http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-09-23

“แย่งสนามหลวง”-“ยึดสนามบิน” ปฏิบัติการสายพันธุ์“กบฏบวรเดช” โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

.

“แย่งสนามหลวง” - “ยึดสนามบิน” ปฏิบัติการสายพันธุ์ “กบฏบวรเดช”
โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ www.facebook.com/pensupa.sukkatajaiinn คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1675 หน้า 76


"สนามหลวง" กับ "สนามบิน" ต่างก็เป็นพื้นที่สาธารณะที่มักถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้ทางการเมืองอย่างเข้มข้น 
สนามหลวงคือพื้นที่ปิด เป็นตัวแทนของรัฐจารีต ส่วนสนามบินคือพื้นที่เปิด เป็นตัวแทนของรัฐสากล
ภาพลักษณ์ของสนามหลวงนับแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของพื้นที่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่แล้วหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ในยุคนายกฯ-ผู้ว่าฯ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) (2552-2554) กลับทำแนวรั้วแผงเหล็กแหลมปิดล้อมรอบสนามหลวง หวงห้ามไว้เป็นพื้นที่สนองอุดมการณ์อนุรักษนิยม สกัดกั้นเสรีภาพการชุมนุมทางการเมือง ตัดขาดวิถีชีวิตของชาวบ้านที่เคยผูกพันมีส่วนร่วมกับสนามหลวงมากว่าสองร้อยปี  
ที่เลวร้ายที่สุดคือ ไม่อนุญาตแม้แต่จะให้คนจรจัดเข็ญใจ เข้ามาอาศัยเอนกายใต้เพิงต้นมะขาม โดยอ้างว่า "ที่ผืนนี้คือทุ่งพระเมรุอันศักดิ์สิทธิ์" ฉีกภาพ "ท้องสนามหลวงของปวงชน" ขาดกระจุย

ส่วนพื้นที่สาธารณะที่เป็นเสมือนประตูสู่โลกสากล อันเป็นด้านตรงข้ามกับสนามหลวงคือ "สนามบิน" ก็เคยมีแฟชั่นการพาม็อบไปบุกยึดมาแล้วตั้งแต่ยุค 2475 มิใช่เพิ่งมาเกิดขึ้นในยุคเสื้อเหลืองเมื่อปลายปี 2551
ปรากฏการณ์การช่วงชิง "พื้นที่จารีต" และ "พื้นที่สากล" มาใช้เป็นเครื่องมือต่อรองอำนาจทางการเมืองนี้ มิใช่เรื่องใหม่ เคยมีต้นแบบแผนปฏิบัติมาแล้ว โดยสายพันธุ์ "กบฏบวรเดช"


"กบฏบวรเดช" ยึดดอนเมือง 
ทำลายสัญลักษณ์ประตูสู่สากล


กบฏบวรเดช เรียกตามนามของผู้นำฝ่ายที่ประกาศตนแต่แรกว่า "คณะกู้บ้านกู้เมือง" ก่อนที่ต้องก้มหน้ารับสถานะว่าเป็นกบฏ คือพลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการทหารบก 
กบฏบวรเดชเริ่มเคลื่อนไหวเมื่อวันที่ 11ตุลาคม 2476 โดยนายพลทั้งใน-นอกประจำการกับกลุ่มพลเมืองสายอนุรักษนิยม ที่โดนปลดหลังการอภิวัฒน์ 2475 เกิดความไม่พอใจรัฐบาล ได้รวมกำลังเคลื่อนพลจากภาคอีสานและภาคกลางมายึดสนามบินดอนเมือง ในวันที่ 12 ตุลาคม 2476 จากนั้นได้ส่งผู้แทนเข้ามายื่นคำขาดต่อรัฐบาลให้ลาออกภายใน 1 ชั่วโมง 
ไม่ต่างอะไรไปจากการที่กลุ่มพันธมิตรขอให้นายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ลาออกโดยไม่มีเงื่อนไข

กลุ่มกบฏอ้างเหตุผล 2 ข้อหลัก 1. ทำเพื่อปกป้องราชวงศ์ เนื่องจากคณะรัฐมนตรีปล่อยให้มีคนหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ 2. แผน "เค้าโครงเศรษฐกิจ" (สมุดปกเหลือง) ของ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ส่อเค้าว่าจะเอาแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์มาใช้

"หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" กับ "คอมมิวนิสต์" 
คือสองข้ออ้างอมตะทุกครั้งที่ฝ่ายขวาจัดต้องการปลุกระดมมวลชน ให้จงเกลียดจงชังฝ่ายที่พยายามผลักดันกงล้อประชาธิปไตยให้ก้าวไปข้างหน้า 
แท้ที่จริงก็คือความจงใจจะดึงเอาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับมาอีกครั้ง เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่คนหยิบมือเดียวดุจเดิม


ผลของการ "ยึดสนามบินดอนเมือง" ซึ่งถือว่าเป็นประตูที่เปิดให้คณะราษฎรก้าวไปสู่โลกสากล ท้าทายไปสู่การประกาศสงคราม โดยแม่ทัพฝ่ายคณะราษฎร พันตรีหลวงพิบูลสงคราม เปิดฉากรบกับพระยาศรีสิทธิสงครามเพื่อนรักเพื่อนแค้น ตั้งแต่เรียนด้วยกันที่เยอรมนี กันอย่างดุเดือดที่ทุ่งบางเขน ไม่มีบันทึกรายงานสภาพของสนามบิน ซึ่งเปิดทำการได้เพียง 21 ปี ว่ายับเยินมากน้อยแค่ไหน
บันทึกส่วนใหญ่มักพุ่งเป้าไปที่ทหารฝ่ายกบฏได้ล่าถอย หนีไปตามทางรถไฟสายสระบุรี-นครราชสีมา พระยาศรีสิทธิสงครามจบชีวิตลงที่สถานีหินลับ (ระหว่างมวกเหล็ก-ปากช่อง) ส่วนพระองค์เจ้าบวรเดชลี้ภัยไปอินโดจีนฝรั่งเศส เริ่มพำนักพักพิงที่เวียดนามก่อน จากนั้นจึงย้ายมาอยู่กัมพูชา 
เหตุการณ์กบฏบวรเดช สร้างความคลางแคลงใจให้แก่คณะราษฎรอย่างยิ่ง ว่าการอุกอาจของนายทหารกลุ่มนี้ ได้รับการสนับสนุนจากใคร

ช่วงที่กลุ่มพันธมิตรทำการยึดสนามบินสุวรรณภูมิ ลามมาจนถึงสนามบินดอนเมืองด้วยนั้น มีการตั้งข้อสังเกตว่าผู้นำกลุ่มน่าจะกางตำราแผนปฏิบัติการตามรอยกบฏบวรเดช ทั้งๆ ที่ก็น่าจะเห็นจุดจบของแผนต้นแบบชัดเจนแล้วว่า 
ผลของมันสร้างความเสียหายย่อยยับให้แก่ประเทศชาติในเวทีโลกอย่างน่าอับอายเพียงใด



ทุ่งพระเมรุสนามหลวง
ทวงพื้นที่สูงสุดสู่สามัญ


ในขณะที่ฝ่ายกบฏได้ยึดพื้นที่สาธารณะอันเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นสากลคือ "สนามบิน" ฝ่ายคณะราษฎรก็ทวงพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แนวจารีตคือ "สนามหลวง" ให้เป็นสถานที่จัดงานศพแก่ทหารจำนวน 17 นาย ที่เสียชีวิตระหว่างสงครามจากทุ่งบางเขนถึงมวกเหล็ก อย่างแยบยลเช่นเดียวกัน 
อาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดประเด็นในนิตยสาร "ฟ้าเดียวกัน" ต่อมาพิมพ์รวมเล่มในหนังสือเรื่อง "ศิลปะสถาปัตยกรรมคณะราษฎร" ว่า 
"ความคิดที่จะใช้สนามหลวงเป็นสถานที่จัดพิธีศพทหารถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะสนามหลวงมิใช่พื้นที่ปกติธรรมดา แต่เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีความหมายพิเศษยิ่งในบริบทสังคมไทย เดิมเรียกกันว่า "ทุ่งพระเมรุ" มีวัตถุประสงค์ใช้งานเฉพาะคือ ปลูกสร้างพระเมรุมาศในงานพระบรมศพของกษัตริย์และเจ้านายระดับสูงเท่านั้น" 
ด้วยเหตุนี้ เมื่อรัฐบาลคณะราษฎรแสดงเจตจำนงที่จะใช้สนามหลวงในการปลงศพทหารนั้น อาจารย์ชาตรีมองว่า นี่คือ "การเมืองเรื่องพื้นที่"

