http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-08-21

รถไฟความเร็วสูง (3) โดย วิรัตน์ แสงทองคำ

.

รถไฟความเร็วสูง (3)
โดย วิรัตน์ แสงทองคำ htpp//:viratts.wordpress.com
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1669 หน้า 28


โครงการรถไฟความเร็วสูงของไทยเชื่อกันว่ากำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า นับเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม ท่ามกลางบทเรียน "ตกผลึก" ของประสบการณ์รถไฟความเร็วสูงทั่วโลก เชื่อว่าจะเป็นฐานในการค้นคิดและออกแบบอย่างที่ควรจะเป็น
แนวคิดและแนวทางที่เสนอในบทความตอนนี้ ส่วนหนึ่งมาจากข้อคิดและข้อมูลของผู้เกี่ยวข้องและทีมงานเตรียมนิทรรศการ High speed train : It"s not a train... .it"s a future 
จะจัดขึ้นที่ TCDC ในอีกประมาณ 4-5 เดือนข้างหน้า



การค้าปลีก

มีความชัดเจนมากแล้ว โมเดลธุรกิจรถไฟที่มีโอกาสและรายได้เพิ่มจากบริการการโดยสารโดยปกติ ได้ขยายบริการออกไปอย่างมากมาย อย่างน่าตื่นเต้นและอย่างสร้างสรรค์ มากกว่าในอดีต
ในกรณีรถไฟความเร็วสูง จากการเดินทางเพื่อธุรกิจ การเดินทางท่องเที่ยว ชมเมือง ( Sightseeing) ไปสู่จุดแวะพัก เป็นการผสมผสานระหว่างพื้นที่พักผ่อน สวนสาธารณะ พื้นที่ทางวัฒนธรรม สถานีรถในย่านชุมชนขนาดใหญ่ ในเมืองใหญ่ สามารถสร้างบริหารเชื่อมโยงกับธุรกิจอื่น โดยเฉพาะเชื่อมโยงกับธุรกิจค้าปลีก--ห้างสรรพสินค้าและโรงแรม เป็นต้น
การสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูง จึงถือเป็นความพยายามออกแบบให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้คนในยุคใหม่ ซึ่งเชื่อว่าสามารถทำหน้าที่ต่อไปในระยะหนึ่งด้วย 

ในกรณี Shinkansen ญี่ปุ่นได้ redevelopment สถานีรถไฟใหม่อย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม 
เช่นเดียวกับความพยายามจัดการและออกแบบพื้นที่ค้าปลีกย่อยๆ ในสถานีอย่างสร้างสรรค์ ในสถานีรถไฟสำคัญทั่วโลก อาทิ Lumine store JR Station ในโตเกียว Apple Store grand Central terminal นิวยอร์ก และ Le Train Bleu restaurant Gare de Lyon station ฝรั่งเศส

จากประสบการณ์ที่สถานีรถไฟ สามารถต่อเนื่องไปถึงประสบการณ์บนขบวนรถไฟด้วย การออกแบบที่น่าทึ่งอย่างที่กล่าวมาและจากนี้ไป เกิดขึ้นแล้ว โดยมีความชัดเจนว่า ผู้นำแนวโน้มใหม่ มักมาจากการสร้างสรรค์เพื่อโอกาสทางธุรกิจ เช่น การออกแบบขบวนที่โกเบ ประเทศญี่ปุ่น โดยใช้สินค้าของ IKEA ทั้งหมด เป็นต้น



เมืองบริวาร

การสร้างทางรถไฟ ผ่านจุดแวะหรือสถานีในเมืองต่างๆ ส่งผลให้เมืองนั้นเจริญเติบโตขึ้น มีความจริงแล้วในประวัติศาสตร์ ไม่ต้องอื่นไกล ประวัติศาสตร์รถไฟไทยก็สะท้อนภาพเช่นนั้น
"จากหนังสือ แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม (โดย ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์ และ ไอลีน ฮันเตอร์ แปลโดย พันขวัญ พิมพ์พยอม ว่าด้วยเรื่องเล่าของสามัญชนชาวรัสเซีย กับเจ้าฟ้าสยาม ต้นราชสกุลจักรพงษ์ เจ้าของวังปารุสกวัน) มีหลายตอนกล่าวถึงชนชั้นนำใหม่ของสยามที่ผ่านการศึกษาจากต่างประเทศ ที่ว่าด้วยรสนิยม การใช้ชีวิตแบบผู้ดียุโรป
จากจุดเริ่มต้นสร้างทางรถไฟและมีสถานีหัวหิน (หมายความรวมถึงการสร้างอาคารสถานีรถไฟแล้วเสร็จในปี 2554 และต่อมาที่สำคัญด้วยการสร้างวังไกลกังวลแล้วเสร็จ 2469) ถือเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกสำคัญประการแรก ในการสร้างหัวหินเป็นสถานที่ตากอากาศแห่งแรกของสยาม จากรัชการที่ 6 ต่อเนื่องมาถึงรัชการที่ 7 เริ่มจากการสร้างวังไกลกังวล เป็นต้นแบบสถานที่ตากอากาศของชนชั้นสูง แล้วตามมาด้วยการสร้างบ้านตากอากาศของชนชั้นนำอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นชุมชนใหม่ ในเวลาไม่นานจากนั้นขยายสู่ผู้คนฐานกว้างมากขึ้น จากการสร้างโรงแรมหัวหิน" จากเรื่อง "ศตวรรษหัวหิน" มติชนสุดสัปดาห์ ตุลาคม 2551) หรือกรณีสร้างสถานีรถไฟที่หาดใหญ่ ตามที่ผมกล่าวถึงมาบ้างแล้ว {จากเรื่อง รถไฟความเร็วสูง (1) มติชนสุดสัปดาห์ 27 กรกฎาคม 2555}

ทั้งนี้ กรณีรถไฟความเร็วสูง-shinkansen จากบทเรียนจากญี่ปุ่น มีความชัดเจนมากขึ้น ว่าการสร้างรถไฟ ในช่วงทศวรรษ 1960-1970 ช่วยกระตุ้นการพัฒนาเมืองขนาดกลาง หรือเล็กอย่างสำคัญอีกด้วย 
โดยยกตัวอย่าง Kakegawa City (เมืองขนาดกลาง ห่างจากโตเกียวประมาณ 230 กิโลเมตร) ว่า urban redevelopment มีความหมายมากกว่าการพัฒนาเมือง และยกระดับมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ ในอีก 3 ประเด็นสำคัญ

หนึ่ง--การจ้างงานและกิจกรรมการค้า การผลิตที่เพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน
สอง-การเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวและการประชุมต่างๆ
สาม-ส่งเสริมวัฒนธรรม โดยเฉพาะให้ประชากรในหัวเมืองสามารถเข้าถึงกิจกรรมทางวัฒนธรรมในเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ ได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าเป็นการชมคอนเสิร์ต นิทรรศการ และ ละคร เป็นต้น (อ้างจากบทความ 30 Years of High-Speed Railways Features and Economic and Social Effects of The Shinkansen โดย Hiroshi Okada )



การขนส่งสินค้า

เมื่อพิจารณาจากรณีรถไฟไทย การขนส่งสินค้าเป็นบริการเก่าแก่ที่มีอยู่ และยังอ้างอิงลูกค้าเก่าแก่ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะลูกค้ารายใหญ่ในการขนส่งสินค้าที่มีน้ำหนัก และปริมาณค่อนข้างมาก ได้แก่ ปูนซีเมนต์ และน้ำมัน ขณะเดียวกันการขนส่งสินค้าหรือพัสดุภัณฑ์อื่นๆ เป็นเพียงกิจการเสริมที่ไม่ได้รับความสนใจในการพัฒนาเท่าที่ควร 
แต่กรณีรถไฟความเร็วสูง การขนส่งสินค้ากำลังถือเป็นแนวโน้มที่น่าสนใจ ในความพยายามสร้างบริการใหม่อย่างสร้างสรรค์ กรณีที่ควรศึกษา คือ โครงการ Euro Carrex

