.
ฝันกลางวัน
โดย กิติกร คอลัมน์ มุมจิตวิทยา
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 03 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1668 หน้า 76
ฝันกลางวัน (daydream) เป็นการฝันที่ผู้ฝันยังตื่นอยู่ อาจฝันตอนกลางวันหรือตอนกลางคืนก็ได้ คนจำนวนไม่น้อยฝันกลางวันเพื่อใช้คลี่คลายแก้ปัญหาความไม่สบายใจของตน แต่เป็นการคลี่คลายได้ชั่วคราวเท่านั้น ก่อนที่จะได้วิธีคลี่คลายที่ดีกว่า
มีเหมือนกันที่คนใช้ฝันกลางวันไปตลอดชีวิต!
ในมุมมองของวิชาจิตวิเคราะห์อธิบายว่าฝันกลางวันเป็นกระบวนการหรือกลไกทางจิตอย่างหนึ่ง (defense mechanism) เพื่อช่วยประคับประคองชั่วคราวเพื่อไม่ให้จิตเจ็บปวดจนเกินไป
เหตุเพราะในชีวิตคนเรานั้น ไม่ครั้งหนึ่งก็หลายครั้งต้องเผชิญกับความคับข้องใจในรูปแบบต่างๆ ที่ไม่สมปรารถนา
ต้องเผชิญกับความอึดอัดขัดแย้งในใจ เพราะไม่อาจตัดสินใจได้ง่ายๆ ว่าจะรับหรือปฏิเสธ สู้หรือหนีไปทางซ้ายหรือทางขวา หรือจะไปทางไหนกันดี กับต้องเผชิญกับแรงกดดันต่างๆ ทั้งจากภายนอกและภายในอยู่เนืองๆ
การที่ต้องเผชิญกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือทั้งหมด ทำให้จิตใจว้าวุ่นถ้าไม่อาจแก้ไขได้ในเวลาอันสมควรก็จำต้องทนกับความว้าวุ่นนี้เรื่อยไป
ในระหว่างเวลาแห่งความว้าวุ่นนั้น ฝันกลางวันช่วยเยียวยาจิตใจได้บ้าง แม้จะไม่ได้ผลสมบูรณ์ก็ยังดีกว่าปล่อยให้ชีวิตว้าวุ่นเรื่อยไปจนกลายเป็นว้าวุ่นเรื้อรัง หรือจนกว่าจะแก้ไขคลี่คลายได้ซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อไหร่
บางคนว่าฝันกลางวันเป็นยาระงับปวดอย่างหนึ่ง ใช้ได้แต่อย่าใช้มากเพราะจะติดยา คือเมื่อเกิดปัญหามักไม่รีบหาทางแก้ไขด้วยเหตุผลตามความเป็นจริง แต่จะใช้ฝันกลางวันอย่างเดียว ต้นตอของปัญหาจึงไม่ได้รับการแก้ไขตนเอง ก็อาจเป็นที่รำคาญของคนอื่น
ที่สำคัญก็คือ ต้องสูญพลังงานไปกับการฝันกลางวันไม่ใช่น้อย
บางทีเราเรียกฝันกลางวันว่าความเพ้อฝัน-แฟนตาซี (fantasy) คือผูกเรื่องราวเพ้อเจ้อขึ้นเพื่อตอบสนองอารมณ์ความต้องการโดยไม่ใช้หลักความเป็นจริง
ชายผู้หนึ่งอาจแฟนตาซีว่าตนเองเป็นเศรษฐี แต่ไม่เคยได้ใช้ความพยายามอะไรเลย เขาอาจรู้สึกภาคภูมิใจอยู่ครู่หนึ่ง แต่เมื่อตื่นจากฝันก็พบความจริงว่ายังเหมือนเดิม ยากจนเหมือนเดิม
ฝันกลางวันในอีกมุมหนึ่งกลายเป็นอุปสรรคขวางกั้นความก้าวหน้าถ้ายังฝันไม่หยุด
หญิงสาวบางคนอาจฝันกลางวันถึงชายในอุดมคติโดยไม่ยอมรับความเป็นจริง เธอย่อมไม่อาจพบความรักที่หวานชื่นได้
นักศึกษาที่เพียรฝันกลางวันว่าได้คะแนนการเรียนดีมากอยู่เสมอ เขาย่อมไม่อาจสำเร็จการศึกษาได้ดีเลย
ฝันกลางวันหรือเพ้อฝัน-แฟนตาซี ย่อมเป็นไปโดยอัตโนมัติ เป็นกลไกการทำงานของจิตใต้สำนึก รู้แต่สุขสบายได้ในเวลาสั้นๆ ในระหว่างเวลาฝันนั่นเอง
เมื่อเดือนสองเดือนที่ผ่านมามีฝันกลางวันทางการเมืองสองเรื่องใหญ่ๆ ชวนให้ฮือฮา
เรื่องแรก เป็นฝันกลางวันของ คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ที่บอกว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มอบหมายให้สตรีสูงศักดิ์สองคนกับบุรุษผู้อาวุโสอีกคนหนึ่งมาติดต่อเพื่อขอให้พรรคประชาธิปัตย์ร่วมกับพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลร่วมกัน โดยจะมีการตอบแทนกันและกันอย่างงดงาม
โฆษกพรรคเพื่อไทยยืนยันว่าคุณสุเทพฝันกลางวันแน่ๆ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่พรรคเพื่อไทยจะรวมกับพรรคประชาธิปัตย์ โฆษกย้ำว่าเหมือนน้ำกับน้ำมัน!
คุณสุเทพย่อมจะไม่ฝันกลางวันเลย หากจงใจออกข่าวนี้เพื่อเสี้ยมหรือกระทำการ ลับ ลวง พราง เพื่อเป้าหมายบางอย่าง หรือมีการติดต่อจริงโดยผู้ปรารถนาดี หรือโดยนายหน้าค้าสันติภาพ
น่าเสียดาย ฝันกลางวันของคุณสุเทพจุดไม่ติดและหายไปอย่างรวดเร็ว
ส่วนเรื่องหลัง เป็นฝันกลางวันที่มาพร้อมกับเรื่องแรก แต่กลับไปงอกงามที่บุรีรัมย์ คนที่นั่นฝันว่า ผู้ยิ่งใหญ่ของจังหวัดนั้นจะได้เป็นรองนายกรัฐมนตรี และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย-มท.1 เสียด้วย
กรณีการไต่สวนคดีล้มล้างประชาธิปไตยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 5-6 กรกฎาคมที่ผ่านมานั้น มีความพยายามจะเอา "จินตนาการ" ไปตัดสินข้อเท็จจริงในคดี ซึ่งเป็นอันตรายกับทุกฝ่ายและกับบ้านเมือง
จินตนาการไม่ใช่แฟนตาซีหรือฝันกลางวันก็จริง แต่เป็นอะไรๆ ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกันเป็นอย่างมาก
++++
บทความของปี 2554
กลไกทางจิตของนักการเมือง
โดย กิติกร คอลัมน์ มุมจิตวิทยา
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1614 หน้า 32
พฤติกรรมธรรมชาติของนักการเมืองอย่างหนึ่ง ที่ระบุไว้ในหนังสือชื่อ "โรคจิตการเมือง" โดย ท่านประมณฑ์ ปัญญา และ นายแพทย์บุตร ประดิษฐ์วณิช คือโน้มเอียงไปในทำนองพูดจาอะไรเว่อร์ๆ ปรักปรำ และใส่โทษคู่ต่อสู้ด้วยถ้อยคำแปลกประหลาดต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงเวลาหาคะแนนเสียง (ซึ่งเพิ่งผ่านไปเมื่อ 3 กรกฎาคมนี้นี่เอง)
ก็ขอให้รู้ไว้เถิดว่านั่นเป็นคำพูดหรือการกระทำเพื่อคลี่คลายอารมณ์คับข้องใจลึกๆ ของนักการเมือง อันหนักหนาสาหัส ด้วยกลัวว่าจะกลายเป็นผู้แพ้และผิดบาปไป
ในหนังสือโรคจิตการเมืองของท่านทั้งสองดังกล่าวข้างต้น ชี้ไว้ทำนองว่า พฤติกรรมที่นักการเมืองแย่ๆ บางคนก็คือ การใส่โทษคนอื่น (projection) ถือว่าเป็น การทอดความผิดของตนใส่คนอื่น โดยไม่รู้สึกละอาย ทั้งนี้ ก็เพื่อตนจะได้รู้สึกเบาสบายขึ้นบ้าง
"นักการเมืองของเรา ที่แก้ปัญหาค่าครองชีพไม่ตก จะค่อยๆ รู้สึกแจ่มใสสบายใจขึ้น ถ้าได้ปรักปรำพลเมืองว่าเป็นเพราะประชาชนไม่ให้ความร่วมมือ นั่นคือ นักการเมืองที่แบกความรู้สึกผิดบาปไว้จนหนักอึ้ง ต้องทอด (projecting) ความผิดไปให้ประชาชนช่วยแบกไว้เสียบ้าง เป็นการช่วยมิให้จิตใจของนักการเมืองต้องได้รับความปวดร้าวทรมานจนเกินไป"
จึงนักการเมืองคนใดก็ตามชอบที่จะพูดใส่โทษคู่แข่งหรือใครๆ มากเพียงใดก็ตาม แสดงว่าเขามีความคับข้องใจมากเพียงนั้น ที่เพิ่งผ่านมา นักการเมืองบางคนสารภาพว่านอนไม่หลับทั้งคืน และบางคนก็ถึงกับหลั่งน้ำตาต่อหน้าประชาชน นั่นคือใจที่เจ็บปวด!
ถามว่าเขานอนไม่หลับจริงหรือ และเขาเสแสร้งหลั่งน้ำตาจริงหรือไม่ คำตอบก็คือ จริง เขานอนไม่หลับจริงและเขาไม่ได้เสแสร้งหลั่งน้ำตา เพราะเขาเจ็บปวดปั่นป่วนใจมาก การได้ใส่โทษหรือปรักปรำคู่ต่อสู้ ทำให้เขาสบายใจขึ้นบ้าง
ที่จริง การใส่โทษผู้อื่น เพื่อความคลี่คลายสบายใจตนเองนั้น ทางจิตวิทยา (สำนักจิตวิเคราะห์) ถือว่าเป็นการทำงานของจิตแบบเป็นกลไกอย่างหนึ่ง เรียกว่า กลไกทางจิต ทั้งนี้ ก็เพื่อป้องกันไม่ให้จิตป่วย จิตปวดร้าว ตกต่ำร้าวราน หรือเสียหน้า แต่เป็นการป้องกันไว้ได้เพียงชั่วคราว เป็นยาระงับปวดได้เพียงของเทียมหรือของทำเหมือนเท่านั้น ไม่ใช่การแก้ปัญหา เพียงทุเลาปัญหา ด้วยรากเหง้าของปัญหายังไม่ได้ถูกแก้ไข
และถ้าคุณใช้กลไกทางจิตบ่อยๆ นอกจากจะเป็นที่น่าเบื่อหน่าย น่าอับอายต่อใครๆ เขาด้วย เช่น โพลสำรวจความนิยมพรรคการเมืองของสำนักที่น่าเชื่อถือทุกสำนัก และการสำรวจกระทำหลายครั้งต่างยืนยันว่าพรรคของคุณตกเป็นรอง ชนิดถูกทิ้งห่างมากด้วย คุณย่อมเจ็บปวดรวดร้าวรานใจอย่างหนัก แล้วคุณก็คลี่คลายมันออกไปด้วยวิธีที่คุณถนัด คือ ใส่โทษ ทันที ว่าเป็น โพลเทียม ไม่ดี ไม่ถูกต้องและเชื่อไม่ได้
กระนั้นก็ตาม ใจที่ปวดร้าวของคุณก็ยังรุกรานคุณอยู่ตลอดเวลา คุณจึงใช้กลไกทางจิตอีกแบบหนึ่งเพื่อประคับประคองใจไม่ให้เจ็บปวดจนเกินไป
คุณอาจพูดทำนองว่า "โพลของผมซิถูกต้องกว่า เราเป็นผู้ชนะสูสี 3-4 เสียง... เขียนแปะข้างฝาไว้ได้เลย" ซึ่งคือการใช้เหตุผลเข้าข้างตนเอง (rationalization) คือเถียงไปข้างๆ คูๆ ไปน้ำขุ่นๆ
เป็นการใช้เหตุผลแบบองุ่นเปรี้ยว
ซึ่งก็ได้ผลเหมือนกัน แต่เป็นผลสั้นๆ ปลอมๆ ทำให้คุณเจ็บปวดน้อยลงชั่วคราว
(ความจริงก็คือ คุณไม่ใช่ชนะสูสี 3-4 เสียง แต่คุณตกเป็นรองเป็นร้อย อาจต้องเอาปิ๊บคลุมหัว และถึงวันนั้นคุณยังบอกว่าปิ๊บคลุมหัวสิดี มีหางยาวรุงรังไม่สวย หางด้วนดีกว่า ซึ่งเป็นการใช้เหตุผลแบบมะนาวหวาน คุณเป็นตัวตลกแน่นอน และคุณกำลังเจ็บหนัก!)
มีกลไกทางจิตอีกหลายแบบที่นักการเมืองชอบใช้ เช่น อาจใช้อารมณ์เพ้อฝัน แฟนตาซี หรือ ใช้ฝันกลางวัน ว่าน่าจะได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง ขณะนั้นคุณรู้สึกว่าคะแนนนิยมของคุณแย่ และคุณเจ็บปวดปั่นป่วนใจเต็มที ฝันกลางวันทำให้คุณกระชุ่มกระชวยได้ชั่วคราว
การใช้กลไกทางจิตแต่พอควรก็โอเค เพื่อประคับประคองจิตที่เจ็บปวดให้อยู่ได้โดยไม่เป็นที่รำคาญแก่คู่แข่งและคนข้างเคียงคือประชาชนมากนัก
หากใช้มาก พร่ำเพรื่อจนเกินไป จะกลายเป็นตัวตลกเชยๆ อย่างช่วยไม่ได้
และเราก็เห็นตัวตลกหลายตัวหลังจากการเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านไปไม่นานนี้
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย