http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-09-02

ประชาคมอาเซียนกับสมการความเป็นไปไม่ได้ในระยะเวลาอันสั้น โดย พีระ เจริญวัฒนนุกูล

.

ประชาคมอาเซียนกับสมการความเป็นไปไม่ได้ในระยะเวลาอันสั้น
โดย พีระ เจริญวัฒนนุกูล
ใน www.prachatai.com/journal/2012/09/42411 . . Sat, 2012-09-01 19:09


ในวันที่ 8 สิงหาคม 2555 ที่ผ่านมาซึ่งถือว่าเป็นวันครบรอบ 45 ปีของการก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันเฉียงใต้ หรือที่รู้จักกันทั่วไปในนาม “อาเซียน” ผู้คน สถานบันการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐรวมทั้งเอกชนหลากหลายแห่งได้แสดงให้เห็นถึงความตระหนักรู้ในด้านการเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึงภายในอีกสามปีข้างหน้าด้วยการจัดการพูดคุยและให้ข้อมูลต่างๆอันเกี่ยวข้องกับประชาคมอาเซียน นอกจากนี้ยังมีกระแสตื่นตระหนกและตื่นตาตื่นใจ ทั้งในระดับบุคคลธรรมดาทั่วไป นักวิชาการ และนักการเมือง กับการเกิดขึ้นของการรวมตัวระหว่างประเทศสมาชิกในอาเซียนและผลกระทบต่างๆที่จะตามมาไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีของแรงงานที่มีฝีมือ สินค้า บริการ การลงทุน และเงินทุน ซึ่งในแง่นี้ ถ้าจะกล่าวให้ถึงที่สุดก็คือชาวไทยหมู่มากค่อนข้างมองหา “สิ่งที่ควรจะเป็น” นอกเหนือจาก “สิ่งที่เป็นอยู่”
อย่างไรก็ดี เมื่อวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่เป็นอยู่ในปัจจุบันของอาเซียนอาจทำให้เกิดคำถามขบคิดที่ตามมามากมายถึงความเป็นไปได้ของประชาคมอาเซียนในอนาคต กล่าวคือ เมื่อพิจารณาถึงตัวแปรอาทิเช่น ปทัสถานระหว่างรัฐสมาชิกในอาเซียน พฤติกรรมของรัฐในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกรณีศึกษาของการรวมกลุ่มระหว่างรัฐในภูมิภาคอื่นๆ อาเซียนกำลังอยู่ในช่วง “สภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก” ในการเดินทางเข้าสู่เส้นทางประชาคม


สภาวะกลืนไม่เข้า

อาจจะไม่เกินเลยไปนักหากจะกล่าวว่าปทัสถานระหว่างรัฐสมาชิกในอาเซียนหรือที่รู้จักกันดีว่า “วิถีทางอาเซียน” นั้นส่งผลให้เกิดการอยู่ร่วมกันได้ระหว่างประเทศสมาชิกในอาเซียน ในที่นี้ วิถีทางอาเซียนคือตัวเชื่อมระหว่างรัฐชาติที่มีระบบการปกครอง สังคม และวัฒนธรรมอันแตกต่างกันให้สามารถดำรงอยู่ร่วมกันโดยปราศจากสงครามซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง
วิถีทางอาเซียน ซึ่งโดยหลักแล้วประกอบไปด้วยหลักการไม่แทรกแซงในกิจการภายในของประเทศสมาชิก จำเป็นสำหรับการรวมกลุ่มในภูมิภาคเนื่องด้วยเหตุผลสองประการ ประการแรก ประเทศในส่วนมากในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เปลี่ยนผ่านจากรัฐในรูปแบบเดิมสู่รัฐชาติในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งร้อยปี โดยต่างจากรัฐชาติในแถบยุโรปซึ่งได้มีการเปลี่ยนแปลงเมื่อครั้ง ค.ศ. 1648 และได้ผ่าน “สงครามอันยาวนาน” [1] ที่ได้พรากชีวิตผู้คนมากมายนับไม่ถ้วน ในขณะที่รัฐชาติในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขาดประสบการณ์การสูญเสียขนานใหญ่ ด้วยเหตุที่ขาดกระบวนการเรียนรู้จากความสูญเสียจึงส่งผลให้การรวมกลุ่มประเทศและความเชื่อใจกันระหว่างสมาชิกในอาเซียนค่อนข้างแผ่วเบาเมื่อเทียบกับการรวมกลุ่มในยุโรป สืบเนื่องจากเหตุผลประการแรก เหตุผลประการที่สองก็คือวัฒนธรรมการเมืองของรัฐส่วนมากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่บนฐานของความไม่เป็นทางการ (informal) ความไม่อยู่บนฐานของหนังสือสัญญา (non-contractual) และเชื่อมั่นในตัวผู้นำ [2] กล่าวคือในแง่ของความใหม่ในมุมมองแบบรัฐชาติ กอปรกับการที่หลายรัฐถูกแทรกแซงจากตะวันตกรวมถึงความขัดแย้งภายในภูมิภาคเองเป็นเนืองนิตย์ ซึ่งส่งผลให้รัฐแต่ละรัฐให้ความสำคัญกับความมั่นคงของชาติโดยเน้นไปที่ความมั่นคงทางการทหารเป็นหลัก ดังนั้นวิถีทางอาเซียนจึงจำเป็นสำหรับการดึงดูดรัฐอันปราศจากความเชื่อใจกันเข้าด้วยกัน ซ้ำยังจำเป็นต่อเหล่าประเทศอันมีความแตกต่างกันในมิติทางด้านการเมือง สังคม และวัฒนธรรมอีกด้วย

ครั้นวิถีทางอาเซียนมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการสร้างองค์การระหว่างรัฐ อาเซียนจึงได้ระบุวิถีทางดังกล่าวลงในกฎบัตรอาเซียน การระบุปทัสถานเหล่านั้นลงในกฎบัตรซึ่งมีจุดประสงค์ให้รัฐสมาชิกพึงปฏิบัติตามนั้น จึงเป็นความย้อนแย้งกันในเชิงหลักการเป็นที่แน่แท้ กล่าวคือ เมื่อกฎบัตรมีจุดประสงค์เรียกร้องให้สมาชิกปฏิบัติตามข้อบังคับหนึ่งๆ ในขณะที่วิถีทางอาเซียนเปิดโอกาสให้รัฐสมาชิกดำเนินนโยบายภายในโดยปราศจากการแทรกแซงจากสมาชิกด้วยกันเอง ในแง่นี้ การละเมิดข้อบังคับบางประการในกฎบัตรจึงเป็นการกระทำตามข้อบังคับของกฎบัตรโดยสิ้นเชิง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือความย้อนแย้งกันในกฎบัตรมาตราที่ 1 วรรคที่ 7 ซึ่งกำหนดจุดประสงค์ของอาเซียนในการ “เสริมสร้างประชาธิปไตย เพิ่มพูนธรรมาภิบาล และหลักนิติธรรม ตลอดจนส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานโดยคำนึงถึงสิทธิและหน้าที่ของรัฐสมาชิกของอาเซียน” ซึ่งมาตราดังกล่าวขัดกับมาตราที่ 2 ซึ่งกล่าวถึงการปฏิบัติตามวิถีทางอาเซียน ดังนั้น กรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า เช่นกรณีการตั้งข้อหาเพิ่มเติมนางออง ซาน ซูจี ในปี ค.ศ. 2009 ซึ่งเหล่าประเทศสมาชิกได้แต่เพียงแสดงปฏิกิริยาอันเนื่องมาจากหลักการเคารพอธิปไตยของรัฐสมาชิกโดยไม่สามารถแทรกแซงในกิจการภายในที่ถูกเน้นย้ำไว้ในกฎบัตรมาตราที่ 2 ได้เลย

การให้ความสำคัญต่อวิถีทางอาเซียนนั้นยังส่งผลให้ภูมิภาคขาดมาตรการการลงโทษรัฐสมาชิกที่ละเมิดข้อบังคับต่างๆนาๆที่ได้ระบุไว้ในกฎบัตร ด้วยเหตุนี้รัฐสมาชิกจึงฉาบฉวยช่องทางดังกล่าวในการละเมิดข้อตกลงเมื่อโอกาสเอื้ออำนวย อาทิเช่นกรณีเข้าร่วมในข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area) ในปี ค.ศ. 1992 โดยผ่านกลไกการลด “อัตราภาษีศุลกากรพิเศษที่เท่ากัน” (Common Effective Preferential Tariff Scheme) แต่เดิมนั้นกลไกดังกล่าวครอบคลุมเพียงแค่สินค้าอุตสาหกรรมและเกษตรแปรรูปเท่านั้นซึ่งต่อมาได้ขยายครอบคุลมสินค้าทุกประเภท กลไกดังกล่าวลดอัตราภาษีศุลกากรสินข้านำเข้าของรัฐสมาชิกโดยมีเป้าประสงค์ให้ลดเหลือร้อยละ 0-5 ภายในระยะเวลาสิบปีโดยเริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1993 จนถึงปี 2003 โดยแรกเริ่มนั้น กลไกนี้ครอบคลุมเพียงแค่สินค้าอุตสาหกรรมและเกษตรแปรรูปเท่านั้น แต่ภายหลังได้ขยับขยายขอบข่ายเหมารวมสินค้าทุกประเภท [3]

กระบวนการลดภาษีดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการนำวิถีทางอาเซียนมาใช้เมื่อมีกรณีพิพาทระหว่างมาเลเซียและไทยเมื่อมาเลเซียขอเรียกร้องการเลื่อนการลดภาษีอันเกี่ยวข้องกับชิ้นส่วนยานยนต์ไปในปี 2005 ซึ่งประเทศไทยทักท้วงและขู่จะว่าเลื่อนการลดภาษีศุลกากรบางประเภทเช่นเดียวกัน [4] นอกจากกรณีของไทยและมาเลเซียแล้ว อีกหนึ่งตัวอย่างความขัดแย้งที่ได้เกิดขึ้นก็คือปัญหาระหว่างฟิลิปปินส์และสิงคโปร์ เมื่อฟิลิปปินส์ได้ส่งรายชื่อสินค้าประเภทปิโตรเคมี 11 รายการซึ่งฟิลิปปินส์ประสงค์ที่จะคงเดิมอัตราภาษีศุลกากรไว้ที่ร้อยละ 7-10 [5] แทนที่จะลดลงมาเหลือเพียงร้อยละ 5 ตามพันธะที่มีต่อข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน นาย Manuel Roxas อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของประเทศฟิลิปปินส์ได้แสดงทัศนะต่อการกระทำดังกล่าวว่า “ถึงแม้ว่าฟิลิปปินส์จะมีพันธะต่ออาเซียน แต่พวกเราก็จำต้องพิจารณาด้านผลประโยชน์แห่งชาติด้วย เพราะพวกเรามองว่าการค้าด้านปิโตรเคมีเป็นภาคส่วนในเชิงยุทธศาสตร์ของฟิลิปปินส์” [6]


ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ารัฐสมาชิกทั้งหลายมองเห็นโอกาสในการละทิ้งพันธะต่างๆที่มีต่ออาเซียนเพื่อดำเนินนโยบายที่จะทำให้รัฐตนได้ผลประโยชน์แห่งชาติได้มากที่สุดซึ่งเมื่อนำพฤติกรรมของรัฐสมาชิกเหล่านี้มาวิเคราะห์ภาพประชาคมอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกสามปีข้างหน้าก็คงไม่เป็นที่น่าแปลกใจเท่าใดหากพบว่ารัฐบางรัฐเลือกที่จะปฏิเสธพันธะบางอย่างในการให้ความสำคัญกับผลประโยชน์แห่งชาติดังที่ นายสุพัฒน์ สงวนดีกุล ผู้อำนวยการสำนักอาเซียน ณ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าอาจจะมีการนำมาตรการการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษีมาเพื่อปกป้องพลเมืองของแต่ละที่ ซึ่งมาตรการดังกล่าวมีความสลับซับซ้อนในแง่การตีความว่าเป็นการกีดกันทางการค้าหรือไม่ นอกจากนี้ นายสุพัฒน์ ยังได้มองว่ากฎหมายภายในประเทศของแต่ละรัฐสมาชิกอาจจะเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำหรับการรวมกันเป็นประชาคมได้เนื่องจาก กฎหมายภายในอาจจะระบุถึงการจดทะเบียนหรือข้อบังคับต่างๆนา ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่บั่นทอนแรงจูงใจของนักลงทุนต่างๆมากมาย [7] ในมุมนี้กฎหมายภายในของแต่ละรัฐสมาชิกอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการบิดเบี้ยวพันธะที่มีต่อประชาคมก็เป็นได้



สถานะคายไม่ออก

สืบเนื่องจากโครงสร้างที่เปิดช่องให้รัฐสมาชิกในอาเซียนมีแรงจูงใจในการเบี่ยงเบนจากพันธะของประชาคม นายสุพัฒน์ ได้เสนอให้มีผู้นำในอาเซียนเพียงประเทศเดียวในการถีบจักรและได้เสนอให้มีมาตรการลงโทษต่อประเทศสมาชิกที่ละเมิดข้อตกลงในองค์การ [8] ซึ่งข้อเสนอแนะดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกับทฤษฎี “เสถียรภาพที่เกิดจากความเป็นเจ้า” (hegemonic stability theory) [9] กล่าวคือจำต้องมีอำนาจเหนือรัฐสมาชิกคอยกำกับดูแล ลงโทษ และป้องกันมิให้เกิดการเบี่ยงเบนไปจากข้อตกลงร่วมกันในภูมิภาค ไม่ว่าการใช้อำนาจนั้นจะอยู่ในรูปของรัฐซึ่งครองสถานะความเป็นเจ้า (hegemon) ซึ่งบังคับสมาชิกผ่านอิทธิผลหรือมาตรการต่าง หรือเป็นการใช้อำนาจเชิงสถาบันผ่านรูปแบบองค์การระหว่างประเทศเหนือรัฐ (supranational authority)
หากจะกล่าวให้กระชับที่สุดก็คืออำนาจดังที่กล่าวมาในข้างต้นมีความสำคัญในการป้องกันปัญหาการละเมิดที่จะเกิดขึ้น เพราะเมื่อปราศจากอำนาจดังกล่าวก็อาจจะเกิดปัญหา “ภัยทางศีลธรรม” (moral hazard) ดังที่เกิดขึ้นในสหภาพยุโรปเมื่อตัวสหภาพเลือกที่จะไม่ควบคุมการดำเนินนโยบายการคลังของรัฐสมาชิกอันเป็นเหตุให้มีรัฐบางรัฐเลือกที่จะใช้จ่ายเกินกำลัง ก่อให้เกิดปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่ตามมา ฉะนั้น เมื่อลองย้อนกลับมาดูในกรณีอาเซียนนั้น อำนาจดิบผ่านสถานะความเป็นเจ้าหรืออำนาจเชิงสถาบันนั้นถือได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการธำรงประชาคมอาเซียนให้ยืนยาวไปได้ไกลมากกว่าการที่จะยืนบนฐานของวิถีทางอาเซียน

อย่างไรก็ตามด้วยเหตุผลที่กล่าวไว้ก่อนหน้าถึงความจำเป็นในการดำรงอยู่ของวิถีทางอาเซียน ซึ่งดึงเหล่ารัฐสมาชิกที่มีความแตกต่างกันในด้าน การเมือง สังคมและวัฒนธรรม และยังปราศจากความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันมารวมเข้าด้วยกัน แนวคิดการยอมรับสถานะความเป็นเจ้าของรัฐใดรัฐหนึ่งหรือการยอมถูกผูกมัดภายใต้อำนาจเหนือรัฐนั้นดูจะเป็นการเร่งการสูญสลายของประชาคมให้แตกเป็นเสี่ยง เมื่อจินตนาการถึงการบังคับใช้ประชาธิปไตยในภูมิภาคผ่านกลไกอำนาจเหนือรัฐนั้น รัฐบาลพม่าก็คงยินยอมถูกถอดความเป็นสมาชิกจากอาเซียนเป็นแน่ ด้วยเหตุที่การกำหนดดังกล่าวกระทบกระเทือนต่อผู้มีอำนาจภายในโดยตรง ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นหนึ่งในความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในหลายกรณีเมื่อมีการก่อตั้งอำนาจเหนือรัฐ

หากจะกล่าวโดยสรุปทั้งมวลก็คือสิ่งที่รวมกันให้เกิดอาเซียนและปัจจัยที่จะธำรงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้นเป็นฟันเฟืองอันสำคัญในการหมุนอาเซียนดำเนินไปข้างหน้า แต่ทว่าทั้งสองตัวแปรนี้เปรียบเสมือนน้ำและน้ำมัน ซึ่งไม่สามารถผสมกลมกลืนให้กลายเป็นเนื้อเดียวได้โดยง่าย ด้วยเหตุนี้ตัวแปรที่ได้กล่าวมาจึงเป็นสมการของความเป็นไปไม่ได้ในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน



มองย้อนหลัง คาดหวังไปข้างหน้า

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในอาเซียนกับความเป็นไปไม่ได้นั้นค่อนข้างละม้ายคล้ายคลึงกับสิ่งที่ E.H. Carr ได้วิเคราะห์ไว้เมื่อ 80 ปีที่แล้ว ในหนังสือชื่อดังของ Carr ที่ชื่อว่า The Twenty Years’ Crisis 1919-1939: an Introduction to the Study of International Relations นั้น Carr ได้วิจารณ์นักวิชาการและนักออกนโยบายเช่น Norman Angell และ Woodrow Wilson ซึ่ง Carr มองผ่านคำถามพื้นฐานว่านักวิชาการเหล่านี้มองสิ่งที่ “ควรจะเป็น” มากกว่าการศึกษา “สิ่งที่เป็นอยู่” เช่นเมื่อครั้ง Wilson ถูกถามเกี่ยวกับการออกแบบ “สันติบาตแห่งชาติ” (League of Nations) ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ Wilson ได้ตอบกลับได้อย่างมีนัยยะว่า “ถ้ามันไม่ประสบความสำเร็จ ยังไงก็ต้องทำให้มันประสบความสำเร็จให้จงได้” [10] หรือถ้าจะอธิบายคำตอบของ Wilson ให้ง่ายที่สุดก็คือ นักวิชาการและนักออกนโยบายอาจจะไม่จำเป็นต้องให้ความสนใจต่อ “ปัจจัยที่เป็นอยู่” มากนักเมื่อเทียบกับอนาคตที่กำลังจะเกิด 
เมื่อย้อนเหลียวดูอาเซียนและประชาคมอาเซียนที่กำลังจะเกิดนั้น นักวิชาการและนักออกนโยบายส่วนมากได้มองในมุมมองเฉกเช่นเดียวกับ Wilson นั่นก็คือมองอาเซียนในสิ่งที่ควรจะเป็นมากกว่าปัจจัยความเป็นไปไม่ได้ที่เป็นอยู่ อาทิเช่น นักวิชาการไทยบางกลุ่มเสนอให้แก้ประวัติศาสตร์ร่วมกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการบูรณาการในภูมิภาค ข้อเสนอดังกล่าวมองผ่านคำถาม “สิ่งที่ควรจะเป็น” มากกว่าศึกษาปัจจัยความเป็นไปได้ที่แต่ละรัฐจะยอมแก้ไขประวัติศาสตร์

จะอย่างไรก็ตาม นักวิชาการอิสระบางท่าน [11] ได้เสนอให้มองความเป็นไปได้ของประชาคมโดย “เชื่อมั่น” ถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นเพื่อที่จะเกิดการปรับเปลี่ยนปทัสถานของอาเซียนจากวิถีอาเซียนสู่ปทัสถานในรูปแบบอื่นซึ่งเอื้อต่อการดำรงอยู่อย่างมั่นคงของประชาคมอาเซียนในอนาคต ซึ่งตัวอย่างก็คือการที่เกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐสมาชิกจนกระทั่งรัฐสมาชิกเริ่มอยากเข้าเป็นสมาชิกของอาเซียนนับตั้งแต่ก่อตั้งและบางรัฐยินยอมอยู่ภายใต้พันธะบางประการของอาเซียน ฉะนั้นถ้ามองจากกรอบนี้วิถีอาเซียนก็คงมีการปรับเปลี่ยนในอนาคตเป็นแน่

ไม่ว่าจะวิเคราะห์จากปัจจัยที่เป็นอยู่หรือคาดหวังถึงความเปลี่ยนแปลงทางด้านปทัสถานในอนาคตอันเกิดจากการเพิ่มขึ้นของการปฏิสัมพันธ์ในหมู่รัฐสมาชิก ความเป็นไปได้อย่างสมบูรณ์แบบของประชาคมอาเซียนคงไม่มีทางผลิดอกออกผลในระยะเวลาเพียงสามปีเป็นแน่


 ………………………………………………...

[1]  “สงครามขนานใหญ่” (Epochal War) เป็นศัพท์ที่บัญญัติโดย Phillip Bobbitt โดยเขาใช้กล่าวถึงช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านจาก “รัฐก่อนสมัยใหม่” (pre-modern state) จนสู่การต่อสู้ฆ่าฟันระหว่างเหล่ากษัตริย์ในยุโรปในขณะที่ “สงครามยาวนาน” (Long War) นั้นผู้บัญญัติศัพท์ใช้อ้างอิงถึงช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 จวบจนจบสงครามเย็น ดู Phillip Bobbitt, the Shield of Achilles: War, Peace, and the Course of History (New York, Vintage Books, 2002).

[2]  Karl D. Jackson, “Bureaucratic polity: a theoretical framework for the analysis of power and communications in Indonesia,” in Karl. D. Jackson and Lucien W. Pye, eds., Political Power and Communications in Indonesia. (Berkeley: University of California Press, 1978), pp. 3-22.

[3]  Boi.go.th [Thailand], “สิทธิพิเศษทางการค้าและการลงทุนตามข้อตกลงอาเซียน,” http://www.boi.go.th/thai/clmv/Back_up/2010_myanmar/2010_myanmar_7.html Accessed 31 August 2012

[4]  Hidetaka Yoshimatsu, “Collective Action Problems and Regional Integration in ASEAN,” CSGR Working Paper No 198/06, http://wrap.warwick.ac.uk/1907/1/WRAP_Yoshimatsu_wp19806.pdf Accessed 31 August 2012, pp. 9-10

[5]  Ibid, p.10

[6]  AFP, 16 June 2013 cited in ibid.

[7]  ศุภกร จันทร์ศรีสุริยวงษ์, “ทางรอดทางเดียวของไทย เหลียวหลัง-และหน้า ‘อาเซียน’,” http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROamIyd3dNVEl3TURnMU5RPT0=&sectionid=TURNd013PT0=&day=TWpBeE1pMHdPQzB5TUE9PQ== Accessed 31 August 2012 บทความดังกล่าวได้มาจากการสรุปการเสวนาในหัวข้อ “เหลียวหลังแลหน้า 45 ปี อาเซียน”

[8]  Ibid.

[9]  โปรดดูมุมมองของนักวิชาการด้านนี้ในบทที่ว่าการบูรณาการในระดับภูมิภาคผ่านมุมมองทฤษฎีเสถียรภาพที่เกิดจากความเป็นเจ้าใน Robert Gilpin, Global Political Economy: Understanding the International Economic Order(New Jersey: Princeton University Press, 2001), pp. 341-361

[10] E.H. Carr, The Twenty Years’ Crisis 1919-1939: an Introduction to the Study of International Relations (New York: Palgrave, 2001), p.8

[11] ขอขอบคุณพี่ชัยวุฒิ ตันไชย สำหรับการเสนอให้ลองมองอาเซียนในมุมมองในด้านบวก เพื่อสร้างปัจจัยความเป็นไปได้ของประชาคม โดยการมองผ่านกรอบคิด “สรรสร้างนิยม” (constructivism)



.