http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-08-03

ตีความให้เข็ด, มึน, ตลกโปกฮา, มาร์ครู้ดีที่สุด ในคอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

.
คอลัมน์ ชกไม่มีมุม - ส.ส.ปชป.พูดถูก โดย วงค์ ตาวัน
คอลัมน์ ชกไม่มีมุม - ประชาธิปไตยและไฟใต้ โดย วงค์ ตาวัน


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ตีความให้เข็ด
โดย มันฯ มือเสือ  คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์  วันศุกร์ที่ 03 สิงหาคม พ.ศ. 2555 เวลา 00:25 น.


ระดับความมึนงงต่อคำวินิจฉัยศุกร์ 13 ของศาลรัฐธรรมนูญ 
ไม่ได้ลดน้อยลง 
แม้ต่อมาจะมีการคลอดคำวินิจฉัยกลางและคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการทั้ง 8 ออกมาแล้วก็ตาม
โดยเฉพาะผู้ที่เคยบอกว่าให้รออ่านคำวินิจฉัยกลาง
เพราะเชื่อว่าจะเป็นตัวช่วยคลี่คลาย ขยายความลึกลงไปในรายละเอียดเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า อะไรคือสิ่งที่ต้องทำ อะไรคือสิ่งที่ทำได้ อะไรทำไม่ได้
ปรากฏว่าเก้อไปตามๆ กัน

เนื่องจากเนื้อหาของ คำวินิจฉัยกลางไม่ได้มีอะไรพิเศษไปจากคำวินิจฉัย ศุกร์ 13 
นั่นก็เรื่องหนึ่ง
กระทั่งต่อมามีการเปิดเผยคำวินิจฉัยส่วนตนออกมาภายหลัง

นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีการายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า 
เป็นคำวินิจฉัยที่ขัดแย้งกันเองเนื่องจากมีคำวินิจฉัยที่ชัดเจน 4 คน อีก 4 คนไม่มีการวินิจฉัย


นายสมฤทธิ์ ไชยวงศ์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญแจกแจงคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการทั้ง 8 คนว่า แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ 4 ต่อ 4
กลุ่มแรก ประกอบด้วย นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ นายชัช ชลวร นายบุญส่ง กุลบุปผา และ นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ที่เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เป็นอำนาจของรัฐสภา 
จะแก้ทั้งฉบับหรือรายมาตราก็ได้

ส่วนอีก 4 คนตามรายชื่อที่เหลือคือ นายจรูญ อินทจาร นายเฉลิมพล เอก อุรุ นายนุรักษ์ มาประณีต และนายสุพจน์ ไข่มุกด์ มีความเห็นว่า
ไม่สามารถแก้ทั้งฉบับได้

"หากถามว่าจะต้องฟังเสียงทางไหน ต้องไปดูตามคำวินิจฉัยกลาง"
ผลของความคลุมเครือ ที่ไม่น่าจะคลุมเครือแต่ก็คลุมเครือนี้เอง 
ทำให้รัฐบาลในฐานะผู้ปฏิบัติไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าจะทำอย่างไรต่อกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะขืนทำอะไรสุ่มสี่สุ่มห้ามีหวังจอดไม่ต้องแจว

นอกจากนี้ยังมีผู้เสนอ
ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความคำวินิจฉัยตัวเองเสียให้เข็ด



++

มึน
โดย คาดเชือก คาถาพัน คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์  วันพุธที่ 01 สิงหาคม พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.


ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่คำวินิจฉัยส่วนตัวในคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญออกมาตั้งแต่เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว 
เชื่อว่าคงมีคนจำนวนไม่น้อยได้อ่านทั้งฉบับเต็ม และน่าจะมีคนจำนวนมากกว่าอ่านบทสรุปย่อจากที่ต่างๆ
รวมทั้งจาก "ข่าวสด" ด้วย

ในจำนวนผู้อ่านคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอย่างเอาจริงเอาจังนั้น มีนักกฎหมายดาวรุ่งอย่างอาจารย์วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ รวมอยู่ด้วย
อ่านเสร็จแล้วก็สรุปให้คนที่เชี่ยวชาญกฎหมายน้อยกว่า ได้เข้าใจคำวินิจฉัยนี้มากขึ้นอย่างง่ายๆ ว่า
อ่านไปมึนไปกับคำวินิจฉัยส่วนตัว เพราะไม่สอดคล้องเนื้อหาคำวินิจฉัยกลาง 
เนื่องจากไม่มีตุลาการแม้แต่คนเดียวที่เห็นว่ารัฐสภา "ควร" ทำประชามติถามประชาชนก่อน 

เพราะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ "เสียงแตก" ครับ 
ไม่ใช่เสียงแตกแบบแตกเนื้อหนุ่ม
แต่แตกในสาระสำคัญของการพิจารณา โดยเฉพาะในประเด็นที่ 2 ว่ารัฐสภาสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่นั้น

ตุลาการ 2 คนให้แก้ได้แต่ต้องทำประชามติก่อน
อีก 2 คนบอกทำไม่ได้ 
อีก 1 คนให้ทำได้
ส่วนที่เหลืออีก 3 เสียง ระบุศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยประเด็นนี้

ฟังแล้วก็พลอยมึนตามอาจารย์วีรพัฒน์ไปด้วย 
เพราะถ้าประเด็นว่า "ควร" ทำประชามติ หรือต้องไปแก้ไขเป็นรายมาตราในคำวินิจฉัยกลางไม่รู้เหาะมาจากไหน? 
ก็ต้องถามต่อว่าแล้วจะมีผลผูกพันในทางกฎหมายมากน้อยแค่ไหน

เมื่อศาลไปเปิดกว้างในประเด็นที่ 1 เอาไว้เสียแล้วว่า มีอำนาจหน้าที่ในการ "พิทักษ์รัฐธรรมนูญ" อย่างเต็มที่ 
ถ้ารัฐสภาไปทำในสิ่งที่ไม่ตรงกับ "คำแนะนำ" แล้วเกิดมีคนมาร้องซ้ำ 
ถามว่าตุลาการรัฐ ธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไรในคราวหน้า
ไม่มีใครตอบได้

ถึงบอกว่า-มึน

หลักกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายที่ดี คือต้องทำให้ทุกคนเข้าใจไปในทางเดียวกัน 
ถ้าทำให้ชาวบ้านมึนหนักขึ้นเรื่อยๆ 
จะเรียกว่ากฎหมาย หรือกฎ....ดี?



++

ตลกโปกฮา
โดย สมิงสามผลัด  คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์  วันพฤหัสบดีที่ 02 สิงหาคม พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.


การสวมเสื้อแดงขึ้นเวทีปราศรัยของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อวันก่อน 
สร้างความฮือฮาให้กลุ่มต่อต้านรัฐบาล
เพราะผู้นำฝ่ายค้านต้องการดึงให้คนเสื้อแดงร่วมต่อต้าน พ.ร.บ.ปรองดอง
แต่สำหรับคนเสื้อแดงแล้วมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ

นางธิดา โตจิราการ ประธาน นปช. ถึงกับบอกว่า "นายอภิสิทธิ์คงเพี้ยนไปแล้วจนไม่รู้ว่าตอนนี้ตัวเองเป็นใคร การที่เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แล้วทำแบบนี้เหมือนมาเล่นตลกให้คนดู
ประธาน นปช.ยังระบุว่า เป็นการแสดงให้เห็นว่านายอภิสิทธิ์ไม่รู้จักภาระหน้าที่ของตัวเองว่าควรทำอย่างไร เพราะการออกสู่สาธารณะต้องแสดงบทบาทของหัวหน้าพรรคการเมืองอย่างมีเหตุผล  
"หัวหน้าพรรคที่ไหนจะมาทำแบบนี้ และการที่มายุคนเสื้อแดงให้ต้านร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง เขาก็ไม่ควรใช้วิธีการแบบนี้ เพราะไม่ใช่วิธีของพรรคการเมือง เคยแนะไปแล้วว่า ถ้าอาการเกินเยียวยาก็ไม่น่ามาเป็นหัวหน้าพรรค แต่ควรไปเล่นตลกหรือระบำเปลื้องผ้าแทน"


หากจำกันได้ เมื่อไม่นานมานี้เอง นายอภิสิทธิ์เคยปราศรัยบนเวที ทำท่าทางยกมือยกไม้แล้วพูดว่า "กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ" เลียนแบบ จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย 
เรียกเสียงฮากันตรึมทั้งประเทศ 
ล่าสุดก็ปล่อยมุข "แดงเทียม" ซะงั้น 
ฮายกกำลัง 2 จริงๆ 
เลิกเล่นการเมืองเมื่อไหร่ รับรองไม่ตกงานแน่นอน 

แต่ก็มีหลายคนวิเคราะห์กันว่านายอภิสิทธิ์ยอมลงทุนสวมเสื้อแดง 
หวังกลบข่าวที่กำลังฮอต 
เพราะเพิ่งโดน รมว.กลา โหมงัดเอกสาร "ต้นขั้ว" ออกมาเปิดโปงเรื่องใช้เอกสารปลอมสมัครเป็นอาจารย์ ร.ร. นายร้อยจปร.

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรฯ ไม่ยอมให้ผ่านไปง่ายๆ 
เรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ใส่ชุดทหารเกณฑ์ขึ้นเวทีบ้าง 
เพื่อสื่อถึงลูกชาวนา-ลูกคนมั่งมีว่าต้องเกณฑ์ทหารเหมือนกัน 

จัดหนักจัดเต็ม เอาคืนแบบทันควันจริงๆ



++

มาร์ครู้ดีที่สุด
โดย สมิงสามผลัด คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
ในข่าวสดออนไลน์  วันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.


นับว่าเป็นการตรวจสอบที่ยาวนานเหลือเกิน 
กรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถูกกล่าวหาว่าหนีทหาร 
เพราะเรื่องนี้มีการตรวจสอบกันเมื่อ 13 ปีก่อน

นายกมล บันไดเพชร เป็นผู้ร้องให้สอบสวนการเข้ารับราชการทหารของนายอภิสิทธิ์ตั้งแต่สมัยรัฐบาล นายกฯชวน หลีกภัย เมื่อปี 2542
ต่อมาเมื่อปี 2551 นายจตุพร พรหมพันธุ์ ก็เคยปราศรัยในสภา กล่าวหานายอภิสิทธิ์หลบเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร ซึ่งมีการฟ้องร้องหมิ่นประมาทอยู่ในการพิจารณาคดีในชั้นศาลอยู่ในตอนนี้  
และล่าสุดพล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีนายอภิสิทธิ์สมัครเข้ารับราชการทหารโรงเรียนนายร้อย จปร. โดยไม่ชอบด้วยระเบียบและกฎหมาย


มีการส่งหลักฐานทั้งหมดให้ผู้ตรวจการแผ่นดินไปเมื่อวันที่ 10 ก.ค.นี้เอง 
สรุปแบบเข้าใจง่ายๆ คือหลักฐานใบสำคัญทางทหารของนายอภิสิทธิ์มีข้อน่าสงสัย

โดยเฉพาะหลักฐานต้นขั้วใบสำคัญ สด.9 ฉบับจริง ลงวันที่เข้าบัญชีทหารกองเกิน 4 ก.ค.2529 แต่ใบ สด.9 แทนฉบับที่ชำรุดสูญหาย กลับลงวันที่ 8 เม.ย.2531 
ใบแทนกำกับวันเวลาแตกต่างกับฉบับต้นขั้ว !? 
จึงส่งผลให้การขึ้นทะเบียนทหารกองประจำการไม่ถูกต้องไปด้วย

ด้านนายอภิสิทธิ์ไม่อธิบายรายละเอียด บอกแค่ว่าเป็นเรื่องเก่า เคยชี้แจงต่อสภาไปแล้ว
จะมีก็แต่นายศิริโชค โสภา ออกมาตอบโต้แทน ระบุว่า ป.ป.ช.เคยตรวจสอบเรื่องนี้เมื่อปี 2553 สรุปว่าไม่มีการใช้เอกสารเท็จ 
พร้อมงัดหลักฐาน ใบ สด.41 และ สด.20 ออกมายืนยันว่านายอภิสิทธิ์ได้รับการผ่อนผันจริง
พยายามบอกว่าเรื่องการตรวจสอบครั้งนี้ เป็นเกมการ เมืองของรัฐบาล


ใครของจริงหรือใครของปลอม 
เชื่อว่าอีกไม่นานก็ต้องมีการพิสูจน์ให้ชัดเจน ให้สังคมหายคลางแคลงใจ 
ต้องไม่ลืมว่าประเด็นไม่ใช่อยู่ที่ว่าเป็นเรื่องเก่าหรือเรื่องใหม่

แต่อยู่ที่ว่ามีการใช้ "เอกสารปลอม" จริงหรือเปล่า 
และคนที่รู้ดีที่สุดก็คือนายอภิสิทธิ์นั่นเอง



+++

ส.ส.ปชป.พูดถูก
โดย วงค์ ตาวัน  คอลัมน์ ชกไม่มีมุม
ในข่าวสดออนไลน์  วันศุกร์ที่ 03 สิงหาคม พ.ศ. 2555 เวลา 00:28 น.


บ่ายวันที่ 1 สิงหาคม ในระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดพิเศษ ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นเปิดการประชุมรัฐสภาสมัยสามัญทั่วไป ได้มีการหยิบยกการเลื่อนพ.ร.บ.ปรองดองขึ้นมาถกเถียงกัน 
ระหว่างนั้นนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน ได้กล่าวตอนหนึ่งในการอภิปราย เตือนรัฐบาลทำนองว่า จะนำไปสู่เหตุการณ์วุ่นวายในบ้านเมืองอีก
"ถ้าเกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ย่อมหนีไม่พ้นความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรี"
นั่นคือคำพูดอันหนักแน่นน่านับถือและต้องจดจำจารึกไว้จากปากส.ส.ประชาธิปัตย์

ไม่รู้ว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯในช่วงปี 2553 ฟังแล้วรู้สึกอะไรไหม 
ฟังแล้วยิ้ม ฟังแล้วสะใจ หรือฟังแล้วสะดุ้งโหยง แทบตกเก้าอี้!?


นายจุรินทร์เตือนนายกฯทุกคน นายกฯคนปัจจุบันและย่อมรวมถึงนายอภิสิทธิ์ นายกฯสมัยปี 2553 ด้วย
ฟังแล้วเห็นด้วยไหม 
กระตุ้นต่อมสำนึกได้บ้างไหม

เพราะเหตุการณ์ 10 เมษายน - 19 พฤษภาคม 2553 ลงเอยมีคนตาย 98 ศพ บาดเจ็บกว่า 2 พันรายนั้น  
นายกฯขณะนั้น ยังไม่รับผิดชอบอะไรเลย 
ท่านส.ส.จุรินทร์ต้องช่วยย้ำเตือนบ่อยๆ เผื่อนายกฯ คนนั้นจะเริ่มมีความรับผิดชอบขึ้นบ้าง !


ในด้านข้อเท็จจริงแห่งคดี ใครสั่งการ จนมีคนล้มตายมากมาย เอาไว้รอการไต่สวนชั้นศาลตามกระบวนการยุติธรรมก็ได้ ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินอยู่ราว 20 สำนวนคดี 
แต่ความรับผิดชอบของนายกฯขณะควบคุมดูแลสถานการณ์ อันนี้เป็นความรับผิดชอบอันดับแรก เป็นความรับผิดชอบทางการเมืองซึ่งอยู่เหนืออื่นใด ซึ่งเป็นถ้อยคำที่นายอภิสิทธิ์ชอบพูดบ่อยๆ
ในฐานะผู้รับผิดชอบในการดูแลบ้านเมือง ต้องมีหน้าที่สำคัญในการหาทางคลี่คลายสถานการณ์ให้ลงเอยอย่างสันติวิธี
บางครั้งถึงขั้นนายกฯจำเป็นต้องลาออกเพื่อรักษาชีวิตประชาชนเอาไว้
นักการเมืองที่เปี่ยมด้วยความรับผิดชอบ เขาทำกันทั้งนั้น!

แต่เมื่อไม่สามารถทำให้สถานการณ์จบอย่างสันติ ลงเอยมีความรุนแรง 
มีเจ้าหน้าที่รัฐใช้อาวุธจริงเข้ามาปฏิบัติการ แทนที่จะเป็นตำรวจปราบจลาจลแก๊สน้ำตา กระสุนยาง ตามหลักสากล

แล้วประชาชนที่ชุมนุมทางการเมืองตามสิทธิประชาธิปไตยต้องตายถึง 98 ศพ
เพียงแค่นี้ก็ต้องรับผิดชอบแล้ว 
เป็นไปตามที่นายจุรินทร์กล่าวในสภาเมื่อบ่ายวันที่ 1 สิงหาคมนั่นเอง !



+++  

ประชาธิปไตยและไฟใต้
โดย วงค์ ตาวัน  คอลัมน์ ชกไม่มีมุม 
ในข่าวสดออนไลน์  วันอังคารที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น. 


จากข้อมูลของศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศวชต.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่พบว่าปี 2555 ตั้งแต่ต้นปีจนถึง 15 ก.ค. มีเหตุการณ์ความไม่สงบ 476 ครั้ง ถือว่าลดลงจากปี 2554
เฉพาะเดือนม.ค.-มิ.ย.ของปี 2554 มีถึง 511 ครั้ง

เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า นโยบายหลายๆ อย่างที่นำมาใช้ใหม่ในยุคนี้ ช่วยให้เริ่มดีขึ้น 
แต่เมื่อเพิ่งเริ่ม ย่อมไม่ทำให้เหตุการณ์สงบฮวบฮาบทันตาเห็น 
ทำนองยังดุเดือดรุนแรง แต่ก็เริ่มลดความถี่ลง

จากข้อสังเกตของนายปิยะ กิจถาวร รองเลขาธิการ ศอ.บต.ชี้ว่า การที่รัฐมีนโยบายเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ จากเหตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ ถือเป็นหน้าที่ทางมนุษยธรรมที่รัฐต้องดูแลประชาชน  
แต่ก็อาจช่วยลดเงื่อนไขความเคียดแค้นชิงชังที่เกิดขึ้นกับประชาชนใน 3 จังหวัดให้ทุเลาลง! 

น่าจะเป็นข้อสังเกตที่อยู่บนพื้นฐานความจริง 
การยอมรับผิดของรัฐบาลชุดนี้และลงมือบรรเทาความเสียหาย เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง 
ลดเงื่อนไขไฟก่อการร้ายได้บางส่วนอย่างแน่นอน

แต่เฉพาะหน้านี้ เมื่อยังมีกลุ่มก่อความไม่สงบเคลื่อนไหวอยู่ มาตรการสืบสวนหาข่าว เพื่อป้องกันเหตุก็ยังจำเป็น 
ป้องกันให้ได้ ย่อมดีกว่าปล่อยให้เกิดเหตุแล้วไปไล่ล่าตามจับ 
ยิ่งถ้าพลาดจับผิดคน จะยิ่งไปกันใหญ่!


อีกส่วนหนึ่งที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เห็นจะเป็นนโยบายของรัฐบาลนี้ ในการผลักดันเขตปกครองท้องถิ่นพิเศษ ยังไม่อาจเป็นจริงได้ง่าย 
ทั้งที่นักวิชาการนักคิดในพื้นที่ภาคใต้ เชื่อว่านี่แหละถูดจุดที่สุด ดับไฟใต้ได้อย่างแท้จริง 
เพราะการยอมรับสิทธิของคนในพื้นที่ การยอมรับอัตลักษณ์ของท้องถิ่น 
เป็นจุดสูงสุดของจิตวิญญาณมนุษย์!

แล้วทำไมเขตปกครองท้องถิ่นพิเศษจึงไม่บรรลุง่ายๆ 

ฟังคำชี้แจงในศาลรัฐธรรมนูญของรองนายกฯและรัฐมนตรีมหาดไทยบอกชัดเจน พูดถึงเขตปกครองพิเศษใต้ด้วย 
เพราะรัฐบาลไม่กล้าฝ่าความกังวลของกลุ่มคนที่มีแนวคิดชาตินิยมจัด 
แนวคิดชาตินิยมรัฐไทยต้องเป็นใหญ่ แบ่งแยกเชื้อชาติ หวงแหนอำนาจดั้งเดิม แบบกลุ่มขวาจัดที่ขวางแก้รัฐธรรมนูญนั่นแหละ

ประชาธิปไตยก็ไม่เดิน ไฟใต้ก็ไม่ดับ! 



.