คอลัมน์ ในประเทศ - ลูกบ้า...เที่ยวล่าสุด!?! "จ่าอภิสิทธิ์" สุดเหวี่ยง ใส่"เสื้อแดง"ขึ้นเวที ปชป.
รายงานพิเศษ - มองเกม "สุกำพล" จากประเพณีดูตัว ถึง บี้ "มาร์ค" "ร.ต.อภิสิทธิ์" กับ นายร้อย จปร. และ "มอร์นิ่ง บรี๊ฟ" เวทีปรี๊ด ของบิ๊กตู่
คอลัมน์ โล่เงิน - ก.ตร. ผ่านฉลุย 47 นายพลสีกากี สายการเมืองคุม "ผบช." เก้าอี้หลัก
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
เดินหน้า แก้รัฐธรรมนูญ ผ่านกระบวนการ พรรคร่วมรัฐบาล จังหวะก้าวช้า แต่ “ชัวร์”
รายงานพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 03 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1668 หน้า 8
ผลสะเทือนจากคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม ส่งผลสะเทือนต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน
ทำให้ต้อง "ชะลอ" และ "เลื่อน" ออกไป
คำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเช่นนี้อาจทำให้สบอารมณ์แก่พรรคประชาธิปัตย์และแก่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นอย่างสูง
เหมือนจะเป็น "ผลเสีย" แก่รัฐบาล แก่พรรคเพื่อไทย
กระนั้น ด้วยเวลาอันรวดเร็ว รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยก็รับรู้ต่อผลสะเทือนและตั้งหลักใหม่เพื่อรับมือกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
1 ยอมรับว่าไม่ง่าย
ที่ไม่ง่ายเพราะรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เป็นเสมือนกล่องดวงใจ เป็นผลพวงอันสำคัญยิ่งของรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549
ใครจะยอมให้แก้ได้สะดวกดาย
ขณะเดียวกัน 1 ความเป็นจริงดังกล่าว ทำให้รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยเพิ่มความรอบคอบสุขุมเป็นทวีคูณ
ถอยตั้งหลัก
การประชุมพรรคร่วมรัฐบาลอันประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังชล เมื่อวันอังคารที่ 31 กรกฎาคม สรุปออกมาเป็นมติ
1 ยังเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญตามนโยบายที่แถลงเมื่อเดือนสิงหาคม 2554
ขณะเดียวกัน 1 เพื่อให้จังหวะก้าวในการแก้ไขรัฐธรรมนูญดำเนินไปอย่างมีหลักประกันได้ มีการจัดตั้งคณะทำงานในเรื่องนี้ขึ้นมาโดยเฉพาะ ทำหน้าที่ศึกษาอย่างเป็นระบบทั้งเนื้อหาและแนวทางแก้ไข
คณะกรรมการประกอบด้วย 1. นายโภคิน พลกุล 2. นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา 3. นายอุดมเดช รัตนเสถียร 4. นายภูมิธรรม เวชยชัย 5. นายสามารถ แก้วมีชัย 6. นายวราเทพ รัตนากร 7. นายพีรพันธุ์ พาลุสุข 8. นายพิชิต ชื่นบาน 9. นายชยุต ภุมมะกาญจนะ 10. นายภราดร ปริศนานันทกุล 11. นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล 12. ว่าที่ ร.ต.ประภาส ลิมปะพันธุ์ 13. นายสันต์ศักดิ์ งามพิเชษฐ์
ทั้งนี้ มี นายชูศักดิ์ ศิรินิล นายนิกร จำนง นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล นายคณิน บุญสุวรรณ เป็นที่ปรึกษา
นายโภคิน พลกุล เป็นประธานคณะทำงาน
โดยมี นายวราเทพ รัตนากร เป็นเลขานุการ และ นายพิชิต ชื่นบาน เป็นผู้ช่วยเลขานุการคณะทำงาน
ทำเป็นคณะ
จากมุมมองของผู้ผูกติดกับผลพวงของการรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
ต้องการให้ยุติการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
การเคลื่อนไหวสกัดขัดขวางได้ผลอย่างที่เห็นกันในการพิจารณาวาระ 2 และโดยกระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญ
แต่สำเร็จหรือไม่
ตอบได้ว่าไม่สำเร็จ เพราะนโยบายของรัฐบาลยังเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไปและกระทำด้วยความรัดกุมมากยิ่งขึ้น
ผ่านพรรคร่วมรัฐบาล
++
คอลัมน์ ลึกแต่ไม่ลับ โดย จรัญ พงษ์จีน
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 03 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1668 หน้า 8
ผลจากศึกเลือกตั้งใหญ่ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ซึ่งปรากฏว่า "พรรคเพื่อไทย" พลิกมาเป็นฝ่ายกำชัย และเป็นชัยชนะที่ท่วมท้นเหนือคาดหมาย ทั้งสัดส่วนของ ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อ รวมเบ็ดเสร็จ 262 คน เหนือคู่ปรับตลอดกาลคือ "ประชาธิปัตย์" ที่ได้รับเลือกทั้ง 2 ระบบมาเพียง 160 คน
"เพื่อไทย" จึงผงาดกลับมาเป็นแกนนำฟอร์มรัฐบาลได้อีกคำรบ หลัง "เสียเมือง" ไประยะหนึ่ง ดึง "พรรคร่วม" ประกอบด้วย ชาติไทยพัฒนา 19 เสียง ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน 7 เสียง พลังชล 7 เสียง และดูดพรรคขนาดจิ๋วมาเสริมใยเหล็กอีก 2-3 เสียง ฐานที่มั่นมากเหลือเฟือ 299 เสียง
"ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร " ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้รับการเสนอชื่อจาก 4 พรรค ให้ก้าวสืบขึ้นสู่ทำเนียบนายกฯ โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2554 และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐบาลใหม่ ณ วันที่ 9 สิงหาคม 2554