Euro Carrex เป็นโครงการขนส่งสินค้าในยุโรป ด้วยรถไฟความเร็วสูง ก่อตั้งในปี 2009 และเพิ่งเริมทดสอบบริการครั้งแรกระหว่างเมืองสำคัญในฝรั่งเศส (Lyon, Paris) กับอังกฤษ (London) เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี่เอง โดยมีเป้าหมายที่จะเปิดบริการอย่างจริงจังในปี 2015 หวังจะเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งสินค้าจากฝรั่งเศส เยอรมนี เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร ถือเป็นบริการขนส่งสินค้าด้วยรถไฟความเร็วสูงอย่างเป็นจริงเป็นจริงครั้งแรกในโลก 
Euro Carrex เกิดขึ้นจากความพร้อมของเครือข่ายรถไฟความเร็วขยายตัวครอบคลุมยุโรปมาก่อนหน้าแล้ว เป็นความพยายามต่อยอด บริการออกไปให้กว้างขวางและมีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ มาจากแรงกดดันจากต้นทุนพลังงาน (โดยเฉพาะจากน้ำมัน) ที่สูงขึ้นด้วย โดยมีเป้าหมาย บริการขนส่งสินค้าความเร็วสูง เป็นทางเลือกสำคัญ และเสริมสร้างระบบใหญ่ที่สอดประสานกันอย่างมีประสิทธิภาพกับระบบขนส่งเดิม บริการด้วยเครื่องบิน และรถบรรทุกตามท้องถนน เป็นการยกระดับความสามารถ Logistic system ของยุโรปไปอีกขั้นหนึ่ง 
Euro Carrex ต้องสร้างระบบที่มีประสิทธิภาพ ด้วยการสร้างระบบและพื้นที่บริการตามสถานีรถไฟ เพื่อการขนส่งอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะระบบตู้คอนเทนเนอร์ ระบบเชื่อมโยงโดยเฉพาะกับสนานบิน และ Logistics hub ต่างๆ ที่จำเป็น รวมทั้งเสนอให้ Alstom และ Siemens บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกจาก ฝรั่งเศส และเยอรมนี ร่วมกันศึกษาและออกแบบตู้ขนสินค้าโดยรับประกันว่าจะสามารถขนถ่ายสินค้า โดยใช้เวลาไม่เกิน 15 นาที

สำหรับกรณี Shinkansen ญี่ปุ่น แม้ว่าญี่ปุ่นซึ่งเป็นเกาะ มีการขนส่งสินค้าทางทะเลเป็นหลัก บริการรถไฟความเร็วสูงยังมีบทบาทไม่มาก แต่ก็คาดการณ์กันว่าในอนาคต การบริการขนส่งสินค้าด้วยรถไฟความเร็วสูง จะพัฒนาบริการขึ้น โดยเฉพาะสินค้ามูลค่าสูงและสินค้าที่มีน้ำหนักเบา ทั้งนี้ เชื่อว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ จะสนับสนุนระบบขนส่งสินค้าด้วยรถไฟความเร็วสูงในญี่ปุ่นพัฒนาไปอีกมาก 

