http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-09-13

พิศณุ: อายุ 92 ปี เริ่มเรียนหนังสือ! อายุ 99 ปี เริ่มเขียนหนังสือขาย!

.
บทความของปี 2554 - ผู้ให้กับผู้รับใครมีความสุขมากกว่ากัน โดย พิศณุ นิลกลัด

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

อายุ 92 ปี เริ่มเรียนหนังสือ! อายุ 99 ปี เริ่มเขียนหนังสือขาย!
โดย พิศณุ นิลกลัด คอลัมน์ คลุกวงใน
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 07 กันยายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1673 หน้า 96


วันที่ 8 กันยายนของทุกปี ถือเป็นวันรู้หนังสือสากล ริเริ่มโดยองค์การยูเนสโก้ เพื่อให้พลโลกเห็นความสำคัญของการรู้หนังสือ

จากการสำรวจของยูเนสโก้เมื่อปี 2552 พบว่าคนไทยอ่านภาษาไทยไม่ออก เขียนไม่ได้กว่า 4 ล้านคน คิดเป็น 6.3% ของคนทั้งประเทศ และเมื่อนับทั่วโลกมีผู้ใหญ่ที่อ่านหนังสือไม่ออกถึง 793 ล้านคน คิดเป็น 17% ของประชากรโลก ที่น่าตกใจก็จำนวนพลโลกที่ไม่รู้หนังสือเพิ่มจากเมื่อ 20 ปีที่แล้วถึง 8%

คนอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้มักจะกลายเป็นคนที่เชื่อคนง่ายเพราะเมื่อได้ยินคนบอกอะไรมา แม้จะเกิดความสงสัยก็ไม่สามารถค้นหาข้อมูลที่เป็นความจริงมาอ่าน หากถูกครอบงำโดยคนไม่ดีก็จะถูกชักจูงไปในทางที่ผิด
มองในระดับที่ใหญ่ขึ้นไป ความไม่รู้หนังสือปิดกั้นโอกาสในการพัฒนาตัวเอง ศักยภาพของคนในการช่วยพัฒนาประเทศก็ลดลง



เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คุณตาเจมส์ อาร์รูด้า เฮนรี่ (James Arruda Henry) ชาวอเมริกันวัย 99 ปี เป็นข่าวดังทั่วอเมริกา จากการเขียนหนังสืออัตชีวประวัติชื่อ In a Fisherman"s Language แปลเป็นไทยแบบตรงๆ ว่า "ในภาษาของชาวประมง" หลังจากเริ่มเรียนอ่านและเขียนหนังสือตอนอายุ 92 ปี ซึ่งประธานาธิบดี บารัค โอบามา ได้ส่งสารแสดงความยินดีและชื่นชมในความพยายามและความสำเร็จ
In a Fisherman"s Language เป็นหนังสือความหนา 80 หน้า เล่าถึงเรื่องของคนที่ไม่รู้หนังสือว่ามีผลกระทบอย่างไรต่อการดำเนินชีวิต รวมทั้งแรงบันดาลใจในการเรียนอ่านเขียนหนังสืออีกครั้งเมื่ออายุเกือบร้อยปี ซึ่งขณะนี้หนังสือเล่มนี้อยู่ในห้องสมุดของโรงเรียนระดับประถมศึกษาทั่วอเมริกา
คุณตาเจมส์ อาร์รูด้า เฮนรี่ เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายโปรตุเกส ครอบครัวอพยพไปตั้งรกรากอยู่ที่รัฐโรด ไอร์แลนด์ ตั้งแต่เป็นเด็ก ด้วยความที่ทางบ้านมีฐานะยากจน พ่อเอาตัวออกมาจากโรงเรียนตอนอายุ 9 ขวบหลังจากเรียนจบแค่เกรด 3 หรือเทียบเท่ากับ ป.3 บ้านเรา-เพื่อทำงานช่วยเหลือครอบครัว
แม้จะเรียนจบเกรด 3 แต่คุณตาเจมส์อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้เพราะพ่อไม่ให้ความสำคัญ ถูกสั่งให้หยุดเรียนเพื่อช่วยพ่อทำงานอยู่เรื่อย

