http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-09-01

ท่านอังคาร โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

ท่านอังคาร
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1672 หน้า 30


ถึงจะรู้จักท่านอังคารเป็นส่วนตัว แต่ก็ไม่สนิท ถึงเคยอ่านงานเขียนและดูรูปเขียนของท่านอังคาร ก็แสดงความเห็นได้จากการลอกขี้ปากคนอื่นเท่านั้น ดังนั้น แม้ในวาระที่ท่านอังคารจากไป ก็ไม่ควรเขียนอะไรถึงท่าน 
แต่ผมอยากเขียน ทั้งๆ ที่รู้ว่าเขียนไปก็เท่านั้น เพราะคงมีคนอื่นเขียนถึงท่านได้ดีๆ (คือทำให้เกิดความเข้าใจหรือคำถามเกี่ยวกับตัวท่านอังคารและสังคมไทยที่กำลังเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างลึกซึ้ง) และน่าอ่านอีกมาก แต่ผมก็ยังอยากเขียนอยู่นั่นเอง เนื่องจาก นับตั้งแต่ได้อ่านงานเขียนของท่านและได้รู้จักตัวท่าน ผมเห็นท่านอังคารเป็นมนุษย์แปลกประหลาดจนเกือบจะเป็นอีกสปีชี่ส์หนึ่งตลอดมา

งานเขียนประเภท "กวีนิพนธ์" ของท่านอังคารนั้นโดดเด่นอย่างยิ่ง จนกลายเป็นแบบฉบับเฉพาะตัว เป็นยี่ห้อที่ขโมยกันไม่ได้ง่ายๆ ถึงคนอื่นจะลักลอบเขียน คนก็จับได้ว่าเลียนแบบท่านอังคาร แต่ไม่ใช่ท่านอังคาร จนผู้เขียนดูจะกลายเป็นผู้ร้ายไป
ก็ทีเลียนแบบยี่ห้อของสุนทรภู่ ไม่เห็นจะถูกมองไปในทางร้ายถึงแค่นั้นเลย 
ความรู้ทางวรรณศิลป์ (ซึ่งในวงการของไทย เท่าที่ผมอ่านๆ มา ก็รู้สึกว่าตัวมันเองเป็นวรรณศิลป์อย่างมาก แต่จะเป็นความรู้สักเท่าไรนี่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง) ของผมก็หางอึ่งจนเกินกว่าจะให้คำอธิบายได้ว่า ทำไมยี่ห้อของท่านอังคารจึงโดดเด่นเช่นนี้
นี่อาจเป็นเหตุผลที่สไตล์ "กวีนิพนธ์" แบบท่านอังคาร อาจตายไปพร้อมกับตัวท่าน

ผมจึงพยายามทำความเข้าใจกับความโดดเด่นของท่านอังคาร แต่ก็รู้ตัวว่าเป็นคน "หูบอด" ในเรื่อง "กวีนิพนธ์" จึงจะดูเฉพาะด้านที่ตาพอมองเห็นเท่านั้น



ประการแรกเลย ก็เรื่องที่เขาพูดกันมาแต่แรกที่งานเขียนของท่านเริ่มปรากฏแก่สาธารณะในวงกว้าง นั่นก็คือกลอนที่ฟังดูไม่เป็นกลอนเอาเลย เพราะไม่ใส่ใจจะสร้างสัมผัสใน บางคนถึงกับโจมตีว่าผิดฉันทลักษณ์ไปโน่น
ท่านอังคารนั้นไม่ใช่เพียงรู้ฉันทลักษณ์โบราณเท่านั้น ต้องเรียกว่าเจนจัดทีเดียว ฉะนั้น การไม่ใส่ใจกับสัมผัสในจึงน่าจะเป็นความตั้งใจของท่านเอง 

อันที่จริง กลอนที่มีสัมผัสในแพรวพราวก็เป็นที่นิยมกันในยุคสุนทรภู่และศิษย์หาของท่านเท่านั้น กลอนลักษณะนี้คงเหมาะสำหรับการ "บรรยาย" นิทานหรือเหตุการณ์ (ซึ่งก็เหมือนกัน คือเนื้อความพูดถึงพัฒนาการหรือความเปลี่ยนแปลงจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งในกาลเวลา ... แม้แต่กลอนเฉลิมพระเกียรติ ก็บรรยายการกระทำในช่วงเวลาต่างๆ ตามลำดับเหมือนกัน) 
ความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองหลังจากนั้น ทำให้คนนำกลอนมาใช้อีกอย่างหนึ่งคือบรรยาย "ความคิด" หรือ "ความรู้สึก" ไม่มีพัฒนาการหรือความเปลี่ยนแปลงให้เกาะนะครับ ผมนึกถึงกลอนของพระยาอุปกิตศิลปสาส์น คือ "รำพึงในป่าช้า" ซึ่งแปลมาจากกลอนฝรั่ง ป่าช้าก็เป็นภาพนิ่งๆ ความคิดเกี่ยวกับอนิจจังก็เป็นความคิดนิ่งๆ แถมยังมีภาษาฝรั่งบังคับให้ต้องเดินกลอนไปตามนั้นด้วย จึงจะมาแพรวพราวด้วยสัมผัสในไม่ได้
แต่ก็เป็นกลอนที่ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากผู้อ่าน

แม้แต่กลอนที่ถูกเรียกว่ากลอน "หาผัวหาเมีย" ซึ่งนิยมแต่งกันในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ อยู่พักหนึ่ง ก็ต้องการจะบรรยายความรู้สึกมากกว่าจะบรรยายเรื่องราวอะไร กลอนเหล่านี้ก็ใช่ว่าจะมีสัมผัสในแพรวพราวเท่าสุนทรภู่ แม้พยายามหาช่องให้แพรวพราวตลอดเวลาก็ตาม

"กวี" อีกคนหนึ่งที่ไม่ใส่ใจต่อสัมผัสในอย่างจริงจังเลยก็คือ คุณจิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งก็เจนจัดกับฉันทลักษณ์อย่างยิ่งเหมือนกัน แต่ก็รู้อยู่แล้วว่ากลอนของคุณจิตรนั้นเต็มไปด้วย "ความคิด" ไม่ใช่การบรรยายนิทานหรือพัฒนาการของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง 
เช่นเดียวกับแง่เนื้อหา การเอากลอนมาใช้สื่อเนื้อหาใหม่ๆ นั้นทำกันมานานก่อนหน้าท่านอังคาร แน่นอนว่าเนื้อหาของกลอนท่านอังคาร ย่อมไม่เหมือนเนื้อหาของคนอื่น ก็เหมือนความเรียง (essay-ซึ่งเป็นรูปแบบคำประพันธ์ใหม่ที่ไม่มีในวัฒนธรรมไทยมาก่อน) เนื้อความย่อมมีได้หลากหลายตามแต่ผู้เขียนที่มีหลากหลาย อย่างไรก็ตาม กลอนถูกใช้เป็นสื่อให้แก่เนื้อหาที่แปลกใหม่กว่าสมัยโบราณมานานแล้ว

ดังนั้น ท่านอังคารจึงไม่ได้แหกคอกประเพณีทางวรรณกรรมไทยในเรื่องนี้แต่อย่างไร ท่านสืบทอดแนวโน้มซึ่งมีมาก่อนหน้าท่านเป็นสองสามชั่วคนแล้ว เพียงแต่ว่าท่านเปลี่ยนความอลังการของกลอนจากสัมผัสไปสู่คำ


และเมื่อพูดถึงคำแล้ว ก็จะหา "กวี" ที่ใช้คำอลังการเท่าท่านอังคารได้ยาก แต่ความอลังการของท่านอังคาร ไม่ใช่ศัพท์บาลีสันสกฤตยากๆ แต่เป็นคำไทยธรรมดาๆ นี่เอง บางครั้งอาจเป็นศัพท์โบราณสักหน่อย ที่พบได้ในวรรณกรรมรุ่นอยุธยา แต่เป็นคำที่เมื่อเอามาผูกไว้ด้วยกันแล้ว มันแสดงความ "ใหญ่" ของผู้เขียน ที่มองโลกและจัดการโลกได้อย่างเด็ดขาดและทะลุปรุโปร่ง

"ควักทะเลเทใส่จาน" อย่างงี้เป็นต้น "ควัก" นะครับ ไม่ใช่ยกเอาทะเลมาเทลงจาน "จะเจ็บจำไปจนปรโลก" อย่างงี้ ฟังดูเหมือนธรรมดา แต่คิดให้ดีๆ ก็ไม่สู้จะธรรมดานัก เพราะผู้เขียนเจตนาจะเจ็บจำข้ามภพข้ามชาติ อะไรที่ข้ามภพข้ามชาตินั้น คนไทยมักคิดว่าเป็นแรงของกรรมมากกว่าที่เราจะกำหนดเองได้ไม่ใช่หรือครับ

