.
เมื่อ อเมริกา ปะทะ จีน ใน AEC ไทยจะทำอะไรได้?
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 03 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1668 หน้า 20
เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ คงไม่มีอะไร ตื่นเต้ลลล... อีกแล้วเพราะตุลาการรัฐธรรมนูญก็เปิดเผยบทตัวเองหมดแล้ว แต่ยังทิ้งความงุนงงไว้เบื้องหลังประชาธิปัตย์ (ปชป.) ก็พร้อมแก้รายมาตราแบบรายเดือน ฝ่ายเพื่อไทยก็บอกแล้วว่า พร้อมจะถอยทุกสถานการณ์ พันธมิตรอยากจะชุมนุมตากฝน ก็ออกมาได้ไม่มีใครห้ามถ้าไม่กลัวเป็นหวัด
ช่วงเวลานี้จึงอยากให้มองไกลออกไปนอกบ้านเรา จะพบว่าอินทรีใหญ่อย่างอเมริกากำลังร่อนลงในหลายพื้นที่ของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในขณะที่มังกรยักษ์อย่างจีนบุกไปก่อนแล้ว
พวกเขาจะทำอะไร?
และเราทำอะไรได้?
การแผ่อิทธิพลของจีนลงใต้
ทำอย่างต่อเนื่อง
คน 1,300 ล้าน อยู่นิ่งก็อดตาย จำต้องเคลื่อนไหว
การเคลื่อนตัวลงใต้ของจีนครั้งนี้ สมกับเป็นมังกรยักษ์
ส่วนหัวอยู่ในทะเลจีนใต้
ลำตัวพาดผ่านลาว-ไทย
ส่วนหางไปไกลถึงพม่า แต่ กัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ก็ยังอยู่ในระยะของเท้าหน้า
ที่จริงมีชาวจีนจำนวนหนึ่งมาแล้ว มาเงียบๆ ก่อนเส้นทางรถไฟจะมาถึง คนจีนที่ทรหด ดิ้นรนเพื่อชีวิตที่ดีกว่า กำลังไหลลงสู่ตอนใต้ เข้าสู่ทุกประเทศ ทั้งพม่า ไทย ลาว กัมพูชา และประเทศแถบทะเลจีนใต้
จากคนจีน 1,300 ล้านคน ไหลลงมาแค่ 0.1% ก็เท่ากับ 1.3 ล้านคน มาทั้งในรูปทุนใหญ่ เป็นบริษัทมีเทคโนโลยีสูง และทุนเล็ก เป็นพ่อค้าวาณิชแต่สามารถกู้เงินดอกเบี้ยต่ำมาลงทุนได้
วันนี้พวกเขาเหมือนทหารที่มีอาวุธพร้อม มีความอดทน แข็งแกร่ง
คาดว่าในระยะเวลาไม่กี่ปี จะสามารถขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจ ครอบคลุมทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจะเบียดขับคนท้องถิ่น ขึ้นมาอยู่แถวหน้า
มีความร่วมมือ ก็มีความขัดแย้งในภูมิภาค
ลาว... การสร้างเส้นทางรถไฟจากจีนผ่านลาว เพื่อเชื่อมกับประเทศไทยและสามารถต่อไปถึงสิงคโปร์ ข้อเสนอของจีนที่มีต่อลาวอาจสูงไปบ้าง ฝ่ายจีนต้องการที่ดินกว้างถึง 2 กิโลเมตร สองข้างทางรถไฟในตลอดเส้นทาง ยาว 420 กิโลเมตร พร้อมครอบครัวคนจีน 50,000 ครอบครัว เพื่อทำงานก่อสร้าง
แต่ลาวจะให้แค่ที่ดินหน้ากว้าง 800 เมตร ในตลอดเส้นทาง แต่เชื่อว่าหลังจากนี้ไป จีนน่าจะใช้ท่าทีที่อ่อนลง
ความล่าช้าจะส่งผลกระทบกับการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าอาเซียนที่มีไทยเป็นศูนย์กลาง
พม่า...รัฐบาลจีนและบริษัทต่างๆ ได้ลงทุนในพม่าไปแล้วมากกว่า 14,000 ล้านเหรียญ ในช่วงปีงบประมาณ 2553-2554 เพราะพม่าคือกำแพงตะวันตกที่ขวางทางลงมหาสมุทรอินเดียจีนจึงถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ ทั้งด้านการทหารและเศรษฐกิจ
จีนต้องเข้าไปในพม่าให้ได้ วันนี้วิสาหกิจน้ำมันและก๊าซ (MOGE) ของรัฐบาลพม่า ได้อนุมัติสัมปทานในการสำรวจขุดค้นหาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติทั้งบนบกและในเขตทะเลของพม่าให้กับบริษัทต่างชาติไปแล้วมากกว่า 100 แปลง ผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดคือ China National Petroleum Corporation (CNPC) และ China National Offshore Oil Corporation (CNOOC)
