http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-09-18

ชีวิตคนรุ่นใหม่ ในยุคลมฟ้าอากาศสุดขั้ว โดย อนุช อาภาภิรม

.

ชีวิตคนรุ่นใหม่ ในยุคลมฟ้าอากาศสุดขั้ว
โดย อนุช อาภาภิรม  คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1674 หน้า 38


คนรุ่นใหม่มีภาพลักษณ์หลายประการ ได้แก่ เป็นผู้มีอิสระ เป็นตัวของตัวเอง พร้อมที่จะเดินทางใครทางมัน มุ่งมั่นเข้าสู่การแข่งขัน รู้จักสร้างและคว้าโอกาส มีความคิดริเริ่ม ทำงานอย่างมืออาชีพ 
และท้ายสุด น่าจะ ได้แก่ การชอบช็อปปิ้ง 
ภาพลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ดังกล่าวดำเนินควบคู่ไปกับภาพลักษณ์ของสมัยใหม่หรือความทันสมัย ได้แก่ การมีเทคโนโลยีสูง ความเจริญรุ่งเรืองและความอุดมสมบูรณ์ ความสะดวกสบายและรวดเร็ว และอนาคตที่ดีขึ้นเรื่อยๆ

แต่เมื่อเกิดยุคลมฟ้าอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather) ภาพลักษณ์ดังกล่าวดูจะไม่งดงามอย่างว่า กระทั่ง กลับตาลปัตรกัน 
มีการกล่าวถึงความรู้ที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 กันไว้หลายอย่าง เช่น ความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ความรู้เรื่องการตลาดและการเพิ่มมูลค่าตัวเองเพื่อการมีงานทำและประสบความสำเร็จ ความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจและการเงินการลงทุน 
แต่ไม่ว่าจะมีความรู้ที่สำคัญจำเป็นเพียงใด ในยุคลมฟ้าอากาศสุดขั้ว คนรุ่นใหม่ต้องมีความรู้และทักษะที่จำเป็นอีกอย่างหนึ่งคือ การเอาตัวรอดในยามฝนตกหนัก น้ำท่วม ไฟดับและต้องอพยพออกจากบ้าน


ลมฟ้าอากาศสุดขั้วยังสามารถก่อเหตุร้ายอื่นอีก ได้แก่ กดดันให้ราคาอาหารแพงขึ้น เนื่องจากภัยแล้ง หรือฝนที่มาช้า หรือที่ตกหนักน้ำท่วม ซึ่งจะส่งผลกระทบไปทั่วทั้งสังคม 
เช่น ในปี 2013 นี้ คาดหมายว่าราคาอาหารโลกจะพุ่งทะยานขึ้นเนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกในหลายประเทศสำคัญมีสหรัฐ เป็นต้น เกิดความเสียหายเป็นพื้นที่กว้าง การที่อาหารราคาแพงนี้เคยมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นสาเหตุให้เกิดการจลาจลในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ รวมทั้งเหตุการณ์ใหญ่ที่เรียกว่าการลุกขึ้นสู้ของชาวอาหรับด้วย

ในปัจจุบันคนรุ่นใหม่ไม่เพียงเผชิญกับลมฟ้าอากาศสุดขั้วเท่านั้น หากยังเผชิญกับสังคมสุดขั้วอีกด้วย สังคมสุดขั้วเป็นสังคมที่แบ่งขั้วฝ่ายอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา พื้นฐานมาจากความไม่เป็นธรรม ไม่เป็นประชาธิปไตย และความเหลื่อมล้ำที่ขยายตัว และเสริมพลังด้วยวิกฤติเศรษฐกิจที่จนบัดนี้ยังหาทางออกไม่ได้ 
สังคมสุดขั้วก่อผลกระทบรุนแรงและเร็วกว่าลมฟ้าอากาศสุดขั้ว มันก่อให้เกิดบรรยากาศไม่พอใจ ความปั่นป่วน การจลาจล การลุกขึ้นสู้ สงครามกลางเมือง ภาวะไร้ระเบียบกฎหมาย  
ผลกระทบจากลมฟ้าอากาศสุดขั้วที่ได้เกิดถี่ขึ้น และพื้นที่ประสบภัยกว้างขึ้น เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินและก่อความสับสนต่อชีวิตประจำวันเป็นอันมาก จึงได้มีการตระเตรียมรับมือกันในหลายรูปแบบ หลายฝ่าย ทั้งภาครัฐ ธุรกิจเอกชน เอ็นจีโอและนักเคลื่อนไหว

งานรับมืออย่างหนึ่งของภาครัฐในด้านการความรู้ ได้แก่ ทำหนังสือคู่มือเผยแพร่แก่ประชาชนว่าพึงปฏิบัติอย่างไรในยามฝนตกหนัก น้ำท่วม และไฟฟ้าดับ 
ในที่นี้จะขอยกคู่มือของรัฐนิวยอร์กเป็นตัวอย่าง โดยเห็นว่าเป็นรัฐสำคัญที่มีอภินครนิวยอร์กซึ่งเป็นเหมือนนครหลวงแห่งหนึ่งของโลก อะไรเกิดที่นครนี้อาจจะมีผลกระทบไปทั้งโลกได้ และอะไรเกิดขึ้นที่นี่ ก็มักลามไปเกิดในที่อื่นอีกเช่นกัน 
หนังสือคู่มือนี้บางเพียง 32 หน้า ชื่อว่า "อย่ายอมตกอยู่ในความมืด" (Don"t Be Left in the Dark : Weathering Floods, Storms, and Power Outages) เผยแพร่ปี 2006 มีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยให้ประชาชนเตรียมการที่จำเป็นเพื่อให้พร้อมที่จะรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในช่วงเหตุการณ์ลมฟ้าอากาศสุดขั้วหรือเหตุฉุกเฉินอื่น  
คำแนะในหนังสืออาจถือได้ว่าแสดงถึงความเป็นคนรุ่นใหม่ในอีกมิติหนึ่ง


อย่ายอมตกอยู่ในความมืด 

มีข้อควรสังเกตเกี่ยวกับคำแนะนำในหนังสืออยู่ 2 ประการด้วยกัน คือ 
ประการแรก เป็นการให้ความสำคัญอย่างสูงต่อปัญหาไฟฟ้าดับ ซึ่งชื่อหนังสือก็บอกไว้แล้ว สะท้อนถึงไฟฟ้ามีความจำเป็นต่อการอยู่รอดของเมืองสมัยใหม่มาก 
หากขาดไฟฟ้าแล้วระบบอินเตอร์เน็ตก็จะล่ม การทำธุรกรรมหยุดชะงัก เครื่องใช้ไฟฟ้ามีตู้เย็น เป็นต้น ไม่ทำงาน ของสดที่ใส่ไว้อาจเน่าเสียได้ในเวลาไม่กี่วัน ทั้งยังจะขาดน้ำดื่ม ถ้าไฟดับเพียงไม่กี่สัปดาห์ เมืองใหญ่ก็อยู่ได้ยาก ต้องอพยพออกมา 
ไฟฟ้าจึงเป็นเหมือนอำนาจเร้นลับที่รวมเมืองไว้ให้อยู่เป็นระเบียบ

ที่ให้ความสำคัญแก่ไฟฟ้าอีกด้านหนึ่งก็คือระบบนี้มีความเปราะบางมาก สร้างขึ้นก็ยาก รักษาไว้ก็มีค่าใช้จ่ายสูง ยิ่งกว่านั้นยังมีความต้องการเพิ่มขึ้นโดยตลอด เป็นภาระในการต้องสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ที่มีราคาแพง การพยายามสร้างตาข่ายไฟฟ้า (Power Grid) เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าก็ได้ผลระดับหนึ่ง เนื่องจากตาข่ายนี้มีการพัฒนาอย่างค่อนข้างสะเปะสะปะ ตามความต้องการของพื้นที่ที่เจริญรุ่งเรืองเร็วหรือเสื่อมถอยลง ไม่ได้เป็นตาข่ายที่ได้สมมาตร 
การที่เกิดไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้างขึ้นทั่วโลกนั้น บอกเล่าเรื่องดังกล่าวได้ดี

ประการที่สอง เป็นคำแนะนำแบบบ้านใครบ้านมัน นั่นคือหาทางออกกันเอาเอง ขณะที่มีครัวเรือนจำนวนไม่น้อยที่ยังคงปฏิบัติได้ยาก เช่นยังต้องพึ่งโครงการฟูดแสตมป์ ไม่สามารถสำรองของไว้ได้มาก หรือไม่มีที่จะอพยพไปอยู่ไหน หรือขาดยานพาหนะ 
ดังที่ได้เกิดขึ้นที่เมืองนิวออลีนส์เมื่อครั้งประสบภัยจากพายุแคทรินาในปี 2005



สิ่งของที่ควรตระเตรียมไว้ล่วงหน้า

สิ่งของที่ควรตระเตรียมไว้ล่วงหน้าเพื่อการรับมือกับฝนตกหนัก น้ำท่วม พายุหิมะ และไฟดับ ได้แก่ 
1. หมวดอาหารและน้ำ เช่น ก) น้ำขวด ใช้ 2 แกลลอนต่อคนต่อวัน ข) อาหารกระป๋องที่เปิดกินได้เลย ค) นม ง) อาหารให้พลังงานสูง มีเนยถั่ว เนื้ออบแห้ง เป็นต้น จ) อาหารพิเศษ เช่นสำหรับผู้สูงอายุ โดยมีหลักควรคำนึงดังนี้คือ จัดตามที่ครอบครัวบริโภคบ่อย การได้กินอาหารที่เคยกินกล่าวกันว่าช่วยให้มีขวัญและความอบอุ่นใจดีขึ้น อาหารที่เก็บไว้ควรไม่ต้องแช่ตู้เย็นหรือปรุงน้อยที่สุด ค่อยๆ หาซื้ออาหารมาจนเห็นว่าเพียงพอสำหรับครอบครัว 3-7 วัน การบรรจุอาหารใส่ช่องแช่แข็งควรให้เต็ม เพราะประหยัดพลังงานและเก็บความเย็นได้นาน 
2. หมวดยาและสุขภัณฑ์ เช่น 1) ยาตามใบสั่งแพทย์ 2) เครื่องมือปฐมพยาบาล ค) กระดาษชำระ ง) ผ้าเช็ดมือและตัวทารก จ) สบู่แบบไม่ต้องใช้น้ำล้าง ฉ) เครื่องสุขภัณฑ์ของสตรี 
3. อุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้าน เช่น ก) น้ำยาคลอรีน ข) วิทยุใช้ถ่าน ค) ไฟฉาย ไว้ประจำทุกห้อง ง) ถ่านไฟ จ) เทียนไขและตะเกียง ฉ) ไม้ขีดไฟ ช) น้ำมัน (ไว้ใช้กับเครื่องปั่นไฟ) ซ) แก๊สหุงต้ม ฌ) เครื่องเปิดกระป๋องที่ทำงานด้วยมือ ญ) ถุงพลาสติก สำหรับใส่อาหารและขยะ ฎ) เงินสด ฏ) เครื่องดับไฟ  
4. เครื่องมือ เช่น ก) เชือก ใช้มัดของ การลาก และการช่วยเหลือ ข) พลั่ว ค) ค้อนและตะปู ง) มีดสารพัดประโยชน์ จ) ถุงมือ ฉ) เทปกาวเหนียว ช) เทปพันสายไฟ 
5. อุปกรณ์ทำความสะอาด เช่น ไม้กวาด กระบุง สเปรย์กำจัดกลิ่น หน้ากากกันฝุ่น ไม้ถูพื้น ผ้าถูพื้น ถุงมือยาง ถุงใส่ขยะเปียก


การเตรียมรับมือกับภาวะฉุกเฉิน

การเตรียมรับนี้ประเภทนี้ที่สำคัญ ได้แก่  
1. การตรวจตราด้านไฟฟ้า แก๊ส และน้ำประปา สามารถปิดได้ในยามฉุกเฉิน  
2. เตรียมการสำหรับผู้ที่เคลื่อนไหวลำบาก 
3. มีโทรศัพท์บ้านธรรมดาไว้เครื่องหนึ่ง ที่เป็นแบบไร้สายจะใช้ไม่ได้เวลาไฟดับ 
4. เติมน้ำมันรถเต็มถังถ้ามีการพยากรณ์ว่ามีพายุฝนตกหนัก 
5. เติมน้ำให้เต็มอ่างอาบน้ำ ไว้ราดโถส้วม เป็นต้น 
6. บันทึกทรัพย์สินมีค่าของตนเพื่อแสดงต่อบริษัทประกันภัย ควรซื้อประกันภัยน้ำท่วมด้วย


การปฏิบัติตัวเมื่อมีพายุฝน น้ำท่วมและไฟฟ้าดับ 

มีที่ควรทำดังนี้ 
1. ติดตามข่าวสารลมฟ้าอากาศและข่าวอัพเดตทางวิทยุ 
2. ถ้าหากเกิดน้ำท่วมให้คิดไว้ล่วงหน้าว่าถ้าต้องอพยพจะไปอยู่ที่ไหน เช่น บ้านเพื่อนหรือบ้านญาติ 
3. บรรจุของใช้ที่จำเป็นให้เรียบร้อย เก็บเอกสารสำคัญและเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นชั้นบน 
4. ขณะที่ยังอยู่ในบ้าน หากเกิดพายุหิมะและไฟดับต้องเตรียมสร้างความอบอุ่น หาน้ำใช้ ซึ่งมีหลายวิธี

...การหุงอาหารที่ปลอดภัยและไม่ต้องใช้ไฟ


ถ้าต้องอพยพควรปฏิบัติอย่างไร

ถ้าต้องอพยพควรปฏิบัติดังนี้ 
1. เปลี่ยนเสื้อผ้าและรองเท้าใหม่  
2. เตรียมถุงนอนหรือผ้าห่มและหมอนสำหรับทุกคน 
3. จดหมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ เช่นบริษัทประกัน  
4. ของใช้ประจำตัวที่ควรทำเพิ่มได้แก่แว่นตา (ที่ใช้คอนแท็กเลนส์ต้องเตรียมไว้จำนวนหนึ่ง) กุญแจบ้านและรถ 
5. เอกสารติดตัวสำคัญได้แก่บัตรประจำตัวประชาชน ใบขับขี่ 
นอกจากนี้ ก่อนออกจากบ้านต้องตรวจตราที่จำเป็น ได้แก่ การปิดสวิตช์ไฟในบ้าน และยกสวิตช์ไฟใหญ่ออกด้วย
ปล่อยน้ำจนหมดท่อประปา ถ้าหากเห็นว่าอุณหภูมิจะลดต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง



การฟื้นตัวจากพายุและน้ำท่วม

เมื่อพายุผ่านไปและกลับเข้าบ้าน เรื่องแรก ได้แก่ 
1. อาหาร โดยทั่วไปอาหารที่เก็บในตู้เย็นจะยังคงเย็นต่อไปอีกราว 4-6 ชั่วโมงถ้าไม่เปิดประตู ตู้แช่แข็งที่ใส่อาหารเต็มจะยังคงแข็งต่อ 2 วัน ถ้าบรรจุครึ่งเดียวจะแข็งต่ออีก 1 วัน ให้พิจารณาดูตามสภาพว่ายังคงนำมาใช้บริโภคหรือแช่เย็นแช่แข็งซ้ำได้อีกหรือไม่ สำหรับอาหารที่เปลี่ยนสีมีกลิ่นควรทิ้งไป สำหรับในประเทศไทยที่อากาศร้อนอาหารน่าจะเสียเกือบทั้งหมด 
2. ค่อยหาซื้อรายการต่างๆ ที่ใช้ไปเติมจนครบ เพื่อเผชิญกับพายุลูกใหม่ 
3. การทำความสะอาดเป็นงานใหญ่และให้รายละเอียดไว้พอสมควร
ที่กล่าวมาข้างต้นก็พอวาดภาพได้ว่าชีวิตของชาวนิวยอร์กต้องเปลี่ยนไปไม่ใช่น้อย เนื่องจากลมฟ้าอากาศสุดขั้ว การเตรียมตัวล่วงหน้าดังกล่าวนั้นย่อมกินเวลา ดึงความสนใจจากการเป็นคนรุ่นใหม่ที่รู้จักไปไม่น้อย

กล่าวโดยรวมก็คือปรับจากชีวิตเมือง เข้าสู่ชีวิตในธรรมชาติมากขึ้น และยิ่งลมฟ้าอากาศสุดขั้วรุนแรงขึ้นเท่าใด เราก็จำต้องปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติมากขึ้นเท่านั้น 

บางทีเราจำต้องทำความคุ้นเคยกับมัน ต้องคุ้นเคยกับความขาดแคลน ไม่ใช่ความอุดมสมบูรณ์แบบเก่า คุ้นเคยกับความลำบากล่าช้า ไม่ใช่ความสะดวกสบาย คุ้นกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่สูงเหมือนเดิม เปลี่ยนทัศนะจากทางใครทางมัน หรือตัวใครตัวมัน เป็นไปสู่จิตอาสาสมัครและการรวมตัวเพื่อความอยู่รอด จากการวางตัวเป็นพระเอกนางเอก ไปเป็นสามัญชน นี่เป็นรสชาติใหม่ของคนรุ่นใหม่ 
ที่หนักหนากว่านั้นก็คือคำเตือนของผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิอากาศที่ว่า ภาวะโลกร้อนจะทำให้โลกเข้าสู่ความเป็นป่าเถื่อน โดยชี้ว่า "การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศเป็นเงื่อนไขเพิ่มเติมที่จะทำให้ปัญหาความยากจน การเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม การแบ่งขั้วทางสังคม และลัทธิก่อการร้ายรุนแรงขึ้น นำมาสู่สถานการณ์ที่เป็นโกลาหลยิ่ง" 
และว่าความเป็นป่าเถื่อนกำลังเกิดขึ้นแล้ว ดูได้จาก "โลกแห่งป้อมปราการที่คนร่ำรวยอาศัยอยู่ในดินแดนแทรกอยู่ที่โน่นที่นี่ มีการคุ้มกันอย่างดี ขณะที่คนยากจนจำนวนมากอาศัยอยู่ภายนอกในเงื่อนไขที่ไม่ยั่งยืน" 
(ดูบทความของ James Randerson ชื่อ Expert warns climate change will lead to "barbarisation" ใน guardian.co.uk, 160508)



.