http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-09-08

สมรภูมิความมั่นคง! สู่ปีที่สองรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดย สุรชาติ บำรุงสุข

.

สมรภูมิความมั่นคง! สู่ปีที่สองรัฐบาลยิ่งลักษณ์
โดย สุรชาติ บำรุงสุข  คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 07 กันยายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1673 หน้า 36 


"สิ่งใหม่ๆ ทั้งปวง
ล้วนหล่อหลอมออกมาจากการต่อสู้ที่ยากลำบาก"
ประธานเหมาเจ๋อตุง
สรรนิพนธ์ เล่ม 2



รัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก้าวขึ้นสู่การบริหารประเทศเป็นระยะเวลาครบหนึ่งปี แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นหนึ่งปีที่รัฐบาล โดยเฉพาะตัวนายกรัฐมนตรีเองต้องเผชิญกับความท้าทายในรูปแบบต่างๆ จนนักวิเคราะห์การเมืองหลายๆ คนในช่วงที่ผ่านมากังวลอย่างมากกับความอยู่รอดของรัฐบาล 
หากพิจารณาถึงปัญหาความมั่นคงไทยภายใต้การบริหารจัดการของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็จะเห็นได้ถึงปัญหาความมั่นคงชุดใหม่ ขณะเดียวกันปัญหาความมั่นคงชุดเก่าที่ตกทอดมาแต่เดิมก็ยังคงเป็นความท้าทายคู่ขนานกันไป 
ดังนั้น หากมองไปสู่อนาคตของรัฐบาลยิ่งลักษณ์เมื่อก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 ก็จะพบว่าปัญหาและความท้าทายที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก สิ่งที่จะท้าทายมากขึ้นก็อาจจะเป็นความรุนแรงของปัญหาที่มีมากขึ้นนั่นเอง

ฉะนั้น หากจะลองสำรวจในภาพรวม รัฐบาลยิ่งลักษณ์น่าจะเผชิญกับความท้าทายในบริบทด้านความมั่นคงที่มีประเด็นหลักดังต่อไปนี้


1) ปัญหาความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

สถานการณ์ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของไทยในบริบทของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันต้องถือว่า ยังคงมีความเปราะบางอยู่ค่อนข้างมาก
คงต้องยอมรับว่าวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในยุโรปนั้น สร้างความกังวลให้กับผู้นำรัฐบาลไทยเป็นอย่างมาก ความคิดที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ก้าวกระโดด เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก 
ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจภายในเองก็ไม่ได้สดใสเท่าใดนัก โดยปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมก็คือ การขยับตัวขึ้นของราคาสินค้า ซึ่งทำให้คนชั้นกลางและคนชั้นล่างได้รับผลกระทบอย่างมาก
และขณะเดียวกันก็กลายเป็นปัจจัยให้พรรคฝ่ายค้านฉวยโอกาสนำเอาประเด็นเช่นนี้มาเป็นเงื่อนไขของการโจมตีทางการเมือง

ในอีกด้านหนึ่งของปัญหาความมั่นคงทางเศรษฐกิจที่ผูกโยงกันเอาไว้อย่างมากก็คือ ปัญหาการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน ดังนั้นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของความมั่นคงทางเศรษฐกิจจะเป็นจริงไม่ได้เลย ถ้ารัฐบาลไม่สามารถสร้างยุทธศาสตร์ของความมั่นคงด้านพลังงานคู่ขนานกันไป
หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ รัฐบาลกำลังเผชิญปัญหาความมั่นคงคู่ขนานระหว่างเศรษฐกิจและพลังงานนั่นเอง


2) ปัญหาความมั่นคงกับภัยธรรมชาติ

หนึ่งในปัญหาความมั่นคงที่สำคัญของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในปี 2554 ก็คือ ปัญหาภัยคุกคามทางธรรมชาติ เราอาจจะต้องยอมรับว่าประเด็นเช่นนี้เป็นเรื่องร่วมสมัยสำหรับรัฐบาลในโลก "ความมั่นคงใหม่" ที่ภัยด้านความมั่นคงมีลักษณะหลากหลาย ไม่ใช่แค่เรื่องของภัยคุกคามทางทหารในแบบเดิม
การต้องเผชิญกับมหาอุทกภัยในปี 2554 เป็นบทเรียนสำหรับการบริหารจัดการของรัฐบาลไทยอย่างดี 
จนทำให้วันนี้รัฐบาลยิ่งลักษณ์พยายามสร้างความมั่นใจทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจด้วยการจัดทำระบบป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะในเขตอุตสาหกรรม 
แต่ในปีที่ 2 ของรัฐบาล สิ่งที่อาจจะต้องคู่ขนานกันอีกด้านหนึ่งก็คือ ถ้าปัญหาภัยธรรมชาติในปี 2555 เปลี่ยนจาก "น้ำท่วม" เป็น "ฝนแล้ง" รัฐบาลจะเตรียมรับมือกับปัญหาเช่นนี้อย่างไร 
เงื่อนไขความเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศจึงเป็นอีกโจทย์หนึ่งที่ท้าทายรัฐบาลยิ่งลักษณ์เป็นอย่างยิ่ง 
เพราะสำหรับรัฐบาลแล้ว ทั้ง "น้ำท่วม" และ "ฝนแล้ง" เป็นปัญหาทางการเมืองทั้งสิ้น


3) ปัญหาความมั่นคงในภาคใต้

ปัญหาการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เป็นโจทย์ของทุกรัฐบาลนับจากกรณีปล้นปืนปี 2547 เป็นต้นมา และจวบจนถึงวันนี้ยังไม่มีรัฐบาลไหนที่จะกล่าวอ้างได้ว่า รัฐบาลของตนประสบความสำเร็จมากกว่ารัฐบาลอื่น 
หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ทุกรัฐบาลล้วน "ติดกับดักสงคราม" อยู่ในภาคใต้ไม่แตกต่างกัน
ว่าที่จริง คงไม่ผิดอะไรนักที่จะกล่าวสรุปว่า โจทย์เรื่องนี้เป็น "ปัญหาสุดยาก" ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาดังกล่าวไม่ใช่แต่เพียงเรื่องของความสามารถของรัฐบาลเท่านั้น หากแต่ยังผูกโยงอยู่กับบทบาทของกลไกรัฐในส่วนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของกลไกด้านความมั่นคง ทั้งในสายงานของพลเรือน ตำรวจ ทหาร ซึ่งก็ล้วนถูกท้าทายไม่แตกต่างกัน 

และที่สำคัญก็คือ ความสำเร็จและความล้มเหลวใดๆ ก็ตามในภาคใต้มีส่วนสัมพันธ์โดยตรงกับบทบาทของทหาร
โดยฝ่ายทหารได้ขยายบทบาทในภาคใต้มากขึ้นอย่างชัดเจนนับตั้งแต่รัฐประหาร 2549 ด้วยการขยายบทบาทของ กอ.รมน. และปัจจุบันก็มีความพยายามในการคงบทบาทของตนผ่านการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่แตกต่างกัน
ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลดูเหมือนจะยังจัดระบบงานไม่ลงตัว ฝ่ายของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบกลับขับเคลื่อนบทบาทของตนผ่านความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
จนแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ในระยะเวลา 9 ปีครึ่งของความรุนแรงภาคใต้นั้น ฝ่ายรัฐบาลยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้เท่าใดนัก
และแนวโน้มก็คงเป็นไปในทิศทางดังกล่าวเมื่อก้าวเข้าสู่ปีที่ 10 ซึ่งก็จะท้าทายรัฐบาลยิ่งลักษณ์อย่างมากในการก้าวสู่ปีที่ 2


4) ปัญหาความมั่นคงทางการเมือง

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ถูกมองจากนักสังเกตการณ์ว่า เสถียรภาพทางการเมืองเป็นปัญหาสำคัญ และหากย้อนรอยการโค่นล้มรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา ก็จะเห็นได้ถึงการปลุกระดม "กระแสต่อต้านทักษิณ" จนนำไปสู่การเปลี่ยนรัฐบาลมาแล้วในรูปแบบต่างๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลุก "กระแสคนเสื้อเหลือง" ให้กดดันรัฐบาลจนไม่สามารถทำงานได้ 
แต่หนึ่งปีที่ผ่านมาของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็พิสูจน์ว่า กระแสเสื้อเหลืองไม่สามารถยกระดับได้จริง แม้ว่าจะมีความพยายามในการก่อกระแสมาหลายครั้งก็ตาม

ในอีกส่วนหนึ่งก็มีความกังวลอย่างมากกับการก่อรัฐประหารของกองทัพ ซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่าทหารยืนอยู่คนละฝ่ายกับพรรคเพื่อไทย แต่ด้วยเงื่อนไขทางการเมืองใหม่ประกอบกับการจัดความสัมพันธ์กับกองทัพผ่านตัวนายกรัฐมนตรี ทำให้ "กระแสรัฐประหาร" ไม่ใช่ความน่ากังวลเหมือนเช่นในช่วงต้นของการจัดตั้งรัฐบาลเท่าใดนัก 
เสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในรอบปีที่ผ่านมาถือว่า รัฐบาลผ่านไปได้ท่ามกลางกระแสต่อต้านจากฝ่ายตรงข้าม
โดยเฉพาะพรรคฝ่ายค้านเองก็มีสภาพที่อ่อนแอ และไม่สามารถก่อกระแสให้เกิดความ "ไม่นิยมรัฐบาล" ได้อย่างจริงจัง เว้นแต่การใช้คำพูดเสียดสีในเวทีสาธารณะ


5) ปัญหาพระวิหาร

หนึ่งในปัญหาความมั่นคงที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้นก็คือ ปัญหาปราสาทพระวิหาร แม้ปัญหานี้จะเป็นประเด็นตกทอด โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของรัฐบาลที่แล้วที่ทำให้สถานการณ์ตกต่ำลงจนประเด็นนี้ถูกนำกลับไปสู่เวทีของศาลโลก และศาลโลกได้ออก "มาตรการชั่วคราว" ในช่วงกลางปี 2554 เพื่อรองรับสถานการณ์ความขัดแย้ง จนกลายเป็นการสู้รบที่เกิดขึ้นตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา 
มีการคาดกันว่า ศาลโลกน่าจะออก "มติจริง" ในช่วงเวลาประมาณตุลาคม 2556 และผลของมติที่ออกตามมาก็น่าจะเป็นไปในทิศทางดังมาตรการชั่วคราว ซึ่งก็น่าจะก่อให้เกิด "กระแสชาตินิยม" ในลักษณะของการต่อต้านรัฐบาล 
ดังนั้นในช่วงปีที่ 2 ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ปัญหาพระวิหารจะยังคงเป็นปัญหาการเมืองของรัฐบาลอย่างแน่นอน และในขณะเดียวกันก็จะเป็นปัญหาความมั่นคงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

การบริหารจัดการความขัดแย้งในปัญหาพระวิหารในอนาคตอาจจะไม่ใช่เป็นแค่เรื่องของความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา เท่านั้น หากแต่ยังเป็นอีกส่วนหนึ่งของปัญหาการเมืองไทยในอนาคตเช่นกันด้วย 
และประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องติดตามดู เพราะจะทำให้ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา มีความซับซ้อนมากขึ้น 
และรัฐบาลอาจจะต้องเตรียมสร้าง "ความรู้และความเข้าใจ" ให้กับสังคมไทยเมื่อศาลโลกออกมติจริงในปี 2556


6) ปัญหาภูมิทัศน์ใหม่

แม้วันนี้สังคมไทยดูจะตื่นตัวอย่างมากกับความเป็นประชาคมอาเซียนที่เกิดขึ้นในปี 2558 แต่ประชาคมอาเซียนก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ "ภูมิทัศน์ใหม่" ทั้งทางการเมืองและยุทธศาสตร์ในภูมิภาคที่กำลังก่อตัวขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไม่ว่าประชาคมนี้จะเป็นได้มากน้อยเพียงใดก็ตาม แต่อย่างน้อยประชาคมอาเซียนก็ไม่ใช่สิ่งที่จะถอยกลับจนประชาคมไม่เกิดขึ้น 
ดังนั้น ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น การเตรียมประเทศไทยสู่ประชาคมอาเซียนถือว่าเป็นหนึ่งในสาระสำคัญด้านความมั่นคง เพราะความเป็นประชาคมจะเปลี่ยนแปลงบริบทด้านความมั่นคงของประเทศอย่างมากมาย เช่น ตัวอย่างของการเปิดเส้นพรมแดนเสรี ย่อมมีนัยโดยตรงถึงการบริหารงานความมั่นคงของไทย เป็นต้น 
นอกจากนี้ ในอีกส่วนหนึ่งของความเป็นประชาคมก็คือ การเชื่อมต่อในระดับภูมิภาค ซึ่งเกิดขึ้นแล้วในบางพื้นที่ เช่น บรรดาสะพานมิตรภาพต่างๆ ที่เชื่อมไทยกับลาวนั้น ย่อมหมายถึงการเชื่อมต่อกับเวียดนาม และเชื่อมต่อเนื่องเข้าไปในจีนด้วย หรือเส้นทางทวายที่กำลังจะเกิดขึ้น เป็นต้น

การเชื่อมต่อในฐานะของการเป็น "ระเบียงเศรษฐกิจ" ย่อมเปลี่ยนแปลงสภาพทางภูมิศาสตร์ของรัฐบนภาคพื้นทวีปโดยตรง ซึ่งการเชื่อมต่อเช่นนี้ในอีกด้านหนึ่งย่อมนำพาปัญหาความมั่นคงในรูปแบบใหม่ๆ เข้ามาสู่ประเทศไทยด้วยเช่นกัน 
ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนย้ายของคนและแรงงานข้ามชาติ 
การเคลื่อนย้ายของสินค้าและบริการทั้งถูกและไม่ถูกกฎหมาย
งานด้านความมั่นคงเช่นนี้จึงท้าทายต่อการบริหารของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในปีที่ 2 เป็นอย่างยิ่ง

ในอีกด้านหนึ่งของปัญหาความมั่นคงที่สำคัญสำหรับรัฐบาลก็คือ บทบาทของรัฐมหาอำนาจที่หวนกลับสู่การแข่งขันทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคงในภูมิภาคมากขึ้น ซึ่งสถานะทางภูมิรัฐศาสตร์ของไทยเอง ย่อมจะเป็นจุดหมายสำคัญสำหรับการแข่งขันเช่นนี้ 
ปรากฏการณ์เช่นนี้จะเห็นได้จากการเปิดประเทศของพม่า ที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นอีกจุดหนึ่งที่สำคัญของการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจ อย่างน้อยตัวอย่างที่สำคัญในช่วงปีแรกของรัฐบาลก็คือ กรณีคำขอของนาซาในการเข้ามาศึกษาสภาวะการก่อตัวของเมฆ จนกลายเป็นปัญหาการเมืองภายใน และถูกเชื่อมโยงเข้ากับการเมืองภายนอกของไทย
กรณีนี้เป็นสัญญาณหนึ่งสำหรับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ให้ต้องเตรียมตัวรับกับปัญหานี้

บทความนี้เปิดประเด็นใน 6 เรื่องอย่างสังเขปถึงสิ่งที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะต้องเผชิญในการก้าวสู่ปีที่ 2 ซึ่งแต่ละประเด็นย่อมจะมีความซับซ้อนมากขึ้นด้วยจนอาจกล่าวเป็นแนวโน้มได้ว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ในปีที่ 2 จะถูกท้าทายจากปัญหาความมั่นคงมากขึ้น

ซึ่งย่อมหมายความว่า รัฐบาลต้องการยุทธศาสตร์ นโยบาย และการบริหารจัดการที่ดีมากขึ้นในสมรภูมิความมั่นคงนี้!



.