http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-09-09

สุรพศ ทวีศักดิ์: เรามีคุณธรรมไปทำไม?

.

สุรพศ ทวีศักดิ์: เรามีคุณธรรมไปทำไม ?
ในมติชน ออนไลน์ วันอาทิตย์ที่ 09 กันยายน พ.ศ. 2555 เวลา 09:00:10 น.
( และใน www.prachatai.com/journal/2012/09/42530 มีความคิดเห็นท้ายบท )


สูดกลิ่น "ศีลธรรม" จนสำลัก
กระอัก "จรรยา" จนหน้าเขียว
"คุณธรรม" เอ่อล้น จนซีดเซียว
ขับเคี่ยว "จริยธรรม" จนช้ำใน

มือถือสาก ปากถือศีล ตีนกระทืบ
ในซอกหลืบ ศพกอง เลือดนองไหล
ใครก็รู้ เราสู้ อยู่กับใคร
แผ่นดินธรรม อำไพ ไม่มีจริง!

(จากเฟซบุ๊กของ Rapeepan Songsaeng)


บทกวีข้างต้นนี้สะท้อนภาพการโฆษณาชวนเชื่อ ยัดเยียดปลูกฝังสิ่งที่เรียกกันว่า ศีลธรรม จรรยา คุณธรรม จริยธรรม และชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงด้านตรงข้ามอย่างตรงไปตรงมาและน่าหดหู่ มีเหตุผลมากทีเดียวที่บรรดาผู้ซึ่ง "ตาสว่าง" มองเห็นความเป็นจริงของระบบอำนาจที่นิยาม โฆษณาชวนเชื่อ ยัดเยียด ปลูกฝังศีลธรรม จรรยา คุณธรรม จริยธรรมว่าเป็นระบบอำนาจที่ทั้งฉ้อฉลเสรีภาพ หมิ่นศักดิ์ศรีมนุษย์ของประชาชน อำมหิตเลือดเย็น

คำถามที่ "ต้องถาม" คือ เราจะมีสิ่งที่เรียกกันว่า ศีลธรรม จรรยา คุณธรรม จริยธรรมกันไปทำไม? โยนมันทิ้งไปเลยได้ไหม?
แน่นอน มันเป็นคำถามที่ "กวนประสาท" บรรดาผู้มีอำนาจ และผู้เสพติดยากล่อมประสาทพวกนั้น
แต่แล้วยังไง สังคมนี้จะไม่มี "พื้นที่" ให้คนตั้งคำถามแบบนี้ได้เลยหรือ
มีเหตุผลอะไรที่จะห้ามตั้งคำถามต่อ ศีลธรรม จรรยา คุณธรรม จริยธรรมบน "กองซากศพ" ว่า "ศีลธรรม จรรยา คุณธรรม จริยธรรมเหล่านั้น มันคือเครื่องมือปกป้องไม่ให้สังคมนี้มีกองซากศพ หรือว่ามันเป็นเพียงอาภรณ์อันสวยงามที่ประดับประดาการปราบปรามเข่นฆ่าให้ดูดีมีความชอบธรรมกันแน่?”

บรรดาชนชั้นผู้มีอำนาจต้องการ "คุณสมบัติ" ที่มีคุณธรรมจริยธรรมไปทำไมหรือ คำอธิบายของแมคเคียวเวลลี่ (Maciavelli) ใน "เจ้าผู้ปกครอง" (The Prince) ข้างล่างนี้น่าจะบอกอะไรได้บ้าง (คัดจาก The Big Questions 20 คำถามของปรัชญา โดยไซมอน แบล็กเบิร์น ปกรณ์ สิงห์สุริยา บรรณาธิการแปล สำนักพิมพ์มติชน,2555 หน้า 173 )
ดังนั้น จึงไม่จำเป็นสำหรับเจ้าผู้ปกครองที่จะต้องมีคุณสมบัติอันดีทั้งหมดที่ข้าพเจ้าได้จาระไนมา แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทรงแสดงพระองค์ว่ามีคุณสมบัติเหล่านั้น และข้าพเจ้ากล้าที่จะกล่าวอย่างนี้อีกด้วยว่า การมีคุณสมบัติเหล่านั้นและการปฏิบัติตามคุณสมบัติเหล่านี้เสมอจะทำร้ายพระองค์ และการแสดงว่าทรงมีคุณสมบัติเหล่านั้นจะเป็นประโยชน์ต่อพระองค์ จงทำเหมือนเป็นผู้มีเมตตา ซื่อสัตย์จงรักภักดี มีมนุษยธรรม เคร่งศาสนา ยึดมั่นในความถูกต้องและจงเป็นแบบนั้น แต่ด้วยความคิดที่ตีกรอบไว้ว่าหากพระองค์จำเป็นที่จะต้องไม่เป็นแบบนั้น พระองค์จะสามารถทำได้และรู้ว่าจะเปลี่ยนพฤติกรรมกลับเป็นตรงกันข้ามได้อย่างไร 