เท่ากับว่า บัดนี้ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" มือใหม่หัดขับ เป็น ส.ส. สมัยแรก เป็น "ผู้นำหญิง" คนแรกสามารถนำรัฐนาวา ฟันฝ่าอุปสรรคใหญ่ก้าวข้ามพ้น และลบล้างคำสบประมาทไปได้ด้วยดี เข้ามาบริหารจัดการประเทศครบ 1 ปีเต็มแล้ว ในวันที่ 5 สิงหาคมแต่พลันที่นำรัฐนาวา "ยิ่งลักษณ์" พ้นโซนอันตรายได้มิทันไร ก็กลับมาเจอกับ "ด่านหิน" ระลอกใหม่ เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรได้เปิดประชุมสมัยสามัญทั่วไปแล้วในวันที่ 1 สิงหาคม ซึ่งรัฐกำหนดไว้ว่า เป็นสมัยประชุม ที่ "พรรคฝ่ายค้าน" ยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีทั้งคณะ หรือรายบุคคลได้
"ประชาธิปัตย์" แกนนำพรรคฝ่ายค้าน ไม่ปล่อยโอกาสทองครั้งนี้แน่ และส่งสัญญาณมาข่มขวัญแล้วว่า "ศึกซักฟอก" คาบนี้ มุ่งมาดปรารถนาล็อกเป้าหมายใหญ่คือ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" เพียงคนเดียว จะไม่เกี่ยวดองข้องแวะกับรัฐมนตรีคนอื่นๆ
ทั้งนี้ เพราะดังที่รู้กันอยู่ว่า "ยิ่งลักษณ์" เป็นแรกแย้มทางการเมือง ไม่สันทัดจัดเจนกับเกมต่างๆ โดยเฉพาะลีลาในการพูดจาตอบโต้ แก้ข้อกล่าวหา "ละอ่อน" มากๆ
จุดหวังผลของ "ประชาธิปัตย์" คือทำลายเครดิต ไม่ถึงกับก่อองคาพยพให้การเมืองเกิดการเปลี่ยนขั้วกลับข้าง เนื่องจาก "พรรคเพื่อไทย" มีฐานเสียงเป็นของตัวเอง เกินครึ่งอยู่ในมือ
การซักฟอก "ยิ่งลักษณ์" ไม่สามารถเผด็จศึกได้พรรคร่วมทั้ง 3 คงไม่กล้าหือ เนื่องจากมี "ภูมิใจไทย" จากซุ้ม "มัชฌิมาฯ" ยืนรอเสียบอยู่
แต่ประชาธิปัตย์ ต้องการจะโชว์ชื่อชั้น "มวยใหญ่" ให้สมราคา เพราะอ่านหมากทะลุแล้วว่า หากศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ ทำการบ้านมาไม่ดี และ "ผล" ออกมาติดลบ
โอกาสที่ "ยิ่งลักษณ์" จะใช้สูตรลากยาว เพื่อถมประชานิยม มีความเป็นไปได้สูง
พรรคเพื่อไทย ถอยทุกจังหวะ หวังเล่นเกม "ซื้อเวลา" เห็นจะ-จะจากการที่แกนนำนัดถกเพื่อหาทางออกปมแก้ไขรัฐธรรมนูญ-พ.ร.บ.ปรองดอง
ซึ่งปรากฏว่า มีการตัดตัวแกนนำ ที่มีแนวคิดจะดับเครื่องชน ให้ลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 สวนคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้รู้แล้วรู้รอดกันไปข้าง กับ เดินหน้า พ.ร.บ.ปรองดอง
ชะลอเกมแตกหัก โดยให้คงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 เอาไว้ โดยไม่ถอนและไม่มีการทำประชาพิจารณ์ หรือ กรณี พ.ร.บ.ปรองดอง ก็ไม่นำเข้า หรือถอนร่างเช่นเดียวกัน ให้คงไว้ อ้างว่า สังคมยังมีความสับสน และมีความขัดแย้งกันอยู่
สาเหตุที่ "เพื่อไทย" ผ่อนเกม ทั้ง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ และแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ทั้งๆ ที่ว่ากุมเสียงข้างมากในสภา และเป็นนโยบายหลักที่ประกาศไว้ตอนหาเสียงเลือกตั้ง
หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า เป้าหมายใหญ่เพื่อให้สถานการณ์การเมืองนิ่ง และคุมเกมได้ เพื่อประคับประคองรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" ขับเคลื่อนนโยบายประชานิยม ไปให้เนิ่นนานที่สุด
หลังเสร็จศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว "เพื่อไทย" จะเดินสายเปิดเวทีปราศรัยใหญ่ทั่วประเทศ หวังทำความเข้าใจกับประชาชนทุกพื้นที่ เกี่ยวกับ พ.ร.บ.ปรองดอง และ แก้ไขรัฐธรรมนูญ
โอกาสเดียวกันนั้น จะโหนสถานการณ์ปราศรัย ทำลายความน่าเชื่อถือของพรรคประชาธิปัตย์
"ประชานิยม" ที่รัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" เตรียมไว้ยิงสลุตมีอยู่เต็มไปหมด และถมลงทุกภาคส่วน
ศึกซักฟอก ซึ่งเพื่อไทยคาดหมายว่า ประชาธิปัตย์ จะลงมือในช่วงต้นเดือนกันยายน ก็เข้าจังหวะกับการปรับคณะรัฐมนตรี "ปู 3" พอดิบพอดี
เดิมที "พี่ใหญ่" ใจร้อนเร่งจังหวะปรับ ครม. ช่วงหลังวันคล้ายวันเกิด 26 กรกฎาคม ซึ่งขึ้นบัญชีไว้เรียบร้อยแล้วว่า ใครเข้าใครออก
ธงเดิมจะให้ ประชากรบ้านเลขที่ 111 มาช่วยแก้เกมศึกซักฟอก เพราะหลายคนสันทัด
แต่ "ยิ่งลักษณ์" ไม่เห็นด้วย อ้างว่า หากปรับ ครม. ในช่วงนี้ จะทำให้เกิดสุญญากาศ เนื่องจากฝ่ายค้านจะหยิบเอาผลงานของกระทรวงหนึ่งกระทรวงใดมาอภิปรายพาดพิง
สามารถให้รัฐมนตรีคนนั้น ตอบแทนได้ แต่กรณีที่ปรับ ครม. ก่อนศึกซักฟอก จะหาคนรับผิดชอบไม่ได้ สุดท้าย "ยิ่งลักษณ์" ต้องแบกภาระคนเดียว
ข้ออ้างฟังขึ้น "ปู 3" เลยเลื่อนปรับออกไปเป็นเดือนกันยายน หลังเสร็จสรรพศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ
"เจ้ากระทรวง" ที่ถูกพาดพิง และกระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลหนัก จะถูกจัดอยู่ในบัญชีปรับออก
สรุปแล้ว หลังศึกซักฟอก การปรับ ครม. "ปู 3" ต้องปรับใหญ่ อาจจะเกินครึ่ง รวมถึง "พรรคร่วม" ทั้งชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนา และพลังชล
+++
ลูกบ้า...เที่ยวล่าสุด!?! "จ่าอภิสิทธิ์" สุดเหวี่ยง ใส่"เสื้อแดง"ขึ้นเวที ปชป.
คอลัมน์ ในประเทศ ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 03 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1668 หน้า 11
เกรียวกราวพอสมควรกับ "ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด" ของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
บนเวทีปราศรัยหัวข้อ "เวทีประชาชน เดินหน้าผ่าความจริง หยุดล้มรัฐธรรมนูญ-ออกกฎหมายล้างผิดคนโกง" อาคารกีฬาเวสน์ 2 สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง ค่ำวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา
หลังใช้เวลาส่วนหนึ่งในการกล่าวโจมตีรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่พยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 และผลักดันกฎหมายล้างผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ภายใต้ชื่อ พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ
และปราศรัยแสดงความไม่พอใจต่อการที่มีกลุ่มคนเสื้อแดงตามชูป้ายประท้วงขับไล่ ในจังหวัดต่างๆ ที่ตนเองและสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ลงไปตั้งเวที
นายอภิสิทธิ์ยังถือโอกาสชี้แจงกรณีกระทรวงกลาโหมขุดเอากรณี"หนีเกณฑ์ทหาร" ขึ้นมาเล่นงานตนเองว่า
เป็นเพียงเรื่องเก่าที่ขุดขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือ นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคนเสื้อแดง ที่กำลังถูกตนเองฟ้องร้องคดีหมิ่นประมาท เรื่องอยู่ในชั้นศาล
ระหว่างการปราศรัย นายอภิสิทธิ์ได้รูดซิปถอดเสื้อคลุมแจ๊กเก็ตออก เผยให้เห็นเสื้อยืดคอกลมสีแดงสวมใส่อยู่ข้างใน
สกรีนข้อความ"หยุดปรองดองจอมปลอม ล้างผิดคนโกง"
พร้อมอธิบายเหตุผลประกอบโดยสรุปว่า
สีแดงเป็นของทุกคน แม้แต่"ศิลปินรุ่นใหญ่"ยังบอกว่าเอาสีแดงคืนมา สีแดงอยู่ในธงชาติ จึงเป็นของคนทั้งชาติ ไม่ใช่คนกลุ่มเดียว
การที่ตนเองใส่สีแดงก็เพื่อบอกกับคนที่อ้างตัวเป็นคนเสื้อแดงว่า ถ้าอยากใส่เสื้อสีแดงแล้วบอกสีแดงเป็นอุดมการณ์ ต้องใส่ที่เขียนว่าหยุดปรองดองจอมปลอม ล้างผิดคนโกง
ต้องเรียกร้องห้ามออกกฎหมายนิรโทษกรรม ต้องไม่ยอมเป็นเครื่องมือล้างผิดการทุจริตของบางคน
ถ้าใส่เสื้อแดงแล้วไม่ยอมเขียนหยุดปรองดองอย่างนี้ ไม่มาร่วมต่อต้าน เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับวิญญาณของคนใส่เสื้อแดง
เสื้อแดงของคุณก็ไม่มีความหมายอะไร
นอกจากการเป็น"ขี้ข้าทักษิณ"
มีปฏิกิริยาร้อยแรงตามมาจากพรรคเพื่อไทยและแกนนำคนเสื้อแดง หลังจากมีการนำภาพ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ใส่เสื้อแดงไปเผยแพร่ตามโซเชียลเน็ตเวิร์ก
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ เชื่อว่าเป็นเพราะนายอภิสิทธิ์อารมณ์เสีย
จากเรื่องที่ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม เปิดแถลงข่าวเรื่องที่นายอภิสิทธิ์หลบเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร ใช้เอกสารสมัครเข้ารับราชการเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อย จปร. ได้รับการติดยศ"ร้อยตรี"โดยไม่ถูกต้อง
ขณะที่ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรฯ และแกนนำ นปช. กล่าวว่า การแสดงความเห็นเป็นเสรีภาพ แต่การแสดงออกบางอย่างของนายอภิสิทธิ์ถือว่าผิดปกติ อยู่ในขั้นประชาชนต้องพิจารณา
เพราะหลังจากพรรคประชาธิปัตย์เปิดเวทีปราศรัยทั่วประเทศอาการเริ่มหนักขึ้นทุกวัน
นายณัฐวุฒิยังอธิบายความให้นายอภิสิทธิ์เข้าใจว่า ปัญหาการเมืองขณะนี้ไม่ได้อยู่ที่สีเสื้อ แต่อยู่ที่อุดมการณ์เรียกร้องประชาธิปไตย
สีเสื้อเป็นแค่สัญลักษณ์การรวมกลุ่ม
พร้อมไล่ให้นายอภิสิทธิ์ไปใส่ชุด"พลทหาร" เพื่อสื่อถึงคนทั้งประเทศว่า ลูกชาวนาคนยากจนต้องเกณฑ์ทหาร ลูกคนมั่งมีเป็นนักเรียนนอกก็ต้องเกณฑ์ทหารด้วย
ตามมาด้วย นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ที่แทบไม่เชื่อหูเชื่อตาของตนเองว่า นายอภิสิทธิ์จะกล้ากระทำเช่นนี้
"นายอภิสิทธิ์เปรียบเสมือนแดงเทียม ที่ใส่ได้เพียงแค่สีเสื้อเท่านั้น แต่จิตวิญญาณยังไม่ใช่คนเสื้อแดงที่เรียกร้องประชาธิปไตย"
พลาดไม่ได้คือความเห็นจาก นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช.
"นายอภิสิทธิ์คงเพี้ยนไปแล้ว จนไม่รู้ว่าตอนนี้ตัวเองเป็นใคร การที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองแล้วทำแบบนี้ เหมือนมาเล่นตลกให้คนดู แสดงให้เห็นว่านายอภิสิทธิ์ ไม่รู้จักภาระหน้าที่ของตัวเองว่าควรทำอย่างไร"
การออกสู่สาธารณะต้องแสดงบทบาทของหัวหน้าพรรคการเมืองอย่างมีเหตุผล หัวหน้าพรรคการเมืองที่ไหนจะมาทำแบบนี้
พร้อมแนะนำว่า
"ถ้าอาการเกินเยียวยาก็ไม่น่ามาเป็นหัวหน้าพรรค แต่ควรไปเล่นตลกแทน"
หากจะว่าไปแล้วครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พลิกบุคลิกตัวเอง
จากคนหนุ่มไฟแรง ใบหน้าหล่อเหลา มาดสุขุมลุ่มลึก การศึกษาสูง ฐานะดี มีฐานะทางสังคมเป็นถึงอดีตนายกรัฐมนตรี ผู้นำฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรคการเมืองใหญ่ เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย
มาเล่นบท"ตัวตลก"เรียกเสียงหัวเราะจากคนดูด้านล่างเวที
ครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา บนเวทีปราศรัยลานคนเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ตอนนั้นยังใช้ชื่อหัวข้อ "ผ่าความจริง หยุดกฎหมายล้างผิดคนโกง"
หลังจากปล่อยให้สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ก่อเรื่อง"งามหน้า"สร้างความวุ่นวายในสภาระหว่างพิจารณาร่างกฎหมายปรองดองในสมัยประชุมที่แล้ว
ช่วงหนึ่งของการปราศรัย นายอภิสิทธิ์ทำท่าทาง บีบเสียงพูดล้อเลียน จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ หรือ"จ่าเสื้อแดง" ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย
เรียกเสียงหัวร่อท้องคัดท้องแข็งจากผู้ชมด้านล่างเวที
ขนาด" สิบตรีพานทองแท้ ชินวัตร" ที่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แค่ได้ดูผ่านคลิปที่มีคนส่งมาให้ในภายหลัง ถึงจะไม่แน่ใจเรื่องวุฒิภาวะของคนเป็นถึงอดีตนายกฯ
แต่ก็อด"ขำ"ไม่ได้
จากกรณี "จ่าอภิสิทธิ์" ถึงกรณี "อภิสิทธิ์ใส่เสื้อแดง" พรรคเพื่อไทยและแกนนำเสื้อแดงใช้คำว่า เพี้ยน ตัวตลก อาการหนัก ไม่ปกติ ฯลฯ
ขณะที่ ม.ล.มิ่งมงคล โสณกุล หรือเต่านา วิเคราะห์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ
เป็นอาการของผู้ป่วยหนักทางจิต สับสน หวาดกลัว หาทางออกให้ตัวเองในบทบาทต่างๆ ไม่ได้ สติแตก จำเป็นต้องได้รับการรักษาเยียวยาโดยด่วน
แต่บางคนได้อธิบายพฤติการณ์ของนายอภิสิทธิ์ในระยะหลัง คล้ายได้ดูภาพยนตร์ไทยเรื่องดัง
สามารถมองผ่านเนื้อเรื่องย่อของภาพยนตร์ไทยเรื่อง"ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด" ออกฉายเมื่อปี 2539 ดังนี้
มานพ พนักงานบริษัทที่มีชีวิตแบบเรียบง่ายคนหนึ่ง
ได้รับทราบจากยมทูตว่า พรุ่งนี้ก่อนบ่ายสองเขาจะต้องตาย ดังนั้น เขาจึงใช้เวลาที่เหลืออยู่อย่างบ้าสุดเหวี่ยง
ก่อนยมทูตจะมารับตัวไป?