เมื่อพม่าเตรียมเปิดประเทศก็เริ่มถ่วงดุลการเมืองระหว่างประเทศและสร้างผลประโยชน์ให้ตนเอง โดยเปิดโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายให้เป็นท่าเรือสากลใหญ่แห่งที่ 2 ด้านมหาสมุทรอินเดีย
ซึ่งก่อนหน้ามีเพียงท่าเรือที่ จ็อกปิว ซึ่งจีนดูแลอยู่ แถมยังมีการระงับโครงการสร้างเขื่อนยักษ์ Myitsone ในลุ่มน้ำอิรวดีทางตอนเหนือของประเทศพม่า ซึ่งจีนลงทุน 3.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ผลิตไฟฟ้าได้ 6,000 เมกะวัตต์ ซึ่งถูกคัดค้านอย่างหนัก ทั้งจากนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่
พม่าหนีจีนไม่ได้แต่วันนี้ได้พลังเสริมจากอเมริกาและยุโรปมาต่อรองกับจีน
สถานการณ์ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้
ปัจจุบันจีนมีกรณีพิพาทเรื่องเขตดินแดน กับ 5 ประเทศ คือ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน เวียดนาม และไต้หวัน เพราะมีการสำรวจพบว่าใต้ชั้นดินของทะเลจีนใต้มีทั้ง น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ ประเมินว่ามีน้ำมันดิบมากกว่า 200,000 ล้านบาร์เรล และปริมาณก๊าซสำรองที่ใช้ได้นานถึง 60 ปี
จีนได้ประกาศใช้แผนที่แสดงเขตน่านน้ำของจีนครอบคลุมส่วนใหญ่ ของทะเลจีนใต้ ซึ่งไม่มีใครยอมรับ สหรัฐ, ญี่ปุ่นและเกาหลี บอกว่านี่เป็นเส้นทางเดินเรือเสรีและบางส่วนเป็นพื้นที่ทับซ้อนจีนจึงต้องพิพาทกับหลายประเทศ เช่น...
กรณีหมู่เกาะสแปรตลีย์ซึ่งมีทั้ง จีน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน ไต้หวัน
กรณีความขัดแย้งระหว่าง จีน-ฟิลิปปินส์ เหนือเกาะสการ์โบโรห์ถึงขั้นเผชิญหน้า
กรณีกับเวียดนาม ที่กลุ่มบริษัท CNOOC ได้เปิดการประกวดราคาการสำรวจน้ำมันในพื้นที่พิพาทซึ่งอยู่ทางตอนล่าง ห่างจากเกาะใหญ่ในหมู่เกาะพาราเซล เพียง 1 ไมล์ทะเล
จีนยิ่งรุกมากก็ยิ่งขัดแย้งมาก
การขยายอิทธิพลของอเมริกา
อเมริกาวันนี้เหมือนนกรู้ แต่เป็นนกอินทรีผอมที่จำเป็นต้องบินย้อนกลับมาหากินในถิ่นเก่า พวกเขามองเห็นความขัดแย้งในภูมิภาค รู้ดีว่าสามารถร่อนลงไปถ่วงดุลอำนาจของจีนในเขตเอเชียอาคเนย์ และหาประโยชน์ได้คุ้มค่า
พม่า...อเมริการีบกลับลำโดดเข้าพม่าเพราะต้องการทำธุรกิจพลังงาน ตามคำเชิญชวนของรัฐบาลพม่าที่เชื่อว่าทั้งบนบกและในทะเลนั้น ยังคงมีทรัพยากรน้ำมันและก๊าซมากกว่าที่สำรวจพบในเวลานี้หลายเท่า
(แต่ทีมวิเคราะห์เคยคุยกับผู้ที่เคยทำงานสำรวจ มา 20 ปี บอกว่า ฝั่งอ่าวไทยน่าจะมีมากกว่า)
พม่าหวังจะได้เงินจากการส่งออกน้ำมันและก๊าซถึง 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อปีภายในปี 2020 บริษัทยักษ์ในอเมริกา ย่อมอยากมีส่วนร่วม เดือนกรกฎาคม 55 ที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐ อนุญาตให้กลุ่มบริษัทข้ามชาติของอเมริกันเข้าไปลงทุนภาคน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในพม่า ถือเป็นการผ่อนคลายการคว่ำบาตรครั้งสำคัญต่อพม่า
