.
“ชุดดำ”หรือ“ใจดำ”
โดย สรกล อดุลยานนท์ คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2555 เวลา 20:00:00 น.
(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 นสพ.มติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2555 หน้า 2 )
ทุกครั้งของการชุมนุมใหญ่ประท้วงรัฐบาลของประชาชนมักจะมี "มือที่ 3" เกิดขึ้นเสมอ
14 ตุลาคม 2516 ก็มี "มือที่ 3"
จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครรู้ว่าใครยิงปืนจากกองสลาก ใครสั่งให้ตีนักศึกษาตกน้ำที่บริเวณสวนจิตรลดา
เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ก็มี "มือที่ 3"
ถ้า พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี ไม่ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าเขาคือผู้อยู่เบื้องหลังการหาม พล.ต.จำลอง ศรีเมือง จากสนามหลวงไปยังสะพานผ่านฟ้า
เป็นคนไล่ตีทหาร และเผาโรงพักนางเลิ้ง
เราก็คงไม่รู้ว่ามี "มือที่ 3" ในเหตุการณ์ครั้งนั้น
แต่เพราะเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หรือ พฤษภาคม 2553 "มวลชน" เป็นผู้ชนะอย่างเด็ดขาด
คำถามเรื่อง "มือที่ 3" จึงหายไปกับสายลม
พร้อมกับการหรี่ตาให้กับการเผาตึกกองสลาก หรือโรงพักนางเลิ้ง
จำไม่ได้กับวิธีการต่อสู้ของมวลชนด้วยการขับรถเมล์พุ่งชนแนวทหาร
"ผู้ชนะ" คือ "ผู้ถูกต้อง"
แต่เหตุการณ์ เมษา-พฤษภาฯ "มวลชนเสื้อแดง" ไม่ได้เป็นผู้ชนะ
เขาเป็น "ผู้แพ้" เหมือนกับนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
แต่ประวัติศาสตร์มักเขียนโดย "ผู้ชนะ"
ตัวละคร "ชายชุดดำ" จึงเกิดขึ้น
ถามว่า "ชายชุดดำ" กับการใช้อาวุธสงครามมีจริงหรือไม่
ตอบว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมี "มือที่ 3" กระทำการเช่นนั้นจริง
แต่ไม่ได้มีบทบาทถึงขั้นเป็นกองกำลังระดับ 500 คน
เพราะถ้ายิ่งใหญ่ขนาดนั้น ทหารคงเสียชีวิตมากกว่านี้
และถ้ามีการทำเป็นขบวนการจริง ก็เป็นเรื่องน่าแปลกใจที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ครองอำนาจต่ออีกกว่า 1 ปี กลับไม่สามารถหาหลักฐานเรื่องขบวนการ "ชายชุดดำ" ได้เลย
"ชายชุดดำจึงเหมือนตัวละครในหน้าประวัติศาสตร์ไทยแค่ 1 บรรทัด แต่สามารถสร้างภาพยนตร์ได้ทั้งเรื่อง
ที่สำคัญ "ชายชุดดำ" กลายเป็นเหตุผลสร้างความชอบธรรมให้กับการปราบปรามประชาชนด้วยกระสุนจริง
ซึ่งเป็นตรรกะที่ผิดเพี้ยนอย่างยิ่ง
กรณีที่ละเอียดอ่อนเช่นนี้เราควรตั้งคำถามทีละขั้นตอน
1.ชายชุดดำมีจริงหรือไม่
2.ถ้ามีจริง ชายชุดดำกลุ่มนี้มีบทบาทแค่ไหนในเหตุการณ์ครั้งนี้
ถึงขนาดเป็นกองกำลังจริงหรือ
3.แกนนำ นปช.รู้เห็นเป็นใจกับการกระทำของชายชุดดำหรือเปล่า
ความรับรู้ของ "ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ-จตุพร พรหมพันธุ์" ในเหตุการณ์นี้จะอยู่ในระดับ พล.ต.จำลอง หรือ "ปริญญา เทวานฤมิตร" ในเหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ"
รู้กันหรือไม่รู้เรื่องกับการกระทำของ พล.อ.พัลลภ
แต่คำถามที่ 4 สำคัญที่สุด
ไม่ว่า "ชายชุดดำ" จะมีจริงหรือไม่ หรือเกี่ยวพันกับแกนนำ นปช.ระดับใด
รัฐบาลมีสิทธิปราบปรามประชาชนด้วยกระสุนจริงหรือไม่ มีสิทธิใช้ "พลซุ่มยิง" กับการสลายมวลชนหรือไม่
นี่คือ คำถามที่สำคัญที่สุด
และเป็นคำถามที่ "สมชาย หอมละออ" สมควรต้องตอบอย่างยิ่ง
++
นิทาน“แพะ”
โดย สรกล อดุลยานนท์ คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 08 กันยายน พ.ศ. 2555 เวลา 21:00:19 น.
