http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-08-05

เงื่อนงำจำเลยรัก“บุเรงนอง” “สุพรรณกัลยา”VS“วิสุทธิเทวี” โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

.

เงื่อนงำจำเลยรัก “บุเรงนอง” “สุพรรณกัลยา” VS “วิสุทธิเทวี”
โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ www.facebook.com/pensupa.sukkatajaiinn คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 03 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1668 หน้า 78


หลายปีก่อนยุคที่มีกระแส "สุริโยไท-สุพรรณกัลยาฟีเวอร์" กระหึ่มในรูปแบบภาพยนตร์-ละคร ได้มีผู้ตั้งคำถามเชิงสนเท่ห์ในทำนองว่า พระศรีสุริโยทัยถูกฟันด้วยของ้าวเพื่อปกป้องพระสวามีจริงหรือ? 
กรณีของพระสุพรรณกัลยา ยิ่งแล้วไปกันใหญ่ อยู่ๆ ก็โผล่ตัวตนขึ้นมาได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นในวัยเด็ก (ของคนที่มีอายุ 35 อัพ) ไม่เคยได้ยินได้ฟังเรื่องราวของราชนารีผู้นี้ในวิชาประวัติศาสตร์มาก่อนเลย
รวมไปถึงมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าทำไมดวงวิญญาณของพระสุพรรณกัลยาต้องไปปรากฏใน "นิมิตฝัน" ของ หลวงปู่โง่น โสรโย จนนางได้เลื่อนสถานะจาก "เจ้าหญิง" กลายเป็น "เทพ" ให้คนบูชา

ดูเหมือนแฟนหนังชาวไทยเกินครึ่งประเทศ ไม่สนใจที่จะสืบค้นหาความจริง มากไปกว่าการ "อิน" ในชีวิตร้าวรันทดของพระพี่นางผู้เสียสละตน ยอมเป็นจำเลยรักกษัตริย์พม่า เพื่อให้พระนเรศวร "กู้ชาติ" ได้สำเร็จ เข้าทำนองคนดีที่ "ปิดทองหลังพระ"
ถึงขนาดบริษัททัวร์พาเที่ยวพม่า แต่เดิมเน้นแค่ไปชเวดากอง พระธาตุอินทร์แขวน ทะเลสาบอินเล ณ บัดนี้ยังต้องเพิ่มโปรแกรมเมืองหงษา (หงสาวดี) เพื่อไปชี้จุดตำหนักที่ประทับของพระสุพรรณกัลยา

ขณะที่กระแสความสงสัยในเงื่อนงำนี้ยังไม่สร่างสิ้น พลันมีปริศนาใหม่ที่อุบัติขึ้นมาท้าทายองค์ความรู้เดิมๆ อีก อันเป็นเรื่องราวที่เชื่อมโยงกันโดยมี "จะเด็ด-ผู้ชนะสิบทิศ" ของ "ยาขอบ" เป็นพระเอกยืนอยู่ตรงกลาง  
ใช่แล้ว เรากำลังกล่าวถึง "นางพญาวิสุทธิเทวี" กษัตรีย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์มังราย ซึ่งเดิมเชื่อกันว่า เคยตกเป็นหนึ่งในชายาของบุเรงนองเช่นกัน อยู่ๆ ก็กลับตาลปัตรกลายเป็นว่าไม่ใช่ไปเสียอีก
ตกลงแล้วระหว่าง "สุพรรณกัลยา" กับ "วิสุทธิเทวี" นั้น ใครกันแน่ที่ถูกบุเรงนองพาไปเป็น "ตัวประกัน" คนใดคนหนึ่ง หรือทั้งสองคน ฤๅไม่ใช่เลยสักคน?


สุพรรณกัลยา คือตระละแม่ "อะเมี้ยวโยง"?

บุคคลแรกที่เอ่ยนามของ "พระสุพรรณกัลยาณี" ก็คือสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นิพนธ์ไว้ในหนังสือ "พระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช" โดยระบุว่าเป็นพระพี่นางของพระนเรศวรและพระเอกาทศรถ (ยังมีพระอินทรเทวีเป็นพี่สาวคนโต) ทรงประสูติที่พิษณุโลก มีพระชนก-ชนนีคือ สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช-พระวิสุทธิกษัตรี (ชื่อนี้อย่าสับสนกับ "นางพญาวิสุทธิเทวี" แห่งล้านนาที่เรากำลังพูดถึงอีกองค์) 
เป็นเอกสารเพียงเล่มเดียวที่เขียนว่า "พระสุพรรณกัลยาณี" ทว่า หลักฐานชิ้นอื่นนั้น เรียก "พระสุวรรณ" ซึ่งอันที่จริงก็มีความหมายเดียวกัน อาทิ พระราชพงศาวดารมหาราชวงศ์ของพม่า ระบุว่ามเหสีของบุเรงนององค์หนึ่งเป็นพระพี่นางของกษัตริย์นริศแห่งอยุธยา นามว่า "สุวรรณ" ภาษาพม่าเรียก "อะเมี้ยวโยง-A Myo Yong" 
เช่นเดียวกับพงศาวดารฉบับหอแก้วของพม่า ชำระเมื่อปี 2372 แปลเป็นไทยสมัยรัชกาลที่ 5 เขียนว่า "ออกยาพิศนุโลกผู้ครองกรุงศรีอยุธยา ได้ถวายบุตรีพระชนม์ 17 ปี มีนามว่า พระสุวรรณ (Bra Thawan) พระเจ้าหงษาวดีทรงรับไว้"

สำหรับเอกสารฝ่ายไทยที่ปรากฏเรื่องราวของพระสุพรรณกัลยา ก็มีอยู่ในสังคีติยวงศ์ รจนาโดยสมเด็จพระวันรัตวัดพระเชตุพน ด้วยภาษามคธ เมื่อปี 2332 มีการเอ่ยถึงพระพี่นางของพระนเรศวรแต่ไม่ระบุนามว่า "พระมหาธรรมราชา ได้ถวายสมเด็จพระนริสสราชแก่พระเจ้าหงษาพร้อมด้วยพระราชธิดา พระเจ้าหงษาจึงพาไปอยู่หงษานครกับด้วยพระภาดาหลายปี"

เมื่อประมวลหลักฐานจากหลายฝ่าย เห็นได้ว่า "พระสุพรรณกัลยา" นั้นมีตัวตนอยู่จริง และถูกส่งไปเป็นชายาของบุเรงนองอยู่ที่หงสาวดีจริงตามธรรมเนียมของเมืองประเทศราช แต่ที่นั่นคนเรียกพระนางว่า "อะเมี้ยวโยง"
ส่วนประเด็นซอกแซกที่หลายคนยังคาใจว่า หลังจากบุเรงนองตายแล้ว พระสุพรรณกัลยาต้องตกเป็นสนมของนันทบุเรงต่อจริงไหม ทำไมจึงรักลูกรักผัวที่เมืองหงษามากกว่าจะยอมกลับไปกู้ชาติกับน้องชาย หรือตอนที่พระนเรศวรกอบกู้กรุงศรีอยุธยาสำเร็จ นันทบุเรงคลั่งแค้นจนฟันพระพี่นางขณะนอนให้น้ำนมลูกอ่อนตายอนาถจริงหรือ?

เรื่องดราม่าเหล่านี้ ต้องฟังหูไว้หู เพราะมีข้อมูลจากนักวิชาการชาวตะวันตกที่สืบค้นอย่างละเอียด พบว่า หลังจากสิ้นบุเรงนองแล้ว พระพี่นางได้ย้ายไปอยู่กรุงอังวะ จนมีลูกหลานเหลน 
เหลนคนนี้เองที่บวชเป็นพระและทำหน้าที่บันทึกพงศาวดารพม่า ไม่มีตอนใดกล่าวถึงการถูกโอนไปเป็นนางสนมของนันทบุเรง 
ยิ่งต้องมาตั้งครรภ์ในวัยเกือบ 40 แล้วถูกสวามีใหม่ฆ่าตายนั้นยิ่งฟังไม่ขึ้น!



นางพญาวิสุทธิเทวี
ไม่ใช่ "เจ้าตนคำ" เสียแล้ว?


ข้างฝ่ายล้านนาช่วงที่บุเรงนองยกทัพมา ก็มีหลักฐานระบุว่า กษัตริย์ล้านนาจำต้องส่งราชธิดานาม "เจ้าตนคำ" ไปถวายเป็นบาทบริจาริกาเช่นกัน เจ้าตนคำ คือพระธิดาของท้าวซายคำ (โอรสของพระเมืองเกษเกล้า) 
และเรายังคงเชื่อต่ออีกว่า ยุคที่พม่าเรืองอำนาจ เจ้าตนคำได้รับการสถาปนาโดยภัสดาบุเรงนองให้เป็น "นางพญาวิสุทธิเทวี" ที่ถูกส่งกลับมาเป็นกษัตรีย์ครองเชียงใหม่ภายใต้ร่มเงาหงษา แถมยังมีพยานรักด้วยกันหนึ่งคนคือ "เจ้าฟ้ามังทรา" (นรตรามังช่อ-นรธาเมงสอ)