กัมพูชา...นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศของสหรัฐ อเมริกามาประชุม ASEAN Regional Forum (ARF) ครั้งที่ 19 ที่กรุงพนมเปญ พร้อมพ่วงนักธุรกิจสหรัฐในนามของ US-ASEAN Business Council ให้ร่วมเดินทางไปเยือนเวียดนาม ลาว และกัมพูชา แถมมีการเชิญนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไปร่วมด้วย เพราะ ฮุน เซน ไปเชิญให้ยักษ์ใหญ่ของจีนคือ CNOOC ให้เข้ามาสำรวจหาแหล่งน้ำมันและก๊าซในอ่าวไทยด้วย ทำให้กลุ่ม Chevron ต้องผลักดัน นางฮิลลารี คลินตัน ออกหน้าแข่งขัน
เวียดนาม... สำหรับการเดินทางไปเยือนเวียดนามครั้งล่าสุดนั้น นางฮิลลารี คลินตัน ต้องการให้รัฐบาลเวียดนามแก้ไขปัญหาขัดแย้งกับจีน กรณีหมู่เกาะสแปรตลีย์และพาราเซลอย่างสันติเพราะอเมริกาไม่อยากให้เกิดการปะทะและกระทบกระทั่งกันทั้งจีนกับเวียดนามและอีก 4 ประเทศ คือฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน และไต้หวัน ถ้ามีการปะทะก็จะไม่สามารถเข้าไปขุดค้นเอาทรัพยากรทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในพื้นที่พิพาทดังกล่าวขึ้นมาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้
ฟิลิปปินส์... กรณีความขัดแย้งระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์ ในน่านน้ำใกล้เกาะสการ์โบโรห์ เมื่อวันที่ 11 เมษายน อเมริกาประกาศอย่างเปิดเผย ด้วยการซ้อมรบร่วมกับกองทัพ ฟิลิปปินส์ เป็นการจำลองเหตุการณ์บุกยึดคืนเกาะ ที่ถูกกองกำลังศัตรูยึดครองเหมือนจะบอกจีนว่าถ้าเล่นงานฟิลิปปินส์เมื่อใด อเมริกาจะเข้าช่วยทันที
ในยุคประธานาธิบดีอาร์โรโย เธอถูกมองว่า โปรจีน แต่ยุคของ นายเบนิญโญ อาคีโน เป็นประธานาธิบดี เขากลับมาแนบแน่นกับสหรัฐอีกครั้ง
AEC จะผนึกกำลังกันได้จริงหรือ
สิ่งที่กังวลกันวันนี้คือการประชุมครั้งล่าสุดที่ผ่านมา อิทธิพลของจีน ที่มีต่อ กัมพูชา ซึ่งเป็นประธานอาเซียน ทำให้ไม่สามารถออกแถลงการณ์การประชุมที่มีจีนเป็นคู่ขัดแย้งกับประเทศต่างๆ ในอาเซียนได้
และในปี 2014 พม่าจะเป็นประธาน จะเกรงใจจีนแค่ไหน
วันนี้อเมริกายังโฉบเข้ามาร่วมวง คนจีนต่างจากฝรั่งตรงที่ ถ้าพวกเขาสามารถทำมาหากินได้ ก็จะลงหลักปักฐานอยู่ต่อไป แต่ฝรั่งเหมือนนกอินทรีโฉบมาเอาประผลประโยชน์กลับไปกินที่รัง
ในท่ามกลางการแย่งชิงของมหาอำนาจอย่างจีนและอเมริกา ประเทศเล็กๆ ใน AEC จะต้องหาวิธีปกป้องผลประโยชน์และอธิปไตย
ต้องคิดว่าจะร่วมกับมหาอำนาจโดยไม่เสียเปรียบได้อย่างไร?
ประเทศไทยจะทำอย่างไร?
ทีมวิเคราะห์ประเมินว่าไทยไม่มีความสามารถที่จะตั้งรับการแข่งขันและการเอาเปรียบจากภายนอกได้ เพราะคนในประเทศเดียวกันมัวแต่แย่งอำนาจและผลประโยชน์แบบไร้กติกา ในขณะที่หลายประเทศสามารถสร้างกฎเกณฑ์และข้อตกลงเพื่อแบ่งผลประโยชน์และอำนาจแบบสันติวิธีตามกฎเกณฑ์ประชาธิปไตยได้
แต่ 6 ปีที่ผ่านมาพิสูจน์ว่าเราทำไม่ได้ วันนี้เราด่ากันแล้วก็ไปฟ้องศาล หาทางจับผิดทุกเรื่องแล้วไปฟ้องเพื่อชิงอำนาจ เพราะวิธีนี้เคยได้ผล เมื่อปี 2551 เรื่องงี่เง่าแบบนี้จึงเกิดขึ้นอีก ถ่วงรั้งความเจริญ และเป็นวังวนซ้ำซากจนน่ารำคาญ
ในขณะที่อเมริกาและจีนบุกข้ามประเทศมาหากิน วันนี้พม่าเปลี่ยนรถใหม่และขับออกมาแล้ว เวียดนามกำลังจะแซง เราขับมาไกลมากแต่ตอนนี้ขัดแย้ง ตีกันจนยางแตก เครื่องพัง
ที่ทำได้ตอนนี้คือ ซ่อมรถธรรมนูญให้เสร็จ เวลาขับต่ออย่าแย่งกันขับก็แล้วกัน
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย