http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-08-11

ทุนนิยม..มัน.. โดย คำ ผกา

.

ทุนนิยม..มัน..
โดย คำ ผกา
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1669 หน้า 89 


แอบหนีไปเที่ยวมา ต้นฉบับครานี้จึงหลีกลี้เรื่องการเมือง-แบบว่า ยังไม่หายมึนกับลีลาสุดโจ๋ของ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ใส่เสื้อแดงขึ้นเวทีปราศรัย-ไปสู่เรื่องกินเรื่องเที่ยวบ้าง 
ไม่ได้ไปไหนไกล คนเที่ยวไม่ค่อยเป็นและไม่ค่อยมีโอกาสจะเที่ยวอย่างฉันได้ไปแค่ฮ่องกงก็ตื่นเต้นจะแย่

ฉันชอบฮ่องกง เพราะไม่ได้ให้ความรู้สึกว่าไปเที่ยวต่างประเทศ บินแค่สองชั่วโมงให้ความรู้สึกเหมือนไปเที่ยวต่างจังหวัด ไม่ต้องทำวีซ่า ไม่มีอะไรยุ่งยาก ไม่มีอะไรแปลกหู แปลกตา ตื่นใจ ไม่มีกลิ่นอายบรรยากาศของความต่างบ้านต่างเมือง ประเภท หิมะ หรือวัฒนธรรมที่แตกต่างเสียจนเรารู้สึกว่าเป็น "โคตรจะเป็นนักท่องที่ยว"
ที่สำคัญผู้คนในฮ่องกงคุ้นเคยกับ "นักท่องเที่ยว" ราวญาติมิตร อาจเป็นเพราะจิตวิญญาณแบบคนค้าขาย ไม่มีคำว่า "คนแปลกหน้า" 
ทุกคนคือ "ลูกค้า" เสมอหน้าเท่าเทียมกันหมด


เวลาบอกใครว่าชอบ ฮ่องกง หลายคนจะงง เพราะภาพพจน์ของฮ่องกงคือเมืองช็อปปิ้ง ซื้อของ กินโจ๊ก กินเป็ด ไก่ ห่าน หลายย่านก็ไม่ต่างจากเยาวราชของเราเท่าไหร่ ไม่มีศิลปะวัฒนธรรมเก่าแก่ลึกซึ้งให้ไปปลาบปลื้มดื่มด่ำ ไม่มีโบราณสถานอลังการให้ดู เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่ฉันบอกใครต่อใครว่าไปฮ่องกง คนก็ต้องเลิกคิ้วถามว่า "ไปทำไม?"  
แม้แต่ตัวฉันเองยังหลงเข้าใจว่า ฉันชอบไปฮ่องกงเพราะมีอาหารอร่อย แต่หลังจากไปหลายต่อหลายครั้งเข้า พบว่าสิ่งที่ตนเองชอบที่สุดของฮ่องกงคือ พลังงานของความกระฉับกระเฉง คึกคัก และความกระตือรือร้นที่จะ "ทำมาหากิน"

พูดง่ายๆ ว่า ฉันชอบบรรยากาศของความเป็น "ตลาด" ที่มีอยู่ในทุกตารางนิ้ว ในทุกลมหายใจของฮ่องกง ฉันอาจจะเข้าใจผิด เพราะนี่เป็นสัมผัสของนักท่องเที่ยวที่ฉาบฉวย แต่ฉันชอบที่เห็นคนฮ่องกงโดยเฉพาะคนทำงาน ไม่ว่าจะในโรงแรม ในห้างสรรพสินค้า ในร้านอาหาร พนักงานเสิร์ฟ ทุกคนทำงานฉับไว กระฉับกระเฉง ไม่ได้ยิ้มมาก สุภาพมากแบบญี่ปุ่น ออกจะดุ เหมือนจะโหด แต่ให้ความรู้สึกเป็นมนุษย์ที่แท้จริงดี 
และที่สำคัญคือ พวกเขาอาจจะไม่ยิ้ม ไม่พะเน้าพะนอ ไม่เอาอกเอาใจจนเกินกว่าเหตุ แต่ทุกคนสามารถทำงานสำเร็จลุล่วง และรู้จักงานของตัวเองดี
เจ้าหน้าที่ที่เคาน์เตอร์ติดต่อสอบถามในห้าง อาจจะไม่สวยจิ้มลิ้มยิ้มพริ้มเพรา แต่ถามอะไรไปก็ตอบได้ตรงประเด็นกระชับ และให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากกว่าที่เราถาม 
พนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารแม้จะไม่ละมุนละม่อม แต่ทำงานรวดเร็ว ถูกต้อง 

