http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-08-01

นายในและแม่พลอย, รอยลิปสติก โดย ทราย เจริญปุระ

.


นายในและแม่พลอย
โดย ทราย เจริญปุระ charoenpura@yahoo.com  คอลัมน์ รักคนอ่าน
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1666 หน้า 80


1.
ฉันได้สัมภาษณ์ผู้เขียนบทความเชิงสารคดีคนหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ 
คำถามหนึ่งที่ฉันมักจะตั้งเอากับผู้ที่เขียนงานในเชิงนี้แทบทุกครั้งทุกคนก็คือ 
"ไม่รู้สึกหรือว่าประวัติศาสตร์เป็นเรื่องแช่แข็ง"
มันคือสิ่งที่ผ่านไปแล้ว มันมีเพียงข้อมูลเอาไว้ให้ท่องจำ

คนที่ฉันถามล่าสุดตอบมาได้อย่างน่าสนใจมาก
ว่า "มันอาจดูแช่แข็งและตายตัวหากเรามองจากด้านของเราเพียงด้านเดียว
วีรบุรุษไม่อาจเป็นวีรบุรุษได้ในสายตาทุกคน 
การกระทำบางอย่างมีคุณแต่กับคนบางกลุ่ม

วาทกรรมบางชนิดใช้ได้แค่กับบางยุคสมัย 
และประวัติศาสตร์ควรได้รับการอ่าน สอดส่อง และตั้งคำถามให้รอบด้านอยู่เสมอ

นี่คือใจความหลักๆ ที่เราได้คุยกันในวันนั้น


2.
ฉันได้อ่านบทความที่น่าสนใจบทความหนึ่งผ่านทางมิตรสหายในโลกโซเชี่ยล เน็ตเวิร์ก 
บทความ นี้มีชื่อว่า ""นายใน" ชีวิตทางสังคมชายล้วนและเพศภาวะในพระราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว" ของ ชานันท์ ยอดหงษ์

บทความนี้ว่าด้วยการปะทะกันของความรักระหว่างผู้ชายใน "เสือป่า" กับ "คณะ ร.ศ.130"
เรื่องที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวกัน ก็ถูกนำมาวิเคราะห์ ตีความ หาข้อมูลเพิ่มเติมและเชื่อมโยงกันได้อย่างน่าสนใจ 
มันเป็นเรื่องของสิ่งที่เคยๆ มีมาและอาจถูกพูดถึงเพียงผ่านๆ ในภาพรวมของสังคมในยุคนั้น โดยที่ไม่ได้เจาะจงไปในหัวข้อนี้เป็นพิเศษ

ผู้เขียนยกเอาข้อมูลและข้อความจากหนังสือต่างๆ ที่สามารถหาอ่านได้จริง (แม้ว่า อาจไม่แพร่หลายและต้องใช้ความพยายามในการหาอ่านอยู่พอสมควร) มาประกอบในบทความ 
ฉันอ่านด้วยความสนใจอย่างยิ่ง แต่ก็เชื่อด้วยว่าจะมีใครหลายคนอ่านด้วยความรู้สึกไม่สบายใจ ในแง่ที่ว่า มันพาดพิงไปถึงใครบ้างหรือเปล่า
เรากำลังก้าวไปแตะต้องเรื่องที่ไม่ควรหรือเปล่า หรือเรื่องแบบนี้ไม่เห็นเกี่ยวกันเลย หรือรู้แล้วจะได้อะไรขึ้นมา


แต่ข้อมูลก็คือข้อมูล 
ความรู้ก็คือความรู้  
และสิ่งที่ซุกซ่อนอยู่เบื้องหลังการแสดงออกหรือจัดตั้งอะไรบางอย่างที่อาจจะผ่านยุคพ้นสมัยเราไปแล้วก็ไม่ใช่เรื่องควรหลงลืม 

ตรงกันข้าม, เมื่อผ่านพ้นยุคนั้นมาแล้วเรายิ่งควรจดจำรำลึก และมีข้อมูลพร้อมทั้งบทสรุปมากพอที่จะวิเคราะห์มันออกมาได้ด้วยซ้ำ
ไม่ได้ตัดสิน 
เพราะคำว่าตัดสินเป็นคนละเรื่องกับการวิเคราะห์และครุ่นคิดอย่างที่บทความนี้ได้กระทำ


3.
ฉันได้อ่านบทสัมภาษณ์ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่เคยนำมาลงไว้ในนิตยสาร "ถนนหนังสือ" ตั้งแต่ปี 2528** 
และถูกนำมาเผยแพร่ต่ออีกครั้งผ่านทางฐานข้อมูลที่เข้าถึงได้ง่ายและกว้างขวางมากขึ้นคือทางอินเตอร์เน็ต

ท่านได้ให้สัมภาษณ์ไว้ถึงนวนิยายเรื่อง "สี่แผ่นดิน" ซึ่งเป็นผลงานอมตะของท่าน และใครหลายๆ คนก็มีแม่พลอยเป็นนางเอกในดวงใจ
สี่แผ่นดินว่าด้วยการเปลี่ยนผลัดแผ่นดินที่แม่พลอยได้อยู่ร่วมถึงสี่ครั้ง 
ความงดงามแบบไทยบวกกับเรื่องสังคมวัฒนธรรมในแต่ละยุค 
ผูกร้อยเข้ากับสิ่งละอันพันละน้อยทั้งข่าวซุบซิบ และความเปลี่ยนแปลงสำคัญหลายๆ ครั้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ร้อยเรียงเข้าด้วยกันอย่างสนุกสนานเพลิดเพลินด้วยภาษาอันเป็นเอกลักษณ์ของ อาจารย์หม่อม 

ท่านพูดถึงแม่พลอยแห่งสี่แผ่นดินของท่านไว้ดังนี้
(คำถาม) ที่ใช้แม่พลอยเดินเรื่องนี่ต้องการให้เห็นเรื่องสิทธิของผู้หญิงว่าค่อยมีมากขึ้นหรือเปล่า 
"ไม่จริงเลย แม่พลอยเป็นคนที่ไม่มีสิทธิของผู้หญิงเลย ไม่เคยเรียก ไม่เคยร้อง แล้วแม่พลอยนี่เป็นคนเชยที่สุด คุณจะว่านางเอกก็นางเอก แต่เป็นคนเชยที่สุด แม่พลอยถ้าแกอยู่มาจนถึงทุกวันนี้แกก็ลูกเสือชาวบ้าน แกจะไปรำละครบ้าๆ บอๆ ถึงขนาดนั้น (ฮา) 
แม่พลอยเป็นคนเชยมากนะครับ เป็นคนอยู่กรอบ ใจดี ถูกจับคลุมถุงชนแต่งงานก็หลงรักคุณเปรมได้ ตามคติโบราณนั้นไม่เป็นไรหรอก แต่งไปก่อนแล้วรักกันเองทีหลัง แม่พลอยเป็นอย่างนั้นทุกอย่าง ทีนี้คนอ่านคนไทยปลื้มอกปลื้มใจเห็นแม่พลอยเป็นคนประเสริฐเลิศลอยก็เพราะคน ไทยก็เป็นคนแบบนั้น ยังไม่ได้ไปถึงไหนเลย คนอ่านส่วนมากก็เป็นคนระดับแม่พลอยเท่านั้น (หัวเราะ) โง่ฉิบหายเลยจะบอกให้ สี่แผ่นดินถึงได้ดัง (หัวเราะ)"

ก็แปลกดี ที่ปกติคนมักชมแม่พลอยเสียจนแฟนคลับแม่ช้อยอย่างฉันชักจะน้อยใจ ว่าเรื่องจุดเด่นของแม่ช้อยฉันเธอไม่น่ารัก พูดตรง และมีไหวพริบ มีน้ำใจพอจะสู้แม่พลอยได้เชียวหรือ แต่พอมาอ่านคำสัมภาษณ์ของอาจารย์หม่อมแล้วฉันก็ยิ้มแย้ม พร้อมกับเกิดเอ็นดูแม่พลอยขึ้นมาทันที 
ยกมาแค่นี้คนอ่านคงตกอกตกใจ ว่าอะไรกันหนอนี่ ทำไมอาจารย์หม่อมช่างใจร้ายกับแม่พลอยเสียเหลือเกิน

นี่ก็อาจเป็นข้อเสียของการยกอะไรมาให้อ่าน มาตอบคำถามกันลุ่นๆ ก็ได้  
มีให้เห็นแค่นี้ เราก็อ่านและเข้าใจกันแค่นี้ อาจไม่มีเวลาไปตามอ่านต่อ 
อาจไม่มีความพยายามจะสืบหา อาจโมโหโกรธาจนไม่มีกะใจ 
 

ฉันคิดว่าอาจารย์หม่อมแกไม่ได้ใจร้ายอะไรหรอก 
มันเป็นเรื่องของการเขียนนิยายเรื่องหนึ่ง แล้วแกก็อธิบายเท่านั้นเอง 
ประเด็นคือเวลาคนแบ่งปันให้อ่านกันต่อๆ ก็มักจะมาแค่คำตอบของอาจารย์หม่อมท่อนนี้แบบสั้นๆ แล้วก็จะมีคนตบอกผลุงด้วยความตื่นตะลึง 
ว่าของที่รัก ที่ดีงามของพวกเขาทำไมถูกถอดค่าถอดเครื่องลงมาเป็นผู้หญิงเชยล้าหลังขนาดนี้ได้

แม่พลอยเธอเป็นคนตัวอย่าง เป็นหญิงไทยเสงี่ยมงาม เธอเป็นคนน่ารัก แต่เธอคงอยู่ในโลกใบนี้ยากหากต้องอยู่เพียงลำพัง 
อ่านไปอ่านมาก็ยังติดใจกับสิ่งที่อาจารย์หม่อมสัมภาษณ์ไว้ในครั้งเดียวกันกับที่พูดถึงแม่พลอย คำตอบนี้ยังคงวนเวียนอยู่ในใจฉัน 
"คนไทยนั้นหลอกง่าย เขียนหนังสือหลอกง่าย อยากมีชื่อมีเสียงง่ายที่สุดคนไทยนี่ ขอให้ไทยดี ไทยเก่ง รักชาติไทยพอแล้ว อะไรเป็นชาติไทยหมด ชกมวยก็เป็นชาติไทย

ทั้ง 3 สิ่งนี้ เกิดขึ้นกับฉันในช่วงเวลาเดียวกัน 
ช่วงเวลาของสัปดาห์ที่มีการวิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์ และตัดสินผลคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ



* * * * * * * * * * * * * * *
* บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ ชื่อ ""นายใน" ชีวิตทางสังคมชายล้วนและเพศภาวะในพระราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว" ของ ชานันท์ ยอดหงษ์ 
อ้างอิงจากบทความตามลิงค์นี้ ผู้ที่สนใจสามารถอ่านได้ค่ะ 
http://www.seaconsortium.net/autopagev4/show_page.php?topic_id=426&auto_id=5&TopicPk=181

** อ้างอิงจากบทสัมภาษณ์นี้ สามารถหาอ่านได้ตามลิงก์เช่นกันค่ะ 
http://tuktaravin.wordpress.com/2012/04/20/คึกฤทธิ์คิดลึก-ทศกัณฐ์ว/ 
หรือ  http://tuktaravin.wordpress.com/2012/04/20/%E0%B8%84%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B9%8C%E0%B8%84%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%A5%E0%B8%B6%E0%B8%81-%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%93%E0%B8%90%E0%B9%8C%E0%B8%A7/



++

รอยลิปสติก
โดย ทราย เจริญปุระ charoenpura@yahoo.com  คอลัมน์ รักคนอ่าน
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1667 หน้า 80


ฉันไม่ชอบทาลิปสติก 
มันมักจะทิ้งรอยไว้ตรงนั้นตรงนี้ เหนอะหนะน่ารำคาญ
มันทิ้งร่องรอยเอาไว้ฟ้องว่าฉันหลงใหลในสิ่งใด ติดตรึงกับสิ่งใด และวนเวียนอยู่กับสิ่งใด 
ก้นบุหรี่ แก้วกาแฟ ปลายเล็บ 
สิ่งละอันพันละน้อยที่ฉันอ่อนแอเกินกว่าจะอยู่ห่างจากมัน


เราไม่กล้าหนีห่างกันไกลเกินไปนัก 
เราต่างไม่ไว้ใจตัวเองมากพอ 
ทั้งที่เหมือนจะทำใจได้ ทั้งที่ต่างก็ตกลงกันไว้แล้ว และเราต่างก็รู้ดี 
แต่เราก็ยังจะฝืน

กับเรื่องความรักความหลงนี่
ไม่ว่าใครก็คงจะขอพยายามดูสักครั้งจนฉันเคยคิดว่า
ถ้าเราสามารถบังคับตัวเองให้ฝืนทำเรื่องอื่นๆ ในชีวิตได้ทุ่มเทเท่าๆ กับที่เรายินดีจะทำเพื่อคนรักและความรักแล้ว 
โลกนี้คงไม่ต้องมีรางวัลโนเบล

และไอน์สไตน์คงเป็นคนธรรมดา
เพราะเราทุกคนคงคิดและทำอะไรพิเศษ ยิ่งใหญ่ ก้าวหน้ากันได้ทุกคน



เราทิ้งโลกรอบๆ ตัวไป 
ไม่มีเราซักคนมันก็จะยังคงหมุนต่อไปได้ 
สิ่งที่ต้องทำในแต่ละวันเป็นเพียงกิจกรรมหนึ่ง 
เพื่อนของเธอยังมีอยู่ เรื่องของเธอยังมีอยู่
งานของฉันยังมีอยู่


แต่มันก็แค่อยู่ตรงนั้น
เราไม่ใช่ทุกอย่างของกันและกัน


เราไม่ชอบคุยกัน 
อย่างน้อย, ฉันก็รู้สึกอย่างนั้น 
วันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร, เราไม่มีทางรู้ 
เราจึงไม่คุยกัน
อดีตที่ผ่านมาของเราเต็มไปด้วยชีวิตที่ใช้ร่วมกับผู้อื่น
เราจึงไม่คุยกัน

แต่ฉันก็ยังชอบอยู่กับเธอ 
นั่งมองดูเธอเปลี่ยนผันเรื่องราวรอบตัวให้พ้นผ่านไปในแต่ละคืน 

โดยมีฉันเป็นผู้สังเกตการณ์ และกอดเกี่ยวเก็บเรื่องราวเหล่านั้นเอาไว้กับตัว  
เผื่อในบางวันที่ฉันคงต้องอยู่คนเดียว 
หรือบางคืนที่ฉันอยากเปลี่ยนฝนให้ตกลงมาเป็นความทรงจำ


เราเป็นเหมือนเด็กที่เงอะงะงุ่มง่ามในความสัมพันธ์ 
มันไม่ใช่ความลุ่มหลง เราเลยพ้นวัยที่จะรักกันแบบลูกหมาไปไกลมากแล้ว 
อดีตของเราต่างก็มีค่าควรจดจำ 
และทั้งที่เราต่างก็รู้ดีว่าเราจะไม่มีอนาคตร่วมกัน 
เราก็ยังคงพยายามแบ่งปันห้วงขณะของวันเวลาที่กำลังเกิดขึ้นต่อหน้า



เธอไม่ใช่รักแรก 
นี่ไม่ใช่อาการแรกรัก 
แต่เราแลกสิ่งที่เรากำลังเป็นอยู่ 
ความมึนเมาและสายตาอันพร่าพรายไปด้วยละอองไออันหมอกมัวนี้ด้วยบางสิ่งที่ฉันจะเรียกของฉันเองว่า, ความรัก


ฉันบอกไปแล้วใช่ไหมว่าฉันไม่ชอบทาลิปสติก 
มันเป็นเครื่องหมายของความอ่อนแอ 
มันทำให้โลกรู้ว่าฉันเสพติดสิ่งใดบ้าง 

และร่างกายของเธอไม่มีพื้นที่พอสำหรับรอยลิปสติกของฉัน 
มันจะเป็นเช่นนั้นเสมอ
ตลอดไป


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

“แรกรัก” ( L’amant ) เขียนโดย มาร์เกอริต ดูราส์  แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษโดย อินทิรา  ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5, มีนาคม 2540 โดยสำนักพิมพ์สมิต  



.