นี่คือคำแนะนำให้ผู้มีอำนาจให้คุณสมบัติที่มีคุณธรรมอย่างฉ้อฉล แต่ในโลกของความเป็นจริงเป็นไปได้ว่าผู้ปกครองไม่ว่าจะอยู่ในระบบเผด็จการหรือประชาธิปไตย พวกเขาอาจจะแสดงตัวว่าเป็นคนดี เป็นผู้เปี่ยมคุณธรรมเช่น มีเมตตา ซื่อสัตย์จงรักภักดี มีมนุษยธรรม เคร่งศาสนา ยึดมั่นในความถูกต้อง ฯลฯ เพื่อสร้างภาพให้น่าเชื่อถือ แต่เมื่อต้องรักษาอำนาจและผลประโยชน์ พวกเขาอาจกลายร่างเป็นสุนัขจิ้งจอกได้อย่างง่ายดาย ฉะนั้น คนพวกนี้เขามีคุณธรรมไปทำไม คำตอบชัดเจนในตัวมันเองตามข้อเท็จจริงของการกระทำ หรือพฤติกรรมของชนชั้นผู้มีอำนาจที่ชั่วชีวิตเราต่างก็ได้เห็นกันอยู่แล้ว


แล้วเราแต่ละคนล่ะ มีคุณธรรมไปทำไม? คำตอบที่พรั่งพรูออกมา อาจจะเป็นว่า "แหมถามได้ ก็เพื่อความเจริญงอกงาม ความสำเร็จ ความสุข ความเอิบอิ่มใจยังไงเล่า" แต่ในโลกตามเป็นจริงเราพบอยู่เสมอไม่ใช่หรือว่า คนดีมีคุณธรรมมักถูกรังแก เอาเปรียบ ถูกจับเข้าคุก ถูกปราบปรามเข่นฆ่า หรือไม่ก็หนีหัวซุกหัวซุนจากการไล่ล่าของอำนาจอยุติธรรม ส่วนคนเลวก็อาจเจริญรุ่งเรือง ประสบความสำเร็จมีเงิน มีอำนาจ มีชื่อเสียง มีคนนับหน้าถือตา มีความสุขกระทั่งเอิบอิ่มใจกับความสุขความสำเร็จนั้นๆ ได้

ศาสนาอาจจะบอกว่า เมื่อเรามีคุณธรรมหรือทำความดีต่างๆ แล้วความดีนั้นๆ จะดลบันดาลให้ชีวิตเจริญรุ่งเรือง ทำมาค้าขึ้น ประสบความสำเร็จ มีความสุข ได้ทุกสิ่งที่ปรารถนา แต่คุณธรรมหรือความดีทางศาสนาแบบนี้กลายเป็น "แก้วสารพัดนึก" ไป ซึ่งไม่มีข้อพิสูจน์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ว่ามันเป็นเช่นนั้นจริง และเราก็ค้นพบอย่างมีเหตุผลว่าหากต้องการความเจริญรุ่งเรือง ความสำเร็จในชีวิตทางโลก ความรู้สมัยใหม่ เช่น ความรู้เรื่องทำธุรกิจ การบริหารจัดการ ฯลฯ ช่วยเราได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า หรือพบว่าคนที่มีเล่ห์เหลี่ยมแพรวพราวมักประสบความสำเร็จกว่าคนเคร่งจริยธรรมที่มักอ่อนแอและถูกเอาเปรียบ (บางทีก็ยอมเสียเปรียบเอง เช่นเหตุผลในการประนีประนอมที่ทำให้เรียกร้องสิทธิของตนน้อยลง ในกรณีถูกรถชนเป็นต้น มักจะบอกว่า "ช่างมันเถอะถือว่าเป็นกรรมเก่า อโหสิกรรมกันไป จะได้ไม่จองเวรจองกรรมกันอีก")


"ก็เราต้องมีคุณธรรมเพื่อให้สังคมสงบสุขไง!" บางคนอาจพูดเช่นนี้ และแน่นอนเรา มักได้ยินนักสอนศาสนาสอนว่า "ศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี ถ้าสมาชิกส่วนมากของสังคมเป็นคนดีสังคมก็สงบสุข" แต่เราก็ได้เห็นการละเมิดอำนาจของประชาชนโดยพวกคนดี เห็นรัฐประหารโดยบรรดาคนดีมีคุณธรรมครั้งแล้วครั้งเล่า โลกของเรามีประวัติศาสตร์สงครามและการก่อการร้ายในนามของศาสนาและคุณงามความดีไม่สิ้นสุด และหากคุณธรรมความดีตามที่สอนกันมาเป็นพันๆ ปี ทำให้สังคมมนุษย์มีความสงบสุขได้จริง เรายังจะโหยหาระบบสังคมการเมือง เศรษฐกิจที่เป็นธรรม กฎหมายที่ยุติธรรมเป็นต้นไปทำไม 
แล้วเรายังจะหวังอะไรกับคุณธรรมและความดีงามอีกเล่า? ถึงตอนนี้ศาสนาที่นับถือพระเจ้าก็เสนอคำตอบว่า พระเจ้าจะประทานรางวัลให้กับผู้มีคุณธรรมความดี ในวันพิพากษารางวัลของคุณธรรมความดีคือการไป "เสวยสุข" อยู่ในสวรรค์กับพระองค์ชั่วนิรันดร หรือพุทธศาสนาไทยๆ อาจเสนอคำตอบที่จะแจ้งยิ่งกว่านั้นว่า "คุณดูอย่างสตีฟ จ็อบส์สิ เขาทำความดีด้วยการประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ แก่โลก ทำให้ได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรในวิมานสุดหรูดูดีมีสไตล์สุดไฮเทคฯ" คำตอบสุดท้ายทางศาสนา ก็คือว่าคุณธรรมความดีจะทำให้เราพ้นจากไฟนรก และขึ้นไปเสวยสุขบนสวรรค์


แต่สังเกตไหมครับ ไม่ว่าคุณธรรมความดีของชนชั้นปกครองที่มีไว้เป็นเครื่องมือปกป้องอำนาจและผลประโยชน์ของพวกเขา คุณธรรมความดีของเราแต่ละคนที่เป็นเครื่องมือไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ความสำเร็จ ความสุข ความเอิบอิ่มใจ กระทั่งคุณธรรมความดีทางศาสนาที่เป็นเครื่องมือไปสู่ความสุขบนสวรรค์ คุณธรรมทั้งหมดนั้นล้วนมี "เนื้อหา" แบบเดียวกันคือ "เป็นเครื่องมือไปสู่ผลลัพธ์ที่ตนต้องการ" ซึ่งมันคือคุณธรรมความดีแบบอัตตนิยม (egoism) คือเป็น "คุณธรรมความดีเพื่อตัวเองเป็นหลัก"

ชนชั้นปกครองอาจจะมีคุณธรรม เมื่อเขาเห็นว่ามันมีประโยชน์ต่อการปกป้องสถานะอำนาจของพวกเขา แต่ถ้าไม่พวกเขาก็พร้อมที่จะกลายร่างเป็นซาตานกระหายเลือด เราแต่ละคนก็อาจมีคุณธรรมเมื่อเราคำนวณว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ต้องการบางอย่าง แต่ถ้ามองไม่เห็นผลลัพธ์คุณธรรมก็อาจไม่จำเป็น ส่วนศาสนานั้นทั้งโปรฯ คุณธรรมความดีต่างๆ เพื่อให้เราเกิดศรัทธา มีความหวังกับชีวิตในโลกหน้า พร้อมๆ กันนั้นยิ่งผู้คนศรัทธามาก เงินบริจาคทำบุญก็ไหลเข้าองค์กรทางศาสนามากขึ้น



คำถามคือ บางทีเราอาจจำเป็นต้องปกป้อง "ความเป็นมนุษย์" ของเราจากการอ้างคุณธรรม ความดีงามต่างๆ เหล่านั้นไหม?

ถึงตรงนี้ ผมนึกถึงข้อเรียกร้องของอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ในงาน "เผาศพอากง" ที่เพิ่งผ่านไป คือข้อเรียกร้อง "moral courage ความกล้าหาญทางคุณธรรม" ต่อสื่อ นักวิชาการ ปัญญาชน แกนนำทางการเมือง นักการเมือง พรรคการเมืองว่า "นิ่งเงียบ" กันอยู่ได้อย่างไรกับความไม่ถูกต้อง ความอยุติธรรมต่างๆ ทางสังคมการเมืองของบ้านเราที่เป็นมาในประวัติศาสตร์ และที่เห็นกันอยู่ตำตา ดังกรณี "อากง" ตายในคุกเพราะความอยุติธรรมของมาตรา 112 เป็นต้น

แล้วผมก็ขอสรุปดื้อๆ ตรงนี้ว่า "มีคุณธรรมบางอย่างที่เราจำเป็นต้องมี" ถามว่ามีไปทำไม คำตอบคงไม่ใช่ว่าเราจะได้อะไร แต่คุณธรรมที่ว่านี้เราจำเป็นต้องมีตราบที่เรายังเห็นว่าควรปกป้อง "ความเป็นมนุษย์" ของตนเองและเพื่อนมนุษย์ คุณธรรมที่ว่านี้คือ "moral courage ความกล้าหาญทางคุณธรรม" คือ ความกล้าหาญที่จะปกป้องเสรีภาพ ความเสมอภาคของมนุษย์


เรามีความกล้าหาญทางคุณธรรมที่ว่านี้ไปเพื่ออะไร? ผมคิดว่าคำถามถึงผลลัพธ์อาจไม่จำเป็น เพราะผลลัพธ์ใดๆ ย่อมหาความแน่นอนคงที่ไม่ได้ หากเราจะมีความกล้าหาญทางคุณธรรมก็ต่อเมื่อประเมินผลลัพธ์ที่แน่นอนได้ เราอาจจะไม่มีวันกล้าหาญเลยก็ได้ เพราะในสถานการณ์ที่ยุ่งยากซับซ้อนเราไม่อาจประเมินผลลัพธ์ที่แน่นอนได้ หรือเราอาจผิดหวัง กระทั่งตัดสินว่าความกล้าหาญทางคุณธรรมคือความผิดพลาด เมื่อเราใช้มันไปแล้วแต่ไม่ได้ก่อผลลัพธ์ตามที่คาดหวัง  

ทางเดียวที่เราจะสามารถรักษา "ความกล้าหาญทางคุณธรรม" เอาไว้ได้ คือเราต้องคิดแบบค้านท์ (Immanuel Kant) ว่า "ความกล้าหาญทางคุณธรรมเป็นหน้าที่ที่ต้องทำอย่างปราศจากเงื่อนไข" คือเป็นหน้าที่เราต้องมีความกล้าหาญทางคุณธรรมปกป้อง "ความเป็นมนุษย์" ของเรา ด้วยการปกป้องเสรีภาพและความเสมอภาค


แต่ผมก็อดรู้สึกไม่ได้ว่าข้อเรียกร้อง “moral courage ความกล้าหาญทางคุณธรรม" ของอาจารย์สมศักดิ์มันเหมือนการเรียกหา "หยดน้ำในทะเลทราย" ยังไงไม่รู้

เพราะในสังคมที่เต็มไปด้วยการโฆษณาชวนเชื่อ ปลูกฝัง ยัดเยียด "คุณธรรมเครื่องมือ" ดังที่กล่าวมา ยากยิ่งนักที่ผู้คนจะเห็นคุณค่าในตัวมันเองของ "คุณธรรมหน้าที่" และไม่มีใครอยากจะ "เสี่ยง" แสดงความกล้าหาญทางคุณธรรม หากเขาไม่สามารถประเมินได้ว่า ตนจะได้รับผลประโยชน์อะไรตอบแทน หรืออย่างน้อยตนจะ "ปลอดภัย" หรือไม่!



.