อ่านแล้วอาจจะงงว่าฉันจะตื่นเต้นอะไรนักหนากับเรื่องแค่นี้ ลองจินตนาการว่า หากคุณไปที่เคาน์เตอร์ติดต่อสอบถามในตึกหรือห้างสรรพสินค้าของไทย หลังจากจบคำถามของเรา ปฏิกิริยาแรกที่เราได้รับจะเป็นใบหน้างงๆ ก่อนจะตามมาด้วยการหันไปสบตากับเพื่อนร่วมงานแบบงงๆ ปรึกษากันไปมาอีกครู่ใหญ่ก่อนจะตอบคำถามที่อาจทำให้เรางงกว่าเดิม 
หรือพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารระดับ กลางๆ ของบ้านเราที่น้อยมากจะสามารถรับออร์เดอร์ และมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าได้เหมือนเป็นคนเท่าๆ กันเหมือนๆ กัน



ออกจากเขตแดนประเทศไทยไปแล้วกลับมาทีไร ฉันจะเห็นความแตกต่างข้อนี้ชัดเจนขึ้นมาก 
นั่นคือ พนักงานระดับล่างโดยเฉพาะพนักงานที่ทำงานด้านบริการในประเทศไทยมักถูกฝึกมาให้อยู่กับรหัสทางวัฒนธรรม มารยาทแบบเจ้าขุนมูลนาย นั่นคือ ตัวพนักงานถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ของตนเองลงให้เหลือน้อยกว่า "ลูกค้า" หรือ ผู้รับบริการ 
ในขณะเดียวกัน ผู้รับบริการหรือลูกค้าก็ยังพกพาทัศนคติแบบ เจ้าขุนมูลนายกับพนักงานให้บริการทั้งหลาย 
ฉันเห็นเหล่าลูกค้าไม่น้อยปฏิบัติกับพนักงานเสิร์ฟราวกับเป็นลูกน้องของตนหรือคนรับใช้ที่บ้านของตน

ตัวพนักงานเองเมื่อคิดว่าตนเอง "ต่ำต้อย" ก็มีวิธีที่จะหลีกเร้นจากอำนาจที่ถูก "เจ้านาย" ในนาม "ลูกค้า" แสดงอำนาจของความเป็นมนุษย์ที่เหนือกว่า ด้วยการ "ทำงานครึ่งเดียว" เช่น ทำเป็นยืนเหม่อ เวลาถูกเรียก ไปยืนจับกลุ่มคุยกันเอง ยืนดูทีวี ยืนหันหลังให้ลูกค้า ไม่หาความรู้เกี่ยวกับงานที่ตนเองทำ 
เช่น ไม่รู้จักอาหารและเครื่องดื่มในเมนูของร้าน หรือรู้จักชื่อ แต่ไม่รู้ว่ามันคืออะไร ฯลฯ

ในขณะที่พนักงานเสิร์ฟของร้านอาหาร (ระดับกลาง ไม่ใช่ร้านหรู) ที่ฮ่องกง และในประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่ (ไม่อาจเหมารวม เท่าที่ตัวฉันมีประสบการณ์แล้วกัน) มีความสุภาพแบบสุภาพชนที่พึงปฏิบัติต่อลูกค้า ไม่ใช่สุภาพแบบ "คนรับใช้" หรือ "ลูกน้อง" หรือ "เด็ก" แบบพนักงานเสิร์ฟ (ร้านระดับกลาง) ในเมืองไทย  
จุดที่แตกต่างกันมากจนรู้สึกได้คือ พนักงานเสิร์ฟของประเทศที่พัฒนาแล้วจะสบตากับลูกค้าเต็มตา ยืนอย่างสง่าผ่าเผย คุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับ อาหาร เครื่องดื่ม ที่ลูกค้าสั่งและให้คำแนะนำได้ 
แต่พนักงานเสิร์ฟส่วนใหญ่ของไทย จะไม่สบตา ยืนตัวค้อม พูดอ้อมแอ้ม ไม่เต็มปากเต็มคำ ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง ไม่มีความรู้หรือข้อมูลมาแลกเปลี่ยนหรือแนะนำลูกค้า

นี่คงไม่ใช่แค่ปัญหาระบบการศึกษาหรือเป็นเพราะคนไทยห่วยจากกรรมพันธุ์ ไม่ใช่เพราะคนจนจึงโง่ แต่ฉันออกจะเชื่อว่าในระบบ "การเมือง" ไทยมีกลวิธีอันแยบยลที่แช่แข็งระบบ เจ้าขุนมูลนาย สำนึกแบบไพร่ ทาส ไว้ในมารยาท ท่วงท่า ภาษากายที่กดทับไม่ให้คนได้ยืนหยัดมาสบตากับใคร ทั้งหลีกเร้นตนเองออกจากการพัฒนาศักยภาพ จำนนต่อชะตากรรมที่ติดตัวมาแต่กำเนิด 
คนไทยถูกทำให้ตนเองเชื่อเสียแล้วว่า "หากเราเกิดมาเป็นแบบนี้ก็ต้องเป็นแบบนี้"

เราเกิดมาเพื่อจะเป็นเพียงพนักงานขายของในห้างสรรพสินค้า ไม่อาจเป็นอย่างอื่นที่มากกว่านี้ได้ ดังนั้นจึงไม่ต้องไปอ่านหนังสือเพิ่ม ไม่ต้องไปดูหนังดีๆ ไม่ต้องไปดูละครดีๆ ไม่ต้องไปมิวเซียม ไม่ต้องไปดูนิทรรศการศิลปะ ฯลฯ 
ถ้าเราเป็นพนักงานขายของในห้างสรรพสินค้า เราจะถูกทำให้เชื่อว่า การไปมิวเซียมไม่ใช่เรื่องของเรา การอ่านวรรณกรรมคลาสสิคของโลกไม่ใช่เรื่องของเรา การทำความรู้จักกับดนตรีคลาสสิคไม่ใช่เรื่องของเรา ฯลฯ

การสกัดกั้นคนออกจาก "ความรู้" หรือ cultivation นั้นไม่ได้สกัดด้วยการทำให้สิ่งเหล่านั้นเข้าถึงยากด้วย "ราคาที่แพง" เกินกว่าจะเข้าถึงเท่านั้น  แต่ยังสกัดด้วยสำนึกทาง "ชนชั้น" ที่บอกว่า "สินค้าทางวัฒนธรรม" เหล่านั้นเป็นของ "คน" อีก "ชั้น" นั้น อีก "ระดับ" หนึ่ง 
เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงไม่เห็นภาพ คนทุกเพศ ทุกวัย คนแต่งตัวดี คนแต่งตัวบ้านๆ คุณลุง คุณป้า หอบลูกจูงหลาน ไปเข้าคิวรอเข้ามิวเซียมกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันอย่างที่เราเห็นในประเทศอื่น 
ไม่นับว่ามิวเซียมของเรานั้นแห้งแล้งเหลือประมาณ ในขณะที่มิวเซียมของประเทศอารยะนั้นอึกทึกไปด้วยเสียงเอะอะของเด็กๆ ที่ตื่นเต้นกับสิ่งที่ตนเองได้พบเห็นในมิวเซียม 

ที่ฮ่องกงก็เช่นกัน มิวเซียมแสดงประวัติศาสตร์ฮ่องกงนั้นอยู่ในละแวกของมิวเซียมที่มีทั้งมิวเซียมอวกาศ วิทยาศาสตร์ ศิลปะ เข้าถึงได้ง่ายด้วยการเดินทางทั้งรถไฟใต้ดิน รถเมล์ รถราง ทางเท้าที่กว้างขวาง ทางเข้าเปิดโล่ง ไม่มีรั้ว ไม่มีป้าย สั่งแต่งกายสุภาพ บอกลักษณะแห่งความเป็นมิตร ติดดิน 
(แม้แต่มิวเซียมสยามของไทยที่ว่าก้าวหน้าแล้ว สำหรับฉันยังเข้าถึงยากอยู่ด้วยความที่มีรั้วรอบขอบชิด และอาคารที่ขรึมขลัง)


มิวเซียมประวัติศาสตร์ฮ่องกง บอกเล่าเรื่องราวตั้งแต่กำเนิดเกาะฮ่องกงในเชิงภูมิศาสตร์ โบราณคดี การระเบิดของภูเขาไฟ การเปลี่ยนแปลงชั้นหิน และลักษณาการทางกายภาพของธรณีวิทยา อันไม่ต้องเกี่ยวข้องกับเทพหรือแถนใดๆ มาเป็นตำนานการเกิดเมือง (อันควรอยู่ในมิวเซียมมานุษยวิทยา) 
จนถึงยุคหมู่บ้านชาวประมง ยุคที่เป็นจีน ยุคการอพยพของจีนชาติพันธุ์ต่างๆ ยุคการค้า ยุคสงครามฝิ่น ยุคที่อยู่ใต้การปกครองของอังกฤษ ยุคที่ถูกยึดครองโดยญี่ปุ่น จนมาเป็นฮ่องกงที่เป็นศูนย์กลางการค้า เมืองท่า เป็น เมโทรโพลิแทน 
และสุดท้ายการออกจากอังกฤษกลับไปเป็นส่วนหนึ่งของจีน 
ไม่นับความตื่นตาตื่นใจของสิ่งปลูกสร้างในมิวเซียมที่จำลองเอาสถาปัตยกรรม และกลิ่นอายของแต่ละยุคมาไว้ในมิวเซียม เช่น ส่วนที่พูดถึงฮ่องกงภายใต้อังกฤษ ทุกอย่างในโซนนั้นของมิวเซียมก็เป็นฮ่องกงในยุคนั้นตั้งแต่ตัวสถาปัตยกรรม กระเบื้องที่ปูพื้น โค้งประตู มิวเซียมจึงเหมือนเมืองจำลองที่พาเราออกจากยุคหนึ่งไปสู่อีกยุคหนึ่งด้วยผัสสะทุกส่วนของผู้เข้าชมมิวเซียม มิใช่เพียงการอ่าน และดูวัตถุจากตู้กระจก 

ฉันกับอาจารย์เฟย์เพื่อนที่ไปด้วยกันประทับใจมิวเซียมประวัติศาสตร์ของฮ่องกงเอามากๆ เพราะออกจากมิวเซียมแล้ว เราไม่ต้องพกพาเอาความภาคภูมิใจ หลงไหล คลั่งไคล้ในตัวเองออกมาด้วยเหมือนการเข้าชมมิวเซียมหรือการอ่านประวัติศาสตร์ของไทย
ฮ่องกงพูดถึงอดีตของตัวเองด้วยน้ำเสียงราบเรียบ ตามที่มันเป็น ไม่มีความฟูมฟายว่าตนเองเป็นลูกแกะระหว่างสองหมาป่า-อังกฤษกับจีน (ลองเปรียบเทียบกับประวัติศาสตร์การเสียดินแดน ร.ศ.112 ของไทยที่เฝ้าคร่ำครวญว่าตนเป็นลูกแกะระหว่างหมาป่าสองตัวคืออังกฤษกับฝรั่งเศส)  
ที่สำคัญที่สุด ตลอดสองชั่วโมงที่อยู่ในมิวเซียม พร้อมทั้งเข้าฟัง ประวัติศาสตร์ฉบับกระชับผ่านการฉายภาพยนตร์สารคดีตอนละ 10 นาทีต่อ 1 ยุค - เรายังไม่พบ "วีรบุรุษ" หรือ "วีรสตรี" ในประวัติศาสตร์ฮ่องกงเลยแม้แต่คนเดียว

สิ่งที่เราได้จากการเข้าชมมิวเซียมประวัติศาสตร์ฮ่องกงคือ "ประวัติศาสตร์สังคม" โดยแท้ สังคมที่มีคนอยู่มากมายไปหมด ที่ร่วมสร้างวัฒนธรรมอาหาร วัฒนธรรมการค้า วัฒนธรรมความบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นงิ้วหรือละครหุ่น เรื่อยมาจนถึงวัฒนธรรมร่วมสมัย 
คนมากมายเหล่านี้มีทั้งคนพื้นเมืองดั้งเดิม คนชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อพยพเข้ามาภายหลัง อารยธรรมอันรุ่งเรืองอลังการของราชวงศ์ต่างๆ ของจีน ชาวตะวันตก วัฒนธรรมของเจ้าอาณานิคม อังกฤษ ญี่ปุ่น มาจนกลายเป็น ฮ่องกงและตึกระฟ้าที่เราเห็นในปัจจุบัน 
ในประวัติศาสตร์มีภาพของคนฮ่องกงในอดีตที่ต้องอยู่ในห้องขนาด 11 ตารางเมตรกับสมาชิกครอบครัวแปดคน-ซึ่งเป็นภาพสามัญของฮ่องกงในอดีตนั้นที่คนหาบน้ำใส่ปี๊บกลับบ้านเพราะน้ำประปาให้บริการแค่อาทิตย์ละวัน ยุคของรถลาก กรรมกร คุณนายที่มีสาวใช้คอยเดินตามกางร่มให้ ฯลฯ



ออกมาจากมิวเซียม เราก็ยังเห็นภาพเหล่านั้น ภาพสังคมฮ่องกงที่เต็มไปด้วยพลังขับเคลื่อนของความหลากหลายและปราศจากความกระดากอายในอดีตอันไม่จำเป็นต้องเรืองรอง ยิ่งใหญ่ เป็นมนุษย์ที่ซื่อสัตย์กับความโลภ  ความกระหายในเงินตรา ความสนุกกับการอยู่ในทุนนิยม  มิพักต้องมานั่งเสแสร้งเป็นคนดี และสาวๆ ก็เดินพ่นควันบุหรี่อย่างสง่าผ่าเผย  
ในคาเฟ่เล็กๆ หลังแนวตึกที่ทำการเทศบาล มีทั้งคาเฟ่ที่ขายอาหารอินเดีย สเปน อิตาลี ญี่ปุ่น จีน
เราเดินไปนั่งพักในคาเฟ่อิตาเลี่ยน สั่งคาปูชิโน่เย็น พนักงานเสิร์ฟผู้ชาย พูดเร็ว เดินเร็ว โยนเมนูมาให้เราแล้วหายแวบไปก่อนจะกลับมาพร้อมรับออร์เดอร์ เราสั่งพร้อมบอกว่าไม่หวาน เขารับคำ เก็บเมนูไปอย่างรวดเร็ว อีกอึดใจใหญ่ๆ กลับมาพร้อมคาปูชิโนเย็นรสชาติถูกต้อง หอมหวน พร้อมน้ำเชื่อมในเหยือกสีขาวน่าเอ็นดู

นี่คือสิ่งที่เราต้องการ ไม่ต้องยิ้มหวาน ไม่ต้องย่อตัวโค้งคำนับ ไม่ต้องพินอบพิเทา เราต้องการแค่กาแฟที่ถูกต้อง และน้ำเชื่อมในภาชนะที่เหมะสม และที่ลูกค้าเติมเอง

ทุนนิยมมันดีจริงๆ



.