โพสต์เพิ่ม - การลงทุนแบบมีกำไร ที่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ โดย ธันวา เลาหศิริวงศ์
_____________________________________________________________________________________________________________
ถึงเวลา เก็บภาษีความมั่งคั่ง (Wealth Tax) ได้แล้ว
เสนอโดย ดร.ปัณณ์ อนันอภิบุตร
ในมติชน ออนไลน์ วันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2555 เวลา 18:50:26 น.
เมื่อไม่นานมานี้ มีการจัดสัมมนาทางวิชาการเพื่อการเสนอผลงานวิจัย “สู่สังคมไทยเสมอหน้า การศึกษาโครงสร้างความมั่งคั่งและโครงสร้างอำนาจเพื่อการปฏิรูป” ดร.ปัณณ์ อนันอภิบุตร หัวหน้าฝ่ายพัฒนาโครงสร้างภาษี สำนักนโยบายภาษี สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)กระทรวงการคลัง ได้ศึกษา แนวการปฏิรูประบบภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้และความมั่งคั่งของไทย ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 เรื่องที่สำคัญ ได้แก่
1.การปฏิรูประบบการส่งเสริมการลงทุน โดยขณะนี้การส่งเสริมการลงทุนมีลักษณะเอื้อประโยชน์สูงมากให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ ดังนั้น รัฐบาลควรพิจารณาจำกัดประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริมโดยเป็นกิจการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศและมีลักษณะเฉพาะที่โดดเด่นและสำคัญมาก ๆ เท่านั้น นอกจากนั้น ประเทศสมาชิกอาเซียนควรเพิ่มความร่วมมือในการส่งเสริมการลงทุนในภูมิภาคโดยรวม
2.การปรับปรุงการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เนื่องจากการลดหย่อนภาษีจำนวนมากมีลักษณะเป็นการที่ผู้มีรายได้น้อยอุดหนุนผู้มีรายได้สูง ทำให้โครงสร้างอัตราภาษีไม่ก้าวหน้าอย่างที่ควรจะเป็น ด้วยเหตุนี้จึงควรมีการทบทวนและจำกัดวงเงินของรายการค่าลดหย่อนต่าง ๆ ให้เหมาะสมมากขึ้น
3.การเครดิตภาษีเงินได้เนื่องจากการทำงาน (Earned Income Tax Credit) กับข้อเสนอมาตรการ “เงินโอน แก้จน คนขยัน” ซึ่งยังขาดฐานข้อมูลรายได้ประชากรทำให้รัฐบาลมีรายจ่ายด้านสวัสดิการสูงกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้น รัฐบาลควรพิจารณานำมาตรการเงินโอน แก้จน คนขยันมาใช้ ซึ่งเป็นการรวมระบบภาษีและระบบสวัสดิการเข้าด้วยกัน เพื่อเป็นเครื่องมือในการระบุตัวและโอนเงินไปยังผู้สมควรได้รับการช่วยเหลือ (Targeting for the Poor) อย่างแท้จริง
4.ภาษีทรัพย์สินกับข้อเสนอภาษีความมั่งคั่ง (Wealth Tax)
โดยระบบภาษีของไทยยังเอื้อประโยชน์ต่อการถือครองทรัพย์สิน ซึ่งเมื่อพิจารณากรณีการเก็บภาษีทรัพย์สินใน 4 ประเทศ คือ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส จะพบว่า ภาษีทรัพย์สินเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของทุกประเทศ
ด้วยเหตุนี้จึงควรพิจารณานำภาษีความมั่งคั่งมาใช้ในกรณีของไทย
_____________________________________________________
ชวนอ่าน ผาสุก: ภาพรวมความเหลื่อมล้ำ กับสัญญาณการเปลี่ยนแปลง(จากชั้นล่าง)
ที่ http://botkwamdee.blogspot.com/2012/08/ps-chgsgn.html
+++
Warren Buffett |
โดย ธันวา เลาหศิริวงศ์
ในประชาชาติ ออนไลน์ . . updated: 15 ส.ค. 2555 เวลา 17:58:16 น.
ธันวา เลาหศิริวงศ์
นายกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า(ประเทศไทย)
www.facebook.com/18thanwa
"น้ำไม่ท่วม ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ" คือคำโฆษณาบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่เห็นเด่นชัดบนป้ายขนาดใหญ่ริมถนนวิภาวดีรังสิต ข้อความดังกล่าวบ่งบอกถึงความมั่นใจและความเชื่อมั่นของบริษัทหรือผู้บริหารว่า จะสามารถบริหารจัดการเรื่องน้ำได้อย่างแน่นอน หรือพูดง่ายๆ คือ ผู้ที่กำลังตัดสินใจซื้อไม่ต้องกังวลเรื่องน้ำท่วมเพราะ "เอาอยู่" นั่นเอง
การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลาในโลกแม้บางเหตุการณ์อาจเกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ แต่เราลองมาดูความเปลี่ยนแปลงที่อยู่ในข่าย "ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ" ผ่านกรณีศึกษาต่อไปนี้
ประเทศเกาหลีใต้มีการพัฒนาเชิงบวกเกือบทุกด้านในรอบไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา ภาครัฐและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ได้สนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิคส์ โทรศัพท์มือถือ ภาพยนตร์ เกมส์ออนไลน์ ท่องเที่ยว อาหาร ศัลยกรรมเสริมความงาม การเต้นแบบเกาหลี และการเผยแพร่วัฒนธรรมของประเทศในรูปแบบต่างๆ จนได้รับการยอมรับและมีอิทธิพลต่อสังคมโลกมากขึ้น
ประเทศเกาหลีใต้มีขนาดผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ใหญ่เป็นลำดับที่ 11 ของโลกแม้มีประชากรเพียง 50 ล้านคน และได้รับความไว้วางใจในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 1988 เป็นเจ้าภาพร่วมกับประเทศญี่ปุ่นจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2002 นอกจากนี้ เกาหลีใต้ยังมีนักกีฬาระดับเหรียญรางวัลกีฬาโอลิมปิก และผลงานในกีฬาฟุตบอลอยู่ในระดับแถวหน้าของโลกอีกด้วย
ประเทศสิงคโปร์ ประกาศเอกราชในปี ค.ศ. 1965 มีประชากรเพียง 5 ล้านกว่าคน แต่มีประชากรหนาแน่นเป็นอันดับสองของโลกอันเนื่องมาจากขนาดพื้นที่และลักษณะภูมิประเทศที่เป็นเกาะ แม้มีข้อจำกัดและไม่มีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติมากนักแต่สิงคโปร์มีขนาดผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ถึงครึ่งหนึ่งของไทย โดยอยู่ในอันดับที่ 38 ของโลก สถาบัน IMD ได้จัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันเป็นอันดับที่ 4 ของโลก
สิงคโปร์มีความโดดเด่นเรื่องความปลอดภัย สาธารณูปโภค ระบบขนส่งมวลชน ศูนย์กลางทางการเงิน ที่ตั้งของสำนักงานภูมิภาคของบริษัทระดับโลก มีการพัฒนาแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างๆ เช่น ยูนิเวอร์แซล สตูดิโอ คาสิโน การแข่งขันรถฟอร์มูล่าวัน รวมทั้งมีสายการบินชั้นนำของโลกเพื่อความสะดวกในการเดินทางเข้าออกประเทศอีกด้วย
การเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาของทั้งประเทศเกาหลีใต้และประเทศสิงคโปร์นั้นเป็นเพียงตัวอย่างของประเทศในโลกที่ "ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ" เลย
Amazon.com (AMZN) เริ่มต้นธุรกิจหนังสือออนไลน์ในอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 1994 ปัจจุบันกลายเป็นร้านค้าปลีกออนไลน์ที่ครอบคลุมผลิตภัณฑ์สินค้านานาชนิดที่ใหญ่ที่สุดและให้บริการผู้ซื้อทั่วโลก จุดเด่นที่สำคัญได้แก่ ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์สินค้าและอุปกรณ์หนังสืออิเลคทรอนิคส์ (kindle) ด้วยราคาที่สมเหตุสมผล ความสะดวก ปลอดภัย และบริการต่างๆ ที่ร่วมกับพันธมิตรธุรกิจ มียอดขาย 3 ปีย้อนหลังคือปี 2009, 2010 และ 2011 เติบโตก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่องที่ 24.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ 34.2 พันล้าน และ 48.0 พันล้านเหรียญตามลำดับ ส่งผลให้ราคาหุ้นเพิ่มจากหุ้นละ 1.5 เหรียญในปี 1997 เป็น 233 เหรียญในปัจจุบันและมีมูลค่าตลาดสูงถึง 105,200 ล้านเหรียญในเวลาไม่ถึง 20 ปี
"วอร์เรน บัฟเฟตต์" ประสบความสำเร็จในการลงทุนแบบเน้นคุณค่าอย่างมากนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1965 ผ่านบริษัทเบิร์กไชร์ แฮทธาเวย์ (BRK) สร้างผลตอบแทนทบต้นเฉลี่ย19.8% เอาชนะดัชนี S&P รวมเงินปันผล9.2% ตลอดเวลา 46 ปีของการลงทุน สร้างผลตอบแทนและความมั่งคั่งให้ผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้น 513,055 % (ห้าแสนหนึ่งหมื่นสามพันห้าสิบห้าเปอร์เซ็นต์) เทียบกับ 6,397% (หกพันสามร้อยเก้าสิบเจ็ดเปอร์เซ็นต์) ของดัชนี S&P โดยมี 3 กลยุทธ์สำคัญคือ การเลือกกิจการที่ยอดเยี่ยม (Stock Selection) การลงทุนแบบมุ่งเน้น (Focus Investment) และการถือหุ้นของกิจการเป็นเวลานาน (Period of Investment)
สรุปก็คือ พัฒนาการที่โดดเด่นและความสำเร็จของทั้ง Amazon.com และบริษัท เบิร์กไชร์ แฮทธาเวย์ของวอร์เรน บัฟเฟตต์ ก็น่าจะ "ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ" เช่นกัน
บริษัทจดทะเบียนของไทยจำนวนไม่น้อยที่สร้างความมั่งคั่งและผลตอบแทนหลายเท่าตัวหรือ "หลายเด้ง" ให้กับผู้ถือหุ้นในเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผลประกอบการที่ดีขึ้นและโดดเด่นนั้นเริ่มจากวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร กลยุทธ์ทางธุรกิจ การบริหารจัดการและการทำให้เกิดผลจริง เมื่อนักลงทุนเชื่อมั่นกับศักยภาพและมูลค่าทางเศรษฐกิจของกิจการในระยะยาว ก็จะส่งผลสะท้อนมายังราคาหุ้นและมูลค่าตลาดของกิจการโดยรวม
ความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันของกำไรต่อหุ้นและราคาหุ้นเป็นเครื่องพิสูจน์ได้อย่างดีว่า ราคาหุ้นที่เพิ่ม "หลายเด้ง"นั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ ถ้ากิจการมีผลประกอบยอดเยี่ยมอย่างต่อเนื่อง ก็ต้องนับว่า "ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ" ที่ราคาหุ้นจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างยั่งยืนเช่นกัน
ทั้งหมดนั้นเป็นกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นในอดีต ในทางการลงทุนนั้น ผลตอบแทนที่ผ่านมาไม่ได้การันตีผลตอบแทนในอนาคต
นักลงทุนบางคนซื้อหุ้นด้วยความ "บังเอิญ" นำมาซึ่งผลตอบแทนที่น่าทึ่ง แม้เป็นเรื่องที่น่ายินดีแต่อาจยังไม่น่า "ภูมิใจ" นัก เพราะอาจจะเป็นการทำกำไรเพียงครั้งคราว หน้าที่ของ Value Investor จึงต้องเสาะแสวงหากิจการที่ "ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ" ในราคาปัจจุบันว่ามีส่วนต่างความปลอดภัย (Margin of Safety) มากน้อยเพียงใด หากผ่านเกณฑ์หรือเงื่อนไขลงทุนของตนก็ซื้อและถือไว้ให้นานที่สุด
สุดยอด VI พันธุ์แท้ หรือ "VI สายดำ" นั้น ล้วนหมั่นฝึกฝนวิชาการลงทุนทั้งด้านปรัชญา แนวคิด แนวทาง จิตวิทยาการลงทุน และวิถีการใช้ชีวิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลตอบแทนที่ "ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ" ในการลงทุนนั่นเอง
.