ฉะนั้น เมื่อพูดถึงคำแล้ว ก็ต้องพูดถึงความเปรียบซึ่งท่านอังคารใช้ทั้งเป็นเครื่องมือสื่อสารในกลอน และเป็นวิธีมองโลก (ซึ่งจะพูดถึงข้างหน้า)



ท่านอังคารเป็น "กวี" ที่ใช้ความเปรียบซับซ้อน และหลายชั้นหลายเชิงมาก เฉพาะความเปรียบของท่านอังคารอย่างเดียวก็ทำวิทยานิพนธ์ได้เล่มโตแล้วกระมัง เปรียบเฉพาะหน้าในคำ, วลี และประโยค เปรียบไปทั้งบท เปรียบโดยไม่ต้องยกสิ่งที่ต้องการเอามาเปรียบ และจนถึงที่สุดใช้เป็นช่องทางให้ผู้อ่านเดินตามเข้าไป จึงจะบรรลุความเข้าใจเดียวกับผู้เขียนได้ เปรียบเสียจนเกินสติปัญญาผมจะพูดได้

พูดมาถึงตรงนี้ก็ต้องสรุปไว้ชั้นหนึ่งก่อนว่า ในบรรดานักกลอนรุ่นหลังๆ ทั้งหมด ผมคิดว่าท่านอังคารเขียนกลอนให้ "อ่าน" ยิ่งกว่าใครทั้งหมด บางท่านเขียนกลอนให้ "ฟัง" บางท่านเขียนแบบ "ฟัง" ก็ได้ "อ่าน"ก็ได้ 
ผมหมายความว่ากลอนของท่านอังคารนั้น ต้อง "อ่าน" พร้อมกับคิดและรู้สึกไปช้าๆ เพราะความหมายมันหลายซับหลายซ้อน กว่าจะซึมเข้ามาได้หมด ในขณะที่งานของนักกลอนส่วนใหญ่ มักอ่านได้เหมือนมีใครเคาะจังหวะอยู่ข้างหลัง ไพเราะดี มันดี ตลกดี ฯลฯ ก็จับได้ในทันทีที่เสียงข้างหลังหัวของเราดังเข้าไปในโสตประสาท

ท่านอังคารเขียน "กวี" ให้ดู ไม่ได้เขียนให้ฟัง และนี่อาจเป็นเหตุให้ท่านเป็นคนแรกที่ให้ความสำคัญแก่อักษรศิลป์ซึ่งแทบไม่มีประเพณีอย่างนี้ในวัฒนธรรมไทยมาก่อน
กลอนลายมือท่านอังคารจึงถูกติดกรอบประดับฝาเรือนมานานแล้ว ไม่ต้องอ่านก็สวยดี



ประการสุดท้ายที่ทำให้ผมมองท่านอังคารเป็นมนุษย์แปลกประหลาดตลอดมาก็คือ การคิดด้วยความเปรียบ หรือการทำความเข้าใจกับโลก (หรือบางคนเรียกว่าจักรวาลด้วยซ้ำ) ตลอดจนกฎเกณฑ์ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโลกด้วยการเปรียบ
ผมไม่รู้จะอธิบายอย่างไร นอกจากยกตัวอย่างให้ดูนะครับ 
ในงานฉลองวันเกิดท่านอังคารเมื่ออายุ 85 ผู้สื่อข่าวกรุงเทพธุรกิจ สัมภาษณ์ท่านอังคาร ในคำถามหนึ่งเขาถามว่า "ด้วยวัยขนาดนี้ของอาจารย์ รู้สึกอย่างไรเมื่อพูดถึงความรัก" ท่านอังคารตอบว่า 
"วัยของผมจริงคือวัยพ่อ...ผู้ชายที่ยังโสดอยู่มันมีเรื่องของราคจริต คือเป็นเพศสัตว์ตัวผู้ พอมาพบคู่แต่งงานแล้วก็กลายเป็นพ่อแม่ ซึ่งในที่นี้ก็เหมือนต้นโพธิ์ที่ให้ร่มเงา
ทีนี้ความรักที่เราเคยมีแบบโรแมนติก มันขยายขึ้นคือความเมตตา คือมารักลูก...ที่เรามาพูดเถียงกันเรื่องสิทธิผู้หญิง ผมว่าไม่จริงหรอก คนดีจริงๆ เขายกย่องผู้หญิง เพราะว่าผู้หญิงเราเป็นเพศมารดา พระพุทธเจ้ายังมีแม่เป็นผู้หญิงเลย
"

เปรียบทั้งนั้นนะครับ วัยพ่อ เปรียบวัยกับหน้าที่ทางสังคมอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ได้เกี่ยวอะไรกับวัยเลย ชายโสดกับสัตว์เพศผู้ก็เปรียบ การแต่งงานกับการกลายเป็นพ่อแม่ก็เปรียบ ฯลฯ (ดังที่ผมขีดเส้นใต้ไว้
สมมติว่าคนฟังไม่ยอมรับความเปรียบเหล่านี้ ก็คงเถียงกันหน้าดำคร่ำเครียด และการสัมภาษณ์ก็คงสิ้นสุดลงตรงนั้นเอง ที่หนักข้อไปกว่านั้นก็คือ หากห้ามไม่ให้ท่านอังคารเปรียบเลย ท่านจะคิดอะไรออกหรือไม่ หรือถึงคิดออกจะบอกใครได้หรือไม่หว่า


การเปรียบเทียบ เป็นวิธีคิดที่เก่าแก่มาก และมีอยู่ในทุกวัฒนธรรม (กระมัง) หลักการคืออะไรที่ดูเหมือนกัน ย่อมมีคุณสมบัติบางอย่างเหมือนกันไปด้วย ถ้ามันมีอะไรที่เหมือนกันมากๆ เช่น พืช, สัตว์, คน ย่อมสืบพันธุ์เหมือนกันหมด แสดงว่าต้องมีพลังอะไรกำกับอยู่เบื้องหลัง จะเรียกพลังนั้นว่าพระเจ้า, กิเลส, หรือกฎจักรวาลอะไรก็ตาม
ตรงกันข้ามกับวิธีคิดแบบโบราณนะครับ ผมคิดว่าโลกสมัยใหม่พยายามมองหาความต่างมากกว่าความเหมือน แต่ออกจะนอกเรื่องไป เมื่อผมเป็นหนุ่ม คุยกับท่านอังคารทีไรก็มักเถียงกันทุกที ผมเพิ่งมาเข้าใจเมื่อแก่แล้วว่า เราต่างเป็นทาสของนายคนละคนกัน คือท่านคิดจากความเหมือน ในขณะที่ผมคิดจากความต่าง

แม้จะเป็นวิธีคิดโบราณ แต่ท่านอังคารไม่ใช่คนโบราณ ท่านมีความรู้กว้างขวางกว่าคนโบราณมากมาย ดังนั้น การคิดจากความเปรียบของท่านจึงขยายออกไปครอบคลุมจักรวาลและเอกภพ มองเห็นความเหมือนในกิ้งกือและใบหญ้า กับทางช้างเผือกได้เด่นชัด
แม้ไม่ใช่คนโบราณ แต่ท่านอ่านหนังสือโบราณทั้งกว้างขวางและลึกซึ้งอย่างหาตัวจับยาก ความรู้ของท่านนั้นตั้งอยู่บนฐานของไทยโบราณ แต่ก็คละเคล้าด้วยความรู้สมัยใหม่อย่างที่คนไทยในยุคนี้มี เพียงแต่ท่านเอาความรู้สมัยใหม่กลืนลงไปในฐานเก่าได้แนบเนียน

ผมคิดเสมอว่า ถ้าไม่มีแหม่มแอนนา ไม่มีหมอสอนศาสนา ไม่มีนักเรียนนอก และคนไทยเพิ่งรู้จักความรู้สมัยใหม่ของฝรั่งเพียงเมื่อ 100 ปีที่ผ่านมานี่เอง ปัญญาชนไทยจะตอบสนองต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความทันสมัยอย่างไร คงแตกต่างจากที่เป็นมาอย่างยิ่ง เราคงไม่มีสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ไม่มีพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ไม่มี คุณคึกฤทธิ์ ปราโมช และไม่มี จิตร ภูมิศักดิ์ แต่จะมี ท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ อย่างแน่นอน

สถานการณ์ทางสติปัญญาของไทยคงแตกต่างจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบันแน่ ซึ่งก็จะสร้างสถานการณ์ทางสติปัญญาที่น่าสนใจไม่น้อยทีเดียว



.