+++
มองเกม "สุกำพล" จากประเพณีดูตัว ถึง บี้ "มาร์ค" "ร.ต.อภิสิทธิ์" กับ นายร้อย จปร. และ "มอร์นิ่ง บรี๊ฟ" เวทีปรี๊ด ของบิ๊กตู่
รายงานพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 03 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1668 หน้า 14
เป็นที่วิพากษ์พอสมควร เมื่อ บิ๊กโอ๋ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม พา บิ๊กเล็ก พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน ผช.ผบ.ทบ. และ บิ๊กจิน พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผช.ผบ.ทอ. เข้าทำเนียบ พบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา
เพราะหมายถึงเป็นการ "ประกาศ" และรวบรัดให้ พล.อ.ทนงศักดิ์ เป็นว่าที่ปลัดกลาโหม และ พล.อ.อ.ประจิน เป็น ผบ.ทอ.คนใหม่
ลำพังการนำ พล.อ.อ.ประจิน ไปแสดงตนในฐานะ ว่าที่ ผบ.ทอ.คนใหม่ นั้น ก็ไม่ถูกวิจารณ์มากนัก เพราะ พล.อ.อ.ประจิน แกนนำ ตท.13 นั้นเป็น "ตัวเต็ง" และมีความชอบธรรมที่จะเป็นแม่ทัพฟ้าคนใหม่อยู่แล้ว หลังจากที่ บิ๊กเฟื่อง พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผบ.ทอ. แท็กทีมกับ ผบ.สส. และ ผบ.เหล่าทัพ หนุน พล.อ.อ.ประจิน เป็น ผบ.ทอ.
ต่อให้ พล.อ.อ.สุกำพล จะไม่ค่อยแฮปปี้กับ พล.อ.อ.ประจิน ซึ่งเป็นน้องรักของ บิ๊กต๋อย พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข อดีต ผบ.ทอ. แกนนำ คมช. ที่ปัจจุบันเป็นองคมนตรี เท่าใดนัก แต่ก็ไม่อาจต้านทานเสียงที่เป็นหนึ่งเดียวของ ผบ.เหล่าทัพได้
แต่กรณีของ พล.อ.ทนงศักดิ์ นั้น เป็นเสมือนการ "หักดิบ" เนื่องจากยังคงมีการแย่งชิงเก้าอี้ปลัดกลาโหม กันอยู่ แต่ พล.อ.อ.สุกำพล ก็เร่งพาเข้าพบนายกรัฐมนตรีก่อนเลยเพื่อเป็นการประกาศเป็นนัยๆ ว่า นี่แหละ ว่าที่ปลัดกลาโหม
ในมุมมองของ พล.อ.อ.สุกำพล ก็เพื่อเป็นการตัดปัญหาความขัดแย้งและการวิ่งเต้นในการโยกย้ายทหาร อีกทั้งทำให้เชื่อว่า บิ๊กเปี๊ยก พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ปลัดกลาโหม ก็หนุน พล.อ.ทนงศักดิ์ ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่น ตท.11 ให้มานั่งแทนด้วย เพราะมีอายุราชการแค่ 1 ปี
แม้ว่าเดิมจะเมียงมอง บิ๊กหนู พล.อ.อ.บุญยฤทธิ์ เกิดสุข รอง ผบ.สส. เพื่อนอีกคนที่พลาดเก้าอี้ ผบ.ทอ. ไว้ แต่เพราะมีอายุราชการ 2 ปี นานไป เพราะเก้าอี้ปลัดกลาโหม มักจะใช้เป็นเก้าอี้ในการแก้ปัญหาโยกย้ายก็ตาม
แต่ทว่า การเข้าพบนายกรัฐมนตรี ในวันนั้น ไม่มี พล.อ.เสถียร เข้าร่วมด้วย มีแต่ พล.อ.อ.สุกำพล เดินนำ และเป็นนัดหมายที่นัดกันไว้ล่วงหน้าถึง 4 วันแล้วด้วย
แม้ว่าในช่วงนั้น พล.อ.เสถียร จะไปราชการยุโรป ก็ตาม แต่ก็เกิดข่าวสะพัดว่า ไม่ได้มีการปรึกษาหารือ พล.อ.เสถียร ก่อนว่าจะเสนอใครเป็นปลัดกลาโหม แต่ พล.อ.อ.สุกำพล ใช้อำนาจ รมว.กลาโหม ตัดสินใจเลือกเลย
ท่ามกลางข่าวว่า พล.อ.เสถียร จะเสนอชื่อ บิ๊กกี๋ พล.อ.ชาตรี ทัตติ รองปลัดกลาโหมที่เหลืออยู่คนเดียว ที่มีความชอบธรรม เพราะต้องเสนอ "คนใน" แม้ว่าจะเป็น ตท.14 และมีอายุราชการถึงปี 2558 ก็ตาม
จนทำให้เกิดกระแสข่าวของความขัดแย้ง ระหว่าง พล.อ.อ.สุกำพล กับ พล.อ.เสถียร เพราะเขาถูกมองว่าหากมีการปรับ ครม. จะมีชื่อของ พล.อ.เสถียร เป็นเต็งหนึ่ง รมว.กลาโหมเลยทีเดียว เพราะอย่าลืมว่า เขาเป็นหนึ่งในหัวหน้าทหารแตงโม ที่ใกล้ชิดกับพรรคเพื่อไทย ทั้งหน้าบ้านและหลังบ้าน
เหตุเพราะยังมีผู้ที่เหมาะสมที่จะเป็นปลัดกลาโหม ได้อีกหลายคน โดยเฉพาะที่ถกเถียงกันมากว่า ควรจะเป็นนายทหารที่ครองอัตรา "จอมพล" แล้วมากกว่าให้ พลเอก อย่าง พล.อ.ทนงศักดิ์ ขึ้นมา แม้ว่าในอดีต ก็มีนายทหารที่เป็น พลเอก ที่ขึ้นจาก พลเอก เป็นปลัดกลาโหม เลย ทั้ง พล.อ.ธีรเดช มีเพียร พล.อ.อู้ด เบื้องบน
แต่ก็มีข่าวว่า บิ๊กเจี๊ยบ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. นั้นต้องการจะดัน บิ๊กตี๋ พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร เสธ.ทหาร เพื่อน ตท.12 มาชิงเก้าอี้ด้วย
เช่นเดียวกับ บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ที่อยากให้ บิ๊กหนุ่ย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รอง ผบ.ทบ. เพื่อน ตท.12 ข้ามไปนั่งปลัดกลาโหม แต่ก็ยากฝ่ากระแสเสื้อแดงต้าน
ที่สำคัญ พล.อ.ทนงศักดิ์ เป็นนายทหารที่ไม่ธรรมดา แต่เพราะมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรคเพื่อไทย ทั้งการเป็นอดีตแม่ทัพภาคที่ 3 ที่มักช่วยเคลียร์กับแกนนำเสื้อแดงในพื้นที่ และดองญาติเป็นน้องภริยาของ ส.ส.เพื่อไทย จ.พะเยา และถูกเรียกว่า อยู่ในสาย "เจ๊แดง" และเชื่อกันว่า พล.อ.เสถียร ซึ่งเป็นประธาน ตท.11 จะสนับสนุน
"ผมต้องยึดหลักการที่ถูกต้อง" เสียงกระซิบสั้นๆ จาก พล.อ.เสถียร ที่ยังไม่อาจบอกได้ว่าจะเสนอชื่อใครเป็นปลัดกลาโหมคนใหม่
พล.อ.ธนะศักดิ์ นัดหมายให้ ผบ. 3 เหล่าทัพ ส่งบัญชีรายชื่อโยกย้ายทหารให้ในวันที่ 10 สิงหาคม และจะส่งให้ รมว.กลาโหม ภายใน 15 สิงหาคม ก่อนส่งให้นายกรัฐมนตรี เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ เนื่องจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีนโยบายที่จะทำให้เสร็จสิ้นภายในเดือนสิงหาคม แต่ก็ไม่อาจคาดการณ์ได้ว่า จะทรงโปรดเกล้าฯ เมื่อใด
ท่ามกลางการจับตามองว่า การโยกย้ายนี้จะมีโผหลุดออกมาทั้งฉบับ เหมือนทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา ในรัฐบาลพรรคเพื่อไทยหรือไม่ เพราะตราบใดที่ยังไม่มีโปรดเกล้าฯ การต่อสู้แย่งชิง และข่าวลือ ก็ไม่มีวันหยุด
แต่การที่ พล.อ.อ.สุกำพล นำ พล.อ.ทนงศักดิ์ และ พล.อ.อ.ประจิน เข้าพบนายกรัฐมนตรีก็ถือเป็นการสร้างประเพณีดูตัวผู้นำเหล่าทัพ ที่อาจกลายเป็นบรรทัดฐานต่อไป เนื่องจาก พล.อ.อ.สุกำพล เห็นว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ อาจเคยเห็นหน้า แต่ไม่อาจรู้จักว่า ใครเป็นใคร และจะได้พูดคุย ดูแนวความคิด หรือที่เรียกว่าแสดงวิสัยทัศน์ให้ฟังด้วย
ทว่า ขณะเดียวกัน การทำเช่นนี้ ก็ทำให้ พล.อ.ทนงศักดิ์ กลายเป็นเป้าหมาย เพราะกำลังเป็นประเด็นวิพากษ์เรื่อง พลเอก และ จอมพล และมีแคนดิเดตที่เหมาะสมหลายคน ทั้งจาก บก.ทัพไทย และ ทบ. อีกทั้ง พล.อ.ชาตรี เองก็คงไม่แฮปปี้นัก ที่ถูกตัดหน้าและอาจถูกเตะพ้นทาง
จริงอยู่ แม้จะเป็นอำนาจ รมว.กลาโหม แต่ พล.อ.อ.สุกำพล ก็อาจจะต้องสอบถาม พล.อ.เสถียร ปลัดกลาโหม รวมทั้ง ผบ.สส. และ ผบ.เหล่าทัพ เพราะจะต้องทำงานด้วยกัน
แต่คาดว่า พล.อ.อ.สุกำพล อาจมีการต่อรองกับ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อแลกบางเก้าอี้ใน ทบ. กับการส่ง พล.อ.ทนงศักดิ์ ไปเป็นปลัดกลาโหม ก็เป็นได้
หลังกลับจากแฮปปี้เบิร์ธเดย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ฮ่องกง เมื่อ 21 กรกฎาคม แล้ว ดู พล.อ.อ.สุกำพล มีความมั่นใจในการเป็น รมว.กลาโหม มากขึ้น หลังจากมีข่าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะควบ รมว.กลาโหม บ้าง บิ๊กโอ๋เล็ก พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต หัวหน้าฝ่าย เสธ.รมว.กลาโหม เพื่อน ตท.10 จะเป็น รมว.กลาโหม มาตลอด
แต่บ้างก็มองว่า พล.อ.อ.สุกำพล อาจเร่งสางงานให้เสร็จ ก่อนจะถูกเด้งพ้น รมว.กลาโหม ก็ได้ ทั้งเรื่องโผโยกย้ายทหาร ที่เร่งรวบรัดนำ พล.อ.ทนงศักดิ์ เข้าพบนายกฯ
รวมทั้งการนำคณะกรรมการสอบสวนฯ ยกชุดเปิดแถลงข่าวใหญ่พร้อมเอกสารเพื่อยืนยันว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลีกเลี่ยงการเป็นทหาร และใช้เอกสารเท็จในการสมัครเป็นนายทหาร อาจารย์โรงเรียนนายร้อย จปร. เมื่อ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา หลังจากที่เลื่อนมาหลายครั้ง
อันถูกมองว่า เป็นการสร้างผลงาน เพื่อสร้างความมั่นคงให้เก้าอี้ รมว.กลาโหม จนทำให้นายอภิสิทธิ์ จะฟ้องหมิ่นประมาท และมองว่า เป็นการทำตามใบสั่ง และเป็นเกมการเมือง
ทว่า เป้าหมายของการแถลงข่าว ไม่ใช่อยู่ที่การตอกย้ำการหลีกเลี่ยงการเป็นทหาร หรือไม่ได้เข้ารับการตรวจเลือกทหาร เพราะเป็นเรื่องเก่าที่หมดอายุความไปแล้ว
แต่เป้าหมายคือการยืนยันว่า มีการใช้เอกสารเท็จในการสมัครเป็นทหาร เป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อย จปร. ที่ พล.อ.อ.สุกำพล ให้กรมพระธรรมนูญ พิจารณาว่า จะทำเรื่องในการขอถอดถอนยศร้อยตรี และเรียกเบี้ยหวัดเงินเดือนคืนได้หรือไม่ ตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหม
ไม่แค่นั้น พล.อ.อ.สุกำพล พยายามที่จะสะกิดต่อมจริยธรรม ด้วยการแฉ ร้อยตรีอภิสิทธิ์ ตอนเป็นอาจารย์ สังกัดส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อย จปร. นั้น ลาไปต่างประเทศ ลากิจ รวม 221 วัน ไปทำงานแค่ 35 วัน จนต้องถามว่า "รักที่จะเป็นทหารจริงหรือเปล่า" นั้น แสดงว่า นักเรียนนายร้อย จปร. (นนร.จปร.) ที่ได้เรียนกับอาจารย์อภิสิทธิ์ ต้องถือว่าโชคดีมาก
โชคดีที่ได้เห็นหนุ่มหล่อ จบอีตัน เมืองผู้ดี ที่จบเศรษฐศาสตร์มาหมาดๆ มาเป็นอาจารย์ สอนรัฐประศาสนศาสตร์ และรัฐศาสตร์ เนื่องจากในเวลานั้นมีอาจารย์สอนเศรษฐศาสตร์อยู่แล้ว นายอภิสิทธิ์ มาบรรจุเป็นอาจารย์รัฐประศาสนศาสตร์ ทั้งๆ ที่จบเศรษฐศาสตร์
จึงได้แต่ยืนหน้าโพเดี้ยม เปิดและอ่านตามตำราสอนเด็กนักเรียน แบบที่แทบจะไม่เงยหน้ามองหรือแม้แต่สบตานักเรียน ที่เขาเรียกว่า "นักศึกษา" จนทำให้นักเรียนนายร้อย จปร. รู้สึกแอนตี้
แถมทั้งอายุอานามก็ไม่ห่างกับนักเรียนทหาร ที่เป็นลูกศิษย์มากนัก จนถูกเรียกลับหลังว่า "...หน้าเด็ก"
ตอนแรก พวกนักเรียนนายร้อย จปร. ก็ตื่นเต้นที่จะมีอาจารย์ใหม่ เป็นพลเรือน เพิ่งจบอังกฤษ มาสอน แต่พอมาสอนแล้ว กลับน่าเบื่อมาก เอาตำรามาวางตั้งข้างหน้า แล้วก็อ่านให้นักเรียนฟัง แถมท่ายืน จะเอาแค่เท้าข้างหนึ่งวางบนฐานโพเดี้ยมเสมอ
จึงไม่แปลกที่การสอนของ อ.อภิสิทธิ์ ในเวลานั้น จะทำให้นักเรียนนายร้อย จปร. กว่าค่อนห้อง ต้องนั่งหลับ ประกอบกับการไม่ได้นอนเพราะอยู่เวรยามกันตอนกลางคืน จึงทำให้ยิ่งหลับใหล
ดังนั้น เมื่อหมดคาบเรียนแรก 50 นาที นักเรียนนายร้อย จปร. บางคนจะต้องรีบตะโกนบอกว่า "ได้เวลาพักแล้วครับ"
ในเวลาพัก 10 นาทีนั้น อาจารย์มาร์ค ก็จะเดินออกจากห้องเรียน แยกไปพัก ยกเว้นเมื่อมีนักเรียนเดินมาพูดคุยสอบถามในบางเรื่อง อ.มาร์ค ก็จะอยู่ตอบสักพัก แล้วก็รีบเดินหายไป
ยิ่งเมื่อเวลาหมดคาบเรียนที่สอง นักเรียนจะยิ่งต้องเร่งให้ อ.มาร์คเร่งจบการสอน เพราะพวกเขาต้องเร่งรวมแถวเพื่อเดินเปลี่ยนตึก เพราะถ้าช้าจะโดนนักเรียนนายร้อยรุ่นพี่ "แดก"
จึงอาจเรียกได้ว่า อ.มาร์ค แทบจำหน้าลูกศิษย์ไม่ได้เลย เพราะนอกจากก้มหน้าก้มตาอ่านตำราสอนแล้ว ยังไม่คิดที่จะปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนด้วย
"เราก็เข้าใจนะว่า อาจารย์เขาไม่ได้อยากมาสอน ไม่ได้อยากมาเป็นทหาร ก็สอนแค่ไม่กี่ครั้ง เท่าที่จำได้ ไม่เคยเห็น อ.อภิสิทธิ์ สวมเครื่องแบบทหารยศร้อยตรีเลย ตอนมาสอน ก็แต่ตอนที่ใส่ "หูกระทะ" ตอนเข้ามาเป็นนายทหารใหม่ๆ ยังเป็นข้าราชการกลาโหมพลเรือนอยู่ ยังไม่ได้แต่งเครื่องแบบเขียวเลย พอได้ข่าวอีกที ก็ลาออกไปแล้ว" ลูกศิษย์คนหนึ่งเล่า
ท่ามกลางเสียงซุบซิบว่า เป็นทหารแค่ไม่ถึงปี แล้วลาออก จะต้องเสียค่าปรับหรือไม่ เท่าใด เพราะตามระเบียบจะต้องเป็นทหารอย่างน้อย 2 ปี
แต่เพราะความสนิทสนมของบิดาของนายอภิสิทธิ์ กับผู้นำกองทัพในยุคนั้น ภายใต้การนำของ บิ๊กจิ๋ว พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ผบ.ทบ. และแผงอำนาจ จปร.5
ไม่แค่นั้น ผลการแถลงข่าวของ พล.อ.อ.สุกำพล ยังเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ทบ. มีความพยายามในการปกปิดผลการสอบสวนเรื่องของนายอภิสิทธิ์ มาตลอด
เพราะในปี 2542 ซึ่งเป็นยุคของ บิ๊กแอ้ด พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็น ผบ.ทบ. ในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ก็ปิดเงียบเรื่องนี้ และไม่มีการลงทัณฑ์ แม้คณะกรรมการจะเสนอให้ลงทัณฑ์ก็ตาม ยิ่งในยุค 3 ป. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็น รมว.กลาโหม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น ผบ.ทบ. ก็ยิ่งเงียบ โดย พล.อ.อนุพงษ์ ย้ำว่า "หมดอายุความไปแล้ว" เท่านั้น
อีกทั้งยังสะท้อนการแบ่งแยกเป็นขั้วใน ทบ. เพราะกว่าที่คณะกรรมการสอบสวนฯ ของกลาโหม ที่ พล.อ.อ.สุกำพล แต่งตั้งนั้น จะได้เอกสารต้นขั้ว สด.9 และเอกสารต่างๆ ของนายอภิสิทธิ์ ที่เขตพระโขนง จากสัสดีกรุงเทพฯ มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) ได้นั้น ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย อ้างแค่คำสั่ง รมว.กลาโหม ไม่ได้ผล ต้องให้บิ๊กใน ทบ. สั่งการ นั่นจึงเป็นเหตุให้ต้องเลื่อนการแถลงข่าวจาก 24 กรกฎาคม มาเป็น 27 กรกฎาคม
งานนี้ดูๆ ไม่มีทหารคนไหนอยากเอาตัวเข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะเกรงว่า หากอำมาตย์พลิกเกมและหนุนพรรคประชาธิปัตย์ กลับมาเป็นรัฐบาลอีก พวกเขาจะเดือดร้อน
แต่เกมการเมืองในการเช็กบิลนายอภิสิทธิ์ เช่นนี้ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ผบ.ทบ. ลำบากใจ เพราะก่อนหน้านั้น เขาออกมาบอกว่า ผลการสอบสวนของ ทบ. เมื่อปี 2542 จบไปแล้ว สรุปว่า "ไม่มีมูล" ทั้งๆ ที่ผลสอบสวนนั้น เสนอให้มีการลงทัณฑ์ทางวินัย พันเอกหญิง คนหนึ่ง และดำเนินคดีอาญาต่อ พันตรี อีกคนหนึ่ง
