสดงดนตรีโดยทั่วไป รับสารมาแล้ว ก็ยังเอามาประเมินคุณค่าเอง ปรับเปลี่ยนสารนั้นตามใจตัวเอง จนกลายเป็นอีกความหมายหนึ่งไปก็ได้ 
การแสดงเพียงอย่างเดียว ไม่ว่าจะจัดให้ใหญ่โตเพริศแพร้วอย่างไร จึงไม่สามารถทำให้รัฐใดรัฐหนึ่งกลายเป็นรัฐนาฏกรรมขึ้นมาได้

พิธีกรรมที่รัฐจัดขึ้นในรัฐนาฏกรรมแตกต่างจากการ "แสดง" อย่างไร ผมขอยกตัวอย่างของศาสตราจารย์ Geertz ในหนังสือเรื่อง "Negara" มาให้ดู


ก่อนหน้าที่บาหลีจะตกเป็นของฮอลันดาโดยสิ้นเชิงนั้น พระราชาผู้ครองรัฐแห่งหนึ่ง (กิอันจาร์) สวรรคตลง จึงต้องมีการจัดงานพระเมรุใหญ่ขึ้นที่ "สนามหลวง" ใกล้พระราชวังบังเอิญมีชาววิลันดาคนหนึ่ง ได้ไปเห็นตัวพิธีกรรมนั้นแล้วมาเขียนรายงานไว้

มีชาวบาหลีทั้งจากรัฐนั้นและรัฐอื่นเดินทางมาร่วมพิธี มืดฟ้ามัวดิน (ฝรั่งผู้เขียนอาจเห็นว่ามา "ชม" พิธี แต่ชาวบาหลีคิดว่าตัวเข้ามา "ร่วม" พิธีมากกว่า) ขบวนแห่พระศพใหญ่โตโอฬาร ประกอบด้วยพระเมรุมาศสูงใหญ่ถึง 11 ชั้น แต่ไม่ได้สร้างติดพื้น ต้องใช้กำลังคนถึง 500 ในการเคลื่อนตัวพระเมรุมาศเพื่อมารับพระศพ ที่ต้องชักข้ามกำแพงวังออกมาประดิษฐาน เพราะศพเป็นสิ่งโสโครก ย่อมนำผ่านประตูไม่ได้ 
แล้วก็ยกเอาพระเมรุมาศไปตั้งในมณฑลพิธี เบื้องหลังพระเมรุมาศ มีพระเมรุมาศเล็กและไม่โอ่อ่าตามมา มีสนมสามคนอยู่ในนั้น ต่างอาสาสมัคร (หรือถูกเลือกไม่ทราบได้) ให้เป็นสตีหรือบาหลีเรียกว่า "บ(ะ)ลา" [คงจะตรงกับพ(ะ)ลีของภาษาแขกแบบไทย]

พอถึงที่เขาก็ชักพระศพลงจากชั้นยอดสุด ลงมาบรรจุไว้ในหีบศพที่ทำเป็นรูปสิงห์ แล้วก็ลงมือเผา พอโหมไฟได้ที่แล้ว ก็เอาน้ำมันราดลงในกองเพลิงนั้น จนไฟลุกไหม้โชติช่วง หญิงทั้งสามก็เดินตามสะพานไม้จากเมรุของตนมาเหนือกองฟอนนั้น แล้วก็กระโดดลงกองไฟตามเสด็จไปด้วย
ทั้งสามคนอยู่ในอาการสงบ มีญาติพี่น้องจำนวนมากตามมาส่งอย่างใกล้ชิด และต่างก็อยู่ในอาการสงบเช่นเดียวกัน แม้แต่ชาวบาหลีที่เข้าร่วมงานก็ไม่ได้ส่งเสียงร้องด้วยความหวาดเสียวแต่อย่างใด ทุกคนอยู่ในอาการสงบทั้งหมด เป็นอันเสร็จพิธี

ชาวบาหลีมากันมืดฟ้ามัวดินทำไม ไม่ใช่อย่างที่นักท่องเที่ยวไปชมการเชือดลิ้นปีนบันไดมีดที่ภูเก็ตนะครับ คือไม่ได้ไปดูเพื่อเสียวดี แต่พากันไปเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสด็จพระอวตารกลับสู่ความเป็นพระเจ้าบนสรวงสวรรค์ ยืนยันระเบียบของจักรวาลและโลกมนุษย์ซึ่งตนมีชีวิตอยู่ และให้ความหมายแก่ชีวิตของตน



นี่แหละครับ รัฐนาฏกรรมขนานแท้ กล่าวคือตัวความเป็นรัฐนั้นคือนาฏกรรม ซ้ำนาฏกรรมยังเป็นหน้าที่หลักของรัฐ คือทำให้ทุกคนร่วมอยู่ใน "ละคร" เรื่องเดียวกัน ทุกคนเป็นทั้งผู้แสดงและทุกคนเป็นทั้งผู้ชม แยกสองอย่างนี้ออกจากกันไม่ได้

ผมควรกล่าวนอกเรื่องไว้ด้วยว่า นาฏกรรมตามประเพณีของอุษาคเนย์ก็เป็นอย่างนี้ คือไม่ได้แยกผู้แสดงและผู้ชมออกจากกันชัดๆ ผู้ชมอาจเข้าไปร่วมในการแสดงได้ตลอดเวลา เช่น ตะโกนด่าตัวโกง หรือร้องอื้ออึงให้แก่ชัยชนะของฝ่ายคนดี และนี่คือรสชาติที่สำคัญส่วนหนึ่งของการชมการแสดง ซึ่งมักเล่นเรื่องซ้ำซากที่ใครๆ ก็รู้เรื่องหมดแล้ว
แม้มีอำนาจอื่นๆ อีกมากมายที่แข่งกับรัฐ เช่น อำนาจท้องถิ่น อำนาจพ่อค้า หรืออำนาจของเจ้านายซึ่งแก่งแย่งชิงดีกันตลอด แต่รัฐจะเป็นรัฐไม่ได้ถ้าไม่ใช่นาฏกรรมซึ่งทุกคนมีส่วนร่วมสวมบทบาทต่างๆ ในนาฏกรรมนั้น 
ไม่มีนาฏกรรม อำนาจทั้งหลายในรัฐก็กลายเป็นอำนาจเถื่อน เพราะอำนาจนั้นหากไม่ผูกโยงกับท้องเรื่องในนาฏกรรมแล้ว ก็เป็นแต่เพียงอำนาจดิบซึ่งจะดำรงอยู่อย่างยั่งยืนไม่ได้

ปัญหามาอยู่ที่ว่า รัฐนาฏกรรมดำรงอยู่ได้ ก็ต่อเมื่อทุกคนในรัฐต่างยอมรับท้องเรื่องหลักของนาฏกรรมเป็นพื้นฐานโลกทรรศน์ของตนเอง เมื่อไรที่ผู้คนเปลี่ยนโลกทรรศน์ไปแล้ว นาฏกรรมของรัฐก็กลายเป็นเพียงการแสดง และความเป็นนาฏกรรมของรัฐก็หมดไป 
แต่ในความเป็นจริง มันไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะรัฐอาจพยายามดำรงรักษาท้องเรื่องเดิมเอาไว้ด้วยวิธีที่แยบยลต่างๆ หรือในทางตรงกันข้าม รัฐอาจสร้างท้องเรื่องของนาฏกรรมใหม่ และยัดเยียดให้ประชาชนพากันยึดถือเป็นพื้นฐานของโลกทรรศน์ (ทางการเมืองหรือเศรษฐกิจหรือวัฒนธรรม) ของตนก็ได้


ผมขอยกตัวอย่างรูปธรรมจากอินโดนีเซียอีกสักเรื่องหนึ่งนะครับ ดังที่ทราบอยู่แล้วว่าท่านประธานาธิบดีซูการ์โนมีภรรยาหลายคน ซึ่งท่านไม่ได้ปิดบังแต่อย่างไร ยิ่งกว่านั้นท่านยังแสดงให้เห็น "อำนาจทางเพศ" ของท่านให้รู้เห็นกันเป็นการสาธารณะอยู่บ่อยๆ 
หากท่านเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ คงพังไปพร้อมกับคลินตันแล้ว แต่ตรงกันข้ามกับคติของชาวชวาซึ่งเป็นพลเมืองที่ใหญ่สุดของอินโดนีเซีย เพราะพลังทางเพศของผู้นำย่อมแสดงให้เห็น "บารมี" ของเขา เช่นเดียวกับปันหยีหรืออิเหนาที่ได้เมียนับไม่ถ้วนในการตามหาเมียหลวงของตน
นี่คือนาฏกรรมโบราณซึ่งยังใช้ได้ผลทางการเมืองในสมัยของท่านประธานาธิบดีซูการ์โน 

สรุปก็คือนาฏกรรมของรัฐต้องวางอยู่บนความเชื่อบางอย่างที่ประชาชนจำนวนมากยอมรับ จะเป็นความเชื่อโบราณที่สืบทอดมา หรือเป็นความเชื่อที่ปลูกฝังลงไปใหม่ก็ตาม แต่ต้องเป็นความเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจ



เมื่อคนไทยไปเข้าเฝ้า ครั้งที่ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีในรัชกาลปัจจุบัน คนจำนวนมากเหล่านั้นไม่ได้เข้า "ชมพระบารมี" คือไม่ได้แค่ไป "ชม" เฉยๆ แต่เข้าไปร่วมอยู่ในนาฏกรรมที่สอดคล้องกับความเชื่อในโลกทรรศน์ของเขา ที่น้ำตาไหลไม่ใช่การแสดง เขาคือส่วนหนึ่งของนาฏกรรมแห่งรัฐ ที่บางคนต้องร้องไห้

คำถามที่ว่าร้องไห้ทำไม เป็นคำถามสมัยใหม่ คือถามว่านาย ก. นาง ข. ร้องไห้ทำไม สาเหตุของการร้องไห้เป็นเรื่องของบุคคล และชวนให้ไปคิดหาคำตอบจากจิตวิทยาที่พยายามตอบปัญหาของบุคคล (และผมก็หลงกลอันนั้น) แต่ถ้าถามจากมุมมองของรัฐนาฏกรรม ผู้ถามไม่ได้คิดถึงนาย ก. หรือนาง ข.
แต่ควรคิดถึงฉากรวมๆ ของการฉลองในวาระอันยิ่งใหญ่เช่นนั้นของรัฐ ความปลาบปลื้มจนน้ำตาไหลย่อมเป็นส่วนหนึ่งของฉากที่ขาดไม่ได้ และถ้าคิดอย่างนี้ออก ก็ไม่ต้องถาม

ตรงกันข้ามกับรัฐนาฏกรรมคือการแสดง งานพระเมรุหรืองานฉลองเจ้านายที่ประชาชนไม่ได้ถือเป็นส่วนหนึ่งในโลกทรรศน์ของตน หากทำให้ยิ่งใหญ่โอฬาร หรือโฆษณาตอกย้ำกันให้มาก ก็อาจมีคนเข้า "ชม" งานกันมาก แต่นั่นไม่ใช่รัฐนาฏกรรม เป็นเพียงการแสดงของรัฐเท่านั้น 
ดังเช่นการฉลองสิริราชสมบัติของสมเด็จพระราชินีนาถอังกฤษ นี่คือการฉลองให้แก่บุคคลคนหนึ่งซึ่งเป็นที่รักเคารพของคนอังกฤษจำนวนมาก มี "การแสดง" ที่ตระการตาให้ชมเป็นอันมาก และมีผู้คนเข้าชมกันมืดฟ้ามัวดินเช่นเดียวกัน แต่ไม่มีใครน้ำตาไหล 
เพราะไม่มีเหตุที่อังกฤษจะต้องพยายามเป็นรัฐนาฏกรรม

ดังนั้น ที่ผมสรุปไว้ครั้งที่แล้วว่า ถ้าทุ่มเงินทองยอมสิ้นเปลืองให้มาก ก็อาจรักษารัฐนาฏกรรมไว้ได้นั้น คงจะผิด เพราะไม่ว่าจะทุ่มเงินลงไปเท่าไร หากนาฏกรรมนั้นไม่เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของโลกทรรศน์ของผู้คนในสังคมอีกแล้ว ก็ไม่มีทางที่จะทำให้รัฐนั้นกลายเป็นรัฐนาฏกรรมไปได้



.