(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 นสพ.มติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ที่ 8 กันยายน 2555 )
กรณีของเด็กหนุ่มตระกูล "อยู่วิทยา" ซิ่งรถหรูเฟอร์รารีชนตำรวจเสียชีวิต กลายเป็น "ข่าวใหญ่" ต่อเนื่องมาหลายวัน
ส่วนหนึ่งเพราะรูปคดีที่ไม่ธรรมดา
ทั้งชนแล้วหนี
ที่สำคัญส่งคนขับรถมาเป็น "แพะ" ก่อนรับสารภาพในเวลาต่อมา
ประเด็นที่น่าสนใจ ก็คือ ใครเป็นคนเสนอความคิดแก้ปัญหาแบบ "แพะ-แพะ" ขึ้นมา
คิดเอง หรือมีคนเสนอแนะ
คำสั่งด่วนย้าย พ.ต.ท.ปัณณ์ณภณ นามเมือง สวป.สน.ทองหล่อมาช่วยราชการน่าจะเป็นคำตอบได้ระดับหนึ่ง
ในอดีตเรื่องการหาแพะรับบาปนั้นมักใช้เมื่อเป็นคดีใหญ่แต่หาตัวผู้กระทำผิดไม่ได้
เมื่อโดนเร่งคดีมาก กลยุทธ์หนึ่งในการปิดคดีก็คือ การหา "แพะ"
พอรู้ตัวว่าใครทำ ข่าวก็เริ่มซาลง
แต่สุดท้ายคดีลักษณะนี้จะจบลงด้วยการสั่งไม่ฟ้อง หรือยกฟ้อง
นานๆ ครั้งจึงจะมีเรื่องการหา "แพะ" เพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหา
อ่านข่าวนี้แล้วทำให้นึกถึงนิทานเรื่องหนึ่งที่มีรุ่นพี่เคยเล่าให้ฟัง
มีตำรวจจาก 3 ประเทศคือ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และอีกประเทศหนึ่งในเอเชียไปอบรมเรื่องวิธีการสืบสวนสอบสวน
วิธีการทดสอบฝีมือง่ายมาก
เขาปล่อย "กระต่าย" ตัวหนึ่งเข้าไปในป่า พร้อมคำสั่ง..
"ให้จับกระต่ายตัวนี้ให้ได้ภายในเวลา 1 ชั่วโมง"
ตำรวจสหรัฐอเมริกาเริ่มก่อน
เขาใช้เทคโนโลยีระดับสูง ทั้งดาวเทียม เครื่องตรวจสัญญาณทุกระบบค้นหากระต่ายในป่า
1 ชั่วโมงผ่านไปก็ยังหากระต่ายไม่เจอ
ตำรวจสหรัฐประกาศยอมแพ้
ถึงคิวของตำรวจรัสเซียบ้าง
เขาเดินลุยป่าราดน้ำมันจนทั่ว หยิบไฟแช็กขึ้นมาแล้วจุดไฟเผาป่า
1 ชั่วโมงผ่านไป ไฟไหม้ป่าวอดวาย
แต่สุดท้ายเขาก็หาซากกระต่ายไม่เจอ
ตำรวจรัสเซียประกาศยอมแพ้
มาถึงคิวตำรวจจากประเทศหนึ่งในเอเชีย
อาจารย์ปล่อยกระต่ายเข้าป่าผืนใหม่
เขาลุยเข้าไปในป่าท่ามกลางความสงสัยของทุกฝ่ายที่เฝ้ามอง
เพราะไม่มีอุปกรณ์อะไรติดตัวเข้าไปเลย
พักหนึ่ง เขาก็ลาก "แพะ" ตัวหนึ่งออกมา
อาจารย์ที่สอนส่ายหน้า
"นี่มันแพะ เราต้องการกระต่าย"
ตำรวจเอเชียยิ้ม
"ใจเย็นๆ ใจเย็นๆ"
พูดจบก็หยิบปืนออกมาจ่อไปที่หัวแพะ ก้มตัวลงไปกระซิบเบาๆ ที่หูแพะ
เจ้าแพะตาเหลือก รีบยกมือขึ้นเหนือหัวแล้วตะโกนลั่น
"ผมเป็นกระต่ายครับ ผมเป็นกระต่าย"
จนถึงวันนี้รุ่นพี่คนที่เล่านิทานยังไม่ยอมบอกว่าตำรวจจากเอเชียคนนี้มาจากประเทศอะไร
ที่สำคัญสั่งเสียงเข้มว่าเล่าต่อได้ แต่ห้ามบอกชื่อคนเล่าโดยเด็ดขาด
เขาไม่อยากเป็น "กระต่าย"
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย