http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-08-04

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์: “ประชาธิปไตยที่ไม่เสรี”?

.

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์: “ประชาธิปไตยที่ไม่เสรี”?
ใน www.prachatai.com/journal/2012/08/41881 . . Fri, 2012-08-03 15:32


รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
จาก “โลกวันนี้วันสุข”
ฉบับวันศุกร์ที่ 3 สิงหาคม 2555


การต่อสู้ขับเคี่ยวกันระหว่างพลังเผด็จการกับพลังประชาธิปไตยในหลายปีมานี้ แนวรบที่เข้มข้นดุเดือดไม่น้อยไปกว่าการต่อสู้บนท้องถนนและในสภาก็คือ การต่อสู้ทางความคิดและวาทกรรม ระหว่างอุดมการณ์ “ประชาธิปไตยเสรีนิยม” กับความคิดเผด็จการครอบงำในรูปลัทธิราชาชาตินิยมและ “ประชาธิปไตยแบบไทย”

วาทกรรมทหนึ่งที่สร้างความสับสนแม้แต่ในหมู่นักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันเองก็คือสิ่งที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยที่ไม่เสรี” (Illiberal Democracy) ใช้เป็นครั้งแรกโดยนายฟารีด ซาคาเรีย (Fareed Zakaria) คอลัมนิสต์ชาวอินเดียสัญชาติอเมริกัน และใช้กันในหมู่นักวิชาการและคอลัมนิสต์ตะวันตกจำนวนหนึ่ง 
แนวคิด “ประชาธิปไตยที่ไม่เสรี” ชี้ว่า ระบอบการเมืองที่มีการเลือกตั้งและ “เป็นประชาธิปไตย” นั้น อาจ “ไม่เป็นเสรีนิยม” คือไม่ให้เสรีภาพขั้นพื้นฐานแก่พลเมืองของตน เช่น รัสเซียและประเทศอดีตสังคมนิยมในยุโรปตะวันออก บางประเทศในเอเชีย เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ซึ่งมีพรรคการเมืองหลายพรรค มีการเลือกตั้ง แต่รัฐบาลอยู่ในมือของกลุ่มชนชั้นนำที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนหลายประการ เช่น เสรีภาพในการวิจารณ์รัฐบาลและผู้นำ เสรีภาพในการรวมกลุ่มตั้งสมาคม รัฐควบคุมสื่อมวลชนและหนังสือพิมพ์ ฝ่ายบริหารมีอำนาจเหนือฝ่ายนิติบัญญัติและตุลาการ ใช้วิธีการทั้งในและนอกกฎหมายกับผู้ที่เห็นต่างจากรัฐบาล เป็นต้น ประเทศเหล่านี้จึง “เป็นประชาธิปไตย แต่ไม่เป็นเสรีนิยม”

ในทางตรงข้าม ก็มี “ระบอบอัตตาธิปไตยที่เป็นเสรีนิยม” (Liberal Autocracy) คือ ไม่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่รัฐบาลยังให้ “เสรีภาพขั้นพื้นฐาน” แก่พลเมืองของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสรีภาพทางเศรษฐกิจ ระบบตลาดทุนนิยมและวิสาหกิจเอกชน ตัวอย่างเช่น ประเทศในยุโรปก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (นายซาคาเรียอ้างถึงออสโตร-ฮังการี) และ ฮ่องกง ในปัจจุบัน ประเทศเหล่านี้จึง “ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่เป็นเสรีนิยม”


ก่อนรัฐประหาร 2549 นักวิชาการและคอลัมนิสต์ไทยจำนวนหนึ่งก็นำเอาแนวคิดดังกล่าวมาโจมตีระบอบรัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐบาลพรรคไทยรักไทยว่า “เป็นประชาธิปไตยที่ไม่เสรี” คือชนะเลือกตั้งมาอย่างท่วมท้น แต่ใช้อำนาจแบบเผด็จการ ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน “ฆ่าตัดตอนในสงครามยาเสพย์ติด” “ปราบปรามประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างนองเลือด” ควบคุมแทรกแซงสื่อ ทุจริตคอรัปชั่น แทรกแซงวุฒิสภาและองค์กรอิสระ เป็นต้น
หลังรัฐประหาร คำว่า “ประชาธิปไตยที่ไม่เสรี” ถูกนำมาใช้โจมตีขบวนประชาธิปไตยที่ต่อต้านรัฐประหารและสนับสนุนพรรคการเมืองของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่า เป็นพวก “ลัทธิเลือกตั้งธิปไตย” ยึดเอาการเลือกตั้งเป็นสรณะหนึ่งเดียวที่รองรับความชอบธรรมทางการเมืองทั้งปวง แต่มีเนื้อในที่ “ไม่เป็นเสรีนิยม” เพราะสนับสนุนพ.ต.ท.ทักษิณ ที่เป็นเผด็จอำนาจ ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน


แนวคิด “ประชาธิปไตยที่ไม่เสรี” ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการตะวันตกจำนวนหนึ่ง ประเด็นใจกลางคือ การลดรูป “ลัทธิเสรีนิยม” จากหลักการเสรีภาพสากลที่ครอบคลุมทั้งระบอบสถาบันการเมืองประชาธิปไตยแบบตัวแทนและหลักสิทธิ์เสรีภาพของประชาชน ลงมาเหลือแค่การให้มีสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยแยกจากระบอบสถาบันการเมือง หากมีการเลือกตั้ง ก็เรียกว่า “ประชาธิปไตย” ถ้าไม่มีการเลือกตั้ง ก็เรียกว่า “อัตตาธิปไตย” ผลก็คือความสับสนปนเปทางตรรกะที่อาจมีระบอบการเมืองที่เป็นอำนาจนิยม แต่ให้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานแก่ประชาชน (เรียกว่า “ระบอบอัตตาธิปไตยที่เป็นเสรีนิยม”) และก็มีระบอบการเมืองที่มีการเลือกตั้ง แต่ละเมิดสิทธิ์เสรีภาพของประชาชน (เรียกว่า “ประชาธิปไตยที่ไม่เสรี”) 
แนวคิดนี้ ถึงที่สุด มีพื้นฐานความเชื่อว่า ประชาชนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งเป็น “ฝูงชนที่ไร้สติ สายตาสั้น หวังประโยชน์และความมั่นคงเฉพาะหน้า” ถูกชักจูงหรือครอบงำโดยนักการเมืองกลุ่มชนชั้นนำให้ลงคะแนนเลือกตั้งเข้ามาเป็นรัฐบาลครั้งแล้วครั้งเล่าทั้งที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน แนวคิด “ประชาธิปไตยที่ไม่เสรี” อาจนำไปสู่สองทางเลือกคือ ในปริบทที่ระบอบการเมืองยังมีการเลือกตั้ง ก็ให้ส่งเสริมหลักการแห่งสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างจริงจัง เพื่อให้ “ประชาธิปไตยที่ไม่เสรี” ก้าวไปสู่การเป็น “ประชาธิปไตยเสรีนิยม” เต็มรูปแบบ
แต่อีกทางเลือกหนึ่ง กลับนำไปสู่การปฏิเสธหรือการลดทอนความสำคัญของการเมืองแบบเลือกตั้ง โดยอ้างว่า การเลือกตั้งไม่ใช่สารัตถะของระบอบการเมือง การประเมินระบอบการเมืองหนึ่ง ๆ ไม่ใช่อยู่ที่ว่า มีการเลือกตั้งหรือไม่ แต่ให้ดูที่ “เสรีภาพขั้นพื้นฐาน” ของประชาชนเป็นสำคัญ ผู้ที่สมาทานแนวคิด “ประชาธิปไตยที่ไม่เสรี” มักจะเลือกหนทางที่สองคือ หันไปสนับสนุนการใช้กลไกนอกระบบการเมืองมาควบคุมอำนาจที่จากการเลือกตั้ง เชิดชู “ลัทธิชนชั้นนำ” ที่ปลอดพ้นจาก “ความชั่วร้ายของการเมืองแบบเลือกตั้งที่สายตาสั้นและเต็มไปด้วยผลประโยชน์” ดังจะเห็นได้จากที่นายซาคาเรียเองเสนอให้ “ลดความเป็นประชาธิปไตยลง” ด้วยการให้อำนาจแก่ผู้กระทำการ “ที่ไม่ถูกกดดันจากประชาธิปไตย” เช่น องค์การการค้าโลก ธนาคารกลาง ศาลฎีกา องค์กรพัฒนาเอกชน เป็นต้น

จึงไม่น่าแปลกใจที่แนวคิด “ประชาธิปไตยที่ไม่เสรี” จึงมีเสน่ห์หอมหวล ดึงดูดนักวิชาการ คอลัมนิสต์ และองค์กรพัฒนาเอกชนไทยที่แต่ไหนแต่ไรมาก็เกลียดชังนักการเมืองและระบบการเมืองแบบเลือกตั้ง หยิบยกขึ้นมาเป็นอาวุธทางวาทกรรมทิ่มแทงฝ่ายประชาธิปไตย ปฏิเสธลักษณะก้าวหน้าและเป็น “เสรีนิยม” ของขบวนประชาธิปไตย ตรรกะของคนพวกนี้เข้าขั้น “เลอะเทอะ” เมื่อประกาศว่า การปกครองของพวกจารีตนิยม (รวมถึงอันธพาลการเมืองเช่น พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย) นั้น “เป็นเสรีนิยม คือให้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน แต่ไม่เป็นประชาธิปไตย” ในขณะที่ฝ่ายประชาชน “เป็นประชาธิปไตย แต่ไม่เป็นเสรีนิยม เพราะไปสนับสนุนนักการเมืองที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน”



ลัทธิเสรีนิยมเป็นแนวคิดสากลที่ครอบคลุมทั้งระบอบการเมืองแบบเลือกตั้งและหลักแห่งสิทธิเสรีภาพของประชาชน สองประการนี้เป็นสิ่งเดียวกันและแยกกันไม่ออก ประเทศที่มีการเมืองแบบเลือกตั้ง มีหลายพรรคการเมือง แต่ไม่มี “หลักสิทธิเสรีภาพ” ต่อพลเมืองของตน ถึงอย่างไร ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่เป็นระบอบอำนาจนิยมแฝงเร้นชนิดหนึ่ง ที่ใช้เปลือกนอกของ “การเมืองแบบเลือกตั้ง” มาสวมคลุมร่างหมาป่าของตน ในทางตรงข้าม ประเทศที่มีระบอบการเมืองผูกขาดโดยกลุ่มหรือครอบครัวชนชั้นนำ แต่อ้างว่า ให้ “สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน” ก็ไม่ใช่เสรีนิยม เพราะถึงอย่างไร “สิทธิเสรีภาพของประชาชน” ก็ยังถูกจำกัดด้วยข้อห้ามที่จะวิพากษ์วิจารณ์ ปฏิเสธ หรือคัดค้านอำนาจการปกครองของชนชั้นนำนั้นอยู่ดี

ประเทศหนึ่งมีเพียงสองทางเลือกคือ เป็น “ประชาธิปไตยเสรีนิยม” หรือเป็น “ระบอบอำนาจนิยม (ทั้งแฝงเร้นและเปิดเผย)
ประเทศไทยนับตั้งแต่รัฐประหาร 2500 เป็นต้นมา อยู่ในระบอบอำนาจนิยมของพวกจารีตนิยม ที่บางช่วงสวมเสื้อคลุม “การเมืองแบบเลือกตั้ง” ที่ให้สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลและทางเศรษฐกิจอย่างจำกัดแก่ประชาชน แต่ในความเป็นจริง เต็มไปด้วยการกดขี่ทางชนชั้น การผูกขาดเอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจของพวกจารีตนิยมและทุนเก่า การครอบงำทางความคิดอุดมการณ์อย่างเบ็ดเสร็จ และการปราบปรามผู้ที่เห็นต่างอย่างไร้เมตตา (ตัวอย่าง ป.อาญา ม.112 และการฆ่าหมู่ประชาชนถึงสี่ครั้งในรอบ 30 ปี)
ส่วนสมุนของระบอบนี้ เช่น พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็เป็นพวกอันธพาลฟัสซิสต์คลั่งชาติ ระบอบการปกครองและกลุ่มอันธพาลที่ว่านี้ ไม่มีอะไรที่เป็นเสรีนิยมเลยแม้แต่น้อย

สำหรับฝ่ายประชาธิปไตยแล้ว เครื่องหมายแห่งความเป็นเสรีนิยมอย่างแท้จริงของพวกเขาคือ การปฏิเสธ “ลัทธิเหนือโลก” และ “ลัทธิฝุ่นใต้ตีน” ทุกรูปแบบ ยืนยันว่า คนเรานั้นเกิดมาเพียบพร้อมไปด้วยสิทธิเสรีภาพ มีศักดิ์และสิทธิ์เท่ากัน ทุกคนคือ “เสรีชน” การปกครองที่ชอบธรรมจะต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนเสียงส่วนใหญ่ ความขัดแย้งและความเห็นต่างทางการเมืองต้องแก้ไขอย่างสันติด้วยการเลือกตั้งเท่านั้น ขบวนประชาธิปไตยของไทยปัจจุบันนี้แหละคือ “ขบวนประชาธิปไตยเสรีนิยม” อย่างแท้จริง



.