นอกจากนี้ ตอนเด็กคุณตาเจมส์ตัวใหญ่กว่าเพื่อนๆ ในชั้นเรียน ครูก็เลยให้เลื่อนชั้นทุกปีโดยไม่ได้ทดสอบการอ่านเขียน!
คุณตาเจมส์ทำงานรับจ้างไปเรื่อยไม่เคยเลือกงาน จนกระทั่งได้เป็นกัปตันเรือจับกุ้งล็อบสเตอร์ซึ่งเป็นอาชีพที่งานหนักแต่รายได้ดี (กัปตันเรือจับกุ้งล็อบสเตอร์สมัยนี้ได้เงินเดือนคิดเป็นเงินไทยปีละหลายล้านบาท)


ด้วยหน้าที่การงานทำให้คุณตาเจมส์ไม่มีเวลาได้กลับไปเรียนหนังสือ ซึ่งคุณตาเจมส์บอกว่าเป็นความลับที่ตัวเองรู้สึกอับอายมากและไม่บอกให้ใครรู้ จนความลับมาแตกเมื่อถึงเวลาที่จะต้องสอบใบขับขี่ คุณตาอ่านใบสมัครไม่ออก รู้แต่เขียนชื่อตัวเองที่หัวกระดาษ ซึ่งเพื่อนที่ไปด้วยได้อ้อนวอนให้เจ้าหน้าที่อะลุ้มอล่วยให้ผ่านข้อเขียน โดยบอกว่าคุณตาเป็นยอดนักจับล็อบสเตอร์ ซึ่งถือเป็นสินค้าขึ้นชื่อที่คนโรด ไอร์แลนด์ ภาคภูมิใจ เจ้าหน้าที่ก็อะลุ้มอล่วยและให้คุณตาสอบใบขับขี่ภาคปฏิบัติซึ่งก็สอบผ่าน
เมื่อคุณตาเจมส์แต่งงานก็ไม่ยอมบอกภรรยาว่าอ่านหนังสือไม่ออก ทำให้มีปัญหาเวลาได้รับใบเสร็จค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าใช้จ่ายต่างๆ เพราะอ่านไม่เข้าใจว่าต้องจ่ายค่าอะไรบ้าง จนในที่สุดหลังจากแต่งงาน 2 ปีถึงยอมเปิดเผยกับภรรยาว่าตัวเองอ่านหนังสือไม่ออก และไม่ยอมบอกใครอีกเลยนานถึง 60 ปี
คุณตาเจมส์บอกว่าการอ่านหนังสือไม่ออกและต้องปิดเป็นความลับไม่ให้ใครทราบ เป็นสิ่งที่ทรมานขมขื่นใจที่สุด
เวลาไปร้านอาหารก็อ่านเมนูไม่ออก ดังนั้น ต้องใช้วิธีสั่งอาหารตามเพื่อนร่วมโต๊ะหรือดูโต๊ะข้างๆ ว่าสั่งอะไรก็สั่งตาม เวลานั่งในร้านกาแฟก็ต้องทำเป็นถือหนังสือพิมพ์อ่าน พอพนักงานเสิร์ฟยื่นใบเสร็จมาให้ก็ทำเป็นไม่มองแล้วถามว่าเท่าไหร่
ที่ทรมานใจที่สุดก็คือตอนเซ็นเอกสาร ต้องจำใจเซ็นทั้งๆ ที่อ่านไม่ออก!


คุณตาเจมส์ไม่คิดที่จะเรียนเขียนอ่านหนังสือเพราะคิดว่าตัวเองแก่แล้ว
จนกระทั่งปี 2000 ขณะอายุ 92 ปี ได้สัมผัสหนังสืออัตชีวประวัติ Life Is So Good เขียนโดย จอร์จ ดอว์สัน (George Dawson) ชาวอเมริกันที่มีปู่เป็นทาส-ซึ่งมาเรียนเขียนอ่านหนังสือตอนอายุ 98 ปี และเขียนหนังสืออัตชีวประวัติขายเมื่ออายุ 103 ปี
ทำให้คุณตาเจมส์ได้แรงบันดาลใจในการเรียนเขียนอ่านหนังสือตอนอายุ 92 ปี
โดยเริ่มจากการเรียนด้วยตัวเอง อ่านดิกชันนารี อ่านหนังสือที่มีภาพประกอบ

ตามหลักทางการแพทย์ คนเราเมื่ออายุมากขึ้น สมองก็แก่ลง ทำให้ยากต่อการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอ่าน เขียน แต่คุณตาเจมส์ไม่ย่อท้อ จ้างครูมาสอนอย่างจริงจัง ใช้เวลา 2 ปีจึงอ่านและเขียนได้คล่อง
สิ่งแรกที่คุณตาเจมส์เขียนหลังจากฝึกเขียนคล่องแล้วคือเขียนจดหมายไปหาหลานชายที่บอกว่าจะไม่รับโทรศัพท์คุยกับคุณตาเจมส์จนกว่าคุณตาเจมส์จะเขียนจดหมายไปหา

จดหมายฉบับนี้คุณตาใส่กรอบติดไว้ที่บ้าน ซึ่งคุณตาบอกว่าอ่านจดหมายฉบับนี้หลายรอบ อ่านแล้วมีความสุขทุกครั้ง เพราะไม่คิดว่าตัวเองจะทำได้สำเร็จ
ต่อมามีคนแนะนำให้คุณตาเจมส์นำเรื่องราวชีวิตที่สร้างแรงบันดาลใจมาเขียนหนังสืออัตชีวประวัติ ซึ่งคุณตาตอบตกลง
ปัจจุบันคุณตามีงานรับเชิญให้เป็นวิทยากรไปพูดถึงความสำคัญของการอ่านเขียนหนังสือให้ได้ตามโรงเรียนต่างๆ โดยคุณตาบอกว่าอย่ากลัวที่จะลองทำสิ่งต่างๆ ในชีวิตแม้ตอนแรกจะยาก เพราะเมื่อคุ้นเคยแล้วก็จะเกิดความสนุก

ตอนนี้หนังสือ In a Fisherman"s Language ของคุณตาเจมส์ได้รับความนิยมมาก แรกๆ เวลาไปเปิดตัวหนังสือตามร้านหนังสือ คุณตาก็เซ็นชื่อให้กับคนที่ซื้อ แต่หลังจากความนิยมเพิ่มขึ้น คุณตาเหนื่อยเซ็นไม่ไหวเพราะปวดแขน ต้องใช้ตรายางปั๊มแทน!



+++
บทความของปี 2554

ผู้ให้กับผู้รับใครมีความสุขมากกว่ากัน
โดย พิศณุ นิลกลัด คอลัมน์ คลุกวงใน
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1637 หน้า 96


เป็นเรื่องน่าภูมิใจที่คนไทยได้รับการยกย่องให้เป็นคนใจบุญบริจาคเงินให้หน่วยงานเพื่อการกุศลเป็นอันดับ 1 ของโลกประจำปี 2554 จากการจัดดัชนีการให้ของโลก หรือ World Giving Index ของมูลนิธิเพื่อการกุศล (The Charities Aid Foundation) ประเทศอังกฤษ ซึ่งประกาศผลเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ปี 2011 คนไทย 85 เปอร์เซ็นต์ บริจาคเงินให้หน่วยงานเพื่อการกุศล คิดเป็นอันดับที่ 1 ของโลก ตามมาด้วยประเทศอังกฤษ, ไอร์แลนด์, เนเธอร์แลนด์ และฮ่องกง
ส่วนการให้โดยรวมซึ่งการสำรวจได้แบ่งการให้เป็น 3 ประเภท คือ ให้เงิน, ให้เวลาเป็นอาสาสมัคร และการให้ความช่วยเหลือคนแปลกหน้านั้น คนไทยมาเป็นอันดับที่ 9 ของโลก ขยับจากเมื่อปีก่อนที่อยู่อันดับ 25
โดยการให้เวลาเป็นอาสาสมัครของคนไทยอยู่อันดับ 86 ที่ 17 เปอร์เซ็นต์ และการให้ความช่วยเหลือคนแปลกหน้าอยู่อันดับ 59 ที่ 50 เปอร์เซ็นต์