เรื่องที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกเช่นนี้ จึงทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ อารมณ์ไม่ดี แถมทั้งมีเหตุรุนแรงในภาคใต้ช่วง "รอมฎอนเดือด" มาตลอด ยิ่งเมื่อโจรใต้ 16 คนใช้ปิกอัพ 3 คันยิงกราดใส่ทหารชุดลาดตระเวนด้วยมอเตอร์ไซค์ 2 คันที่กำลังกลับฐาน ที่ อ.มายอ จ.ปัตตานี เมื่อ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา และมีภาพจากวงจรปิดให้เห็นปฏิบัติการที่อุกอาจชัดเจน จนสะเทือนใจคนไทยทั้งประเทศ
พล.อ.ประยุทธ์ จึงยิ่งอารมณ์เสีย แต่ก็ไม่อาจทำอะไรได้ เพราะทหารในพื้นที่ก็ปฏิบัติตามยุทธวิธีที่เขาแนะนำทุกอย่างหมดแล้ว จึงได้แต่โวยตำรวจปัตตานี ที่ปล่อยภาพจากวงจรปิดให้สื่อนำมาเผยแพร่ ที่ยิ่งเป็นการสร้างเครดิตให้โจรใต้ ที่อาจทำให้เพิ่มแนวร่วม ทั้งในและนอกประเทศ และทำให้ประชาชนหวาดกลัว ทหารก็เสียขวัญ พร้อมขอให้ทีวีทุกช่องและสื่อหยุดการเผยแพร่ภาพเหล่านั้น
แถมอารมณ์เสียที่สื่อและคอลัมนิสต์วิพากษ์การแก้ปัญหาใต้อย่างไม่เข้าใจ ทั้งการกล่าวหา ทหารเลี้ยงไข้ ทหารยังไม่รู้ว่าตัวเองสู้อยู่กับใคร
แต่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ปรี๊ดสุดกลับเป็น "โปรยข่าว" ของสื่อบางฉบับ ที่มองการแถลงข่าวของ รมว.กลาโหม ยันนายอภิสิทธิ์หนีทหารนั้น เป็นเสมือนการสะท้อน "ความผิดพลาดของ ทบ." จนสั่งให้ลูกน้องจัดการให้สื่อแก้ข่าวให้ได้ พร้อมกรีดด่ากลางที่ประชุม
โดยทั่วไปแล้ว การประชุมสรุปสถานการณ์รายวันของ ทบ. หรือที่เรียกว่า Morning Brief ทุกเช้า จะเป็นเวทีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ระบายอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ต่อเหตุการณ์และข่าวที่เกิดขึ้น รวมทั้งการกวดขันติดตามการสั่งการต่างๆ มากมาย จนได้ฉายา "ผบ.ทบ.ร้อยเรื่อง" จนกลายเป็นเวทีเดี่ยวไมโครโฟน และมักด่าสื่อแบบเรียงตัวรายฉบับ เรียกว่านานๆ ทีที่จะได้เห็น บิ๊กตู่ ยิ้มอารมณ์ดีในเวทีนี้
แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่ได้เป็นประธานการประชุมเองทุกครั้ง เพราะจะมอบหมายให้ รอง ผบ.ทบ. หรือห้าเสือ ทบ. คนอื่นๆ เข้าแทน แต่หากมีเรื่องสำคัญ พล.อ.ประยุทธ์ ก็มักจะมี "จดหมายน้อย" ฝากข้อความมาถึงที่ประชุม
แต่ที่ฮาคือ การประชุมนี้มีการถ่ายทอดผ่านระบบ Teleconference ไปยังกองทัพภาคต่างๆ ทั่วประเทศ แต่ทว่า กลับให้ถ่ายทอดแค่เฉพาะภาพเท่านั้น ไม่เปิดเสียงให้ฟัง เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ต้องการให้ได้ยินเวลาตำหนินายทหารชั้นผู้ใหญ่อาจทำให้เสียการปกครองของนายทหารที่ถูกตำหนิ และกลัวข่าวในห้องประชุมรั่วไหลด้วย จนทำให้แต่ละกองทัพภาคต่างๆ ต้องหัดอ่านปากกันแล้ว
ต่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ พยายามไม่พาดพิงเรื่องการเมือง ในเวทีนี้ เพราะกลัวข่าวรั่วก็ตาม แต่ก็มักอดไม่ได้ มักจะต้องเหน็บ ประชด พาดพิง เปรยๆ เสมอๆ
มอร์นิ่ง บรี๊ฟ จึงกลายเป็นดัชนีชี้วัดอุณหภูมิใน ทบ. และอุณหภูมิการเมือง โดยเฉพาะความร้อนในหัวใจของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นอย่างดี แบบที่ใครๆ ก็ต้องเงี่ยหูฟัง
+++
ก.ตร. ผ่านฉลุย 47 นายพลสีกากี สายการเมืองคุม "ผบช." เก้าอี้หลัก
คอลัมน์ โล่เงิน ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 03 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1668 หน้า 99
เรียบร้อยโรงเรียนสีกากีไปแล้วสำหรับบัญชีแต่งตั้งนายพลใหญ่ วาระ 2555 เมื่อ "บอร์ดใหญ่" คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ทั้งกลุ่ม ก.ตร.ในเครื่องแบบ และ ก.ตร.สวมสูท จับมือกันประทับตราผ่านตลอดบัญชีรายชื่อแต่งตั้งโยกย้าย ระดับรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ผู้ช่วย ผบ.ตร. ถึงผู้บัญชาการ (ผบช.) ทั้งกรณีโยกในระนาบและเลื่อนตำแหน่งขึ้น รวม 47 ตำแหน่ง
บรรยากาศในห้องประชุม ก.ตร. ตอนบ่ายวันพุธ ที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา มีเสียงเล็ดลอดออกมาว่า สุดหวาน ชื่นมื่น พิสูจน์ได้จากเจ้าหน้าที่ฝ่ายกำลังพลใช้เวลาอ่านบัญชีให้เหล่า ก.ตร. ลงความเห็นผ่านแบบรวดเดียวจบ ใช้เวลาไม่ถึง 50 นาที มีเพียงบางตำแหน่งเท่านั้นที่ ก.ตร.สวมสูท ตั้งคำถามว่าทำไม!?