นั่นคือภาพใหญ่ของความพยายามพัฒนาระบบขนส่งสินค้าอย่างสร้างสรรค์ของรถไฟความเร็วสูง อย่างไรก็ตาม มีตัวอย่างกรณีเฉพาะที่มีความสัมพันธ์ และเป็นบทเรียนอย่างเฉพาะเจาะจงกับสังคมไทยได้บ้างไม่มากก็น้อย 
Railex เริ่มให้บริการครั้งแรกในปี 2006 จากการริเริ่มของผู้จัดจำหน่ายสินค้าเกษตรรายใหญ่รายหนึ่งใน นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยเริ่มบริการขนส่งระหว่าง Washington New York และ California 
Railex เป็นบริการรถไฟขบวนพิเศษ ไม่ใช่รถไฟความเร็วสูง แต่มีระบบ GPS และเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการควบคุม ตู้สินค้าปรับอุณหภูมิ เพื่อรักษาคุณภาพสินค้าตลอดการเดินทาง โดยสามารถขนส่งสินค้าระหว่างฝั่งตะวันออกกับฝั่งตะวันตกของสหรัฐภายในเวลา 5 วัน



เพื่อ SME"s และสินค้า OTOP

กรณีประเทศไทย สินค้าเกษตร โดยเฉพาะพืชผัก ผลไม้ และอาหาร ซึ่งถือเป็นสินค้าที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทยมากขึ้น มีแนวโน้มเป็นสินค้ามีราคาสูงขึ้น จากความต้องการที่เพิ่มขึ้น นอกจากผู้บริโภคในเมืองใหญ่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะมาจากตลาดที่ขยายตัว จากการหลอมรวมระบบเศรษฐกิจระดับภูมิภาค รวมทั้งความพยายามเชื่อมต่อระบบเศรษฐกิจอาเซียน เข้ากับมณฑลตอนใต้ของจีนแผ่นดินใหญ่ด้วย
แนวโน้มที่ชัดเจนมาก คือสินค้าอาหาร ผลไม้ และพืชผัก จะเพิ่มมูลค่าขึ้นอีกมาก เมื่อสามารถขนส่งถึงมือผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว เพื่อคงความสด และคุณค่าทางอาหาร
ภายใต้แนวคิด บทเรียน Railex กับรถไฟความเร็วของไทยที่มีความเร็วประมาณ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะเป็นทางออกที่สมบูรณ์แบบ

แนวทางนี้สำคัญมากขึ้น หากรวมสินค้าท้องถิ่น โดยเฉพาะในโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ที่ทุกวันนี้ไม่มีใครมองข้ามอีกแล้ว โดยมีมูลค้านับหมื่นล้านบาท
แต่ทั้งนี้ ควรตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า สถานีรถไฟความเร็วสูง จะมีพื้นที่และระบบการให้บริการตอบสนองและเชื่อมโยงกับการขนส่งที่เรียกว่า Feeder service network จากแหล่งผลิต ชุมชน จากตลาดสด ไปสู่ตู้สินค้าที่ออกแบบเฉพาะ และจากสถานีปลายทาง ถึงเครือข่าย และมือผู้บริโภค

กรณีสินค้า OTOP มีบทเรียนจากญี่ปุ่นที่น่าสนใจ ในทำนองที่กล่าวในตอนต้นที่ว่าด้วยธุรกิจค้าปลีก
Kyushu Shinkansen ได้ออกแบบภายในขบวนรถไฟความเร็วสูง โดยใช้วัสดุที่มาจากสินค้าท้องถิ่นของ Kyushu สร้างประสบการณ์ใหม่ที่มีสีสันมากขึ้น จากภายในขบวน ณ ที่นั่งของผู้โดยสารรถไฟความเร็วสูง

รัฐบาลไทยมีความพยายามนำโมเดล Kyushu มาทดลองประยุกต์ใช้กับสินค้า OTOP ในขบวนรถไฟท่องเที่ยวไปหัวหิน แต่ข้าราชการตีความผิดเพี้ยนไปพอสมควร โดยเสนอรูปแบบนำนักท่องเที่ยวไปแวะชมและซื้อสินค้า OTOP ตามสถานีรถไฟแทน ถือเป็นความพยายามให้เป็นไปตามวิถีทางแบบราชการ ควรเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ถือเป็นกระบวนการเรียนรู้-รถไฟความเร็วสูง ควรต้องเปิดโอกาส และต้องทำกันอีกมาก



.