http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-08-04

2505-2555 : 50 ปีคดีพระวิหาร โดย สุรชาติ บำรุงสุข

.

2505-2555 : 50 ปีคดีพระวิหาร
โดย สุรชาติ บำรุงสุข  คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 03 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1668 หน้า 36


...อาศัยเหตุดังกล่าวข้างต้น รัฐบาลไทยจึงขอให้ศาลพิพากษาชี้ขาดว่า
(1) ฟ้องของกัมพูชาดังปรากฏในฟ้อง และฟ้องละเอียดฟังไม่ขึ้น ขอให้ศาลพิพากษายกเสีย
(2) ขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่า ปราสาทเขาพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตไทย
หม่อมเจ้า วงษ์มหิป ชยางกูร 
ผู้แทนรัฐบาลแห่งประเทศไทย
29 กันยายน 2504



เส้นเขตแดนเป็นประดิษฐกรรมใหม่ทางภูมิศาสตร์ที่มากับยุคอาณานิคม 
และต่อมารัฐโบราณหรือจะเป็นรูปแบบการปกครองแบบเก่าในพื้นที่ในส่วนต่างๆ ของโลกก็นำเอาประดิษฐกรรมใหม่เช่นนี้มาเป็นองค์ประกอบของความเป็น "ชาติใหม่" (The New Nations) ที่ถูกสร้างขึ้นทับซ้อนกับพื้นที่อาณานิคม เมื่อพื้นที่ดังกล่าวได้รับเอกราชแล้ว 

สยามอาจจะมีข้อแตกต่าง เพราะสยามไม่ได้ถูกครอบครองโดยเจ้าอาณานิคม แต่เส้นเขตแดนของสยามก็เกิดขึ้นในบริบทของยุคสมัยดังกล่าวไม่แตกต่างกับ "ชาติใหม่" ที่รัฐเจ้าอาณานิคมมีบทบาทอย่างมากกับการกำเนิดของเส้นทางภูมิศาสตร์การเมืองเช่นนี้ จนกลายเป็นเส้น "ขอบขัณฑสีมา" ของสยามในเวลาต่อมา 
ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเส้นนี้เกิดขึ้นบนบริบทของอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน แต่พระมหากษัตริย์ของสยามก็มีจุดมุ่งหมายทางยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนที่จะสร้างสยามให้เป็น "รัฐสมัยใหม่" และมีเส้นเขตแดนกำกับพื้นที่ที่เป็นเขตอธิปไตยของตน 

ประเด็นสำคัญอีกส่วนหนึ่งก็คือ พระองค์เล็งไปสู่อนาคตที่เชื่อมั่นว่าการมีเส้นเขตแดนเช่นเดียวกับบรรดาอารยรัฐในตะวันตก จะเป็นเครื่องมือช่วยป้องกันการคุกคามของรัฐมหาอำนาจ เช่น กรณีของฝรั่งเศสที่แสดงการคุกคามต่อดินแดนและอธิปไตยของสยามมาโดยตลอด
ดังนั้น ในสนธิสัญญา 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1904 (ข้อ 3) คู่ภาคีทั้งสองฝ่ายจึงได้มีการจัดตั้ง "คณะกรรมการผสม" อันประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายเพื่อทำการปักปันอาณาเขตต่อกัน และการปักปันนี้ได้ดำเนินการตั้งแต่ปี 1904 (พ.ศ.2447) จนถึงปี 1907 (พ.ศ.2450) จนสำเร็จเป็น "แผนที่ปักปันเขตแดน" ระหว่างสยามกับอินโดจีนของฝรั่งเศส 
สภาพเช่นนี้ก็คือสัญญาณทางการเมืองว่า เส้นเขตแดนระหว่างสยามกับดินแดนในความปกครองของเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสในอินโดจีนนั้น จบลงแล้วจากการปักปันที่ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2447 และสิ้นสุดลงในปี 2450 และสยามก็ก้าวสู่ความเป็นรัฐสมัยใหม่ ที่แตกต่างอย่างมากกับรัฐโบราณของสยามแต่เดิมที่ไม่เคยมี "เส้นสายทางภูมิศาสตร์" ขีดกำกับดินแดนภายใต้การปกครองของตนมาก่อน

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ สยามมีเส้นเขตแดนที่เป็นวิทยาศาสตร์ (scientific frontier) จริงๆ


หลังจากการเสื่อมถอยของเจ้าอาณานิคมตะวันตก สยามพยายามปรับเส้นเขตแดน เพราะเชื่อว่าเส้นเขตแดนที่ถูกกำหนดขึ้นนั้น ไม่เป็นธรรมแก่ตน หากแต่เป็นผลของความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างสยามกับเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส 
ความสำเร็จของสยามเกิดขึ้นในช่วงที่รัฐมหาอำนาจอย่างญี่ปุ่นกำลังขยายบทบาทในเอเชีย สงครามอินโดจีนซึ่งว่าที่จริงก็เป็นส่วนหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเอเชียนั้น กองทัพไทยเป็นฝ่ายที่ได้รับชัยชนะในช่วงต้นปี 2484 (ค.ศ.1941) 
และถือว่าเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของไทย โดยมีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเป็นพยานหลักฐาน

แต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ได้จบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายอักษะ ญี่ปุ่นเป็นผู้แพ้สงคราม อันส่งผลให้การปรับเส้นเขตแดนของไทยนั้นถูกถือว่าเป็นผลของสงครามภายใต้การสนับสนุนของญี่ปุ่น ดังนั้น เมื่อสงครามสิ้นสุดลง ปัญหาเรื่องดินแดนที่อยู่ภายใต้กรอบของเส้นเขตแดนใหม่ในปี 2484 จึงกลายเป็นข้อพิพาททางการเมือง และจบลงด้วยสัญญาประนีประนอมระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ซึ่งลงนามกันที่กรุงวอชิงตันเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2489 
ผลของความตกลงเช่นนี้ทำให้เส้นเขตแดนไทยถอยกลับไปสู่ "สถานะเดิม" ก่อนที่ญี่ปุ่นจะเข้ามาทำการไกล่เกลี่ย

แม้ปัญหาเส้นเขตแดนไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศสในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 จะจบลงที่วอชิงตันในปี 2489 ซึ่งก็ดูเหมือนว่า ปัญหาน่าจะสิ้นสุดลงจริงๆ แต่ทางฝ่ายฝรั่งเศสและกัมพูชาเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ของไทยกลับเข้าสู่พื้นที่บริเวณปราสาทพระวิหารอีก ซึ่งประมาณว่าเหตุเกิดในช่วงเดือนมกราคม 2492 (ค.ศ.1949) และสถานทูตฝรั่งเศสที่กรุงเทพฯ ได้ยื่นหนังสือประท้วงในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2492

หลังสงครามกู้เอกราชที่เดียนเบียนฟูในปี 2497 ทำให้กัมพูชากำเนิดเป็นรัฐเอกราชใหม่ และมีการส่งหนังสือประท้วงให้รัฐบาลไทยถอนเจ้าหน้าที่ออกจากบริเวณปราสาทพระวิหาร
ต่อมารัฐบาลกัมพูชาได้ประกาศความตกลงใจที่จะส่ง "กำลังทหาร" ไปปราสาทพระวิหาร แต่ก็ยังไม่ได้มีกำลังเข้าสู่พื้นที่ดังกล่าวจริง แต่รัฐบาลไทยชิงความได้เปรียบด้วยการส่งกำลังไปยังปราสาทพระวิหารในเดือนมิถุนายนของปีดังกล่าว 
การเจรจาทางการทูตระหว่างประเทศทั้งสองเกิดขึ้นในช่วงปี 2501 จนปี 2502 ล้วนไม่เป็นผลแต่อย่างใด 
ดังนั้น ในช่วงปลายเดือนกันยายนของปี 2502 รัฐบาลของทั้งสองฝ่ายจึงตัดสินใจที่จะนำข้อพิพาทในกรณีปราสาทพระวิหารขึ้นสู่การตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (หรือศาลโลก)


คําฟ้องของรัฐบาลกัมพูชามี 2 ประเด็น คือ

1. ราชอาณาจักรไทยจะต้องถอนกำลังทหารออกไปจากปราสาทเปรี๊ยะวิเฮียร์ (หมายถึงปราสาทพระวิหาร) ซึ่งได้ส่งเข้าไปประจำตั้งแต่ปี ค.ศ.1954 (พ.ศ.2497) 
2. อธิปไตยเหนือดินแดนปราสาทเปรี๊ยะวิเฮียร์เป็นของราชอาณาจักรกัมพูชา

การต่อสู้ในทางการศาลดำเนินการมาตั้งแต่กลางปี 2502 และศาลโลกได้ตัดสินในวันที่ 15 มิถุนายน 2505 โดยลงคะแนนเสียง 9 ต่อ 3 ว่า
"ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา"

นอกจากนี้ ยังมีคำตัดสินเพิ่มอีก 2 ส่วน ได้แก่ 
- "ประเทศไทยมีพันธะต้องถอนกำลังทหารหรือตำรวจ ผู้เฝ้ารักษาหรือผู้ดูแลซึ่งประเทศไทยส่งไปประจำอยู่ที่ปราสาทพระวิหาร หรือในบริเวณใกล้เคียงบนอาณาเขตของกัมพูชา" (เสียง 9 ต่อ 3) 
- "ประเทศไทยมีพันธะที่จะต้องคืนให้แก่กัมพูชา บรรดาวัตถุชนิดที่ได้ระบุไว้ในคำแถลงสรุปข้อห้าของกัมพูชา ซึ่งเจ้าหน้าที่ไทยอาจจะได้โยกย้ายออกไปจากปราสาทหรือบริเวณพระวิหาร นับตั้งแต่วันที่ประเทศไทยเข้าครอบครองพระวิหาร เมื่อ ค.ศ.1954" (เสียง 7 ต่อ 5)

หลังจากคำตัดสินของศาลโลกในวันดังกล่าวแล้ว รัฐบาลไทยโดยนายกรัฐมนตรี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้กล่าวปราศรัยเป็นครั้งแรกอย่างเป็นทางการถึงท่าทีของไทยต่อคำตัดสินที่เกิดขึ้นในวันที่ 4 กรกฎาคม 2505  
โดยประเด็นสำคัญของถ้อยแถลงดังกล่าวก็คือ "แม้ว่ารัฐบาลและประชาชนชาวไทย จะได้มีความรู้สึกสลดใจและขมขื่นเพียงใด ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ ก็จะต้องปฏิบัติตามพันธกรณีในกฎบัตรสหประชาชาติ กล่าวคือ จำต้องยอมให้กัมพูชามีอธิปไตยเหนือพระวิหารนั้น ตามพันธกรณีแห่งกฎบัตรสหประชาชาติ"

ในทางจิตวิทยา จอมพลสฤษดิ์กล่าวถึงกรณีนี้ว่า "การสูญเสียปราสาทพระวิหารคราวนี้ เป็นการสูญเสียที่สะเทือนใจคนไทยทั้งชาติ ฉะนั้น แม้ว่ากัมพูชาจะได้ปราสาทพระวิหารนี้ไป ก็คงได้ไปแต่ซากปรักหักพังและแผ่นดินเฉพาะที่รองรับพระวิหารนี้เท่านั้น แต่วิญญาณของปราสาทพระวิหารคงยังอยู่กับไทยตลอดไป"  
หรือในอีกประโยคหนึ่ง จอมพลสฤษดิ์เรียกว่า "ซากปราสาทพระวิหาร" และย้ำว่าไทยไม่ควรเอาเกียรติภูมิของประเทศไปแลกกับ "ซากปราสาท"



ผลคำตัดสินของศาลโลกผูกพันรัฐบาลไทย ทำให้ในที่สุดรัฐบาลไทยมีมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 10 กรกฎาคม 2505 กำหนดเขตบริเวณปราสาทพระวิหารขึ้น โดยได้มีการจัดทำป้ายแสดงเขต พร้อมทั้งให้ทำรั้วลวดหนามเพิ่มขึ้นด้วย... ข้อพิพาทกรณีอธิปไตยเหนือตัวปราสาทพระวิหารจึงถือเป็นอันสิ้นสุดลง

อีก 45 ปีต่อมา รัฐบาลกัมพูชาเสนอขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ดังปรากฏในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 31 ที่ประเทศนิวซีแลนด์ในวันที่ 23 มิถุนายน ถึง 2 กรกฎาคม 2550... 
ปัญหาปราสาทพระวิหารเริ่มหันกลับสู่ความสนใจของผู้คนในสังคมไทยอีกครั้งหนึ่ง!  
แต่การหวนคืนของปัญหาพระวิหารครั้งนี้เกิดขึ้นในสถานการณ์การเมืองไทยที่เป็นปัญหา เพราะเป็นการเมืองหลังจากการยึดอำนาจในวันที่ 19 กันยายน 2549

ดังนั้น เมื่อการเลือกตั้งเกิดขึ้นในเดือนธันวาคม 2550 ชัยชนะในการเลือกตั้งดังกล่าวนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลของ นายสมัคร สุนทรเวช ในเดือนมกราคม 2551 และรัฐบาลพยายามจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการจดทะเบียนพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นพื้นที่ทับซ้อน 
ดังนั้น ในวันที่ 18 มิถุนายน 2551 รัฐมนตรีต่างประเทศไทย รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา และผู้แทนยูเนสโกจึงได้ออกแถลงการณ์ร่วมกัน

ดังได้กล่าวแล้วว่าปัญหานี้เกิดขึ้นท่ามกลางปัญหาการเมืองไทย แถลงการณ์ร่วม 18 มิถุนายน 2551 จึงถูกกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาลฟ้องต่อศาลปกครองกลาง และศาลได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในวันที่ 27 มิถุนายน 2551 
และต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์โดยมีคำวินิจฉัยว่า แถลงการณ์ร่วมดังกล่าวมีองค์ประกอบของความเป็นสนธิสัญญา จึงต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550  
ซึ่งส่งผลให้รัฐมนตรีต่างประเทศต้องลาออก


ปรากฏการณ์เช่นนี้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า กรณีปราสาทพระวิหารได้กลายเป็น "วิกฤต" ในการเมืองไทยทันที 
และยิ่งเมื่อมีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลจากพรรคเพื่อไทยไปสู่พรรคประชาธิปัตย์ ปัญหา "วิกฤตพระวิหาร" ก็ยิ่งทวีความเข้มข้นขึ้น พร้อมๆ กับการเคลื่อนไหวทางการเมืองบนถนนก็ทวีความรุนแรงขึ้น 
ดังปรากฏชัดเจนตั้งแต่ปี 2551 เรื่อยมา และก็มีเหตุการณ์ต่างๆ ที่ก่อให้เกิดผลเชิงลบในความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา มาโดยตลอด

ความตึงเครียดตามบริเวณแนวชายแดนของประเทศทั้งสองกลายเป็นสิ่งปกติ แต่ก็มีข้อดีที่ไม่มีการปิดชายแดน 
ความตึงเครียดดังกล่าวในที่สุดก็นำไปสู่การสู้รบตามแนวชายแดนถึง 2 ครั้งในช่วงต้นปี 2554 คือที่บริเวณจังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดสุรินทร์ ตามลำดับ 
ซึ่งรัฐบาลกัมพูชาได้ตอบโต้ด้วยการร้องขอให้ศาลโลกออกมาตรการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองตัวพระวิหาร 

และในกลางปี 2554 ศาลโลกจึงได้ออกมาตรการชั่วคราวที่กำหนดเขตปลอดทหารชั่วคราวโดยให้รัฐคู่กรณีต้องถอนกำลังออกจากพื้นที่ และห้ามมีกิจกรรมทางทหารในพื้นที่ดังกล่าว 
ดังนั้น ในวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา รัฐบาลไทยและกัมพูชาจึงได้ปรับกำลังทหารออกจากพื้นที่ พร้อมกับนำเอากำลังตำรวจตระเวนชายแดนเข้าประจำการแทน และประมาณการว่าราวเดือนตุลาคม 2556 ศาลโลกอาจจะออก "มติจริง" ต่อกรณีความขัดแย้งปราสาทพระวิหาร
ซึ่งก็คงจะต้องรอดูว่า มติจริงจะเป็นเช่นใดในอนาคต หรือจะยึดถือแนวของมติชั่วคราวดังที่กล่าวมาแล้ว

แต่อย่างน้อย 50 ปีหลังจากคำตัดสินศาลโลกในปี 2505 ก็ได้เห็นบทเรียนสำคัญว่า ปัญหาข้อพิพาทเรื่องปราสาทพระวิหารไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยลัทธิชาตินิยมและลัทธิทหารนิยม 
และหากยิ่งถลำลึกไปกับลัทธิทั้งสองมากเท่าใด ก็จะยิ่งกลายเป็นความเสียเปรียบทางการเมืองมากขึ้นเท่านั้น!



.