http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-09-25

ฟุคุชิมาสะเทือนโลก(25) (26): ผีเสื้อ-แมลง-แมงมุม, ..กับเชอร์โนบิล โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน

.

ฟุคุชิมาสะเทือนโลก (25)  ผีเสื้อ-แมลง-แมงมุม
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน butrton@yahoo.com  คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1674 หน้า 38 


ข่าวนักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นศึกษาความเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม พบสถิติการ "ผ่าเหล่า" ของหมู่ผีเสื้อในพื้นที่ใกล้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟุคุชิมา ไดอิจิ มีจำนวนสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุโรงไฟฟ้าฟุคุชิมาระเบิดหลายคนอาจได้ยินกันบ้างแล้ว 
แต่ประเด็นน่าสนใจตรงที่ เมื่อนำกรณีแมลงและแมงมุม ที่เก็บตัวอย่างจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ในยูเครนหลังเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ระเบิดมาเทียบกันมีความคล้ายกันอย่างยิ่ง 

นักวิทยาศาสตร์ศึกษาเก็บตัวอย่างผีเสื้อฟ้าเซลล์จุดป่าสูง (Pale Grass Blue) หรือชื่อเดิม Zizeeria maha จากพื้นที่ใกล้โรงไฟฟ้าฟุคุชิมา พบว่า จำนวนร้อยละ 12 ซึ่งได้รับสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้าฟุคุชิมา ขณะเป็นตัวหนอนมีสภาพร่างกายผิดปกติ 
เมื่อนำไปเพาะเลี้ยงในห้องแล็บนอกพื้นที่ พบปรากฏการณ์ "ผ่าเหล่า" (mutation) 

กล่าวคือ ลูกหลานของผีเสื้อชนิดนี้ยังคงมีความผิดปกติเช่นกัน


ผีเสื้อฟ้าเซลล์จุดป่าสูง มีขนาดปีกกว้าง 21-24 มิลลิเมตร 
ปีกบน ตัวผู้มีพื้นปีกทั้งสองคู่สีฟ้าอมม่วง ส่วนปีกล่าง ทั้งสองเพศคล้ายกัน พื้นปีกทั้งสองคู่สีน้ำตาลอ่อน มีลายจุดสีน้ำตาลเข้มและดำ 
ผีเสื้อชนิดนี้อยู่ในป่า เบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าละเมาะ ทุ่งหญ้า สวนผลไม้  
พบได้ในหลายภูมิภาค เช่น เนปาล ภูฏาน พม่า และกระจายอยู่ในทุกภาคของไทย ชอบกิน พืชเกล็ดปลา เกล็ดปลาหมอ ผักแว่น 
วงจรชีวิต ไข่ 4 วัน หนอน 15-46 วัน ดักแด้ 9-19 วัน


นักวิทยาศาสตร์พบความเชื่อมโยงระหว่างการผ่าเหล่าและสารกัมมันตรังสี เนื่องจากผีเสื้อชนิดดังกล่าวซึ่งโตเต็มที่แล้วจำนวน 144 ตัวที่เก็บจากสถานที่ต่างๆ ใกล้ๆ โรงไฟฟ้าฟุคุชิมา 10 จุด มีสภาพผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นขา หนวด หรือปีก  
เมื่อนำไปเปรียบกับผีเสื้อในพื้นที่อื่นๆ พบความผิดปกติที่แตกต่าง 
ปีกของผีเสื้อในพื้นที่ฟุคุชิมา หลังเกิดเหตุเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ระเบิด เนื่องจากแผ่นดินไหวขนาด 9.0 ริกเตอร์และเกิดคลื่นสึนามิชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 มีขนาดเล็กกว่า 
ส่วนลักษณะของดวงตาไม่เหมือนกับผีเสื้อแหล่งอื่นๆ



ศาสตราจารย์โจจิ โอตากิ นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยรุยกิว เมืองโอกินาวา เชื่อว่า บรรดาผีเสื้อมีภูมิต้านทานกัมมันตรังสีที่สูงมาก แต่จากการศึกษาครั้งนี้ได้ผลลัพธ์ที่คาดไม่ถึง
"โอตากิ" ศึกษาผีเสื้อแทบทุกสายพันธุ์มานานกว่า 10 ปี 
ผีเสื้อตัวอย่างเก็บจากใกล้ๆ โรงไฟฟ้าฟุคุชิมา ศาสตราจารย์โอตากิส่งไปที่ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ห่างจากจุดเกิดเหตุ 1,750 กิโลเมตร
เพราะฉะนั้น ข้อสงสัยในเรื่องของการปนเปื้อนกัมมันตรังสีนอกเหนือจากฟุคุชิมา ตัดไปได้เลย

นักวิจัยเห็นปรากฏการณ์ "ผ่าเหล่า" ซึ่งไม่เคยเห็นมาก่อน 
อย่างหนวดผีเสื้อ ปกติแล้วมันจะใช้เป็นเหมือนเสาอากาศสำรวจสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัวและยังจับคลื่นสัญญาณหาคู่ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของสีของปีกผีเสื้อที่มีความแตกต่างด้วย  
หกเดือนต่อมา ไปเก็บตัวอย่างมาศึกษาเปรียบเทียบอีกครั้งจาก 10 พื้นที่ พบอีกว่าอัตราการ "ผ่าเหล่า" ของผีเสื้อจากฟุคุชิมา สูงขึ้นเป็นสองเท่า
ผลปรากฏเป็นเช่นนี้ นักวิจัยจึงสรุปว่า อัตราการผ่าเหล่ามีสูงขึ้นนั้นมาจากผีเสื้อกินอาหารปนเปื้อนกัมมันตรังสี 
ไม่เพียงจะเกิดขึ้นกับตัวผีเสื้อนั้นๆ หากยังส่งผลความผิดปกติผ่านพันธุกรรมไปยังลูกหลานรุ่นถัดไป



ผลการศึกษาชิ้นนี้นำไปเผยแพร่ในวารสารวิทยาศาสตร์ว่าด้วยเรื่องวิวัฒนาการทางชีววิทยา 
"โอตากิ" บอกว่า ผีเสื้อเป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมในพื้นที่นั้นๆ เพราะมีความอ่อนไหวสูง 
เนื่องจากพบว่าผีเสื้อมีวิวัฒนาการด้านรูปแบบสีสันต่อภาวะโลกร้อนมาก่อน  
ผีเสื้อยังตอบสนองกับสภาวะแวดล้อมจำลอง อย่างเช่น สวนสาธารณะ หรือสวนเทียม

ผลการศึกษาครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่ารังสีที่ถูกปล่อยออกมาในระหว่างอุบัติเหตุ ก่อให้เกิดผลการเปลี่ยนแปลงในทางที่น่ากังวล และการกลายพันธุ์ในผีเสื้อจะยังคงดำเนินต่อไป แม้ว่าระดับสารรังสีในสภาพแวดล้อมจะจางหายไปแล้วก็ตาม 
แต่กระนั้น ศาสตราจารย์โอตากิบอกว่า ยังคงเร็วเกินไปที่จะสรุปว่ารังสีที่รั่วไหลจะส่งผลกระทบกับสัตว์สายพันธุ์อื่นๆ หรือแม้กระทั่งกับมนุษย์หรือไม่



++

ฟุคุชิมาสะเทือนโลก (26)  เปรียบเทียบกับเชอร์โนบิล
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน butrton@yahoo.com  คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1675 หน้า 39


เหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ที่ยูเครน เกิดระเบิดพ่นกัมมันตรังสีไปทั่วยุโรป แม้เวลาผ่านไปนานถึง 25 ปีแล้ว แต่นักวิทยาศาสตร์ยังคงติดตามตรวจสอบความเปลี่ยนทางสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิด  
เมื่อเกิดเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมา ไดอิจิ ระเบิดเมื่อปีที่แล้วนักวิทยาศาสตร์นำเอาปรากฏการณ์ทั้งสองมาเปรียบเทียบ 
เปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งในพื้นที่ที่กัมมันตรังสีปนเปื้อน ไม่ว่าจะเป็นผู้คน พืช สัตว์หรือแมลง 

สัตว์เล็กๆ อย่างนก ผึ้ง ผีเสื้อ แมลง รวมทั้งแมงมุม เหล่านี้ล้วนมีความอ่อนไหวสูง ถ้าระบบนิเวศน์ในพื้นที่นั้นมีความเปลี่ยนแปลง ยิ่งเปลี่ยนไปในทางลบ จะแสดงปฏิกิริยาทันที เช่นอพยพออกจากพื้นที่ เกิดอาการผ่าเหล่า หรือการขยายพันธุ์ลดลง ฯลฯ 
ศาสตราจารย์ทิโมธี มอสซู นักชีววิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเซ้าท์ แคโรไลนา สหรัฐอเมริกา กล่าวยืนยันผลลัพธ์จากปรากฏการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งสองแห่งระเบิดและการฟุ้งกระจายของกัมมันตรังสีว่า คล้ายกัน 
มอสซูบอกว่า ข้อแตกต่างนั้นมีอยู่อย่างเดียวก็คือ โรงไฟฟ้าฟุคุชิมา เกิดเหตุเมื่อปีที่แล้ว พื้นที่ปนเปื้อนกัมมันตรังสีมีปริมาณยังสูงมาก 
แต่โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล เหตุการณ์ผ่านไปแล้วกว่า 2 ทศวรรษ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับสภาพแวดล้อมลบเลือนหายไป แต่กระนั้นยังเห็นปรากฏการณ์บางอย่างที่ยังดำรงอยู่และเรื้อรัง



นักชีววิทยาชาวอเมริกัน ศึกษาร่องรอยพันธุกรรมและผลกระทบจากเหตุการณ์รอบๆ โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลมาเป็นเวลานาน พบว่า กัมมันตรังสีที่ปนเปื้อนในสภาวะแวดล้อมมีผลต่อนก แมลง และแมงมุมทั้งในระยะสั้น ระยะยาว 
ผลที่เห็นได้ชัดคือการผ่าเหล่า จำนวนประชากรของสัตว์ แมลง ลดลง  
นอกจากนี้ แล้วยังมีการเก็บตัวอย่าง แมงมุม ตั๊กแตน แมลงปอ ผีเสื้อ ผึ้ง จักจั่น และนกในพื้นที่ทั้งที่เชอร์โนบิลและฟุคุชิมา จำนวน 1,198 ตัวอย่าง เพื่อศึกษาวิเคราะห์ผล และยังตรวจสอบระบบนิเวศน์ ทั้งเก็บตัวอย่างดิน ปริมาณน้ำฝน ชนิดของดินและสภาวะภูมิอากาศ มาวิเคราะห์ควบคู่ไปด้วย 

ในฟุคุชิมา นักวิทยาศาสตร์พบว่า ขณะที่กัมมันตรังสีปนเปื้อนสูง จำนวนนก ผีเสื้อ และจักจั่น ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ส่วนแมลงปอกับตั๊กแตน ไม่มีผลกระทบมากนัก 
แต่สำหรับ "แมงมุม" กลับมีผลลัพธ์ตรงกันข้ามกล่าวคือมีจำนวนเพิ่มขึ้นทั้งๆ ที่ปริมาณกัมมันตรังสียังสูงอยู่  
มอสซูคาดว่า แมงมุมอาจจะจับเหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากกัมมันตรังสีจนทำให้เกิดสภาพร่างกายที่อ่อนล้ามากินเป็นอาหารได้มากขึ้น 
การกระจายพันธุ์จึงเข้มข้น  
แต่กระนั้นมอสซูยังเชื่อว่า ผลในระยะยาว ทั้งแมงมุม ผึ้ง ตั๊กแตน และแมงปอ จะมีปริมาณประชากรลดลง




ส่วนที่เชอร์โนบิลนั้น ปริมาณสัตว์ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ปริมาณปนเปื้อนกัมมันตรังสีมีสูง แต่จักจั่นไม่มีในพื้นที่เชอร์โนบิล จึงไม่มีการเปรียบเทียบตัวอย่าง 
สำหรับสัตว์ชนิดอื่นๆ เมื่อนำมาเปรียบเทียบกัน ทั้งสองแห่งต่างได้รับผลกระทบตรงๆ จากกัมมันตรังสีและเกิดการผ่าเหล่า 
โดยเฉพาะในฟุคุชิมา วงจรชีวิตของสัตว์ในพื้นที่เหล่านี้ สั้นลง เช่น แมลง และการผ่าเหล่าเริ่มปรากฏให้เห็น
สำหรับสัตว์เลื้อยคลานหรือสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ศาสตราจารย์มอสซูพบว่า พื้นที่รอบๆ โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลที่ได้รับการฟื้นฟูหรือบำบัดการปนเปื้อนของกัมมันตรังสี จะมีสัตว์เหล่านี้ในปริมาณเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับการฟื้นฟูบำบัด


กัมมันตรังสีปนเปื้อนในเชอร์โนบิล ยังมีอยู่มาก บางอย่างเช่น พลูโตเนียมอาจใช้เวลานับหลายหมื่นปีจึงจะสลายตัว ฉะนั้น ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจึงยังคงมีอยู่ต่อไป



.