http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-09-22

อำนาจและคอร์รัปชั่น โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

อำนาจและคอร์รัปชั่น
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1675 หน้า 30 


นักวิชาการฝรั่งบางคนมักพูดว่า การคอร์รัปชั่นในเมืองไทยนั้นฝังรากลึกมาตั้งแต่สมัยโบราณ เพราะระบบบริหารที่เรียกกันว่า "กินเมือง"

ที่เรียกว่า "เมือง" คือที่ไหนที่มีคนกระจุกตัวอยู่มากๆ ก็เรียกว่าเมือง ไป "กินเมือง" คือไปหารายได้จากกำลังคนที่นั่น แลกกับความจงรักภักดีที่ให้แก่กษัตริย์และการควบคุมกำลังคนที่นั่นให้เป็นประโยชน์แก่กษัตริย์ ที่เหลือก็กินสิครับ
อันที่จริงในรัฐโบราณทั้งหลาย ก็ไม่มีการจ่ายเงินเดือนแก่ข้าราชการทั้งนั้น ชนชั้นปกครองย่อม "กิน" โน่นกินนี่เป็นค่าตอบแทนทุกแห่ง

ในยุโรปสมัยกลางกินพื้นที่ ในเมืองไทยกินคน 
ยุโรปผ่านประวัติศาสตร์กระบวนการล่มสลายของระบบกินพื้นที่ จนแทบไม่เหลือซาก ประวัติศาสตร์ไทยไม่ได้ผ่านกระบวนการทำลายระบบกินเมืองที่ตัดขาดยุคสมัยได้ขนาดนั้น จึงเป็นไปได้ว่า คติการ "กิน" ยังตกค้างสืบมาถึงปัจจุบันอย่างเข้มแข็ง


แม้ได้ยินคำอธิบายนี้มาตั้งแต่หนุ่ม แต่ผมก็ยังไม่ค่อยแน่ใจว่าจะเป็นคำอธิบายรากฐานการคอร์รัปชั่นในเมืองไทยปัจจุบันได้ดีนักอยู่นั่นเอง 
เพราะเรากำลังเอาแนวคิดสมัยปัจจุบัน ไปตัดสินอดีตอย่างเห็นได้ชัด ผู้ปกครองที่ "กินเมือง" อยู่ ไม่ได้คิดว่าตัวกำลังคอร์รัปชั่นนะครับ แต่เห็นว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่างหาก รายได้ทั้งหลายที่เขา "กิน" อยู่นั้น มิใช่รายได้อันไม่พึงได้ เพราะผิดกฎหมายหรือผิดศีลธรรม ตรงกันข้าม เขาเห็นว่าเป็น "ธรรมะ" เลยทีเดียว เพราะเป็นธรรมชาติของรัฐแบบนั้น 

ยิ่งไปกว่านี้ ผมยังไม่เคยเห็นคนไทยคนไหนที่ยกย่องการคอร์รัปชั่น แม้แต่คนที่ติดสินบนตำรวจจราจรอยู่เป็นประจำเช่นคนขับสิบล้อ หรือแท็กซี่ ก็พูดถึงเจ้าพนักงานที่รับสินบนด้วยความดูหมิ่นดูแคลน 
บังเอิญผมไม่รู้จักเสี่ยสักคน อยากรู้เหมือนกันว่า เสี่ยที่ต้องจ่ายสินบนให้ปลัดกระทรวงและอธิบดี แล้วเมื่อคนเหล่านั้นเกษียณอายุราชการ ก็เชิญมานั่งเป็นกรรมการบริษัทด้วยเงินเดือนสูงๆ เสี่ยมีทัศนคติอย่างไรต่ออดีตข้าราชการเหล่านั้น เห็นเป็นเพียงเอเย่นต์ของ "เก๋า" (หมา) สำหรับเบิกทางไปสู่การ "เจี๊ยะ" ของเก๋าอื่นๆ ที่ยังอยู่ในราชการ หรือเห็นเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกับเสี่ย

แต่เท่าที่รู้มา ในการประชุมของบริษัทนั้น เสี่ยแกพูดคนเดียว กรรมการได้แต่นั่งฟังเล็กเชอร์ไปเหมือนเด็ก (ไทย) 
สรุปก็คือ คนไทยปัจจุบันไม่เคยสับสนระหว่างการคอร์รัปชั่น กับการกินเมือง แม้ชีวิตต้องเข้าไปพัวพันกับการคอร์รัปชั่นในรูปแบบต่างๆ อย่างเลือกไม่ได้ตลอดมาก็ตาม




อย่างไรก็ตาม ยังมีคำอธิบายทางวัฒนธรรมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่าช่วยให้เข้าใจความขัดแย้งระหว่างความรังเกียจคอร์รัปชั่น และความพร้อมจะจ่ายสินบนของคนไทยปัจจุบันได้ดีกว่า นั่นคือคำอธิบายเกี่ยวกับความคิดเรื่องอำนาจในวัฒนธรรมชวาของ อาจารย์เบน แอนเดอร์สัน (The idea of power in Javanese culture) 
อาจารย์เบนพูดไว้แต่ต้นว่า หลายลักษณะของความคิดเรื่องอำนาจนั้น ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในวัฒนธรรมชวา แต่ปรากฏในวัฒนธรรมอื่นๆ ด้วย (โดยเฉพาะในภูมิภาคเดียวกัน) แต่เมื่อรวมๆ กันแล้วจึงมีลักษณะเป็นชวาโดยเฉพาะ 

อำนาจในความคิดของชวานั้นกระจุก ไม่กระจาย หมายความว่าไม่แยกระหว่างอำนาจทางการเมือง, เศรษฐกิจ, วัฒนธรรม, ความรู้, ศิลปะ หรือแม้แต่อำนาจด้านจิตวิญญาณ ฯลฯ (เช่น นั่งสมาธิจนได้ฌานสมาบัติแก่กล้า) ทั้งหมดนั้นกระจุกอยู่ในบุคคลคนเดียวหรือสถาบันเดียว ตรงกันข้าม เมื่อไรอำนาจมีลักษณะกระจาย เมื่อนั้นคนชวาจะเห็นว่าอำนาจกำลังเสื่อมเสียแล้ว 
เมื่อคนมี "อำนาจ" (ซึ่งอาจเรียกว่า "บารมี" ในภาษาไทย หรือ "cahaya" ในภาษาชวา-จริงๆ แปลว่าแสงเฮ้ากวง) ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นยาจกเข็ญใจเช่นท้าวแสนปมหรือเคน อังรก อย่างไรเสียเขาก็ต้องบรรลุอำนาจทางการเมือง, เศรษฐกิจ, วัฒนธรรม ฯลฯ โดยอัตโนมัติ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งจนได้

ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หมายความว่าคนชวา (ซึ่งผมคิดว่ารวมคนไทยด้วย) ไม่ได้คิดว่า มีการได้อำนาจที่ชอบธรรม กับ การได้อำนาจที่ไม่ชอบธรรม อำนาจในตัวของมันเองคือความชอบธรรมอยู่แล้ว ฉะนั้น จะได้มาจากการเลือกตั้งหรือจากการรัฐประหาร หรือในค่ายทหาร ก็ไม่ต่างกันตรงไหน 
และเมื่อเขามีอำนาจ ทุกอย่างที่ว่านั้นก็จะไหลเข้ามาหาเขา เพราะอำนาจย่อมมีลักษณะกระจุก ด้วยเหตุนั้นอำนาจจึงมีพลังดูดอยู่ในตัว หมายความว่าดูดเอาอำนาจทั้งหลายเข้ามารวมศูนย์หมด เช่น สามนตราชพากันมาน้อมถวายบรรณาการ เทวดาและภูตผีปีศาจพากันมาคอยปกป้องช่วยเหลือ ศิลปินและนักปราชญ์พากันเข้าหา ฯลฯ 
ดังนั้น อำนาจกับทรัพย์ศฤงคารจึงไปด้วยกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนถึงทุกวันนี้ เราก็พบเสมอว่า คนไทยหยั่งอำนาจของคนอื่นด้วยทรัพย์ศฤงคาร ตำรวจจราจรย่อมรู้สึกว่าคนขี่เบนซ์ 500 นั้นไม่ธรรมดา คือมีอำนาจมากและอำนาจนั้นย่อมดึงดูดผู้บังคับบัญชาของเขาให้มาอยู่ใต้วงจรอำนาจของเจ้าของเบนซ์ด้วย

เรื่องนี้จะโทษแต่ตำรวจจราจรไม่ได้ ผมเห็นว่าแม่ค้ากล้วยแขก ไปจนถึงนายอำเภอและผู้ว่าฯ ก็มีทัศนคติเดียวกัน หากคุณขี่เฟอร์รารี่แล้วยังต้องติดคุก "ระเบียบ" ของโลกมิพังหมดหรือ "ระเบียบ" ของโลกนั้น พูดแบบวัดๆ ก็คือ "ธรรมะ" 
การใช้ชีวิตหรูหราอย่างออกหน้ากับการมีอำนาจนั้น แยกออกจากกันในวัฒนธรรมไทยไม่ได้มาแต่โบราณแล้ว จนต้องมีกฎเกณฑ์ห้ามหรูหราเกินพระมหากษัตริย์ เช่นใช้ทองคำไม่ได้ สร้างเรือนปราสาทไม่ได้ ฯลฯ เป็นต้น


แต่สิ่งประหลาดในวัฒนธรรมอำนาจของชวา ซึ่งผมเห็นว่าเหมือนของไทยก็คือ ทรัพย์ศฤงคารนั้น ต้องมาเองนะครับ จะไปดิ้นรนใฝ่หาประเจิดประเจ้อไม่ได้ การใช้อำนาจไปแสวงหาทรัพย์ ย่อมแสดงว่าอำนาจที่ตัวมีนั้น ไม่ใช่อำนาจที่แท้จริง (เพราะมันไม่มีพลังดูดเอาอำนาจอื่นๆ เข้ามาหาเองโดยอัตโนมัติ) ถ้าจะว่าคนชวาและไทยมีความคิดเกี่ยวกับความชอบธรรมของอำนาจหรือไม่ ก็นี่แหละครับ การไม่มีอำนาจที่แท้จริง แต่ไปดำรงตำแหน่งแห่งอำนาจ นี่แหละครับ คือความไม่ชอบธรรม

พระเจ้าแผ่นดินที่ไม่มีอำนาจ "แท้จริง" จึงไม่ชอบธรรม และในที่สุดก็มักถูกคนที่มีอำนาจ "แท้จริง" แย่งชิงราชสมบัติไป 
คนรวยสุดในอยุธยาก็คือพระเจ้าแผ่นดิน แต่ถามว่าท่านทำอะไรถึงได้รวยนัก คำตอบคือท่านนั่งอยู่บนบัลลังก์เฉยๆ ไม่ได้ทำอะไรเลย แม้มีกฎระเบียบผูกขาดการค้า เก็บส่วยแล้วส่งไปขายต่างประเทศ มีสำเภาหลวงที่ขนเอาส่วยไปขาย สินค้าเข้าทุกชนิดถูกหลวงเลือกบังคับซื้อชนิดที่ทำกำไรได้มากในราคาถูกไว้ก่อน ฯลฯ 
แต่ทั้งหมดนี้ พระเจ้าแผ่นดินไม่ได้ทำนะครับ กรมพระคลังเป็นคนทำทั้งนั้น
ฝรั่งชอบพูดว่าพระเจ้าแผ่นดินเป็นพ่อค้าใหญ่สุดของราชอาณาจักร หากสมัยนั้นมี ม.112 คนพูดก็ติดคุกหัวโตไปแล้ว เพราะการเป็นพ่อค้าคือแสวงหาทรัพย์ศฤงคาร ย่อมแสดงว่าไม่ได้มีพระราชอำนาจจริง ทรัพย์ศฤงคารจึงไม่ได้ไหลมาเอง ต้องขวนขวายแสวงหา หมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างยิ่ง

เมื่อหนังสือพิมพ์ฝรั่งรายงานว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบัน เป็นกษัตริย์ที่รวยสุดในโลก ข้าราชสำนักจึงเดือดร้อนกันมาก ต้องออกมาแก้ต่างว่า ฝรั่งไปนับเอาสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เข้าไปเป็นพระราชทรัพย์ด้วย แท้จริงแล้วทรัพย์สินของสำนักงานฯ ก็เป็นทรัพย์สินของสำนักงาน แยกออกจากกันทางบัญชีได้ชัดเจน 
แต่สำนักงานทรัพย์สินกับกรมพระคลังสินค้าต่างกันอย่างไร ท่านไม่ได้อธิบายไว้ อันที่จริงหากเป็นสมัยอยุธยา รายงานของฝรั่งน่าจะเป็นการเผยแพร่พระบารมีให้ปรากฏแก่โลกมากกว่าที่จะต้องกระตือรือร้นปฏิเสธ


ผมจึงเห็นว่า คนไทยนั้นดูหมิ่นเหยียดหยามการคอร์รัปชั่นแน่ แต่ไม่รังเกียจผลของการคอร์รัปชั่น ผลคือความมั่งคั่งร่ำรวย ซึ่งย่อมเป็นสมบัติอย่างหนึ่งของการมีอำนาจ แต่การคอร์รัปชั่น คือการแสวงหาความมั่งคั่งร่ำรวย ซึ่งขัดแย้งกับการมีอำนาจ เพราะหากมีอำนาจจริง ไม่ต้องแสวงหาหรอก มันจะมาของมันเอง 
เพราะอำนาจย่อมเป็นอันหนึ่งอันเดียว อำนาจทางเศรษฐกิจกับอำนาจทางการเมืองนั้นแยกออกจากกันไม่ได้ คอร์รัปชั่น คือการลงไปใช้อำนาจเพื่อหาทรัพย์ จึงเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ แต่ทรัพย์มันมาของมันเองเมื่อคุณมีอำนาจ คุณก็เป็นผู้มีเกียรติยศน่านับถือ

ผมขอประทานโทษที่ต้องยกตัวอย่างบุคคล แต่ไม่ได้ประสงค์จะโจมตีท่านในฐานะบุคคล พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เคยแนะนำว่า เราควรรังเกียจคนโกง ไม่คบหาสมาคมหรือร่วมกิจกรรมด้วย แต่ในระหว่างที่ท่านเป็นนายกฯ ถึง 8 ปีนั้น พรรคการเมืองที่คอยค้ำบัลลังก์ให้ท่าน ล้วนมีชื่อเสียงในด้านการใช้อำนาจแสวงหาทรัพย์มาทั้งนั้น 

มองจากวัฒนธรรมแห่งอำนาจที่ผมพูดถึง พรรคการเมืองเหล่านั้นไม่ได้ "โกง" (ใช้อำนาจแสวงหาทรัพย์) ให้ (ต้อง) จับได้นะครับ พวกเขาแค่รวยเท่านั้น ซึ่งก็ชอบธรรมทั้งนั้น เนื่องจากพวกเขาล้วนเคยมีอำนาจมาแล้ว จึงย่อมรวยเป็นธรรมดา

น่าสังเกตด้วยนะครับว่า กฎหมายปราบคอร์รัปชั่นผู้มีอำนาจในเมืองไทยอันหนึ่งที่มีใช้ในน้อยกรณีมาก คือร่ำรวยผิดปรกติ เพราะข้อหานี้บังคับให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องพิสูจน์ที่มาของรายได้ตนเอง 
และหาก ป.ป.ช. หรือ ป.ป.ท. ตั้งใจจะใช้ข้อหานี้กันอย่างจริงจัง สงสัยว่านายพลใหญ่ๆ ทั้งในสำนักงานตำรวจ, กองทัพ, หรืออาจไล่ไปได้ถึงอัยการและผู้พิพากษาเอง อาจถูกปลดกันระนาว


ในวัฒนธรรมแห่งอำนาจที่ผมพูดมานี้ ตัวการพิสูจน์นั่นแหละครับ ที่บ่อนทำลายอำนาจอย่างมาก ไม่ว่าจะได้รายได้นั้นมาอย่างชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะแสดงว่าอำนาจที่ "แท้จริง" ไม่ได้อยู่ที่คนเหล่านี้ จึงทำให้ต้องแสวงหาทรัพย์ศฤงคาร
ฉะนั้น หากจะปราบคอร์รัปชั่นกันตามวัฒนธรรมเดิมของไทยจริง ผมจึงคิดว่าการพิสูจน์ที่มาของรายได้นี่แหละเป็นเครื่องมือสำคัญ ไม่ได้หยุดการโกงทันทีนะครับ แต่ทำให้อำนาจที่จะใช้ในการโกงถูกระแวง และเมื่อถูกระแวงก็จะถูกจับตา และฟ้องร้องได้ง่ายขึ้น
ผู้ที่ต้องแจ้งรายได้แก่สาธารณะทุกตำแหน่ง ต้องอธิบายที่มาของรายได้อย่างคร่าวๆ ไว้ด้วย และต้องแจ้งข้อมูลส่วนนี้แก่สาธารณะด้วย

อันที่จริง เรื่องคอร์รัปชั่นกับอำนาจนี้เป็นเรื่องเดียวกัน เรามุ่งแต่จะปราบคอร์รัปชั่น โดยไม่ใส่ใจที่จะเข้าไปทำให้อำนาจไม่กระจุกแต่กระจายไปให้หลากหลาย จึงไม่เคยปราบคอร์รัปชั่นได้สำเร็จเลย



.