.
บทสรุป คอป. ..ฉบับเกรงใจและเสียสละ ความจริงที่ไม่ต้องค้นหา ปรองดองที่มองไม่เห็น
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1676 หน้า 20
ได้อ่านรายงานสรุปของ คอป. และฟังเสียงวิจารณ์จากหลายฝ่าย ทีมวิเคราะห์มีความเห็นว่า คอป. ทำหน้าที่ของตัวเองเสร็จแล้ว และได้สรุปรายงานตามหน้าที่
แต่คนที่ได้อ่านตั้งฉายารายงานฉบับนี้หลายชื่อ
เช่น ข้อสรุปฉบับหมาป่ากับลูกแกะ
ฉบับเกรงใจผู้มีพระคุณ
ฉบับใบบัวปิดซากช้าง หรือฉบับอุ้มเทพ
ถ้าจะวิจารณ์กันละเอียด คงไม่มีเนื้อที่พอ
แต่กล่าวได้ว่าผลสรุปนี้เอียงไปตามอำนาจ ไม่ใช่ตามข้อเท็จจริง
คอป.ตั้งขึ้นมาทำไม? เพื่อใคร?
คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ถูกตั้งเมื่อ 8 มิถุนายน 2553 สมัยนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยมี อ.คณิต ณ นคร เป็นประธาน
สำนักงาน คอป. ถือเป็นหน่วยงานกระทรวงยุติธรรม มีคณะกรรมการและเลขานุการ คอป. จำนวน 12 คน ที่ปรึกษา คอป. จำนวน 6 คน คณะอนุกรรมการต่างๆ จำนวน 116 คน และเจ้าหน้าที่ที่ทำงานประจำหมุนเวียนทั้งสิ้น 48 คน
ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลรวมทั้งสิ้น 77 ล้านบาท
อำนาจหน้าที่ของ คอป. ที่ได้รับมอบหมาย
ตรวจสอบและค้นหาความจริง ในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม 2553 รวมตลอดถึงประเด็นที่เป็นรากเหง้าของปัญหาความขัดแย้ง เยียวยาและฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบเพื่อส่งเสริมให้เกิดความปรองดองในประเทศต่อไปวางมาตรการเพื่อลดความขัดแย้งในสังคมไทย และป้องกันมิให้เกิดเหตุความรุนแรง
จัดทำรายงานความคืบหน้าของการทำงานทุกรอบหกเดือน รวมทั้งรายงานสรุปผลและข้อเสนอแนะเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและสาธารณชน
คอป.ทำหน้าที่เสร็จแล้ว
แต่ทำแบบอิสระหรือไม่?
ไม่ควรบ่นด่าว่ากล่าว เรื่องผลสรุปรายงาน คอป. กันให้มากนัก เพราะในความเป็นจริง คอป. ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นกันชนให้รัฐบาลอภิสิทธิ์หลังจากการปราบปรามประชาชนไม่ถึงเดือน มาถึงวันนี้ครบสองปีตามเงื่อนไขที่กำหนด ถือว่า คอป. ทำหน้าที่เสร็จสิ้นตามสถานการณ์การเมืองที่เป็นจริง ว่าใครมีอำนาจแค่ไหน วันนี้ถ้าหากมิได้เปลี่ยนรัฐบาลเป็นคณะนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ผลสรุปอาจออกมาหนักกว่านี้
นี่ถือว่าเกรงใจทั้งสองฝ่าย
ความเป็นอิสระของ คอป. จึงมิได้เป็นไปตามชื่อองค์กร แต่จะผูกมัดอยู่กับทัศนะทางการเมืองของคน ผลประโยชน์ และอำนาจที่ดันหลังอยู่
การวิเคราะห์รากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทย
(ความจริงบางส่วนของ คอป.)
อ่านแล้วลื่นไหลดีมีเหตุผล แต่ไม่กล้าพูดความจริงที่เลวร้ายของอำนาจเก่า ใช้วิธีอ้อมแอ้มผ่านไป
ความสามารถของคนใน คอป. มีหรือที่จะไม่รู้สาเหตุของปัญหา
คนระดับ สมชาย หอมลออ รู้จักวิเคราะห์สังคม และวิเคราะห์สถานการณ์มา 40 ปีแล้ว
ยิ่งมีทีมงานเก่งๆ ก็สามารถวิเคราะห์ได้ละเอียดขึ้น
แต่จะสรุป เทน้ำหนักไปทางใด ให้คุณให้โทษ ทำหนักให้เป็นเบาก็ขึ้นอยู่กับฝีมือการเขียนของผู้สรุป
สรุปว่าทักษิณเป็นต้นเหตุ
คอป. สรุปว่ารากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งเกิดจากหลายปัจจัยที่โยงใยสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อน เนื่องจากสังคมไทยในอดีตมีความไม่เท่าเทียมกันในเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม ส่งผลให้เกิดชนชั้นในสังคม คือชนชั้นผู้ปกครองที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง กับชนชั้นผู้อยู่ใต้ปกครองซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม ซึ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคม ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายนำประเทศสู่ยุคทุนนิยมอย่างเต็มรูปแบบ ก่อให้เกิด "กลุ่มทุนใหม่" และ "กลุ่มทุนเก่า" เกิดการเคลื่อนย้ายทุน แรงงานและการกระจายความเจริญไปยังส่วนภูมิภาค
ในช่วงเวลาที่ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้กลุ่มทุนใหม่มีโอกาสเข้ามามีอำนาจในการบริหารประเทศ ภายใต้การสนับสนุนของประชาชนรากหญ้าผ่านนโยบายประชานิยม นำไปสู่การสร้างความนิยมและศรัทธาในตัวผู้นำ แต่ทำให้เกิดการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายอย่างกว้างขวาง
*คอป. ยกคดีซุกหุ้นของทักษิณ ว่านี่เป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้เกิดการต่อต้านและทำให้เกิดการรัฐประหาร
ที่จริงแล้วนี่เป็นเพียงข้ออ้าง เพราะเรื่องนี้ถ้าเทียบกับคดี การขายทรัพย์สินขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน หรือ ปรส. ซึ่งรัฐบาล ปชป. สมัย นายกฯ ชวน หลีกภัย ได้ขายสินเชื่อที่อยู่อาศัย 56 สถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการ มูลค่า 851,000 ล้านบาท แต่นำไปประมูลขายเพียง 190,000 ล้าน วันนี้คดี ปรส. ยังค้างอยู่ที่ ป.ป.ช. ทำให้ประชาชนทั้งประเทศต้องแบกรับภาระหนี้รวมดอกเบี้ยมากกว่า 1 ล้านล้าน แต่ไม่เห็นมีใครต้องมาทำการรัฐประหารรัฐบาล ปชป. 3 ครั้ง
และจะเห็นว่า ถึงไม่มีข้อกล่าวหานี้ ก็จะมีข้อกล่าวหาเรื่องการทำบุญในวัดพระแก้ว เรื่องการล้มเจ้า ฯลฯ
คอป. ไม่กล้าพูดว่า นี่คือแผนยึดอำนาจ แม้เรื่องจะมาถูกเปิดโปงชัดเจน เมื่อมีการใช้ตุลาการภิวัฒน์ และปลดนายกฯ สมัครในข้อหารับจ้างสอนคนทำกับข้าวออกโทรทัศน์
คนทั้งโลกจึงรู้ว่า ต่อให้ ลูกแกะไม่กวนน้ำขุ่น ก็จะโดนข้อหา...พ่อเอ็งเคยด่าข้าไว้... อยู่ดี
คอป. ไม่กล้าพูดว่าความผิดพลาดหลักมาจากใคร?
คอป. พูดถึงความขัดแย้ง ซึ่งเป็นระยะช่วงชิงอำนาจ มีหลายข้อที่ทีมวิเคราะห์พอเห็นด้วย แต่หลายข้อก็ไม่เห็นด้วย รายงานฉบับนี้ได้ยกตัวอย่างปัจจัยที่มีส่วนกระตุ้นให้ความขัดแย้งกลายเป็นความรุนแรงในหลายๆ มิติ เช่น
- ความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยที่แตกต่างกัน
** เรื่องนี้ทีมวิเคราะห์มองว่าทั้งสองฝ่ายรู้เรื่องประชาธิปไตยดี แต่ฝ่ายที่รู้ว่าเลือกตั้งต้องแพ้แน่นอน ก็ไม่อยากสู้ในระบบนี้ พวกเขาไม่อยากเป็นเสียงข้างน้อย ลองย้อนดูช่วงเวลาที่พวกเขาเป็นรัฐบาล เขาก็อ้างหลักการเสียงข้างมากและก็ยกมือในสภาให้ชนะทุกครั้งเช่นกัน
- การขยายตัวของสื่อการเมืองและสื่อบุคคล เมื่อ "สื่อรูปแบบใหม่" สามารถเผยแพร่ข้อมูลแบบ โฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) หรือทำให้เกิดความเกลียดชัง (Hate Speech)
**ข้อนี้ทีมวิเคราะห์เห็นด้วย
**ส่วนเรื่องหลักของความขัดแย้งคือการรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549 และการยึดอำนาจโดยตุลาการภิวัฒน์ในเดือนธันวาคม 2551 คอป. ไม่ได้เน้นให้เห็นว่าเป็นแผนการ เพื่อต้องการยึดอำนาจโดยกลุ่มอำนาจเก่า ทั้งยังมีการอ้างว่าเมื่อโครงสร้างการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติเสียดุลไป ฝ่ายตุลาการจึงเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการถ่วงดุลอำนาจ (ที่จริงแทรกเข้ามาเพื่อทำลายอีกฝ่าย)
**คอป. พูดถึงการแทรกแซงองค์กรอิสระและอำนาจศาลโดยพยายามยกคดีซุกหุ้นขึ้นมาอ้าง ทั้งๆ ที่การใช้อำนาจทั้งศาลและองค์กรอิสระปรากฏชัดแจ้งว่ามีสองมาตรฐาน คนไทยเห็นคลิปก็รู้ว่าใครสั่งใครทำ คนทั้งโลกก็ตกตะลึงต่อการตัดสินกรณีต่างๆ เช่น การยุบพรรคเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของนักการเมืองย้อนหลัง การที่ กกต. ส่งคดีให้ศาลไม่ทันจนหมดอายุความทำให้พรรคประชาธิปัตย์ไม่ต้องถูกยุบ
และล่าสุด อำนาจตุลาการก็ยังเข้าไปยับยั้งการลงมติของสภาผู้แทนราษฎรเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ
คอป. ไม่พูดว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2550
เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ความขัดแย้งขยายตัว
คอป. บอกว่ามีสองมาตรฐานในกระบวนการยุติธรรม มีการอ้างสถาบันกษัตริย์เพื่อประโยชน์ทางการเมือง มีการผลิตชุดความคิดที่ว่าสถาบันองคมนตรีเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง
แต่ไม่กล้าพูดว่าแทรกแซงจริงหรือไม่
ไม่กล้ายกตัวอย่างรูปธรรมสักเรื่อง รู้ว่าการใช้ทหารมาจัดการกับผู้ชุมนุมไม่ถูกต้องแต่ก็ยังอ้างว่าการโฟนอินของอดีตนายกฯ ทักษิณก็เป็นส่วนหนึ่งของต้นเหตุ
**ทีมวิเคราะห์มองว่าการโฟนอินของนายกฯ ทักษิณที่ผ่านมาเป็นเรื่องเล็กมาก ถึงไม่โฟนอินคนก็มาชุมนุม แต่ถ้าทักษิณอยากจะสู้แบบตาต่อตา คงตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น ขึ้นในต่างประเทศและการปะทะหนักก็จะเกิดขึ้นนานแล้ว แค่โฟนอินเข้ามาก็ถือว่าอดทนมากแล้ว
**ในขณะที่ คอป. มิได้พูดถึงการหมกเม็ด ซ่อนรูปเผด็จการไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ซึ่งมีแผนการยึดอำนาจ แต่งตั้งตัวแทนเข้าไปในวุฒิสภาและองค์กรต่างๆ ให้เป็นกรรมการอยู่นานถึง 7 ปี 9 ปี หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 คณะรัฐประหาร คปค. ได้มีการตั้งบุคคลต่างๆ เข้าไปเป็นทันที เช่น วันที่ 20 กันยายน ตั้ง กกต. 5 คน วันที่ 20 กันยายน ปลด คตง. เดิม และประธาน คตง. พ้นจากตำแหน่ง และให้ คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ดำเนินการแทน คตง. วันที่ 22 กันยายน ตั้ง ป.ป.ช. 7 คน และตั้ง คตส. 12 คน เมื่อวันที่ 30 กันยายน ต่ออายุราชการให้ตุลาการอยู่ถึง 70 ปี คนกลุ่มนี้มีอำนาจสรรหาวุฒิสมาชิก ถึง 74 คน
คปอ. สรุปว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้หยั่งรากลึกถึงปัญหาในระดับโครงสร้างขั้นพื้นฐานทางเศรษฐกิจ สังคม ชนชั้น และการเมืองของประเทศ โดยความขัดแย้งนั้นเดิมอาจเริ่มจากความขัดแย้งระหว่างบุคคลหรือกลุ่มบุคคลซึ่งมีความแตกต่างทางแนวคิดและอุดมการณ์อย่างชัดเจน และมีความหวาดระแวงต่อการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งว่าจะส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์หรืออำนาจที่เคยมีอยู่เดิม
ทำให้เกิดการต่อต้านการเปลี่ยนแปลง เพื่อรักษาสถานะเดิมของตนไว้มิให้เปลี่ยนแปลง (Status Quo)
สรุปว่าความจริงอยู่ข้างหน้า...
จะเปิดเผยหรือปกปิด
รายงานที่เป็นข้อสรุปนี้ถ้ามองในประเด็นค้นหาความจริง ก็ไม่ได้ค้นคว้าอย่างละเอียด เทียบไม่ได้กับรายงานของ ศปช.
ถ้าจะเอาความจริงแบบที่มองเห็นก็ไม่ต้องค้นหาเพราะมันวางอยู่ตรงหน้า คนทั่วทั้งโลกรู้ บางคนเห็นด้วยตาในเหตุการณ์จริง คนหลายล้านดูผ่านจอ ผ่านแผ่นซีดี
สิ่งที่เป็นภาระหนักคือการปกปิดความจริง เพราะคนตายเกือบร้อย บาดเจ็บ 2,000 มีพยานรู้เห็นเป็นหมื่นๆ เรื่องนี้เท่ากับช้างตายหลายตัว เอาอะไรมาปิดก็ไม่มิด
ทีมวิเคราะห์เห็นว่า การสรุปส่วนที่ 3 พอใช้ได้ แต่ไม่เนียน ใช้คน 3 คน ทำ 3 เดือนก็เสร็จ
ไม่ต้องแสดง...การปรองดอง
ในความเห็นของ คอป. การเปลี่ยนแปลงทางสังคมถือเป็นเรื่องปกติ การเปลี่ยนแปลง บางครั้งนำมาซึ่งความความหวาดระแวงว่าจะส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์หรืออำนาจที่เคยมีอยู่เดิม ทำให้เกิดการต่อต้านการเปลี่ยนแปลง เพื่อรักษาสถานะเดิมของตนไว้มิให้เปลี่ยนแปลง (Status Quo)
คอป. คาดว่าความขัดแย้งนี้จะขยายตัวและเกิดความรุนแรงจึงเสนอให้มีวิธีการปรองดองต่างๆ
** แต่ทีมวิเคราะห์มองท่าทีทางการเมืองของสองฝ่าย ตามทฤษฎีวิวัฒนาการของสังคม บอกได้ว่ายังมองไม่เห็นทางปรองดอง และคิดว่าไม่ต้องเสแสร้ง ปล่อยให้ความขัดแย้งดำเนินต่อไปและแก้ด้วยตัวของมันเอง จะต้องมีฝ่ายแพ้และฝ่ายชนะเด็ดขาด
การปรองดองแบบได้ทั้งสองฝ่ายไม่มี เพราะนั่นเปรียบเหมือนสองฝ่ายแข่งเต้นรำ แต่สถานการณ์การเมืองวันนี้เปรียบเหมือนการแข่งฟุตบอล สองฝ่ายวางแผนเพื่อชัยชนะ ใช้เงื่อนไขต่างๆ ที่เหนือกว่าเข้าโจมตี แม้กระทั่งการตุกติกนอกกติกา ไม่ว่าจะดึงเสื้อ เตะขา ล้วนทำได้เพื่อชัยชนะทั้งสิ้น
วันนี้การต่อสู้จะพัฒนาไปตามธรรมชาติ ในเมื่อไม่มีใครต้องการปรองดอง (ยกเว้น คอป.) ก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ กลุ่มนำทั้งหลาย ต่างก็หัวหงอก ผ่านโลกโชกโชน น่าจะจัดทัวร์ไปดูงาน อียิปต์ ลิเบีย ซีเรีย แล้วจะรู้ว่าเส้นทางสู่ประชาธิปไตยนั้นคดเคี้ยวยิ่งนัก
เสียสละ
เสียตำแหน่ง นายก ระหกระหิน
เสียทั้งเงิน ครอบครัว ก็ห่างหาย
ถ้าจะกลับ บ้านเกิด เขาให้ตาย
เขาบอกให้ เสียสละ เพื่อแผ่นดิน
ประชาชน ก็ต้อง เสียสละ
ชัยชนะ ถูกปล้น จนหมดสิ้น
ชนะอีก ตุลาการ เอาไปกิน
พอสู้ใหม่ สละชีวิน เป็นร้อยคน
ผู้แทน ทั้งสภา ต้องเสียสละ
จะยกมือ ให้ชนะ ยังสับสน
อำนาจ อธิปไตย ของปวงชน
เสียสละ ให้โจร ก็แล้วกัน
(เรื่องความตาย คนชุดดำ ผู้ก่อการร้าย
วีรชน เผาบ้านเผาเมือง จะเปรียบเทียบกับกรณี 14 ตุลา และ 6 ตุลา ฉบับหน้า)
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย