http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-09-11

หนุ่มเมืองจันท์: มีชีวิตเพื่อผู้อื่น

.

มีชีวิตเพื่อผู้อื่น
โดย หนุ่มเมืองจันท์ boycitychan@matichon.co.th www.facebook/boycitychanFC คอลัมน์ ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 07 กันยายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1673 หน้า 24


วันก่อน ผมไปพูดที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ 
ดีใจมากที่ได้เจอ อาจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ หรือ "วีรกร ตรีเศศ" สุดยอดนักเขียนเรื่องเศรษฐศาสตร์ที่ย่อยง่ายที่สุดในประเทศไทย
อาจารย์วรากรณ์ตอนนี้เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ 
และด้วยภารกิจที่หนักหนาสาหัสในตำแหน่งนี้ทำให้อาจารย์ต้องวางปากกาไป 
น่าเสียดายจริงๆ


ผมไม่ได้เจออาจารย์นานมาก
แต่คำทักทายแรกที่อาจารย์วรากรณ์ทักกลับเป็นประโยคที่ผมเจอเป็นประจำ 
"มีคนเคยบอกไหมว่าคุณหน้าตาคล้ายอาจารย์ปริญญามาก" 
ผมหัวเราะเลย 
เพราะเจอคำพูดนี้บ่อยมาก 
ล่าสุด ที่สนามบินดอนเมือง มีผู้หญิงคนหนึ่งยกมือไหว้แล้วทักทายแบบสนิทสนม
"อาจารย์จะไปไหนคะ" 
ตอนแรกนึกว่าเป็นคนที่เคยเข้าอบรมในงานที่ผมไปพูด 
"ไปอุบลฯ ครับ" 
พอได้ยินเสียงผม เธอก็ชะงักไปนิดนึง 
"อาจารย์ปริญญาหรือเปล่าคะ" 
555 เธอทักผิดครับ

ผมเคยคุยกับ "เอก" ปริญญา หลายครั้ง เพราะเราทั้งคู่เจอเหตุการณ์แบบนี้เป็นประจำ 
ตอนนี้ผมเดินเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักศึกษายกมือไหว้เป็นประจำ 
ส่วน "เอก" เดินในงานหนังสือ ก็เจอคนทักผิด
ครั้งนี้เจออาจารย์วรากรณ์ทักอีก 
ผมบอกอาจารย์ว่าโชคดีมากที่รับมาพูดในวันนี้ เพราะได้เจอกับอาจารย์


ตอนแรกที่ได้รับเมล์จาก "อาจารย์หนึ่ง" ผมตั้งใจจะปฏิเสธ 
เหตุผลหนึ่ง คือ การพูดต่อหน้านักศึกษาตั้ง 800 คน น่ากลัวมาก 
อีกเหตุผลหนึ่ง คือ ขี้เกียจเตรียมตัว 
ทั้งสคริปต์และการทำเพาเวอร์พอยต์ 
แต่เมื่อดูชื่อหัวข้อเรื่องที่เชิญไปพูดแล้ว รีบรับเลยครับ 
"มีชีวิตเพื่อผู้อื่น"
หัวข้อแบบนี้ คนพูดต้องเป็น "คนดี" แน่นอนเลย 
ไม่รับได้อย่างไร




ในขณะที่หัวข้อที่พูดคือ "มีชีวิตเพื่อผู้อื่น" 
แต่ผมเรียกร้องให้น้องๆ เห็นแก่ตัว 
เห็นแก่ "ความสุข" ส่วนตัว 
จากประสบการณ์ของผม การแสวงหา "ความสุข" ให้กับตัวเองนั้นมีหลายรูปแบบ 

แต่ไม่น่าเชื่อว่าการทำให้ "ผู้อื่น" มีความสุข 
เรากลับมีความสุขยิ่งกว่า


ตั้งแต่ตอนทำกิจกรรมนักศึกษา 
4 ปีผมไปค่ายอาสาพัฒนาชนบท 8 ครั้ง 
ผมเชื่อว่าการไปค่ายถือเป็น "ยาเสพติด" รูปแบบหนึ่ง 
ไปแล้ว "ติด" 
ยังนึกถึงพ่อๆ แม่ๆ ที่ผูกข้อมือวันกลับได้เลย 
น้ำหูน้ำตาไหลกันทั้ง 2 ฝ่าย

ผมมีเรื่องประทับใจมากมายเกี่ยวกับพี่-เพื่อน-น้องที่ช่วยเหลือผู้อื่น 
ตอนแรกผมคิดว่าเขาเป็นคนมี "น้ำใจ"  
แต่รุ่นพี่คนหนึ่งเล่นแรง เขาบอกว่าการช่วยเหลือมนุษย์ที่ด้อยกว่านั้นไม่ใช่เป็นเรื่องแค่ "น้ำใจ" 
แต่เป็น "หน้าที่" 
"หน้าที่" ของมนุษย์ทุกคนพึงมี 
อึ้งไปเลย

แต่ก็เป็นเรื่องจริงครับ 
มี "คนตัวเล็กๆ" ในโลกนี้มากมายที่ทำสิ่งเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ 
ทำเท่าที่เราทำได้ แต่ทำจริง  
การช่วยเหลือผู้อื่นนั้นเหมือนกับ "ยาเสพติด" 
ยิ่งได้ทำ ยิ่งอยากทำมากขึ้น 
เพราะเขาค้นพบว่าการช่วยเหลือให้ผู้อื่นมี "ความสุข" 
ตัวเรากลับสุขยิ่งกว่า


ประสบการณ์ครั้งหนึ่งที่ประทับใจมาก คือ ตอนที่ผมทำหนังสือ "ความสุข ณ จุดที่ยืนอยู่" และนำค่าเรื่องไปบริจาคให้กลุ่มลูกเหรียง 
วันหนึ่ง รายการ "โลกนักอ่าน บ้านนักเขียน" เชิญผมไปออกรายการ 
พูดถึงหนังสือเล่มนี้  
เขาไปสัมภาษณ์ "ชมพู่" ของกลุ่มลูกเหรียงที่ดูแลเด็กที่กำพร้าพ่อแม่จากเหตุการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดภาคใต้มาประกอบในรายการด้วย
ผมเพิ่งรู้ว่าเงินก้อนแรก 40,000 บาทที่ส่งไปนั้นมี "ความหมาย" แค่ไหนสำหรับเด็กน้อยๆ กลุ่มนี้  
"ชมพู่" เล่าว่าช่วงนั้นเป็นช่วงเปิดเทอม ต้องหาเงินเป็นทุนการศึกษาให้กับเด็ก 
เงินที่คนอื่นบริจาคมานั้นไม่พอสำหรับเด็กทั้งหมด 
ขณะที่เธอกำลังจะนำสิ่งของมีค่าของกลุ่มลูกเหรียงไปขายเพื่อนำเงินมาเป็นทุนการศึกษาที่ขาดอยู่ 
เงินค่าเรื่องของผมก็ไปถึง 
ทันเวลาพอดี
ไม่ต้องขายเครื่องใช้ของกลุ่มลูกเหรียง

"ชมพู่" เล่าว่าเด็กๆ ถามว่าคนที่ส่งเงินก้อนนี้เป็นใคร เพราะไม่ใช่ "ขาประจำ" ที่เขาคุ้นเคย 
"ชมพู่" บอกเด็กว่า ผมเคยได้ฟังเธอไปพูดในงานงานหนึ่ง และเขียนถึงกลุ่มลูกเหรียงในคอลัมน์
เด็กถามว่าจะตอบแทนอย่างไรดี 
"แค่ทุกคนเป็นคนดี พี่เชื่อว่าพี่หนุ่มเมืองจันท์เขาคงมีความสุข"
ครับ ถ้าเป็นคุณ คุณจะรู้สึกอย่างไร
ผมก็รู้สึกแบบเดียวกัน


ผมบอกน้องๆ ว่าในวันที่เราเดินออกจากรั้วมหาวิทยาลัย มี 2 สิ่งที่คุณพึงมี คือ 
1. การตั้งคำถาม 
คุณต้องรู้จักตั้งโจทย์ชีวิตของตัวเอง 
ตั้งเอง-ตอบเอง

ชีวิตของคุณจะเป็นไปอย่างไร เพื่อใคร 
จะปล่อยชีวิตให้เดินไปสู่การสิ้นสุด เพียงแค่ทำงาน มีครอบครัว และตาย
เท่านั้นเองหรือ

"คำถาม" นั้นจะบอก "ทิศ" ของชีวิต
แต่ "คำตอบ" จะบอกเส้นทางเดินของเราในอนาคต


2. ดุลพินิจ 
การตัดสินใจว่าเราจะเดินไปทางไหน 
อะไรที่เราควรทำ และไม่ควรทำ 
ไม่มีใครสอนได้

คุณต้องรู้จักใช้ดุลพินิจหาคำตอบที่ถูกต้องเอง 
นี่คือ สิ่งที่คุณควรจะได้เมื่อพ้นจากรั้วมหาวิทยาลัย 

เป็นวิชาสำคัญที่สุดที่ไม่มีเกรด



.