เป็นความพยายามของคณะราษฎรที่จะแย่งชิงและทำลายความหมายอันศักดิ์สิทธิ์ของทุ่งพระเมรุให้ลบเลือน สนามหลวงต้องมิใช่เป็นพื้นที่สงวนพิเศษ แต่สนามหลวงจักต้องเป็นพื้นที่สาธารณะของรัฐสมัยใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย พลเมืองทุกคนมีความเสมอภาคเท่าเทียมภายใต้รัฐธรรมนูญที่จะได้ใช้ประโยชน์จากสนามหลวง 
และสิ่งที่จะยืนยันสถานะใหม่ของทุ่งพระเมรุ ก็คือการทำพิธีเผาศพสามัญชนที่เอาชีวิตเข้าแลกเพื่อพิทักษ์ไว้ซึ่งระบอบรัฐธรรมนูญ ณ พื้นที่แห่งนี้  
เมรุทหารปราบกบฏบวรเดชได้รับการออกแบบเป็นรูปทรง 6 เหลี่ยม อันเป็นสัญลักษณ์ของธรรมนูญหรือหลักสิทธิมนุษยชน 6 ประการที่คณะราษฎรประกาศไว้ (เอกราช ความปลอดภัย เศรษฐกิจ สิทธิเสมอภาค เสรีภาพ และการศึกษา) ถือเป็นสถาปัตยกรรมที่เรียบเกลี้ยง ไม่มีเครื่องยอดปราสาทเหมือนพระเมรุมาศ  

งานศพของสามัญชนบนทุ่งพระเมรุมีขึ้นครั้งแรกในคืนวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2476 (สมัยนั้นเดือนมกราคม-13 เมษายน ยังคงนับเป็นปีต่อเนื่องอยู่)
นับจากนั้นอีกนานทีเดียว กว่าพื้นที่สนามหลวงจักมีโอกาสจัดงานศพสามัญชนได้อีกเป็นครั้งที่สอง นั่นคือเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 
"เมรุ 14 ตุลาฯ" ครั้งหลังนี้ถูกสร้างขึ้นภายใต้ วาทกรรมที่ตอกย้ำให้เห็นถึงการต่อสู้ของคณะนิสิตนักศึกษาภายใต้พระบรมโพธิสมภาร ที่มีคู่ขัดแย้งร่วมกันคือเผด็จการทหาร  
ผิดกับเมรุคราวกบฏบวรเดช ที่สร้างขึ้นภายใต้แนวคิดประชาธิปไตยจากคณะราษฎรเป็นผู้กำหนด โดยมีคู่ขัดแย้งระหว่างฝ่ายพิทักษ์ประชาธิปไตยกับฝ่ายนิยมเจ้า

หลังจากนั้น เป็นต้นมา พื้นที่ทุ่งพระเมรุผืนนี้ก็ไม่เคยรองรับพิธีศพของวีรชนจากรากหญ้าอีกเลย นอกจากกลายเป็นทุ่งสังหารนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ก็ถูกปล้นกลับคืนไปทีละน้อยๆ อย่างสนิทเนียน ด้วยการค่อยๆ ลั่นดาลด้วยกุญแจที่มองไม่เห็น แบ่งเขาแบ่งเรา จนแม้ยาจกวณิพกผู้ไร้รังนอน ก็ถูกกีดกันให้กระเด็นกระดอนร่อนเร่ย้ายหลักแหล่งไปเป็นสัมภเวสีที่อื่น



ในวาระครบรอบ 80 ปีแห่งการปฏิวัติประชาธิปไตย ไฉน "สนามหลวงจึงถูกทวงกลับคืน" ซ้ำ "คดีปฏิบัติการยึดสนามบินของกลุ่มพันธมิตรฯ ปี 2551" ยังคงลอยนวล 
ฝ่ายคณะราษฎรพยายามเปิดพื้นที่ที่เคยถูกปิด ส่วยฝ่ายตรงข้ามกลับดึงดันที่จะปิดพื้นที่ที่เคยเปิดกว้าง 
เหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 คือเงาปีศาจที่หวนกลับคืนมาของ "กบฏบวรเดช"

กับข้ออ้างไส่ไคล้เดิมๆ "ล้มเจ้า" - "ผู้ก่อการร้าย ชายชุดดำ" ที่สมคบกับขบวนตุลาการภิวัฒน์ วางกับดักด้วยกฎหมายหลายมาตรฐาน ยึดครองพื้นที่ชีวิต ปิดปากตบตาผู้คน ทั้ง "สากล-จารีต" จนไม่เหลือมิติใดๆ ให้หายใจ



.