โฟกัสเฉพาะไฮไลต์ 28 ผบช. จากบัญชีแต่งตั้ง เจาะที่ 22 ตำแหน่ง รอง ผบช. ที่ได้เลื่อนขึ้น ผบช. แบ่งเป็นกลุ่มอาวุโส 33 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 8 ตำแหน่ง และมาจากกลุ่มความรู้ความสามารถ 14 ตำแหน่ง
สะพัดกรมปทุมวันว่าบัญชีแต่งตั้งระดับ ผบช. เป็นฉบับอิมพอร์ต ส่งสัญญาณผ่านระบบสไกวป์ แต่ยังมีสัดส่วนที่มาจากการผสมผสานความคิดเห็น ดุลยพินิจ ของ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รอง ผบ.ตร. ว่าที่ ผบ.ตร. ด้วย
เช็กชื่อ ผบช. เก้าอี้ใหญ่ หลายตำแหน่ง ดังนี้
คนแรก พล.ต.ต.นเรศ นันทโชติ รอง ผบช.น. อาวุโสอันดับ 61 เกษียณปี 2563 ว่ากันว่าได้ดีเพราะนารีหนุน ดันเพื่อนร่วมรุ่น วปอ. ขึ้นเป็น ผบช.ภ.1 หลังจากวาระปี 2554 ที่ผ่านมาตกม้าไปอย่างน่าเสียดาย แต่งตั้งครั้งที่แล้วมีชื่อติดโผขยับเป็น พล.ต.ท. แต่ก็ได้แค่ติดโผ ไม่มีชื่อในบัญชี มาคราวนี้เพื่อนดันจนได้ดี ขึ้นแท่น ผบช.ภ.1
คนต่อมา "พล.ต.ท.วินัย ทองสอง ผบช.ภ.1" บัญชีนี้โยกเป็น ผบช.ภ.2 หลังเกิดอุบัติเหตุม็อบมีบัญชีพิเศษให้โบกมือลาตำแหน่ง "ผบช.น." มาพักเป็น "ผบช.ภ.1" ชั่วคราว
มาระลอกนี้ "คนมีวินัย" มีที่หมายคือ ทำเลริมหาด นั่งเก้าอี้ ผบช.ภ.2 และในฐานะเครือญาติ การแต่งตั้งใหญ่วาระนี้ "พี่ชาย" จึงปลอบใจให้นั่งเก้าอี้ที่หมายปอง เป็น ผบช.ภ.2 สมใจ
เมื่อ "พล.ต.ท.วินัย" มาตีตราจองเก้าอี้ "ผบช.ภ.2" พล.ต.ท.ปัญญา มาเม่น ผบช.ภ.2 เพื่อนร่วมรุ่น นรต.32 จึงต้องลุกจากเก้าอี้ แว่วว่า นโยบาย "สั่งมา" หลังพลาดท่าไม่แคร์นโยบาย กลับไปวางคน วางเกมเดินในสไตล์ตัวเอง แถมเตะตัดขา ผกก. ทำเลทอง คนของเจ๊ แต่งตั้งครานี้ เก้าอี้ ผบช.ภ.2 จึงไม่มีคนชื่อ "ปัญญา"
แต่เพื่อไม่ให้เสียของ ยี่ห้อ "พล.ต.ท.ปัญญา" ที่ความรู้ความสามารถไม่ธรรมดา ก.ตร. จึงรับได้ในเหตุผล เมื่อบัญชี 2 ผบ.ตร. ให้ "พล.ต.ท.ปัญญา" ข้ามมาคุม สพฐ.ตร. คุมงานนิติวิทยาศาสตร์ แกนในกระดูกสันหลังงานสืบสวนสอบสวนตำรวจ โดยให้เหตุผล ก.ตร. ในการโยก "พล.ต.ท.ปัญญา" มา สพฐ.ตร. เพราะงานยุคใหม่ใกล้วันสู่ AEC คุมหน่วยนี้ภาษาอังกฤษฟุดฟิดฟอไฟ ซึ่ง "พล.ต.ท.ปัญญา" ทำได้
ฟากสายจันทร์ส่องหล้ายังแรงไม่มีตก พล.ต.ท.ภาณุ เกิดลาภผล ผบช.ภ.3 ได้แรงหนุนดี นายหญิงผลักดันเป็น ผบช.สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ถือลิสต์คนเข้าออกประเทศในมือ พร้อมดัน พล.ต.ต.เชิด ชูเวช รอง ผบช.ก. ซึ่งโตมาในพื้นที่อีสานใต้ ได้ผงาด นั่ง ผบช.ภ.3 แทน
ผบช.ภ.4 คนเก่าเกษียณ ก.ตร. ตัดสินใจให้คนใหม่ เป็น พล.ต.ต.กวี สุภานันท์ รอง ผบช.ภ.4 เด็กในคาถา ก.ตร.เจ้าถิ่น ที่ได้มาเพราะคาถาและได้เปรียบความอาวุโส เบียด พล.ต.ต.ธีระศักดิ์ กลิ่นพงษา รอง ผบช.ภ.4 เด็กก้นกุฏิ "อินทรีย์อีสาน" พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก เจ้ากระทรวงตาชั่ง ตกขอบ ทำให้บัญชีนี้ พล.ต.ต.ธีระศักดิ์ ทำได้เต็มที่เพียงตำแหน่ง ผบช.ประจำ สง.ผบ.ตร.ทำหน้าที่บริหารด้านป้องกันปราบปราม
ตำแหน่ง ผบช.ภ.8 คนเก่าขยับขึ้น คนใหม่ แปะป้ายชื่อ พล.ต.ท.ยงยุทธ เจริญวานิช ผบช.ประจำ สง.ผบ.ตร.ทำหน้าที่เชี่ยวชาญด้านสืบสวน มาแทน เพราะได้แรงหนุนดีจากหลายฝ่าย เคยทำงานภาคใต้ร่วมกับ ว่าที่ ผบ.ตร. แถมมีแรงหนุนจากหัวโต๊ะ ก.ตร. พล.ต.ท.ยงยุทธ จึงเหมือนได้โบนัส นั่งทำเลทอง ครองเก้าอี้ใหญ่ บช. ระดับดี เบียดแคนดิเดตคนในสาย "ย" ตกเก้าอี้ตั้งแต่ยังไม่ทันได้นั่ง
ด้าน ผบช.ภ.9 บัญชีนี้เห็นดี ให้ พล.ต.ต.พิสิฎฐ์ พิสุทธิ์ศักดิ์ รอง ผบช.น. ซึ่งมาแรงด้วยหลายคอนเน็กชั่น ว่ากันว่าแรงดีที่สุดจากฟากการเมือง ได้ขึ้นเป็น ผบช.ภ.9
อีกตำแหน่งมาแรง "เดอะโก้" พล.ต.ต.สฤษฎ์ชัย เอนกเวียง รอง ผบช.ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) อดีตนักสืบนครบาลเกรดเอ ที่ลงไปคลุกทำคดีในพื้นที่ชายแดนใต้หลายปี เติบโตในพื้นที่ด้วยงาน ได้แรงหนุนสุดตัวผสมความไว้วางใจจาก ว่าที่ ผบ.ตร.คนใหม่ ที่เคยเคียงไหล่ร่วมรบ บัญชีนี้ จึงมีชื่อ "เดอะโก้" ขึ้นเป็น ผบช.สันติบาล เป็นขุนพลด้านการข่าวของ ผบ.ตร. คนที่ 9
ตำแหน่ง ผบช.ตำรวจตระเวนชายแดน แรงหนุนสายเดียวกับสันติบาล วางให้ พล.ต.ต.สุรพงษ์ เขมะสิงคิ รอง ผบช.ศชต. อดีตเป็นลูกหม้อ ตชด. เคยเป็น ผบก.ตชด.ภ.4 มาก่อน ได้ติดยศ "พล.ต.ท."
ไม่เพียงเท่านั้น ก.ตร. ครั้งนี้ ยังเปิดตำแหน่งใหญ่ "ผู้ช่วย ผบ.ตร.ทำหน้าที่บริหารยุทธศาสตร์งานด้านป้องกันปราบปรามยาเสพติดและการต่อต้านการก่อการร้าย" เรียกชื่อหรู ดูเหมือนคุมงานสำคัญ เป็นเก้าอี้ใหม่เอี่ยม สะพัดลั่นทุ่งปทุมวัน เก้าอี้ใหม่วัดไซซ์เรียบร้อย รอเพียงดันเข้า ก.ต.ช. "คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ" เปิดเก้าอี้ผ่านตลอด ก่อน ก.ตร. นำกลับมาแต่งตั้งคนนั่งเก้าอี้ ว่ากันว่า ก.ตร. ง้างตรารอประทับไว้ล่วงหน้า ทั้งเก้าอี้ผู้ช่วยใหม่ ไปจนถึงเก้าอี้ในไลน์ไล่ระนาบตามสาย แบบไม่กล้าขัดข้อง
เหล่านี้เป็นบรรยากาศการแต่งตั้งนายพลใหญ่ปี 2555 ที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์น้อยกว่าทุกครั้ง
หากแต่ผลงานของเหล่าบิ๊ก ตร. ชุดใหม่จะเป็นเครื่องวัดอย่างดี
อย่างไรก็ตาม การแต่งตั้งนายพลเล็กระดับ รอง ผบช.-ผบก. หลังจากนี้อีกไม่กี่สัปดาห์ ยังต้องจับตาว่าจะออกมาหน้าตาดีหรือไม่!!??
.