http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-08-18

ภาคใต้ไทย : การเมืองเก่า-สงครามใหม่ โดย สุรชาติ บำรุงสุข

.

ภาคใต้ไทย : การเมืองเก่า-สงครามใหม่
โดย สุรชาติ บำรุงสุข  คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1670 หน้า 38


"ถ้าปราศจากจักรกลของรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพแล้ว
การต่อต้านการก่อความไม่สงบจะไม่ก่อให้เกิดผลอันน่าพึงปรารถนาได้เลย"
เซอร์โรเบิร์ต ทอมป์สัน 
นักทฤษฎีการทหาร 
ค.ศ.1966 (พ.ศ.2509)



หนึ่งในปัญหาความมั่นคงหลักของไทยที่ตกทอดมาถึงรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็คือ ปัญหาการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 
และคงจะต้องยอมรับว่าประเด็นนี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะว่าที่จริงก็คงไม่มีรัฐบาลกรุงเทพฯ ใดที่อยากจะเผชิญกับปัญหาดังกล่าว
ทุกรัฐบาลตระหนักดีว่า โจทย์ความมั่นคงไทยชุดภาคใต้ไม่ง่าย เพราะอย่างน้อยทุกรัฐบาลตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืนในคืนวันที่ 4 มกราคม 2547 ล้วนต้องเผชิญกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น จนกลายเป็นปัญหาความมั่นคงหลักในทุกรัฐบาลหลังจากค่ำคืนของวันดังกล่าว 
และถ้าเราไม่หลอกตัวเอง จวบจนปัจจุบันก็ยังไม่เห็นว่ารัฐบาลใดจะประสบความสำเร็จมากกว่ารัฐบาลใด 
ทุกรัฐบาลล้วนแต่ยังคงถูกพันธนาการอยู่กับปัญหาความรุนแรงที่เกิดจากการก่อความไม่สงบไม่แตกต่างกัน


นอกจากนี้ ก็เห็นได้ชัดเจนในอีกมุมหนึ่งว่า อำนาจกำลังรบของกองทัพไทยดูจะเป็นอะไรที่ไม่อาจต้านทานปฏิบัติการของขบวนการก่อความไม่สงบได้เลย 
การพัฒนากำลังรบที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์หลังการรัฐประหารกันยายน 2549 นั้นเห็นได้ชัดว่า มีการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งของกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ แต่จนถึงปัจจุบันก็ไม่มีความชัดเจนว่าการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ต่างๆ เหล่านั้นสามารถเสริมสร้างขีดความสามารถของปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มากน้อยเพียงใด

การจัดซื้อที่เกิดขึ้นตั้งอยู่บนฐานคิดทางยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการพัฒนากองทัพสำหรับสงครามตามแบบ ดังจะเห็นได้จาก รถหุ้มเกราะจากยูเครน หรือเครื่องบินขับไล่จากสวีเดนก็ตามที ซึ่งหากพิจารณาทิศทางยุทธศาสตร์ของการพัฒนากำลังรบเช่นนี้ก็คงตอบได้ดีว่า กองทัพไทยยังคงมุ่งพัฒนาไปสู่กำลังรบสำหรับสงครามในรูปแบบเดิม 
ซึ่งโดยนัยสำคัญของสงครามเช่นนี้ก็คือ กองทัพไทยเตรียมรบกับกองทัพของประเทศข้าศึกที่มีกำลังรบในลักษณะที่ไม่แตกต่างกัน
หรือกล่าวโดยสรุปก็คือ กองทัพไทยยังคงมุ่งพัฒนาตนเองในการเตรียมรับสงครามตามแบบเป็นทิศทางหลัก ซึ่งก็คงไม่ผิดอะไร เพราะทุกกองทัพทั่วโลกก็มักจะมุ่งเน้นการพัฒนากำลังรบในทิศทางดังกล่าว

ในทางทฤษฎี ทิศทางของยุทธศาสตร์ทหารเช่นนี้ก็คือ การมุ่งต่อสู้กับ "สงครามสมมาตร" หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า "สงครามตามแบบ" หากแต่ปัญหาสงครามในทางยุทธศาสตร์ที่กองทัพไทยต้องเผชิญกลับเป็นไปในลักษณะของ "สงครามอสมมาตร" (Asymmetric Warfare) หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า "สงครามนอกแบบ" 
คงไม่ผิดอะไรนักที่จะกล่าวว่า "สงครามก่อความไม่สงบในภาคใต้ของไทยก็คือ "สงครามอสมมาตร" เช่น ที่กำลังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของโลก
และรูปลักษณ์ของสงครามนี้ก็คือความเป็นสงครามนอกแบบ ที่มีการใช้ความรุนแรงในลักษณะของ "การก่อการร้าย" เป็นเครื่องมือ เพราะในความเป็นสงครามอสมมาตรที่เกิดขึ้นย่อมไม่มีรูปแบบและกฎเกณฑ์เช่นสงครามสมมาตรแต่อย่างใด

รูปแบบและกฎเกณฑ์การสงครามที่แตกต่างกันอย่างมากนั้น ทำให้กองทัพที่ถูกออกแบบให้รองรับเพียงภารกิจของสงครามตามแบบ ต้องประสบปัญหาอย่างมากทั้งในทางหลักนิยมและทางยุทธศาสตร์ 
กล่าวคือ กองทัพต้องรบในมิติของสงครามที่ต่างจากสิ่งที่กำลังพลของกองทัพดังกล่าวถูกฝึกมา 
และในบางกรณีก็เป็นความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงด้วย 
ตัวแบบจากยุคสงครามเย็นไม่ว่าจะเป็นกองทัพของรัฐมหาอำนาจใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาในสงครามเวียดนาม หรือสหภาพโซเวียตในอัฟกานิสถาน ล้วนต้องเผชิญกับสภาพของความเป็น "อสมมาตร" และนำไปสู่ความพ่ายแพ้ที่ไม่แตกต่างกัน



ทําไมกองทัพของรัฐมหาอำนาจใหญ่อย่างทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตกลับประสบชะตากรรมเดียวกัน 
ทั้งที่กองทัพของทั้งสองประเทศมีขีดความสามารถทางเทคโนโลยีทหารในรูปแบบของอาวุธสมรรถนะสูงแบบต่างๆ หรือมีขีดความสามารถของอำนาจการยิงที่เหนือกว่าฝ่ายข้าศึกอย่างมาก 
แต่ก็จะพบว่าในที่สุดอำนาจทางทหารที่เหนือกว่ากลับไม่ใช่กุญแจของชัยชนะในสงครามแบบนี้แต่อย่างใด 

เพราะถ้าเราเชื่อว่าอำนาจการยิงที่เหนือกว่าคือปัจจัยชี้ขาดชัยชนะในการสงครามแล้ว ก็อาจจะไม่ผิดอะไรนักสำหรับคำตอบของสงครามตามแบบ แต่สงครามในรูปแบบที่ไร้แบบแผนที่ชัดเจนนั้น อำนาจดังกล่าวกลับไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดแต่อย่างใด

แต่หากเป็นสงครามนอกแบบแล้ว ดูเหมือนว่าอำนาจดังกล่าวอาจจะทำให้กองทัพที่มีกำลังรบและเทคโนโลยีเหนือกว่า มี "ชัยชนะทางยุทธวิธี" ได้จริง 
ดังเช่นจะพบว่า กองทัพสหรัฐ มีชัยชนะทางยุทธวิธีในหลายสนามรบในสงครามเวียดนาม แต่ชัยชนะเช่นนี้กลับไม่แปรเปลี่ยนเป็น "ชัยชนะทางยุทธศาสตร์" ซึ่งจะเป็นปัจจัยชี้ขาดการสงครามได้แต่อย่างใด 

หรือว่าสิ่งที่ทั้งรัฐบาลไทยและกองทัพไทยกำลังเผชิญปัญหาสงครามในภาคใต้นั้น ต้องการการ "คิดใหม่" ทั้งกระบวน
เพราะอย่างน้อยคงต้องยอมรับเงื่อนไขพื้นฐานว่า สิ่งที่กองทัพและรัฐบาลไทยกำลังต่อสู้นั้นไม่ใช่สงครามในแบบเดิม 

อย่างน้อยบริบทของสงครามก็แตกต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง
ไม่ใช่เงื่อนไขของสงครามเย็นที่อย่างน้อยขบวนการก่อความไม่สงบในหลายพื้นที่ของโลกนั้น มี "พี่ใหญ่" อยู่ในฐานะผู้ให้การสนับสนุนหลัก 
ดังนั้น เมื่อเงื่อนไขทางการเมืองระหว่างรัฐมหาอำนาจใหญ่สามารถประนีประนอมกันได้ ความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธในพื้นที่นั้นๆ ก็มักจะคลี่คลายลง และการต่อสู้ที่เกิดขึ้นก็ยุติลงได้ไม่ยากนัก


แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันแตกต่างออกไป สงครามของขบวนการก่อความไม่สงบในแทบจะทุกกรณีไม่ได้มี "พี่ใหญ่" ที่เป็นรัฐมหาอำนาจคอยหนุนหลังอยู่แบบเดิม 
พวกเขามีความเป็นอิสระมากขึ้นจากการควบคุมของรัฐ ดังจะพบว่าในหลายๆ กรณีขบวนเหล่านี้มีขีดความสามารถในการหารายได้เป็นของตนเอง พร้อมๆ กับมีพื้นที่การฝึกเป็นของตัวเอง และไม่จะเป็นต้องพึ่งพารัฐในฐานะของการเป็นสนับสนุนที่อยู่เบื้องหลังเท่าใดนัก
ดังนั้น พวกเขาก็มีความเป็นอิสระมากขึ้นในการปฏิบัติเช่นเดียวกัน และไม่จำเป็นที่จะต้องมี "พี่ใหญ่" มาคอยชี้นำอยู่เบื้องหลัง



แม้นักการทหารในกองทัพจีนปัจจุบันก็ยอมรับว่า สงครามร่วมสมัยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยเรียกในทางทฤษฎีว่า "สงครามไม่จำกัด" (Unrestricted Warfare) ซึ่งว่าที่จริงก็ไม่แตกต่างจากคำเรียกในทางทฤษฎีของนักการทหารตะวันตกที่เรียกว่า "สงครามอสมมาตร" นั่นเอง
และคำอธิบายของนักการทหารของกองทัพจีนตรงไปตรงมาที่กล่าวว่า "กฎข้อแรกของสงครามที่ไม่จำกัดก็คือการไม่มีกฎ และไม่มีข้อห้ามใดๆ ทั้งสิ้น" 
หากการสงครามเป็นไปในแนวโน้มในข้างต้นแล้ว การเรียนรู้ที่จะทำการปรับตัวทั้งของรัฐบาลและกองทัพเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง

คำถามแรกอาจจะดูง่ายๆ แต่อาจจะไม่ง่ายในความเป็นจริงก็คือ จริงๆ แล้วบรรดาผู้นำทหารทั้งหลายยอมรับไหมว่า สงครามได้เปลี่ยนแปลงไป หรือพวกเขายอมรับว่าเปลี่ยนไปจริง แต่ด้วยเงื่อนไขวัฒนธรรมสงครามแบบเก่า พวกเขามักจะคิดถึงการต่อสู้ในแบบเดิม
คือ ยังเชื่อว่าในการสงครามที่เปลี่ยนไปนี้ พวกเขาสามารถเอาชนะข้าศึกได้ด้วยอำนาจการยิงที่เหนือกว่าไม่แตกต่างไปจากสงครามเก่า

เพราะถ้าสามารถทำลายข้าศึกได้อย่างต่อเนื่อง หรือในบางกรณีทำลายได้เป็นจำนวนมากแล้ว สงครามของฝ่ายตรงข้ามก็จะถูกบั่นทอนให้ต้องยุติลงได้ในเวลาไม่นานนัก
ซึ่งในความเป็นจริงของสงครามในรูปแบบเช่นนี้ก็คือ กฎเกณฑ์สงครามในแบบเดิมอาจจะประยุกต์ใช้ไม่ได้
อย่างน้อยคำกล่าวของนักทฤษฎีการทหารของจีนที่กล่าวว่า กฎของสงครามไม่จำกัดก็คือการไม่มีกฎนั้น ช่วยตอกย้ำถึงความต้องการในการปรับตัวทางความคิดทั้งของรัฐบาลและกองทัพอย่างมาก


อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงการเมืองไทย รัฐบาลจากเหตุการณ์ปล้นปืนในปี 2547 จนถึงปัจจุบันไม่ได้แสดงให้เห็นถึงการปรับตัวต่อสถานการณ์สงครามใหม่อย่างจริงจังเท่าใดนัก 
ไม่ว่าผู้ที่เป็นรัฐบาลในวันวานและเป็นฝ่ายค้านวันนี้จะคุยอวดถึงความสำเร็จในการแก้ปัญหาภาคใต้อย่างไรก็ตาม แต่พบว่าสุดท้ายแล้วความรุนแรงก็ยังคงเกิดขึ้นไม่ได้แตกต่างกัน 
การโอ้อวดเพื่อการโจมตีทางการเมืองไม่มีประโยชน์อะไรเลย สิ่งที่รัฐบาลและฝ่ายค้านจะต้องตระหนักก็คือ ปัญหาความรุนแรงในภาคใต้เป็น "วาระแห่งชาติ" ไม่ใช่เรื่องที่จะนำเอามาเป็นประเด็นของการโจมตีหาเสียงทางการเมือง

เพราะการเล่นการเมืองในลักษณะเช่นนี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความอ่อนแอของ "รัฐบาลสยาม" โดยรวม

ขบวนการก่อความไม่สงบในภาคใต้ไม่เคยแยกแยะว่าใครเป็นรัฐบาลกรุงเทพฯ พวกเขาคิดถึงแต่เพียงการก่อเหตุรุนแรงโดยมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนในการทำลายศักยภาพและลดทอนอำนาจรัฐของรัฐบาล และหวังว่าในท้ายที่สุดอำนาจของรัฐบาลสยามจะถูกสลายไปจากพื้นที่ 
สิ่งที่นักการเมืองต้องตระหนักก็คือ สำหรับขบวนของผู้ก่อเหตุนั้นไม่เคยมี "รัฐบาลของคนใต้" มีแต่ "รัฐบาลของคนสยาม" ต่างหาก 
การโจมตีทางการเมืองในเวทีที่กรุงเทพฯ ก็ไม่มีผลให้ขบวนดังกล่าวหันมาสนับสนุนพรรคการเมืองนั้นว่าเป็นผู้แก้ปัญหาได้จริง



ถ้าฝ่ายการเมืองในระยะเวลาที่ผ่านๆ มาไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัว ฝ่ายทหารก็ดูจะเป็นไปในทิศทางที่ไม่แตกต่างกัน
กองทัพไทยในสนามรบที่ภาคใต้ก็ถูกท้าทายอย่างมากว่า ปฏิบัติการทางทหารในรูปแบบของสงครามที่ต่างจากวัฒนธรรมและความรับรู้ในแบบเดิมของผู้นำทหารไทยนั้น พวกเขาจะสร้างความสำเร็จของปฏิบัติการทางยุทธวิธีอย่างไรที่จะทำให้ซึ่งในที่สุดแล้วความสำเร็จดังกล่าวจะต้องนำไปสู่ความสำเร็จทางยุทธศาสตร์ให้ได้ 
มิฉะนั้นแล้วกองทัพไทยอาจจะซ้ำรอยประวัติศาสตร์การยุทธ์ของกองทัพสหรัฐ ในเวียดนามที่ประสบชัยชนะเพียงในสนามรบ แต่สุดท้ายแล้วก็แพ้ในการสงคราม
ในอีกมุมหนึ่งของการบริหารจัดการความมั่นคงไทย กลไกรัฐส่วนอื่นที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของตำรวจหรือในส่วนของข้าราชการพลเรือนอื่นๆ ล้วนต้องการการปรับตัวเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการแก้ปัญหาการก่อความไม่สงบของรัฐบาลเช่นเดียวกับกลไกทหาร 
ซึ่งปัญหาสำคัญในกรณีนี้ก็คือ ทำอย่างไรที่ข้าราชการจะไม่เป็นเงื่อนไขให้ผู้ก่อความไม่สงบนำไปใช้ในการโฆษณาทางการเมืองเพื่อแสดงว่า รัฐบาลสยามปัจจุบัน "กดขี่" ประชาชนมุสลิมในพื้นที่ เป็นต้น

นอกจากนี้ ในอีกมุมหนึ่งของปัญหาก็คือ ทำอย่างไรที่รัฐบาลกรุงเทพฯ จะสามารถขับเคลื่อนกลไกรัฐให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้นโยบายที่ถูกออกแบบบนกระดาษปรากฏเป็นจริงได้ในพื้นที่ และบังเกิดผลในการดึงประชาชนส่วนใหญ่ให้กลับมาอยู่กับฝ่ายรัฐ 
เรื่องราวของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในภาคใต้ปัจจุบันจึงไม่เพียงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งต่อรัฐบาลเท่านั้น 
หากแต่เป็นความท้าทายแก่ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน ฝ่ายทหาร ตำรวจ และข้าราชการ ในฐานะกลไกของรัฐโดยรวม

ความท้าทายเช่นนี้เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าโดยไม่มีเงื่อนไขว่าพรรคการเมืองใดเป็นรัฐบาล 
คำถามสุดท้ายจึงเหลือแต่เพียงประการเดียวว่า แล้วรัฐไทยในองค์รวมจะปรับตัวกับสถานการณ์สงครามใหม่เพื่อสร้าง "ยุทธศาสตร์ใหม่" ในการต่อสู้อย่างไร!



.