http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-09-26

ยุคฟื้นฟูของการอ่าน, แปลวิกิพีเดียเป็นอีบุ๊กฯ โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์

.

ยุคฟื้นฟูของการอ่าน
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1674 หน้า 100
( ภาพจาก : www.kidtalentz.com  )


งานมหกรรมหนังสือฯ ประจำปีที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ใกล้จะมาเยือนอีกรอบในเดือนตุลาคม หนังสือใหม่ๆ น่าสนใจทยอยออกมาโฆษณาประชาสัมพันธ์กัน
ปัญหาในเรื่องระบบการจัดจำหน่ายซึ่งปีนี้สะท้อนออกมาเด่นชัดให้เป็นเรื่องชุลมุนเกี่ยวกับค่าดีซีหรือค่าธรรมเนียมศูนย์กระจายสินค้าที่ซาลงไปแล้ว 
ทำให้งานหนังสือประจำปีทั้งงานมหกรรมฯ และงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ที่เป็นไฮไลต์ใหญ่ที่สุดของวงการ มีความสำคัญสำหรับสำนักพิมพ์น้อยใหญ่ในประเทศไทย
ประการหนึ่งคือตักตวงโอกาสให้หนังสือออกใหม่ในจังหวะนั้น ประการหนึ่งคือการระบายหนังสือเก่าค้างสต๊อก ประการหนึ่งคือเงินสดๆ เป็นกอบเป็นกำ 

ทุกวันนี้ต่อให้ไปเดินร้านหนังสือบ่อยๆ แต่เมื่อไปงานหนังสือก็จะตื่นตาตื่นใจกับการได้ไปเห็นหนังสือมากมายที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเคยมีการพิมพ์ออกมาวางขายในโลกนี้มาก่อน ...ครับ ผมหมายถึงหนังสือภาษาไทยนี่แหละ เพราะข้อจำกัดหลายๆ อย่างที่ทำให้หนังสือจำนวนมากถูกกลืนหายไปในชั้นหนังสือของร้านหนังสือ

ก่อนหน้านี้หนักกว่านี้ แต่โชคดีที่ทุกวันนี้เราอยู่ในโลกออนไลน์ คอหนังสือมีโอกาสรับรู้ข่าวสารของหนังสือเล่มใหม่ๆ ที่ออกมาวางขายแต่ไม่เคยเห็นในร้านหนังสือ ซึ่งปกติเขาก็ออกกันตลอดปีอยู่แล้ว ไม่ได้มาโหมออกกันเฉพาะงานหนังสือ  
แต่ก็เหมือนกับโฆษณาทางทีวีของอะเมซอน (Amazon.com) เมื่อไม่นานมานี้ อะเมซอนเปิดตัวเครื่องอ่านอีบุ๊กรุ่นใหม่ที่ใช้ชื่อรุ่นว่า Kindle PaperWhite แล้วใช้ประโยคว่า "มีเพียงสิ่งเดียวที่สมบูรณ์แบบกว่าการอ่านคือการอ่านมากขึ้น" 
ถามว่าทำไมอะเมซอนพูดแบบนี้



อเมซอนคือเจ้าแห่งการขายหนังสือผ่านทางอินเตอร์เน็ต คว่ำยักษ์ใหญ่พวกบริกแอนด์มอร์ทาร์มานับไม่ถ้วน แล้วอะเมซอนก็มาเป็นเจ้าแห่งการขายอีบุ๊ก ชั่วระยะเวลาแค่สี่ปีหลังจากทำเครื่องคินเดิ้ลออกมาขายไม่นานนักอะเมซอนก็ประกาศย้ำแล้วย้ำอีกว่ายอดขายอีบุ๊กแซงยอดขายหนังสือเล่มที่พิมพ์บนกระดาษหมดแล้ว 
แต่นั่นเฉพาะยอดขายของอเมซอน ไม่ใช่ยอดขายของอุตสาหกรรมหนังสือทั้งระบบ เพราะโดยภาพรวมยอดขายหนังสือเล่มยังคงมีสัดส่วนมากกว่า มากกว่ากันมาก เฉพาะในสหรัฐอเมริกายอดขายจากข้อมูลในรายงาน BookStats 2012 ที่จัดทำโดยสมาคมผู้พิมพ์ผู้จำหน่ายและกลุ่มศึกษาอุตสาหกรรมหนังสือในอเมริกา สัดส่วนของอีบุ๊กในขณะนี้อยู่ที่ประมาณร้อยละ 15 จากมูลค่ารวมของตลาดหนังสือเกือบสี่แสนล้านบาท
ยอดขายอีบุ๊กโตแบบพุ่งขึ้นฟ้าเหมือนตะไล แต่ยอดขายหนังสือเล่มก็โตขึ้นด้วยเช่นกัน 
นี่เป็นเหตุที่บทความหนึ่งของเดอะ การ์เดียนเรียกมันว่า "ยุคเรอเนสซองซ์ของการอ่าน"


เดอะ การ์เดียนเป็นหนังสือพิมพ์มาตรฐานระดับโลกที่มีฐานอยู่ในอังกฤษ ให้ข้อมูลที่มาจากอะเมซอนอีกทีว่าคนอังกฤษหลังจากใช้เครื่องอ่านคินเดิ้ล ซื้อหนังสืออ่านเพิ่มขึ้นสี่เท่า 
ไม่น่าแปลกใจที่โฆษณาขายเครื่องอ่านอีบุ๊กรุ่นใหม่ของอะเมซอนจะบอกว่า "มีเพียงสิ่งเดียวที่สมบูรณ์แบบกว่าการอ่านคือการอ่านมากขึ้น" 



++

แปลวิกิพีเดียเป็นอีบุ๊ก จากออนไลน์สู่ออฟไลน์
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1675 หน้า 100


เชื่อว่าท่านผู้อ่านจำนวนมาก ก็เหมือนๆ คนใช้อินเตอร์เน็ตโดยทั่วไปที่อย่างน้อยต้องใช้บริการของวิกิพีเดีย (wikipedia.org) อยู่บ้างไม่มากก็น้อย ถ้าไม่ได้เข้าไปค้นหาข้อมูลโดยตรงจากวิกิพีเดียก็อาจจะเข้าไปโดยผ่านผลการค้นจากกูเกิ้ลอีกทอด 
วิกิพีเดียเป็นคลังของฐานข้อมูลขนาดใหญ่หรือกล่าวให้ชัดเจนขึ้นก็คือเอ็นไซโคลพิเดียออนไลน์ที่เกิดจากการการป้อนข้อมูล ตรวจตรา แก้ไข กันเองในหมู่คนบนโลกออนไลน์โดยไม่มีค่าตอบแทนใดๆ เป็นแนวคิดที่ชัดเจนของสิ่งที่เรียกว่าคลาวด์ ซอร์สซิ่ง 

บ่อยครั้งที่ผมเกิดความสงสัยหรือต้องการค้นคว้าอะไรบางเรื่อง ก็พึ่งพิงวิกิพีเดียนี่แหละครับ


ปัจจุบันวิกิพีเดียมีบทความเฉพาะที่เป็นภาษาอังกฤษอยู่มากกว่า 4 ล้านบทความ และยังมีบทความในภาษาอื่นๆ อีกมากมายทั่วโลกเกือบ 300 ภาษา เพราะฉะนั้น มันจึงเป็นคลังข้อมูลออนไลน์ใหญ่ที่สุดที่คนทั่วโลกใช้กัน 
เมื่อไม่กี่วันมานี้ วิกิพีเดีย เริ่มเปิดบริการใหม่ขึ้นมาอีกหนึ่งอย่าง นั่นก็คือการแปลงข้อมูลหรือบทความที่ค้นเจอบนไซต์ออกไปเป็นอีบุ๊ก หากดูจากไซต์บาร์ทางด้านซ้ายเมื่อเข้าไปยังเว็บไซต์วิกิพีเดีย จะเห็นหัวข้อ Print/Export ตรงนี้เองที่เป็นของใหม่ให้เราสามารถแปลงบทความที่ค้นได้ให้เป็นอีบุ๊ก
รูปแบบของไฟล์ที่แปลงออกมาเลือกได้สามแบบคือ PDF, epub และโอเพ่นออฟฟิศ 
PDF เป็นไฟล์ที่น่าจะรู้กันดีอยู่แล้ว ส่วนโอเพ่นออฟฟิศก็คือรูปแบบไฟล์แบบเดียวกับเวิร์ด และ epub คือมาตรฐานไฟล์อีบุ๊กที่เป็นสากล มีความยืดหยุ่นมากในการนำไปอ่านบนอุปกรณ์ เช่น โทรศัพท์มือถือ เครื่องอ่านอีบุ๊กทั่วไป และแท็บเล็ต




สาเหตุที่วิกิพีเดียเพิ่มฟีเจอร์ให้เอ็กซ์พอร์ตออกมาเป็นไฟล์นั้นชัดเจนมาก นั่นคือเพื่อตอบสนองการอ่านแบบออฟไลน์ ค้นแล้วแปลงๆ หลังจากนั้น ค่อยนำไปอ่านผ่านเครื่องมือหลากแพลตฟอร์มโดยไม่ต้องพึ่งพาอินเตอร์เน็ต 
การที่สามารถรวบรวมข้อมูลที่ค้นคว้ามาได้มาอ่านแบบออฟไลน์นั้นเหมาะสำหรับการทำงานค้นคว้าในเรื่องต่างๆ อย่างยิ่ง หากสังเกตให้ดีบทความที่ค้นได้จากวิกิพีเดียนั้นจำนวนมากมักจะมีลิงก์อยู่ใต้คำหรือที่เรียกว่าไฮเปอร์เท็กซ์ให้เราคลิกต่อไปยังเรื่องนั้น เช่น เราค้นเรื่องฮิกโบซอน
ในบทความมีคำว่าสสารมืด หากคลิกสสารมืด ก็จะพาเราเข้าไปสู่เรื่องสสารมืด มันจะต่อเนื่องไปแบบนี้ไม่รู้จบ

ถ้าเราเลือกเอ็กซ์พอร์ตแต่เรื่องที่เกี่ยวข้องออกมาเป็นไฟล์อีบุ๊ก แล้วอ่านเป็นลำดับไปก็จะสะดวกกว่าการคลิกกระโดดๆ ไปเรื่อยๆ 
ในอีกด้านหนึ่งวิธีนี้ตอบสนองต่อความไม่แน่นอนของอินเตอร์เน็ต บ่อยไปแม้ในบ้านเราเองก็จะพบปัญหาเรื่องสัญญาณอินเตอร์เน็ต บางพื้นที่อาจจะไม่มีด้วยซ้ำ 
นี่จึงเป็นคุณูปการอีกอย่างหนึ่งที่วิกิพีเดียมอบให้แก่โลก



.