สำหรับอันดับ 1 ของการให้โดยรวมในปี 2011 เป็นของอเมริกา ส่วนประเทศในทวีปเอเชียที่ติดอันดับท็อปเท็น คือ ศรีลังกา อันดับ 8 . .  ลาว อันดับ 10
คณะผู้สำรวจได้วิเคราะห์ข้อมูลจากการทำโพล World View World Poll โดยแกลลัป โพล (Gallup Poll) ที่ทำการสำรวจคนอายุ 15 ปีขึ้นไป กว่า 15,000 คน ใน 153 ประเทศ



หลักธรรมะสอนไว้ว่าการเป็นผู้ให้สุขใจกว่าเป็นผู้รับ

มีการศึกษาจากหลายสถาบันยืนยันตามหลักศาสนาว่าการเป็นผู้ให้ช่วยเพิ่มความสุขในชีวิตได้จริงๆ
งานศึกษาของ University of British Columbia ประเทศแคนาดา ในปี 2008 พบว่าการใช้เงินไปกับการช่วยเหลือผู้อื่นเพียงแค่ 5 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 150 บาท ก็ทำให้ตัวเองมีความสุขขึ้น
คณะผู้ศึกษาพบว่าพนักงานที่ได้รับโบนัสและนำโบนัสจำนวนหนึ่งไปช่วยเหลือผู้อื่นมีความสุขกว่าคนที่ใช้เงินโบนัสทั้งหมดเพื่อตัวเองคนเดียวเท่านั้น
โดยทำการศึกษาพนักงานบริษัท 630 คน และให้คะแนนตัวเองว่ามีความสุขโดยรวมที่ระดับเท่าไหร่ จากนั้นเก็บสถิติข้อมูลด้านเงินเดือนและค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมถึงการจับจ่ายใช้สอยในการซื้อของให้ตัวเอง ให้คนอื่น และบริจาคเงินเพื่อการกุศล
จากการศึกษาพบว่าไม่ว่าจะได้เงินโบนัสมากหรือน้อย คนที่ใช้เงินไปกับการช่วยเหลือผู้อื่นมีความสุขมากกว่าคนที่ใช้เงินไปกับการปรนเปรอตัวเอง
นักจิตวิทยาวิเคราะห์ว่าคนที่ให้ผู้อื่นมีความสุขกว่าคนที่ให้เฉพาะตัวเองเท่านั้นเพราะ การให้ผู้อื่นทำให้ตัวเองรู้สึกดี มีความสุขว่าตัวเองได้ทำความดี และคนอื่นก็มองว่าตัวเองเป็นคนดี ใจบุญ เกิดความอุ่นใจว่าเมื่อให้แล้ว คนรอบข้างก็จะดีตอบ


สิ้นปีนี้ ใครที่ได้โบนัส ลองจัดสรรเงินจำนวนหนึ่งไว้ให้ผู้อื่น ดูว่าจะช่วยให้ตัวเองมีความสุข เริ่มต้นปีใหม่ด้วยความอิ่มเอมใจมากขึ้นหรือไม่

ส่วนใครที่ไม่ได้โบนัสก็อย่าคิดว่าให้อะไรใครไม่ได้ เพราะมนุษย์เราทุกคนมีสิ่งที่สละให้กับผู้อื่นได้ด้วยกันทั้งนั้น ไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปเงินทองเสมอไป เช่น สละเวลา สละแรง หรือสละทักษะความรู้
ความสุขและการให้เป็นวัฏจักร คือผู้ให้จะรู้สึกมีความสุขเมื่อให้ความช่วยเหลือผู้อื่น รู้สึกอิ่มเอมใจเมื่อเห็นว่าการให้นั้นช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้อื่นในทางบวก ทำให้ผู้ให้มีความสุขใจ ดังนั้น จึงชอบที่จะเป็นผู้ให้อยู่เรื่อยๆ

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เคยกล่าวไว้ว่าคุณค่าของมนุษย์อยู่ที่ความสามารถในการให้ไม่ใช่ความสามารถในการรับ จึงเป็นหน้าที่ของมนุษย์ทุกคนที่จะมอบสิ่งที่ได้มาคืนให้กับโลกอย่างน้อยให้เท่ากับสิ่งที่ตัวเองได้รับ



.