ที่กล่าวมานั้นเป็นองค์ความรู้เดิมๆ ที่เกิดขึ้นจากการปะติดปะต่อคลำทางจากหลักฐานอันจำกัด ในเมื่อบุเรงนองเคยนำเจ้าหญิงล้านนาไปเป็นตัวประกันหนึ่งนาง และต่อมาบุเรงนองก็แต่งตั้งให้ราชนิกูลล้านนานางหนึ่งขึ้นนั่งเมือง จึงอดคิดไม่ได้ว่าแม่ญิงสองนางนี้ต้องเป็นคนเดียวกัน มิเช่นนั้นบุเรงนองจะไว้ใจใครอื่นได้หากมิใช่ชายาของตัวเอง

หลักฐานที่ชวนให้เชื่อว่า นางพญาวิสุทธิเทวีเป็นพระมารดาของเจ้าฟ้ามังทราผู้เป็นโอรสบุเรงนอง ปรากฏอยู่ใน "โคลงมังทรารบเชียงใหม่"
"ได้แล้วภิเสกท้าว เทวี 
เป็นแม่มังทราศรี เร่งเรื้อง"
องค์ความรู้นี้ยังต่อยอดไปอีกว่า เมื่อนางพญาวิสุทธิเทวีสวรรคตภายหลังครองราชย์ได้ 14 ปีแล้ว บุเรงนองได้ส่งโอรสชื่อนรธามังช่อมาครองเชียงใหม่สืบแทนพระมารดาด้วย ดังบทโคลงที่ว่า 
"ลูนนั้นยกเจื่องเจ้า สาวถี 
นรทรามังช่อศรี ลูกฟ้า 
มาเสวยราชธานี แทนแท่น พระนี"

อาจกล่าวได้ว่าประวัติความเป็นมาของเจ้านางองค์นี้ เกิดขึ้นจากการตีความบทโคลงเท่านั้น ไม่มีหลักฐานอื่นใดมารองรับว่าแท้จริงแล้ว "นางพญาวิสุทธิเทวี" เป็นใครกันแน่ เป็นคนเดียวกันกับ "เจ้าตนคำ" หรือไม่ รวมไปถึง "นรธามังช่อ" เป็นลูกของนางจริงหรือ 
จนกระทั่ง ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ นักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านพม่าศึกษา ได้สืบค้น "ทำเนียบมเหสีของบุเรงนอง" ทั้งกลุ่มมเหสีใหญ่และมเหสีเล็ก จากพงศาวดารพม่า สรุปความได้ว่า ทั้งสองทำเนียบ นับเฉพาะที่ให้กำเนิดโอรสธิดานั้นมีทั้งสิ้น 42 นาง มีอยู่องค์หนึ่งเป็นธิดาเจ้าซินเหม่ (เชียงใหม่) ภาษาพม่าเรียกชื่อว่า "เคงเก้า-Khin Kank" น่าจะเป็นองค์เดียวกับ "เจ้าตนคำ" แต่...ต่อมาได้กลายเป็นวิสุทธิเทวีหรือไม่ยังน่าสงสัย
เหตุเพราะ "ตระละแม่เคงเก้า" มีธิดากับบุเรงนองหนึ่งองค์ชื่อ "ราชมิตร" หาใช่โอรสนาม "นรธามังช่อ" ไม่ อีกทั้งไม่มีหลักฐานใดระบุว่าบุเรงนองมอบหมายให้ตระละแม่เคงเก้ากลับไปนั่งเมืองเชียงใหม่

แล้วใครเล่าเป็นพระมารดาของนรธามังช่อ ทำเนียบมเหสีฉบับเดิมชี้ชัดว่า นรธามังช่อเป็นโอรสของพระมเหสีราชเทวี นามเดิมคือ "เชงทเวละ" เป็นธิดาของเจ้าสตุกามณี แห่งเมืองดีมเยง (น่าจะอยู่ใกล้เมืองแปร) โดยนรธามังช่อเป็นโอรสองค์โต ยังมีอนุชาอีกองค์ซึ่งได้ครองเมาะตะมะ 
ถ้าเช่นนั้นพงศาวดารพม่ามิขัดแย้งกับข้อความที่ระบุในโคลงมังทรารบเชียงใหม่ดอกรึ? 
เรื่องนี้ ดร.สุเนตร เสนอว่าขอให้กลับไปทบทวนตีความ "นัยยะ" ที่ปรากฏในโคลงนั้นใหม่อีกครั้ง การระบุว่านางพญาเชียงใหม่ "เป็นแม่มังทราศรี" "ในที่นี้มิได้หมายถึงชื่อเฉพาะของ "เจ้าฟ้ามังทรา" เหตุเพราะคำว่า "มังทรา" หรือ "มังนรธา" มีรากศัพท์มาจาก "เมงตะยา" แปลว่า "ธรรมราชา" ในภาษาพม่ายังใช้เรียก "กษัตริย์หรือเจ้าฟ้า" โดยรวมอีกด้วย

แล้ว "กษัตริย์" องค์ใดเล่าที่เป็นลูกของนางพญาวิสุทธิเทวี หากมิใช่ "นรธามังช่อ" ดร.สุเนตรเสนอว่า โอรสของนางพญาวิสุทธิเทวีน่าจะเป็น "ท้าวเมกุฏิ" กษัตริย์ล้านนาองค์ก่อน ที่กล้าแข็งเมืองไม่ยอมอ่อนข้อให้กับบุเรงนองก็เป็นได้ ทำให้บุเรงนองไม่ไว้ใจ ต้องจับมาเป็นตัวประกันที่หงษา แล้วแต่งตั้งแม่เป็นกษัตริย์แทน
หลายคนฟังแล้วอาจค้านในใจ ด้วยรู้มาว่าท้าวเมกุฏินั้น ก่อนนั่งเมืองเชียงใหม่ เคยบวชเป็นพระอยู่ที่เมืองนายอันเป็นแว่นแคว้นเขตไทใหญ่ แต่ให้เผอิญว่าเป็นเจ้าฟ้าที่มีเชื้อสายราชวงศ์มังรายอยู่บ้าง (สายขุนเครือ ซึ่งเป็นโอรสองค์สุดท้องของพระญามังราย) เช่นนี้แล้ววิสุทธิเทวีก็มาจากเมืองนายด้วยล่ะหรือ

เรื่องสายเลือดผสม "ไทใหญ่" นี้ไม่ทราบชัดนัก แต่มีข้อสังเกตว่านามเต็มของท้าวเมกุฏิคือ "เมกุฏิวิสุทธิวงศ์" นั้น อาจเป็นสิ่งหนึ่งที่สะท้อนว่าสืบสายวงศ์มาจากวิสุทธิเทวีผู้เป็นมารดาก็เป็นได้ นอกจากนี้แล้ว โคลงมังทรารบเชียงใหม่เรื่องเดิมยังระบุว่า มหาเทวีองค์นี้เสวยราชย์ในวัยชราภาพพอสมควร
"มหาอัครราชท้าว เทวี
ย้อมหงอกกินบุรี ก่อมเถ้า" 
หากเรามองภาพเปรียบเทียบระหว่าง การที่บุเรงนองจำต้องยึดตัว "ท้าวเมกุฏิ" ผู้เอาใจออกห่างจากพม่ามาขังไว้ที่หงษา แล้วมอบวิสุทธิเทวีผู้แม่ ซึ่งแน่นอนว่าต้องยอมปรองดองทุกวิถีทาง ให้นั่งเมืองแทน เพราะหากแม่กระด้างกระเดื่องเมื่อใดก็ตาม ผลร้ายก็จะตกมาอยู่กับลูกผู้เป็นตัวประกัน 
ภาพดังกล่าวก็คงไม่ต่างไปจากการที่บุเรงนองกล้าปล่อยน้องชายคือ "พระนริศ" (เป็นคำที่พม่านิยมเรียกพระนเรศวร) แต่กักพี่สาวไว้ก่อน เชื่อว่าน้องคงไม่ตุกติกคิดแข็งเมืองแน่ เพราะชะตากรรมของพี่สาวยังอยู่ในกำมือ

แต่ไฉนฉากอวสานของตัวประกันฝ่าย "โยเดีย" (อยุธยา) และ "ซินเหม่" คือทั้งพระสุพรรณกัลยาและท้าวเมกุฏิ ต่างก็ถูกสังหารโดยน้ำมือสองพ่อ-ลูก "บุเรงนอง-นันทบุเรง" ไม่ต่างกัน ไม่ว่าพระนเรศวรจะกล้าต่อกร หรือนางพญาวิสุทธิเทวีจะยอมอ่อนข้อก็ตาม


แม้หลายคนอาจรู้สึกรำคาญต่อละครน้ำตาท่วมจอ ที่มุ่งเชิดชูวีรกรรมความเสียสละของพระสุพรรณกัลยา ซึ่งสร้างขึ้นโดยมีวาระซ่อนเร้นแอบแฝงสนอง "อัลเทอร์อีโก้" ให้แก่กลุ่มสตรีสูงศักดิ์อยู่บ้าง
แต่ก็ถือว่าเป็นการเปิดพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ให้ "ผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งพงศาวดารมองข้าม" ได้ออกมายืนนอกร่มเงา "พระนเรศวรมหาราช" บ้าง

ดิฉันก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่อยากเชื่อว่า "พระสุพรรณกัลยา" มีตัวตนจริง ที่ไหนได้กลับกลายเป็นตระละแม่ "อะเมี้ยวโยง"

ในขณะที่นางพญาวิสุทธิเทวี ซึ่งนักประวัติศาสตร์เคยเชื่อกันอย่างหัวปักหัวปำว่าเป็น "เจ้าตนคำ" จำเลยรักของบุเรงนอง กลับกลายเป็น "แม่ผู้ชราภาพ" ของตัวประกันไปซะงั้น



.