http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-09-02

อ.ไชยวรศิลป์ นักเขียนหญิงเมืองเหนือ หนึ่งใน“กบฏสันติภาพ” โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

.

อ.ไชยวรศิลป์ นักเขียนหญิงเมืองเหนือ หนึ่งใน“กบฏสันติภาพ”
โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ www.facebook.com/pensupa.sukkatajaiinn คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1672 หน้า 76


ลูกศิษย์ "ส.ธรรมยศ" สู่ศรัทธา "ศรีบูรพา"

เดือนพฤศจิกายนปี 2533 นักเขียนอาวุโส "แม่ญิงล้านนา" นาม "อ.ไชยวรศิลป์" ได้ลาจากโลกน้ำหมึกไปด้วยวัย 72 ปี ณ โรงพยาบาลพญาไท หลังจากต้องทนต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บ ณ ช่วงบั้นปลายชีวิต ที่มาปักหลักเขียนหนังสืออยู่แถวสุทธิสาร ซอยสุพรรณิการ์ มิได้กลับเมืองเหนือนานกว่า 10 ปี
ทิ้งให้บ้านสองชั้นติดกาแลที่หน้าจั่ว ณ บ้านแม่ย่อย อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ กลายสภาพเป็น "ห้องสมุด อ.ไชยวรศิลป์" หรือ "ศาลาอำพัน" ซึ่งคนส่วนใหญ่ มักทึกทักเอาว่า น่าจะเป็นบ้านของ "อาจารย์" ที่สอนภาษาไทยท่านหนึ่งกระมัง  . . คือคิดว่า "อ." นั้นย่อมาจากอาจารย์

แท้จริงแล้ว "อ.ไชยวรศิลป์" เป็นนามปากกาของ "อำพัน ไชยวรศิลป์" ผู้ฝากผลงานด้านวรรณกรรมไว้มากกว่า 400 ชิ้น ครบรสทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น บทกวี สารคดี
อ.ไชยวรศิลป์ เป็นนักเขียนเมืองเหนือรุ่นราวคราวเดียวกันกับ บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ และ สงวน โชติสุขรัตน์ ทั้งสามท่านเกิดในต้นทศวรรษ 2460 และต่างก็เป็นลูกศิษย์ของ ส.ธรรมยศ นักเขียนใหญ่ชาวลำปาง ซึ่งจะมีอายุครบรอบ 100 ปีชาตกาลในปีหน้า 
โดย ส.ธรรมยศเคยกล่าวว่า "อ.ไชยวรศิลป์ เปรียบเหมือนเพชรที่เจียระไนยแล้ว"

อ.ไชยวรศิลป์ เกิดที่อำเภอสูงเม่น เมืองแพร่ เป็นธิดาของดาบพรหมินทร์ และนางตุ่นคำ ซึ่งบิดาจำต้องย้ายไปรับราชการเมืองต่างๆ เริ่มจากแพร่ สู่ทุ่งสง (จ.นครศรีธรรมราช) สุราษฎร์ธานี กรุงเทพฯ และหวนกลับคืนเชียงใหม่ ณ ที่ซึ่งนางสาวอำพันเรียนจบชั้นมัธยมปลาย (สมัยนั้นน่าจะเรียกว่า ม.8) จากโรงเรียนดาราวิทยาลัย
นางสาวอำพันเริ่มเขียนเรื่องสั้นชิ้นแรกชื่อ "หนทางรัก" เมื่ออายุได้เพียง 15 ปี ใช้นามปากกา อ.ไชยวรศิลป์ ส่วนนวนิยายเรื่องแรกคือ "เกิดเป็นคน" จากนั้นก็เขียนนวนิยายโรมานซ์แนว "พระเอกเมืองกรุง นางเอกเอื้องเหนือ" กว่า 40 เรื่อง 
และมีข้อสังเกตว่ามักตั้งชื่อนิยายเหล่านั้นด้วยสัญลักษณ์ของสายน้ำอันไพเราะเพราะพริ้ง อาทิ มนต์แม่ระมิงค์ แทบฝั่งอิระวดี ประทีปเหนือธารพิงค์ พระจันทร์ครึ่งดวงที่วาปี แม่สายสะอื้น เรื่องหลังนี้ได้รับยกย่องให้เป็น 1 ในหนังสือดีที่คนไทยควรอ่าน

นักเขียนหญิงล้านนา ยอมรับว่านวนิยายยุคแรกของเธอนั้นออกแนวเพ้อฝันประโลมโลกย์เอาใจตลาด ด้วยต้องปากกัดตีนถีบหาเลี้ยงชีพ เพื่อยืนหยัดอยู่ในบรรณพิภพให้ได้ซึ่งเป็นอาณาบริเวณของนักเขียนชายส่วนใหญ่ในยุคนั้น แต่ทว่าเอื้องเหนือที่เป็นตัวละครแต่ละนางก็หาใช่ผู้หญิงที่ง่ายนักสำหรับการเด็ดดอมของผู้ชายบางกอก  
ควบคู่ไปกับความหลงใหลในมนต์ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นล้านนาตามที่ครู ส.ธรรมยศ ได้ปูทางไว้ให้ นามปากกา "อสิธารา" จึงอุบัติขึ้น ด้วยงานวรรณกรรมประเภท "สาระนิยาย" คือเป็นสารคดีที่มีการผูกบทให้ตัวละครสนทนากันคล้ายกับการเดินเรื่องแบบนวนิยาย 
งานชิ้นโบแดงแนวนี้คือ นิยายเมืองเหนือ ได้รับรางวัลหนังสือยอดเยี่ยมประเภทสารคดีจากยูเนสโก เมื่อปี 2510 และล่าสุด ปี 2551 มีการพิมพ์ใหม่เปลี่ยนชื่อเป็น "เล่าเรื่องเมืองเหนือ" 
นอกเหนือจากนามปากกา อ.ไชยวรศิลป์ กับอสิธาราแล้ว ยังใช้ "เอื้อ อรทัย" สำหรับงานเขียนคอลัมน์ตอบปัญหาข้อข้องใจวัยรุ่น

ยุคถัดมาเธอเริ่มสนใจในอุดมการณ์ทางการเมืองตามแนวทางของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ "ศรีบูรพา" จึงเบนเข็มมาสร้างสรรค์งานเรื่องสั้นประเภทเสียดสีสังคมอย่างแสบสันต์ แทนที่งานเขียนนวนิยายสิบตังค์ 
เรื่องสั้นยุคที่เธอเอนเอียงมาทางลัทธิสังคมนิยมนั้น นักวิจารณ์วรรณกรรมจัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกับนักเขียนหญิงแกร่งที่มีชื่อเสียงร่วมรุ่นกัน ได้แก่ ร.จันทพิมพะ แข ณ วังน้อย ซึ่งน่าจะส่งอิทธิพลให้แก่นักเขียนรุ่นถัดมาอย่าง กฤษณา อโศกสิน โบตั๋น และอาจรวมไปถึงศรีดาวเรือง อยู่บ้าง 
กล่าวคือเป็นงานเขียนที่สะท้อนถึงชีวิตของผู้หญิงรากหญ้าสามัญชน ที่เข้าใจโลกและชีวิต มีความอาจหาญ ทระนง พึ่งพาตัวเอง กล้าลุกขึ้นต่อสู้เรียกร้องสิทธิจากชาย 
อันเป็นแนวกึ่งกลางที่อยู่ระหว่างงานเขียนแนว "ขนบนิยม-กุลสตรีสำเร็จรูป" สวย รวย หยิ่ง รักนวลสงวนตัว ดั่งงานของนักเขียนรุ่นครูคือ ดอกไม้สด และ ก.สุรางคนางค์ กับแนวหวือหวาวาบหวิวของผู้หญิงขบถ รักเสรีเปิดเผยเรื่องเพศ ดังเช่น สุวรรณี สุคนธา

เรื่องสั้นและนวนิยายยุคหลังๆ ของ อ.ไชยวรศิลป์ มุ่งประเด็นเกี่ยวกับสิทธิสตรีอย่างชัดเจน ตัวละครหญิงในแทบทุกเรื่องล้วนแต่ประกาศตัวตนว่าไม่อาจทนกับสภาพความเป็นชายที่เอาเปรียบเพศหญิง 
แถมบางเรื่องยังมีการตอบโต้และแก้แค้นเพศชายด้วยวิธีรุนแรง 


เพื่อเป็นเกียรติแก่นักเขียนหญิงผู้นี้ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ยุคประภัสสร เสวิกุล เป็นนายกสมาคม (ปี พ.ศ.2545-2547) จึงได้มีการจัดประกวดวรรณกรรมที่เน้นเนื้อหาส่งเสริมสถานภาพและเกียรติภูมิของสตรีขึ้น ในนามรางวัล "อนุสรณ์ อ. ไชยวรศิลป์" 
น่าเสียดายที่รางวัลนี้มีเพียงแค่ 2 ปี และได้ยกเลิกไปนานแล้ว
แต่ก็น่ายินดีที่ในปี 2547 ยังมีนักเขียนหญิงชาวเชียงใหม่คนหนึ่งที่ได้รับรางวัลนี้ถือว่าเป็น "ทายาทนักเขียนหญิงล้านนา" เธอคือ พญ.ชัญวลี ศรีสุโข จากเรื่องสั้น "สัญชาตญาณ" ด้วยเธอเคยให้สัมภาษณ์ว่าได้รับแรงบันดาลใจจาก อ.ไชยวรศิลป์ตั้งแต่วัยเด็กทำให้ต้องลุกขึ้นมาจับปากกาเขียนหนังสือควบคู่กับการเป็นหมอ




ความศรัทธาของ อ.ไชยวรศิลป์ ที่มีต่อ "ศรีบูรพา" ทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เพราะเขาเปรียบเสมือนครูผู้จุดประกายความคิดให้นักเขียนเอื้องเหนืออย่างเธอได้เพ่งพินิจถึงความเป็นธรรมของสังคม นำไปสู่การถูกจับกุมไล่ล่าด้วยข้อหา "กบฏสันติภาพ"

จากกบฏสันติภาพ ถึงข้อหาคอมมิวนิสต์

คํานำของหนังสือ "เล่าเรื่องเมืองเหนือ" เขียนโดยผู้ใช้นามว่า "ทศ คณนาพร" ได้ระบุว่า อ.ไชยวรศิลป์ เป็นหนึ่งในผู้ถูกคุมขังของกลุ่มกบฏสันติภาพ 
เหตุที่เรียกว่า "กบฏสันติภาพ" นั้น มีมูลเหตุเนื่องมาจากกลุ่มคนหนุ่มสาวหัวก้าวหน้ากลุ่มหนึ่งได้รวมตัวกันจัดตั้ง "คณะกรรมการสันติภาพแห่งประเทศไทย" เมื่อเดือนเมษายน 2494 โดยมีเครือข่ายแม่ตั้งอยู่ที่กรุงสตอกโฮม ประเทศสวีเดน มีจุดมุ่งหมายเพื่อรณรงค์คัดค้านอาวุธปรมาณู และต่อต้านการแทรกแซงของอเมริกาต่อสงครามคาบสมุทรเกาหลี  
การเคลื่อนไหวของคณะกรรมการสันติภาพแห่งประเทศไทย ซึ่งนำหัวขบวนโดย นพ.เจริญ สืบแสง และศรีบูรพา นั้นได้ประกาศจุดยืนเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการส่งทหารเข้าร่วมรบในสงครามเกาหลี มีการตีพิมพ์คำปฏิญญาว่า "เสรีภาพของหนังสือพิมพ์คือเสรีภาพของประชาชน" ลงในหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ 
นำไปสู่การกวาดล้างจับกุมนักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ และประชาชนที่มีความคิดเห็นต่างจากรัฐบาลครั้งใหญ่ในยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2495 ทำให้กบฏสันติภาพมีอีกชื่อว่า "กบฏ 10 พฤศจิกายน" โดยอ้างว่า 
"มีบุคคลคณะหนึ่งได้สมคบกันกระทำผิดกฎหมาย ยุยงให้มีการเกลียดชังกันในระหว่างคนไทย เพื่อก่อให้เกิดการแตกแยก ทำลายกันเอง โดยใช้อุบายต่างๆ เช่น ปลุกปั่นแบ่งชั้น เป็นชนชั้นนายทุนบ้าง ชนชั้นกรรมกรบ้าง ชักชวนให้เกลียดชังชาวต่างประเทศที่เป็นมิตรของประเทศบ้าง ... เมื่อเกิดการปั่นป่วนในบ้านเมืองได้ระยะเวลาเหมาะสมแล้ว ก็จะใช้กำลังเข้าทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบอื่น ซึ่งมิใช่ระบอบประชาธิปไตย ด้วยการชักจูงชาวต่างประเทศเข้าร่วมทำการยึดครองประเทศไทย"

ชาวต่างประเทศที่ว่านี้ คงเป็นใครไปไม่ได้นอกจากรัสเซียและจีน! 
รายชื่อผู้ต้องหาที่รัฐบาลหาเรื่องจับแพะชนแกะ นอกจากศรีบูรพายังมี สุภา ศิริมานนท์ เปลื้อง วรรณศรี สมัคร บุราวาส สุพจน์ ด่านตระกูล ฯลฯ หลังจากการจับกุมครั้งแรกในปี 2595 แล้ว ยังมีการทยอยจับบุคคลต้องสงสัยตามติดมาอีกหลายระลอก ยืดเยื้อมาจนถึงปี 2497 ถูกจับร่วมร้อยกว่าคนมีรายชื่อของ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ และ อ.ไชยวรศิลป์ รวมอยู่ด้วย 
แต่นักโทษหญิงนี้ได้รับการปล่อยตัวไปในเวลาไม่นานนัก 
ฝ่ายชายถูกคุมขังจำกัดเสรีภาพอยู่ในคุกบางขวางระหว่างปี พ.ศ.2495-2500 ภายหลังจึงได้รับนิรโทษกรรมเมื่อปี 2500 เนื่องในวาระฉลองกึ่งพุทธกาล 
ตอนแรกมีการใช้คำว่า "อภัยโทษ" แต่ศรีบูรพาปฏิเสธที่จะให้ศาลใช้คำว่า "อภัยโทษ" เพราะถือว่าพวกเขาไม่มีโทษ ไม่ได้ทำอะไรผิด แต่ขอให้ใช้คำว่า "นิรโทษกรรม" แทน กล่าวคือไม่มีโทษแก่กัน ซึ่งก็น่าคิดว่าคำ "นิรโทษกรรม" คำนี้ ณ ยุคสมัยเราดันกลายมาเป็นต้นตอของความขัดแย้งอีก

หลังจากที่มีการปล่อยตัวแล้ว ศรีบูรพาได้รับเชิญให้ไปเยือนจีน อ.ไชยวรศิลป์ก็เป็น 1 ใน 12 นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ในนาม "คณะผู้แทนและส่งเสริมวัฒนธรรม" จากประเทศไทย ที่ร่วมขบวนนี้ด้วย ซึ่งเดินทางกันไปกรุงปักกิ่งในเดือนสิงหาคม 2501
ช่วงนั้น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501 ทำให้กลุ่มนักเขียนที่เดินทางกลับจากจีน ทันทีที่ลงจากเครื่องบิน ณ สนามบินดอนเมือง ถูกจับในข้อหากบฏภายนอกและภายในราชอาณาจักร เหตุเพราะจีนมีการปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ และยังไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ผู้ที่เดินทางไปจีนในช่วงนั้นจึงย่อมมีความผิดในข้อหาฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์

ศรีบูรพา กับ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ เพิ่งได้รับอิสรภาพไม่ถึงปี หลังจากถูกคุมขังในข้อหากบฏสันติภาพนานถึงสี่ปีเศษ เมื่อทราบข่าวการรัฐประหาร ก็ตัดสินใจไม่กลับเมืองไทย ขอลี้ภัยอยู่ที่จีนตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต 
ในขณะที่ อ.ไชยวรศิลป์ ถูกจับเข้าคุกที่ลาดยาวนานอยู่แรมเดือน พร้อมด้วยนักเขียนหญิงอีกคนที่ไปจีนด้วยกันคือ ถวัลย์ วรดิลก

ระหว่างปี พ.ศ.2501-2509 กลุ่มปัญญาชนที่มีความคิดเห็นต่างทางการเมืองกับรัฐบาลได้ถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏกันถ้วนหน้า แต่ก็มิอาจตั้งข้อหาอย่างเป็นทางการ และไม่มีการดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม 
ทุกคนถูก "ขังลืม" ตามคำพิพากษาของศาลเตี้ยโดยไม่รู้ชะตากรรม ในขณะที่ จอมพลสฤษฎิ์ ธนะรัชต์ ยิ่งกระชับสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาอย่างเหนียวแน่น พร้อมสถาปนาลัทธิสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับคืนมา  



เมื่อย้อนมองห้าสิบปีแห่งการต่อสู้ของคณะนักหนังสือพิมพ์ไทยกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งที่มุ่งใฝ่หาสันติภาพ ความเสมอภาคและประชาธิปไตย ต่อต้าน "การปฏิวัติรัฐประหาร" ที่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กำลังสมรู้ร่วมคิดกับจักรวรรดินิยมอเมริกา โดยการฟื้นฟูสถาบันกษัตริย์มาเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับภัยคอมมิวนิสต์ 
แล้วนึกสะท้อนใจ เมื่อมาเห็นกลุ่มสื่อสลิ่มหลายสำนักในปัจจุบัน ที่เก็บอุดมการณ์เข้าลิ้นชัก พากันเดินสวนทางกับนักหนังสือพิมพ์เช่นศรีบูรพาและกลุ่มกบฏสันติภาพ หันไปรับใช้กลุ่มอำนาจนิยมตัวพ่อ ใช้ความจงรักภักดีล้นเกิน มาเป็นเครื่องมือร่วมจัดการปัญญาชนที่คิดเห็นต่างจากพวกตน 
รางวัลศรีบูรพาที่ อ.ไชยวรศิลป์ ได้รับ น่าจะบันทึกคุณค่าของเธอในฐานะขบถ หรือนักต่อสู้เคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโลกและสังคมอย่างเข้มข้นเคียงคู่ขนานไปกับการเชิดชูยกย่องให้เห็นภาพลักษณ์ของนักเขียนหญิงเอื้องเหนือแต่เพียงมิติเดียว

ฉากและชีวิตช่วงกบฏสันติภาพนี้สำคัญนักมิควรถูกปิดบังหรือมองข้ามอีกต่อไป



.