http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-09-04

ปล่อยน้ำเข้ากรุง โดย นฤตย์ เสกธีระ

.
อีกบทความ - น้ำกับการเมือง จาก ต.ค.-พ.ย.54 ถึงวันนี้ ก.ย. 2555

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ปล่อยน้ำเข้ากรุง
โดย นฤตย์ เสกธีระ max@matichon.co.th
ในมติชน ออนไลน์  วันอังคารที่ 04 กันยายน พ.ศ. 2555 เวลา 12:30:08 น.
(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 นสพ.มติชนรายวัน ฉบับอังคารที่ 4 ก.ย.2555 )


วันที่ 5 กันยายน และวันที่ 7 กันยายน เป็นวันที่จะมีการปล่อยน้ำมาทดสอบระบบจัดการน้ำ

จากคำแถลงของ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานบอกว่า จะปล่อยน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาทดสอบ คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต คลองลาดพร้าว ซึ่งเป็นคลองรับน้ำตามแผนการระบายน้ำทางฝั่งตะวันออกของ กทม.
และทดสอบคลองรับน้ำตามแผนการระบายน้ำทางฝั่งตะวันตกของ กทม. คือ คลองทวีวัฒนา
ตามแผนอีกเช่นกันระบุว่า การทดสอบการบริหารจัดการน้ำที่เข้าสู่คลองทวีวัฒนาจะทดสอบในวันที่ 5 กันยายน
ส่วนคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต คลองลาดพร้าวนั้นกำหนดทดสอบวันที่ 7 กันยายน 

ผลปรากฎว่า หลังมีประกาศว่าจะทดสอบการบริหารจัดการน้ำด้วยการปล่อยน้ำไหลเข้ากรุงตามวันและเวลาดังกล่าว
คนไทยทั้งประเทศที่สดับฟังข่าวสาร คงได้เห็นอะไรที่มากกว่าการทดสอบน้ำ
หนึ่ง คือ เห็นว่าขวัญของคนกรุงและคนเมืองที่เพิ่งประสบมหาอุทกภัยเมื่อปลายปี 2554 นั้น ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ประชาชนยังไม่ไว้ใจการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ
ผลการสำรวจโพลล่าสุดก็ออกมาเช่นนั้น 

สอง คือ เห็นว่าบุคลากรในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำยังคงทะเลาะกันอยู่เหมือนเดิม 
กรุงเทพมหานครยังมีเรื่องมีราวกับรัฐบาลอยู่เช่นเดียวกับตอนที่น้ำท่วม
ยังเห็นอีกว่า บุคลากรในคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำยังคงมีปัญหากับนายปลอดประสพอยู่เช่นเดิม

สาม คือ เห็นความล่าช้าของการดำเนินการหลายจุด อย่างน้อย กรณีคลองลาดพร้าวที่ทาง นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครออกมาบอกว่า การขุดลอกคลองลาดพร้าวอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯแต่จนบัดนี้แล้วยังไม่มีการขุดลอกให้คืบหน้าแต่อย่างใด 
เรื่องนี้นายปลอดประสพ ยอมรับและบอกว่าจะนำไปแก้ไข
ผลดีของการทดสอบเป็นเช่นนี้!

และเชื่อว่าหากมีการทดสอบต่อไป จะพบข้อบกพร่องอีกหลายประการ เช่น ประสิทธิภาพของประตูระบายน้ำ สันดอนใต้คลอง ฯลฯ ซึ่งทุกอย่างจะปรากฏ เมื่อทดสอบ 'รับมือ' น้ำ
ดังนั้น การทดสอบการบริหารจัดการน้ำด้วยการปล่อยน้ำเข้ามาไม่เกินร้อยละ 30 ของศักยภาพในการรับน้ำ และปล่อยน้ำเพียง 10-20 ลบ.ม.ต่อวินาทีนั้นสมควรจะกระทำ


อย่าลืมว่า การทดสอบครั้งนี้ คนยังควบคุมน้ำได้ คือ คนสามารถยับยั้งความเสียหายจากน้ำได้ 
แตกต่างจากภัยธรรมชาติที่คนควบคุมน้ำไม่ได้ ความเสียหายจึงเกิดหนัก-เบาแล้วแต่เวรแต่กรรม 
ดังนั้น ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ทดสอบเถอะ...
เมื่อพบจุดโหว่จะได้อุด พบจุดบกพร่องจะได้แก้ไข

ขณะที่ฝ่ายรัฐคงมีบทเรียนกันแล้วว่าคนยังกลัวน้ำท่วม การปล่อยน้ำเข้ากรุงจึงจำเป็นต้องประชาสัมพันธ์ให้นานกว่านี้มากกว่านี้
รัฐน่าจะทำให้คนเชื่อมั่นในประสิทธิภาพการระบายน้ำก่อนทดสอบ เช่น เปิดให้ดูระบบรับน้ำตั้งแต่เนิ่นๆ นำล่องเรือตรวจคูคลอง เพื่อให้เห็นความพร้อม การนำชมอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ การบอกกล่าวถึงปริมาณน้ำที่ใช้ในการทดสอบ และประมาณการณ์ระดับน้ำสูงสุดที่จะเกิดขึ้นในวันทดสอบ เป็นต้น 
การทำเช่นนี้อาจจะทำให้คนไทยเปลี่ยนความคิด
เปลี่ยนจากเดิมที่คิดว่าการทดสอบทำให้เกิดอันตราย เปลี่ยนเป็นการทดสอบคือกลไกสำคัญในการรับมือกับอันตราย



+++

น้ำกับการเมือง จาก ต.ค.-พ.ย.54 ถึงวันนี้ ก.ย. 2555
ในมติชน ออนไลน์  วันอังคารที่ 04 กันยายน พ.ศ. 2555 เวลา 15:33:03 น.


เรื่องน้ำท่วมยังคงเป็นเรื่องการเมือง
ตั้งแต่ น้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 2554
มาจนถึงเดือนนี้ปีนี้ กันยายน 2555 
น้ำยังไม่มา แต่การเมืองมารออยู่นานแล้ว

ปลายปี 2554 รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งในเดือนสิงหาคม โดนถล่มโจมตีอย่างหนัก 
ด้วยเป้าหมายจะให้รัฐบาลเพื่อไทย ไหลออกทะเลไปกับมหาธาราให้ได้ 
เรื่องราวจบลงด้วยการอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่อง "ถุงยังชีพ" ที่มี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ประธาน เป็นเป้าใหญ่ 
เกมพลิกอีก เมื่อ พล.ต.อ.ประชา โชว์เก๋าพลิกตัวหลบจากข้อหาไปได้


สองเหตุการณ์ใหญ่ ในแผนงานป้องกันน้ำท่วมจากรัฐบาล ที่เกิดขึ้นในต้นเดือน ก.ย. คือ
1.นิทรรศการ "มุ่งมั่นทำงานบริหารจัดการน้ำเพื่อประชาชน" ที่บางกอกคอนเวนชั่น เซ็นทรัล ลาดพร้าว
และ 2.การทดสอบระบบระบายน้ำ โดยปล่อยน้ำเข้ากรุงเทพฯไปลงอ่าวไทย
โดยปล่อยน้ำเข้ากรุงเทพฯผ่านคลองลาดพร้าวด้านตะวันออก และคลองทวีวัฒนาด้านตะวันตก

คำชี้แจงจากรัฐบาล นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.)
การดำเนินการอยู่ภายใต้การควบคุมของ กบอ., กทม. และกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ที่มีความรู้ความสามารถในการจัดการน้ำ 
หากเกิดฝนตกในระหว่างซ้อมแผนจะหยุดทันที

สาเหตุที่ต้องซ้อม เพื่อตรวจสอบว่า กทม.ได้มีการขุดลอกคูคลองรอบกรุงเทพฯ ป้องกันปัญหาน้ำท่วมตามคำสั่งของรัฐบาลหรือไม่ 
หรือมีจุดใดที่ต้องขุดให้ลึกเพิ่ม หรือจุดใดสามารถระบายน้ำได้มากน้อยเพียงใด รวมทั้งประตูระบายน้ำต่างๆ ที่สั่งการให้ซ่อมแซมเสร็จสิ้นลงหรือยัง 
นอกจากทดสอบการระบายน้ำแล้ว เป้าหมายของโครงการ ยังต้องการทำให้คน กทม.เชื่อมั่นในระบบระบายน้ำ และยอมให้น้ำผ่านกรุงเทพฯ
หลังจากที่เกิดปัญหาในปี 2554 เนื่องจากเกิดแรงต้านไม่ยอมให้ระบายน้ำผ่านกรุงเทพฯ 
ส่งผลต่อจังหวัดเหนือกรุงเทพฯ ต้องรับความเสียหายอย่างหนัก



อุปสรรคของการ "ซ้อมใหญ่" ให้น้ำเดินทางผ่านกรุงเทพฯ อาจไม่ได้อยู่ที่คนกรุงเทพฯ 
แต่น่าจะอยู่ที่ผู้ว่ากรุงเทพฯและคณะรองผู้ว่าฯ
รวมถึง ส.ส.กรุงเทพฯของพรรค ปชป.

ดังที่มีข่าว แสดงความ "วิตก" และ "กังวล" จากพรรคประชาธิปัตย์ทันที 
บางท่านถึงกับระบุว่า เป็นเรื่องไม่จำเป็น เป็นเพียงละครฉากหนึ่งเท่านั้น 
นับเป็นความกังวลและวิตกที่เข้มข้นด้วย "การเมือง"

ที่น่าสนใจ คือคำกล่าวของนายมิคิโกะ ทาเคยะ ที่ปรึกษาอาวุโสองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือไจก้า ในที่สัมมนาของนิทรรศการน้ำ เมื่อวันที่ 2 ก.ย. สนับสนุนให้ทดสอบปล่อยน้ำ เพื่อเป็นแนวทางในการวิเคราะห์และจัดการน้ำ 
ดังนั้น หากพิจารณาจากความวิตกกังวลของนักการเมือง ทำให้ชาวบ้านวิตกได้เหมือนกันว่า
คูคลองต่างๆ ใน กทม. ผ่านการขุดลอกเรียบร้อยแล้วหรือไม่ 
หากพร้อมรับการทดสอบ ไฉนจึงมากด้วยความกังวลกันถึงขนาดนั้น

จากปลายปี 2554 ถึง ก.ย. 2555 การเมืองยังเป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาน้ำ



.